ลักษณะ ๒๐ ประกันภัย (มาตรา ๘๖๑ - ๘๙๗)

หมวด ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๘๖๑ - ๘๖๘)

 

หมวด ๑
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๘๖๑  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย

               มาตรา ๘๖๒  ตามข้อความในลักษณะนี้
               คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
               คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
               คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้
               อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

               มาตรา ๘๖๓  อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

               มาตรา ๘๖๔  เมื่อคู่สัญญาประกันภัยยกเอาภัยใดโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อพิจารณาในการวางกำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัย และภัยเช่นนั้นสิ้นไปหามีไม่แล้ว ท่านว่าภายหน้าแต่นั้นไป ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดเบี้ยประกันภัยตามส่วน

               มาตรา ๘๖๕  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
               ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

               มาตรา ๘๖๖  ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา ๘๖๕ นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

               มาตรา ๘๖๗  อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
               ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง
               กรมธรรม์ประกันภัย ต้องลงลายมือชื่อของผู้รับประกันภัยและมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) วัตถุที่เอาประกันภัย
               (๒) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง
               (๓) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
               (๔) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
               (๕) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย
               (๖) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
               (๗) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
               (๘) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
               (๙) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
               (๑๐) วันทำสัญญาประกันภัย
               (๑๑) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย

               มาตรา ๘๖๘  อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล

หมวด ๒ ประกันวินาศภัย (มาตรา ๘๖๙ - ๘๘๘)

ส่วนที่ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๘๖๙ - ๘๘๒)

 

ส่วนที่ ๑
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๘๖๙  อันคำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

               มาตรา ๘๗๐  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
               อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
               ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อ ๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ

               มาตรา ๘๗๑  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันก็ดี หรือสืบเนื่องเป็นลำดับกันก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่น ๆ

               มาตรา ๘๗๒  ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน

               มาตรา ๘๗๓  ถ้าในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนั้น มูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลงไปหนักไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ และลดจำนวนเงินเบี้ยประกันภัย
               การลดจำนวนเบี้ยประกันภัยนั้น ให้เป็นผลต่อในอนาคต

               มาตรา ๘๗๔  ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน ก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวนสูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ยด้วย

               มาตรา ๘๗๕  ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
               ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ

               มาตรา ๘๗๖  ถ้าผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ผู้เอาประกันภัยจะเรียกให้หาประกันอันสมควรให้แก่ตนก็ได้ หรือจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับตามควรแก่เรื่อง แต่กระนั้นก็ดี ถ้าเบี้ยประกันภัยได้ส่งแล้วเต็มจำนวนเพื่ออายุประกันภัยเป็นระยะเวลามากน้อยเท่าใดไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยบอกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลานั้นสุดลง

               มาตรา ๘๗๗  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
               (๒) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
               (๓) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
               อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
               ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

               มาตรา ๘๗๘  ค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยนั้น ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้

               มาตรา ๘๗๙  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
               ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๘๘๐  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
               ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น

               มาตรา ๘๘๑  ถ้าความวินาศเกิดขึ้นเพราะภัยมีขึ้นดังผู้รับประกันภัยตกลงประกันภัยไว้ไซร้ เมื่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ทราบความวินาศนั้นแล้ว ต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับประกันภัยโดยไม่ชักช้า
               ถ้ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อน ผู้รับประกันภัยอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้นได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้

               มาตรา ๘๘๒  ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย
               ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด

ส่วนที่ ๒ วิธีเฉพาะการประกันภัยในการรับขน (มาตรา ๘๘๓ - ๘๘๖)

 

ส่วนที่ ๒
วิธีเฉพาะการประกันภัยในการรับขน

-------------------------

               มาตรา ๘๘๓  อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง และจำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น ย่อมกำหนดตามที่ของซึ่งขนส่งนั้นจะได้มีราคาเมื่อถึงตำบลอันกำหนดให้ส่ง

               มาตรา ๘๘๔  ถ้าของซึ่งขนส่งนั้นได้เอาประกันภัยเมื่ออยู่ในระหว่างส่งเดินทางไป ท่านให้คิดมูลประกันภัยในของนั้นนับรวมทั้งราคาของ ณ สถานที่และในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของ และให้เพิ่มค่าระวางส่งของไปยังสถานที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เนื่องด้วยการส่งของไปนั้นเข้าด้วย
               กำไรอันจะพึงได้ในเวลาเมื่อส่งมอบของนั้น ย่อมจะคิดรวมเข้าเป็นมูลประกันภัยได้ต่อเมื่อได้มีข้อตกลงกันไว้เช่นนั้นชัดแจ้ง

               มาตรา ๘๘๕  อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ถึงแม้การขนส่งจะต้องสะดุดหยุดลงชั่วขณะหรือจะต้องเปลี่ยนทางหรือเปลี่ยนวิธีขนส่งอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเหตุจำเป็นในระหว่างส่งเดินทางก็ดี ท่านว่าสัญญานั้นก็ย่อมคงเป็นอันสมบูรณ์อยู่ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๘๘๖  อันกรมธรรม์ประกันภัยในการรับขนนั้น นอกจากที่ได้ระบุไว้แล้วในมาตรา ๘๖๗ ต้องมีรายการเพิ่มขึ้นอีกดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (๑) ระบุทางและวิธีขนส่ง
               (๒) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขนส่ง
               (๓) สถานที่ซึ่งกำหนดให้รับและส่งมอบของ
               (๔) กำหนดระยะเวลาขนส่งตามแต่มี

ส่วนที่ ๓ ประกันภัยค้ำจุน (มาตรา ๘๘๗ - ๘๘๘)

 

ส่วนที่ ๓
ประกันภัยค้ำจุน

-------------------------

               มาตรา ๘๘๗  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
               บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
               อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

               มาตรา ๘๘๘  ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน

หมวด ๓ ประกันชีวิต (มาตรา ๘๘๙ - ๘๙๗)

 

หมวด ๓
ประกันชีวิต

-------------------------

               มาตรา ๘๘๙  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

               มาตรา ๘๙๐  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

               มาตรา ๘๙๑  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
               ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๐๙ มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘๙๒  ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา ๘๖๕ ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น

               มาตรา ๘๙๓  การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน
               แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

               มาตรา ๘๙๔  ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

               มาตรา ๘๙๕  เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
               (๑) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
               (๒) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
               ในกรณีที่ ๒ นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

               มาตรา ๘๙๖  ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย

               มาตรา ๘๙๗  ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
               ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้