สารบัญ

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๗)

 

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔
เป็นปีที่ ๔๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเล

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ
               “ผู้ขนส่งอื่น” หมายความว่า บุคคลซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล แต่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญานั้นแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง และให้หมายความรวมถึงบุคคลอื่นใดซึ่งผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการขนส่งของนั้นด้วย ไม่ว่าจะมีการมอบหมายช่วงกันไปกี่ทอดก็ตาม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายตามประเพณีในธุรกิจการรับขนของทางทะเล ให้เป็นตัวแทนผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเล เช่น พิธีการเข้าเมือง พิธีการศุลกากร การนำร่อง การเข้าท่า การออกจากท่า การบรรทุกของลงเรือ การขนถ่ายของขึ้นจากเรือ หรือการส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่งเป็นต้น
               “ผู้ส่งของ” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งในสัญญารับขนของทางทะเล
               “ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า
               (ก) บุคคลซึ่งมีชื่อระบุไว้ในใบตราส่งว่าเป็นผู้รับตราส่ง หรือผู้รับของสำหรับใบตราส่งที่ออกให้แก่บุคคลโดยนาม
               (ข) ผู้รับสลักหลังคนสุดท้าย สำหรับใบตราส่งที่ออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งหรือใบตราส่งที่ออกให้แก่บุคคลโดยนาม และไม่มีข้อห้ามการสลักหลังไว้ หรือ
               (ค) บุคคลซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับของ ในกรณีที่ไม่มีการออกใบตราส่งหรือมีการออกเอกสารที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น
               “ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ สัตว์มีชีวิต รวมทั้งภาชนะขนส่งที่ผู้ส่งของเป็นผู้จัดหามาเพื่อใช้ในการขนส่งด้วย
               “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล
               “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น
               “สัญญารับขนของทางทะเล” หมายความว่า สัญญาที่ผู้ขนส่งรับขนของทางทะเลจากท่าหรือที่ในประเทศหนึ่งไปยังท่าหรือที่ในอีกประเทศหนึ่ง โดยคิดค่าระวาง
               “อุปกรณ์แห่งค่าระวาง” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายอย่างใดที่ผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง ซึ่งตามประเพณีในการขนส่งทางทะเลถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง และให้หมายความรวมถึงเงินที่ผู้ขนส่งจำเป็นต้องเรียกเก็บเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าระวางปกติ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการให้บริการของผู้ขนส่งเนื่องจากเหตุที่ผู้ขนส่งไม่อาจป้องกันได้ อันมีประเพณีในการขนส่งทางทะเลที่ผู้ขนส่งจะเรียกได้ เช่น การขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะคับคั่งของท่าเรือหรือที่ที่บรรทุกหรือขนถ่ายของ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างสกุลเป็นต้น
               “ใบตราส่ง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และผู้ขนส่งรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่ง

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร หรือจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร เว้นแต่กรณีที่ได้ระบุในใบตราส่งว่าให้ใช้กฎหมายของประเทศอื่นหรือกฎหมายระหว่างประเทศบังคับก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่แม้ว่าจะได้ระบุไว้เช่นนั้นก็ตาม ถ้าปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ก็ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ
               การขนส่งของทางทะเลภายในราชอาณาจักร ถ้าได้ตกลงกันเป็นหนังสือว่าให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ ก็ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่เป็นการขนส่งโดยไม่คิดค่าระวาง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ถ้ามีการออกใบตราส่ง ใบรับของ หรือเอกสารอื่นทำนองเดียวกันผู้ขนส่งต้องจดแจ้งไว้ในใบตราส่ง ใบรับของ หรือเอกสารอื่นนั้น ว่าผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะยกขึ้นใช้ยันบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้รับตราส่ง หรือรับโอนสิทธิตามใบตราส่ง ใบรับของ หรือเอกสารดังกล่าวมิได้

               มาตรา ๕  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การขนส่งของทางทะเลตามสัญญาจ้างเหมาระวางบรรทุกของเรือไม่ว่าทั้งลำหรือบางส่วน แต่ถ้ามีการออกใบตราส่งสำหรับของที่ขนส่งตามสัญญาจ้างเหมานั้นด้วย หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๖  สัญญารับขนของที่มีการขนส่งทางทะเลและทางอื่นรวมอยู่ด้วยให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลเท่านั้น

               มาตรา ๗  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๒๐๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๖๘/๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๔

หมวด ๑ หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง (มาตรา ๘ - ๑๗)

 

หมวด ๑
หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๘  ก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนที่เรือนั้นจะออกเดินทาง ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้อง
               (๑) ทำให้เรืออยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือนั้น
               (๒) จัดให้มีคนประจำเรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการสำหรับเรือนั้น และ
               (๓) จัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับ ขนส่ง และรักษา เช่น เครื่องปรับอากาศ ห้องเย็น เป็นต้น
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ ผู้ขนส่งต้องกระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบอาชีพรับขนของทางทะเล

               มาตรา ๙  ถ้ามีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๘ เกิดขึ้นหลังจากบรรทุกของลงเรือหรือเมื่อเรือนั้นออกเดินทางแล้ว ผู้ขนส่งจะต้องจัดการแก้ไขความบกพร่องนั้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่อยู่ในวิสัยที่ผู้ประกอบอาชีพรับขนของทางทะเลจะทำได้ในภาวะเช่นนั้น

               มาตรา ๑๐  ผู้ขนส่งต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือ การยกขน การเคลื่อนย้าย การเก็บรักษา การดูแลและการขนถ่ายซึ่งของที่ตนทำการขนส่ง

               มาตรา ๑๑  ผู้ขนส่งมีสิทธิบรรทุกของบนปากระวางเฉพาะในกรณีที่ได้ตกลงกับผู้ส่งของ หรือเป็นการกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือเป็นการปฏิบัติตามประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการบรรทุกของเช่นนั้น
               ถ้าผู้ขนส่งและผู้ส่งของตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกของบนปากระวางได้ ผู้ขนส่งต้องจดแจ้งข้อตกลงดังกล่าวไว้ในใบตราส่งหรือเอกสารอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลในกรณีที่ไม่มีการออกใบตราส่ง
               ถ้าไม่มีการจดแจ้งข้อความในใบตราส่งหรือเอกสารอื่นตามวรรคสอง หากผู้ขนส่งอ้างว่ามีข้อตกลงกัน ให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่พิสูจน์ถึงข้อตกลงนั้น แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้ใบตราส่งหรือเอกสารอื่นมาโดยไม่รู้ถึงข้อตกลงนั้นมิได้
               ถ้ามีการบรรทุกของบนปากระวางโดยขัดต่อบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ได้จดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งหรือเอกสารอื่นตามวรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๕๖ มาใช้บังคับ
               ในกรณีที่มีความตกลงโดยชัดแจ้งระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของให้บรรทุกของใดในระวาง ถ้าผู้ขนส่งบรรทุกของนั้นบนปากระวาง ให้ถือว่าผู้ขนส่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา ๖๐ (๑)

               มาตรา ๑๒  เมื่อผู้ขนส่งได้รับของไว้ในความดูแลแล้ว ถ้าผู้ส่งของเรียกเอาใบตราส่ง ผู้ขนส่งต้องออกให้

               มาตรา ๑๓  เมื่อได้บรรทุกของลงเรือเสร็จแล้ว ถ้าผู้ส่งของเรียกเอาใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ผู้ขนส่งต้องออกให้

               มาตรา ๑๔  เมื่อได้ขนของไปถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่ตกลงกันไว้และพร้อมที่จะส่งมอบของนั้นแล้ว ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง เว้นแต่จะมีข้อกำหนดในใบตราส่งหรือได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญารับขนของทางทะเล

               มาตรา ๑๕  ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงของไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง หรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มีประกันตามควร

               มาตรา ๑๖  เมื่อของไปถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่ตกลงกันไว้แล้ว ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๑๗  ข้อกำหนดใดในสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายดังต่อไปนี้ ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
               (๑) ปลดเปลื้องผู้ขนส่งจากหน้าที่หรือความรับผิดใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
               (๒) กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งให้น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๘ หรือมาตรา ๖๐
               (๓) ปัดภาระการพิสูจน์ซึ่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ขนส่งไปให้ผู้ส่งของหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้พิสูจน์
               (๔) ให้ผู้ขนส่งเป็นผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันภัยแห่งของตามสัญญารับขนของทางทะเลอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย
               ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของข้อกำหนดอื่นในสัญญานั้น และให้ถือว่าคู่สัญญาได้เจตนาให้ข้อกำหนดอื่นนั้นแยกออกต่างหากจากข้อกำหนดที่เป็นโมฆะตามวรรคหนึ่ง
               บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีที่จะตกลงกันกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขนส่งให้มากขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒ ใบตราส่ง (มาตรา ๑๘ - ๓๐)

 

หมวด ๒
ใบตราส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๘  ใบตราส่งพึงแสดงรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ ข้อความที่แจ้งลักษณะอันตรายแห่งของ หากจะต้องมี จำนวนหน่วยการขนส่ง และน้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามที่ผู้ส่งของแจ้งหรือจัดให้
               (๒) สภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอก
               (๓) ชื่อและสำนักงานของผู้ขนส่ง
               (๔) ชื่อของผู้ส่งของ
               (๕) ชื่อของผู้รับตราส่ง ถ้าผู้ส่งของระบุไว้
               (๖) ค่าระวางเท่าที่ผู้รับตราส่งจะต้องจ่าย หรือข้อความแสดงว่าผู้รับตราส่งเป็นผู้จ่ายค่าระวางและค่าเรือเสียเวลาในการบรรทุกของลงเรือ ณ ท่าต้นทาง
               (๗) ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือตามสัญญารับขนของทางทะเลและวันที่ผู้ขนส่งรับของเข้ามาอยู่ในความดูแล
               (๘) ท่าปลายทางที่ขนถ่ายของขึ้นจากเรือตามสัญญารับขนของทางทะเล
               (๙) ข้อความแสดงว่าของนั้นให้บรรทุกบนปากระวางหรืออาจบรรทุกบนปากระวางได้
               (๑๐) วันหรือระยะเวลาส่งมอบของ ณ ท่าปลายทางที่ขนถ่ายของขึ้นจากเรือ ถ้าคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้
               (๑๑) ข้อจำกัดความรับผิดซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๘
               (๑๒) สถานที่และวันที่ออกใบตราส่ง
               (๑๓) จำนวนต้นฉบับใบตราส่งที่ออก
               (๑๔) ลายมือชื่อผู้ขนส่งหรือตัวแทนผู้ขนส่ง

               มาตรา ๑๙  ใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ตามมาตรา ๑๓ นอกจากจะมีรายการตามมาตรา ๑๘ แล้ว ให้ระบุชื่อเรือที่รับบรรทุกของและวันที่บรรทุกของนั้นลงเรือเสร็จแล้วด้วย

               มาตรา ๒๐  ในกรณีที่ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งหรือเอกสารสิทธิอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับของให้แก่ผู้ส่งของไว้ก่อนบรรทุกของลงเรือ ถ้าผู้ส่งของขอให้ผู้ขนส่งออกใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ผู้ส่งของต้องคืนใบตราส่งหรือเอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ขนส่งเพื่อแลกกับใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ในการนี้ผู้ขนส่งอาจทำให้โดยแก้ไขใบตราส่งหรือเอกสารดังกล่าวให้เป็นใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ก็ได้ ถ้าใบตราส่งหรือเอกสารที่แก้ไขแล้วนั้นมีรายการต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่ใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” จะพึงมี

               มาตรา ๒๑  ใบตราส่งที่ออกโดยผู้ขนส่งมีรายการไม่ครบตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ใบตราส่งนั้นยังคงมีฐานะทางกฎหมายเป็นใบตราส่ง ถ้ามีข้อความครบลักษณะเป็นใบตราส่งตามมาตรา ๓

               มาตรา ๒๒  ใบตราส่งใดไม่มีข้อความตามมาตรา ๑๘ (๖) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับตราส่งไม่ต้องจ่ายค่าระวางและค่าเรือเสียเวลาในการบรรทุกของลงเรือ ณ ท่าต้นทาง แต่ถ้าใบตราส่งนั้นได้โอนไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้กระทำการโดยสุจริตโดยเชื่อใบตราส่งนั้น ห้ามมิให้ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๒๓  ในกรณีที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความในใบตราส่งเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่งน้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น ถ้าผู้ขนส่งหรือบุคคลอื่นซึ่งออกใบตราส่งในนามของผู้ขนส่งทราบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับของที่รับไว้จริง หรือไม่ถูกต้องตรงกับของที่ได้รับบรรทุกไว้จริงในกรณีที่มีการออกใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” หรือไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของรายการดังกล่าวในใบตราส่งโดยวิธีการอันสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในภาวะเช่นนั้นได้ บุคคลดังกล่าวต้องบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งโดยระบุถึงข้อที่ไม่ตรงกับความจริง เหตุแห่งความสงสัยหรือพฤติการณ์ที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๒๔  ถ้าผู้ขนส่งหรือบุคคลอื่นซึ่งออกใบตราส่งในนามของผู้ขนส่งมิได้บันทึกสภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอกไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีสภาพภายนอกเรียบร้อย

               มาตรา ๒๕  ถ้ามิได้บันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งตามมาตรา ๒๓ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้รับของไว้หรือได้บรรทุกของลงเรือในกรณีที่เป็นใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ทั้งนี้ ตามรายการที่แสดงไว้ในใบตราส่งนั้น แต่ถ้าใบตราส่งใดได้โอนไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้กระทำการโดยสุจริต โดยเชื่อตามข้อความในใบตราส่งนั้นแล้ว ห้ามมิให้ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๒๖  ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง

               มาตรา ๒๗  ใบตราส่งใดแม้จะได้ออกให้แก่บุคคลใดโดยนามก็ยังอาจโอนให้กันได้โดยการสลักหลัง เว้นแต่จะมีข้อกำหนดห้ามการสลักหลังไว้ในใบตราส่งนั้น

               มาตรา ๒๘  เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือให้ประกันตามควร

               มาตรา ๒๙  ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้โดยมีต้นฉบับมากกว่าหนึ่งฉบับ และของได้ถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางแล้ว
               (๑) แม้ผู้รับตราส่งจะนำต้นฉบับใบตราส่งมาเวนคืนเพียงฉบับเดียว ผู้ขนส่งก็จำต้องส่งมอบของให้ และเมื่อผู้ขนส่งได้ส่งมอบของแล้ว ให้ใบตราส่งฉบับอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เวนคืนเป็นอันสิ้นผล
               (๒) ก่อนหรือในระหว่างการส่งมอบของ ถ้าปรากฏว่ามีผู้รับตราส่งมากกว่าหนึ่งคนเรียกให้ส่งมอบของรายเดียวกันโดยแต่ละคนต่างมีต้นฉบับใบตราส่งมาเวนคืนให้ ให้ผู้ขนส่งนำของทั้งหมดหรือของส่วนที่ยังไม่ได้ส่งมอบไปฝากไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๓๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๐  ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้โดยมีต้นฉบับมากกว่าหนึ่งฉบับในระหว่างที่ของยังไปไม่ถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทาง ผู้ขนส่งไม่จำต้องส่งมอบของนั้นแก่บุคคลใด เว้นแต่จะได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้
               ถ้าผู้ขนส่งส่งมอบของไปโดยที่ยังไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งทั้งหมด ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีต้นฉบับใบตราส่งที่ยังไม่ได้เวนคืน

หมวด ๓ หน้าที่และสิทธิของผู้ส่งของ (มาตรา ๓๑ - ๓๘)

 

หมวด ๓
หน้าที่และสิทธิของผู้ส่งของ

-------------------------

               มาตรา ๓๑  ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น

               มาตรา ๓๒  ถ้าผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความตามมาตรา ๒๓ เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อได้บันทึกให้ตามนั้นแล้วให้ถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ
               ถ้ามีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความตามวรรคหนึ่ง ผู้ส่งของต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ขนส่ง แม้ว่าผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอก

               มาตรา ๓๓  ของใดที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ไวไฟ หรืออาจเกิดระเบิด หรืออาจเป็นอันตรายโดยประการอื่น ผู้ส่งของต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย
               เมื่อส่งของตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น ผู้ส่งของต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น และในกรณีที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นร้องขอ ให้ผู้ส่งของแจ้งข้อควรระวังและวิธีป้องกันอันตรายให้ทราบด้วย

               มาตรา ๓๔  ถ้าผู้ส่งของไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ และผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่นมีดังต่อไปนี้
               (๑) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นอาจขนถ่ายของนั้นขึ้นจากเรือ ทำลายหรือทำให้หมดฤทธิ์ ตามความจำเป็นแห่งกรณี โดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
               (๒) ผู้ส่งของยังคงต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลเนื่องจากการขนส่งของนั้น นอกจากค่าใช้จ่ายตาม (๑)

               มาตรา ๓๕  แม้ว่าผู้ส่งของจะได้ปฏิบัติตามมาตรา ๓๓ แล้ว หรือผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับบรรทุกของตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง โดยรู้ถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นก็ตาม แต่ถ้าปรากฏในภายหลังว่าของนั้นจะเกิดเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินขึ้นอย่างแน่ชัด ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นอาจขนถ่ายของนั้นขึ้นจากเรือ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งกรณีได้ โดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามมาตรา ๓๙ โดยไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ หรือมาตรา ๕๖ ได้

               มาตรา ๓๖  ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ส่งของจะสั่งให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไป ส่งกลับคืนมา ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือจัดการแก่ของนั้นเป็นประการอื่นก็ได้ แต่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่ง หรือตามคำสั่งของผู้ส่งของและมีสิทธิได้รับค่าระวางตามส่วนแห่งระยะทางที่ได้จัดการขนส่งไปแล้ว
               ถ้าได้จัดการไปตามคำสั่งของผู้ส่งของโดยยังไม่ได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทั้งหมด ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีใบตราส่งฉบับที่ยังไม่ได้เวนคืน

               มาตรา ๓๗  ถ้าผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายเนื่องจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของ ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นนั้นต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ส่งของหรือตัวแทนว่าได้เกิดความเสียหายพร้อมทั้งแจ้งให้ทราบถึงสภาพโดยทั่วไปของความเสียหายดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้เกิดความเสียหาย หรือวันที่ส่งมอบของตามมาตรา ๔๐ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง มิฉะนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ได้รับความเสียหายนั้น

               มาตรา ๓๘  ในกรณีที่ผู้ส่งของขอให้ผู้ขนส่งหรือตัวแทนออกใบตราส่งให้แก่ตนโดยไม่ต้องบันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับรายการใด ๆ ในใบตราส่งและให้ใบตราส่งมีข้อความตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ หรือโดยไม่มีข้อสงวนเกี่ยวกับสภาพภายนอกแห่งของในใบตราส่งนั้น และผู้ส่งของรับรองหรือตกลงว่าตนยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการออกใบตราส่งนั้น คำรับรองหรือข้อตกลงดังกล่าวจะใช้ยันผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกผู้รับโอนใบตราส่งนั้นมิได้

หมวด ๔ ความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๓๙ - ๕๐)

 

หมวด ๔
ความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๓๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๘ ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของ สูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้า ถ้าเหตุแห่งการสูญหาย เสียหาย หรือการส่งมอบชักช้านั้นได้เกิดขึ้นในระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของ หรือตัวแทนผู้ส่งของหรือจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือกำหนดให้ผู้ส่งของต้องมอบของที่จะขนส่งไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าวจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๐

               มาตรา ๔๐  ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว
               (๑) ผู้ขนส่งได้มอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว
               (๒) ในกรณีที่ผู้รับตราส่งไม่มารับของจากผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ของนั้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญารับขนของทางทะเล หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับ หรือประเพณีทางการค้าที่ถือปฏิบัติกันอยู่ ณ ท่าปลายทางแล้ว หรือ
               (๓) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว

               มาตรา ๔๑  การส่งมอบชักช้าตามมาตรา ๓๙ ได้แก่
               (๑) ในกรณีที่ได้กำหนดเวลาส่งมอบไว้กับผู้ส่งของ ผู้ขนส่งไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลานั้น
               (๒) ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาส่งมอบไว้ ผู้ขนส่งไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลาอันควรที่ผู้ขนส่งจะส่งมอบตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย

               มาตรา ๔๒  ถ้าเวลาได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันสิ้นกำหนดส่งมอบหรือกำหนดเวลาอันควรส่งมอบตามมาตรา ๔๑ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี บุคคลซึ่งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจะรับมอบของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลจากการส่งมอบชักช้า หรือจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเสมือนว่าของนั้นได้สูญหายสิ้นเชิงก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๒๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๓  แม้ว่าผู้ขนส่งจะได้มอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขน ผู้ขนส่งก็ยังคงต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของนั้น และจะต้องรับผิดเพื่อการกระทำของผู้ขนส่งอื่นรวมทั้งลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งอื่น ซึ่งได้กระทำไปภายในทางการที่จ้าง หรือภายในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทนนั้นด้วย

               มาตรา ๔๔  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของผู้ขนส่งมาใช้บังคับแก่ผู้ขนส่งอื่นเฉพาะการขนส่งในส่วนที่ผู้ขนส่งอื่นได้รับมอบหมายด้วย

               มาตรา ๔๕  เมื่อมีกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดและผู้ขนส่งอื่นจะต้องรับผิดในกรณีเดียวกันนั้นด้วย ให้ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นดังกล่าวเป็นลูกหนี้ร่วมกัน

               มาตรา ๔๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๔๗ และมาตรา ๔๘ สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของ หรือถ้าไม่มีการส่งมอบนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดส่งมอบตามมาตรา ๔๑ (๑) หรือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาอันสมควรตามมาตรา ๔๑ (๒) ให้เป็นอันขาดอายุความ

               มาตรา ๔๗  ก่อนอายุความตามมาตรา ๔๖ จะครบบริบูรณ์ ถ้าฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยินยอมโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ถูกเรียกร้องว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ความยินยอมนี้ให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๔๘  สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเป็นผลจากการส่งมอบชักช้าย่อมสิ้นไป ถ้าผู้รับตราส่งมิได้ส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบของ

               มาตรา ๔๙  เมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของจากผู้ขนส่งหรือจากบุคคลตามมาตรา ๔๐ (๓) ไว้แล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กันให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี เว้นแต่
               (๑) ผู้รับตราส่งหรือบุคคลตามมาตรา ๔๐ (๓) และผู้ขนส่งได้ทำการสำรวจ หรือตรวจสภาพของร่วมกันและจดแจ้งการสูญหายหรือเสียหายไว้แล้วก่อนที่ผู้รับตราส่งจะรับมอบของ
               (๒) ในกรณีที่ไม่มีการสำรวจหรือตรวจสภาพของร่วมกันตาม (๑) ผู้รับตราส่งได้ส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่ง ณ ท่าปลายทางก่อนรับมอบของตามวรรคหนึ่ง หรือภายในหนึ่งวันทำการถัดจากวันรับมอบของว่ามีของสูญหายหรือเสียหาย พร้อมทั้งแจ้งถึงสภาพการสูญหายหรือเสียหายนั้น ๆ ด้วย หรือในกรณีที่การสูญหาย หรือเสียหายไม่อาจพบหรือเห็นได้จากการตรวจสภาพภายนอกแห่งของนั้น ผู้รับตราส่งได้ส่งคำบอกกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับมอบของ

               มาตรา ๕๐  ในกรณีที่จะต้องส่งคำบอกกล่าวแก่กันตามมาตรา ๔๘ หรือมาตรา ๔๙ (๒) ถ้ามิได้ส่งคำบอกกล่าวโดยตรงแก่บุคคลที่จะเป็นผู้รับคำบอกกล่าวนั้นให้บังคับดังนี้
               (๑) ถ้าได้ส่งคำบอกกล่าวให้แก่ตัวแทนผู้ขนส่ง หรือนายเรือ หรือเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือที่ผู้ขนส่งใช้ทำการขนส่ง ให้ถือว่าได้ส่งคำบอกกล่าวนั้นให้แก่ผู้ขนส่งแล้ว
               (๒) ถ้าได้ส่งคำบอกกล่าวให้แก่ตัวแทนผู้ขนส่งอื่น หรือนายเรือหรือเจ้าหน้าที่ประจำเรือซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือที่ผู้ขนส่งอื่นใช้ทำการขนส่ง ให้ถือว่าได้ส่งคำบอกกล่าวนั้นให้แก่ผู้ขนส่งอื่นแล้ว
               (๓) ถ้าผู้ขนส่งอื่นเป็นผู้ส่งมอบของตามมาตรา ๔๐ การส่งคำบอกกล่าวแก่ผู้ขนส่งอื่นนั้นให้มีผลเช่นเดียวกับการส่งคำบอกกล่าวแก่ผู้ขนส่ง และการส่งคำบอกกล่าวแก่ผู้ขนส่งก็ให้มีผลเช่นเดียวกับการส่งให้แก่ผู้ขนส่งอื่นด้วย

หมวด ๕ ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๕๑ - ๕๗)

 

หมวด ๕
ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๕๑  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าอันเกิดขึ้นจากการไม่เป็นไปตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าตนปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๘ วรรคสอง หรือมาตรา ๙ แล้ว

               มาตรา ๕๒  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
               (๑) เหตุสุดวิสัย
               (๒) ภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือได้
               (๓) การสงครามหรือการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธ
               (๔) สงครามกลางเมือง การจลาจล การก่อการร้าย หรือการก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง
               (๕) การยึด การจับ การหน่วงเหนี่ยวหรือการแทรกแซงด้วยประการใด ๆ ซึ่งกระทำต่อเรือ โดยผู้มีอำนาจปกครองรัฐหรือดินแดนหรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง
               (๖) การใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่อ
               (๗) การนัดหยุดงาน การปิดงานงดจ้าง การผละงาน หรือการจงใจทำงานล่าช้าที่ท่าเรือ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นอุปสรรคแก่การบรรทุกหรือขนถ่ายของหรือเป็นอุปสรรคแก่การที่เรือจะเข้าหรือออกจากท่าเรือนั้น
               (๘) การกระทำของโจรสลัด
               (๙) ความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง เช่น การบรรจุหีบห่อ หรือรวมมัดไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่เหมาะสมกับสภาพแห่งของ การทำเครื่องหมายที่ของหรือหีบห่อไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอ
               (๑๐) สภาพแห่งของนั้นเอง
               (๑๑) ความชำรุดบกพร่องของเรือที่แฝงอยู่ภายในซึ่งไม่อาจพบเห็นหรือทราบได้ด้วยการตรวจสอบอย่างระมัดระวังและโดยใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องใช้สำหรับผู้ประกอบอาชีพตรวจเรือ
               (๑๒) ความผิดพลาดในการเดินเรืออันเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือตามคำสั่งของผู้นำร่อง
               (๑๓) เหตุอื่นใดที่มิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง และมิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง

               มาตรา ๕๓  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า อันเกิดจากอัคคีภัย เว้นแต่ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องจะพิสูจน์ได้ว่า อัคคีภัยนั้นเกิดขึ้นจากความผิด หรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง

               มาตรา ๕๔  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า อันเป็นผลจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่พึงกระทำเพื่อระงับอัคคีภัย หรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัย เว้นแต่ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิด หรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งในการใช้มาตรการดังกล่าว

               มาตรา ๕๕  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเป็นผลจากการใช้มาตรการทั้งปวง เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ในทะเล หรือจากการใช้มาตรการอันสมควรเพื่อช่วยทรัพย์สินในทะเล แต่ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามส่วนของตนในการเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป ถ้ามี

               มาตรา ๕๖  ในการขนส่งสัตว์มีชีวิต ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าอันเป็นผลจากภัยซึ่งมีลักษณะพิเศษที่มีประจำอยู่ในการขนส่งสัตว์มีชีวิตหรือจากสภาพของสัตว์นั้นเอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่า
               (๑) ผู้ขนส่งได้ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับสัตว์นั้นโดยเฉพาะที่ผู้ส่งของได้ให้ไว้แก่ตนแล้ว และ
               (๒) ในพฤติการณ์แห่งกรณีเช่นนั้น การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า อาจเกิดจากภัยหรือสภาพของสัตว์ดังกล่าวได้
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับถ้าพิสูจน์ได้ว่า การสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นผลจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง

               มาตรา ๕๗  ถ้าของที่ขนส่งเป็นเงินตรา ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณีหรือของมีค่าอย่างอื่น ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหายหรือเสียหายแห่งของดังกล่าว เว้นแต่ผู้ส่งของจะได้แจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพและราคาของนั้นในเวลาที่นำของมามอบให้
               ในกรณีที่แจ้งราคาของไว้ ให้ผู้ขนส่งรับผิดเพียงไม่เกินราคาที่แจ้งไว้นั้น

หมวด ๖ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าเสียหาย (มาตรา ๕๘ - ๖๑)

 

หมวด ๖
ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าเสียหาย

-------------------------

               มาตรา ๕๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๖๐ ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า
               ในกรณีที่คำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา ๖๑ และปรากฏว่าราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น
               ในกรณีที่มีการส่งมอบของชักช้า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสองเท่าครึ่งของค่าระวางแห่งของเฉพาะที่ส่งมอบชักช้า แต่รวมกันต้องไม่เกินค่าระวางทั้งหมดตามสัญญารับขนของทางทะเล
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดทั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสามโดยมีหน่วยการขนส่งเดียวกันเป็นมูลแห่งความรับผิด ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๕๙  ในการคำนวณว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่าตามมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วยการขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง
               (๒) ในกรณีที่ตัวภาชนะขนส่งสูญหายหรือเสียหาย ถ้าผู้ขนส่งไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้จัดหาภาชนะขนส่งนั้น ให้ถือว่าภาชนะขนส่งอันหนึ่งเป็นของหนึ่งหน่วยการขนส่งอีกต่างหากจากของที่อยู่ในหรือบนภาชนะขนส่งนั้น

               มาตรา ๖๐  การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๕๘ มิให้ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
               (๑) การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้
               (๒) ผู้ส่งของและผู้ขนส่งตกลงกันกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้มากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๘ โดยระบุไว้ในใบตราส่ง
               (๓) ผู้ขนส่งได้จดแจ้งรายการใด ๆ ไว้ในใบตราส่งตามที่ผู้ส่งของแจ้ง หรือจัดให้โดยไม่บันทึกข้อสงวนเกี่ยวกับรายการนั้นไว้ในใบตราส่ง ทั้งนี้ โดยมีเจตนาที่จะฉ้อฉลผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งกระทำการโดยเชื่อรายการในใบตราส่งนั้น
               (๔) ผู้ส่งของได้แจ้งราคาของที่ขนส่งให้ผู้ขนส่งทราบและผู้ขนส่งยอมรับ โดยแสดงราคาของนั้นไว้ในใบตราส่ง
               ในกรณีตาม (๔) นี้ ถ้าราคาที่คำนวณได้ตามมาตรา ๖๑ ต่ำกว่าราคาที่แสดงไว้ในใบตราส่ง ให้ผู้ขนส่งรับผิดเพียงเท่าราคาที่คำนวณได้นั้น และถ้าราคาที่คำนวณได้ตามมาตรา ๖๑ สูงกว่าราคาที่แสดงไว้ในใบตราส่ง ให้ผู้ขนส่งรับผิดเพียงเท่าราคาที่แสดงไว้ในใบตราส่ง

               มาตรา ๖๑  การคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายตามมาตรา ๕๘ ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้
               (๑) ถ้าของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง
               (๒) ถ้าของสูญหายหรือเสียหายบางส่วน ให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       อานันท์ ปันยารชุน
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๘ เรื่องรับขน มาตรา ๖๐๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “การรับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น” จึงจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลขึ้นโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติต้องนำหลักสากลเรื่องการรับขนของทางทะเลมาใช้ ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในการส่งของและรับขนของทางทะเลไม่มีความแน่ใจได้ว่าตนมีสิทธิและหน้าที่เพียงใด เมื่อมีกรณีพิพาทหรือมีการฟ้องร้องเป็นคดีกันในศาล ก็เป็นการยากแก่การพิสูจน์ถึงความรับผิดของคู่กรณี อนึ่ง การขนของทางทะเลในระยะเวลาที่ผ่านมาได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากสินค้าเข้าหรือสินค้าส่งออกของไทยมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี และการขนส่งสินค้าชายฝั่งทางทะเลไทยก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ สมควรที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลให้เป็นการแน่นอนตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะเป็นผลให้การประกอบธุรกิจการขนของทะเลเป็นไปโดยราบรื่นและขจัดปัญหาซึ่งจะเกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย ทั้งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนากิจการพาณิชย์นาวีของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๖

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

พระราชบัญญัติ
การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๖

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๖”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจการรับขนของทางถนนเพื่อค่าระวางโดยทำสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศกับผู้ส่ง
               “ผู้ขนส่งช่วง” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ขนของตามสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ แม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่งและให้หมายความรวมถึงลูกจ้างตัวแทนของผู้ขนส่งช่วง และบุคคลอื่นซึ่งผู้ขนส่งช่วงได้มอบหมายช่วงต่อไปให้ทำการรับขนของนั้นด้วย ไม่ว่าจะมีการมอบหมายช่วงกันไปกี่ทอดก็ตาม
               “ผู้ส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งในสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ
               “ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีชื่อระบุไว้ในใบตราส่งให้เป็นผู้รับตราส่งหรือเป็นผู้มีสิทธิในการรับของจากผู้ขนส่ง
               “รถ” หมายความว่า รถยนต์ รถยนต์ที่เชื่อมติดกัน รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง
               “ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ สัตว์ รวมทั้งภาชนะขนส่งที่ผู้ส่งเป็นผู้จัดหามาเพื่อใช้ในการขนส่ง
               “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
               “ค่าระวาง” หมายความว่า บำเหน็จที่ต้องจ่ายเพื่อการรับขนของ
               “ค่าธรรมเนียมการรับขน” หมายความว่า ค่าระวาง และบรรดาค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการรับขนของ
               “ใบตราส่ง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศและเป็นหลักฐานในการรับมอบของ

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนของทางถนนด้วยรถจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของในราชอาณาจักรไปยังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของนอกราชอาณาจักร หรือจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของนอกราชอาณาจักรมายังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของในราชอาณาจักร หรือจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่งโดยผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ใช้บังคับแก่การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศด้วยรถที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เว้นแต่กรณีที่คู่สัญญาระบุให้ใช้กฎหมายของประเทศอื่นหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็ให้บังคับเป็นไปตามนั้น
               พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การรับขนไปรษณียภัณฑ์ระหว่างประเทศ
               ในกรณีที่การรับขนของทางถนนด้วยรถมีการขนส่งทางอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ ทางน้ำ หรือทางอากาศ โดยไม่มีการขนถ่ายของลงจากรถ ให้ถือว่าเป็นการรับขนของทางถนนตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๕  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางอื่นตามมาตรา ๔ วรรคสาม หากผู้ขนส่งพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นมิได้เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาของผู้ขนส่ง แต่เกิดจากเหตุอื่นซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับการขนส่งทางอื่น ทั้งนี้ ให้ความรับผิดของผู้ขนส่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐/ตอนที่ ๑๑๙ ก/หน้า ๗/๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

หมวด ๑ สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ (มาตรา ๗ - ๑๓)

 

หมวด ๑
สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๗  สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ คือ สัญญาที่ผู้ขนส่งตกลงที่จะดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งของทางถนน จากสถานที่ในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ในอีกประเทศหนึ่งโดยผู้ส่งตกลงที่จะชำระค่าระวางให้แก่ผู้ขนส่ง

               มาตรา ๘  ข้อกำหนดใดในสัญญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายเป็นการปลดเปลื้องหน้าที่หรือความรับผิดของผู้ขนส่ง ทำให้เสื่อมสิทธิแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกำหนดให้มีการทำการประกันภัยเพื่อประโยชน์ของผู้ขนส่ง ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
               ความในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิคู่สัญญาที่จะกำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๙  การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ผู้ขนส่งต้องออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง
               การที่ผู้ขนส่งมิได้ออกใบตราส่ง หรือใบตราส่งมีความบกพร่องหรือสูญหายย่อมไม่กระทบต่อความมีอยู่หรือความถูกต้องของสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ และให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๐  ใบตราส่งให้จัดทำเป็นต้นฉบับจำนวนสามฉบับ โดยฉบับที่หนึ่งให้มอบแก่ผู้ส่ง ฉบับที่สองให้ติดไปกับของ และฉบับที่สามให้เก็บไว้ที่ผู้ขนส่ง
               ผู้ส่งและผู้ขนส่ง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ส่งหรือผู้ขนส่ง ต้องลงลายมือชื่อในใบตราส่ง
               การลงลายมือชื่อตามวรรคสอง ให้หมายความรวมถึงการลงลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารทางโทรสาร การประทับตรา การใช้สัญลักษณ์ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๑๑  กรณีที่มีการบรรทุกของไว้ในรถต่างคัน หรือเป็นของต่างชนิดกันหรือแบ่งของที่ขนส่งออกเป็นหลายส่วน ผู้ส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งออกใบตราส่งสำหรับรถแต่ละคัน ของแต่ละชนิดหรือแต่ละส่วนแห่งของที่ขนส่งได้ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๒  ใบตราส่งต้องแสดงรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่ง
               (๒) ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งช่วง
               (๓) ชื่อและที่อยู่ของผู้รับตราส่ง
               (๔) สถานที่และวันที่ออกใบตราส่ง
               (๕) สถานที่และวันที่รับมอบของ
               (๖) สถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของ
               (๗) รายละเอียดทั่วไปเกี่ยวกับสภาพแห่งของ วิธีการในการบรรจุหีบห่อและรายละเอียดทั่วไปอันเป็นที่ยอมรับแห่งของ ในกรณีที่ของนั้นมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
               (๘) จำนวนหีบห่อ เครื่องหมายพิเศษ และหมายเลขของหีบห่อ
               (๙) น้ำหนักรวม หรือปริมาณแห่งของที่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
               (๑๐) ค่าธรรมเนียมการรับขน
               (๑๑) มูลค่าแห่งของ เพื่อประโยชน์ทางด้านศุลกากร
               (๑๒) คำสั่งที่จำเป็นสำหรับพิธีการทางศุลกากรและพิธีการอื่น
               (๑๓) ข้อความที่กำหนดให้การรับขนของอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

               มาตรา ๑๓  ใบตราส่งอาจแสดงรายการดังต่อไปนี้ด้วยก็ได้
               (๑) ข้อความที่กำหนดไม่ให้มีการเปลี่ยนถ่ายรถ
               (๒) ค่าธรรมเนียมที่ผู้ส่งตกลงชำระนอกจากค่าธรรมเนียมการรับขนตามมาตรา ๑๒ (๑๐)
               (๓) จำนวนเงินที่ต้องชำระเมื่อมีการส่งมอบของ
               (๔) การแสดงราคาของ และจำนวนเงินที่แสดงถึงส่วนได้เสียพิเศษในการส่งมอบ
               (๕) คำสั่งเกี่ยวกับการประกันภัยที่ผู้ส่งให้ไว้แก่ผู้ขนส่ง
               (๖) กำหนดระยะเวลาดำเนินการขนส่งให้แล้วเสร็จ
               (๗) รายการของเอกสารที่ได้มอบให้แก่ผู้ขนส่ง
               คู่สัญญาอาจแสดงรายการอื่นที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ไว้ในใบตราส่งก็ได้

หมวด ๒ หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง (มาตรา ๑๔ - ๑๙)

 

หมวด ๒
หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ในการรับมอบของจากผู้ส่ง ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการในใบตราส่ง ปริมาณ จำนวนและน้ำหนัก สภาพภายนอกแห่งของและหีบห่อที่บรรจุของนั้น
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งพบว่าของที่รับมอบแตกต่างจากรายการที่ระบุไว้ ให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อแตกต่างไว้ในใบตราส่ง หากมิได้มีการบันทึกข้อแตกต่างไว้ ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้รับมอบของครบถ้วนและของนั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์
               ถ้าผู้ขนส่งไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรายการตามวรรคหนึ่งได้ ผู้ขนส่งต้องบันทึกข้อสงวนและเหตุที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องไว้ในใบตราส่งด้วย หากมิได้มีการบันทึกข้อสงวนไว้ ให้สันนิษฐานว่าของและหีบห่อนั้นอยู่ในสภาพดี จำนวนหีบห่อ เครื่องหมายพิเศษ และหมายเลขของหีบห่อถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง

               มาตรา ๑๕  ก่อนที่ของจะไปถึงสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบ หากการรับขนของตามสัญญากลายเป็นพ้นวิสัย หรือโดยพฤติการณ์การรับขนของยังสามารถดำเนินการต่อไปได้แต่ต้องดำเนินการแตกต่างไปจากสัญญา ให้ผู้ขนส่งแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของนั้นตามมาตรา ๒๕ หรือมาตรา ๒๖ แล้วแต่กรณี
               ถ้าผู้ขนส่งไม่สามารถแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของ หรือได้ถามเอาคำสั่งแล้วแต่มิได้รับคำสั่งจากบุคคลดังกล่าวภายในเวลาอันควร ให้ผู้ขนส่งดำเนินการได้เท่าที่จำเป็นและเกิดประโยชน์แก่ผู้มีสิทธิในการจัดการของนั้น

               มาตรา ๑๖  เมื่อของไปถึงสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบ หากมีเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งได้ หรือผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่ยอมรับมอบของ ให้ผู้ขนส่งแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้ส่ง ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๑๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในระหว่างที่ผู้ขนส่งยังมิได้รับคำสั่งจากผู้ส่งตามวรรคหนึ่ง ผู้รับตราส่งอาจเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้นแก่ตนได้ แม้ผู้รับตราส่งจะได้ปฏิเสธไม่ยอมรับมอบของมาก่อนแล้วก็ตาม
               หากเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของได้นั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่สิทธิในการจัดการของของผู้ส่งสิ้นสุดลงตามมาตรา ๒๖ (๑) ผู้รับตราส่งมีสิทธิสั่งให้ผู้ขนส่งส่งมอบของแก่บุคคลอื่น และให้ถือว่าผู้รับตราส่งเป็นผู้ส่งและบุคคลอื่นนั้นเป็นผู้รับตราส่ง ทั้งนี้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๗  ในกรณีที่ผู้ขนส่งไม่สามารถแจ้งและถามเอาคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของหรือได้ถามเอาคำสั่งแล้วแต่มิได้รับคำสั่งจากบุคคลดังกล่าว และถ้าของที่รับขนนั้นเป็นของสดเสียได้หากการหน่วงช้าไว้จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ของ หรือถ้าราคาของนั้นไม่คุ้มค่าธรรมเนียมการรับขน ผู้ขนส่งอาจนำของนั้นออกขายทอดตลาดได้
               เมื่อเอาของออกขายทอดตลาดแล้ว ให้ผู้ขนส่งหักเงินไว้เป็นค่าธรรมเนียมการรับขน หากมีเงินคงเหลือให้ส่งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิในการจัดการของนั้นโดยเร็ว
               ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ผู้มีสิทธิในการจัดการของทราบโดยมิชักช้า

               มาตรา ๑๘  ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายตามสมควรอันเกิดจากการแจ้งและถามเอาคำสั่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ และการปฏิบัติตามคำสั่งจากผู้มีสิทธิในการจัดการของ

               มาตรา ๑๙  ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงของไว้ก่อนได้จนกว่าจะได้รับชำระค่าธรรมเนียมการรับขน หรือจนกว่าจะได้รับประกันตามสมควร

หมวด ๓ หน้าที่ สิทธิ และความรับผิดของผู้ส่งและผู้รับตราส่ง (มาตรา ๒๐ - ๒๗)

 

หมวด ๓
หน้าที่ สิทธิ และความรับผิดของผู้ส่งและผู้รับตราส่ง

-------------------------

               มาตรา ๒๐  ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความสูญหายหรือเสียหายอันเกิดจากความไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วน หรือไม่เพียงพอของรายละเอียดในใบตราส่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) รายละเอียดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๒)
               (๒) รายละเอียดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๓
               (๓) รายละเอียดหรือคำสั่งอื่นที่ผู้ส่งให้ไว้เพื่อการออกใบตราส่ง หรือเพื่อจดแจ้งไว้ในใบตราส่ง
               ถ้าผู้ขนส่งได้จดแจ้งรายละเอียดในใบตราส่งตามที่ผู้ส่งร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้กระทำการดังกล่าวในนามของผู้ส่ง เว้นแต่ผู้ส่งจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ขนส่งจดแจ้งรายละเอียดไม่ถูกต้องไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอตามที่ผู้ส่งร้องขอ

               มาตรา ๒๑  ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องในการบรรจุหีบห่อไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการบรรจุหีบห่อ เว้นแต่ความบกพร่องนั้นจะเห็นประจักษ์ หรือในกรณีที่ความบกพร่องนั้นไม่เห็นประจักษ์แต่ผู้ขนส่งได้รู้ถึงความบกพร่องนั้นในขณะที่รับมอบของ และมิได้บันทึกข้อสงวนตามมาตรา ๑๔ ไว้

               มาตรา ๒๒  เพื่อประโยชน์แก่พิธีการทางศุลกากรหรือพิธีการอื่น ซึ่งต้องดำเนินการก่อนส่งมอบของ ผู้ส่งต้องแนบเอกสารที่จำเป็นไปกับใบตราส่ง รวมทั้งจัดเอกสารและข้อมูลที่ผู้ขนส่งต้องการให้แก่ผู้ขนส่ง หรือดำเนินการให้ผู้ขนส่งเข้าถึงข้อมูลนั้นได้
               ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายที่เกิดจากความไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอของเอกสารและข้อมูลตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำของผู้ขนส่ง

               มาตรา ๒๓  ก่อนที่จะมอบของที่มีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ขนส่ง ผู้ส่งต้องแจ้งสภาพอันตรายแห่งของและข้อควรระวังให้ผู้ขนส่งทราบ เว้นแต่ผู้ขนส่งได้ทราบถึงสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแห่งของนั้นแล้วในขณะที่รับมอบของ
               ถ้าผู้ส่งไม่แจ้งสภาพอันตรายแห่งของและข้อควรระวังให้ผู้ขนส่งทราบ ผู้ส่งต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากกาขนถ่ายของนั้นลงจากรถ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งกรณี

               มาตรา ๒๔  ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง แม้ผู้ส่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ และผู้ขนส่งได้ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้นก็ตาม แต่ถ้าปรากฏในภายหลังว่าของนั้นจะเกิดเป็นอันตรายหรือเสียหายต่อบุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นอย่างแน่ชัด ผู้ขนส่งมีสิทธิขนถ่ายของนั้นลงจากรถ ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งกรณีได้ โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ส่ง
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งไม่ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของและข้อควรระวังนอกจากผู้ขนส่งมีสิทธิดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ส่งด้วย

               มาตรา ๒๕  ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ส่งมีสิทธิสั่งให้ผู้ขนส่งเปลี่ยนแปลงการขนส่ง โดยหยุดการขนส่ง ส่งของกลับคืนสถานที่รับมอบของ เปลี่ยนสถานที่ส่งมอบของ หรือส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่งอื่นที่มิใช่ผู้รับตราส่งซึ่งระบุไว้ในใบตราส่ง
               ในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่สามารถดำเนินการได้ ผู้ขนส่งต้องแจ้งผู้ส่งทราบโดยทันทีเพื่อทำความตกลงใหม่ หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ส่งของกลับคืนสถานที่รับมอบของ
               เมื่อผู้ขนส่งได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ผู้ขนส่งชอบที่จะได้รับค่าธรรมเนียรับขนตามส่วนที่ได้ดำเนินการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุหยุดการขนส่ง ส่งของกลับคืนสถานที่รับมอบของ เปลี่ยนสถานที่ส่งมอบของ หรือส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่งอื่นที่มิใช่ผู้รับตราส่งซึ่งระบุไว้ในใบตราส่ง
               ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ส่งได้กำหนดไว้ในใบตราส่ง ให้ผู้รับตราส่งเป็นผู้มีสิทธิในการจัดการของนับแต่เวลาที่ได้มีการออกใบตราส่ง

               มาตรา ๒๖  สิทธิของผู้ส่งในการจัดการของตามมาตรา ๒๕ ย่อมสิ้นสุดลง เมื่อ
               (๑) ของไปถึงสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบ และผู้รับตราส่งได้เรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น หรือเรียกให้ผู้ขนส่งมอบใบตราส่งฉบับที่สองและได้รับมอบใบตราส่งนั้นแล้ว หรือ
               (๒) มีการส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง
               เมื่อสิทธิของผู้ส่งสิ้นสุดลงแล้ว ให้ผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้รับตราส่ง

               มาตรา ๒๗  เมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของ หากเห็นประจักษ์ว่าของนั้นได้สูญหายบางส่วนหรือเสียหาย ผู้รับตราส่งต้องโต้แย้งเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่งถึงการสูญหายหรือสภาพแห่งของที่เสียหายในขณะที่รับมอบของ หากการสูญหายบางส่วนหรือเสียหายนั้นไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับตราส่งต้องโต้แย้งเป็นหนังสือต่อผู้ขนส่งภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่ได้รับมอบของ
               ในกรณีที่ผู้รับตราส่งมิได้โต้แย้งเป็นหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของถูกต้องตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง

หมวด ๔ ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๒๘ - ๓๓)

 

หมวด ๔
ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๒๘  ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง แล้วแต่กรณี ในการที่ของสูญหายเสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ซึ่งได้เกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับมอบของจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบของนั้น
               การส่งมอบชักช้า คือ
               (๑) ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของได้ภายในเวลาที่กำหนด
               (๒) ผู้ขนส่งไม่สามารถส่งมอบของได้ภายในเวลาอันควร ในกรณีที่มิได้กำหนดเวลาส่งมอบไว้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย

               มาตรา ๒๙  ในกรณีที่ได้ล่วงพ้นกำหนดเวลาส่งมอบของหรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของ แล้วแต่กรณี ให้ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) รับของ
               (๒) รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า หรือ
               (๓) ไม่รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า
               ในกรณีที่กำหนดเวลาส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าหก
สิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของนั้น ให้ถือว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเสมือนว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง เว้นแต่จะปรากฏหลักฐานแสดงให้เห็นว่าของนั้นยังมิได้สูญหาย
               ถ้าผู้ขนส่งได้ของนั้นมาภายหลังเวลาที่กำหนดไว้ในวรรคสอง ให้ผู้ขนส่งแจ้งให้ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งทราบ หากผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งประสงค์จะรับของนั้น ให้ผู้ขนส่งส่งมอบของให้ หากผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งได้รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ให้บุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี คืนค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ขนส่ง ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความสูญหายบางส่วนความเสียหาย หรือการส่งมอบชักช้า
               หากผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งไม่ใช้สิทธิของตนตามวรรคสามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการได้ของนั้นมา ให้ผู้ขนส่งมีสิทธิจัดการของตามกฎหมายที่บังคับใช้ ณ สถานที่ที่ของนั้นอยู่

               มาตรา ๓๐  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาของลูกจ้างและตัวแทนของตน รวมทั้งผู้ขนส่งช่วง

               มาตรา ๓๑  ผู้ขนส่งจะอ้างเหตุสภาพบกพร่องของรถที่ใช้ในการรับขนเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดมิได้

               มาตรา ๓๒  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในการที่ของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หากพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากเหตุ ดังต่อไปนี้
               (๑) เหตุสุดวิสัย
               (๒) สภาพแห่งของนั้นเอง
               (๓) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง หรือ
               (๔) การปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นผลจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง หรือบุคคลที่ผู้ขนส่งต้องร่วมรับผิดตามมาตรา ๓๐

               มาตรา ๓๓  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในการที่ของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หากพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้น เกิดขึ้นหรือเป็นผลจากสภาพความเสี่ยงภัยพิเศษ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ส่งได้มอบของโดยไม่บรรจุหีบห่อ หรือสภาพหีบห่อบกพร่องหรือไม่เหมาะสมอันทำให้ของนั้นเสื่อมสภาพหรือเสียหาย
               (๒) ผู้ส่งได้มอบของโดยไม่ทำเครื่องหมาย หรือไม่ระบุจำนวนหีบห่อให้ชัดเจนหรือให้ครบถ้วน
               (๓) การใช้รถที่ไม่มีวัสดุคลุมสินค้า ซึ่งได้ตกลงและได้จดแจ้งในใบตราส่ง เว้นแต่ปรากฏว่าของนั้นมีปริมาณลดลงอย่างผิดปกติหรือของที่เป็นหีบห่อสูญหาย
               (๔) การยกขน การบรรทุก การจัดเรียง หรือการขนถ่ายของซึ่งได้กระทำโดยผู้ส่ง ผู้รับตราส่งหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว
               (๕) การขนส่งของที่ง่ายต่อความสูญหาย หรือเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการแตกหัก เป็นสนิม เน่าเปื่อย แห้ง รั่ว หรือการกระทำของแมลงหรือสัตว์อื่น ทั้งนี้ ถ้าการขนส่งนั้นได้ใช้รถที่มีอุปกรณ์พิเศษเพื่อควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นของอากาศ ผู้ขนส่งต้องพิสูจน์ด้วยว่าตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงกระทำในการใช้และบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้น รวมทั้งตามคำสั่งพิเศษที่ตนได้รับมาครบถ้วนแล้ว หรือ
               (๖) การรับขนปศุสัตว์ โดยผู้ขนส่งต้องพิสูจน์ด้วยว่าตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่พึงกระทำ รวมทั้งตามคำสั่งพิเศษที่ตนได้รับมาครบถ้วนแล้ว

หมวด ๕ การคิดค่าสินไหมทดแทนและข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๓๔ - ๓๗)

 

หมวด ๕
การคิดค่าสินไหมทดแทนและข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๓๔  ในกรณีของที่รับขนสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้ผู้ขนส่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง
               การคำนวณค่าสินไหมทดแทนในกรณีของที่รับขนสูญหายหรือเสียหาย ให้คำนวณจากราคาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า หากไม่มีราคาดังกล่าว ให้คำนวณตามราคาตลาดในขณะนั้น แต่ถ้าไม่มีทั้งราคาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าและราคาตลาด ให้คำนวณตามราคาปกติแห่งของนั้น ณ สถานที่และเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของ
               ในกรณีที่ของสูญหายสิ้นเชิง ผู้ขนส่งต้องชดใช้ค่าธรรมเนียมการรับขน และค่าภาษีอากรเต็มตามจำนวนเพิ่มด้วย แต่หากของนั้นได้สูญหายบางส่วน ให้ผู้ขนส่งชดใช้ตามส่วนแห่งของที่สูญหาย

               มาตรา ๓๕  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงินบาท ให้คำนวณ ณ เวลาอันเป็นฐานของการคำนวณค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา ๓๔ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

               มาตรา ๓๖  ในกรณีของที่รับขนสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินกิโลกรัมละแปดจุดสามสามหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหายหรือเสียหายนั้น
               ในกรณีที่มีการส่งมอบชักช้า ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินค่าธรรมเนียมการรับขน

               มาตรา ๓๗  บทบัญญัติในมาตรา ๓๖ มิให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
               (๑) เมื่อผู้ส่งได้แจ้งราคาของไว้ก่อนที่ผู้ขนส่งรับมอบของ พร้อมทั้งได้ชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามจำนวนที่ตกลงกับผู้ขนส่ง โดยได้แสดงราคาของไว้ในใบตราส่งแล้ว ให้ผู้ขนส่งรับผิดเท่าราคาที่แสดงไว้ในใบตราส่ง หรือตามส่วนที่สูญหายหรือเสียหาย แล้วแต่กรณี
               (๒) เมื่อผู้ส่งแจ้งจำนวนเงินส่วนได้เสียพิเศษอันเนื่องจากของนั้นอาจสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ก่อนที่ผู้ขนส่งรับมอบของ พร้อมทั้งได้ชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตามจำนวนที่ตกลงกับผู้ขนส่ง โดยได้แสดงจำนวนเงินส่วนได้เสียพิเศษไว้ในใบตราส่งแล้ว ให้ผู้ขนส่งรับผิดเพื่อความเสียหายอื่นซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ ไม่เกินจำนวนเงินส่วนได้เสียพิเศษที่แสดงไว้ในใบตราส่ง
               (๓) เมื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่ง ลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้ขนส่ง หรือผู้ขนส่งช่วงกระทำการโดยเจตนาให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า หรือละเลยไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ให้ผู้ขนส่งรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตามความเสียหายที่แท้จริง

หมวด ๖ การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท (มาตรา ๓๘ - ๔๓)

 

หมวด ๖
การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท

-------------------------

               มาตรา ๓๘  การใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ ให้หมายรวมถึงการใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วงด้วยไม่ว่าสิทธิเรียกร้องนั้นมาจากมูลสัญญาหรือมูลละเมิด
               ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ขนส่งตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ขึ้นต่อสู้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องได้ด้วย

               มาตรา ๓๙  ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้
               โจทก์อาจฟ้องคดีอันเกิดจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะมีมูลจากสัญญาหรือมูลละเมิด โดยยื่นต่อศาลในประเทศที่มีความตกลงกับประเทศไทยเกี่ยวกับการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลในประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดปลายทางของการรับขนของ
               (๒) ศาลในประเทศที่ของสูญหายหรือเกิดความเสียหายขึ้น
               (๓) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ขนส่ง
               (๔) ศาลในประเทศที่โจทก์มีภูมิลำเนา

               มาตรา ๔๐  ในกรณีที่คู่สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศได้ฟ้องคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องตามมูลสัญญาและมูลละเมิด หรือเฉพาะมูลละเมิด ต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว หากบุคคลภายนอกซึ่งได้รับความเสียหายจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศในมูลละเมิดเดียวกัน ได้ฟ้องคู่สัญญาต่อศาลอื่นที่มีเขตอำนาจ และศาลนั้นเห็นสมควรให้พิจารณาคดีรวมกัน หรือบุคคลภายนอกร้องขอไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนที่ศาลมีคำพิพากษา และถ้าศาลเห็นว่าคดีเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกันก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปรวมพิจารณากับคดีระหว่างคู่สัญญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ได้ แต่ศาลจะมีคำสั่งก่อนที่จะได้รับความยินยอมจากศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้มิได้

               มาตรา ๔๑  คู่สัญญาอาจตกลงเป็นหนังสือให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

               มาตรา ๔๒  บรรดาสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะมีมูลจากสัญญาหรือมูลละเมิด ให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปี
               การนับอายุความกรณีของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้เริ่มนับดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีของสูญหายบางส่วน เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง
               (๒) กรณีของสูญหายสิ้นเชิง ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือหากไม่มีกำหนดวันส่งมอบของ ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของจากผู้ส่ง
               การนับอายุความในกรณีอื่นนอกจากความในวรรคสอง ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๔๓  สิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๔๒ อันเกิดจากการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ขนส่ง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ขนส่งช่วง ให้มีกำหนดอายุความสามปีนับตั้งแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือหากไม่มีกำหนดวันส่งมอบของ ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของจากผู้ส่ง

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๔๔)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๔๔  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
        ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับแก่สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ส่ง ผู้ขนส่ง ผู้รับตราส่ง และบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ ในขณะที่การรับขนของทางถนนระหว่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง สมควรให้มีกฎหมายกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในเรื่องการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการรับขนของทางถนนของประเทศไทยสามารถแข่งขันในการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศได้มากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๘)

พระราชบัญญัติ
การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๘

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “การรับขนทางอากาศ” หมายความว่า การรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน
               “การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา” หมายความว่า การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศตามมาตรา ๔ วรรคสอง ซึ่งถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของรัฐภาคี”
               “การรับขนทางอากาศภายในประเทศ” หมายความว่า การรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน ซึ่งคู่สัญญาตกลงให้ถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศเดียวกัน และไม่มีถิ่นหยุดพักตามที่ตกลงกันภายนอกประเทศ
               “คนโดยสาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งผู้ขนส่งยอมรับให้เดินทางไปกับอากาศยานที่มิใช่เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน
               “สัมภาระ” หมายความว่า สัมภาระลงทะเบียนและสัมภาระไม่ลงทะเบียน
               “สัมภาระลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งได้ออกป้ายกำกับสัมภาระ
               “สัมภาระไม่ลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารนอกจากสัมภาระลงทะเบียน
               “ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ตราส่งส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งเพื่อทำการรับขนทางอากาศ
               “อากาศยาน” หมายความว่า อากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติไม่ว่าจะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริง และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน
               “ผู้ขนส่งตามสัญญา” หมายความว่า ผู้ขนส่งซึ่งเป็นผู้ทำสัญญารับขนทางอากาศกับคนโดยสารผู้ตราส่ง หรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของคนโดยสารหรือผู้ตราส่ง
               “ผู้ขนส่งตามความเป็นจริง” หมายความว่า ผู้ขนส่งซึ่งดำเนินการรับขนทางอากาศ ตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางโดยอาศัยอำนาจของผู้ขนส่งตามสัญญา
               “ผู้ตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนส่งของตามสัญญารับขนทางอากาศ
               “ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีชื่อระบุให้เป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งทางอากาศใบรับของ หรือในบันทึกซึ่งปรากฏข้อมูลโดยวิธีอื่นในกรณีที่ไม่มีการออกใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ แล้วแต่กรณี
               “ลูกจ้าง” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำงานให้แก่ผู้ขนส่ง ไม่ว่าจะมีการรับสินจ้างหรือไม่ก็ตาม
               “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
               “อนุสัญญา” หมายความว่า อนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ซึ่งทำขึ้น ณ เมืองมอนตริออล เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
               “รัฐภาคี” หมายความว่า รัฐภาคีของอนุสัญญา”

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศเพื่อสินจ้างรางวัล รวมถึงการรับขนทางอากาศแบบให้เปล่าที่ดำเนินการโดยบุคคลซึ่งประกอบการรับขนทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติด้วย ไม่ว่าการรับขนนั้นจะเป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศหรือการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา
               การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การรับขนทางอากาศซึ่งตามความตกลงระหว่างคู่สัญญาตกลงให้ถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของสองประเทศ หรือตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศเดียวแต่มีถิ่นหยุดพักที่ตกลงกันไว้ภายในอาณาเขตของอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการหยุดพักในการรับขนหรือมีการถ่ายลำหรือไม่ก็ตาม
               การรับขนที่ดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต่อเนื่องกัน ให้ถือว่าเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยก ถ้าการรับขนนั้นคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นการดำเนินการเดียว ไม่ว่าจะได้ตกลงกันในรูปของสัญญาฉบับเดียวหรือสัญญาเป็นชุด และย่อมไม่สูญเสียลักษณะของการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศเพียงเพราะจะต้องดำเนินการทั้งหมดภายในอาณาเขตของประเทศเดียวกันตามสัญญาฉบับเดียวหรือสัญญาเป็นชุด
               พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในหมวด ๔ ด้วย
               พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนที่ดำเนินการโดยรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ถ้าการรับขนนั้นเป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา

               มาตรา ๕  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
               (๑) การรับขนไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิดเป็นการเฉพาะต่อหน่วยงานการไปรษณีย์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งและหน่วยงานการไปรษณีย์
               (๒) การรับขนทางอากาศที่กระทำและดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐตามภาระหน้าที่ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า
               (๓) การรับขนทางอากาศในราชการทหาร โดยอากาศยานที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ หรืออากาศยานที่เช่ามาเพื่อใช้ในราชการทหาร ซึ่งระวางทั้งหมดของอากาศยานนั้นได้สงวนไว้โดยหรือในนามของราชการทหารดังกล่าว
               หากกรณีตาม (๒) และ (๓) เป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา พระราชบัญญัตินี้จะไม่ใช้บังคับต่อเมื่อรัฐบาลได้ประกาศโดยทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้เก็บรักษาอนุสัญญาตามที่กำหนดในอนุสัญญาแล้ว

               มาตรา ๖  ผู้ขนส่งที่ดำเนินการรับขนทางอากาศภายใน เข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องจัดให้มีการประกันสำหรับความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
               การประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ผู้ขนส่งแสดงหลักฐานการประกัน
               ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ดำเนินการรับขนทางอากาศสั่งให้ผู้ขนส่งระงับการดำเนินการรับขนทางอากาศภายใน เข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักร จนกว่าผู้ขนส่งนั้นจะได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๗  เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๗/๑  บทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ที่เกี่ยวกับเอกสารการรับขน ไม่ใช้บังคับแก่การรับขนที่กระทำในสถานการณ์พิเศษนอกขอบข่ายปกติของธุรกิจของผู้ขนส่งรายนั้น

               มาตรา ๗/๒๑๐  ผู้ขนส่งอาจกำหนดให้สัญญารับขนมีเกณฑ์จำกัดความรับผิดสูงกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่มีเกณฑ์จำกัดความรับผิดก็ได้

               มาตรา ๗/๓๑๑  ในการรับขนทางอากาศ ผู้ขนส่งอาจปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญารับขนใด ๆ หรือสละข้อต่อสู้ใด ๆ หรือจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใดซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

               มาตรา ๗/๔๑๒  ข้อกำหนดใด ๆ ที่มีอยู่ในสัญญารับขนและความตกลงพิเศษทั้งปวงซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนความเสียหายเกิดขึ้น โดยคู่สัญญามุ่งหมายที่จะไม่ใช้กฎเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับหรือการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล ย่อมเป็นโมฆะ

               มาตรา ๗/๕๑๓  วันตามพระราชบัญญัตินี้หมายถึงวันติดต่อกันตามปฏิทิน

               มาตรา ๘  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
               กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๑๒/๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "การรับขนทางอากาศภายในประเทศ" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "อนุสัญญา" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "รัฐภาคี" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๖ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               มาตรา ๗/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๐ มาตรา ๗/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๑ มาตรา ๗/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๒ มาตรา ๗/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
               ๑๓ มาตรา ๗/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๑ การรับขนคนโดยสารและสัมภาระ (มาตรา ๙ - ๒๓)

 

หมวด ๑
การรับขนคนโดยสารและสัมภาระ

-------------------------

               มาตรา ๙  ในการรับขนคนโดยสาร ให้มีการส่งมอบเอกสารการรับขนซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ข้อความแสดงถึงถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง
               (๒) ข้อความแสดงถึงถิ่นหยุดพักที่ตกลงกันไว้อย่างน้อยหนึ่งแห่ง ในกรณีที่มีถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางอยู่ในอาณาเขตของประเทศเดียวกัน แต่มีถิ่นหยุดพักตั้งอยู่ในอาณาเขตของอีกประเทศหนึ่ง
               วิธีอื่นซึ่งมีข้อมูลตามรายการในวรรคหนึ่งอาจใช้แทนการส่งมอบเอกสารการรับขนได้ ถ้ามีการใช้วิธีอื่น ให้ผู้ขนส่งเสนอที่จะส่งมอบเอกสารซึ่งแสดงข้อมูลที่มีอยู่นั้นให้แก่คนโดยสาร
               ให้ผู้ขนส่งส่งมอบป้ายกำกับสัมภาระสำหรับสัมภาระลงทะเบียนแต่ละชิ้นให้แก่คนโดยสาร
               ให้มีการแสดงข้อความแจ้งให้คนโดยสารทราบว่าอาจมีการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ในกรณีคนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ กรณีสัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย และกรณีล่าช้าในการรับขน
               การไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญารับขนทางอากาศและสัญญานั้ยังอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๐  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย โดยมีเงื่อนไขว่าอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความตายหรือบาดเจ็บเกิดขึ้นในอากาศยานหรือในระหว่างการดำเนินการให้คนโดยสารขึ้นหรือลงจากอากาศยาน

               มาตรา ๑๑  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่สัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย โดยมีเงื่อนไขว่าเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายเกิดขึ้นในอากาศยาน หรือในช่วงเวลาที่สัมภาระลงทะเบียนอยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของผู้ขนส่ง เว้นแต่ความเสียหายที่เป็นผลมาจากความชำรุดบกพร่อง คุณภาพ หรือการเสื่อมสภาพแห่งสัมภาระลงทะเบียนนั้นเอง
               ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สัมภาระไม่ลงทะเบียน รวมถึงสิ่งของส่วนตัวที่คนโดยสารนำติดตัวไปในอากาศยาน หากความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากความผิดของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง
               ถ้าผู้ขนส่งยอมรับการสูญหายของสัมภาระลงทะเบียน หรือถ้าสัมภาระลงทะเบียนยังมาไม่ถึงเมื่อพ้นกำหนดยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่สัมภาระลงทะเบียนนั้นควรจะมาถึง คนโดยสารชอบที่จะบังคับเอาแก่ผู้ขนส่งซึ่งสิทธิทั้งหลายอันเกิดแต่สัญญารับขนทางอากาศนั้นได้

               มาตรา ๑๒  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีล่าช้าในการรับขนทางอากาศซึ่งคนโดยสารหรือสัมภาระ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งได้ดำเนินมาตรการทั้งปวงที่ควรต้องกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น หรือเป็นการพ้นวิสัยที่ผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งจะดำเนินมาตรการทั้งปวงที่ควรต้องกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น

               มาตรา ๑๓  ถ้าผู้ขนส่งพิสูจน์ได้ว่าผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือบุคคลซึ่งผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้รับสิทธิมาเป็นผู้ก่อให้เกิดหรือมีส่วนในความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อหรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบ ผู้ขนส่งย่อมพ้นจากความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเพียงเท่าที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบ
               ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่คนโดยสารเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุแห่งการตายหรือการบาดเจ็บของคนโดยสาร ผู้ขนส่งย่อมพ้นจากความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วน หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือมีส่วนจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบของคนโดยสาร
               ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่บทบัญญัติทั้งปวงว่าด้วยความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๔  ในกรณีที่ค่าเสียหายตามมาตรา ๑๐ มีมูลค่าไม่เกินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน ผู้ขนส่งจะบอกปัดหรือจำกัดความรับผิดของตนไม่ได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ตามมาตรา ๑๓
               ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามมาตรา ๑๐ ในมูลค่าส่วนที่เกินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน หากพิสูจน์ได้ว่า
               (๑) ความเสียหายนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง หรือ
               (๒) ความเสียหายนั้นโดยแท้แล้วเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบของบุคคลภายนอก

               มาตรา ๑๕  ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากกรณีล่าช้าในการรับขนคนโดยสารตามมาตรา ๑๒ ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสี่พันหกร้อยเก้าสิบสี่หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน

               มาตรา ๑๖  ในการรับขนคนโดยสารที่มีสัมภาระ ความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีที่สัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือในกรณีที่สัมภาระล่าช้า ให้จำกัดไว้เพียงหนึ่งพันหนึ่งร้อยสามสิบเอ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน เว้นแต่ในขณะที่ส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนให้แก่ผู้ขนส่ง คนโดยสารได้บอกกล่าวไว้เป็นพิเศษถึงส่วนได้เสียที่จะได้รับในการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้น ณ ถิ่นปลายทางและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระแล้ว
               ในกรณีที่คนโดยสารได้บอกกล่าวและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระตามวรรคหนึ่งแล้วผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดชำระเงินจำนวนไม่เกินที่บอกกล่าว เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าจำนวนเงินที่บอกกล่าวไว้นั้นสูงกว่าส่วนได้เสียที่แท้จริงที่คนโดยสารจะได้รับเมื่อมีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียน ณ ถิ่นปลายทาง

               มาตรา ๑๗  บทบัญญัติมาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ มิให้ใช้บังคับ หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง โดยจงใจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากเป็นกรณีการกระทำหรือละเว้นการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง ต้องพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน

               มาตรา ๑๘  เกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ ไม่กระทบถึงการพิพากษาของศาลที่จะให้มีการชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับในกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้แก่โจทก์ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ขนส่งได้เสนอที่จะชำระให้แก่โจทก์เป็นหนังสือภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือก่อนวันยื่นฟ้องคดีถ้าได้ฟ้องคดีก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว โดยเมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๙  ข้อกำหนดใด ๆ ในการรับขนคนโดยสารและสัมภาระที่มุ่งจะปลดเปลื้องผู้ขนส่งให้หลุดพ้นจากความรับผิด หรือที่มุ่งกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดให้ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ แต่ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะและสัญญานั้นยังคงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๐  ในกรณีที่อากาศยานเกิดอุบัติเหตุอันเป็นผลให้คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ ให้ผู้ขนส่งจ่ายเงินล่วงหน้าแก่ผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อใช้ตามความจำเป็นเฉพาะหน้าของบุคคลนั้นโดยไม่ชักช้า
               การจ่ายเงินล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ไม่ถือเป็นการยอมรับความรับผิดของผู้ขนส่งและอาจนำมาหักออกจากจำนวนที่ผู้ขนส่งต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายในภายหลังได้

               มาตรา ๒๑  ในกรณีที่มีการฟ้องลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งในมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการรับขนคนโดยสารและสัมภาระ ถ้าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นมีสิทธิที่จะใช้เงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดซึ่งผู้ขนส่งมีสิทธิอ้างได้ตามพระราชบัญญัตินี้
               ยอดรวมของจำนวนที่จะได้รับจากผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งต้องไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น
               ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง โดยจงใจก่อให้เกิดความเสียหายหรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้น

               มาตรา ๒๒  การที่ผู้มีสิทธิรับสัมภาระได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนโดยไม่มีการทักท้วง ย่อมเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าได้มีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนที่อยู่ในสภาพดีและตรงตามป้ายกำกับสัมภาระ หรือตามเอกสารซึ่งแสดงข้อมูลตามมาตรา ๙ วรรคสอง
               ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สัมภาระลงทะเบียน ผู้มีสิทธิรับสัมภาระต้องทักท้วงต่อ
ผู้ขนส่งหลังจากที่พบความเสียหายนั้นโดยพลันและอย่างช้าที่สุดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับมอบสัมภาระดังกล่าว
              
ในกรณีล่าช้าในการรับขน ผู้มีสิทธิรับสัมภาระต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิรับสัมภาระได้รับสัมภาระลงทะเบียนนั้น
              
การทักท้วงตามมาตรานี้ ต้องทำเป็นหนังสือและมอบหรือส่งให้ถึงผู้ขนส่งภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
              
ในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับสัมภาระไม่ทักท้วงภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสองหรือวรรคสาม จะฟ้องผู้ขนส่งมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีกลฉ้อฉลของฝ่ายผู้ขนส่ง

               มาตรา ๒๓  ในกรณีที่การรับขนคนโดยสารและสัมภาระดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ซึ่งเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยกตามมาตรา ๔ วรรคสาม ผู้ขนส่งแต่ละทอดย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าเป็นคู่สัญญาคนหนึ่งของสัญญารับขนทางอากาศเท่าที่เกี่ยวกับส่วนของการรับขนซึ่งดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ขนส่งทอดนั้น
               ในกรณีที่มีการับขนตามวรรคหนึ่ง คนโดยสารหรือผู้มีสิทธิในค่าสินไหมทดแทนอันเกี่ยวกับคนโดยสารนั้น จะฟ้องได้เฉพาะผู้ขนส่งทอดที่ได้ดำเนินการรับขนในระหว่างที่อุบัติเหตุหรือกรณีล่าช้านั้นเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ขนส่งทอดแรกได้ตกลงรับผิดตลอดการเดินทางโดยชัดแจ้งแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับสัมภาระ คนโดยสารย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ขนส่งทอดแรกและผู้ขนส่งทอดสุดท้าย รวมทั้งอาจฟ้องผู้ขนส่งทอดที่ดำเนินการรับขนในระหว่างที่สัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายหรือกรณีที่สัมภาระล่าช้าเกิดขึ้นได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ขนส่งทุกทอดที่กล่าวมานั้นจะต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อคนโดยสาร


               มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๒ การรับขนของ (มาตรา ๒๔ - ๔๕)

 

หมวด ๒
การรับขนของ

-------------------------

               มาตรา ๒๔  ในการรับขนของ ให้มีการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศ
               วิธีอื่นซึ่งมีบันทึกการรับขนของที่จะดำเนินการ อาจใช้แทนการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศได้และถ้ามีการใช้วิธีอื่นและผู้ตราส่งร้องขอ ให้ผู้ขนส่งส่งมอบใบรับของซึ่งบ่งบอกข้อมูลของที่ส่งและการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่ในบันทึกโดยวิธีอื่นนั้นให้แก่ผู้ตราส่ง

               มาตรา ๒๕  ใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ ต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง รวมถึงข้อความแสดงถึงน้ำหนักแห่งของที่ส่งด้วย

               มาตรา ๒๖  ในกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามพิธีการทางศุลกากร ทางการตำรวจและของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจทำนองเดียวกัน ผู้ตราส่งอาจถูกเรียกให้ส่งมอบเอกสารแสดงถึงสภาพแห่งของได้
               ความในวรรคหนึ่งไม่มีผลเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่ ภาระผูกพัน หรือความรับผิดแก่ผู้ขนส่ง

               มาตรา ๒๗  ให้ผู้ตราส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศเป็นต้นฉบับจำนวนสามฉบับดังต่อไปนี้
               (๑) ฉบับที่หนึ่ง ให้ระบุไว้ว่า “สำหรับผู้ขนส่ง” โดยให้ผู้ตราส่งลงลายมือชื่อไว้
               (๒) ฉบับที่สอง ให้ระบุไว้ว่า “สำหรับผู้รับตราส่ง” โดยให้ผู้ตราส่งและผู้ขนส่งลงลายมือชื่อไว้
               (๓) ฉบับที่สาม ให้ผู้ขนส่งลงลายมือชื่อและมอบให้แก่ผู้ตราส่งไว้ภายหลังจากที่ผู้ขนส่งได้รับของไว้แล้ว
               การลงลายมือชื่อของผู้ตราส่งและผู้ขนส่งอาจใช้วิธีการพิมพ์หรือประทับตราแทนก็ได้
               ในกรณีที่ผู้ตราส่งร้องขอให้ผู้ขนส่งเป็นผู้จัดทำใบตราส่งทางอากาศ ให้ถือว่าผู้ขนส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศนั้นในนามของผู้ตราส่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๒๘  ในกรณีที่มีการรับขนของมากกว่าหนึ่งหีบห่อ
               (๑) ผู้ขนส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ตราส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศแยกต่างหากจากกัน
               (๒) เมื่อมีการใช้วิธีอื่นแทนการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ผู้ตราส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบใบรับของแยกต่างหากจากกัน

               มาตรา ๒๙  การไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๒๘ ไม่กระทบต่อการมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญารับขนทางอากาศ และสัญญานั้นยังอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๓๐  ผู้ตราส่งต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของรายการและข้อความเกี่ยวกับของที่ตนหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของตนระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศ หรือที่ให้ไว้แก่ผู้ขนส่งเพื่อระบุไว้ในใบรับของหรือในบันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง
               ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลซึ่งกระทำการในนามของผู้ตราส่งเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งด้วย
               ผู้ตราส่งต้องชดใช้แก่ผู้ขนส่ง สำหรับความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขนส่งหรือแก่บุคคลอื่นซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิด เพราะเหตุแห่งความผิดแบบแผน ความไม่ถูกต้อง หรือความไม่ครบถ้วนของรายการและข้อความที่ผู้ตราส่งหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของผู้ตราส่งได้ให้ไว้
               ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรานี้ ผู้ขนส่งต้องชดใช้แก่ผู้ตราส่งสำหรับความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่ผู้ตราส่งหรือแก่บุคคลอื่นซึ่งผู้ตราส่งต้องรับผิด เพราะเหตุแห่งความผิดแบบแผนความไม่ถูกต้องหรือความไม่ครบถ้วนของรายการและข้อความที่ผู้ขนส่งหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของผู้ขนส่งได้ระบุไว้ในใบรับของหรือได้ระบุไว้ในบันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง

               มาตรา ๓๑  ใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ ถือเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นของการทำสัญญาการรับของ และเงื่อนไขการรับขนที่ระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของนั้น
               ข้อความใด ๆ ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของที่เกี่ยวกับน้ำหนัก มิติ และการบรรจุรวมถึงข้อความเกี่ยวกับจำนวนหีบห่อแห่งของ เป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นของข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ ส่วนข้อความในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของที่เกี่ยวกับปริมาณ ปริมาตร หรือสภาพแห่งของ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันต่อผู้ขนส่งได้ เว้นแต่ผู้ขนส่งได้ทำการตรวจสอบใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของกับปริมาณ ปริมาตร หรือสภาพแห่งของนั้นแล้วต่อหน้าผู้ตราส่งและได้ระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของว่าได้ทำรตรวจสอบปริมาณ ปริมาตร หรือสภาพแห่งของนั้นต่อหน้าผู้ตราส่ง หรือเป็นข้อความในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของที่ระบุเกี่ยวกับสภาพที่เห็นประจักษ์แห่งของนั้น

               มาตรา ๓๒  เมื่อผู้ตราส่งได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งปวงตามสัญญารับขนทางอากาศแล้วผู้ตราส่งมีสิทธิจัดการกับของ ดังต่อไปนี้
               (๑) ถอนของออก ณ ท่าอากาศยานต้นทางหรือท่าอากาศยานปลายทาง
               (๒) ให้งดการขนส่งของในระหว่างการเดินทาง ณ ที่ที่อากาศยานลง
               (๓) ให้ส่งมอบของแก่บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้รับตราส่งที่ระบุชื่อไว้แต่เดิม ณ ถิ่นปลายทางหรือในระหว่างการเดินทาง
               (๔) ให้ส่งของกลับคืนมายังท่าอากาศยานต้นทาง
               ผู้ตราส่งจะต้องไม่ใช้สิทธิจัดการกับของตามวรรคหนึ่งในทางที่จะเสียหายแก่ผู้ขนส่งหรือผู้ตราส่งรายอื่น และจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากการที่ตนได้ใช้สิทธินั้น
               ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตราส่ง ผู้ขนส่งจะต้องแจ้งให้ผู้ตราส่งทราบโดยพลัน
               ถ้าผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตราส่ง โดยไม่เรียกให้ผู้ตราส่งแสดงใบตราส่งทางอากาศฉบับที่มอบให้แก่ผู้ตราส่งหรือใบรับของที่มอบให้แก่ผู้ตราส่ง ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นแต่การปฏิบัติตามคำสั่งนั้นต่อบุคคลที่ครอบครองใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้ขนส่งที่จะได้รับชดใช้คืนจากผู้ตราส่ง
               สิทธิของผู้ตราส่งตามวรรคหนึ่งย่อมสิ้นสุดลง เมื่อสิทธิของผู้รับตราส่งเริ่มต้นขึ้นตามมาตรา ๓๓ แต่ถ้าผู้รับตราส่งปฏิเสธการรับของหรือไม่อาจติดต่อกับผู้รับตราส่งได้ ผู้ตราส่งย่อมมีสิทธิจัดการกับของนั้นอีก

               มาตรา ๓๓  เว้นแต่ผู้ตราส่งได้ใช้สิทธิตามมาตรา ๓๒ ไปแล้ว เมื่อของมาถึงถิ่นปลายทางและผู้รับตราส่งได้ชำระค่าภาระติดพันที่ต้องชำระ รวมทั้งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการรับขนแล้ว ผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบของให้แก่ตน
               ผู้ขนส่งมีหน้าที่แจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบเมื่อของมาถึงถิ่นปลายทาง เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
               ถ้าผู้ขนส่งยอมรับการสูญหายแห่งของ หรือถ้าของยังมาไม่ถึงเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ของนั้นควรจะมาถึง ผู้รับตราส่งชอบที่จะบังคับเอาแก่ผู้ขนส่งซึ่งสิทธิทั้งหลายอันเกิดแต่สัญญารับขนทางอากาศนั้นได้

               มาตรา ๓๔  ผู้ตราส่งและผู้รับตราส่งต่างสามารถบังคับใช้สิทธิทั้งปวงที่มีตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ ในนามของตนเอง ไม่ว่าจะกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งปวงที่กำหนดไว้ในสัญญารับขนทางอากาศด้วย

               มาตรา ๓๕  บทบัญญัติมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ไม่กระทบต่อความเกี่ยวพันระหว่างผู้ตราส่งและผู้รับตราส่ง หรือความเกี่ยวพันระหว่างกันของบุคคลภายนอกซึ่งได้สิทธิทั้งหลายมาจากผู้ตราส่งหรือจากผู้รับตราส่ง
               ความในมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ จะปฏิบัติให้แตกต่างออกไปได้ต่อเมื่อกำหนดไว้ชัดแจ้งในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ

               มาตรา ๓๖  ผู้ตราส่งต้องให้ข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามพิธีการทางศุลกากรทางการตำรวจ หรือของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจทำนองเดียวกัน ก่อนที่จะส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งและผู้ตราส่งจะต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการที่ข้อมูลหรือเอกสารเช่นว่านั้นขาดหาย ไม่เพียงพอ หรือผิดแบบแผน เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง
               ผู้ขนส่งไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องหรือความเพียงพอของข้อมูลหรือเอกสารตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๓๗  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย โดยมีเงื่อนไขว่าเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการรับขนทางอากาศ
               ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น หากพิสูจน์ได้ว่าการที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายนั้นเป็นผลมาจากเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ความชำรุดบกพร่อง คุณภาพ หรือการเสื่อมสภาพแห่งของนั้นเอง
               (๒) การบรรจุหีบห่อที่บกพร่องแห่งของนั้น ซึ่งกระทำโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งหรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง
               (๓) การปฏิบัติการทางสงครามหรือการขัดแย้งทางอาวุธ
               (๔) การกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับการนำของเข้า การนำของออกหรือการนำของผ่านแดน
               การรับขนทางอากาศตามมาตรานี้ ให้หมายความรวมถึงช่วงเวลาที่ของอยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของผู้ขนส่งด้วย
               ช่วงเวลาของการรับขนทางอากาศ ไม่รวมถึงการรับขนทางบก ทางทะเล หรือทางน้ำ ภายในประเทศที่ดำเนินการนอกท่าอากาศยาน เว้นแต่
               (๑) การรับขนทางบก ทางทะเล หรือทางน้ำนั้น เกิดขึ้นในการปฏิบัติการตามสัญญาสำหรับการรับขนทางอากาศเพื่อวัตถุประสงค์ในการขนขึ้น การขนลง การส่งมอบ หรือการถ่ายลำ ในกรณีเช่นนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการรับขนทางอากาศเว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
               (๒) ผู้ขนส่งใช้การขนส่งรูปแบบอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ตราส่งตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางแทนการรับขนซึ่งคู่สัญญาได้ทำความตกลงให้ทำการรับขนทางอากาศไว้ ให้ถือว่าการขนส่งรูปแบบอื่นนั้นอยู่ในช่วงเวลาของการรับขนทางอากาศด้วย

               มาตรา ๓๘  ให้นำความในมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับแก่ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีล่าช้าในการรับขนของโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๙  ความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือในกรณีที่ของล่าช้า ให้จำกัดไว้เพียงสิบเก้าหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัม เว้นแต่ในขณะที่ส่งมอบหีบห่อให้แก่ผู้ขนส่ง ผู้ตราส่งได้บอกกล่าวไว้เป็นพิเศษถึงส่วนได้เสียที่จะได้รับในการส่งมอบหีบห่อ ณ ถิ่นปลายทางและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระแล้ว
               ในกรณีที่ผู้ตราส่งได้บอกกล่าวและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดชำระเงินจำนวนไม่เกินที่บอกกล่าวไว้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าจำนวนเงินที่บอกกล่าวไว้นั้นสูงกว่าส่วนได้เสียที่แท้จริงที่ผู้ตราส่งจะได้รับเมื่อมีการส่งมอบ ณ ถิ่นปลายทาง

               มาตรา ๔๐  ในกรณีที่ของบางส่วนหรือสิ่งใด ๆ ที่อยู่ในของนั้น ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายหรือในกรณีที่ของล่าช้า น้ำหนักที่จะใช้เป็นข้อพิจารณาในการกำหนดจำนวนเงินสำหรับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ให้คิดน้ำหนักทั้งหมดของหีบห่อที่ถูกทำลาย สูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า แล้วแต่กรณี
               ถ้าการถูกทำลาย สูญหาย เสียหาย หรือกรณีล่าช้าแก่บางส่วนแห่งของหรือแก่สิ่งใด ๆ ที่อยู่ในของนั้นมีผลกระทบต่อมูลค่าของหีบห่ออื่นที่ส่งโดยใบตราส่งทางอากาศเดียวกัน หรือใบรับของเดียวกันหรือบันทึกเดียวกันที่บันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ให้ใช้น้ำหนักทั้งหมดของหีบห่อเดียวหรือหลายหีบห่อเช่นว่านั้นเป็นข้อพิจารณาในการกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย

               มาตรา ๔๑  เกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดในมาตรา ๓๙ ไม่กระทบถึงการพิพากษาของศาลที่จะให้มีการชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับในกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้แก่โจทก์ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ขนส่งได้เสนอที่จะชำระให้แก่โจทก์เป็นหนังสือภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือก่อนวันยื่นฟ้องคดีถ้าได้ฟ้องคดีก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว โดยเมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๙

               มาตรา ๔๒  ข้อกำหนดใด ๆ ในการรับขนของที่มุ่งจะปลดเปลื้องผู้ขนส่งให้หลุดพ้นจากความรับผิดหรือที่มุ่งกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดให้ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะแต่ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะ และสัญญานั้นยังคงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๔๓  ในกรณีที่มีการฟ้องลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งในมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการรับขนของ ถ้าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นมีสิทธิที่จะใช้เงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดซึ่งผู้ขนส่งมีสิทธิอ้างได้ตามพระราชบัญญัตินี้
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ยอดรวมของจำนวนที่จะได้รับจากผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งต้องไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น

               มาตรา ๔๔  การที่ผู้มีสิทธิรับของได้รับมอบของโดยไม่มีการทักท้วง ย่อมเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าได้มีการส่งมอบของที่อยู่ในสภาพดีและตรงตามใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของหรือบันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง
               ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ของ ผู้มีสิทธิรับของต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งภายหลังจากที่พบความเสียหายนั้นโดยพลัน และอย่างช้าที่สุดภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับมอบของดังกล่าว
               ในกรณีล่าช้าในการรับขน ผู้มีสิทธิรับของต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิรับของได้รับของนั้น
               การทักท้วงตามมาตรานี้ ต้องทำเป็นหนังสือและมอบหรือส่งให้ถึงผู้ขนส่งภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับของไม่ทักท้วงภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสองหรือวรรคสาม จะฟ้องผู้ขนส่งมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีกลฉ้อฉลของฝ่ายผู้ขนส่ง

               มาตรา ๔๕  ในกรณีที่การรับขนของดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดซึ่งเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยกตามมาตรา ๔ วรรคสาม ผู้ขนส่งแต่ละทอดย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าเป็นคู่สัญญาคนหนึ่งของสัญญารับขนทางอากาศเท่าที่เกี่ยวกับส่วนของการรับขนซึ่งดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ขนส่งทอดนั้น
               ในกรณีที่มีการรับขนตามวรรคหนึ่ง ผู้ตราส่งย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ขนส่งทอดแรก และผู้รับตราส่งที่มีสิทธิรับมอบของย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ขนส่งทอดสุดท้าย นอกจากนั้นผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่งยังอาจฟ้องผู้ขนส่งทอดที่ดำเนินการรับขนในระหว่างที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือกรณีที่ของล่าช้าเกิดขึ้นได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ขนส่งทุกทอดที่กล่าวมานั้นจะต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่ง


               มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๓ การรับขนร่วมกัน (มาตรา ๔๖)

 

หมวด ๓
การรับขนร่วมกัน

-------------------------

               มาตรา ๔๖  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๗ วรรคสี่ ในกรณีที่มีการรับขนร่วมกันและได้ดำเนินการส่วนหนึ่งโดยทางอากาศและส่วนอื่นโดยการรับขนโดยรูปแบบอื่น ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับเฉพาะกับช่วงที่ดำเนินการรับขนทางอากาศ
               การรับขนร่วมกันตามวรรคหนึ่ง คู่สัญญาจะระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับขนโดยรูปแบบอื่นไว้ในเอกสารการรับขนทางอากาศด้วยก็ได้


               มาตรา ๔๖ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๔ การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญา (มาตรา ๔๗ - ๕๓)

 

หมวด ๔
การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญา

-------------------------

               มาตรา ๔๗  บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ขนส่งตามสัญญาในฐานะตัวการทำสัญญารับขนทางอากาศซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ กับคนโดยสารหรือผู้ตราส่งหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของคนโดยสารหรือผู้ตราส่งนั้น และผู้ขนส่งตามความเป็นจริงเป็นผู้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของผู้ขนส่งตามสัญญากระทำการขนส่งตลอดเส้นทางหรือส่วนหนึ่งของเส้นทางของการขนส่งแต่มิได้เป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความในพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีการให้อำนาจเช่นว่านั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๔๘  ถ้าผู้ขนส่งตามความเป็นจริงดำเนินการรับขนตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางการรับขนตามมาตรา ๔๗ ให้ผู้ขนส่งตามสัญญาและผู้ขนส่งตามความเป็นจริงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ผู้ขนส่งตามสัญญารับผิดสำหรับการรับขนทั้งหมดตามที่มุ่งหมายในสัญญา ส่วนผู้ขนส่งตามความเป็นจริงให้รับผิดเฉพาะการรับขนในส่วนที่ตนเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น เว้นแต่จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดนี้

               มาตรา ๔๙  การกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงและของลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงซึ่งกระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตนที่เกี่ยวกับการรับขนซึ่งดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง ให้ถือว่าเป็นการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามสัญญาด้วย
               ในกรณีที่การรับขนดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง ให้ถือว่าการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามสัญญา และของลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งตามสัญญาซึ่งกระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน เป็นการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงด้วย แต่การกระทำหรือละเว้นการกระทำเช่นว่านั้นไม่ทำให้ผู้ขนส่งตามความเป็นจริงต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
               ความตกลงพิเศษที่ผู้ขนส่งตามสัญญาเข้าผูกพันนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ การสละสิทธิหรือข้อต่อสู้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือการบอกกล่าวไว้เป็นพิเศษถึงส่วนได้เสียที่จะได้รับเมื่อมีการส่งมอบ ณ ถิ่นปลายทางตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๓๙ ย่อมไม่มีผลกระทบต่อผู้ขนส่งตามความเป็นจริง เว้นแต่ผู้ขนส่งตามความเป็นจริงจะได้ตกลงด้วย

               มาตรา ๕๐  การทักท้วงที่จะทำต่อผู้ขนส่งหรือคำสั่งที่จะแจ้งแก่ผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีผลเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะแจ้งแก่ผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริง แต่คำสั่งตามมาตรา ๓๒ จะมีผลต่อเมื่อได้แจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ขนส่งตามสัญญาแล้วเท่านั้น

               มาตรา ๕๑  ในการรับขนซึ่งปฏิบัติการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง หากลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งตามสัญญาหรือของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงพิสูจน์ได้ว่าตนได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้บังคับกับผู้ขนส่งที่ตนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นได้กระทำการในลักษณะที่ไม่สามารถอ้างเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้

               มาตรา ๕๒  ในการรับขนซึ่งดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง ยอดรวมของค่าเสียหายที่จะได้รับการชดใช้จากผู้ขนส่งตามสัญญาและผู้ขนส่งตามความเป็นจริง และจากลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งดังกล่าวที่กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน จะต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่จะได้รับจากผู้ขส่งตามสัญญาหรือจากผู้ขนส่งตามความเป็นจริงภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ บุคคลที่กล่าวในมาตรานี้ไม่ต้องรับผิดในจำนวนที่เกินกว่าเกณฑ์จำกัดความรับผิดสำหรับบุคคลนั้น

               มาตรา ๕๓  ข้อกำหนดใด ๆ ที่มุ่งจะปลดเปลื้องผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริงให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามหมวดนี้ หรือที่มุ่งกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดให้ต่ำกว่าที่ใช้บังคับในหมวดนี้ ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ แต่ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะ และสัญญานั้นยังคงอยู่ภายใต้บังคับแห่งหมวดนี้

               มาตรา ๕๓/๑  บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่กระทบต่อสิทธิและภาระผูกพันระหว่างกันของบรรดาผู้ขนส่ง รวมถึงสิทธิไล่เบี้ยหรือการชดใช้ความเสียหายใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖/๒


               มาตรา ๕๓/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๕ การฟ้องเรียกค่าเสียหาย (มาตรา ๕๔ - ๕๖)

 

หมวด ๕
การฟ้องเรียกค่าเสียหาย

-------------------------

               มาตรา ๕๔  การฟ้องเรียกค่าเสียหายในการรับขนคนโดยสาร สัมภาระ และของ ไม่ว่าจะฟ้องในมูลคดีตามพระราชบัญญัตินี้ มูลหนี้ตามสัญญา หนี้ที่เกิดจากมูลละเมิด หรือมูลหนี้อื่น จะกระทำได้เฉพาะภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
               ผู้เสียหายไม่อาจได้รับค่าเสียหายเชิงลงโทษ หรือค่าเสียหายอื่นที่มิใช่ค่าสินไหมทดแทนจากการฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๕๔/๑  ในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตาย การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ฟ้องผู้แทนตามกฎหมายของกองทรัพย์สินของผู้ตาย

               มาตรา ๕๕  สิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการรับขนทางอากาศเป็นอันระงับสิ้นไปถ้าไม่มีการฟ้องคดีภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่อากาศยานถึงถิ่นปลายทาง หรือนับแต่วันที่อากาศยานนั้นควรจะได้ถึงแล้ว หรือนับแต่วันที่การรับขนได้หยุดลง แล้วแต่กรณี
               วิธีการคำนวณระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตั้งอยู่

               มาตรา ๕๖  ในกรณีที่มีการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงินบาท ให้คำนวณ ณ วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

               มาตรา ๕๖/๑  การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา โจทก์มีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลที่ผู้ขนส่งมีภูมิลำเนา
               (๒) ศาลที่ผู้ขนส่งมีสถานที่ประกอบธุรกิจหลักตั้งอยู่
               (๓) ศาลที่ผู้ขนส่งมีสถานที่ประกอบธุรกิจซึ่งได้มีการทำสัญญารับขน
               (๔) ศาลในถิ่นปลายทาง
               ในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากสิทธิตามวรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลที่คนโดยสารนั้นมีถิ่นที่อยู่หลักและถาวรขณะที่เกิดอุบัติเหตุและผู้ขนส่งดำเนินการให้บริการการรับขนคนโดยสารไปยังหรือออกจากรัฐภาคีนั้น ไม่ว่าจะใช้อากาศยานของผู้ขนส่งเองหรืออากาศยานของผู้ขนส่งอื่นตามข้อตกลงทางพาณิชย์ และผู้ขนส่งนั้นประกอบธุรกิจรับขนคนโดยสารจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นที่ตนมีข้อตกลงทางพาณิชย์ ได้ทำสัญญาเช่าหรือเป็นเจ้าของ
               กระบวนพิจารณาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตั้งอยู่
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้
               “ข้อตกลงทางพาณิชย์” หมายความว่า ข้อตกลงซึ่งทำขึ้นระหว่างผู้ขนส่งและเกี่ยวกับข้อกำหนดในการให้บริการร่วมในการรับขนคนโดยสารทางอากาศ แต่ไม่รวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับตัวแทน
               “ถิ่นที่อยู่หลักและถาวร” หมายความว่า ที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่งของคนโดยสารขณะที่เกิดอุบัติเหตุ โดยห้ามมิให้นำเรื่องสัญชาติของคนโดยสารมาพิจารณาในกรณีนี้

               มาตรา ๕๖/๒  การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการรับขนที่ดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง อาจฟ้องผู้ขนส่งตามความเป็นจริงหรือผู้ขนส่งตามสัญญาหรือทั้งสองรายรวมกันหรือแยกกัน ตามแต่โจทก์จะเลือก
               ถ้าโจทก์ฟ้องคดีต่อผู้ขนส่งตามความเป็นจริงหรือผู้ขนส่งตามสัญญาเพียงรายเดียว ผู้ขนส่งที่ถูกฟ้องมีสิทธิเรียกผู้ขนส่งที่ไม่ได้ถูกฟ้องเข้ามาในคดีได้
               กระบวนพิจารณาคดีและผลแห่งคดีให้ใช้กฎหมายแห่งประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตั้งอยู่

               มาตรา ๕๖/๓  การฟ้องคดีใด ๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา สำหรับการรับขนซึ่งดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖/๒ นอกจากสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖/๑ แล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลที่ผู้ขนส่งตามความเป็นจริงมีภูมิลำเนาหรือสถานที่ประกอบธุรกิจหลักตั้งอยู่

               มาตรา ๕๖/๔  คดีที่เกี่ยวกับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ ถ้าโจทก์มีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องในราชอาณาจักร ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

               มาตรา ๕๖/๕  คู่สัญญาในสัญญารับขนของสำหรับการรับขนทางอากาศอาจตกลงเป็นหนังสือให้การระงับข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้โดยการอนุญาโตตุลาการ
               ผู้เรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการรับขนของสำหรับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา มีสิทธิเลือกให้มีการพิจารณาโดยการอนุญาโตตุลาการภายในเขตอำนาจศาลใดศาลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรัฐภาคีตามมาตรา ๕๖/๑ และถ้าเลือกให้มีการพิจารณาในราชอาณาจักร ให้อนุญาโตตุลาการหรือคณะอนุญาโตตุลาการใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
               ให้ถือว่าบทบัญญัติวรรคสองเป็นส่วนหนึ่งของข้อความหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ และในกรณีที่ข้อกำหนดใด ๆ ของข้อความหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเป็นโมฆะ

               มาตรา ๕๖/๖  บุคคลที่ต้องรับผิดในความเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยต่อบุคคลอื่นที่ต้องร่วมรับผิดด้วย


               มาตรา ๕๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๕ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๖/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๖/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๖/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๖/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๖/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
              
มาตรา ๕๖/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมวด ๖ การรับขนทางอากาศภายในประเทศ (มาตรา ๕๗ - ๕๘)

 

หมวด ๖
การรับขนทางอากาศภายในประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๕๗  ให้นำความในพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศภายในประเทศโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๘  คดีที่เกี่ยวกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและกาค้าระหว่างประเทศ

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๕๙)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๕๙  คดีเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นพิจารณาต่อไปจนแล้วเสร็จโดยถือว่าคดีนั้นมิใช่คดีเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่สามารถรองรับลักษณะพิเศษของการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม สมควรให้มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติระหว่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้บังคับกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ค.ศ. ๑๙๙๙ (Convention for the Unification of Certain Rules for International Carriage by Air, 1999) แต่โดยที่พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๑๖/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐

พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

 

พระราชบัญญัติ
การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
พ.ศ. ๒๕๔๘

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
เป็นปีที่ ๖๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
               “การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” หมายความว่า การรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง
               การดำเนินการรับหรือส่งมอบของตามที่ระบุไว้ในสัญญาขนส่งรูปแบบเดียวไม่ถือว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               “ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในฐานะตัวการและเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติการขนส่งตามสัญญา ไม่ว่าการทำสัญญานั้นจะทำด้วยตนเองหรือโดยบุคคลที่ตนมอบหมาย แต่ไม่รวมถึงบุคคลที่กระทำการในฐานะตัวแทนหรือทำการแทนผู้ตราส่งหรือผู้ขนส่งที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการขนส่งดังกล่าว
               “ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียน” หมายความว่า ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๘ หรือได้จดแจ้งตามมาตรา ๔๕
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำการหรือรับที่จะทำการขนส่งไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม
               “ผู้ตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องในสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               “ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีสิทธิในการรับของจากผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง
               “ใบตราส่งต่อเนื่อง” หมายความว่า เอกสารที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องออกให้แก่ผู้ตราส่ง เพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยมีสาระสำคัญแสดงว่าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของตามที่ระบุในใบตราส่งต่อเนื่องและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้รับตราส่ง หรือบุคคลผู้มีสิทธิรับของตามมาตรา ๒๒ นั้น
               “รับมอบของ” หมายความว่า การที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับของเพื่อขนส่งของให้ตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               “ส่งมอบของ” หมายความว่า ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (ก) มอบของให้แก่ผู้รับตราส่ง
               (ข) นำของไปไว้ในเงื้อมมือของผู้รับตราส่งตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าที่ถือปฏิบัติกันอยู่ ณ สถานที่ส่งมอบแล้ว หรือ
               (ค) มอบของให้แก่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ สถานที่ส่งมอบกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องส่งมอบของให้
               “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
               “ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ สัตว์มีชีวิต รวมทั้งภาชนะขนส่งที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมิได้เป็นผู้จัดหามา ไม่ว่าของเหล่านั้นจะบรรทุกหรือได้บรรทุกไว้บนหรือใต้ปากระวาง
               “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้าหรือสิ่งอื่นที่ใช้บรรจุของหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกัน หรือภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์อย่างอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               “หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำกาขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น
               “เป็นหนังสือ” หมายความรวมถึงโทรเลข โทรพิมพ์ โทรสารหรือวิธีการอย่างอื่นซึ่งพิมพ์ บันทึก ทำซ้ำหรือส่งข้อความโดยทางเครื่องกลหรืออิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้อย่างอื่นที่มีไว้ใช้ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว
               “ใบทะเบียน” หมายความว่า ใบทะเบียนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมทั้งใบจดแจ้งหรือใบทะเบียนการตั้งตัวแทนตามพระราชบัญญัตินี้
               “นายทะเบียน” หมายความว่า อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียน
               “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีซึ่งนายทะเบียนแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
               “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๕  สัญญารับขนของภายในราชอาณาจักรโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญารับขนของฉบับเดียว คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นหนังสือว่าให้นำบทบัญญัติในหมวด ๑ ว่าด้วยสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับก็ได้

               มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
               กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๑/๒๗ กรกฎาคม ๒๕๔๘

หมวด ๑ สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (มาตรา ๗ - ๓๘)

ส่วนที่ ๑ บททั่วไป (มาตรา ๗ - ๑๕)

 

ส่วนที่ ๑
บททั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๗  สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คือ สัญญาซึ่งผู้ตราส่ง ตกลงให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและผู้ตราส่งตกลงที่จะชำระค่าระวางให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง

               มาตรา ๘  ข้อกำหนดใดในสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย เป็นการปลดเปลื้องหน้าที่หรือความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือทำให้เสื่อมสิทธิแก่ผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ
               ข้อกำหนดที่เป็นโมฆะตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของข้อกำหนดอื่นในสัญญานั้น และให้ถือว่าคู่สัญญาได้เจตนาให้ข้อกำหนดอื่นนั้นแยกออกต่างหากจากข้อกำหนดที่เป็นโมฆะตามวรรคหนึ่ง
               บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิคู่สัญญาที่จะตกลงกันกำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้

               มาตรา ๙  บทบัญญัติในหมวดนี้ไม่กระทบถึงสิทธิและหน้าที่ในการเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๑๐  ในการทำสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะต้องออกใบตราส่งต่อเนื่องให้แก่ผู้ตราส่งเมื่อได้รับมอบของ
               ใบตราส่งต่อเนื่องอาจเป็นชนิดโอนให้กันได้หรือชนิดห้ามโอน ทั้งนี้ แล้วแต่ผู้ตราส่งจะเลือก
               ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมอบหมายจะต้องลงลายมือชื่อในใบตราส่งต่อเนื่อง
               การลงลายมือชื่อตามวรรคสามให้หมายความรวมถึงการลงลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารทางโทรสาร การปรุเอกสาร การประทับตรา การใช้สัญลักษณ์ หรือกาลงลายมือชื่อโดยใช้เครื่องกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๑๑  ใบตราส่งต่อเนื่องพึงแสดงรายการดังต่อไปนี้
               (๑) ลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ ข้อความที่แจ้งสถานะอันตราย สภาพการเน่าเสียง่ายแห่งของ หากจะต้องมี และจำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักรวมหรือปริมาณอย่างอื่นแห่งของ ทั้งนี้ ตามที่ผู้ตราส่งแจ้งหรือจัดให้
               (๒) สภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอก
               (๓) ชื่อและสำนักงานใหญ่ของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง
               (๔) ชื่อผู้ตราส่ง
               (๕) ชื่อผู้รับตราส่ง ถ้าผู้ตราส่งระบุไว้
               (๖) สถานที่และวันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของ
               (๗) สถานที่ส่งมอบของ
               (๘) วันที่หรือระยะเวลาส่งมอบของ ณ สถานที่ส่งมอบ ถ้าคู่สัญญาจะได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้ง
               (๙) ข้อความระบุว่าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้หรือชนิดห้ามโอน
               (๑๐) สถานที่และวันที่ออกใบตราส่งต่อเนื่อง
               (๑๑) ลายมือชื่อของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย
               (๑๒) ค่าระวางเท่าที่ผู้รับตราส่งจะต้องชำระซึ่งรวมถึงสกุลเงินที่จะต้องชำระหรือค่าระวางสำหรับแต่ละรูปแบบการขนส่ง หรือข้อความแสดงว่าผู้รับตราส่งเป็นผู้ชำระค่าระวางตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้
               (๑๓) เส้นทางที่จะใช้ขนส่ง รูปแบบการขนส่ง และสถานที่เปลี่ยนถ่ายพาหนะ ถ้าทราบถึงรายละเอียดดังกล่าวเมื่อออกใบตราส่งต่อเนื่อง
               (๑๔) รายละเอียดอื่นใดที่คู่สัญญาตกลงให้แสดงไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง
               ในกรณีที่ใบตราส่งต่อเนื่องใดที่ออกโดยผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีรายการไม่ครบตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ใบตราส่งต่อเนื่องนั้นยังคงมีฐานะทางกฎหมายเป็นใบตราส่งต่อเนื่องหากมีข้อความครบลักษณะเป็นใบตราส่งต่อเนื่องตามมาตรา ๔

               มาตรา ๑๒  ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมิได้ทำบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องโดยระบุถึงข้อที่ไม่ตรงกับความจริง เหตุแห่งความสงสัยหรือพฤติการณ์ที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ แล้วแต่กรณีหรือมิได้ระบุข้อความไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องอย่างชัดแจ้ง เช่น ระบุว่า “ผู้ตราส่งเป็นผู้ชั่งน้ำหนัก บรรทุก และตรวจนับ” “ผู้ตราส่งเป็นผู้บรรจุตู้สินค้า” หรือข้อความอื่นในลักษณะเดียวกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของไว้ตามสภาพที่ระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องนั้น

               มาตรา ๑๓  ถ้ามิได้มีการบันทึกไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องตามมาตรา ๑๒ และถ้าใบตราส่งต่อเนื่องหรือข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามใบตราส่งต่อเนื่องได้โอนหรือส่งไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอก ซึ่งได้ทราบและกระทำการโดยสุจริตโดยเชื่อตามข้อความในใบตราส่งต่อเนื่องนั้น ห้ามมิให้พิสูจน์เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๔  เมื่อได้ออกใบตราส่งต่อเนื่องให้แก่กันไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งต่อเนื่อง

               มาตรา ๑๕  ให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลในส่วนที่เกี่ยวกับใบตราส่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๒ หน้าที่และความรับผิดของผู้ตราส่ง (มาตรา ๑๖ - ๑๙)

 

ส่วนที่ ๒
หน้าที่และความรับผิดของผู้ตราส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๖  เมื่อผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของจากผู้ตราส่งหรือจากบุคคลอื่นในนามผู้ตราส่งไว้แล้ว ให้ถือว่า ผู้ตราส่งได้รับรองความถูกต้องในรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพแห่งของ เครื่องหมาย เลขหมาย น้ำหนัก ปริมาตร และปริมาณแห่งของที่ขนส่งนั้น ตลอดจนลักษณะอันตรายแห่งของที่ตนได้แจ้งไว้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือจัดให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องเพื่อบันทึไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง
               ถ้ามีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากการแจ้งข้อความไม่ถูกต้องตรงตามรายละเอียดตามวรรคหนึ่งที่ผู้ตราส่งได้แจ้งไว้หรือจัดให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องเพื่อบันทึกไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง ผู้ตราส่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง แม้ว่าผู้ตราส่งจะได้โอนใบตราส่งต่อเนื่องนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องยังคงต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อบุคคลภายนอกนั้น

               มาตรา ๑๗  ผู้ตราส่งต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายของที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศและตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย

               มาตรา ๑๘  เมื่อผู้ตราส่งได้มอบของที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือบุคคลที่ทำการแทนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ผู้ตราส่งต้องแจ้งสภาพอันตรายแห่งของนั้นและข้อควรระวังต่าง ๆ ถ้ามี หากผู้ตราส่งไม่แจ้งสภาพอันตรายแห่งของและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ทราบ ให้สิทธิและหน้าที่ของผู้ตราส่งและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง มีดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ตราส่งต้องรับผิดในความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายทั้งปวงอันเกิดขึ้นหรือเป็นผลเนื่องจากการขนส่งของนั้น
               (๒) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือบุคคลที่ทำ การแทนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องอาจขนถ่ายของนั้นออกจากพาหนะที่ขนส่ง ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งรณีได้ โดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่บุคคลที่ได้ทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของที่ขนส่งนั้นแล้วเมื่อได้รับมอบของ

               มาตรา ๑๙  แม้ว่าผู้ตราส่งจะได้ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘ แล้ว แต่ถ้าปรากฏในภายหลังว่าของนั้นเป็นอันตราย หรือเป็นอันตรายใกล้จะถึงแก่ชีวิตหรือทรัพย์สิน หรือจะเป็นอันตรายอย่างแน่ชัด ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหรือบุคคลที่ทำการแทนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง อาจขนถ่ายของนั้นออกจากพาหนะที่ขนส่ง ทำลาย หรือทำให้หมดฤทธิ์ตามความจำเป็นแห่งกรณีได้ โดยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องยังต้องรับผิดตามส่วนของตนในการเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปหรือในกรณีที่ต้องรับผิดตามมาตรา ๒๐

ส่วนที่ ๓ หน้าที่และความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง (มาตรา ๒๐ - ๒๗)

 

ส่วนที่ ๓
หน้าที่และความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง

-------------------------

               มาตรา ๒๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้า ถ้าเหตุแห่งการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้านั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบของนั้น เว้นแต่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะพิสูจน์ได้ว่าตนหรือลูกจ้าง ตัวแทนของตนหรือบุคคลอื่นใดซึ่งตนได้ใช้บริการ เพื่อปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ได้ใช้มาตรการทั้งปวงซึ่งจำเป็นต้องกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุแห่งการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้ารวมทั้งผลที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้น
               ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเป็นผลจากการส่งมอบชักช้า เว้นแต่ผู้ตราส่งจะได้แจ้งก่อนที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะรับมอบของว่า หากมีการส่งมอบชักช้า ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะต้องรับผิดในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ยินยอมที่จะรับผิดในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนรับมอบของ

               มาตรา ๒๑  การส่งมอบชักช้า คือ
               (๑) ในกรณีที่มีการตกลงกำหนดเวลาส่งมอบไว้อย่างชัดแจ้ง ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลานั้น
               (๒) ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกำหนดเวลาส่งมอบไว้ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ได้ส่งมอบของภายในกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณีประกอบด้วย

               มาตรา ๒๒  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีหน้าที่ต้องดำเนินการส่งมอบของดังต่อไปนี้
               (๑) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่ผู้ถือ ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่ง
               (๒) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งได้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งได้สลักหลังโดยชอบ
               (๓) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดโอนให้กันได้ประเภทออกให้แก่บุคคลโดยนาม ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งมีชื่อระบุในใบตราส่งต่อเนื่องเมื่อได้มีการพิสูจน์ถึงความถูกต้องของตัวบุคคลและได้รับการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งต่อเนื่องฉบับใดฉบับหนึ่งจากบุคคลดังกล่าว แต่ถ้ามีการโอนใบตราส่งต่อเนื่องดังกล่าวต่อไปเป็นประเภทเพื่อเขาสั่งหรือโดยการสลักหลังลอยให้นำความใน (๒) มาใช้บังคับ
               (๔) ถ้าใบตราส่งต่อเนื่องเป็นชนิดห้ามโอน ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งต่อเนื่องเมื่อได้พิสูจน์ถึงความถูกต้องของตัวบุคคลนั้นแล้ว
               ในกรณีที่ไม่มีการออกเอกสารใด ๆ ให้แก่ผู้ตราส่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องส่งมอบของแก่บุคคลตามคำสั่งของผู้ตราส่ง หรือตามคำสั่งของผู้ได้มาซึ่งสิทธิของผู้ตราส่งหรือของผู้รับตราส่งตามที่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระบุไว้

               มาตรา ๒๓  ในกรณีที่หาตัวผู้รับตราส่งไม่พบหรือผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่ยอมรับของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องบอกกล่าวไปยังผู้ตราส่งทันทีและถามเอาคำสั่งจากผู้ตราส่ง
               หากมีพฤติการณ์ขัดขวางไม่สามารถจะบอกกล่าวไปยังผู้ตราส่งได้ทันที หรือไม่อาจถามเอาคำสั่งจากผู้ตราส่งได้ หรือผู้ตราส่งละเลยไม่ส่งคำสั่งนั้นมาในเวลาอันควรหรือส่งมาเป็นคำสั่งอันไม่อาจปฏิบัติได้ หากของนั้นได้พ้นจากอารักขาภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยศุลกากรแล้วให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธินำของนั้นออกขาย ทำลาย หรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเหมาะสมและจำเป็น
               เมื่อได้จัดการตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องบอกกล่าวแก่ผู้ตราส่งโดยไม่ชักช้า เว้นแต่ไม่สามารถจะทำได้ ถ้าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องละเลยไม่บอกกล่าวแก่ผู้ตราส่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
               ในกรณีที่ได้จัดการกับของตามวรรคสองแล้ว ได้เงินจำนวนเท่าใด ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธิหักเอาไว้เป็นค่าระวาง ค่าอุปกรณ์แห่งค่าระวางและค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการจัดการนั้น ถ้ายังมีเงินเหลือ ให้ส่งมอบแก่บุคคลซึ่งมีสิทธิจะได้เงินนั้นโดยพลันหรือถ้าส่งมอบไม่ได้ ให้นำไปฝากไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ แต่ถ้าเงินยังขาดอยู่เท่าใด ผู้ตราส่งต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น
               ในกรณีที่ได้ทำลายหรือจัดการกับของตามวรรคสองแล้วไม่ได้เงิน ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายอันเกิดขึ้นจากการจัดการดังกล่าวเอากับผู้ตราส่งได้

               มาตรา ๒๔  เมื่อผู้รับตราส่งได้รับของ หากปรากฏว่ามีการสูญหายบางส่วนหรือเสียหายและถ้าผู้รับตราส่งมิได้โต้แย้งเป็นหนังสือแก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องถึงการสูญหายหรือสภาพของความเสียหายแห่งของที่ได้รับนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของถูกต้องตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง
               ในกรณีที่การสูญหายหรือเสียหายไม่เห็นประจักษ์ ผู้รับตราส่งมีสิทธิโต้แย้งเป็นหนังสือภายในหกวันนับแต่วันที่ได้รับของนั้น

               มาตรา ๒๕  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดเพื่อความเสียหายในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้างและตัวแทนของตน และของบุคคลอื่นซึ่งตนได้ใช้บริการเพื่อการปฏิบัติตามสัญญารวมถึงลูกจ้างและตัวแทนของบุคคลอื่นนั้น ซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือภายในขอบอำนาจแห่งการเป็นตัวแทนหรือในกิจการที่ได้ใช้บริการนั้น

               มาตรา ๒๖  ในกรณีที่ได้ล่วงพ้นกำหนดเวลาส่งมอบของหรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของ แล้วแต่กรณี ให้บุคคลผู้มีสิทธิรับของมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
               (๑) รับของ
               (๒) รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า หรือ
               (๓) ไม่รับของและเรียกค่าเสียหายอันเป็นผลมาจากการส่งมอบชักช้า
               ในกรณีที่กำหนดเวลาส่งมอบของหรือกำหนดเวลาอันควที่จะส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันถึงกำหนดส่งมอบของ ให้ถือว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง บุคคลผู้มีสิทธิรับของมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเสมือนว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง เว้นแต่จะปรากฏหลักฐานแสดงให้เห็นว่าของนั้นยังมิได้สูญหาย
               ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ชำระค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้มีสิทธิรับของแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการรับช่วงสิทธิแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ

               มาตรา ๒๗  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
               (๑) เหตุสุดวิสัย
               (๒) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ตราส่ง ผู้รับตราส่ง ผู้แทนหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว
               (๓) การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมาย หรือการระบุจำนวนของที่บกพร่องหรือไม่เพียงพอ
               (๔) การยกขน การบรรทุก การขนถ่าย การเก็บรักษาของโดยผู้ตราส่ง ผู้รับตราส่ง ผู้แทนหรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าว
               (๕) สภาพแห่งของนั้นเองหรือความชำรุดบกพร่องที่แฝงอยู่ภายในของนั้น
               (๖) การนัดหยุดงาน การปิดงานงดจ้าง การผละงาน หรืออุปสรรคหรือเหตุขัดข้องในด้านแรงงานด้วยประการใด ๆ
               (๗) ในกรณีเป็นของที่ขนส่งทางทะเลหรือน่านน้ำภายใน เมื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าระหว่างการขนส่งเกิดขึ้นโดย
                     (ก) การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดในการเดินเรือหรือในการบริหารจัดการเรือไม่ว่าจะเป็นการกระทำของนายเรือ คนประจำเรือ ผู้นำร่อง หรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง
                     (ข) อัคคีภัย เว้นแต่อัคคีภัยนั้นเกิดจากความผิดหรืออยู่ในความรู้เห็นของผู้ขนส่ง
               อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องยังคงต้องรับผิดในการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าตาม (๗) อันเป็นผลมาจากเรือไม่อยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัย เว้นแต่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าตนได้กระทำการตามที่ควรจะต้องกระทำในฐานะเช่นนั้น เพื่อให้เรืออยู่ในสภาพดังกล่าวแล้วเมื่อเริ่มต้นการเดินทาง

ส่วนที่ ๔ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและการคิดค่าเสียหาย (มาตรา ๒๘ - ๓๖)

 

ส่วนที่ ๔
ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและการคิดค่าเสียหาย

-------------------------

               มาตรา ๒๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒ ในกรณีที่ของซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบไว้สูญหายหรือเสียหาย ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียงหกร้อยหกสิบหกจุดหกเจ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือสองหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหายหรือเสียหายแล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่า
               ในกรณีที่คำนวณราคาค่าเสียหายได้ตามมาตรา ๓๔ และปรากฏว่าราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น
               ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดในความเสียหายอันเป็นผลจากการส่งมอบชัช้าหรือความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนอกเหนือไปจากความเสียหายที่เกิดจากการสูญหายหรือเสียหายในของที่ขนส่ง ให้จำกัดความรับผิดทั้งหมดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียงไม่เกินค่าระวางตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องต้องรับผิดทั้งตามวรรคหนึ่งและวรรคสาม ให้จำกัดความรับผิดโดยรวมของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๒๙  ในกรณีที่มีการระบุจำนวนหน่วยการขนส่งไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งต่อเนื่องนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้ แต่ในกรณีที่นำเอาสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในกระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น มารวมบรรจุไว้ในภาชนะขนส่งเดียวกันโดยมิได้ระบุจำนวนหน่วยการขนส่งไว้ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมอยู่ในภาชนะขนส่งนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง
               ในกรณีที่ตัวภาชนะขนส่งซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้จัดหาได้สูญหายหรือเสียหาย ให้ถือว่าภาชนะขนส่งนั้นเป็นหน่วยการขนส่งอีกหน่วยหนึ่งต่างหากจากของที่อยู่ในหรือบนภาชนะขนส่งนั้น

               มาตรา ๓๐  ในกรณีที่ตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไม่ได้ระบุให้มีการขนส่งทางทะเลหรือการขนส่งในน่านน้ำภายในรวมอยู่ด้วย ให้จำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้แปดจุดสามสามหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหายหรือเสียหาย

               มาตรา ๓๑  ในกรณีที่ปรากฏชัดว่า ของได้สูญหายหรือเสียหายในระหว่างช่วงหนึ่งช่วงใดของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและในช่วงนั้นมีกฎหมายภายในของประเทศที่ของนั้นได้สูญหายหรือเสียหายหรือมีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดจำนวนเงินแห่งการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นอย่างอื่น ให้การจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องสำหรับการสูญหายหรือเสียหายนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว

               มาตรา ๓๒  การจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมิให้ใช้บังคับแก่กรณี ดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ตราส่งได้แจ้งสภาพและราคาแห่งของไว้ก่อนที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะรับมอบของและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้จดแจ้งสภาพและราคาแห่งของนั้นไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องแล้ว
               (๒) การสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญากระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยจงใจที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าหรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้

               มาตรา ๓๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒ ในกรณีที่มีการใช้สิทธิเรียกร้องต่อทั้งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องและลูกจ้าง ตัวแทน และบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ให้จำกัดความรับผิดของบุคคลทั้งหมดดังกล่าว รวมกันแล้วไม่เกินจำนวนความรับผิดที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๓๔  ในกรณีที่ของสูญหายหรือเสียหาย ให้คำนวณค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมี ณ สถานที่และเวลาที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งหรือ ณ สถานที่และเวลาอันควรจะได้ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่งตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               การคำนวณราคาของตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณตามราคาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้า หากไม่มีราคาดังกล่าว ให้คำนวณตามราคาท้องตลาดในขณะนั้น แต่ถ้าไม่มีทั้งราคาตลาดซื้อขายสินค้าล่วงหน้าและราคาท้องตลาด ให้คำนวณตามราคาปกติแห่งของชนิดเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกัน
               ในกรณีที่ราคาที่คำนวณได้ตามวรรคสองต่ำกว่าที่แสดงไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับผิดเพียงเท่าราคาที่คำนวณได้นั้น แต่ถ้าราคาสูงกว่าให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับผิดเพียงเท่าราคาที่แสดงไว้ในใบตราส่งต่อเนื่อง

               มาตรา ๓๕  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงินบาท ให้คำนวณ ณ เวลาอันเป็นฐานของการคำนวณค่าเสียหายตามมาตรา ๓๔ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

               มาตรา ๓๖  คู่สัญญาอาจตกลงกำหนดจำนวนเงินแห่งการจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในส่วนนี้ก็ได้

ส่วนที่ ๕ การใช้สิทธิเรียกร้อง (มาตรา ๓๗ - ๓๘)

 

ส่วนที่ ๕
การใช้สิทธิเรียกร้อง

-------------------------

               มาตรา ๓๗  ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่การใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไม่ว่าการเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด และให้ใช้บังคับตลอดถึงการที่ใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกจ้าง ตัวแทน หรือบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

               มาตรา ๓๘  สิทธิเรียกร้องใด ๆ อันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไม่ว่าจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการตามความในหมวด ๓ เพื่อชี้ขาดภายในเก้าเดือนนับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของ หรือควรจะส่งมอบของ ให้เป็นอันขาดอายุความ
               ภายในอายุความตามวรรคหนึ่ง ถ้าฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยินยอมโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ถูเรียกร้องว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ความยินยอมนี้ให้ใช้บังคับได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ
               ในกรณีฝ่ายที่ถูกเรียกร้องยินยอมขยายระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้องให้แก่ฝ่ายที่มีสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ถูกเรียกร้อง ให้ถือว่าเป็นการให้ความยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้และให้มีผลเช่นเดียวกับกรณีตามวรรคสอง

หมวด ๒ การควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (มาตรา ๓๙ - ๖๔)

 

หมวด ๒
การควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

-------------------------

               มาตรา ๓๙  ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เว้นแต่จะเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียน ดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่ได้จดทะเบียนตามมาตรา ๔๑
               (๒) ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่ได้จดทะเบียนในต่างประเทศที่ประเทศไทยรับรองโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่ได้จดแจ้งต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๔๕ หรือ
               (๓) ผู้ประกอบการขนส่งหรือขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในต่างประเทศที่ได้ตั้งตัวแทนตามมาตรา ๔๘

               มาตรา ๔๐  ผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
               (๒) มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่าแปดหมื่นหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน

               มาตรา ๔๑  ผู้ใดประสงค์จะขอจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) ให้ยื่นคำขอโดยแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติตามมาตรา ๔๐ และการมีหลักประกันสำหรับความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือสำหรับความเสี่ยงอื่นใดจากสัญญาที่ทำขึ้น
               หากนายทะเบียนเห็นว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมีคุณสมบัติและหลักประกันตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบทะเบียนภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียน
               การยื่นคำขอจดทะเบียน การจดทะเบียนและการออกใบทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่อาจรับจดทะเบียนได้เนื่องจากผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมีคุณสมบัติหรือหลักประกันไม่ถูกต้อง ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยมิชักช้าแต่ต้องไม่เกินยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
               ในการรับจดทะเบียนผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกาประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไว้ในใบทะเบียนได้ตามความจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๔๒  ใบทะเบียนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบทะเบียน
               ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบทะเบียนจะต้องยื่นคำขอก่อนใบทะเบียนสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
               เมื่อได้ยื่นคำขอตามวรรคสองแล้ว ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อไปได้จนกว่านายทะเบียนจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบทะเบียนนั้น
               การขอต่ออายุใบทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๓  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) จะต้องดำรงหลักประกันสำหรับความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือสำหรับความเสี่ยงอื่นใดตามสัญญาที่ทำขึ้น และดำรงสินทรัพย์ขั้นต่ำไว้ไม่น้อยกว่าแปดหมื่นหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               หลักเกณฑ์และวิธีกำหนด จำนวน ชนิด ขนาด และเงื่อนไขในการดำรงหลักประกันและสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) ประกอบกิจการในฐานะตัวแทนตามมาตรา ๓๙ (๒) หรือ (๓) จะต้องดำรงหลักประกันสำหรับความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือสำหรับความเสี่ยงอื่นใดตามสัญญาที่ทำขึ้นโดยรวมถึงกิจการที่กระทำในฐานะที่เป็นตัวแทนด้วย

               มาตรา ๔๔  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) ที่ประสงค์จะตั้งสาขาในการประกอบกิจการ ให้ขออนุญาตต่อนายทะเบียน นายทะเบียนจะอนุญาตโดยมีเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการก็ได้
               การขอรับใบอนุญาตตั้งสาขาและการออกใบอนุญาตตั้งสาขาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๕  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่ได้จดทะเบียนในต่างประเทศที่ประเทศไทยรับรองโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศตามมาตรา ๓๙ (๒) ที่ประสงค์จะประกอบกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอจดแจ้งต่อนายทะเบียนโดยแสดงหลักฐานการจดทะเบียนในต่างประเทศที่ประเทศไทยรับรองโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศพร้อมทั้งตั้งตัวแทนหรือตั้งสำนักงานสาขาในราชอาณาจักร
               หากนายทะเบียนเห็นว่าผู้ยื่นคำขอจดแจ้งแสดงหลักฐานถูกต้อง ให้นายทะเบียนรับจดแจ้งและออกใบจดแจ้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดแจ้ง
               การยื่นคำขอจดแจ้ง การจดแจ้ง การออกใบจดแจ้ง การตั้งตัวแทนและสำนักงานสาขา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่อาจรับจดแจ้งได้เนื่องจากผู้ยื่นคำขอจดแจ้งแสดงหลักฐานไม่ครบถ้วน ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยมิชักช้าแต่ต้องไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
               ในการรับจดแจ้งตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไว้ในใบจดแจ้งได้ตามความจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๔๖  ใบจดแจ้งของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๒) ให้มีอายุตามที่ได้จดทะเบียนในต่างประเทศแต่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ออกใบจดแจ้ง
               ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบจดแจ้งจะต้องยื่นคำขอเสียก่อนใบจดแจ้งสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และให้นำมาตรา ๔๒ วรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๗  ตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๒) จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) หรือ
               (๒) เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการขนส่ง หรือเป็นนายหน้า ตัวแทนหรือตัวแทนค้าต่างในกิจการขนส่ง
               ตัวแทนตาม (๒) จะต้องดำรงหลักประกันหรับความรับผิดของตัวการตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือสำหรับความเสี่ยงอื่นใดจากสัญญาที่ทำขึ้น

               มาตรา ๔๘  ผู้ประกอบการขนส่งหรือขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในต่างประเทศตามมาตรา ๓๙ (๓) ที่ประสงค์จะประกอบกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนการตั้งตัวแทนต่อนายทะเบียนโดยแสดงหลักฐานการจดทะเบียนในต่างประเทศ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๑) เป็นตัวแทนในราชอาณาจักร
               หากนายทะเบียนเห็นว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนแสดงหลักฐานถูกต้อง ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการตั้งตัวแทนและออกใบทะเบียนการเป็นตัวแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอจดทะเบียน
               การยื่นคำขอจดทะเบียนการตั้งตัวแทน การจดทะเบียนการตั้งตัวแทน การออกใบทะเบียนการเป็นตัวแทนและการรับเป็นตัวแทน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
               ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่อาจรับจดทะเบียนการตั้งตัวแทนได้เนื่องจากผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนแสดงหลักฐานไม่ครบถ้วน ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยมิชักช้าแต่ต้องไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
               ในการรับจดทะเบียนการตั้งตัวแทนตามวรรคหนึ่ง นายทะเบียนอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกาประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไว้ในใบทะเบียนได้ตามความจำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๔๙  ใบทะเบียนการเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๓) ให้มีอายุตามอายุของสัญญาการตั้งตัวแทนแต่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ออกใบทะเบียน
               ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะขอต่ออายุใบทะเบียนจะต้องยื่นคำขอก่อนใบทะเบียนสิ้นอายุไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และให้นำมาตรา ๔๒ วรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๐  ตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๒) และ (๓) จะต้องร่วมรับผิดกับผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนเพื่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากการผิดสัญญาหรือการละเมิดแก่ผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่งหรือบุคคลอื่นในราชอาณาจักร

               มาตรา ๕๑  ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน ไม่รับจดแจ้งไม่ออกใบทะเบียนตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๔๘ ไม่ออกใบแทนใบทะเบียนตามมาตรา ๕๕ หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบทะเบียนตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๖ หรือมาตรา ๔๙ ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากนายทะเบียน
               ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับคำอุทธรณ์

               มาตรา ๕๒  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนจะต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบการต่อนายทะเบียนตามแบบ หลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่นายทะเบียนประกาศกำหนด

               มาตรา ๕๓  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนต้องแสดงใบทะเบียนไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขา

               มาตรา ๕๔  ตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามมาตรา ๓๙ (๒) และ (๓) ต้องแสดงเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการประกอบการของผู้ที่เป็นตัวการตามที่นายทะเบียนกำหนดไว้ในที่เปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานของตัวแทน

               มาตรา ๕๕  ในกรณีที่ใบทะเบียนสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดดังกล่าว
               การขอรับใบแทนใบทะเบียนและการออกใบแทนใบทะเบียนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๕๖  ในกรณีที่มีการย้ายสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขา หรือมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการอย่างหนึ่งอย่างใดในใบทะเบียน ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนแจ้งแก่นายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง และให้นายทะเบียนหมายเหตุการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ในใบทะเบียน

               มาตรา ๕๗  เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนผู้ใด
               (๑) ไม่ดำรงหลักประกันสำหรับความรับผิดหรือความเสี่ยงอื่นใดตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือไม่ดำรงสินทรัพย์ขั้นต่ำไว้ไม่น้อยกว่าแปดหมื่นหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               (๒) ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบทะเบียนที่ระบุว่าเป็นเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญ
               (๓) ไม่ส่งหรือส่งรายงานไม่ถูกต้องหรือไม่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๕๒
               (๔) ไม่อำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร ในการปฏิบัติการของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่
               ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาอันสมควร
               ถ้าผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งตามวรรคหนึ่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการประกอบธุรกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นการชั่วคราวได้ในระยะเวลาที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

               มาตรา ๕๘  นอกจากรณีที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนใบทะเบียน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนให้ข้อมูลเท็จหรือกระทำฉ้อฉลเพื่อให้ได้รับจดทะเบียน
               (๒) นายทะเบียนมีคำสั่งให้ระงับการประกอบธุรกิจการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นการชั่วคราวตามมาตรา ๕๗ วรรคสองและผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนไม่ดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนดเกินกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี
               (๓) ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่ให้นำของที่เป็นอันตรายซึ่งหาผู้รับไม่ได้ หรือของผิดกฎหมายไปส่งคืนให้แก่ผู้ตราส่ง รวมทั้งชำระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการดำเนินการดังกล่าว

               มาตรา ๕๙  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนซึ่งนายทะเบียนมีคำสั่งให้ระงับการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือให้เพิกถอนใบทะเบียน มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากนายทะเบียน
               การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของนายทะเบียน เว้นแต่รัฐมนตรีจะสั่งให้ทุเลาการบังคับ
               ในระหว่างที่รัฐมนตรีพิจารณาคำอุทธรณ์ ห้ามมิให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามวรรคหนึ่งประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อไป เว้นแต่จะเป็นการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เป็นการประกอบการตามสัญญาที่ได้ทำขึ้นก่อนได้รับแจ้งคำสั่งจากนายทะเบียน
               ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับคำอุทธรณ์

               มาตรา ๖๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๕๙ วรรคสอง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนซึ่งถูกเพิกถอนใบทะเบียนส่งคืนใบทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบทะเบียน

               มาตรา ๖๑  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนซึ่งประสงค์จะเลิกประกอบการต้องแจ้งความประสงค์ดังกล่าวเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันที่เลิกประกอบการ
               เมื่อบอกเลิกประกอบการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ทำการประกอบการตามสัญญาที่ได้ทำขึ้นก่อนบอกเลิกประกอบการต่อไปแต่มิให้เกินสามเดือนนับแต่วันที่เลิกประกอบการ
               ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ส่งคืนใบทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เลิกประกอบการ

               มาตรา ๖๒  นายทะเบียนมีอำนาจควบคุมดูแลบรรดากิจการที่เกี่ยวกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามความในพระราชบัญญัตินี้
               ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) เข้าไปในสถานที่ดำเนินการของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
               (๒) เรียกผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียน ผู้จัดการ พนักงานและลูกจ้าง ตัวแทนและลูกจ้างของตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริง
               (๓) สั่งให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียดำเนินการนำของที่เป็นอันตรายซึ่งหาผู้รับไม่ได้หรือซึ่งเป็นของผิดกฎหมายไปส่งคืนให้แก่ผู้ตราส่ง รวมทั้งสั่งให้ชำระค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการดำเนินการนั้น ทั้งนี้ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

               มาตรา ๖๓  ในการปฏิบัติการของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๒ วรรคสอง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในสถานที่นั้นอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือตามสมควร

               มาตรา ๖๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด ๓ การระงับข้อพิพาท (มาตรา ๖๕ - ๖๙)

 

หมวด ๓
การระงับข้อพิพาท

-------------------------

               มาตรา ๖๕  คู่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาจตกลงกันให้ศาลในประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีแพ่งที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิดตามกฎหมายของประเทศนั้น เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องหรือสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบก็ได้
               ในกรณีที่มิได้มีการระบุศาลในการฟ้องคดีแพ่งที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด โจทก์มีสิทธิเลือกฟ้องคดีในศาลใดศาลหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือภูมิลำเนาของจำเลย
               (๒) ศาลในประเทศที่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้กระทำขึ้น ซึ่งต้องปรากฏว่าจำเลยมีสำนักงาน สำนักงานสาขาหรือตัวแทนอยู่ในประเทศนั้นด้วย
               (๓) ศาลในประเทศที่เป็นสถานที่ที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของหรือส่งมอบของ
               อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นหนังสือให้ฟ้องคดีในศาลใด ๆ ที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นก็ได้ ถ้าการตกลงนั้นได้กระทำขึ้นภายหลังจากเกิดสิทธิเรียกร้องแล้ว

               มาตรา ๖๖  คำฟ้องเกี่ยวกับคดีแพ่งในราชอาณาจักรไม่ว่าจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิดตามพระราชบัญญัตินี้ และคำฟ้องเกี่ยวกับสัญญารับขนของภายในราชอาณาจักรตามมาตรา ๕ ให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

               มาตรา ๖๗  คู่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาจตกลงกันเป็นหนังสือกำหนดให้เสนอข้อพิพาทใดๆ ที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด ให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้
               ในกรณีที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการโดยระบุสถาที่ คู่สัญญามีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการ ณ สถานที่ในประเทศตามที่ระบุไว้ในสัญญาเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการก็ได้
               ในกรณีที่มีข้อตกลงอนุญาโตตุลาการแต่มิได้ระบุสถานที่ ผู้เสนอข้อพิพาทมีสิทธิเลือกดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการ ณ สถานที่ในประเทศใดประเทศหนึ่งดังต่อไปนี้
               (๑) ประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่หรือภูมิลำเนาของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
               (๒) ประเทศที่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้กระทำขึ้นซึ่งต้องปรากฏว่าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมีสำนักงาน สำนักงานสาขาหรือตัวแทนอยู่ในประเทศนั้นด้วย
               (๓) ประเทศที่เป็นสถานที่ที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของหรือส่งมอบของ
               อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นหนังสือให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการ ณ สถานที่ในประเทศใด ๆ ก็ได้ ถ้าการตกลงนั้นได้กระทำขึ้นภายหลังจากเกิดสิทธิเรียกร้องแล้ว

               มาตรา ๖๘  ให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเรียกร้องอันมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิดตามบทบัญญัติในหมวด ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นหนังสือภายหลังจากเกิดสิทธิเรียกร้องแล้วให้บังคับใช้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายของประเทศที่ตกลงกันก็ได้

               มาตรา ๖๙  ข้อความหรือข้อตกลงใดในใบตราส่งต่อเนื่องหรือสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่จำกัดสิทธิในการฟ้องคดีแพ่งต่อศาลหรือจำกัดสิทธิในการดำเนินการพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นโมฆะ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

หมวด ๔ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๗๐ - ๗๘)

 

หมวด ๔
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๗๐  ผู้ใดประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งให้เพิกถอนใบทะเบียนตามมาตรา ๕๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และในกรณีที่มีการทำสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไว้แล้ว ให้ปรับอีกเป็นรายสัญญาในอัตราสัญญาละห้าหมื่นบาท
               เพื่อประโยชน์แก่คู่สัญญาหรือผู้รับตราส่ง ให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องมีสิทธิปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวที่ได้ทำไว้แล้วต่อไปจนแล้วเสร็จ

               มาตรา ๗๑  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ หรือมาตรา ๔๗ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการประกอบการตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

               มาตรา ๗๒  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบทะเบียนตามมาตรา ๔๑ วรรคห้า มาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๔๕ วรรคห้า หรือมาตรา ๔๘ วรรคห้า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

               มาตรา ๗๓  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

               มาตรา ๗๔  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๐ หรือมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

               มาตรา ๗๕  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจดทะเบียนผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓ หรือมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

               มาตรา ๗๖  ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

               มาตรา ๗๗  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๑ เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

               มาตรา ๗๘  เมื่อผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องที่กระทำความผิดตามมาตรา ๗๒ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๕ หรือมาตรา ๗๖ ได้ชำระค่าปรับในอัตราสูงสุดสำหรับความผิดนั้นแก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


               มาตรา ๗๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๗๙ - ๘๐)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๗๙  ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องซึ่งประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อไป ให้ดำเนินการขอจดทะเบียนหรือจดแจ้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
               เมื่อได้ยื่นขอจดทะเบียนหรือจดแจ้งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้นั้นประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบต่อไปได้จนกว่านายทะเบียนจะสั่งไม่อนุญาตให้จดทะเบียนหรือจดแจ้ง

               มาตรา ๘๐  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
          นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม

 

อัตราค่าธรรมเนียม

-------------------------

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รูปแบบของการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศได้พัฒนาไปจากเดิมที่มีลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งสินค้าจากท่าเรือถึงท่าเรือหรือจากท่าอากาศยานถึงท่าอากาศยานจนสามารถขยายบริการเป็นลักษณะจากจุดรับมอบสินค้าที่ต้นทางจนถึงจุดส่งมอบสินค้าที่ปลายทางมีรูปแบบหรือยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งมากกว่าหนึ่งรูปแบบหรือหนึ่งประเภท ภายใต้สัญญาขนส่งเพียงฉบับเดียว ฉะนั้น จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตและหลักเกณฑ์ในการประกอบกิจการเพื่อรองรับการบริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบดังกล่าว และเพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวทำนองเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๘ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๒๘/๔ และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒/๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ ดังนั้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๕)

 

พระราชบัญญัติ
การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๗

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนคนโดยสารระหว่างประเทศ

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “คนโดยสาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งผู้ขนส่งได้ทำการขนส่งตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับที่จะทำการขนส่งคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศเป็นทางค้าปกติของตน ไม่ว่าจะมีสัมภาระหรือไม่ก็ตาม
               “การเดินทาง” หมายความว่า การเดินทางของคนโดยสารโดยรถจากจุดต้นทางไปยังจุดปลายทางตามที่กำหนดในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงการขึ้นหรือลงรถในระหว่างการเดินทางนั้นด้วย
               “รถ” หมายความว่า รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
               “ล่าช้า” หมายความว่า
               (๑) การถึงจุดปลายทางช้ากว่ากำหนดเวลา ในกรณีที่มีการตกลงกำหนดเวลาไว้
               (๒) การถึงจุดปลายทางช้ากว่ากำหนดเวลาอันควรตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ของผู้ขนส่งในพฤติการณ์เดียวกัน ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกำหนดเวลาไว้
               “สัมภาระ” หมายความว่า สัมภาระติดตัวและสัมภาระลงทะเบียน
               “สัมภาระติดตัว” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารระหว่างการเดินทางและให้หมายความรวมถึงของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวคนโดยสารด้วย
               “สัมภาระลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่คนโดยสารส่งมอบให้ผู้ขนส่งดูแล
               “ข้อสงวน” หมายความว่า ข้อความเกี่ยวกับสภาพของสัมภาระลงทะเบียนว่าอยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อยซึ่งผู้ขนส่งได้ระบุไว้ในใบรับสัมภาระลงทะเบียนในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนหรือข้อความที่คนโดยสารมีหนังสือแจ้งผู้ขนส่งในเวลาที่คนโดยสารได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้นคืนว่ามีจำนวนไม่ครบหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี
               “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
               ในกรณีที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของการเดินทางมีการใช้การขนส่งรูปแบบอื่นในการขนส่งคนโดยสารและสัมภาระ ความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนโดยสารหรือสัมภาระในระหว่างการใช้การขนส่งรูปแบบอื่น ให้ผู้ขนส่งรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งรูปแบบอื่นนั้น
               ในกรณีที่การเดินทางตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศต้องหยุดลงด้วยเหตุใดก่อนถึงจุดปลายทาง ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่การขนส่งนั้นด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจุดที่หยุดลงนั้นจะอยู่ภายในประเทศต้นทางหรือประเทศอื่น

               มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๒ ก/หน้า ๑/๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๗

หมวด ๑ สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ (มาตรา ๖ - ๑๓)

 

หมวด ๑
สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๖  สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ คือ สัญญาที่ผู้ขนส่งตกลงกับคนโดยสารว่าจะรับดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งคนโดยสารทางถนนและสัมภาระโดยรถจากจุดต้นทางในประเทศหนึ่งไปยังจุดปลายทางในอีกประเทศหนึ่ง หรือจากจุดต้นทางในประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งแล้วกลับมายังจุดปลายทางในประเทศต้นทาง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีบำเหน็จหรือไม่ก็ตาม

               มาตรา ๗  ข้อตกลงใดในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย เป็นการปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ขนส่งหรือเป็นผลให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดน้อยกว่าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
               ข้อตกลงที่เป็นโมฆะตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ของข้อตกลงอื่นในสัญญานั้น

               มาตรา ๘  การรับขนคนโดยสารตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศผู้ขนส่งต้องออกตั๋วโดยสารไว้เป็นหลักฐานให้แก่คนโดยสารไม่ว่าจะเป็นตั๋วโดยสารที่ออกเป็นรายบุคคลหรือตั๋วโดยสารที่ออกเป็นหมู่คณะ

               มาตรา ๙  ตั๋วโดยสารอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่ง
               (๒) จุดต้นทางและจุดปลายทางของการเดินทาง
               (๓) วันเดินทางหรือช่วงเวลาที่สามารถใช้ตั๋วโดยสารนั้นได้
               (๔) ราคาค่าโดยสาร
               (๕) ข้อความที่กำหนดให้การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
               ตั๋วโดยสารอาจออกโดยระบุชื่อคนโดยสารหรือออกให้แก่ผู้ถือก็ได้

               มาตรา ๑๐  การไม่ได้ออกตั๋วโดยสารตามมาตรา ๘ การออกตั๋วโดยสารโดยมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙ หรือการที่ตั๋วโดยสารสูญหาย ย่อมไม่กระทบต่อความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ

               มาตรา ๑๑  ผู้ขนส่งต้องออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนให้แก่คนโดยสารเมื่อได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนไว้ โดยอาจออกรวมไปกับตั๋วโดยสารก็ได้

               มาตรา ๑๒  ใบรับสัมภาระลงทะเบียนอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่ง
               (๒) จุดต้นทางและจุดปลายทางของการเดินทาง
               (๓) วันที่ออกใบรับสัมภาระลงทะเบียน
               (๔) จำนวนและน้ำหนักของสัมภาระลงทะเบียน
               (๕) ค่าขนส่งสัมภาระลงทะเบียนส่วนที่เกินเกณฑ์สูงสุดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓
               (๖) ข้อความที่กำหนดให้การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

               มาตรา ๑๓  การไม่ได้ออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนตามมาตรา ๑๑ หรือการออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนโดยไม่ได้ระบุถึงจำนวนหรือน้ำหนักของสัมภาระลงทะเบียนตามมาตรา ๑๒ (๔) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำนวนหรือน้ำหนักของสัมภาระลงทะเบียนนั้นเท่ากับเกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้คนโดยสารนำไปกับตนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
               การไม่ได้ออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนตามมาตรา ๑๑ ย่อมไม่ทำให้ผู้ขนส่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒ หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง (มาตรา ๑๔ - ๑๖)

 

หมวด ๒
หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ผู้ขนส่งต้องตรวจสภาพเท่าที่เห็นได้จากภายนอกของสัมภาระลงทะเบียนในเวลาที่ลงทะเบียนสัมภาระนั้น และหากจำเป็น ผู้ขนส่งต้องระบุข้อสงวนไว้ในใบรับสัมภาระลงทะเบียนตามความเหมาะสม
               ถ้าผู้ขนส่งมิได้ระบุข้อสงวนไว้ ให้สันนิษฐานว่าสัมภาระนั้นอยู่ในสภาพเรียบร้อย

               มาตรา ๑๕  ในเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนคืนให้แก่คนโดยสาร คนโดยสารต้องตรวจสอบจำนวน สิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน และสภาพของสัมภาระนั้น หากพบว่ามีจำนวนไม่ครบหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้คนโดยสารมีหนังสือแจ้งข้อสงวนต่อผู้ขนส่งทันที
               ถ้าคนโดยสารรับมอบสัมภาระลงทะเบียนโดยมิได้มีหนังสือแจ้งข้อสงวน ให้สันนิษฐานว่าได้มีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนครบถ้วนในสภาพเรียบร้อย

               มาตรา ๑๖  เมื่อผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนให้แก่ผู้ถือใบรับสัมภาระลงทะเบียน ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระดังกล่าวโดยชอบแล้ว
               ในกรณีที่มีบุคคลใดเรียกร้องให้ส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนโดยไม่มีใบรับสัมภาระลงทะเบียนมาแสดง ผู้ขนส่งไม่จำต้องส่งมอบสัมภาระดังกล่าวให้ เว้นแต่บุคคลนั้นจะสามารถพิสูจน์ถึงสิทธิของตนที่จะรับมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้น
               ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดมารับสัมภาระลงทะเบียนเมื่อรถมาถึงจุดปลายทาง ไม่ว่าจะได้มีการออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนหรือไม่ ให้ถือว่าสัมภาระนั้นยังอยู่ในความดูแลรักษาของผู้ขนส่งแทนคนโดยสาร แต่ผู้ขนส่งอาจมอบหมายให้บุคคลภายนอกดูแลรักษาสัมภาระนั้นแทนก็ได้ โดยผู้ขนส่งหรือบุคคลที่ดูแลรักษาดังกล่าวมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสมควร
               การดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับสัมภาระลงทะเบียนที่ไม่มีผู้รับตามวรรคสาม ให้ผู้ขนส่งมีสิทธิดำเนินการเกี่ยวกับสัมภาระนั้นตามกฎหมายของประเทศที่สัมภาระได้รับการดูแลรักษาไว้ แต่ถ้าสัมภาระดังกล่าวได้รับการดูแลรักษาไว้ในประเทศไทย ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนคนโดยสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ

หมวด ๓ ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๑๗ - ๒๓)

 

หมวด ๓
ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๗  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสารอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

               มาตรา ๑๘  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายอันเป็นผลมาจากการที่คนโดยสารและสัมภาระไปถึงจุดปลายทางล่าช้า

               มาตรา ๑๙  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายหรือการสูญหายของสัมภาระติดตัวอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

               มาตรา ๒๐  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายหรือการสูญหายที่เกิดแก่สัมภาระลงทะเบียนนับแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระนั้นคืน
               หากมิได้มีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนคืนให้แก่คนโดยสารภายในสามสิบวันนับแต่เวลาที่รถไปถึงจุดปลายทาง หรือกำหนดเวลาที่รถจะไปถึงจุดปลายทาง หรือเวลาที่ตามปกติควรจะไปถึงจุดปลายทางแล้วแต่เวลาใดเป็นเวลาหลังสุด ให้ถือว่าสัมภาระลงทะเบียนนั้นสูญหายและคนโดยสารมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายดังกล่าวได้
               ในกรณีที่ได้สัมภาระลงทะเบียนกลับมาภายหลัง ผู้ขนส่งต้องแจ้งให้คนโดยสารทราบในทันทีและคนโดยสารมีสิทธิเรียกสัมภาระนั้นคืน โดยจะต้องคืนค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับมาแต่ไม่เสียสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือความเสียหายบางส่วนหรือเพื่อความล่าช้า
               ถ้าคนโดยสารไม่ใช้สิทธิเรียกคืนตามวรรคสาม ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะดำเนินการแก่สัมภาระดังกล่าวตามที่เห็นสมควรตามกฎหมายของประเทศที่สัมภาระลงทะเบียนนั้นตกค้างอยู่
               ในกรณีที่สัมภาระลงทะเบียนนั้นตกค้างอยู่ในประเทศไทย ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ

               มาตรา ๒๑  ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อการกระทำหรือละเว้นกระทำการของลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้รับจ้างช่วงของตนซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือภายในขอบอำนาจแห่งการเป็นตัวแทนหรือในกิจการที่รับจ้างช่วงนั้น แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๒๒  ผู้ขนส่งจะปฏิเสธความรับผิดในความสูญหาย ความเสียหายหรือความล่าช้าที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลจากความชำ รุดบกพร่องของรถที่ใช้ในการขนส่งหรือการหย่อนความสามารถทางร่างกายหรือจิตใจของผู้ขับขี่มิได้

               มาตรา ๒๓  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความสูญหาย ความเสียหาย หรือความล่าช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าความสูญหาย ความเสียหาย หรือความล่าช้านั้น เกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
               (๑) เหตุสุดวิสัย
               (๒) ความชำรุดบกพร่องของสัมภาระนั้นเอง
               (๓) ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของคนโดยสารนั้นเอง
               (๔) สภาพร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสารที่เป็นอยู่ก่อนการเดินทาง

หมวด ๔ การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าสินไหมทดแทน (มาตรา ๒๔ - ๓๑)

 

หมวด ๔
การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าสินไหมทดแทน

-------------------------

               มาตรา ๒๔  ในกรณีที่คนโดยสารตาย หรือบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินเก้าพันหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารหนึ่งคนในเหตุการณ์เดียวกัน

               มาตรา ๒๕  ในกรณีที่สัมภาระลงทะเบียนสูญหายหรือเสียหาย ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินแปดจุดสามสามหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักรวมทั้งหมดแห่งสัมภาระลงทะเบียนนั้นหรือหนึ่งร้อยหกสิบหกจุดหกเจ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อสัมภาระลงทะเบียนหนึ่งชิ้น แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
               ในกรณีที่สัมภาระติดตัวสูญหายหรือเสียหาย ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินหนึ่งร้อยหกสิบหกจุดหกเจ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารหนึ่งคน
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดทั้งกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินสามร้อยสามสิบสามจุดสามสี่หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารหนึ่งคน

               มาตรา ๒๖  ในกรณีที่มีความเสียหายอื่นที่เกิดจากความล่าช้า ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินราคาค่าโดยสาร

               มาตรา ๒๗  คู่สัญญาในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศอาจตกลงกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ก็ได้

               มาตรา ๒๘  นอกจากค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้แล้ว ในกรณีที่ผู้ขนส่งไม่สามารถดำเนินการขนส่งตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังอันจะโทษผู้ขนส่งไม่ได้ ผู้ขนส่งต้องใช้คืนราคาค่าโดยสารตามส่วนที่ยังไม่ได้ขนส่ง

               มาตรา ๒๙  ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ส่งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่ง หรือนับแต่วันที่ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ

               มาตรา ๓๐  การยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๒๓ และการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ มิให้ใช้บังคับถ้าพิสูจน์ได้ว่าการตาย การบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือความล่าช้าเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่ง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้รับจ้างช่วงของตน กระทำการหรืองดเว้นการกระทำการโดยจงใจให้เกิดการตาย การบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือความล่าช้าหรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการตาย การบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือความล่าช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้

               มาตรา ๓๑  เพื่อประโยชน์แห่งการคำนวณความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงิบาท ให้คำนวณ ณ เวลาอันเป็นฐานของการคำนวณค่าเสียหายโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

หมวด ๕ การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท (มาตรา ๓๒ - ๓๕)

 

หมวด ๕
การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท

-------------------------

               มาตรา ๓๒  ความในพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าการใช้สิทธิเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาหรือละเมิด
               ในกรณีที่มีการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ต่อลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้รับจ้างช่วงของผู้ขนส่ง บุคคลที่ถูกใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ขนส่งตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ขึ้นต่อสู้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องได้ด้วย

               มาตรา ๓๓  ในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์มีสิทธิเลือกฟ้องคดีในศาลใดศาลหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจาณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลในประเทศที่การรับขนเริ่มต้นหรือสิ้นสุดลง
               (๒) ศาลในประเทศที่ความสูญหายหรือความเสียหายเกิดขึ้น หากสามารถระบุได้
               (๓) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ขนส่ง หรือ
               (๔) ศาลในประเทศที่เป็นภูมิลำเนาของโจทก์
               การฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ในประเทศไทยให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

               มาตรา ๓๔  คู่สัญญาอาจตกลงเป็นหนังสือให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

               มาตรา ๓๕  การใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ ให้เป็นอันขาดอายุความ
               (๑) สามปี สำหรับการตาย การบาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสาร
               (๒) หกเดือน สำหรับการสูญหาย ความเสียหาย ความล่าช้าของสัมภาระและความล่าช้าในการถึงจุดหมายของคนโดยสาร
               การนับอายุความตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เกิดสิทธิเรียกร้อง หรือวันที่ถึงจุดปลายทาง หรือวันที่กำหนดจะไปถึงจุดปลายทาง หรือวันที่สมควรถึงจุดปลายทางตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ของผู้ขนส่งในพฤติการณ์เดียวกัน แล้วแต่วันใดเป็นวันหลังสุด
               ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันมีโทษทางอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าอายุความตามวรรคหนึ่ง ให้นำอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยลดอุปสรรคในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ใช้บริการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศและเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว สมควรมีกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในเรื่องการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๗)

 

พระราชบัญญัติ
จัดวางการรถไฟแลทางหลวง
พระพุทธศักราช ๒๔๖๔

-------------------------

               มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ด้วยมีเหตุสมควรที่จะจัดวางการรถไฟแผ่นดิน รถไฟราษฎร์แลทางหลวงให้เรียบร้อยดียิ่งขึ้น แลเพื่อรวบรวมบทกฎหมายข้อบังคับในเรื่องนี้เข้าไว้เปนหมวดหมู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโดยบทมาตราไว้ต่อไปดังนี้

ข้อความเบื้องต้น

-------------------------

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช ๒๔๖๔”

               มาตรา ๒  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               (๑) คำว่า “รถไฟ” หมายความว่า กิจการที่จัดทำขึ้นเพื่อหาประโยชน์ด้วยวิธีบรรทุกส่งคนโดยสาร และสินค้าบนทางซึ่งมีราง ส่วนรถไฟซึ่งได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นตลอดทั้งสายบนถนนหลวงของนครหนึ่งหรือเมืองหนึ่งนั้นให้เรียกว่า “รถราง”
               (๒) คำว่า “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
               (๓) คำว่า “ทางรถไฟ” หมายความว่า ถนนหรือทางซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถ
               (๔) คำว่า “เครื่องประกอบทางรถไฟ” หมายความว่า สถานี สำนักงานที่ทำการ คลังไว้สินค้า เครื่องจักรประจำที่ และสรรพสิ่งของทั้งปวงที่ก่อสร้างไว้เพื่อประโยชน์ของรถไฟ
               (๕) คำว่า “รถ” หมายความว่า รถจักร รถบรรทุก รถคนโดยสาร หรือรถขนของซึ่งมีล้อครีบสำหรับเดินบนราง
               (๖) คำว่า “พัสดุ” หมายความว่า รางอะไหล่ ไม้หมอน หมุดควงและแป้นควง เครื่องอะไหล่สำหรับรถ เครื่องประกอบสำหรับสร้างสะพาน ของเครื่องใช้ในการก่อสร้าง เครื่องมือ วัตถุเชื้อเพลิง น้ำมันหยอดเครื่อง หรือของสิ่งอื่น ๆ ซึ่งรถไฟเก็บสะสมไว้ใช้
               (๗) คำว่า “พนักงานรถไฟ” หมายความว่า บุคคลที่รถไฟได้จ้างไว้หรือได้มอบหน้าที่ให้กระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของรถไฟ
               (๘) คำว่า “หัตถภาระ” หมายความว่า ถุง ย่าม ห่อผ้า หรือกระเป๋าถือทุกชนิด ซึ่งผู้โดยสารนำไปในห้องรถโดยสาร เพื่อใช้สอยเองหรือเพื่อความสะดวก
               (๙) คำว่า “ครุภาระ” หมายความว่า สรรพสิ่งของเครื่องใช้ทุกชนิด ซึ่งผู้โดยสารอาจนำบรรทุกในรถสัมภาระ
               (๑๐) คำว่า “ห่อวัตถุ” หมายความว่า ห่อของ ถุง หีบ ตะกร้า และของสิ่งอื่น ๆ (รวมทั้งผลไม้ ผัก ปลา เป็ด ไก่ ห่าน ฯลฯ) ที่บรรทุกได้ในขบวนรถโดยสารตามอัตราระวางบรรทุกห่อวัตถุ
               (๑๑) คำว่า “สินค้า” หมายความว่า สรรพสิ่งของหรือสินค้าทั้งปวงที่ส่งไปตามอัตราสินค้า
               (๑๒) คำว่า “ของมีชีวิต” หมายความว่า สัตว์มีชีวิตทุกอย่างที่ส่งไปในขบวนรถสินค้าหรือขบวนรถอื่น
               (๑๓) คำว่า “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า บุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้สร้างรถไฟได้เป็นพิเศษ
               (๑๔) คำว่า “ทางหลวง” หมายความว่า บรรดาถนนหลวง ทางเกวียน และทางต่างอันอยู่ในความกำกับตรวจตราแห่งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล
               (๑๕) คำว่า “ทางราษฎร์” หมายความว่า ถนนหนทาง ทางเกวียน และทางต่างอย่างอื่น ๆ นอกจากที่จัดเป็นทางหลวง
               (๑๖) คำว่า “ทางน้ำ” หมายความว่า แม่น้ำ ลำน้ำ และคลองที่เรือเดินได้

               มาตรา ๔  รถไฟจัดแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
               (๑) รถไฟแผ่นดิน
               (๒) รถไฟผู้รับอนุญาต
               (๓) รถไฟหัตถกรรม

               มาตรา ๕  การกำหนดประเภทรถไฟก็ดี หรือการเปลี่ยนแปลงประเภทรถไฟก็ดี ท่านบังคับว่าจำต้องมีประกาศพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๖  ในส่วนรถไฟทั้งหลายนอกจากรถไฟหัตถกรรม
               (๑) ห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ
               (๒) ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใด ๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้น ๆ ได้ขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
               (๓) ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง รถและพัสดุของรถไฟ

               มาตรา ๗  ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้สืบไป แม้ถึงว่าจะมีข้อความกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี บทพระราชบัญญัติทั้งหลายนี้ซึ่งว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและความปราศภัยแห่งประชาชน กับทั้งว่าด้วยการสอดส่องและการกำกับตรวจตราโดยสภากรมการรถไฟนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่บรรดารถไฟราษฎร์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาจักรในวันที่ออกใช้พระราชบัญญัตินี้ด้วย


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๘/-/หน้า ๑๒๓/๒๗ สิงหาคม ๒๔๖๔
               มาตรา ๓ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขความในมาตรา ๓ ข้อ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔

ภาคที่ ๑ ว่าด้วยรถไฟแผ่นดิน (มาตรา ๘ - ๙๔)

ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป (มาตรา ๘ - ๑๗)

 

ส่วนที่ ๑
ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๘  รถไฟหลวงนั้นเป็นสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความบังคับบัญชาของกรมรถไฟ ขึ้นอยู่ในกระทรวงเศรษฐการ มีอธิบดีเป็นหัวหน้าบัญชากิจการอยู่ภายใต้ความบังคับบัญชาและรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ

               มาตรา ๙  ให้มีคณะกรรมการรถไฟขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วย
               (๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นประธาน อธิบดีกรมรถไฟ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และ
               (๒) กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งเจ็ดนาย เลือกจากผู้มีความรู้ความชำนาญในกิจการซึ่งเกี่ยวกับการรถไฟ หรือเกี่ยวกับกฎหมายตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐจะได้ประกาศตั้งขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

               มาตรา ๑๐  ให้คณะกรรมการรถไฟมีหน้าที่ควบคุมรถไฟราษฎรตามอำนาจและหน้าที่ซึ่งมีบทกำหนดไว้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภากรรมการรถไฟตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔
               ในส่วนรถไฟหลวงให้คณะกรรมการนี้มีหน้าที่รับปรึกษา ในเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเสนอในเรื่องต่อไปนี้
               ๑. โครงการและนโยบายของการรถไฟ
               ๒. การลงทุนใหม่
               ๓. งบประมาณประจำปี และ
               ๔. กิจรอย่างอื่นเกี่ยวด้วยการรถไฟ
               คณะกรรมการรถไฟอาจร้องขอให้บุคคลภายนอกมาให้คำแนะนำและความเห็น และอาจเชิญเจ้าหน้าที่คนใด ๆ มาชี้แจงข้อความ หรืออาจตั้งอนุกรรมการขึ้นสอบสวนข้อความใด ๆ ได้

               มาตรา ๑๑  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็นผู้สั่งให้เรียกประชุมคณะกรรมการรถไฟ
               การประชุมของคณะกรรมการนี้ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าแปดนาย จึงเป็นองค์ประชุม
               การลงมติให้ถือเอาคะแนนข้างมากของจำนวนกรรมการที่มาประชุม

               มาตรา ๑๒  ผู้บัญชาการจะได้ตั้งอาณาบาลรถไฟ ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
               (๑) จัดการสืบสวนในเรื่องที่ผู้โดยสารก็ดี หรือบุคคลอื่น ๆ ก็ดี หรือพนักงานรถไฟก็ดี ได้กระทำผิดหรือกระทำการเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขืนขัดต่อพระราชกำหนดกฎหมายและกฎข้อบังคับของรถไฟ แล้วให้จดหมายบันทึกเหตุการณ์นั้น ๆ ลงไว้ในสมุดบัญชีความ
               (๒) รายงานเหตุการณ์ที่มีผู้กระทำผิดนั้นต่อกรมรถไฟแผ่นดินและแจ้งให้อัยการท้องที่ซึ่งมีอำนาจนั้นทราบ เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นที่จะต้องฟ้องร้องเป็นคดีอาญา
               (๓) จับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า หรือที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำผิดเป็นอาญาแผ่นดิน เมื่อเห็นว่าจำเป็น และให้ส่งตัวผู้ผิดนั้นไปยังอัยการ
               (๔) รายงานเหตุการณ์เสียหายต่อกรมรถไฟแผ่นดิน และจัดการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนกรมรถไฟแผ่นดินต่อศาลซึ่งมีอำนาจที่จะรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

               มาตรา ๑๓  อาณาบาลรถไฟเป็นผู้รับเรื่องราวหรือคำร้องขอค่าเสียหายของบุคคลผู้ซึ่งร้องทุกข์ว่าได้รับความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งอันเนื่องแต่การก่อสร้าง การบำรุง หรือลักษณะจัดการงานแห่งรถไฟ

               มาตรา ๑๔  ในขณะที่อาณาบาลรถไฟไม่ได้อยู่ประจำการนั้น ให้นายสถานี พนักงานกำกับรถ หรือผู้แทนเมื่อกระทำการตามหน้าที่นั้น มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับอาณาบาลรถไฟทุกประการ

               มาตรา ๑๕  กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะออกกฎข้อบังคับ และตั้งอัตราค่าระวางขึ้นไว้ได้ เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นในข้อต่อไปนี้ คือ
               (๑) ว่าด้วยแบบและการสร้างรถ
               (๒) ว่าด้วยวิธีจัดระเบียบการเดินรถและวางกำหนดอัตราให้รถวิ่งเร็วหรือช้าเพียงไร และให้เดินไปได้โดยสถานใด
               (๓) ว่าด้วยอัตราค่าระวางซึ่งผู้โดยสารต้องเสีย
               (๔) ว่าด้วยจำนวนผู้โดยสารในห้องรถห้องหนึ่ง ๆ ไม่ให้เกินกว่ากำหนดอย่างสูงตามที่จะได้ตั้งขึ้นไว้
               (๕) ว่าด้วยการบรรทุกผู้โดยสารและจัดที่ให้ผู้โดยสารอยู่และว่าด้วยหัตถภาระของผู้โดยสารนั้น
               (๖) ว่าด้วยรถขายอาหาร และห้องขายอาหาร
               (๗) ว่าด้วยอัตราระวางบรรทุก ข้อสัญญาและข้อไขสัญญาที่กรมรถไฟแผ่นดินจะรับบรรทุก รับรักษาของ หรือรับฝากหัตถภาระ ครุภาระ ห่อวัตถุ และสินค้าไว้ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งของรถไฟในนามของผู้เป็นเจ้าของ ผู้ส่งของ หรือผู้รับของนั้น
               (๘) ว่าด้วยกำหนดเวลาที่รถไฟจะออกเดิน
               (๙) ว่าด้วยการเดินรถ
               (๑๐) ว่าด้วยเครื่องอาณัติสัญญาณและโคมไฟของรถไฟ
               (๑๑) ว่าด้วยการสับเปลี่ยนรถ หรือจัดให้รถหลีกรางกัน
               (๑๒) ว่าด้วยกุญแจและเหล็กเปิดปิดราง รางซึ่งผ่านกัน และทางรถไฟผ่านถนนเสมอระดับ
               (๑๓) ว่าด้วยจัดการเพื่อระงับ หรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ และเกี่ยวกับประชาชนหรือพนักงานรถไฟ
               (๑๔) ว่าด้วยความปราศภัย ความผาสุก และความเรียบร้อยของประชาชนในระหว่างเวลาเดินทาง อยู่ในรถหรือในที่ดินของรถไฟ แต่อัตราค่าระวางโดยสารและค่าบรรทุกอย่างสูงนั้น กรมรถไฟแผ่นดินและกระทรวงพาณิชย์ ต้องกำหนดโดยมีข้อตกลงกันก่อน
               กฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางดังกล่าวนี้ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้แจ้งความออกประกาศให้ใช้แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้ทีเดียว

               มาตรา ๑๖  กฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางที่ว่าด้วยการเดินรถและลักษณะจัดการงานแห่งรถไฟนั้น ให้พิมพ์และปิดประจำไว้ให้ประจักษ์แจ้งที่สถานีรถไฟทุกแห่ง เมื่อได้ทำเช่นนี้แล้วท่านให้สันนิษฐานว่าข้อความในกฎข้อบังคับและอัตราค่าระวางนั้นเป็นอันทราบแก่ชนทั้งปวงผู้ซึ่งได้ใช้รถไฟนั้น

               มาตรา ๑๗  รถไฟทหารบกนั้นสร้างและรักษาด้วยกำลังของทหารบก และใช้เงินในแผนกทหารบกด้วย
               การบังคับบัญชาและกำกับตรวจตรารถเหล่านี้ ในเวลาสันติภาพให้อยู่ในอำนาจของผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน


               มาตรา ๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗
               มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

               มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

               มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน (มาตรา ๑๘ - ๔๐)

 

ส่วนที่ ๒
ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน

-------------------------

               มาตรา ๑๘  ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ซึ่งรัฐบาลต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น ให้อยู่ในข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน กล่าวคือ การบังคับให้ขายตามข้อความดังกล่าวไว้ในส่วนที่ ๒ นี้

               มาตรา ๑๙  เมื่อได้ตกลงว่าจะสร้างทางรถไฟขึ้นแล้ว แต่ยังมิทันได้ตรวจวางแนวทางให้แน่นอน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินภายในที่ ๆ คิดว่าจะสร้างทางรถไฟขึ้นนั้นก่อน
               พระราชกฤษฎีกานั้นให้มีอายุใช้ได้สองปี หรือตามกำหนดเวลาที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อทำการตรวจวางแนวทางให้แน่นอนดังแจ้งไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น

               มาตรา ๒๐  ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ

               มาตรา ๒๑  ภายในอายุเวลาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินนั้น พนักงานรถไฟมีสิทธิเข้าไปกระทำกิจการในที่ดินของชนทั้งหลายตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อตรวจวางแนวทางให้แน่นอน เป็นต้นว่า วัดระยะ ปักกรุย เก็บตัวอย่างศิลา ทรายและวัตถุอื่น ๆ แต่ให้พึงเข้าใจว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่ปกครองทรัพย์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิที่จะได้รับค่าทำขวัญ เพื่อทดแทนการเสียหายอันเกิดขึ้นจากการตรวจทำแผนที่สร้างทางรถไฟนั้น

               มาตรา ๒๒  เมื่อเจ้าพนักงานได้ตรวจและวางแนวทางรถไฟอันแน่นอนได้ตลอดทั้งสายหรือทำได้แต่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่ง เพื่ออนุญาตให้จัดซื้อที่ดิน ในพระราชกฤษฎีกานั้นให้ลงกระทงความดังนี้ คือ
               (๑) ความประสงค์ที่ให้จัดซื้อที่นั้นเพื่อเหตุการณ์ใด
               (๒) ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องประสงค์ให้จัดซื้อและตำบลเขตแขวงซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
               กับให้มีแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตที่ดินที่ต้องการเพื่อสร้างทางรถไฟ และเขตที่ดินทุกรายที่อนุญาตให้จัดซื้อหมดทั้งแปลงหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ไว้ท้ายประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย

               มาตรา ๒๓  พระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินนั้นให้ลงพิมพ์ประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๒๔  ให้ทำสำเนาพระราชกฤษฎีกาโดยมีเจ้าหน้าที่รับรอง กับแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น มอบส่งให้ไว้ ณ สถานที่เหล่านี้ คือ
               (๑) ที่ว่าการกรมรถไฟแผ่นดิน
               (๒) ศาลารัฐบาลมณฑล ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการในตำบลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่
               (๓) หอทะเบียนที่ดินในมณฑลซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดซื้อนั้นตั้งอยู่

               มาตรา ๒๕  จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟแผ่นดินทันที แต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าปกครองยึดถือทรัพย์นั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้ว ตามความที่ท่านบัญญัติไว้โดยบทมาตราต่อไปนี้
               อนึ่งตั้งแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกานั้นเป็นต้นไป ถ้าบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีสิทธิในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น จำหน่ายหรือโอนสิทธิในทรัพย์ให้แก่บุคคลผู้อื่นด้วยประการใด ๆ บุคคลผู้รับโอนหรือรับช่วงนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ก็แต่เฉพาะเงินค่าทำขวัญเท่านั้น

               มาตรา ๒๖  เงินค่าทำขวัญนั้นท่านให้กำหนดให้แก่
               (๑) เจ้าของที่ดินที่ต้องจัดซื้อ
               (๒) เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ (กล่าวคือ สิ่งปลูกสร้างทุกอย่างถึงแม้ว่าจะทำด้วยไม้ แต่ต้องเป็นเสาไม้จริงหรือปลูกเป็นเสาก่อวางคาน) ซึ่งมีอยู่ในที่ดินนั้นในวันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินหรือว่าได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
               (๓) ผู้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ซึ่งต้องจัดซื้อ แต่การเช่าถือนั้นต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และได้ทำไว้ก่อนวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน หรือได้ทำขึ้นภายหลังวันในประกาศนั้นโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ และการเช่าถือนั้นยังไม่สิ้นอายุไปก่อนวันหรือภายในวันที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าปกครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น แต่เงินค่าทำขวัญในเรื่องเช่าถือดังว่ามานี้พึงกำหนดให้จำเพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง ๆ โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก่อนถึงวันกำหนดในสัญญาเช่านั้น
               (๔) เจ้าของต้นผลไม้หรือพืชพันธุ์ไม้ซึ่งอยู่ในที่ดินนั้นในวันที่ออประศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินหรือที่ปลูกขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ
               (๕) เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รื้อได้ซึ่งอยู่ในที่ดินนั้น ในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน แต่เงินค่าทำขวัญในเรื่องนี้พึงกำหนดให้จำเพาะค่ารื้อขนและค่าที่จะต้องปลูกสร้างขึ้นใหม่

               มาตรา ๒๗  เมื่อต้องจัดซื้อสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้แต่ส่วนหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้จัดซื้อส่วนที่ยังเหลืออยู่ซึ่งใช้การไม่ได้นั้นด้วย

               มาตรา ๒๘  เมื่อได้จัดซื้อที่ดินรายใดไว้ไม่หมดทั้งแปลง ทำให้เหลือเนื้อที่เป็นเศษอยู่ไม่ถึงส่วนหนึ่งในสามของจำนวนที่ดินนั้น และเศษที่เหลือนั้นมีน้อยกว่าหนึ่งร้อยตารางเมตร ผู้เป็นเจ้าของอาจร้องขอให้จัดซื้อที่ดินนั้นหมดทั้งแปลงได้ แต่ที่ที่เหลือนั้นต้องไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน

               มาตรา ๒๙  เงินค่าทำขวัญที่จะใช้เป็นค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้นั้น พึงกำหนดให้ตามราคาที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ซื้อขายกันในตลาดในวันที่ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินและตามแต่พฤติการณ์พิเศษเป็นเรื่อง ๆ ไป
               เมื่อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไม่ได้ต้องจัดซื้อไว้แต่ส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นต้องลดน้อยถอยราคาลงไปแล้ว ก็ให้กำหนดค่าทำขวัญให้สำหรับส่วนที่เหลืออันต้องลดน้อยถอยราคาไปนั้นด้วย
               เมื่อผู้เป็นเจ้าของอาศัยอยู่ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันต้องจัดซื้อนั้นก็ดี หรือประกอบกิจการค้าขายโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ในที่นั้นก็ดี ให้กำหนดค่าทำขวัญให้สำหรับการเสียหายโดยตรง ซึ่งผู้นั้นได้เสียไปในการที่ต้องออกจากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย

               มาตรา ๓๐  เมื่อการสร้างทางรถไฟและเครื่องประกอบทางรถไฟกระทำให้ทรัพย์ซึ่งเหลือจากที่จัดซื้อนั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้น ท่านให้เอาจำนวนราคาทรัพย์ที่ได้ทวีราคาสูงขึ้นนี้หักทอนออกจากจำนวนเงินค่าทำขวัญ แต่ทั้งนี้อย่าให้ถือว่าราคาทรัพย์ที่ได้ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญ เพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์กลับต้องใช้เงินให้อีกเลย

               มาตรา ๓๑  ห้ามมิให้คิดค่าทำขวัญให้สำหรับราคาที่ได้ทวีสูงขึ้นในทรัพย์เหล่านี้ คือ
               (๑) สิ่งปลูกสร้าง หรือเพิ่มเติม หรือการเพาะปลูก หรือการกระทำให้ที่เจริญขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการเช่าถือซึ่งได้กระทำขึ้นภายหลังวันในประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินโดยมิได้รับอนุญาตพิเศษจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน (ยกเว้นแต่การทำนา หรือทำสวน ที่จัดทำอยู่ตามปกติ)
               (๒) สิ่งปลูกสร้าง หรือเพิ่มเติม หรือการเพาะปลูก หรือการกระทำให้ที่เจริญขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการเช่าถือซึ่งปรากฏว่าได้กระทำให้มีขึ้นก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินโดยกลอุบายฉ้อเพื่อประสงค์จะได้รับเงินค่าทำขวัญเท่านั้น

               มาตรา ๓๒  ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือน นับจำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดิน เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอจะโปรดเกล้าฯ ให้มีกรรมการจัดซื้อที่ดินสามคน ๆ หนึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมรถไฟแผ่นดิน อีกสองคน เป็นเจ้าพนักงานในกระทวงซึ่งปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานในกระทรวงเกษตราธิการ หรือเจ้าพนักงานในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตามแต่จะเห็นเป็นการสมควร
               หน้าที่ของกรรมการจัดซื้อที่ดินนั้น คือ ตรวจดูที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องจัดซื้อ และพยายามไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
               นามกรรมการจัดซื้อที่ดินและตำบลท้องที่ซึ่งกรรมการจะต้องออกไปกระทำการตามหน้าที่นั้น ให้ลงประกาศระบุในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๓๓  ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่นำข้อความในพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินออกโฆษณาให้ราษฎรในท้องที่ซึ่งให้จัดซื้อที่ดินนั้นทราบโดยปิดประกาศแจ้งความไว้ ณ ที่ว่าการ และโดยวิธีหนึ่งวิธีใดตามที่มีอำนาจจะโฆษณาการให้ทราบได้
               เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่นั้นพึงแจ้งความให้ทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะอ้างว่าตนมีสิทธิ หรือผลประโยชน์ในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นอันต้องจัดการซื้อนั้นแล้ว ให้ผู้นั้นร้องขอต่อกรรมการจัดซื้อที่ดินภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันที่ได้ประกาศแจ้งความให้ทราบนั้น

               มาตรา ๓๔  กรรมการจัดซื้อที่ดินมีหน้าที่ต้องตรวจพิจารณาคำร้องที่มีผู้ร้องขอไว้ด้วยวาจา หรือที่ยื่นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามข้อความในมาตราก่อนนี้
               ถ้ามีข้อโต้เถียงไม่ตกลงกันในเรื่องรรมสิทธิ์ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินพยายามที่จะไกล่เกลี่ยให้ปรองดองตกลงกันได้
               เมื่อได้พิจารณาคำร้องตลอดแล้ว ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินรวบรวมถ้อยคำสำนวนที่ร้องขอกรรมสิทธิ์ หรือร้องขออย่างอื่นซึ่งจะได้รับค่าทำขวัญนั้นเข้าไว้เป็นเรื่อง และแบ่งแยกให้รู้ว่าเป็นคำร้องที่ไม่มีข้อโต้เถียงประเภทหนึ่ง และเป็นคำร้องที่ยังมีข้อโต้เถียงอีกประเภทหนึ่ง

               มาตรา ๓๕  กรรมการจัดซื้อที่ดินพึงกระทำความตกลงกับผู้เป็นเจ้าของสิทธิที่ไม่มีข้อโต้เถียงดังกล่าวมานั้น และพยายามไกล่เกลี่ยให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญที่จะใช้ให้นั้น
               (๑) ถ้าตกลงกันได้ก็ให้จดข้อที่ตกลงสัญญานั้นลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้ลงนามกรรมการจัดซื้อที่ดินกับผู้เป็นเจ้าของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าพยานคนหนึ่ง เมื่อได้ใช้เงินค่าทำขวัญตามที่ตกลงกันนั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้ายึดถือปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้
               (๒) ถ้าไม่ตกลงกัน ให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งความแก่อีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเด็ดขาดครั้งที่สุดว่าจะให้ราคาแก่ฝ่ายนั้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถ้าฝ่ายนั้นไม่ทำคำรับภายในกำหนดเวลาสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้นแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคนสำหรับชี้ขาดในเรื่องราคา และถ้าอนุญาโตตุลาการนั้นมีความเห็นก้ำกึ่งไม่ตกลงกัน ก็ให้อนุญาโตตุลาการนั้นเลือกผู้เป็นประธานขึ้นคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้ชี้ขาดหรือจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานชี้ขาดก็ได้ ตามบทในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น

               มาตรา ๓๖  เมื่อบุคคลซึ่งต้องตามบทสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทำขวัญในฐานที่เป็นเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นหาตัวไม่พบ ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินกำหนดจำนวนเงินค่าทำขวัญให้ตามราคาที่เห็นสมควร และวางเงินเท่าจำนวนนั้นต่อศาล เมื่อได้วางเงินดังว่านี้แล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้
               ถ้าภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับตั้งแต่วันที่วางเงิน ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์มาอ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์นั้น และไม่ยอมรับเอาราคาตามที่กรรมการจัดซื้อที่ดินได้กำหนดไว้ ก็ให้กรมรถไฟแผ่นดินและผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์เลือกตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด ตามข้อความดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนนี้
               เมื่อพ้นกำหนดเวลาหกเดือนนั้นแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์จะร้องขออย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ นอกจากจะขอรับเงินค่าทำขวัญที่ได้วางไว้ต่อศาลดังกล่าวแล้วเป็นการใช้หนี้กันเสร็จ

               มาตรา ๓๗  ในเวลาก่อนที่ได้ใช้ค่าทำ ขวัญให้แก่ผู้ที่ควรได้รับหรือก่อนสิ้นกำหนดเวลาหกเดือนดังกล่าวมาในมาตราก่อน ถ้ามีข้อโต้เถียงกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์ที่ต้องจัดซื้อนั้น หรือด้วยเรื่องเงินค่าทำขวัญว่าจะจ่าย หรือจะแบ่งปันกันประการใดก็ดี ให้กรรมการจัดซื้อที่ดินหรือกรมรถไฟแผ่นดินสุดแล้วแต่เรื่อง พยายามไกล่เกลี่ยผู้ที่พิพาททุกฝ่ายให้ปรองดองตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ
               (๑) ถ้าตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ ให้นำเงินเท่าจำนวนที่ตกลงนั้นวางต่อศาลหลวง เมื่อได้วางเงินดังนี้แล้ว ให้กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเข้าปกครองทรัพย์นั้นได้
               (๒) ถ้าไม่ตกลงกันในจำนวนเงินค่าทำขวัญ ให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งแก่ผู้พิพาทนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเด็ดขาดครั้งที่สุดว่าจะให้ราคาเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถ้าผู้พิพาทไม่ยอมรับเอาราคานี้ภายในกำหนดเวลาสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินกับผู้พิพาทมีสิทธิที่จะเลือกตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละคน และถ้าอนุญาโตตุลาการทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ปรองดองตกลงกันได้ให้อนุญาโตตุลาการนั้นเลือกตั้งผู้เป็นประธานคนหนึ่งเป็นผู้ชี้ขาด หรืออนุญาโตตุลาการนั้นจะร้องขอต่อศาลให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานเพื่อชี้ขาดก็ได้ ตามบทแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น
               ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นภายหลังเวลาที่กรมรถไฟได้ใช้เงินค่าทำขวัญแก่ผู้ที่ควรได้รับนั้นแล้วก็ดี หรือภายหลังกำหนดเวลาหกเดือนดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนนี้ก็ดี ท่านว่าผู้พิพาทนั้นจะฟ้องร้องได้แต่เฉพาะบุคคลผู้ซึ่งได้รับเงินค่าทำขวัญนั้นไป หรือผู้ที่ต้องชื่อระบุให้เป็นผู้รับเงินค่าทำขวัญตามที่วางไว้ต่อศาลเท่านั้น

               มาตรา ๓๘  ถ้าว่าจำนวนเงินค่าทำขวัญจะต้องกำหนดโดยการตั้งอนุญาโตตุลาการ ในเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอ ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งอนุญาตให้กรมรถไฟแผ่นดินเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นนั้นได้ แต่ท่านว่าในการเช่นนี้ ให้กรมรถไฟแผ่นดินวางเงินตามจำนวนที่ศาลจะเห็นว่าพอเพียง เพื่อใช้ค่าทำขวัญนั้นก่อน

               มาตรา ๓๙  ถ้าว่าผู้ที่ควรจะได้เงินค่าทำขวัญไม่ยอมรับเงินค่าทำขวัญตามข้อตกลงสัญญาหรือตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้นำจำนวนเงินค่าทำขวัญนั้นมาวางต่อศาลครบถ้วนแล้ว ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินย่อมมีสิทธิที่จะเข้าปกครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้นได้

               มาตรา ๔๐  ถ้าว่าผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไม่ยอมให้กรมรถไฟแผ่นดินเข้าปกครองทรัพย์เหล่านั้นตามสิทธิที่ได้ให้ไว้โดยพระราชบัญญัตินี้ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้ร้องขอ ท่านว่าศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งบังคับขับไล่บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้นออกจากที่ได้ทันที แต่ข้อนี้ไม่ขัดขวางต่อการที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่อยู่ในที่นั้นจะฟ้องร้องว่ากล่าวต่อภายหลัง

ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยการก่อสร้าง การบำรุง และลักษณะจัดการงาน (มาตรา ๔๑ - ๔๙)

 

ส่วนที่ ๓
ว่าด้วยการก่อสร้าง การบำรุง และลักษณะจัดการงาน

-------------------------

               มาตรา ๔๑  กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จำเป็นตามสมควรแก่การในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ต้องอยู่ในข้อบังคับดังกล่าวไว้ต่อไปนี้
               กิจการที่ทำได้นั้นมีอาทิ คือ
               (๑) ทำทางผ่านเสมอระดับหรือลอดใต้หรือข้ามที่ดิน ถนนใหญ่น้อย ทางรถไฟ ทางรถราง แม่น้ำหรือลำคลอง และทำการก่อสร้างได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำขึ้นไว้แต่ชั่วคราวหรือว่าทำขึ้นไว้ตลอดกาลก็ดี
               (๒) แก้ไขหรือเปลี่ยนทางน้ำไหล ถนนหนทางใหญ่น้อย หรือพูนดินให้สูงกว่าระดับหรือขุดลดลงให้ต่ำกว่าระดับ ทั้งนี้ จะทำขึ้นแต่ชั่วคราวหรือทำขึ้นไว้ตลอดกาลก็ได้
               (๓) วางท่อ หรือทำทางระบายน้ำผ่าน หรือลอดใต้ที่ดินที่อยู่ข้างเคียงกับรถไฟ เพื่อไขน้ำเข้ามาหรือให้ออกไปจากรถไฟ
               (๔) ปลูกหรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด เครื่องจักร เครื่องบอกอาณัติสัญญาณและอื่น ๆ ตามแต่จะเป็นการสะดวก

               มาตรา ๔๒  เมื่อทางรถไฟจะต้องผ่านข้ามทางหลวง ทางราษฎร์ หรือทางน้ำที่มีอยู่แต่เดิม กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องจัดการให้มีทางชั่วคราวขึ้น เพื่อให้ไปมาได้ในระหว่างเวลาที่กำลังทำการก่อสร้างอยู่นั้นตามแต่ที่จะจัดทำขึ้นได้ และเมื่อได้ทำการก่อสร้างนั้นเสร็จแล้ว ต้องจัดการให้มีทางถาวรเพื่อให้ไปมาได้

               มาตรา ๔๓  เมื่อทางรถไฟผ่านทางหลวง ทางราษฎร์ หรือทางน้ำโดยมีสะพานข้ามแล้ว สะพานนั้นจะต้องสร้างให้สูงกว่าพื้นระดับทางหลวงหรือทางราษฎร์นั้นไม่น้อยกว่าสามเมตร หรือสูงกว่าระดับน้ำขึ้นสูงตามธรรมดาแห่งทางน้ำนั้นไม่น้อยกว่าสองเมตร

               มาตรา ๔๔  เพื่อประโยชน์ในการสร้างทางรถไฟนั้น กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงย้ายคู ร่องน้ำ ท่อน้ำ หรือสายไฟฟ้า และมีอำนาจรื้อถอนสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งกีดขวางต่อการก่อสร้างนั้นได้ แต่การเปลี่ยนแปลง หรือรื้อถอนนั้นต้องจัดทำไปในทางที่จะทำให้เกิดความเสียหายและทำความไม่สะดวกให้น้อยที่สุดตามแต่จะเป็นไปได้โดยพฤติการณ์ และทั้งต้องกระทำการนั้นอยู่ในความตรวจตราดูแลของบุคคลผู้ซึ่งจำหน่ายน้ำหรือไฟฟ้านั้น เมื่อได้แจ้งความให้บุคคลนั้น ๆ ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนลงมือทำการ ถ้ามีการเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ กรมรถไฟแผ่นดินต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายนั้น

               มาตรา ๔๕  ภายในเวลาที่จำเป็นเพื่อการก่อสร้าง หรือเพื่อสร้างทางรถไฟให้แล้วเสร็จก็ดี หรือภายในเวลาที่ต้องจัดซ่อมทางรถไฟอย่างขนานใหญ่ก็ดี กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะสั่งให้เข้าปกครองที่ดินซึ่งติดต่อกับทางรถไฟนั้นได้ชั่วคราว (ยกเว้นแต่สิ่งปลูกสร้าง สวนที่ประดับประดาไว้ชม ถนน สวนปลูกต้นผลไม้ หรือสวนเพาะปลูก) เพื่อขุดเอาศิลา ดินสอพอง ทราย กรวด ดิน หรือวัตถุสิ่งอื่นที่ใช้ในการก่อสร้างหรือการซ่อม หรือเพื่อทำความสะดวกในการก่อสร้าง หรือการซ่อมทางรถไฟนั้น
               เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้มีคำสั่งดังว่ามานี้แล้ว ให้ทำหนังสือจดบันทึกรายการละเอียดแห่งทรัพย์ที่จะเข้ายึดถือปกครองนั้น แล้วให้เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินกับเจ้าของทรัพย์นั้นลงนามไว้เป็นสำคัญทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นหลักฐานในการที่จะคำนวณค่าเสียหายอันพึงเกิดขึ้นเนื่องแต่การที่กรมรถไฟแผ่นดินได้เข้ายึดถือปกครองทรัพย์นั้น
               เมื่อได้เลิกถอนการปกครองที่ชั่วคราวดังกล่าวมานั้นแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินต้องใช้เงินค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของทรัพย์ เพื่อทดแทนการเสียหายอันเกิดขึ้แก่ทรัพย์นั้น
               ถ้าการที่เข้าปกครองนั้น เป็นเวลานานเกินกว่าปีหนึ่งขึ้นไปก็ดี หรือการที่เข้าปกครองนับได้เกินกว่าห้าครั้งก็ดี เจ้าของทรัพย์มีสิทธิที่จะขอให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดซื้อที่นั้นได้ แต่ฝ่ายกรมรถไฟแผ่นดินนั้นย่อมมีสิทธิเสมอที่จะจัดซื้อที่นั้นไว้ได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่จะเห็นสมควร

               มาตรา ๔๖  เมื่อทางรถไฟได้ตัดผ่านไปในที่ดินแห่งใดที่เป็นของเจ้าของเดียวกันและทำให้ที่ดินนั้นขาดออกจากกันเป็นสองแปลง ท่านว่าเจ้าของที่ดินนั้นมีสิทธิที่จะเดินข้ามทางรถไฟจากที่แปลงหนึ่งไปยังอีกแปลงหนึ่งได้ เพื่อความจำเป็นที่จะต้องใช้หรือที่ได้มุ่งหมายว่าจะต้องใช้ที่ดินนั้นในขณะที่ที่ได้ขาดออกจากกัน แต่การที่จะเดินข้ามดังกล่าวนี้ ต้องไม่เป็นการรบกวนหรือขัดขวางแก่การเดินรถไฟ และเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของได้แยกขายเป็นแปลง ๆ แล้ว สิทธิในทางเดินนั้นหาได้โอนไปยังผู้ซื้อด้วยไม่

               มาตรา ๔๗  กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องความรำคาญที่ได้มีขึ้นชั่วคราวแก่บุคคลผู้ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำการก่อสร้างหรือที่ทำการบำรุงทางรถไฟ แต่ในเวลาที่ทำการอันใดอันหนึ่งที่จำเป็นนั้น กรมรถไฟแผ่นดินต้องใช้ความระวังตามความสมควรแก่การณ์นั้น

               มาตรา ๔๘  กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์ที่อยู่ข้างเคียงในเรื่องความรำคาญ หรือการเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกิดแต่เสียงรถ ควันไฟ ประกายไฟ ความกระเทือน และเหตุอื่น ๆ ซึ่งเนื่องจากการที่รถไฟเดินไปมา เมื่อความรำคาญหรือการเสียหายนั้นย่อมต้องมีเป็นธรรมดาในการเดินรถไฟ และถึงแม้ว่าจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่เหตุแล้ว ก็ไม่สามารถจะป้องกันได้

               มาตรา ๔๙  กรมรถไฟแผ่นดินมีอำนาจที่จะเข้าทำสัญญากับผู้รับอนุญาตให้สร้างรถไฟ เพื่อให้รถของฝ่ายหนึ่งเดินบนทางรถไฟของอีกฝ่ายหนึ่งได้

ส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการบรรทุกส่ง (มาตรา ๕๐ - ๗๐)

 

ส่วนที่ ๔
ว่าด้วยการบรรทุกส่ง

-------------------------

               มาตรา ๕๐  ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบ ในการที่ผู้โดยสารต้องบาดเจ็บเสียหายก็ดี หรือว่าครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้า ซึ่งรับบรรทุกนั้นแตกหักสูญหายก็ดี หรือว่าการบรรทุกส่งนั้นช้าไปก็ดี ท่านให้บังคับตามพระราชกำหนดกฎหมายส่วนแพ่ง ว่าด้วยการบรรทุกส่ง เว้นไว้แต่จะต้องด้วยบทมาตราดังจะกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ จึงให้ใช้บทมาตรานั้น ๆ บังคับ

               มาตรา ๕๑  กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าซึ่งบรรทุกส่งไป หรือมอบฝากไว้กับรถไฟนั้น แตกหักบุบสลายหรือว่าสูญหายไป เว้นไว้แต่พนักงานรถไฟจะได้รับของนั้นลงบัญชีประกันและได้ออกใบรับให้ไปเป็นสำคัญ

               มาตรา ๕๒  เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนำห่อวัตถุหรือสินค้ามา เพื่อบรรทุกส่งไปโดยทางรถไฟ พนักงานรถไฟผู้มีหน้าที่มีสิทธิที่จะขอให้เจ้าของหรือผู้ส่งของนั้นจดรายการละเอียดบอกจำนวนของน้ำหนัก และชนิดห่อวัตถุ หรือสินค้าที่นำมาส่งนั้นเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ลงชื่อกำกับไว้ด้วย ถ้าแม้ว่าไม่ยอมทำตามดังว่ามานี้ พนักงานรถไฟอาจปฏิเสธไม่ยอมรับไว้บรรทุกก็ได้
               ผู้หนึ่งผู้ใดจงใจแสดงรายการสิ่งของอันเป็นความเท็จ ท่านว่ามีความผิดให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท

               มาตรา ๕๓  กรมรถไฟแผ่นดินต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหาย ในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าซึ่งได้รับจดลงบัญชีประกันนั้นเป็นอันตรายสูญหาย หรือว่าส่งเนิ่นช้าไป เว้นไว้แต่จะพิสูจน์ได้ว่าการที่สูญ หรือเสียหาย หรือเนิ่นช้านั้นเป็นด้วยพลาติศัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งวัตถุนั้นเอง หรือเป็นด้วยการชำรุดที่มัดห่อวัตถุนั้น ๆ

               มาตรา ๕๔  ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องการพาสัมภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าไปกับตัวก็ดี หรือว่ามอบส่งให้บรรทุกไปก็ดี หรือว่าฝากไว้ก็ดี แต่วัตถุเหล่านั้นเป็นของที่อันตรายหรือที่อุจาดลามกแล้ว บุคคลผู้นั้นต้องแจ้งความบอกสภาพแห่งวัตถุนั้นแก่นายสถานีเป็นลายลักษณ์อักษร นายสถานีมีอำนาจที่จะไม่ยอมรับฝากหรือรับส่งบรรทุกวัตถุนั้นก็ได้ตามแต่จะเห็นเป็นการสมควร
               ถ้าว่าไม่ได้แจ้งความให้ทราบดังว่ามานั้นก็ดี หรือว่าไม่ได้ขีดหมายบอกสภาพแห่งวัตถุนั้น ๆ ไว้นอกห่อให้เห็นโดยแจ้งชัดก็ดี ท่านว่าพนักงานรถไฟคนใดคนหนึ่งย่อมมีอำนาจที่จะงดส่งวัตถุนั้นเสียได้
               ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าห่อใดห่อหนึ่งมีของที่เป็นอันตรายหรือที่อุจาดลามก ท่านว่าพนักงานรถไฟคนใดคนหนึ่งมีอำนาจที่จะเปิดห่อของนั้นออกตรวจดู เพื่อให้รู้ว่ามีของสิ่งใดอยู่ในห่อนั้นได้
               บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่แจ้งความให้พนักงานรถไฟทราบ หรือไม่ยอมทำตามคำสั่งของพนักงานรถไฟ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทมาตรานี้ ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท และถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นแต่วัตถุนั้นไซร้ ผู้นั้นยังจำต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอีกโสดหนึ่งต่างหาก

               มาตรา ๕๕  ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าครุภาระ ห่อวัตถุหรือสินค้าอันได้จดลงบัญชีประกันบรรทุกส่งไป หรือฝากไว้เป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ ห่อหนึ่งเป็นเงินไม่เกิน ๑๐๐ บาท ถ้าว่าเหมาบรรทุกครึ่งคันรถไม่เกิน ๔๐๐ บาท และถ้าว่าเหมาบรรทุกทั้งคันรถไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท เว้นไว้แต่
               (๑) ผู้ส่งหรือผู้ฝากจะได้แจ้งจำนวนราคาและบอกสภาพแห่งของที่มีอยู่ในห่อหรือแห่งสินค้าที่ว่าเหมาบรรทุกครึ่งคันรถ หรือเต็มทั้งคันรถนั้น และ
               (๒) ผู้ส่งหรือผู้ฝากได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้น ตามอัตราค่าประกันให้แก่พนักงานรถไฟผู้มีหน้าที่ พนักงานผู้นั้นมีสิทธิที่จะสอบสวนตรวจตราเพื่อให้รู้แน่ว่าของหรือสินค้าที่ส่งไปนั้นตรงกันจริงกับคำที่ได้แจ้งไว้นั้นหรือไม่

               มาตรา ๕๖  ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ราคาสัตว์ที่บรรทุกส่งไปเป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ
               ค่าช้างเชือกหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
               ค่าม้าตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐๐ บาท
               ค่าลา ล่อ หรือปศุสัตว์ชนิดที่มีเขาตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐ บาท
               ค่าแพะ แกะ สุกร สุนัข หรือสัตว์ชนิดอื่นตัวหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๐ บาท
               เว้นไว้แต่ผู้ส่งจะได้แจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบในขณะที่นำมาส่งนั้นว่ามีราคาสูงกว่าอัตราที่วางไว้ข้างบนนี้ และทั้งได้เสียค่าประกันพิเศเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าประกันนั้นด้วย
               แต่ทั้งนี้ถ้าว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นอันตรายหรือสูญหายไปด้วยเหตุอื่น นอกจากที่เป็นความผิดของพนักงานรถไฟแล้ว ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบเลย

               มาตรา ๕๗  ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่ารถ ล้อเลื่อนที่บรรทุกส่งไปเป็นอันตรายสูญหายนั้น มีเขตจำกัดดังนี้ คือ
               ค่ารถจักรสำหรับลากหรือรถยนต์คันหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐๐ บาท
               ค่ารถ เกวียน หรือรถบรรทุกของคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๒๕๐ บาท
               ค่ารถจักรยานยนต์สองล้อหรือสามล้อคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๕๐ บาท
               ค่ารถ ล้อเลื่อนอย่างอื่นคันหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๐ บาท
               เว้นไว้แต่ผู้ส่งจะได้แจ้งความให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่นำมาส่งยังรถไฟนั้นว่ารถ ล้อเลื่อนนั้นมีราคาสูงกว่าอัตราที่ได้วางไว้ข้างบนนี้ และทั้งได้เสียค่าประกันพิเศษเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าประกันนั้นด้วย

               มาตรา ๕๘  เมื่อใดกรมรถไฟแผ่นดินจะต้องใช้ราคาของที่ได้สูญหรือเสียหายไปโดยที่ผู้ส่งของได้ระบุแจ้งราคาไว้แล้ว ท่านให้ถือว่า การที่ระบุแจ้งราคาไว้นั้นเป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานว่าของสิ่งนั้นคงมีราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นจริง แต่ทั้งนี้ห้ามมิให้คิดค่าเสียหายให้เกินกว่ากำหนดราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นเลย

               มาตรา ๕๙  ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายนั้น ท่านว่าสิ้นอายุหมดลงตามกำหนดวัดังนี้ คือ
               ถ้าเป็นครุภาระ หรือห่อวัตถุ เมื่อครบกำหนดสองวัน นับแต่วันรุ่งขึ้นจากวันที่ของได้มาถึงสถานีที่ได้จัดส่งไปนั้น
               ถ้าเป็นสินค้า เมื่อครบกำหนดสองวันนับแต่วันรุ่งขึ้นจากวันที่กรมรถไฟแผ่นดินจะได้แจ้งความให้ผู้ที่จะรับของนั้นทราบ
               ถ้าว่าไม่มีผู้ใดมารับครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ ท่านให้เก็บของเหล่านี้รักษาไว้ในคลังสินค้า แต่กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ของเป็นอันตราย หรือสูญหายไป เว้นไว้แต่จะเป็นเพราะความผิดของกรมรถไฟแผ่นดิน หรือเป็นเพราะความผิดของพนักงานในกรมนั้น

               มาตรา ๖๐  เมื่อผู้ที่จะรับของนั้นได้รับของที่บรรทุกนั้นไว้ โดยไม่มีข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่รับของนั้นแล้ว ท่านว่าจะเรียกร้องขอค่าเสียหายที่ของสูญหรือเสียไป หรือที่บรรทุกส่งเนิ่นช้าไปนั้นมิได้เลย

               มาตรา ๖๑  ข้อความที่เขียนไว้ในใบรับของ ใบส่งของ หรือใบสำคัญอย่างอื่นที่กรมรถไฟแผ่นดินทำให้แก่ผู้ส่งของ เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบของกรมรถไฟแผ่นดินนั้น ท่านว่าเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย เว้นไว้แต่ผู้ส่งของนั้นจะได้ตกลงยินยอมตามข้อความที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบนั้นโดยแจ้งชัด

               มาตรา ๖๒  กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะยึดของที่บรรทุกนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับใช้ค่าระวางบรรทุกและค่าที่ต้องใช้อย่างอื่นให้ครบถ้วน

               มาตรา ๖๓  ถ้าหาตัวผู้ที่จะรับของนั้นไม่พบ กรมรถไฟแผ่นดินต้องแจ้งความไปให้ผู้ส่งของนั้นทราบโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ เพื่อขอให้บอกมาว่าจะให้จัดส่งของนั้น ณ ที่ใด และขอให้จัดการใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องเสียอย่างอื่นภายในกำหนดเวลา ๑๕ วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น
               ถ้าผู้ส่งของละเลยไม่ทำตามคำแจ้งความนั้นไซร้ ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดได้

               มาตรา ๖๔  ถ้าว่าผู้ที่จะรับของไม่มารับของที่บรรทุกนั้นไป หรือไม่ใช้ค่าระวางบรรทุกและค่าที่ต้องเสียอย่างอื่นที่จำเป็นต้องใช้นั้น กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะแจ้งความไปยังผู้ที่จะรับของนั้นโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ขอให้ใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องใช้อย่างอื่น และให้มารับของนั้นไปภายในเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความนั้น
               ในเวลาเดียวกันนั้นให้กรมรถไฟแผ่นดินแจ้งความบอกไปยังผู้ส่งของโดยหนังสือส่งลงทะเบียนกรมไปรษณีย์ด้วย
               ถ้าผู้ที่จะรับหรือผู้ส่งของละเลยไม่ทำตามคำแจ้งความนั้นไซร้ ท่านว่ากรมรถไฟแผ่นดินย่อมมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดได้

               มาตรา ๖๕  ตามข้อความที่บังคับไว้ในสองมาตราข้างบนนี้ ถ้าของที่บรรทุกนั้นเป็นของที่เก็บไว้นานไม่ได้อาจเสียไปแล้ว กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะเอาของนั้นออกขายทอดตลาดโดยไม่ต้องแจ้งความให้ผู้หนึ่งผู้ใดทราบก่อนก็ได้
               ส่วนของที่มีชีวิตนั้น เมื่อได้แจ้งความบอกให้ทราบว่าของได้มาถึงแล้วล่วงพ้นไป ๗ วัน ให้เอาของออกขายทอดตลาดได้

               มาตรา ๖๖  เมื่อได้เอาของออกขายทอดตลาด หักค่าใช้จ่ายในการขายออกแล้วเหลือเงินเป็นจำนวนเท่าใด ให้กรมรถไฟแผ่นดินหักใช้ค่าระวางบรรทุก และค่าที่ต้องใช้อย่างอื่นอันเกี่ยวกับสัญญาบรรทุกส่งนั้น ถ้ามีเงินเหลืออยู่อีก จึงให้มอบให้แก่ผู้ที่สมควรจะได้รับนั้นไป

               มาตรา ๖๗  เงินค่าโดยสารหรือค่าระวางบรรทุกที่ได้ใช้ให้เป็นค่าโดยสารหรือค่าส่งครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสิค้านั้น ให้พึงสันนิษฐานว่ากรมรถไฟแผ่ดินได้รับไว้โดยมีข้อไขว่า ถ้ามีที่สำหรับให้โดยสารหรือบรรทุกได้ในขบวนรถนั้น
               ถ้าหากว่าในรถไฟไม่มีที่พอสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด หรือสำหรับบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าทั้งหมด ท่านว่าผู้โดยสารที่ได้ซื้อตั๋วไปทางไกลที่สุดมีสิทธิที่จะได้โดยสารไปก่อนผู้อื่น และถ้ามีผู้โดยสารซื้อตั๋วไปทางไกลเท่ากันหลายคน ผู้ที่ซื้อตั๋วได้ก่อนก็ควรได้ไปก่อนตามลำดับเลขที่ได้รับตั๋วก่อนและหลังนั้น ข้อบังคับนี้ให้ใช้ได้ตลอดไปถึงการรับบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุ และสินค้าด้วย
               แต่ทั้งนี้ท่านว่านายและพลทหารและข้าราชการพลเรือนที่โดยสารไปในหน้าที่ราชการของรัฐบาลนั้น ควรจะได้รับเลือกให้ไปได้ก่อนผู้อื่น

               มาตรา ๖๘  ผู้หนึ่งผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุก หรือค่ารับฝากครุภาระ ห่อวัตถุ หรือสินค้าที่อ้างว่าได้เสียเกินอัตรานั้นคืน เว้นไว้แต่จะได้ยื่นคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรขอเงินที่เกินคืนจากกรมรถไฟแผ่นดินภายในกำหนด ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้ออกตั๋วโดยสารหรือวันที่มอบส่งของนั้น ๆ

               มาตรา ๖๙  กรมรถไฟแผ่นดินมีสิทธิที่จะรับส่งจดหมาย หรือห่อวัตถุสำหรับกิจการของรถไฟ หรือจดหมายบัญชีของ หรือใบรับสำหรับลูกค้ารถไฟ

               มาตรา ๗๐  ใบเบิกทางซึ่งออกให้ผู้หนึ่งผู้ใดโดยสารรถไฟโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารตลอดกาลหรือชั่วเที่ยวหนึ่งเป็นพิเศษนั้น ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินหรือผู้แทนจะต้องลงชื่อกำกับไว้จึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นอย่าให้ถือว่าใบเบิกทางนั้นใช้ได้เลย


               มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔
               มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๓

ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน (มาตรา ๗๑ - ๙๔)

 

ส่วนที่ ๕
ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน

-------------------------

               มาตรา ๗๑  เมื่อเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน ให้ขุดคูหรือปลูกต้นไม้เป็นรั้ว หรือกั้นรั้ว หรือขึงลวดกั้นทั้งสองข้างทางรถไฟ

               มาตรา ๗๒  เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามเห็นสมควรแก่การ

               มาตรา ๗๓  เมื่อถนนที่ต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับต้องทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวีดก่อนที่รถจะผ่านข้ามถนนนั้น กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักไว้ให้เห็นแจ้งบนทางและถนนนั้น เพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลาอันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน

               มาตรา ๗๔  ภายในระยะสี่เมตรวัดจากศูนย์กลางทางรถไฟออกมา ห้ามมิให้ปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด เว้นไว้แต่จะเป็นการจำเป็นเพื่อการเดินรถ

               มาตรา ๗๕  ผู้เป็นเจ้าของต้นไม้รั้วหรือต้นไม้ชนิดอื่นที่อยู่ริมเขตทางรถไฟมีหน้าที่จำต้องตัดหรือรานกิ่งไม้หรือโค่นต้นไม้นั้นลงเป็นครั้งคราว ตามแต่นายช่างบำรุงทางในเขตนั้นจะสั่ง เพื่อมิให้กีดกั้นกำบังเครื่องอาณัติสัญญาณตามทาง หรือเพื่อมิให้เกิดอันตรายขัดขวางต่อการเดินรถ
               ถ้าผู้เป็นเจ้าของต้นไม้คนใดไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งของนายช่างบำรุงทางดังว่ามานี้ นายช่างบำรุงทางมีอำนาจที่จะจัดการให้ตัดรานกิ่งหรือโค่นต้นไม้นั้นเสีย แล้วคิดเอาเงินค่าใช้จ่ายในการนี้แก่เจ้าของนั้นก็ได้

               มาตรา ๗๖  ในขบวนรถโดยสารทุกขบวนที่ต้องเดินเกินกว่า ๒๐ กิโลเมตร โดยไม่หยุดนั้น กรมรถไฟแผ่นดินต้องจัดให้มีเครื่องอาณัติสัญญาณติดประจำไว้เพื่อใช้บอกเหตุได้ในระหว่างคนโดยสารกับพนักงานกำกับรถ เครื่องอาณัติสัญญาณนี้ต้องรักษาไว้ให้ใช้ได้ดีตลอดไปด้วย

               มาตรา ๗๗  ถ้าปรากฏว่าผู้โดยสารคนหนึ่งคนใดเป็นโรคติดต่อซึ่งอาจมีจำแนกไว้ในกฎข้อบังคับ ให้นายสถานีจัดแยกผู้นั้นกันไว้เสียห้องหนึ่งเป็นพิเศษเพื่อมิให้ปะปนกับผู้อื่น แล้วโทรเลขบอกไปยังสถานีที่ผู้นั้นจะลงและสถานีปลายทาง เพื่อกำชับห้ามมิให้ผู้โดยสารอื่นเข้าไปในห้องนั้นจนกว่าจะได้จัดชำระล้างเชื้อโรคให้หมดสิ้นเมื่อรถไปถึง

               มาตรา ๗๘  ผู้ใดกระทำผิดดังกล่าวไว้ในมาตรา ๗๙ จนถึงและรวมทั้งมาตรา ๘๙ ให้ลงโทษฐานลหุโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เว้นไว้แต่การกระทำเช่นนั้นประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แล้ว

               มาตรา ๗๙  ผู้ใดกระทำการโดยเจตนาขัดขวางพนักงานรถไฟในเวลาทำการตามหน้าที่ก็ดี หรือทำการขัดขวางผู้มีหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายในการสอบวัด ก่อสร้างหรือบำรุงทางรถไฟก็ดี หรือถอนหมุดหรือหลักที่ปักไว้ในดิน เพื่อกิจการดังว่านั้นก็ดี หรือลบเลือนทำลายเครื่องหมายใด ๆ ที่ทำไว้สำหรับกิจการนั้น ๆ ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๘๐  ผู้ใดมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมาย บังอาจขุดขนดิน ทราย ศิลา หญ้า ต้นไม้หรือสิ่งใด ๆ ไปจากมูลดิน คู สะพาน ทางระบายน้ำ กำแพงเขื่อน หรือทางถาวรของรถไฟหรือภายในบริเวณรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓

               มาตรา ๘๑  ผู้ใดรื้อถอน ทำลาย เคลื่อนเอาไปจากที่หรือทำให้เป็นอันตรายเสียหายแก่รั้วต้นไม้ รั้วกั้นเขต รั้วลวด เสาเครื่องหมายอาณัติสัญญาณ เครื่องจักร วัตถุอัดหมอน รางเหล็ก หมอนหรือสิ่งของชนิดใด ๆ ที่เก็บรักษาไว้ใช้ตามทางรถไฟนั้น ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๘๒  ผู้ใดมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายบังอาจเปลี่ยนทางน้ำ หรือรางน้ำด้วยเจตนา หรือทำทำนบกั้นคูหรือทางระบายน้ำใต้สะพาน หรือปล่อยขยะมูลฝอยสิ่งโสโครกจากที่ทำการเหมืองแร่ให้ไหลมากีดขวาง หรือทำการอย่างอื่นให้กีดขวางแก่ทางน้ำ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดเสียหายแก่ทางรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓

               มาตรา ๘๓  เมื่อเจ้าของที่ดินหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินคนใดประสงค์จะตัดโค่นต้นไม้ หรือแผ้วถางป่าที่ติดต่อกับทางรถไฟก็ดี หรือที่มีสายโทรเลข โทรศัพท์ขึงผ่านข้ามไปก็ดี ผู้นั้นต้องแจ้งความประสงค์นั้นให้นายช่างบำรุงทางประจำเขตนั้นทราบล่วงหน้าก่อน ๗ วัน และผู้นั้นจำต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรในเมื่อทำการนั้น ๆ ตามแต่นายช่างบำรุงทางจะสั่ง เพื่อรักษาทางรถไฟมิให้เป็นอันตราย
               ผู้ใดมิได้แจ้งความให้นายช่างบำรุงทางทราบล่วงหน้าก็ดี หรือมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของนายช่างบำรุงทางก็ดี โค่นต้นไม้ลงหรือถางป่าอันเป็นเหตุที่อาจเกิดอันตรายแก่รถไฟที่ผ่านไปมา หรืออาจทำให้เกิดเสียหายต่อสายโทรเลข โทรศัพท์ เครื่องอาณัติสัญญาณ หรือทาง ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓

               มาตรา ๘๔  ผู้ใดบังอาจเข้าไปในที่ดินรถไฟ นอกเขตที่ที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าออกได้ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑

               มาตรา ๘๕  ผู้ใดขับรถ หรือล้อเลื่อนอย่างอื่น หรือไล่ต้อนสัตว์ข้าม หรือไปตามทางรถไฟ เว้นไว้แต่ตามเวลาและที่ที่กำหนดให้ไว้ก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามคำสั่งอันสมควรของพนักงานรถไฟก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
               ผู้ใดมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงรักษาปศุสัตว์ ปล่อยให้สัตว์เทียวไปในที่ดินรถไฟ ให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่าตัวละ ๒ บาท
               พนักงานรถไฟมีอำนาจนำหรือไล่ต้อนสัตว์นั้นไปยังโรงพักตำรวจที่ใกล้ที่สุด แล้วมอบให้รักษาไว้จนกว่าจะได้รับเงินค่าปรับและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรักษานั้นได้

               มาตรา ๘๖  ผู้ใดขว้างปาท่อนไม้ ก้อนศิลาหรือสิ่งอื่น ๆ ไปที่ขบวนรถไฟก็ดี หรือผ่านข้ามไปก็ดี หรือขว้างปาจากรถไฟก็ดี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในรถจักร รถลำเลียง รถคนโดยสารหรือรถบรรทุก หรือต่อผู้ยืนอยู่หรือเดินไปมาตามทางรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๔

               มาตรา ๘๗  ผู้ใดทำให้รถ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือสิ่งใด ๆ อันเป็นทรัพย์สมบัติของรถไฟเสียหายหรือชำรุด ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑

               มาตรา ๘๘  พนักงานรถไฟคนใดเสพสุราจนมึนเมาในเวลาทำการตามหน้าที่บนรถไฟหรือทำกิจการอื่นของรถไฟก็ดี หรือละเลยไม่ทำการตามหน้าที่โดยความประมาทก็ดี หรือกระทำการนั้นด้วยอาการอันไม่สมควรก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
               ถ้ากิจการดังว่ามานี้ เมื่อละเลยเสียไม่กระทำ หรือกระทำโดยความประมาทอาจเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายแก่ผู้โดยสารหรือผู้ที่อยู่ในที่ดินรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๔
               ถ้าว่าเป็นด้วยความประมาทอย่างอุกฤษฐ์ จนเกิดอุบัติเหตุทำให้บุคคลตายหรือบาดเจ็บ ท่านว่ามันมีความผิดต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๕๒ หรือมาตรา ๒๕๙

               มาตรา ๘๙ ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินตั้งขึ้นไว้ในข้อต่อไปนี้ คือ
               (๑) ว่าด้วยการขึ้นรถหรือเข้าไปในสถานีต้องมีตั๋วหรือใบเบิกทางให้โดยสารได้เที่ยวใดหรือในห้องใดและชั้นใด
               (๒) ว่าด้วยการโอนตั๋วหรือใบเบิกทางให้ผู้อื่นโดยมิชอบ
               (๓) ว่าด้วยการส่งตั๋วหรือใบเบิกทางให้ตรวจหรือส่งมอบให้แก่พนักงานรถไฟ การเปลี่ยนแปลงขูดแก้ตั๋วหรือใบเบิกทางโดยเจตนา
               (๔) ว่าด้วยการพาอาวุธปืนหรือกระสุนดินดำไปในรถไฟ
               (๕) ว่าด้วยการทำความรำคาญหรือกระทำการลามกหรืออื่น ๆ
               (๖) ว่าด้วยการขึ้นรถเมื่อรถกำลังเดิน หรือขึ้นในที่ที่ไม่ใช่ทางขึ้น หรือเข้าไปอยู่ในที่ ๆ ต้องห้าม
               (๗) ว่าด้วยการห้ามมิให้สูบบุหรี่
               (๘) ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายบอกเหตุอันตรายในเวลาที่ไม่มีเหตุการณ์
               (๙) ว่าด้วยการนำสัมภาระ หรือสัตว์เข้าไปในรถโดยสารโดยที่พนักงานรถไฟไม่ยอมรับว่าเป็นหัตถะภาระ หรือเป็นของที่ผู้อื่นรังเกียจเพราะไม่สะอาด หรืออาจเป็นอันตรายหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อย ฯลฯ
               และกฎข้อบังคับอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นไว้ว่าด้วยความปราศภัย ความผาสุกและความเรียบร้อยของประชาชนในระหว่างเวลาเดินทางอยู่ในรถหรือในที่ดินรถไฟ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๙๐  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ก็ดี หรือกฎข้อบังคับที่ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชนและการเดินรถก็ดี หรือไม่ทำตามคำสั่งของพนักงานรถไฟผู้มีอำนาจที่จะออกคำสั่งได้ตามกฎหมายหรือตามกฎข้อบังคับนั้นก็ดี หรือกระทำการลามกหรือแสดงกิริยาชั่วร้ายอย่างใด ๆ ก็ดี ผู้นั้นอาจถูกขับไล่ออกจากรถไฟ หรือที่ดินรถไฟได้โดยมิต้องคิดค่าทำขวัญให้เลย

               มาตรา ๙๑  เมื่อผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษเพียงแต่ปรับเป็นพินัยสถานเดียว อาณาบาลรถไฟมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ทันที โดยยอมรับเบี้ยปรับตามอัตราอย่างสูงที่กฎหมายบัญญัติไว้ แล้วออกใบเสร็จให้เป็นสำคัญ ส่วนเงินพินัยที่เก็บได้นั้นให้กรมรถไฟแผ่นดินทำบัญชีส่งไปยังกระทรวงยุติธรรม

               มาตรา ๙๒  ห้ามมิให้จับกุมพนักงานซึ่งกำลังทำการของรถไฟอยู่ตามหน้าที่อันเกี่ยวกับการเดินรถโดยตรง (ซึ่งถ้าไม่มีพนักงานผู้นั้นกำกับการอยู่แล้วอาจเกิดภยันตรายแก่ประชาชน) เว้นไว้แต่จะได้แจ้งความให้หัวหน้าของพนักงานผู้นั้นทราบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงให้จับกุมผู้นั้นได้

               มาตรา ๙๓  เมื่อผู้ใดกระทำความผิดขึ้นในรถไฟเป็นเหตุให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตายหรือต้องบาดเจ็บสาหัส ให้อาณาบาลรถไฟแจ้งเหตุการณ์นั้นแก่พนักงานอัยการที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือกรมการอำเภอ หรือนายตำรวจภูธรโดยพลัน

               มาตรา ๙๔  ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้บุคคลบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตายก็ดี หรือเมื่อรถไฟโดนกันโดยรถขบวนหนึ่งเป็นรถคนโดยสาก็ดี หรือเมื่อรถคนโดยสารทั้งขบวหรือตอนใดตอนหนึ่งตกรางก็ดี ให้อาณาบาลรถไฟแจ้งความบอกไปให้ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินทราบ พร้อมกับรายงานการเสียหายและข้อที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้นโดยพลัน
               ถ้ามีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตายก็ดี หรือเมื่อมีเหตุสงสัยว่าจะมีคนร้ายทำให้รถไฟตกรางก็ดี ให้อาณาบาลรถไฟส่งคำแจ้งความอย่างเดียวกันนั้นไปยังอัยการในท้องที่ที่เกิดอุบัติเหตุนั้นให้ทราบด้วย

ภาคที่ ๒ ว่าด้วยรถไฟราษฎร์ (มาตรา ๙๕ - ๑๔๕)

ส่วนที่ ๖ ว่าด้วยรถไฟรับอนุญาต (มาตรา ๙๕ - ๑๓๙)

หมวดที่ ๑ ว่าด้วยการให้อนุญาต (มาตรา ๙๕ - ๑๐๔)

 

หมวดที่ ๑
ว่าด้วยการให้อนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๙๕  ห้ามมิให้สร้างรถไฟราษฎร์ขึ้นในพระราชอาณาจักร เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ
               พระบรมราชานุญาตนั้นจะพระราชทานให้แต่เฉพาะเพื่อสร้างทางรถไฟ แยกไปจากทางรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟหัตถกรรมก็ได้ การประกอบใจความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก็ดี หรือการที่จะปฏิบัติตามพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชกำหนดกฎหมายแห่งพระราชอาณาจักรนี้ทั้งสิ้น

               มาตรา ๙๖  เมื่อบุคคลหรือบริษัทใดมีความประสงค์จะขออนุญาตสร้างทางรถไฟ ให้ยื่นเรื่องราวแสดงความประสงค์นั้นต่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
               เรื่องราวนั้นให้เสนอต่อสภากรรมการรถไฟ เมื่อสภากรรมการเห็นสมควรจะเรียกร้องให้ยื่นรายละเอียดเพิ่มเติมอีกก็ได้ แล้วจะได้นำเรื่องราวนั้นยื่นต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนการที่จะให้อนุญาตหรือไม่นั้น สุดแล้วแต่จะเห็นเป็นการสมควร

               มาตรา ๙๗  ก่อนที่จะยื่นเรื่องราวขอรับอนุญาตนั้จะยื่นเรื่องราวชั้นต้นขึ้นมาตามระเบียบอย่างเดียวกัน เพื่อขออนุญาตตรวจรังวัดพื้นที่ที่จะสร้างทางรถไฟนั้นเสียชั้นหนึ่งก่อนก็ได้

               มาตรา ๙๘  ในเรื่องราวขออนุญาตนั้นต้องแสดงรายการละเอียดที่จำเป็นอันเกี่ยวกับการรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้น และทั้งต้องแสดงฐานะสินทรัพย์ของผู้ยื่นเรื่องราว กับให้ส่งแบบและงบประมาณการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ต้องการมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นด้วย

               มาตรา ๙๙  ในเวลาที่ยื่นเรื่องราวนั้น ผู้ยื่นเรื่องราวต้องลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์รายวันให้ชนทั้งหลายทราบว่าได้ยื่นเรื่องราวไว้ กับให้มอบแบบการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ดินโดยชัดเจน ทั้งบอกประเภทการงานและความสำคัญของการที่จะทำนั้นไว้ ณ ที่ว่าการฝ่ายปกครองในท้องที่ที่รถไฟจะผ่านไปนั้นด้วย
               ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้มอบหมายแบบการก่อสร้างและแผนที่ไว้ต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองดังกล่าวนั้นเป็นต้นไป ผู้มีส่วนได้และเสียจะขอตรวจดูหนังสือสำคัญเหล่านั้นหรือขอคัดสำเนาไป และจะทำเรื่องราวขัดข้องยื่นต่อสภากรรมการรถไฟก็ได้

               มาตรา ๑๐๐  สภากรรมการรถไฟต้องสืบสวนตรวจดูรายการก่อสร้างที่ส่งมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นได้ตามวิธีที่จะเห็นเป็นการสมควร ถ้ามีผู้ยื่นเรื่องราวขัดข้องต่อการนั้น ก็ให้สภากรรมการรถไฟตรวจพิเคราะห์ข้อขัดข้องนั้นด้วย

               มาตรา ๑๐๑  ในระหว่างเวลาก่อสร้างทางรถไฟก็ดี หรือเมื่อได้เปิดให้รถเดินแล้วก็ดี ถ้าผู้รับอนุญาตเห็นเป็นการจำเป็นต้องขยายทางรถไฟต่อออกไปอีก ให้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตเพิ่มเติมตามระเบียบเดิม
               ส่วนการที่จะโอนอำนาจสร้างรถไฟนั้น ก็ให้ขออนุญาตก่อนตามระเบียบอย่างเดียวกัน

               มาตรา ๑๐๒  ถ้าผู้รับอนุญาต
               (๑) เป็นคนล้มละลาย หรือ
               (๒) หยุดไม่เดินรถตลอดทั้งสายหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดเกินกว่า ๖ เดือน เว้นแต่เมื่อมีพลาติศัยเกิดขึ้น หรือ
               (๓) ไม่ปฏิบัติตามความข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือไม่ทำการที่จำเป็นเพื่อป้องกันภยันตรายแก่ประชาชน หรือ
               (๔) ละเลยไม่ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายอันเกี่ยวแก่รัฐประศาสโนบาย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่ประชาชน
               ให้เรียกใบอนุญาตคืน แล้วให้ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอถอนอนุญาตนั้นเสียได้

               มาตรา ๑๐๓  ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์จะเข้าปกครองยึดถือรถไฟสายใดก่อนสิ้นกำหนดอนุญาต รัฐบาลมีอำนาจที่จะเข้ายึดถือได้ในเวลาและตามข้อความดังกล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น ถ้าและในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตมิได้กล่าวความข้อนี้ไว้ รัฐบาลมีอำนาจเข้ายึดถือปกครองรถไฟได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังแต่วันที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตล่วงแล้ว ๒๐ ปี

               มาตรา ๑๐๔  ในเมื่อรัฐบาลเข้ายึดถือปกครองรถไฟก่อนสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อสิ้นกำหนดแล้วก็ดี ให้เข้ายึดถือปกครองบรรดาสิ่งปลูกสร้าง รถ เครื่องจักร พัสดุ และวัตถุอย่างอื่นด้วย
               ส่วนที่ดินนั้นให้คิดเงินค่าทำขวัญให้ไม่เกินกว่าราคาที่ผู้รับอนุญาตได้ซื้อไว้นั้น
               เมื่อถึงวันสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อได้ถอนอนุญาตเสียก็ดี ถ้ารัฐบาลไม่ได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้ายึดถือปกครองรถไฟนั้นให้ทราบแล้ว ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะขายที่ดิน สิ่งปลูสร้างหรือเครื่องใช้อย่างอื่นของรถไฟได้ตามแต่จะเห็นควร

หมวดที่ ๒ ว่าด้วยการกำกับตรวจตราของรัฐบาล (มาตรา ๑๐๕ - ๑๑๙)

 

หมวดที่ ๒
ว่าด้วยการกำกับตรวจตราของรัฐบาล

-------------------------

               มาตรา ๑๐๕  บรรดารถไฟที่ผู้รับอนุญาตได้สร้างหรือจัดการนั้น ให้อยู่ในความกำกับตรวจตราดูแลของกรมรถไฟแผ่นดินดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ และตามข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นด้วย

               มาตรา ๑๐๖  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๐๗  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
               (๑) ออกความเห็นในเมื่อมีผู้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตสร้างรถไฟ
               (๒) ตรวจดูข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนที่จะพระราชทาน กับออกความเห็นแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความนั้นที่จำเป็นตามแต่จะคิดเห็นว่าเป็นการสมควร
               (๓) กำกับตรวจตราดูแลการก่อสร้างรถไฟ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะได้กระทำผิดต่อข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่
               (๔) เมื่อผู้รับอนุญาตแจ้งมาให้ทราบว่าการก่อสร้างรถไฟสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก่อนเปิดทางให้รถเดิน ให้ออกความเห็นว่าในการที่จะเปิดทางให้รถเดินนั้นจะมีภยันตรายแก่ประชาชนหรือไม่
               (๕) เข้าตรวจทางและกำกับตรวจตราการเดินรถได้ทุกเมื่อ เพื่อจะได้ทราบว่าผู้รับอนุญาตได้ปฏิบัติการตามความในพระราชบัญญัตินี้ และข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่ และเพื่อจะได้ทราบว่าไม่มีเหตุการณ์อันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ประชาชน
               (๖) ตรวจสอบและออกความเห็นในเรื่องกฎข้อบังคับที่ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งขึ้นโดยได้อนุมัติจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
               (๗) ไต่สวนในเรื่องอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะมีส่วนรับผิดชอบในเหตุนั้นด้วยหรือไม่
               (๘) ตรวจกิจการอันจะต้องแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบว่าทางรถไฟ เครื่องจักร หรือรถทั้งหมด หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งจะต้องรุไม่ให้ใช้อีกต่อไป หรือจะต้องซ่อมแซมเสียให้ดีก่อน
               (๙) ตรวจแผนผังรายการก่อสร้างหรือแบบที่คิดจะสร้าง ซึ่งผู้รับอนุญาตยื่นขึ้นมาขออนุญาตทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือขยายทางรถไฟ หรือขยายเขตที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือรถ

               มาตรา ๑๐๘  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจแจ้งความไปให้ผู้รับอนุญาตทราบและบังคับให้ทำการดังต่อไปนี้ได้ภายในเวลาอันสมควร คือ
               (๑) ให้งดเว้นใช้การ หรือซ่อมแซมแก้ไขทางรถไฟ เครื่องจักรหรือรถทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เรียบร้อย
               (๒) ให้ใช้คนที่สามารถทำการเดินรถ และให้รักษารถไฟมิให้เป็นอันตราย
               (๓) ให้ทำรั้วกั้นตามทางรถไฟในที่ที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน
               (๔) ให้ปฏิบัติการตามความในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งกรมรถไฟแผ่นดินจำต้องกระทำเพื่อรักษาประโยชน์และความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในเรื่องจัดการรถไฟด้วย

               มาตรา ๑๐๙  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจออกกฎข้อบังคับที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อระงับหรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ เช่น กำหนดให้มีเครื่องห้ามล้อ และโคมไฟ ว่าด้วยสถานที่ตั้งสำนักงาน และโรงเรือนริมทางรถไฟ กำหนดให้รถเดินเร็วหรือช้า กำหนดจำนวนผู้โดยสารและอื่น ๆ
               กฎข้อบังคับนี้เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ลงนามและแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบแล้ว ให้ใช้บังคับผู้รับอนุญาตได้ทีเดียว

               มาตรา ๑๑๐  ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน พึงตั้งอาณาบาลรถไฟไปประจำทุกสถานีที่สำคัญ และให้ผู้รับอนุญาตจัดหาสำนักงานที่ทำการให้ตามสมควร

               มาตรา ๑๑๑  กรรมการรถไฟ หรืออาณาบาลรถไฟทุคนมีอำนาจดังต่อไปนี้เพื่อรักษาการให้เป็นไปตามหน้าที่ คือ
               (๑) เข้าตรวจตราทางรถไฟ ที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือของผู้รับอนุญาต
               (๒) เรียกผู้ทำการก่อสร้างหรือผู้จัดการรถไฟคนใดคนหนึ่งมาไต่ถาม
               (๓) สั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบรรทุกสมุดหนังสือ และเอกสารสำคัญซึ่งเห็นเป็นการจำเป็น

               มาตรา ๑๑๒  ผู้รับอนุญาตจำต้องออกใบเบิกทางให้แก่กรรมการรถไฟ อาณาบาลรถไฟและบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ตั้งให้ไปตรวจ เพื่อเข้าออกในที่ดินรถไฟและเพื่อไปบนรถจักรหรือรถโดยสารได้เป็นพิเศษโดยมิต้องเสียค่าโดยสาร

               มาตรา ๑๑๓  ผู้รับอนุญาตจำต้องทำบัญชีอันแท้จริงจดเงินรายรับประจำวันอันเป็นเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุกครุภาระ ค่าบรรทุกห่อวัตถุ หรือสินค้า และเก็บรักษาบัญชีนั้นไว้

               มาตรา ๑๑๔  ผู้รับอนุญาตจำต้องยื่นบัญชีทุกครึ่งปีต่อสภากรรมการรถไฟแสดงยอดรายรับและรายจ่ายเงินทุกประเภท พร้อมกับบัญชีงบดุลซึ่งผู้อำนวยการและผู้ตรวจสอบบัญชีได้ลงนามรับรองว่าถูกต้อง
               กรมรถไฟแผ่นดินพึงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือกว่านั้น แต่มิให้เกินกว่า ๓ คน เพื่อตรวจสอบบัญชีนั้น

               มาตรา ๑๑๕  ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน มีอำนาจร้องขอต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมให้ตั้งผู้ตรวจการคนหนึ่งหรือกว่านั้นไปตรวจสอดส่องในแผนกการเงินของผู้รับอนุญาต แล้วให้ทำรายงานเสนอ
               เมื่อได้ตั้งผู้ตรวจสอดส่องดังนี้แล้ว ผู้รับอนุญาตจำต้องปฏิบัติการตามข้อความที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัทว่าด้วยอำนาจตรวจสอดส่องการบริษัทนั้น

               มาตรา ๑๑๖  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบัญชีอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าระวางบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุและสินค้าที่คงใช้อยู่ กำหนดอัตรานี้ถ้าเปลี่ยนแปลงเมื่อใด ให้แจ้งความไปให้สภากรรมการรถไฟทราบทุกครั้ง

               มาตรา ๑๑๗  สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตย้ายหรือเปลี่ยนทางรถไฟ หรือกิจการที่เกี่ยวกับการเดินรถในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ทุกเมื่อ เมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน ในเรื่องเช่นนี้ ถ้าผู้รับอนุญาตได้กระทำการครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น ก็ให้คิดค่าทำขวัญให้แก่ผู้รับอนุญาตตามที่ได้เสียไปนั้น

               มาตรา ๑๑๘  เมื่อสภากรรมการรถไฟออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว สภากรรมการมีอำนาจ
               (๑) ห้ามการเดินรถไฟตามส่วนที่เห็นสมควรแก่การรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน
               (๒) สั่งให้คนงานหรือผู้แทนของกรมรถไฟแผ่นดินไปทำกิจการตามที่ต้องการให้ทำนั้น แล้วคิดเอาค่าใช้จ่ายแก่ผู้รับอนุญาต

               มาตรา ๑๑๙  ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของสภากรรมการรถไฟ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินเป็นโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล ให้ลงโทษปรับผู้รับอนุญาตเป็นพินัยไม่เกินกว่าวันละ ๑๐๐ บาท ทุก ๆ วัน ตามจำนวนวันที่ละเลยมิได้ปฏิบัติการตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายนั้น


               มาตรา ๑๐๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕

หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน การก่อสร้าง การบำรุง วิธีจัดการ และการบรรทุกส่ง (มาตรา ๑๒๐ - ๑๓๕)

 

หมวดที่ ๓
ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน การก่อสร้าง
การบำรุง วิธีจัดการ และการบรรทุกส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๒๐  ห้ามมิให้ลงมือทำการก่อสร้าง หรือทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่ได้รับหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต

               มาตรา ๑๒๑  เมื่อผู้รับอนุญาตได้รับหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจะจัดหาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟได้ แต่ให้พึงเข้าใจว่า
               (๑) ถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเป็นของเอกชน ต้องร้องขอมาทางกรมรถไฟแผ่นดินให้ช่วยจัดหาซื้อให้ตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น
               (๒) ถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเป็นของหลวงที่หวงห้ามไว้ให้ถือว่าผู้รับอนุญาตเป็นผู้เช่าที่หลวงนั้นตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาต โดยต้องเสียค่าเช่าตามอัตราที่วางไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น

               มาตรา ๑๒๒  เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินเป็นผู้จัดหาซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นแทนผู้รับอนุญาตดังว่ามานั้น ให้กรมรถไฟแผ่นดินใช้ข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้
               แต่ในเรื่องนี้
               (๑) ผู้รับอนุญาตต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ค่าทำขวัญ หรือเงินค่าผลประโยชน์ในการที่จัดหาซื้อทรัพย์นั้น ส่วนเงินที่จะต้องวางตามข้อความในพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับอนุญาตต้องเป็นผู้วางด้วยทั้งสิ้น
               (๒) ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะตั้งผู้แทนไปเป็นกรรมการจัดหาซื้อที่ดินคนหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าเป็นการสะดวกที่จะจัดการในเรื่องหาซื้อที่ดินสถานใด ก็ให้ทำรายงานเสนอต่อสภากรรมการรถไฟ
               (๓) กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จัดหาซื้อนั้น จะตกมาเป็นของผู้รับอนุญาตต่อเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามวิธีที่กฎหมายบังคับไว้ในการนี้ มิฉะนั้นอย่าให้ถือว่ากรรมสิทธิ์ได้เปลี่ยนมือกันเลย

               มาตรา ๑๒๓  เมื่อผู้รับอนุญาตได้ซื้อหรือเช่าที่ดินแห่งใดไว้แล้วก็ดี ท่านว่าผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งในแร่หรือโลหะธาตุต่าง ๆ หรือป่าไม้ซึ่งมีอยู่ในที่ดิน หรือภายใต้พื้นดินนั้น หรือในการจับสัตว์น้ำนั้นเลย

               มาตรา ๑๒๔  ถ้าในเวลาก่อสร้างรถไฟผู้รับอนุญาตมีความปรารถนาจะเปลี่ยนทางรถไฟ เปลี่ยนทางโค้ง เปลี่ยนระดับทาง หรือเปลี่ยนแปลงแถวทางอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผิดไปจากแบบเดิมที่ยื่นไว้ ผู้รับอนุญาตต้องยื่นแบบและรายการละเอียดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนั้นต่อสภากรรมการรถไฟก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะทำการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้

               มาตรา ๑๒๕  ในการก่อสร้างรถไฟ ผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนไปทำการก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแทนอุโมงค์ โค้งคูหา หรือทางที่ยกสูงพ้นพื้นระดับด้วยคูหาหรือเสาให้ผิดไปจากแบบ เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากสภากรรมการรถไฟก่อน

               มาตรา ๑๒๖  ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตเปิดรถไฟตลอดทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อรับส่งคนโดยสารหรือเพื่อรับบรรทุกสินค้า เว้นไว้แต่
               (๑) จะได้แจ้งความให้สภากรรมการรถไฟทราบล่วงหน้า ๑ เดือน และ
               (๒) การที่จะเดินรถนั้นผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้มีความเห็นชอบ และได้ให้อนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้รับอนุญาตแล้ว

               มาตรา ๑๒๗  เมื่อผู้รับอนุญาตมีความปรารถนาที่จะทำการซ่อมแซมขนานใหญ่ หรือจะทำการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือการช่างอย่างอื่นอันเป็นการสำคัญ ให้ยื่นรายงานการนั้น ๆ และส่งแบบกับงบประมาณไปยังสภากรรมการรถไฟเพื่อขออนุมัติก่อน

               มาตรา ๑๒๘  ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งกฎข้อบังคับหรืออัตราค่าระวางบรรทุกที่เห็นจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อความสะดวกในการเดินรถ แต่กฎข้อบังคับหรือกำหนดอัตราค่าระวางบรรทุกนั้นต้องเสนอต่อสภากรรมการรถไฟก่อน ต่อเมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ให้อนุมัติและลงนามเป็นหลักฐานแล้วจึงจะนับว่าใช้ได้

               มาตรา ๑๒๙  ถ้าอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขต้องการให้ผู้รับอนุญาตคนใดรับส่งถุงเมล์ ผู้รับอนุญาตนั้นต้องรับเป็นธุระจัดการให้ ส่วนค่ารับส่งนั้น สุดแล้วแต่สภากรรมการรถไฟจะสั่งอนุญาตและกำหนดอัตราให้

               มาตรา ๑๓๐  เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ร้องขอมา ผู้รับอนุญาตจำต้องเป็นธุระจัดการรับส่งทหารบก ทหารเรือ หรือตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย
               การรับส่งนั้นให้รับส่งบรรดาของใช้ พัสดุ อาวุธปืน กระสุนดินดำ และสัมภาระของเจ้าพนักงานนั้น ๆ ด้วย

               มาตรา ๑๓๑  เมื่อมีการฉุกเฉินเกิดขึ้นอันเกี่ยวกับความมั่นคงภายนอกหรือภายในแห่งพระราชอาณาจัร รัฐบาลมีอำนาจสั่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้เข้ายึดถือปกครองทางรถไฟทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งเครื่องประกอบทางรถไฟ รถและสรรพพัสดุของผู้รับอนุญาตได้ชั่วคราว ตามที่จะเห็นสมควร
               ผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รัฐบาลเข้ายึดถือปกครองนั้น มีสิทธิจะได้รับค่าทำขวัญตามที่จะตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกันตามที่อนุญาโตตุลาการจะกำหนดให้
               อนึ่ง รัฐบาลย่อมมีอำนาจที่จะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดการเดินรถอันเกี่ยวกับการทหารบกหรือทหารเรือก่อนเดินรถธรรมดา

               มาตรา ๑๓๒  ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตคนใดให้บุคคลภายนอกเช่าทางรถไฟตลอดทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือให้เช่าเครื่องประกอบทางรถไฟ โดยมิได้รับอนุญาตจากสภากรรมการรถไฟก่อน
               แต่การที่ผู้รับอนุญาตได้ทำความตกลงเดินรถติดต่อกับรถสายอื่นนั้น ไม่นับว่าเป็นการเช่าถือ

               มาตรา ๑๓๓  ผู้รับอนุญาตจำต้องจัดการให้ความสะดวกตามสมควรเพื่อการชุมทางระหว่างรถไฟผู้รับอนุญาตกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟสายอื่น เมื่อสภากรรมการรถไฟได้มีความเห็นชอบให้สร้างชุมทางนั้นขึ้นแล้ว

               มาตรา ๑๓๔  ในส่วนรถไฟราษฎร์นั้น ท่านบังคับไว้ว่า เมื่อได้เปิดเดินรถทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้างรถและพัสดุของรถไฟ แต่เจ้าหนี้นั้นมีสิทธิที่จะขอให้ตั้งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ได้

               มาตรา ๑๓๕  นอกจากข้อความที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ บทบัญญัติในส่วนที่ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยการก่อสร้าง การบำรุงและจัดการงาน และส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการบรรทุกส่งนั้น ให้พึงอนุโลมใช้ข้อบังคับแก่รถไฟผู้รับอนุญาตได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ

หมวดที่ ๔ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน (มาตรา ๑๓๖ - ๑๓๙)

 

หมวดที่ ๔
ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน

-------------------------

               มาตรา ๑๓๖  บทบัญญัติในส่วนที่ ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชนนั้น ให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่รถไฟผู้รับอนุญาตได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ

               มาตรา ๑๓๗  อาณาบาลรถไฟซึ่งผู้บัญชาการได้ตั้งขึ้นนั้นมีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป
               ในขณะที่อาณาบาลรถไฟไม่ได้อยู่ประจำการนั้น ให้นายสถานีและพนักงานกำกับรถไฟของผู้รับอนุญาตหรือผู้แทน เมื่อกระทำการตามหน้าที่นั้น มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับอาณาบาลรถไฟทุกประการ

               มาตรา ๑๓๘  นายหรือพลตำรวจพระนครบาล และนายหรือพลตำรวจภูธร เมื่อกระทำการตามหน้าที่มีอำนาจเข้าออกในที่ดินรถไฟและขึ้นบนรถได้ทุกเมื่อ เพื่อรักษาความเรียบร้อยแห่งประชาชน

               มาตรา ๑๓๙  เมื่อได้อนุญาตให้ผู้รับอนุญาตวางรางรถไฟไปบนทางหลวงแห่งใด ผู้รับอนุญาตต้องใช้สิทธินั้นด้วยความระมัดระวังเพื่อให้บุคคลหรือยวดยานต่าง ๆ ผ่านไปมาในทางหลวงนั้นได้โดยสะดวกและปราศจากภยันตราย กับจะต้องปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับว่าด้วยการไปมาในทางหลวงนั้นด้วย

ส่วนที่ ๗ ว่าด้วยรถไฟหัตถกรรม (มาตรา ๑๔๐ - ๑๔๕)

 

ส่วนที่ ๗
ว่าด้วยรถไฟหัตถกรรม

-------------------------

               มาตรา ๑๔๐  รถไฟหัตถกรรมนั้น คือ รถไฟที่ห้างหรือบริษัทซึ่งประกอบหัตถกรรมหรือพาณิชยกรรมได้สร้างขึ้นไว้เพื่อรับส่งคนงานและบรรทุกสิ่งของซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือสิ่งซึ่งประดิษฐ์ขึ้น กับสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับกิจการนั้น ๆ
               ตามปรกติการห้ามมิให้เรียกราคาค่าโดยสารหรือค่าระวางบรรทุกสินค้า แต่สภากรรมการรถไฟอาจอนุญาตให้ทำก็ได้ตามที่จะเห็นเป็นการสมควร โดยมีกำหนดเวลาไม่เกิน ๒ ปี และต่อ ๆ ไปอีกคราวละ ๒ ปี เพื่อให้รถไฟหัตถกรรมเก็บค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกสินค้าในอัตราตามแต่สภาจะอนุมัติและอนุญาตให้เก็บ การออกใบอนุญาตให้ทุกรายจำต้องเป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่ ๖ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน แต่ถ้าการที่อนุญาตให้นั้นจะส่งเสริมให้รถไฟหัตถกรรมทำการแข่งขันประชันกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟผู้รับอนุญาตที่มีอยู่แล้ว ท่านห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้ อนึ่งถ้าได้ออกใบอนุญาตให้แก่รถไฟหัตถกรรมบ้างแล้วก็ดี ก็ให้ใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุไปเองในทันทีที่รถไฟหัตถกรรมได้มากระทำการแข่งขันประชันกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟผู้รับอนุญาต ถึงแม้ว่าใบอนุญาตนั้นจะยังไม่ทันครบกำหนดบริบูรณ์ก็ดี และท่านบังคับไว้ด้วยว่าในใบอนุญาตเช่นนี้หมดทั้งมวลซึ่งได้ออกให้ไปแก่รถไฟหัตถกรรมจะต้องสิ้นอายุไปในคราวเดียวพร้อมกันกับการสิ้นกำหนดเวลาที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต นั้น

               มาตรา ๑๔๑  รถไฟหัตถกรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ
               (๑) รถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะแต่ภายในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทเท่านั้นอย่างหนึ่ง และ
               (๒) รถไฟหัตถกรรมที่เดินอยู่ทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นอีกอย่างหนึ่ง

               มาตรา ๑๔๒  ห้ามมิให้เปลี่ยนประเภทรถไฟหัตถกรรมมาเป็นรถไฟผู้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตก่อนและทั้งได้รับอนุญาตตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๔๓  รถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะแต่ในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้น จะสร้างขึ้นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ แต่ห้ามมิให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองนั้นออกใบอนุญาตให้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติของกรมรถไฟแผ่นดินก่อน
               ในการนี้ ให้ห้างหรือบริษัทนั้นยื่นแผนที่แสดงเขตแผนผังและงบประมาณสำหรับรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้นนั้นไว้ ณ ที่ว่าการของเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ พร้อมทั้งสำเนาอีกสำรับหนึ่ง เพื่อนำเสนอต่อสภากรรมการรถไฟด้วย
               ถ้าในเวลาใดเวลาหนึ่ง ห้างหรือบริษัทนั้นมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงทางให้ผิดไปจากที่วางไว้เดิม ให้แจ้งความประสงค์ที่จะเปลี่ยนนี้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ให้ทราบก่อน ต่อเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะจัดทำการนั้นต่อไปได้

               มาตรา ๑๔๔  บทบัญญัติในกฎหมายนี้ที่ว่าด้วยรถไฟผู้รับอนุญาตให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่รถไฟหัตถกรรมที่เดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นได้ ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
               แต่ว่ารถไฟหัตถกรรมที่เดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้น ถ้าหากใช้ลากเข็นด้วยแรงคนหรือแรงสัตว์และเดินบนทางชั่วคราวเพื่อกิจการชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสองปี และมิได้มีการบังคับซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้อันว่าด้วยรถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะภายในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นเป็นบทบังคับ คำร้องขออนุญาตสร้างและเดินรถไฟชนิดนี้ และคำร้องขออนุญาตใช้ที่หลวงชั่วคราวเพื่อประโยชน์แห่งการนั้น ท่านให้ยื่นต่อสมุหเทศาภิบาลเพื่อให้แสดงความเห็นแล้วส่งต่อไปยังสภากรรมการรถไฟ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตตามคำร้องโดยกำหนดให้เสียค่าเช่าในการใช้ที่หลวงชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลภายนอกและความปลอดภัยแห่งประชาชนตามแต่จะเห็นควร การให้อนุญาตนั้นท่านว่าจะให้ได้ต่อเมื่อสมุหเทศาภิบาลได้แสดงความเห็นว่าควรให้อนุญาตเท่านั้น
               ถ้าสภากรรมการรถไฟสั่งยกคำร้องเสียเพราะเหตุรถไฟนั้นมิได้อยู่ในความหมายของวรรคสองแห่งมาตรานี้ไซร้ ท่านว่าการที่สั่งยกคำร้องเสียนั้นไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องในอันที่จะดำเนินการตามความในวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๔๕  ถ้าห้างหรือบริษัทใดที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและใช้รถไฟหัตถกรรมบังอาจรับส่งคนโดยสารหรือรับบรรทุกสินค้าของผู้อื่น โดยคิดเอาค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกผิดต่อบทบัญญัตินี้ก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามความในหนังสืออนุญาตข้อใดข้อหนึ่งก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามความในหนังสืออนุญาตข้อใดข้อหนึ่งก็ดี ท่านว่าห้างหรือบริษัทนั้นมีความผิดต้องระวางโทษให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๑,๐๐๐ บาท ทุก ๆ คราวที่กระทำผิดไปนั้น


               มาตรา ๑๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา ๑๔๐ และ ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔
               มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ฉบับที่ ๒)

               มาตรา
๑๔๔ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ฉบับที่ ๒)
               มาตรา ๑๔๕
แก้ไขเพิ่มเติมโดยประการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา ๑๔๐ และ ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔

ภาคที่ ๓ ว่าด้วยทางหลวงและทางราษฎร์ (มาตรา ๑๔๖ - ๑๖๒)

 

ภาคที่ ๓
ว่าด้วยทางหลวงและทางราษฎร์

-------------------------

               มาตรา ๑๔๖  ทางหลวงนั้นท่านจัดแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
               (๑) ทางหลวงของแผ่นดิน ซึ่งกรมทางเป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้างและบำรุงรักษาในนามรัฐบาลประเภทหนึ่ง และ
               (๒) ทางหลวงของมณฑล ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลได้สร้างขึ้นและบำรุงรักษา โดยได้รับอนุมัติจากกรมทางอีกประเภทหนึ่ง
               นอกจากทางหลวงที่กล่าวแล้วนี้ ยังมีทางราษฎร์ที่พวกราษฎรในตำบลนั้นได้สร้างขึ้นและบำรุงรักษา
               กรมทางมีอำนาจที่จะรับเอาทางหลวงของมณฑลหรือทางราษฎร์มาขึ้นอยู่ในกรมทางและยกขึ้นเป็นทางหลวงของแผ่นดิน หรือจะลดชั้นทางหลวงของแผ่นดินลงเป็นทางหลวงของมณฑลหรือทางราษฎร์ก็ได้ตามที่จะเห็นสมควร

               มาตรา ๑๔๗  กรมทางมีอำนาจที่จะดำริการเสมอทุกปีว่า
               (๑) ควรสร้างทางหลวงของแผ่นดินสายใด หรือแต่ส่วนใดบ้าง
               (๒) ควรจัดบำรุงด้วยวิธีใด เพื่อให้ทางหลวงของแผ่นดินที่มีอยู่แล้วให้ดีอยู่คงที่

               มาตรา ๑๔๘  ทางหลวงของแผ่นดินนั้น ให้นายช่างและคนงานในกรมทางก่อสร้างและบำรุงรักษา

               มาตรา ๑๔๙  เมื่อได้ปรึกษาหารือกับกรมทางแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลมีอำนาจที่จะดำริการดังต่อไปนี้ว่า
               (๑) ควรสร้างทางหลวงของมณฑลสายใด หรือแต่ส่วนใดภายในเขตมณฑลนั้น
               (๒) ควรจัดบำรุงทางด้วยวิธีใดเพื่อให้ทางหลวงของมณฑลที่มีอยู่แล้วให้ดีอยู่คงที่

               มาตรา ๑๕๐  เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลได้ร้องขอมา กรมทางมีอำนาจที่จะตั้งนายช่างออกไปเพื่อแนะนำและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลตามแต่กรมทางจะเห็นควร

               มาตรา ๑๕๑  การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางราษฎร์นั้น ให้อยู่ในความกำกับตรวจตราของนายอำเภอ

               มาตรา ๑๕๒  เมื่อทางหลวงของแผ่นดินหรือทางหลวงของมณฑลสายใดผ่านไปในจังหวัด เมืองหรือหมู่บ้าน กรมทางจะเข้าจัดการบำรุงรักษาทางสายนั้นก็ได้ ถ้าดำริเห็นเป็นการสมควรเพื่อประโยชน์แก่ชนทั่วไป แต่ส่วนค่าบำรุงรักษานั้นอาจจะเรียกจากสุขาภิบาลแห่งท้องที่ ๆ ทางผ่านไปนั้นได้

               มาตรา ๑๕๓  บรรดาเรื่องราวที่เกี่ยวกับทางหลวงของแผ่นดินขนาดกว้างยาว รายละเอียดชนิดการก่อสร้าง และการบำรุงรักษากับเลขหมายประจำทางพร้อมด้วยแผนที่ทางหลวงทุกสายนั้น ให้เก็บรักษาไว้ที่กรมทาง
               ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับทางหลวงของมณฑลนั้น ให้เก็บรักษาไว้ ณ ศาลารัฐบาลมณฑล และให้ส่งสำเนาเรื่องทางหลวงของมณฑลและแผนที่เข้ามายังกรมทางปีละครั้ง

               มาตรา ๑๕๔  ห้ามมิให้ยกเอากำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินในเรื่องที่ดินซึ่งเป็นทางหลวง กับห้ามมิให้ยึดที่ดินนั้น

               มาตรา ๑๕๕  เมื่อเห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวทางเกวียนสายใดสายหนึ่งซึ่งอยู่ในประเภททางหลวงของแผ่นดินหรือทางหลวงของมณฑลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลจัดทำไป แต่ถ้าเป็นทางหลวงของแผ่นดินให้รายงานแจ้งเหตุการณ์ละเอียดเข้ามายังกรมทางโดยพลัน

               มาตรา ๑๕๖  ในการก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงทางหลวงสายใด ถ้าต้องการที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งไม่ใช่เป็นของแผ่นดิน ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจัดหาซื้อทรัพย์นั้นได้
               บทบัญญัติว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในภาค ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้พึงอนุโลมใช้บังคับได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ แต่ถ้าเป็นทางหลวงของมณฑล ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายมณฑลมีอำนาจตั้งผู้แทนคนหนึ่งเป็นกรรมการจัดหาซื้อที่ดินนั้นได้

               มาตรา ๑๕๗  บทบัญญัติว่าด้วยการก่อสร้างและการบำรุงดังกล่าวไว้ในภาค ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่ทางหลวงได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ

               มาตรา ๑๕๘  เจ้าหน้าที่ผู้รักษาทางหลวงมีอำนาจแจ้งความแก่เจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามริมทางหลวงนั้นว่า
               (๑) ห้ามมิให้ขุดหรือถมร่อง คู บ่อน้ำ สระน้ำ หรือหลุมภายในระยะ ๖ เมตรจากชานเขื่อนหรือขอบทางหลวง
               (๒) ให้ตัดรานกิ่งหรือตัดโค่นต้นไม้ รั้วต้นไม้ลงเป็นครั้งคราวตามแต่นายช่างบำรุงทางจะสั่ง เพื่อมิให้เป็นเครื่องกีดขวางต่อการไปมาหรือเป็นอันตรายต่อทางหลวง
               ถ้าเจ้าของที่ดินคนใดไม่ปฏิบัติการตามคำแจ้งความของเจ้าหน้าที่นั้นแล้ว ให้เจ้าหน้าที่นั้นมีอำนาจให้คนงานของตนจัดการทำเสียเองได้ตามที่เห็นว่าจำเป็น

               มาตรา ๑๕๙  กรมทางมีอำนาจส่งพนักงานไปตรวจทางหลวงของมณฑลและทางราษฎร์ แล้วทำรายงานเสนอว่าทางเหล่านั้นเป็นอยู่อย่างไรและการบำรุงรักษาทางนั้นเป็นสถานใด กับออกความเห็นว่าควรจะเปลี่ยนทางนั้นเป็นประเภทใดได้

               มาตรา ๑๖๐  กรมทางมีอำนาจออกกฎข้อบังคับตามที่เห็นว่าจำเป็นในข้อต่อไปนี้ คือ
               (๑) ว่าด้วยลำดับชั้นทางหลวงควรจะแบ่งออกเป็นถนน ทางเกวียน ทางต่าง ทางเดิน ฯลฯ ตามแต่สภาพแห่งการค้าขาย หรือการไปมาในทางนั้น ๆ
               (๒) ว่าด้วยพันธะของเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่อยู่ริมทางหลวงนั้นที่จะไม่ขุดถมที่หรือต้องตัดโค่นต้นไม้ที่อยู่ริมทาง
               (๓) ว่าด้วยระเบียบการที่ประชาชนพึงใช้ทางหลวงกับข้อบังคับสำหรับทางและการไปมา เพื่อรักษาทางนั้นไว้ให้ดีอยู่คงที่ และเพื่อมิให้มีภยันตรายต่อประชาชนในการไปมา
               (๔) ว่าด้วยวิธีปิดประกาศแจ้งความ เครื่องหมายบอกทาง และหลักหมายระยะทาง

               มาตรา ๑๖๑  ผู้ใดกระทำความผิดดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ลงโทษฐานลหุโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เว้นไว้แต่การกระทำเช่นนั้นประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้แล้ว
               (๑) ผู้ใดกระทำการโดยเจตนาขัดขวางต่อพนักงานในเวลาที่ทำการตามหน้าที่ก็ดี หรือกระทำการขัดขวางผู้มีหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายในการรังวัด ก่อสร้างหรือบำรุงทางหลวงก็ดี หรือถอนหมุดหลักที่ปักไว้ในดิน หรือลบเลือนทำลายเครื่องหมายใด ๆ ที่ทำไว้สำหรับกิจการนั้น ๆ ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
               (๒) ผู้ใดมิได้รับอนุญาตอันชอบด้วยกฎหมายบังอาจขุดขนดิน ทราย ศิลา หญ้า ต้นไม้ หรือวัตถุสิ่งอื่นไปจากมูลดิน คู สะพาน เขื่อนสะพาน ทางระบายน้ำ หรือกำแพงเขื่อน หรือทำความเสียหายแก่ทางหลวงอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓
               (๓) ผู้ใดมิได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย เปลี่ยนทางน้ำหรือรางน้ำด้วยความเจตนา หรือทำทำนบกั้นคูหรือทางระบายน้ำใต้สะพาน หรือกั้นทางน้ำโดยวิธีอย่างใด ๆ อันเป็นเหตุที่อาจให้เกิดเสียหายแก่ทางหลวงได้ ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๓
               (๔) ผู้ใดลากไถ คราด หรือเครื่องมืออย่างอื่นไปตามทางหลวงก็ดี หรือผ่านข้ามไปอันเป็นเหตุที่อาจทำให้ถนนเป็นรอยหรือขุดเป็นหลุมเป็นบ่อโดยมิได้ใช้ความระมัดระวังตามที่กรมทางได้กำหนดไว้ก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๑
               (๕) ผู้ใดรื้อถอนหลัก เสาหรือเครื่องหมายบอกทาง เครื่องหมายชี้หนทางและบอกระยะทางก็ดี หรือทำลายหรือทำให้เสียหายก็ดี ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒
               (๖) ผู้ใดไม่ปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับของกรมทางว่าด้วยพันธะของเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่อยู่ริมทางหลวงหรือระเบียบว่าด้วยการใช้ทางหลวง ท่านว่ามันมีความผิดฐานลหุโทษ ต้องระวางโทษชั้น ๒

               มาตรา ๑๖๒  เมื่อผู้ใดกระทำความผิด ซึ่งมีโทษเพียงแต่ปรับเป็นพินัยสถานเดียว ท่านว่าพนักงานที่กรมทางได้ตั้งแต่งขึ้นเพื่อฟ้องร้องคดีนั้นมีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ทันทีโดยยอมรับเบี้ยปรับตามอัตราอย่างสูงที่กฎหมายบัญญัติไว้ แล้วออกใบเสร็จให้เป็นสำคัญ ส่วนเงินพินัยที่เก็บได้นั้นให้กรมทางทำบัญชีส่งไปยังกระทรวงยุติธรรมฯ

               ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้