พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชกฤษฎีกาให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่

 

พระราชกฤษฎีกา
ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ ๑ และ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่

-------------------------

               มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

               จำเดิมแต่ได้ออกประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และ ๒ แต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ เปนต้นมา ได้มีความเห็นแนะนำมากหลาย เพื่อยังประมวลกฎหมายนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

               และเมื่อได้พิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว เห็นเปนการสมควรให้ตรวจชำระบทบัญญัติในบรรพ ๑ และ ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นใหม่

               จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า บทบัญญัติเดิมในบรรพ ๑ และ ๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้แต่ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ นั้น ให้ยกเลิกเสียสิ้น และใช้บทบัญญัติที่ได้ตรวจชำระใหม่ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกานี้แทนสืบไป

               ประกาศมา ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๘ เปนปีที่ ๑๖ ในรัชกาลปัตยุบันนี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๒/-/หน้า ๑/๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕

 

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ที่ได้ตรวจชำระใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๕

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕
เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน


               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทบัญญัติลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และบรรพ ๓ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ยกเลิกบทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๑ และบรรพ ๒ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๘
               (๒) ให้ยกเลิกลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๑
               (๓) ให้ใช้บทบัญญัติท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่

               มาตรา ๔  เอกสารที่มีการใช้ตราประทับแทนการลงลายมือชื่อตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีผลสมบูรณ์เสมือนกับลงลายมือชื่อต่อไป

               มาตรา ๕  บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการให้กู้ยืมเงินที่ผู้เสมือนไร้ความสามารถได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๖  ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ที่ศาลได้ตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากยังมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่หรือจัดทำยังไม่แล้วเสร็จ ให้จัดทำให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำมาตรา ๕๒ และมาตรา ๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

               มาตรา ๗  ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทบวงการเมืองตามความหมายของมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัตินี้ คงมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไป

               มาตรา ๘  ให้บรรดาสมาคมที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสมาคมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้
               สมาคมใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “สมาคม” ประกอบกับชื่อของสมาคมให้ยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของสมาคมให้ถูกต้องตามมาตรา ๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๙  สมาคมตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง สมาคมใด มีวิธีจัดการโดยไม่มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมตามมาตรา ๗๙ (๖) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ถ้าสมาคมนั้นไม่ดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของสมาคมและจัดให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียน

               มาตรา ๑๐  สมาคมตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง สมาคมใด มีสมาชิกไม่ถึงสิบคน หากสมาคมนั้นไม่ได้จัดให้มีจำนวนสมาชิกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนตามมาตรา ๑๐๒ (๕) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๑  ให้บรรดามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นมูลนิธิตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าตราสารก่อตั้งมูลนิธิดังกล่าวเป็นข้อบังคับของมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้
               มูลนิธิใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “มูลนิธิ” ประกอบกับชื่อของมูลนิธิ ให้ยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๒  บรรดามูลนิธิที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมิได้เป็นนิติบุคคล ถ้าประสงค์จะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและใช้คำว่า “มูลนิธิ” ประกอบชื่อของตนต่อไป ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนตามมาตรา ๑๑๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๓  มูลนิธิตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง มูลนิธิใด มีข้อบังคับที่กำหนดให้มีผู้จัดการของมูลนิธิไม่ถึงสามคนในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามูลนิธินั้นไม่ดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิเพื่อให้มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่น้อยกว่าสามคนเป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา ๑๒๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้เพื่อสั่งการให้แก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ถ้าปรากฏว่ามูลนิธิใดไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็ให้นายทะเบียนร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิตามมาตรา ๑๓๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๔  บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และที่บัญญัติไว้ในลักษณะ ๒๓ สมาคม ของบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ

               มาตรา ๑๕  ให้แก้เลขมาตราตามที่มีอยู่ในมาตราต่าง ๆ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเลขมาตราตามบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ดังต่อไปนี้
               (๑) “มาตรา ๙ วรรคสองและวรรคสาม” ในมาตรา ๑๖๖๖ ให้แก้เป็น “มาตรา ๙ วรรคสอง”
               (๒) “มาตรา ๒๙” ในมาตรา ๑๔๖๔ และมาตรา ๑๕๑๙ ให้แก้เป็น “มาตรา ๒๘”
               (๓) “มาตรา ๓๔” ในมาตรา ๑๖๑๐ และมาตรา ๑๖๑๑ ให้แก้เป็น “มาตรา ๓๒”
               (๔) “มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๓” ในมาตรา ๑๕๗๗ ให้แก้เป็น “มาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๐”
               (๕) “มาตรา ๖๕” ในมาตรา ๑๖๐๒ ให้แก้เป็น “มาตรา ๖๒”
               (๖) “มาตรา ๖๖” ในมาตรา ๑๖๐๒ ให้แก้เป็น “มาตรา ๖๓”
               (๗) “มาตรา ๘๑” ในมาตรา ๑๖๗๖ ให้แก้เป็น “มาตรา ๑๑๐”
               (๘) “มาตรา ๘๕” ในมาตรา ๑๖๗๗ ให้แก้เป็น “มาตรา ๑๑๔”
               (๙) “มาตรา ๑๓๐ วรรคสอง” ในมาตรา ๓๖๐ ให้แก้เป็น “มาตรา ๑๖๙ วรรคสอง”
               (๑๐) “มาตรา ๑๘๙” ในมาตรา ๒๔๘ และมาตรา ๑๗๕๔ ให้แก้เป็น “มาตรา ๑๙๓/๒๗”

               มาตรา ๑๖  บทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นที่อ้างถึงบทบัญญัติในบรรพ ๑ หรือลักษณะ ๒๓ ในบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบทบัญญัติที่มีนัยเช่นเดียวกันในบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๗  บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๙๗ และมาตรา ๑๒๙๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๘  ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
             อานันท์ ปันยารชุน
                นายกรัฐมนตรี


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๔๒/หน้า ๑/๘ เมษายน ๒๕๓๕

พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ที่ได้ตรวจชำระใหม่

 

พระราชกฤษฎีกา
ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓

ที่ได้ตรวจชำระใหม่

-------------------------

               มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

               จำเดิมแต่ได้ออกประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ แต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นต้นมา ได้มีความเห็นแนะนำมากหลายเพื่อยังประมวลกฎหมายนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

               และเมื่อได้ตรวจพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว เห็นเป็นการสมควรให้ตรวจชำระบทบัญญัติในบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวมาข้างตนนั้นใหม่

               จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า บทบัญญัติเดิมในบรรพ ๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ประกาศไว้แต่ ณ วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ นั้นให้ยกเลิกเสียสิ้น และใช้บทบัญญัติที่ตรวจชำระใหม่ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกานี้แทน

               ให้ใช้พระราชกฤษฎีกานี้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ เป็นต้นไป

               ประกาศมา ณ วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ เป็นปีที่ ๔ ในรัชชกาลปัจจุบัน


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๕/-/หน้า ๑/๑ มกราคม ๒๔๗๑

พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

พระราชกฤษฎีกา
ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ ๔
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

-------------------------

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

               โดยที่การประมวลกฎหมายแห่งบ้านเมืองได้ดำเนินมาถึงคราวที่ควรประกาศใช้บรรพ ๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้เพิ่มบทบัญญัติบรรพ ๔ ตั้งแต่มาตรา ๑๒๙๘ ถึงมาตรา ๑๔๓๔ ตามที่ได้ตราไว้ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               ให้ใช้พระราชกฤษฎีกานี้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นไป

               ประกาศมา ณ วันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๗/หน้า ๔๔๒/๑๘ มีนาคม ๒๔๗๓

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙

 

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ที่ได้ตรวจชำระใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๙

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
เป็นปีที่ ๓๑ ในรัชกาลปัจจุบัน


               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสียใหม่

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกวา “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิกบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ และให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน เว้นแต่ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๔  บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗

               มาตรา ๕  บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส สัญญาก่อนสมรส การเป็นบิดามารดากับบุตร การเป็นผู้ปกครอง การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ และการรับบุตรบุญธรรมที่ได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๖  การเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรส ซึ่งสัญญาก่อนสมรสนั้นได้ทำขึ้นไว้ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้กระทำได้โดยคู่สมรสนำหนังสือสัญญาก่อนสมรสพร้อมด้วยข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงเพิกถอนไปยื่นต่อนายทะเบียนสมรส ณ ท้องที่ที่ตนทำการสมรส และให้นายทะเบียนสมรสจดการเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรส และแนบหนังสือสัญญาก่อนสมรส พร้อมด้วยข้อตกลงเปลี่ยนแปลงเพิกถอนไว้ท้ายทะเบียนสมรสด้วย
               การเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลตามเงื่อนไขและกรณีที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๔๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๗  บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ถือว่าสินเดิมตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมของฝ่ายใดเป็นสินสวนตัวตามบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ของฝ่ายนั้น
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งของตนด้วย
               ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดประสงค์จะใช้อำนาจจัดการสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งที่เป็นส่วนของตน ถ้าคู่สมรสนั้นมิได้เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ให้แจ้งให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดการแบ่งสินส่วนตัวดังกล่าวที่อยู่ในสภาพที่แบ่งได้ให้แก่ฝ่ายที่ประสงค์จะจัดการ แต่ถ้าสินส่วนตัวนั้นไม่อยู่ในสภาพที่แบ่งได้ให้ทั้งสองฝ่ายจัดการร่วมกัน

               มาตรา ๘  บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการจัดการสินเดิมที่เปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา ๗ ซึ่งได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๙  บรรดาอายุความหรือระยะเวลาที่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้ก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ถ้าหากยังไม่สุดสิ้นลงในวันที่ใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และอายุความหรือระยะเวลาที่กำหนดขึ้นใหม่นั้น แตกต่างกับอายุความหรือระยะเวลาที่กำหนดไว้แต่เดิมก็ให้นำอายุความหรือระยะเวลาที่ยาวกว่ามาบังคับ

               มาตรา ๑๐  คำว่า “ค่าอุปการะเลี้ยงดู” ในบรรดาบทกฎหมายซึ่งมีความหมายถึงค่าอุปการะเลี้ยงดูตามนัยของบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐๖ และมาตรา ๑๕๐๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมนั้น ให้ใช้คำว่า “ค่าเลี้ยงชีพ” แทน

               มาตรา ๑๑  บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงบรรพ ๕ หรือบทบัญญัติในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิม ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบรรพ ๕ หรือบทบัญญัติในบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๒  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
     หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช
                นายกรัฐมนตรี


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๕ ตุลาคม ๒๕๑๙

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗

 

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๖
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พุทธศักราช ๒๔๗๗

-------------------------

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗)
อนุวัตน์จาตุรนต์
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
ตราไว้ ณ วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๘
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน


               โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า การประมวลกฎหมายแห่งบ้านเมืองได้ดำเนินมาถึงคราวที่ควรใช้บรรพ ๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               จึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗”

               มาตรา ๒  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้เพิ่มบทบัญญัติ บรรพ ๖ ตั้งแต่มาตรา ๑๕๙๙ ถึงมาตรา ๑๗๕๕ ตามที่ได้ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ เป็นต้นไป

               มาตรา ๔  (ยกเลิก)

     ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
                นายกรัฐมนตรี


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒/หน้า ๕๒๙/๗ มิถุนายน ๒๔๗๘
               มาตรา ๔ ยกเลิกโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ พ.ศ. ๒๔๘๖ มาตรา ๓