ส่วนที่ ๑
ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๗๑๑ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา ๒๗๖ และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้ส่งคดีไปยังศาลชั้นต้นแห่งอื่นที่มิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นเพื่อการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา ๒๔๓ (๒) และ (๓) ให้ศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นั้นเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีนอกเขตศาล ให้ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีมีอำนาจตั้งให้ศาลอื่นบังคับคดีแทนได้ หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำแถลงหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนทราบพร้อมด้วยสำเนาหมายบังคับคดีหรือสำเนาคำสั่งกำหนดวิธีการบังคับคดี ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลดังกล่าวแจ้งให้ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีทราบโดยไม่ชักช้า และให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ถ้าเป็นการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้อง ให้ศาลที่บังคับคดีแทนส่งทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัดหรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ไปยังศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเพื่อดำเนินการไปตามกฎหมาย
ในกรณีที่มีการบังคับคดีนอกเขตศาลโดยบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ศาลที่บังคับคดีแทนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับคดีใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้น รวมถึงดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องได้ เว้นแต่เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นและแจ้งผลการบังคับคดีไปยังศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีแล้ว ให้เป็นอำนาจของศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเท่านั้น
๑ มาตรา ๒๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๒
คำบังคับ
-------------------------
มาตรา ๒๗๒๑ ถ้าศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างใดซึ่งต้องมีการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้ศาลออกคำบังคับทันทีที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้วในวันนั้น
ในคดีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณา และลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทนายความ หรือผู้รับมอบฉันทะจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวให้มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง มิได้อยู่ในศาลในเวลาที่ออกคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา ๑๙๙ ทวิ หรือมาตรา ๒๐๗ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๗๓๒ ถ้าในคำบังคับได้กำหนดให้ใช้เงิน หรือให้ส่งทรัพย์สิน หรือให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใด ๆ ให้ศาลระบุไว้ในคำบังคับนั้นโดยชัดแจ้ง ซึ่งระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ อันจะต้องใช้เงิน ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ นั้น แต่ถ้าเป็นคดีมโนสาเร่ ศาลไม่จำต้องให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าสิบห้าวันในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
ในคดีที่มีเหตุตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ให้ศาลให้เวลาแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับแต่วันที่ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบคำบังคับแล้ว เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในเวลาที่ออกคำบังคับหรือในภายหลังว่าให้นับแต่วันใดวันหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ในระหว่างที่ระยะเวลาตามคำบังคับยังไม่ครบกำหนดหรือการปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขในคำบังคับยังไม่เสร็จสิ้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก็ได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคสี่แล้ว คำสั่งนั้นยังคงมีผลต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ขอบังคับคดีภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิกเมื่อสิ้นระยะเวลาเช่นว่านั้น
๑ มาตรา ๒๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๓
การขอบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๗๔๑ ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ชำระหนี้ (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้ หรือได้ดำเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้
ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระหนี้เป็นงวด เป็นรายเดือน หรือเป็นรายปี หรือกำหนดให้ชำระหนี้อย่างใดในอนาคต ให้นับระยะเวลาสิบปีตามวรรคหนึ่งตั้งแต่วันที่หนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นอาจบังคับให้ชำระได้
ถ้าสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการให้ชำระเงิน ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง บุคคลซึ่งได้รับโอนหรือรับช่วงสิทธิตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีอำนาจบังคับคดีตามความในหมวด ๒ การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือหมวด ๓ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง แล้วแต่กรณี โดยการร้องขอต่อศาลเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
มาตรา ๒๗๕๒ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้มีการบังคับคดี ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้บังคับคดีโดยระบุให้ชัดแจ้งซึ่ง
(๑) หนี้ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับ
(๒) วิธีการที่ขอให้ศาลบังคับคดีนั้น
ในระหว่างที่ศาลยังมิได้กำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีคำขอตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีเหตุจำเป็น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนไว้ก่อนก็ได้ และถ้าศาลเห็นสมควร จะมีคำสั่งอนุญาตโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอโดยพลันให้ศาลยกเลิกคำสั่งอนุญาตดังกล่าวได้ คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล และถ้าศาลเห็นสมควรจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งอนุญาตนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามวรรคสองแล้ว คำสั่งนั้นยังคงมีผลต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
๑ มาตรา ๒๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๔
การพิจารณาคำขอบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๗๖๑ เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้บังคับคดี ถ้าศาลเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำบังคับแล้ว ทั้งระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว และคำขอได้ระบุข้อความไว้ครบถ้วน ให้ศาลกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้และตามมาตรา ๒๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าการบังคับคดีต้องทำโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ศาลออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ในหมายนั้น
(๒) ถ้าการบังคับคดีอาจทำได้โดยไม่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการตามที่เห็นสมควรเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้
(๓) ถ้าเป็นการขอให้ศาลสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการนั้น
ในคดีมโนสาเร่ ก่อนออกหมายบังคับคดี หากศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นมาสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะออกหมายบังคับคดีหรือไม่ก็ได้
ในกรณีที่ผู้ขอบังคับคดีขอให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการบังคับคดี หากมีเหตุสงสัยว่าไม่สมควรบังคับคดีแก่ทรัพย์สินใดหรือมีเหตุสมควรอย่างอื่นเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกที่อาจได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายอันจะพึงเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินการบังคับคดีดังกล่าว ถ้าผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอให้ดำเนินการบังคับคดีนั้นเสีย ส่วนเงินหรือหลักประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องวางไว้ต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีตามวรรคสาม ถ้าเกิดความเสียหายจากการบังคับคดีโดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอบังคับคดี ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการบังคับคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ขอบังคับคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ผู้ที่ได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
๑ มาตรา ๒๗๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๕
การขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
-------------------------
มาตรา ๒๗๗๑ ในการบังคับคดี ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีมากกว่าที่ตนทราบ หรือมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับคดีแต่ไม่ทราบว่าทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินใดเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนได้
เมื่อมีคำขอตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่การบังคับคดีในคดีมโนสาเร่ ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลอื่นที่เชื่อว่าอยู่ในฐานะที่จะให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์มาศาลด้วยตนเองเพื่อการไต่สวนเช่นว่านั้นได้ และมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือหรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ทั้งนี้ ตามกำหนดและเงื่อนไขใด ๆ ที่เห็นสมควร
๑ มาตรา ๒๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๖
อำนาจทั่วไปของเจ้าพนักงานบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๗๘๑ เมื่อศาลได้ออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นเจ้าพนักงานศาลในการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดีและตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ ทั้งนี้ จะเรียกให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาช่วยเหลือก็ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการดำเนินการบังคับคดีต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลไว้ด้วย
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางและออกใบรับให้
เงินที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกนำมาวางโดยมิได้เป็นผลมาจากการยึดหรืออายัด ให้นำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอบังคับคดี เว้นแต่ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยตามมาตรา ๓๒๖ อยู่ก่อนแล้วในขณะที่มีการวางเงินนั้น ก็ให้ถือว่าเป็นเงินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้ตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ แต่ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบันทึกวิธีการบังคับคดีทั้งหลายที่ได้จัดทำไปและเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย แล้วรายงานต่อศาลเป็นระยะ ๆ ไป
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมอบหมายให้บุคคลอื่นปฏิบัติการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้หักค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายนี้ เพื่อให้กรมบังคับคดีพิจารณาจ่ายเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคห้าโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๗๙๒ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรักษาไว้โดยปลอดภัยซึ่งเงิน ทรัพย์สิน และเอกสารที่ได้มาตามอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งให้มีอำนาจขัดขวางมิให้บุคคลใดสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารเช่นว่านั้น ตลอดจนมีอำนาจติดตามและเอาคืนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือเอกสารดังกล่าวจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือเอาไว้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องหรือผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
มาตรา ๒๘๐๓ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งตามบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ และให้รายงานการส่งเอกสารนั้นรวมไว้ในสำนวนการบังคับคดีด้วย ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๖๘ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
นอกจากการส่งเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศก็ได้ โดยให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ส่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๔ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าการส่งเอกสารไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในเอกสารหรือมอบหมายเอกสารไว้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้ว หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรกำหนดไว้ล่วงพ้นไปแล้ว นับแต่เวลาที่เอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว
การส่งเอกสารให้แก่คู่ความและบุคคลภายนอก ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวนอกราชอาณาจักร ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษระหว่างประเทศหรือผู้ประกอบกิจการรับส่งพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ หรือโดยผ่านกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ หากไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุที่ภูมิลำเนาและสำนักทำการงานของบุคคลดังกล่าวไม่ปรากฏหรือเพราะเหตุอื่นใด หรือเมื่อได้ดำเนินการส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกแล้วแต่ไม่อาจทราบผลการส่งได้ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ให้มีอำนาจสั่งให้ส่งเอกสารโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือ ปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สำนักงานที่ตั้งของเจ้าพนักงานบังคับคดี หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๒๘๑๔ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดีในวันทำการงานปกติในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ถ้ายังไม่แล้วเสร็จประกอบกับมีความจำเป็นและสมควรจะกระทำต่อไปในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้
ในกรณีที่มีความจำเป็นและสมควร ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินการบังคับคดีนอกวันทำการงานปกติหรือในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกก็ได้
ในการดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแสดงหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์สินที่จะถูกบังคับคดีทราบ ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่อยู่หรือไม่อาจแสดงหมายบังคับคดีแก่บุคคลดังกล่าวได้ด้วยเหตุใด ๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดสำเนาหมายบังคับคดีไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ที่ดำเนินการบังคับคดีนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเป็นการแสดงหมายบังคับคดีให้บุคคลดังกล่าวทราบแล้ว
มาตรา ๒๘๒๕ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ใด ๆ ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาครอบครองหรือครอบครองร่วมกับผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจค้นสถานที่ดังกล่าว ทั้งมีอำนาจตรวจสอบและยึดบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาเพื่อตรวจสอบได้ และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามที่จำเป็น เพื่อเปิดสถานที่ดังกล่าวรวมทั้งตู้นิรภัย ตู้ หรือที่เก็บของอื่น ๆ
มาตรา ๒๘๓๖ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีบัญชี เอกสาร จดหมาย หรือวัตถุอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในสถานที่ที่บุคคลอื่นครอบครองอยู่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายค้นสถานที่นั้น เมื่อได้รับคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลไต่สวนโดยไม่ชักช้า ถ้าเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำมาสืบหรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่ามีเหตุอันควรเชื่อตามที่ร้องขอ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายค้นสถานที่นั้นเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบและยึดทรัพย์สินหรือสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวภายในขอบเขตและเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็น ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำขอคำสั่งเช่นว่านั้นให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๘๔๗ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการไปตามความจำเป็นและสมควรแห่งพฤติการณ์เพื่อดำเนินการบังคับคดีจนได้ ในกรณีที่มีผู้ขัดขวางหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีผู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจช่วยเหลือได้ ในการนี้ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวผู้ขัดขวางได้เท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี
มาตรา ๒๘๕๘ ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือต่อบุคคลภายนอกเพื่อความเสียหายที่เกิดจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการยึด อายัด หรือขายทรัพย์สินโดยมิชอบหรือเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดี หรือการบังคับคดีโดยมิชอบในกรณีอื่น ย่อมไม่ตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ตกอยู่แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เว้นแต่ในกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ในกรณีที่ความรับผิดตกแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือตามกฎหมายอื่นไม่ว่าโดยบุคคลใด ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอันจะต้องยึดหรืออายัด หรือไม่ขายทรัพย์สิน หรือไม่ดำเนินการบังคับคดีในกรณีอื่น หรือไม่กระทำการดังกล่าวภายในเวลาอันควร โดยจงใจหรือปราศจากความระมัดระวังหรือโดยสมรู้เป็นใจกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหาย ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๒๘๖๙ ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไปใช้บังคับโดยอนุโลมกับการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอื่นที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรม คำว่า ศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๘๕ วรรคสอง ให้หมายถึงศาลนั้น
๑ มาตรา ๒๗๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๒๘๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๒๘๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๒๘๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๒๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๒๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๒๘๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๙ มาตรา ๒๘๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๗
ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๘๗๑ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ได้แก่
(๑) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้องให้รวมถึงลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง ผู้ทรงสิทธิเรียกร้อง หรือผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องนั้นด้วย
(๒) บุคคลผู้มีทรัพยสิทธิหรือได้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี
(๓) บุคคลซึ่งได้ยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๓๒๓ มาตรา ๓๒๔ มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๙ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี
(๔) บุคคลผู้เป็นเจ้าของรวมหรือบุคคลผู้มีบุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นตามมาตรา ๓๒๒ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกบังคับคดี
(๕) บุคคลอื่นใดซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุแห่งการดำเนินการบังคับคดีนั้น
มาตรา ๒๘๘๒ นอกจากสิทธิอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้แล้ว ให้ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิดังต่อไปนี้
(๑) อยู่รู้เห็นด้วยในการดำเนินการบังคับคดีที่ตนมีส่วนได้เสีย แต่ต้องไม่ทำการป้องกันหรือขัดขวางการบังคับคดี รวมทั้งเข้าสู้ราคาหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด
(๒) ขออนุญาตตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีทั้งหมดหรือแต่บางฉบับ หรือขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคัดหรือรับรองสำเนาเอกสารนั้นโดยเสียค่าธรรมเนียมตามที่ระบุไว้ในตาราง ๒ ท้ายประมวลกฎหมายนี้
๑ มาตรา ๒๘๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๘๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๘
การงดการบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๘๙๑ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดีเพราะเหตุมีการยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่และได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๙ เบญจ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๒๐๗
ในกรณีดังกล่าว ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องว่าตนอาจได้รับความเสียหายจากการยื่นคำขอดังกล่าวและมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี ศาลมีอำนาจสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกันตามที่ศาลเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่ศาลจะกำหนด เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำขอนั้น หรือกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองอย่างใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้งดการบังคับคดี
(๒) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดี และได้ส่งคำสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด
(๓) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนตกลงงดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือภายในเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งโดยได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
(๔) เมื่อเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๔
ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวงดการบังคับคดีให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียทราบโดยไม่ชักช้า เว้นแต่จะได้งดการบังคับคดีตามคำขอของบุคคลนั้นเอง
มาตรา ๒๙๐๒ ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้งดการบังคับคดีไว้ โดยเหตุที่ตนได้ยื่นฟ้องเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้นไว้แล้ว ซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด และถ้าหากตนเป็นฝ่ายชนะจะไม่ต้องมีการยึด อายัด ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น เพราะสามารถจะหักกลบลบหนี้กันได้
ถ้าศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้ ศาลอาจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ คำสั่งนี้อาจอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาใด ๆ หรือไม่ก็ได้ และศาลจะมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนที่เห็นสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำพิพากษาและค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับเนื่องจากเหตุเนิ่นช้าในการบังคับคดีอันเกิดจากการยื่นคำร้องนั้นด้วยก็ได้
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๒๙๑๓ ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการบังคับคดีไว้ตามคำสั่งของศาล ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปเมื่อได้รับคำสั่งจากศาล โดยศาลเป็นผู้ออกคำสั่งนั้นเองหรือโดยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำสั่ง เนื่องจากระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว หรือมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือคดีนั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้พิพากษายืน หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องงดการบังคับคดีอีกต่อไปแล้ว
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา ๒๘๙ (๓) หรือ (๔) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปเมื่อระยะเวลาที่ให้งดการบังคับคดีได้ล่วงพ้นไปแล้ว หรือมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้กำหนดไว้ หรือเจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๔ แล้ว
๑ มาตรา ๒๘๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๒๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๙
การถอนการบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๙๒๑ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีเนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาและได้วางเงินต่อศาลเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาลสำหรับจำนวนเงินเช่นว่านี้
(๒) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีเนื่องจากคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับหรือถูกยก หรือหมายบังคับคดีได้ถูกเพิกถอน แต่ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีนั้นได้ถูกกลับแต่เพียงบางส่วน การบังคับคดีอาจดำเนินการต่อไปจนกว่าเงินที่รวบรวมได้นั้นจะพอชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
(๓) เมื่อศาลได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา ๑๙๙ เบญจ วรรคสาม หรือมาตรา ๒๐๗
(๔) เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีตามมาตรา ๒๙๓
(๕) เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี
(๖) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดี ในกรณีเช่นว่านี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นจะบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับหนี้นั้นอีกมิได้
(๗) เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าตนขอถอนการบังคับคดี
มาตรา ๒๙๓๒ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นเสีย
มาตรา ๒๙๔๓ ในกรณีที่มีการยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงิน หรือในกรณียึดหรืออายัดเงิน หรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเองหรือถอนโดยคำสั่งศาล และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาลขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีนั้น และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีได้เอง โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวง
๑ มาตรา ๒๙๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๒๙๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๑๐
การเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับคดีที่ผิดระเบียบ
-------------------------
มาตรา ๒๙๕๑ ในกรณีที่คำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งศาลในชั้นบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวนั้น เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานต่อศาล หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดี หรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน หรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
ภายใต้บังคับมาตรา ๓๓๑ วรรคสาม ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้นให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเมื่อได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่คำบังคับกำหนดให้ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างใด เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับที่ให้ส่งทรัพย์สิน กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างนั้นแล้ว แต่ถ้าการปฏิบัติตามคำบังคับดังกล่าวอาจแยกเป็นส่วน ๆ ได้ เมื่อได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับในส่วนใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะในส่วนนั้น
(๒) ในกรณีที่คำบังคับกำหนดให้ใช้เงิน เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๔๒ มาตรา ๓๔๓ หรือมาตรา ๓๔๔ แล้วแต่กรณี แล้ว แต่ถ้าทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีมีหลายรายการ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการใดแล้ว ให้ถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงเฉพาะทรัพย์สินรายการนั้น
ในการยื่นคำร้องต่อศาลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรเพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลนั้นสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องนั้น ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสีย ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งยกคำร้อง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลที่ได้รับความเสียหายดังกล่าวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าผู้ยื่นคำร้องนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล บุคคลที่ได้รับความเสียหายอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่ผู้ยื่นคำร้องนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
๑ มาตรา ๒๙๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๑
อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๒๙๖๑ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ชำระเงิน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจบังคับคดีโดยวิธีดังต่อไปนี้
(๑) ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) อายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระเงินหรือส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน
(๓) อายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้อย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้วใน (๒)
(๔) ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ได้มาจากการยึดหรือการอายัดหรือซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ได้อายัดไว้
ในกรณีที่ยังไม่อาจยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเนื่องจากมีเหตุขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ไม่อาจยึดหรืออายัดได้ทันที เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นเองหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจสั่งห้ามมิให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา โอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไว้เป็นการชั่วคราวไว้ก่อนได้เท่าที่จำเป็น และถ้าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่บุคคลภายนอกมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งห้ามดังกล่าวให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นทราบ หรือหากทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จะต้องจดทะเบียนหรือได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งห้ามดังกล่าวให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ ถ้าได้มีการจดทะเบียนไว้แล้ว ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ในทะเบียน และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๕ (๑) และมาตรา ๓๒๐ (๑) และ (๒) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจมีคำสั่งยกเลิก หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวได้ โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖๑ และมาตรา ๒๖๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีเหตุขัดข้องสิ้นสุดลงหรือไม่มีความจำเป็นต้องบังคับคดีต่อไป หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ
มาตรา ๒๙๗๒ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจบังคับคดีเอากับทรัพย์สินดังต่อไปนี้ได้เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๖
(๑) สินสมรสของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและคู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา ๑๔๙๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือทรัพย์สินของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งตามกฎหมายอาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
(๒) ทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งตามกฎหมายอาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ที่เกี่ยวกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาใช้บังคับในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลตามมาตรานี้โดยอนุโลม
มาตรา ๒๙๘๓ ในกรณีที่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอ้างว่าเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียนหรือปรากฏตามหลักฐานอย่างอื่นว่าเป็นของบุคคลอื่น หากเจ้าพนักงานบังคับคดีสงสัยว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่เป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่ยอมทำการยึดหรืออายัด ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายืนยันให้ยึดหรืออายัด เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น หรือจะสั่งงดการยึดหรือการอายัดก็ได้ ในกรณีที่สั่งงด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งห้ามการโอน ขาย ยักย้าย จำหน่าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไว้ก่อน
คำสั่งห้ามของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้มีผลใช้บังคับได้ทันที และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งห้ามให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นทราบโดยเร็ว ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จะต้องจดทะเบียนหรือได้จดทะเบียนไว้ตามกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งห้ามดังกล่าวให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบด้วย ถ้าได้มีการจดทะเบียนไว้แล้ว ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ในทะเบียน ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๑๕ (๑) และมาตรา ๓๒๐ (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึดหรือการอายัดตามวรรคหนึ่ง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและบุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่นทราบ และบุคคลดังกล่าวอาจคัดค้านว่าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ โดยยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับสำเนาคำร้อง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๒๓ หรือมาตรา ๓๒๕ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยหากศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องแล้ว บุคคลดังกล่าวที่ได้ยื่นคำคัดค้านตามวรรคนี้จะใช้สิทธิตามมาตรา ๓๒๓ หรือมาตรา ๓๒๕ แล้วแต่กรณี อีกหาได้ไม่
ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคสามหรือศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว หรือในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องในวรรคสาม แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ให้คำสั่งห้ามตามวรรคหนึ่งเป็นอันยกเลิกไป และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวให้บุคคลตามวรรคสองทราบด้วย
มาตรา ๒๙๙๔ ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งห้ามตามมาตรา ๒๙๘ วรรคหนึ่ง บุคคลผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามที่ปรากฏในทะเบียนหรือหลักฐานอย่างอื่น หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น จะร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เพิกถอนคำสั่งห้ามดังกล่าวโดยวางเงินหรือหาประกันมาให้แทนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นก็ได้ ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีพอใจในเงินหรือประกันก็ให้เพิกถอนคำสั่งห้ามดังกล่าวและรับเงินหรือประกันนั้นไว้
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามตามวรรคหนึ่ง ผู้ร้องนั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามโดยวางเงินหรือหาประกันมาให้ก็ได้ ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อทำการไต่สวนเป็นการด่วน คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๒๙๘ วรรคสาม ถ้าไม่อาจยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้นได้ แต่ได้มีการวางเงินหรือประกันไว้แทนทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีแก่เงินหรือประกันที่รับไว้หรือแก่ผู้ประกันได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ยื่นคำร้องหรือศาลมีคำสั่งยกคำร้องตามมาตรา ๒๙๘ วรรคสาม ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินหรือประกันที่รับไว้แก่ผู้วางเงินหรือประกันนั้นหรือยกเลิกการประกัน
มาตรา ๓๐๐๕ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ได้มาจากการยึดหรืออายัดหลายรายเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องรายใดที่มีราคาสูงเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ถ้าทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นอยู่ในสภาพที่จะแบ่งยึดหรืออายัดได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจแบ่งยึดหรือแบ่งอายัดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องรายใดแต่เพียงบางส่วนหรือเฉพาะส่วนแห่งกรรมสิทธิ์เท่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี
บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านคำสั่งหรือการดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งหรือการดำเนินการนั้น คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
๑ มาตรา ๒๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๒๙๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๒๙๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๒๙๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๐๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๒
ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๓๐๑๑ ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(๑) เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือเครื่องใช้สอยส่วนตัว โดยประมาณรวมกันราคาไม่เกินประเภทละสองหมื่นบาท แต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร เจ้าพนักงานบังคับคดีจะกำหนดให้ทรัพย์สินแต่ละประเภทดังกล่าวที่มีราคารวมกันเกินสองหมื่นบาทเป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพเท่าที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ราคารวมกันโดยประมาณไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีความจำเป็นในการเลี้ยงชีพก็อาจร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขออนุญาตใช้สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือประกอบวิชาชีพในกิจการดังกล่าวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีราคารวมกันเกินกว่าจำนวนราคาที่กำหนดนั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหรืออนุญาตได้เท่าที่จำเป็นภายในบังคับแห่งเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๓) สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยหรือแทนอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๔) ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่น หนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมาย หรือสมุดบัญชีต่าง ๆ
(๕) ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ทรัพย์สินหรือจำนวนราคาทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดตามวรรคหนึ่ง ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งกำหนดใหม่ได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวนั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่พฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินหรือจำนวนราคาทรัพย์สินที่ศาลกำหนดไว้เดิมได้
ประโยชน์แห่งข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้ขยายไปถึงทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งอันเป็นของคู่สมรสของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลอื่น ซึ่งทรัพย์สินเช่นว่านี้ตามกฎหมายอาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้
มาตรา ๓๐๒๒ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
(๑) เบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ ส่วนเงินรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกได้ยกให้เพื่อเลี้ยงชีพนั้น ให้มีจำนวนไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๒) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยราชการ และเงินสงเคราะห์ บำนาญ หรือบำเหน็จที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น
(๓) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (๒) ที่นายจ้างหรือบุคคลอื่นใดได้จ่ายให้แก่บุคคลเหล่านั้น หรือคู่สมรส หรือญาติที่ยังมีชีวิตของบุคคลเหล่านั้น เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละสองหมื่นบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๔) บำเหน็จหรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคลตาม (๓) เป็นจำนวนไม่เกินสามแสนบาทหรือตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๕) เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับอันเนื่องมาแต่ความตายของบุคคลอื่นเป็นจำนวนตามที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินตาม (๑) (๓) และ (๔) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนึงถึงฐานะในทางครอบครัวของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและจำนวนบุพการีและผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วย และสำหรับในกรณีตาม (๑) และ (๓) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้นและไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น
ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการกำหนดจำนวนเงินเช่นว่านั้น เพื่อขอให้ศาลกำหนดจำนวนเงินใหม่ได้
ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนแปลงไป บุคคลตามวรรคสามจะยื่นคำร้องให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วแต่กรณี กำหนดจำนวนเงินตาม (๑) และ (๓) ใหม่ก็ได้
๑ มาตรา ๓๐๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๐๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๓
การยึดทรัพย์สิน
-------------------------
มาตรา ๓๐๓๑ การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) นำทรัพย์นั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือฝากทรัพย์นั้นไว้ ณ สถานที่ใดหรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควรหรือมอบให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รักษาทรัพย์นั้นโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) แจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์นั้นทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดไว้ ณ สถานที่ที่กระทำการยึด หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร
(๓) แสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยการประทับตราหรือโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรว่าได้มีการยึดทรัพย์นั้นแล้ว
มาตรา ๓๐๔๒ การยึด เรือ แพ สัตว์พาหนะ หรือสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจะต้องจดทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้แล้วตามกฎหมาย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๓
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ ถ้าได้มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ไว้แล้ว ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๐๕๓ การยึดหลักทรัพย์ที่เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) ในกรณีที่ยังไม่มีการออกใบตราสาร ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ออกหลักทรัพย์นั้นทราบ และเมื่อได้ดำเนินการยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสั่งให้ผู้ออกหลักทรัพย์ออกใบตราสารส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
(๒) ในกรณีที่มีการออกใบตราสารแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ออกหลักทรัพย์ และผู้ครอบครองตราสารเท่าที่ทราบ รวมทั้งบุคคลซึ่งต้องชำระหนี้ตามตราสารนั้น ทราบ และเมื่อได้ดำเนินการยึดหลักทรัพย์ดังกล่าวเสร็จแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำตราสารนั้นมาเก็บรักษาไว้หากสามารถนำมาได้
(๓) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์ซึ่งฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ฝากหลักทรัพย์และศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทราบ เพื่อปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี
(๔) ในกรณีที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีการออกใบตราสาร ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ออกหลักทรัพย์ทราบ เพื่อปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการและจำนวนหลักทรัพย์ที่ยึดไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้น หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และให้มีผลใช้ได้นับแต่เวลาที่ประกาศนั้นได้ปิดไว้หรือการแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว
มาตรา ๓๐๖๔ การยึดตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐๕ วรรคหนึ่ง (๒) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้มีผลเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องตามตั๋วเงินหรือตราสารนั้นด้วย
ในกรณีที่เห็นสมควรเจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายตามราคาที่ปรากฏในตั๋วเงินหรือตราสารหรือราคาต่ำกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าศาลสั่งยกคำร้อง ให้นำตั๋วเงินหรือตราสารนั้นออกขายทอดตลาด
มาตรา ๓๐๗๕ การยึดหุ้นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นอยู่ทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๐๘๖ การยึดสิทธิในสิทธิบัตร สิทธิในเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๐๙๗ การยึดสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งยังมิได้จดทะเบียน ลิขสิทธิ์ สิทธิขอรับสิทธิบัตร สิทธิในชื่อทางการค้าหรือยี่ห้อ หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยแจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
มาตรา ๓๑๐๘ การยึดสิทธิการเช่าทรัพย์สินหรือสิทธิที่จะได้ใช้บริการต่าง ๆ ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เช่น บริการโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม หรือบริการอื่นใดที่อาจได้รับจากทรัพย์สินหรือบริการของผู้อื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ให้เช่าหรือผู้ให้บริการ แล้วแต่กรณี ทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) ในกรณีที่ได้มีการจดทะเบียนการเช่าทรัพย์สินหรือการให้บริการดังกล่าว ให้แจ้งนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียนด้วย
มาตรา ๓๑๑๙ การยึดสิทธิของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามใบอนุญาต ประทานบัตร อาชญาบัตร สัมปทาน หรือสิทธิอย่างอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือที่เกี่ยวเนื่องกันกับสิทธิดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) แจ้งรายการสิทธิที่ยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ถ้าไม่สามารถกระทำได้ ให้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๕ วรรคสอง
(๒) แจ้งให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
มาตรา ๓๑๒๑๐ การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดย
(๑) นำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์นั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร เว้นแต่ทรัพย์นั้นยังไม่มีหนังสือสำคัญหรือนำหนังสือสำคัญมาไม่ได้
(๒) แสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งโดยการปิดประกาศไว้ที่ทรัพย์นั้นว่า ได้มีการยึดทรัพย์นั้นแล้ว
(๓) แจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้บุคคลดังต่อไปนี้ทราบ
(ก) ลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(ข) บุคคลอื่นซึ่งมีชื่อในทะเบียนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น
(ค) เจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ถ้าทรัพย์นั้นมีทะเบียน ให้เจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกการยึดไว้ในทะเบียน
ในกรณีที่ไม่สามารถแจ้งตามวรรคหนึ่ง (๓) (ก) หรือ (ข) ได้ ให้ปิดประกาศแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลเช่นว่านั้น หรือแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร และให้มีผลใช้ได้นับแต่เวลาที่ประกาศนั้นได้ปิดไว้หรือการแจ้งโดยวิธีอื่นใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว
เมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย
มาตรา ๓๑๓๑๑ การยึดทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๑๒ โดยอนุโลม
มาตรา ๓๑๔๑๒ การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลเป็นการยึดครอบไปถึงดอกผลธรรมดาและดอกผลนิตินัยของทรัพย์นั้นด้วย
การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลเป็นการยึดครอบไปถึง
(๑) เครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของทรัพย์นั้น
(๒) ดอกผลธรรมดาของทรัพย์นั้นที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเก็บเกี่ยว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งหรือปิดประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลทรัพย์นั้นทราบในขณะทำการยึดว่าได้ยึดดอกผลด้วยแล้ว
มาตรา ๓๑๕๑๓ การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้มีผลดังต่อไปนี้
(๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษากับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำการดังกล่าวแก่ทรัพย์สินที่ถูกยึดเพียงส่วนที่มีราคาเกินจำนวนนั้นก็ตาม
(๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับมอบให้เป็นผู้รักษาทรัพย์สินที่ถูกยึด ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะใช้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตามสมควร แต่ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะทำให้ทรัพย์สินนั้นเสียหายหรือเกรงว่าจะเสียหาย โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นเองหรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเองหรือตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้รักษาทรัพย์สินนั้นก็ได้
๑ มาตรา ๓๐๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๐๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๐๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๓๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๓๐๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๓๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๙ มาตรา ๓๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๐ มาตรา ๓๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๑ มาตรา ๓๑๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๒ มาตรา ๓๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๓ มาตรา ๓๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๔
การอายัดสิทธิเรียกร้อง
-------------------------
มาตรา ๓๑๖๑ การอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระเงินหรือส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินก็ดี หรือที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้อย่างอื่นนอกจากการชำระเงินหรือการส่งมอบหรือการโอนทรัพย์สินก็ดี ให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยมีคำสั่งอายัด และแจ้งคำสั่งนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกทราบ
คำสั่งอายัดตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ให้จำหน่ายสิทธิเรียกร้องและมีข้อห้ามบุคคลภายนอกไม่ให้ปฏิบัติการชำระหนี้นั้นแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระเงินหรือส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินหรือชำระหนี้อย่างอื่นให้แก่ศาล เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือบุคคลอื่น หรือให้ดำเนินการโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร ณ เวลาหรือภายในเวลา หรือเงื่อนไขตามที่กำหนดให้ แล้วแต่กรณี
คำสั่งอายัดนั้นให้บังคับได้ไม่ว่าที่ใด ๆ
มาตรา ๓๑๗๒ การอายัดตามมาตรา ๓๑๖ อาจกระทำได้ไม่ว่าหนี้ที่เรียกร้องนั้นจะมีข้อโต้แย้ง ข้อจำกัด เงื่อนไข หรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม
มาตรา ๓๑๘๓ การอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ ให้มีผลเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายหลังการอายัดนั้นด้วย
มาตรา ๓๑๙๔ การอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีจำนองหรือจำนำเป็นประกัน ให้มีผลรวมตลอดถึงการจำนองหรือการจำนำนั้นด้วย ถ้าทรัพย์สินที่จำนองนั้นมีทะเบียน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่เพื่อให้จดแจ้งไว้ในทะเบียน
ในกรณีผู้จำนองหรือผู้จำนำมิใช่ลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง เมื่อได้ดำเนินการอายัดแล้ว ให้แจ้งผู้จำนองหรือผู้จำนำเพื่อทราบด้วย
มาตรา ๓๒๐๕ การอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นให้มีผลดังต่อไปนี้
(๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่บุคคลภายนอกเหนือสิทธิเรียกร้องที่ได้ถูกอายัด โอน เปลี่ยนแปลง หรือระงับซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายหลังที่ได้ทำการอายัดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ถึงแม้ว่าราคาแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษากับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้กระทำการดังกล่าวแก่สิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดเพียงส่วนที่มีราคาเกินจำนวนนั้นก็ตาม
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้จำนองหรือผู้จำนำซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๑๙ วรรคสอง หากผู้จำนองหรือผู้จำนำพิสูจน์ได้ว่าความระงับสิ้นไปแห่งการจำนองหรือการจำนำเกิดขึ้นโดยผู้จำนองหรือผู้จำนำกระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนมีการแจ้งการอายัดไปยังผู้จำนองหรือผู้จำนำเพื่อทราบ
(๒) ถ้าค่าแห่งสิทธิเรียกร้องซึ่งอายัดไว้นั้นต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อความเสียหายใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น
(๓) การชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในคำสั่งอายัดนั้นให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย
๑ มาตรา ๓๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๑๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๑๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๒๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๕
การขอให้ศาลบังคับบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
-------------------------
มาตรา ๓๒๑๑ ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งอายัดของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา ๓๑๖ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับบุคคลภายนอกนั้นปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งหรือชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วถ้าเป็นที่พอใจว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีอยู่จริงและอาจบังคับได้ จะมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งหรือให้ชำระค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกนั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้
๑ มาตรา ๓๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๖
สิทธิของบุคคลภายนอกและผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๓๒๒๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒๓ และมาตรา ๓๒๔ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย
มาตรา ๓๒๓๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕ บุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือตนเป็นเจ้าของรวมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด หรือตนเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้ หรือตนเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อน บุคคลนั้นอาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนหรือเฉพาะส่วนของตน แล้วแต่กรณี โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น
ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓๒ ผู้กล่าวอ้างอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจ่ายเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๓๙ หรือก่อนที่บัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่ขายทรัพย์สินนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา ๓๔๐ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินจำนวนสุทธิที่ได้จากการขายนั้นเป็นเสมือนทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อย
เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอไว้แล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ ถ้าทรัพย์สินที่ยึดนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓๒ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด และให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา
โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กล่าวอ้างวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องขอนั้น ถ้าผู้กล่าวอ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลตามวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอที่ยื่นไว้ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการยื่นคำร้องขอดังกล่าวเห็นว่าคำร้องขอนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
มาตรา ๓๒๔๓ บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลนั้นมีอยู่เหนือทรัพย์สิน หรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินหรือเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนไว้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายหรือจำหน่าย ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ขอให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาต การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว
(ข) ในกรณีอื่น ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
(๒) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์สินซึ่งขายหรือจำหน่ายนั้นเป็นของเจ้าของรวมอันได้จดทะเบียนไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่น นอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๔๐
(๓) ในกรณีที่เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายหรือจำหน่าย บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้นำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น
(๔) ในกรณีอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (๑) (๒) และ (๓) ผู้ทรงสิทธินั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้ตนได้รับส่วนแบ่งในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายหรือขอให้นำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๓๒๕๔ เมื่อได้แจ้งคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกตามมาตรา ๓๑๖ แล้ว บุคคลภายนอกนั้นอาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งอายัดต่อศาลได้ภายในสิบห้าวัน
บุคคลผู้จะต้องเสียหายเพราะคำสั่งอายัดอาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งอายัด
(๑) ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการให้ชำระเงิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการให้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น
(๓) ถ้าสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นการให้ชำระหนี้อย่างอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนที่บุคคลภายนอกจะปฏิบัติการชำระหนี้
เมื่อศาลสั่งรับคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการบังคับตามคำสั่งอายัดไว้ในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้ว ถ้าเป็นที่พอใจว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีอยู่จริงและอาจบังคับได้ ก็ให้ยกคำร้องนั้นเสียและมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัด แต่ถ้าเป็นที่พอใจว่าคำร้องคัดค้านรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งถอนการอายัดสิทธิเรียกร้อง
ในระหว่างการพิจารณาคำร้องคัดค้านตามวรรคสาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องว่าคำร้องคัดค้านนั้นไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านวางเงินหรือหาประกันต่อศาลตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อเป็นประกันการชำระเงินค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสำหรับความเสียหายที่อาจได้รับจากการยื่นคำร้องคัดค้านนั้น ถ้าผู้ร้องคัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคำร้องคัดค้าน ส่วนเงินหรือประกันที่วางไว้ต่อศาลดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อไป จะสั่งคืนหรือยกเลิกประกันนั้นก็ได้
ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัด และบุคคลนั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ในกรณีที่คำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงการบังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องคัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
๑ มาตรา ๓๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๗
การขอเฉลี่ยและการเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไป
-------------------------
มาตรา ๓๒๖๑ เมื่อมีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อเอาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายหนึ่งแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นดำเนินการให้มีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้นซ้ำอีก แต่ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี ขอให้มีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจากการยึดหรืออายัดนั้นได้ตามส่วนแห่งจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา
ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำร้องเช่นว่านี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ถ้าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรหรือกฎหมายอื่นที่จะสั่งยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อบังคับชำระหนี้ที่ค้างชำระตามกฎหมายนั้น ๆ ได้เองได้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องตามวรรคหนึ่งไว้ก่อนแล้ว ให้มีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยได้โดยไม่อยู่ภายในบังคับของบทบัญญัติวรรคสอง แต่ถ้าเจ้าพนักงานดังกล่าวมิได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อน ให้มีสิทธิขอเข้าเฉลี่ยได้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่น
ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำร้องเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้น ๆ
ในกรณีที่อายัดสิทธิเรียกร้อง ให้ยื่นคำร้องเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันชำระเงินหรือวันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งสิทธิเรียกร้องตามที่อายัดนั้นได้
ในกรณีที่ยึดเงิน ให้ยื่นคำร้องเช่นว่านี้ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันยึด
เมื่อได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินตามคำบังคับตั้งแต่การขาย การจำหน่าย หรือการชำระเงินตามที่ได้อายัดในครั้งที่ขอเฉลี่ยนั้น แล้วแต่กรณี ไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลได้มีคำสั่งประการใดและส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามคำสั่งเช่นว่านั้น
มาตรา ๓๒๗๒ ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวถอนการบังคับคดีให้ผู้ยื่นคำร้องขอซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา ๓๒๔ หรือเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยซึ่งได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๒๖ ทราบโดยไม่ชักช้า โดยบุคคลดังกล่าวอาจขอเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปจากเจ้าหนี้ผู้ขอยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้อง โดยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันส่งคำบอกกล่าวถึงบุคคลเช่นว่านั้น ถ้ามีผู้ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ผู้นั้นเป็นผู้ขอดำเนินการบังคับคดีต่อไป ถ้าไม่มีผู้ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้น
ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องหลายคน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายเรียกให้ผู้ยื่นคำร้องทุกคนมาทำความตกลงกัน เลือกคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป แต่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้ยื่นคำร้องซึ่งมาตามหมายเรียกและมีจำนวนหนี้มากที่สุดเป็นผู้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป ถ้าผู้ยื่นคำร้องดังกล่าวมีจำนวนหนี้มากที่สุดเท่ากันหลายคน ให้ผู้ยื่นคำร้องซึ่งมีหนี้รายเก่าที่สุดเป็นผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไป ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องรายใดไม่มาตามหมายเรียกให้ถือว่าผู้ยื่นคำร้องรายนั้นสละสิทธิที่จะเป็นผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ในกรณีที่มีการเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไป ให้ถือว่าผู้ขอเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้อง และให้ศาลที่ออกหมายบังคับคดีในคดีที่มีการถอนการบังคับคดีเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี ถ้าเจ้าหนี้ผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปจะขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีไว้เดิมแต่เพียงบางส่วน ซึ่งเพียงพอแก่การชำระหนี้ของบรรดาเจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่งพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไป ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามคำร้องหรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรโดยคำนึงถึงส่วนได้เสียของบรรดาเจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปอาจร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อศาลได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
สำหรับเจ้าหนี้ผู้ขอยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องที่มีการถอนการบังคับคดีนั้น
(๑) ถ้าเป็นการถอนการบังคับคดีเพราะตนได้สละสิทธิในการบังคับคดีตามมาตรา ๒๙๒ (๖) ไม่มีสิทธิได้รับส่วนเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินในการบังคับคดี
(๒) ถ้าเป็นการถอนการบังคับคดีตามมาตรา ๒๙๒ (๔) แต่ยังมีหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้ตนได้รับชำระจากเงินที่เหลือภายหลังที่ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยแล้วในฐานะเดียวกันกับผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา ๓๒๙ (๑)
(๓) ถ้าเป็นการถอนการบังคับคดีเพราะหมายบังคับคดีได้ถูกเพิกถอนหรือในกรณีอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) แต่ยังมีหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้ตนมีสิทธิได้รับส่วนเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินในการบังคับคดีครั้งนี้ ก่อนการจ่ายเงินตามมาตรา ๓๓๙ หรือก่อนส่งคำบอกกล่าวตามมาตรา ๓๔๐ (๓) แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๒๘๓ เจ้าหนี้ผู้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามมาตรา ๓๒๗ อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีให้โอนการบังคับคดีไปยังศาลที่พิพากษาคดีซึ่งตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ และเมื่อได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว ถ้าศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเห็นว่าการบังคับคดีในศาลที่จะรับโอนการบังคับคดีจะเป็นการสะดวกแก่ทุกฝ่ายและได้รับความยินยอมของศาลที่จะรับโอนแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โอนการบังคับคดีไปได้ คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่มีการโอนการบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าศาลที่รับโอนเป็นศาลตามมาตรา ๒๗๑ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๒๙๔ ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๒๖ หรือศาลได้ยกคำร้องขอเฉลี่ยเพราะเหตุที่ยื่นไม่ทันกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(๑) ให้ตนมีสิทธิได้รับชำระจากเงินที่เหลือภายหลังที่ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้ขอยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้นและเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยตามมาตรา ๓๒๖ หรือมาตรา ๓๒๗ แล้วแต่กรณี
(๒) ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดี และไม่มีเจ้าหนี้เข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามมาตรา ๓๒๗ ให้ถือว่าตนเป็นเจ้าหนี้ผู้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปจากเจ้าหนี้ผู้ขอยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องที่มีการถอนการบังคับคดีตั้งแต่วันที่มีการถอนการบังคับคดี
คำร้องตาม (๑) ให้ยื่นก่อนการจ่ายเงินตามมาตรา ๓๓๙ หรือก่อนส่งคำบอกกล่าวตามมาตรา ๓๔๐ (๓) แล้วแต่กรณี
คำร้องตาม (๒) ให้ยื่นก่อนมีการถอนการบังคับคดี
ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องตาม (๒) ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๒๗ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ถ้ามีผู้ยื่นคำร้องตาม (๒) หลายคน ให้ถือว่าผู้ยื่นคำร้องรายอื่นนอกจากผู้ยื่นคำร้องซึ่งได้รับเลือกหรือกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป และเจ้าหนี้ซึ่งมิได้ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปตามมาตรา ๓๒๗ เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินในคดีนั้นด้วย
มาตรา ๓๓๐๕ คำสั่งของศาลตามมาตรา ๓๒๗ วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา ๓๒๙ ให้เป็นที่สุด
๑ มาตรา ๓๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๘
การขายหรือจำหน่าย
-------------------------
มาตรา ๓๓๑๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๓๒ และมาตรา ๓๓๖ เมื่อได้ยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือได้มีการส่งมอบทรัพย์สินตามสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ถ้าไม่มีเหตุสมควรงดการบังคับคดีไว้ก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้นหรือตามที่ศาลมีคำสั่งกำหนด หรือขายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ก่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ซึ่งจะทำการขายทอดตลาดให้บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งปรากฏตามทะเบียนหรือประการอื่นได้ทราบด้วย โดยจะทำการขายทอดตลาดในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ นอกเวลาทำการปกติก็ได้ ทั้งนี้ กำหนดวันและเวลาขายดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันยึด อายัด หรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น
เพื่อให้การขายทอดตลาดเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาเองหรือหาบุคคลอื่นเข้าสู้ราคาเพื่อให้ได้ราคาตามที่ตนต้องการ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดแล้ว ห้ามมิให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทั้งหลายหยิบยกเรื่องราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดมีจำนวนต่ำเกินสมควรมาเป็นเหตุขอให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นอีก
มาตรา ๓๓๒๒ ในกรณีที่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่จะขายหรือจำหน่ายมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายหรือจำหน่ายได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร
ในกรณีที่การขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือที่ได้มีการส่งมอบตามคำสั่งอายัดกระทำได้โดยยาก หรือการขายหรือจำหน่ายสิทธิเรียกร้องนั้นกระทำได้โดยยากเนื่องจากการชำระหนี้นั้นต้องอาศัยการชำระหนี้ตอบแทนหรือด้วยเหตุอื่นใด และการบังคับคดีอาจล่าช้าเป็นการเสียหายแก่คู่ความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควรหรือคู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีคำสั่งกำหนดให้จำหน่ายโดยวิธีการอื่นใดที่สมควรก็ได้ ทั้งนี้ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านคำสั่งหรือการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยยื่นคำร้องต่อศาลภายในสองวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งหรือการดำเนินการนั้น คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๓๓๓ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ในการขายทรัพย์สินที่มีหลายสิ่งด้วยกัน ให้แยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่
(ก) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาเล็กน้อยรวมขายเป็นกอง ๆ ได้เสมอ
(ข) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไปรวมขายไปด้วยกันได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น
(๒) ในการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจแบ่งแยกออกได้เป็นส่วน ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นเป็นส่วน ๆ ได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายทรัพย์สินบางส่วนจะเพียงพอแก่การบังคับคดี หรือว่าเงินรายได้ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น
(๓) ในการขายทรัพย์สินหลายสิ่งด้วยกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดลำดับที่จะขายทรัพย์สินนั้น
บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินซึ่งจะต้องขาย อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้ หรือจะร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งตามวรรคหนึ่งก็ได้ การยื่นคำร้องตามมาตรานี้ต้องกระทำก่อนวันทำการขายทอดตลาด แต่ต้องไม่ช้ากว่าสามวันนับแต่ทราบวิธีการขาย ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลภายในสองวันนับแต่วันปฏิเสธ เพื่อขอให้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้นก็ได้ คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่ง หรือจนกว่าจะได้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้
มาตรา ๓๓๔๔ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๗๑ มาตรา ๒๗๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๓๕๑ มาตรา ๓๕๒ มาตรา ๓๕๓ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง มาตรา ๓๕๔ มาตรา ๓๖๑ มาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ และมาตรา ๓๖๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว
มาตรา ๓๓๕๕ เมื่อทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้จดทะเบียน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ซื้อ
ถ้าทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเป็นห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลอาคารชุดก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้
หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองหรือแจ้งว่าไม่มีหนี้ที่ค้างชำระ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้
ถ้าทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเป็นที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อขายทอดตลาดแล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อนเจ้าหนี้จำนอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งนี้ หากมีการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไว้ ให้การระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นเป็นอันยกเลิกไป
หากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลาตามวรรคสี่หรือแจ้งว่าไม่มีหนี้ที่ค้างชำระ หรือในกรณีที่ยังมิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ ทั้งนี้ หากมีการระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไว้ ให้การระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นเป็นอันยกเลิกไป
การจ่ายเงินที่กันไว้ตามวรรคสองและวรรคสี่ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑๐ การทำบัญชีส่วนเฉลี่ย และส่วนที่ ๑๑ เงินค้างจ่าย ของหมวดนี้
๑ มาตรา ๓๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๓๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๓๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๙
การตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการแทนการขายหรือจำหน่าย
-------------------------
มาตรา ๓๓๖๑ ถ้ารายได้จากอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม หรือการประกอบกิจการอื่นใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียม และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ภายในเวลาอันสมควร เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ และไม่มีข้อเท็จจริงว่าจะเป็นการประวิงการชำระหนี้ ศาลอาจมีคำสั่งตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือผู้จัดการกิจการเหล่านั้น โดยมอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนดแทนการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้
๑ มาตรา ๓๓๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๑๐
การทำบัญชีส่วนเฉลี่ย
-------------------------
มาตรา ๓๓๗๑ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้มาจากการยึด อายัด ขาย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือที่ได้วางไว้แก่ตน นอกจากนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีพิเศษสำหรับจำนวนเงินที่ได้มาจากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินแต่ละรายซึ่งอยู่ในบังคับแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งได้มีการแจ้งให้ทราบหรือปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วตามมาตรา ๓๒๔
ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรหรือแบ่งเฉลี่ยเงินตามวรรคหนึ่งดังบัญญัติไว้ในมาตราต่อไปนี้
มาตรา ๓๓๘๒ ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้พิพากษาหรือสั่งโดยจำเลยขาดนัดนั้น ห้ามมิให้จัดสรรหรือแบ่งเฉลี่ยเงินที่ได้มาจนกว่าระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้ล่วงพ้นไปแล้ว เว้นแต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบถึงการที่ถูกฟ้องนั้นแล้ว
มาตรา ๓๓๙๓ ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนเดียวร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและไม่มีกรณีตามมาตรา ๓๒๔ เมื่อได้ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเสร็จและได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินตามจำนวนหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเท่าที่เงินรายได้จำนวนสุทธิจะพอแก่การที่จะจ่ายให้ได้
มาตรา ๓๔๐๔ ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือในกรณีตามมาตรา ๓๒๔ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้ แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นของเจ้าของรวม ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่นนอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเสียก่อน แล้วจึงหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีจากเงินเฉพาะส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๒) จัดทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นแต่ละคนจากเงินจำนวนสุทธิที่พอแก่การที่จะจ่ายให้ตามสิทธิของบุคคลเช่นว่านั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นโดยให้แสดงจำนวนเงินที่กันส่วนให้แก่เจ้าของรวมไว้ในบัญชีดังกล่าวด้วย
(๓) ส่งคำบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าของรวม และบุคคลตาม (๒) ขอให้ตรวจสอบบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นและให้ยื่นคำแถลงคัดค้านได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันส่งคำบอกกล่าว
ถ้าไม่มีคำแถลงคัดค้านภายในกำหนดเวลาตาม (๓) ให้ถือว่าบัญชีส่วนเฉลี่ยดังกล่าวเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่บุคคลตามบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้น
มาตรา ๓๔๑๕ ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำแถลงคัดค้านตามมาตรา ๓๔๐ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายเรียกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทุกคน ผู้ทรงสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น เจ้าของรวม และลูกหนี้ตามคำพิพากษา มาชี้แจงในเวลาและ ณ สถานที่ที่กำหนด โดยต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน บุคคลดังกล่าวจะไปตามหมายเรียกด้วยตนเองหรือจะมอบให้ผู้รับมอบอำนาจไปกระทำการแทนก็ได้
เมื่อได้ตรวจพิจารณาคำแถลงคัดค้านและได้ฟังคำชี้แจงของผู้ซึ่งมาตามหมายเรียกแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำคำสั่งยืนตามหรือแก้ไขบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นแล้วอ่านคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ซึ่งมาตามหมายเรียกฟังและให้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้
ในกรณีที่ไม่อาจทำคำสั่งได้ภายในวันที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ซึ่งมาตามหมายเรียกหรือตามนัดทราบวันนัดฟังคำสั่งที่เลื่อนไปและให้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้
ถ้าบุคคลตามวรรคหนึ่งมิได้ไปตามหมายเรียกหรือตามนัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ถือว่าได้ทราบวันนัดและคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว
มาตรา ๓๔๒๖ ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยืนตามบัญชีส่วนเฉลี่ย ผู้ซึ่งได้ยื่นคำแถลงคัดค้านตามมาตรา ๓๔๐ อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวต่อศาลได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่ง
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งแก้ไขบัญชีส่วนเฉลี่ย บุคคลตามมาตรา ๓๔๑ อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวต่อศาลได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่ง
ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการจ่ายส่วนเฉลี่ยไปก่อนจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งหรือทำการจ่ายส่วนเฉลี่ยชั่วคราวตามมาตรา ๓๔๓
ถ้าไม่มีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองให้ถือว่าบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่บุคคลตามบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้น
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๔๓๗ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า ถ้าจะเลื่อนการจ่ายส่วนเฉลี่ยไปจนกว่าได้จำหน่ายทรัพย์สินที่ประสงค์จะบังคับทั้งหมดหรือจนกว่าการเรียกร้องทั้งหมดที่มาสู่ศาลได้เสร็จเด็ดขาดแล้วจะทำให้บุคคลผู้มีส่วนเฉลี่ยในเงินรายได้แห่งทรัพย์สินที่บังคับนั้นทุกคนหรือคนใดคนหนึ่งได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิที่จะแบ่งเงินรายได้เท่าที่พอแก่การที่จะจ่ายให้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ มาตรา ๓๔๑ และมาตรา ๓๔๒ ได้ ในเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กันเงินไว้สำหรับชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นต่อไป และสำหรับชำระการเรียกร้องใด ๆ ที่ยังมีข้อโต้แย้งไว้แล้ว
มาตรา ๓๔๔๘ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทุกคนได้รับส่วนแบ่งเป็นที่พอใจแล้ว ถ้ายังมีเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหลืออยู่หลังจากที่ได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้ว และเงินเช่นว่านั้นอยู่ในบังคับที่จะต้องจ่ายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๒๙ หรือถูกอายัดโดยประการอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินส่วนที่เหลือนั้นตามมาตรา ๓๒๙ หรือตามคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้อง แล้วแต่กรณี
ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหลืออยู่หลังจากที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และถ้าทรัพย์สินของบุคคลภายนอกต้องถูกจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้จ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลืออยู่แก่บุคคลภายนอกนั้น
ถ้าได้มีการขายทรัพย์สินรายใดตามมาตรา ๓๒๓ ไปแล้ว และได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคุณแก่ผู้เรียกร้อง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่ได้จากการขายแก่ผู้เรียกร้องไป
๑ มาตรา ๓๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๓๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๓๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๓๔๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๓๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๑๑
เงินค้างจ่าย
-------------------------
มาตรา ๓๔๕๑ บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
๑ มาตรา ๓๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๓
การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง
-------------------------
มาตรา ๓๔๖๑ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ถ้าบทบัญญัติในหมวดนี้มิได้กำหนดวิธีการบังคับคดีไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การบังคับคดีในกรณีที่เป็นหนี้เงินมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔๗๒ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนทรัพย์เฉพาะสิ่งแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเพื่อชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจยึดทรัพย์นั้นเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ถ้าทรัพย์เฉพาะสิ่งของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องส่งมอบแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องได้ถูกยึดหรืออายัดไว้เพื่อเอาชำระหนี้เงินในคดีอื่นแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบทรัพย์นั้นให้แก่ตน โดยต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีอื่นนั้นสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เพียงพอ ทั้งนี้ ให้ศาลแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบและอาจมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการยึดหรืออายัดทรัพย์แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์ในคดีอื่นนั้น และให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นนั้นได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี
ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ตามวรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำมาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๙ มาใช้บังคับ
มาตรา ๓๔๘๓ การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งที่มีทะเบียนกรรมสิทธิ์หรือมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนต่อไป
การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์เฉพาะสิ่ง ถ้ามีเหตุขัดขวางหรือเหตุขัดข้องในการส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์นั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๔ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔๙๔ การบังคับคดีที่ขอให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี
ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียไปในคดีที่มีคำพิพากษาให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องเสียไปในคดีอื่นตามมาตรา ๓๔๗ วรรคสอง โดยให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีที่ต้องใช้แทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่มีคำพิพากษาให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งนั้น
๑ มาตรา ๓๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๔๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๔
การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่
-------------------------
มาตรา ๓๕๐๑ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๑ มาตรา ๓๕๒ มาตรา ๓๕๓ และมาตรา ๓๕๔
การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ หรือขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๕
๑ มาตรา ๓๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๑
การบังคับคดีในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
-------------------------
มาตรา ๓๕๑๑ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
(๑) ถ้าทรัพย์นั้นไม่มีบุคคลใดอยู่แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๒
(๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ออกไปจากทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๓
มาตรา ๓๕๒๒ ในกรณีตามมาตรา ๓๕๑ (๑) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจส่งมอบทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วนให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองได้ทันที ถ้ามีสิ่งกีดขวางอันเป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจทำลายสิ่งกีดขวางดังกล่าวได้ตามความจำเป็น
ถ้ายังมีสิ่งของของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือของบุคคลใดอยู่ในทรัพย์นั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีสิ่งของนั้นไว้ และมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าสิ่งของนั้นมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ หรือมีสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของสิ่งของนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจำหน่ายสิ่งของนั้นได้ทันทีโดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่เห็นสมควร และเก็บรักษาเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้แทนสิ่งของนั้น หรือทำลายสิ่งของนั้น หรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงสภาพแห่งสิ่งของ ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย และประโยชน์สาธารณะ
(๒) ถ้าสิ่งของนั้นมิใช่สิ่งของตามที่ระบุไว้ใน (๑) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจนำสิ่งของนั้นมาเก็บรักษาไว้ หรือมอบให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รักษา หรือฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร แล้วแจ้งหรือประกาศให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าของสิ่งของมารับคืนไปภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าของสิ่งของไม่มารับหรือไม่ยอมรับสิ่งของนั้นคืนไปภายในเวลาที่กำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตาม (๑) โดยอนุโลม
เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มาจากการจำหน่ายสิ่งของตามวรรคสอง (๑) หรือ (๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าของสิ่งของไม่มาขอรับคืนภายในกำหนดห้าปีนับแต่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่สิ่งของตามวรรคสองถูกยึด อายัด หรือห้ามโอน ยักย้าย หรือจำหน่ายตามวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาหรือเพื่อการบังคับคดีในคดีอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจย้ายสิ่งของดังกล่าวไปเก็บไว้ ณ สถานที่อื่นได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีอื่นทราบด้วย
ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดำเนินการตามมาตรานี้ และให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป
มาตรา ๓๕๓๓ ในกรณีตามมาตรา ๓๕๑ (๒) ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) รายงานต่อศาลเพื่อมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวาร และให้ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๒) ปิดประกาศให้บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นซึ่งอ้างว่ามิได้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศแสดงว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น
เมื่อมีการจับกุมลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารตาม (๑) แล้ว หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวหลบหนีไปจากทรัพย์นั้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามมาตรา ๓๕๒
มาตรา ๓๕๔๔ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๑ ให้ถือว่าบุคคลดังต่อไปนี้เป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
(๑) บุคคลที่อยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้นและมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๓๕๓ (๒) หรือยื่นคำร้องต่อศาลแล้วแต่แสดงต่อศาลไม่ได้ว่าตนมีอำนาจพิเศษในการอยู่อาศัยหรือครอบครองทรัพย์นั้น
(๒) บุคคลที่เข้ามาอยู่ในทรัพย์นั้นในระหว่างเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเข้าครอบครองทรัพย์นั้น
๑ มาตรา ๓๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๕๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๒
การบังคับคดีในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ หรือขนย้ายทรัพย์สิน ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง
-------------------------
มาตรา ๓๕๕๑ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุกหรือธัญชาติ หรือขนย้ายทรัพย์สิน ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครอง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการรื้อถอน และขนย้ายทรัพย์สินออกจากทรัพย์นั้นได้โดยให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สินนั้น และให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สิน ไว้ ณ บริเวณนั้นไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนหรือขนย้ายทรัพย์สินนั้น
ในการจัดการกับวัสดุที่ถูกรื้อถอนและทรัพย์สินที่ถูกขนย้ายออกจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์ที่ครอบครองนั้น ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๕๒ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๓๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๕
การบังคับคดีในกรณีที่ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ
-------------------------
มาตรา ๓๕๖๑ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งหรือให้ขับไล่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๓ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง และหมวด ๔ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ หรือส่วนที่ ๒ แห่งหมวดนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าวิธีการบังคับคดีดังกล่าวไม่อาจบรรลุผลตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลได้ ก็ให้ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรเท่าที่สภาพแห่งการบังคับคดีจะเปิดช่องให้กระทำได้
๑ มาตรา ๓๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๑
การบังคับคดีในกรณีที่ให้กระทำการ
-------------------------
มาตรา ๓๕๗๑ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลไม่ได้กำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นได้
ถ้าการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะบริบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้บุคคลดังกล่าวนั้นจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาล
ถ้าหนังสือสำคัญ เช่น โฉนดที่ดิน ใบจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบทะเบียน หรือเอกสารสิทธิที่จะต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนสูญหาย บุบสลาย หรือนำมาไม่ได้เพราะเหตุอื่นใด ศาลจะสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายออกใบแทนหนังสือสำคัญดังกล่าวก็ได้ เมื่อได้ออกใบแทนแล้ว หนังสือสำคัญเดิมเป็นอันยกเลิก
มาตรา ๓๕๘๒ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งไม่ใช่กรณีตามมาตรา ๓๕๗ นอกจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอตามมาตรา ๓๖๑ แล้ว ถ้าการกระทำนั้นเป็นกรณีที่อาจให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอฝ่ายเดียวให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้บุคคลภายนอกกระทำการนั้นแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายที่เสียไปในกรณีขอให้บุคคลภายนอกกระทำการแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป
๑ มาตรา ๓๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
ส่วนที่ ๒
การบังคับคดีในกรณีที่ให้งดเว้นกระทำการ
-------------------------
มาตรา ๓๕๙๑ การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษางดเว้นกระทำการ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๖๑ และขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ได้ด้วย
(๑) ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายอันเกิดจากการไม่งดเว้นกระทำการนั้น
(๒) รื้อถอนหรือทำลายทรัพย์สินอันเกิดจากการไม่งดเว้นกระทำการนั้น เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการนั้นได้กำหนดวิธีการจัดการกับทรัพย์สินดังกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว
ในกรณีตาม (๑) เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำขอนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตาม (๒) ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาล โดยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้รับผิดในค่าใช้จ่าย
การขอและการดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ส่วนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลกำหนดตามวรรคสองและค่าใช้จ่ายตามวรรคสาม ให้ถือว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันต่อไป
๑ มาตรา ๓๕๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๖
การบังคับคดีในกรณีได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีทะเบียน
-------------------------
มาตรา ๓๖๐๑ การบังคับคดีในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หรือแสดงว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลใดได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ทรัพยสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หากทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียนและมีเหตุขัดข้องไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลดังกล่าวอาจมีคำขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้มีสิทธิมีชื่อในทะเบียนให้เป็นไปตามคำสั่งศาล
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๕๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๓๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๗
การบังคับคดีในกรณีที่ขอให้ศาลสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษา
-------------------------
มาตรา ๓๖๑๑ ภายใต้บังคับบทบัญญัติหมวด ๔ การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจงใจขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ และไม่มีวิธีการบังคับอื่นใดที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะใช้บังคับได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจมีคำขอฝ่ายเดียว ให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้
เมื่อได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาคำขอโดยเร็ว หากเป็นที่พอใจจากพยานหลักฐานซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำมาสืบหรือที่ศาลเรียกมาสืบว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาสามารถที่จะปฏิบัติตามคำบังคับได้ถ้าได้กระทำการโดยสุจริต และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีวิธีการบังคับอื่นใดที่จะใช้บังคับได้ ให้ศาลออกหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาลหรือถูกจับตัวมา แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่อาจแสดงเหตุอันสมควรในการที่ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับได้ ศาลมีอำนาจสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาทันทีหรือในวันหนึ่งวันใดที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังคงขัดขืนอยู่ก็ได้ หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาแสดงเหตุอันสมควรในการที่ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับได้ หรือตกลงที่จะปฏิบัติตามคำบังคับทุกประการ ศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำขอ หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๓๖๒๒ เมื่อศาลได้ออกหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตรา ๓๖๑ แล้ว ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามาศาลหรือถูกจับกุมตัวมา ให้ศาลมีอำนาจกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นไว้ในระหว่างการพิจารณาคำขอจนกว่าจะมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร
ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันตามวรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามจำนวนเงินที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้องผู้ทำสัญญาประกันเป็นคดีใหม่
มาตรา ๓๖๓๓ ในกรณีที่ศาลสั่งกักขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลใดตามมาตรา ๓๕๓ หรือมาตรา ๓๖๑ บุคคลนั้นจะต้องถูกกักขังไว้จนกว่าจะมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรกำหนดว่าตนยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำบังคับทุกประการ แต่ทั้งนี้ ห้ามไม่ให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่าหกเดือนนับแต่วันจับกุมหรือวันเริ่มกักขัง แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖๒ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๖๔๔ ในกรณีที่ศาลยอมรับบุคคลเป็นประกัน และบุคคลนั้นจงใจขัดขวางการบังคับคดี หรือร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษาขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๖๑ มาตรา ๓๖๒ และมาตรา ๓๖๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๖๕๕ การจับกุมและควบคุมตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือหมายของศาล หรือตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดี
การจับกุม ควบคุมตัว หรือกักขังบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามมาตรา ๒๗๙ วรรคสอง มาตรา ๒๘๔ มาตรา ๓๕๓ มาตรา ๓๖๑ และมาตรา ๓๖๔ ไม่ตัดสิทธิที่จะดำเนินคดีในความผิดอาญา
๑ มาตรา ๓๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๘
การบังคับในกรณีมีการประกันในศาล
-------------------------
มาตรา ๓๖๖๑ ถ้าบุคคลใดได้เข้าเป็นผู้ประกันในศาลโดยทำเป็นหนังสือหรือโดยวิธีอื่น เพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันได้ โดยให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่ผู้ประกันเสมือนหนึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ต้องฟ้องผู้ประกันเป็นคดีใหม่
ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การประกันการปฏิบัติตามคำสั่งศาลในกรณีอื่นด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๖๗๒ ในกรณีที่คู่ความหรือบุคคลใดนำเงิน สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร หนังสือประกันของธนาคาร หรือหลักประกันอย่างอื่นซึ่งอาจจ่ายเป็นเงินแทนได้ มาวางต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือตามคำสั่งของศาล เช่น คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาหรือทุเลาการบังคับคดีในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในกรณีอื่นใด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนั้นชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งจ่ายเงินหรือดำเนินการเรียกเงินมาจ่ายให้แก่ตนได้
การขอและการดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล
๑ มาตรา ๓๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๓๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐