พระราชบัญญัติ
การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๘
-------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“การรับขนทางอากาศ” หมายความว่า การรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน
“การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา”๒ หมายความว่า การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศตามมาตรา ๔ วรรคสอง ซึ่งถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของรัฐภาคี”
“การรับขนทางอากาศภายในประเทศ”๓ หมายความว่า การรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน ซึ่งคู่สัญญาตกลงให้ถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศเดียวกัน และไม่มีถิ่นหยุดพักตามที่ตกลงกันภายนอกประเทศ
“คนโดยสาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งผู้ขนส่งยอมรับให้เดินทางไปกับอากาศยานที่มิใช่เจ้าหน้าที่ประจำอากาศยาน
“สัมภาระ” หมายความว่า สัมภาระลงทะเบียนและสัมภาระไม่ลงทะเบียน
“สัมภาระลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งได้ออกป้ายกำกับสัมภาระ
“สัมภาระไม่ลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารนอกจากสัมภาระลงทะเบียน
“ของ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ตราส่งส่งมอบให้อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งเพื่อทำการรับขนทางอากาศ
“อากาศยาน” หมายความว่า อากาศยานตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ
“ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติไม่ว่าจะเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริง และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งรับขนคนโดยสาร สัมภาระ หรือของทางอากาศโดยอากาศยาน
“ผู้ขนส่งตามสัญญา” หมายความว่า ผู้ขนส่งซึ่งเป็นผู้ทำสัญญารับขนทางอากาศกับคนโดยสารผู้ตราส่ง หรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของคนโดยสารหรือผู้ตราส่ง
“ผู้ขนส่งตามความเป็นจริง” หมายความว่า ผู้ขนส่งซึ่งดำเนินการรับขนทางอากาศ ตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางโดยอาศัยอำนาจของผู้ขนส่งตามสัญญา
“ผู้ตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนส่งของตามสัญญารับขนทางอากาศ
“ผู้รับตราส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีชื่อระบุให้เป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งทางอากาศใบรับของ หรือในบันทึกซึ่งปรากฏข้อมูลโดยวิธีอื่นในกรณีที่ไม่มีการออกใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ แล้วแต่กรณี
“ลูกจ้าง” หมายความว่า บุคคลซึ่งทำงานให้แก่ผู้ขนส่ง ไม่ว่าจะมีการรับสินจ้างหรือไม่ก็ตาม
“หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
“อนุสัญญา”๔ หมายความว่า อนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ซึ่งทำขึ้น ณ เมืองมอนตริออล เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
“รัฐภาคี”๕ หมายความว่า รัฐภาคีของอนุสัญญา”
มาตรา ๔๖ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศเพื่อสินจ้างรางวัล รวมถึงการรับขนทางอากาศแบบให้เปล่าที่ดำเนินการโดยบุคคลซึ่งประกอบการรับขนทางอากาศเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติด้วย ไม่ว่าการรับขนนั้นจะเป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศหรือการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา
การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การรับขนทางอากาศซึ่งตามความตกลงระหว่างคู่สัญญาตกลงให้ถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของสองประเทศ หรือตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศเดียวแต่มีถิ่นหยุดพักที่ตกลงกันไว้ภายในอาณาเขตของอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการหยุดพักในการรับขนหรือมีการถ่ายลำหรือไม่ก็ตาม
การรับขนที่ดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต่อเนื่องกัน ให้ถือว่าเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยก ถ้าการรับขนนั้นคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นการดำเนินการเดียว ไม่ว่าจะได้ตกลงกันในรูปของสัญญาฉบับเดียวหรือสัญญาเป็นชุด และย่อมไม่สูญเสียลักษณะของการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศเพียงเพราะจะต้องดำเนินการทั้งหมดภายในอาณาเขตของประเทศเดียวกันตามสัญญาฉบับเดียวหรือสัญญาเป็นชุด
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในหมวด ๔ ด้วย
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การรับขนที่ดำเนินการโดยรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ถ้าการรับขนนั้นเป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา
มาตรา ๕๗ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) การรับขนไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิดเป็นการเฉพาะต่อหน่วยงานการไปรษณีย์ตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งและหน่วยงานการไปรษณีย์
(๒) การรับขนทางอากาศที่กระทำและดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐตามภาระหน้าที่ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า
(๓) การรับขนทางอากาศในราชการทหาร โดยอากาศยานที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ หรืออากาศยานที่เช่ามาเพื่อใช้ในราชการทหาร ซึ่งระวางทั้งหมดของอากาศยานนั้นได้สงวนไว้โดยหรือในนามของราชการทหารดังกล่าว
หากกรณีตาม (๒) และ (๓) เป็นการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา พระราชบัญญัตินี้จะไม่ใช้บังคับต่อเมื่อรัฐบาลได้ประกาศโดยทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังผู้เก็บรักษาอนุสัญญาตามที่กำหนดในอนุสัญญาแล้ว
มาตรา ๖ ผู้ขนส่งที่ดำเนินการรับขนทางอากาศภายใน เข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องจัดให้มีการประกันสำหรับความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ผู้ขนส่งแสดงหลักฐานการประกัน๘
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ดำเนินการรับขนทางอากาศสั่งให้ผู้ขนส่งระงับการดำเนินการรับขนทางอากาศภายใน เข้ามาใน หรือออกไปนอกราชอาณาจักร จนกว่าผู้ขนส่งนั้นจะได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
มาตรา ๗ เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๗/๑๙ บทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ ที่เกี่ยวกับเอกสารการรับขน ไม่ใช้บังคับแก่การรับขนที่กระทำในสถานการณ์พิเศษนอกขอบข่ายปกติของธุรกิจของผู้ขนส่งรายนั้น
มาตรา ๗/๒๑๐ ผู้ขนส่งอาจกำหนดให้สัญญารับขนมีเกณฑ์จำกัดความรับผิดสูงกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่มีเกณฑ์จำกัดความรับผิดก็ได้
มาตรา ๗/๓๑๑ ในการรับขนทางอากาศ ผู้ขนส่งอาจปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญารับขนใด ๆ หรือสละข้อต่อสู้ใด ๆ หรือจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใดซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ก็ได้
มาตรา ๗/๔๑๒ ข้อกำหนดใด ๆ ที่มีอยู่ในสัญญารับขนและความตกลงพิเศษทั้งปวงซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนความเสียหายเกิดขึ้น โดยคู่สัญญามุ่งหมายที่จะไม่ใช้กฎเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับหรือการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเขตอำนาจศาล ย่อมเป็นโมฆะ
มาตรา ๗/๕๑๓ วันตามพระราชบัญญัตินี้หมายถึงวันติดต่อกันตามปฏิทิน
มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๑๒/๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
๒ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "การรับขนทางอากาศภายในประเทศ" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "อนุสัญญา" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๓ นิยามคำว่า "รัฐภาคี" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๖ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๙ มาตรา ๗/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๐ มาตรา ๗/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๑ มาตรา ๗/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๒ มาตรา ๗/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๓ มาตรา ๗/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๑
การรับขนคนโดยสารและสัมภาระ
-------------------------
มาตรา ๙ ในการรับขนคนโดยสาร ให้มีการส่งมอบเอกสารการรับขนซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อความแสดงถึงถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทาง
(๒) ข้อความแสดงถึงถิ่นหยุดพักที่ตกลงกันไว้อย่างน้อยหนึ่งแห่ง ในกรณีที่มีถิ่นต้นทางและถิ่นปลายทางอยู่ในอาณาเขตของประเทศเดียวกัน แต่มีถิ่นหยุดพักตั้งอยู่ในอาณาเขตของอีกประเทศหนึ่ง
วิธีอื่นซึ่งมีข้อมูลตามรายการในวรรคหนึ่งอาจใช้แทนการส่งมอบเอกสารการรับขนได้ ถ้ามีการใช้วิธีอื่น ให้ผู้ขนส่งเสนอที่จะส่งมอบเอกสารซึ่งแสดงข้อมูลที่มีอยู่นั้นให้แก่คนโดยสาร
ให้ผู้ขนส่งส่งมอบป้ายกำกับสัมภาระสำหรับสัมภาระลงทะเบียนแต่ละชิ้นให้แก่คนโดยสาร
ให้มีการแสดงข้อความแจ้งให้คนโดยสารทราบว่าอาจมีการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ในกรณีคนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ กรณีสัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย และกรณีล่าช้าในการรับขน
การไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญารับขนทางอากาศและสัญญานั้ยังอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๐ ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย โดยมีเงื่อนไขว่าอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดความตายหรือบาดเจ็บเกิดขึ้นในอากาศยานหรือในระหว่างการดำเนินการให้คนโดยสารขึ้นหรือลงจากอากาศยาน
มาตรา ๑๑ ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่สัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย โดยมีเงื่อนไขว่าเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายเกิดขึ้นในอากาศยาน หรือในช่วงเวลาที่สัมภาระลงทะเบียนอยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของผู้ขนส่ง เว้นแต่ความเสียหายที่เป็นผลมาจากความชำรุดบกพร่อง คุณภาพ หรือการเสื่อมสภาพแห่งสัมภาระลงทะเบียนนั้นเอง
ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สัมภาระไม่ลงทะเบียน รวมถึงสิ่งของส่วนตัวที่คนโดยสารนำติดตัวไปในอากาศยาน หากความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากความผิดของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง
ถ้าผู้ขนส่งยอมรับการสูญหายของสัมภาระลงทะเบียน หรือถ้าสัมภาระลงทะเบียนยังมาไม่ถึงเมื่อพ้นกำหนดยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่สัมภาระลงทะเบียนนั้นควรจะมาถึง คนโดยสารชอบที่จะบังคับเอาแก่ผู้ขนส่งซึ่งสิทธิทั้งหลายอันเกิดแต่สัญญารับขนทางอากาศนั้นได้
มาตรา ๑๒ ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีล่าช้าในการรับขนทางอากาศซึ่งคนโดยสารหรือสัมภาระ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งได้ดำเนินมาตรการทั้งปวงที่ควรต้องกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น หรือเป็นการพ้นวิสัยที่ผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งจะดำเนินมาตรการทั้งปวงที่ควรต้องกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายนั้น
มาตรา ๑๓ ถ้าผู้ขนส่งพิสูจน์ได้ว่าผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือบุคคลซึ่งผู้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้รับสิทธิมาเป็นผู้ก่อให้เกิดหรือมีส่วนในความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อหรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบ ผู้ขนส่งย่อมพ้นจากความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเพียงเท่าที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบ
ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่คนโดยสารเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุแห่งการตายหรือการบาดเจ็บของคนโดยสาร ผู้ขนส่งย่อมพ้นจากความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วน หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือมีส่วนจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบของคนโดยสาร
ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่บทบัญญัติทั้งปวงว่าด้วยความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๔ ในกรณีที่ค่าเสียหายตามมาตรา ๑๐ มีมูลค่าไม่เกินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน ผู้ขนส่งจะบอกปัดหรือจำกัดความรับผิดของตนไม่ได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ตามมาตรา ๑๓
ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายตามมาตรา ๑๐ ในมูลค่าส่วนที่เกินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสามพันหนึ่งร้อยหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน หากพิสูจน์ได้ว่า
(๑) ความเสียหายนั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง หรือ
(๒) ความเสียหายนั้นโดยแท้แล้วเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยมิชอบของบุคคลภายนอก
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากกรณีล่าช้าในการรับขนคนโดยสารตามมาตรา ๑๒ ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงสี่พันหกร้อยเก้าสิบสี่หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน
มาตรา ๑๖ ในการรับขนคนโดยสารที่มีสัมภาระ ความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีที่สัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือในกรณีที่สัมภาระล่าช้า ให้จำกัดไว้เพียงหนึ่งพันหนึ่งร้อยสามสิบเอ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน เว้นแต่ในขณะที่ส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนให้แก่ผู้ขนส่ง คนโดยสารได้บอกกล่าวไว้เป็นพิเศษถึงส่วนได้เสียที่จะได้รับในการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้น ณ ถิ่นปลายทางและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระแล้ว
ในกรณีที่คนโดยสารได้บอกกล่าวและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระตามวรรคหนึ่งแล้วผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดชำระเงินจำนวนไม่เกินที่บอกกล่าว เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าจำนวนเงินที่บอกกล่าวไว้นั้นสูงกว่าส่วนได้เสียที่แท้จริงที่คนโดยสารจะได้รับเมื่อมีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียน ณ ถิ่นปลายทาง
มาตรา ๑๗ บทบัญญัติมาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ มิให้ใช้บังคับ หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง โดยจงใจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากเป็นกรณีการกระทำหรือละเว้นการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง ต้องพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน
มาตรา ๑๘ เกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ ไม่กระทบถึงการพิพากษาของศาลที่จะให้มีการชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับในกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้แก่โจทก์ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ขนส่งได้เสนอที่จะชำระให้แก่โจทก์เป็นหนังสือภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือก่อนวันยื่นฟ้องคดีถ้าได้ฟ้องคดีก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว โดยเมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๙ ข้อกำหนดใด ๆ ในการรับขนคนโดยสารและสัมภาระที่มุ่งจะปลดเปลื้องผู้ขนส่งให้หลุดพ้นจากความรับผิด หรือที่มุ่งกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดให้ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ แต่ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะและสัญญานั้นยังคงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่อากาศยานเกิดอุบัติเหตุอันเป็นผลให้คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ ให้ผู้ขนส่งจ่ายเงินล่วงหน้าแก่ผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อใช้ตามความจำเป็นเฉพาะหน้าของบุคคลนั้นโดยไม่ชักช้า
การจ่ายเงินล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ไม่ถือเป็นการยอมรับความรับผิดของผู้ขนส่งและอาจนำมาหักออกจากจำนวนที่ผู้ขนส่งต้องจ่ายเป็นค่าเสียหายในภายหลังได้
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่มีการฟ้องลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งในมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการรับขนคนโดยสารและสัมภาระ ถ้าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นมีสิทธิที่จะใช้เงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดซึ่งผู้ขนส่งมีสิทธิอ้างได้ตามพระราชบัญญัตินี้
ยอดรวมของจำนวนที่จะได้รับจากผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งต้องไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับ หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง โดยจงใจก่อให้เกิดความเสียหายหรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้น
มาตรา ๒๒๑ การที่ผู้มีสิทธิรับสัมภาระได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนโดยไม่มีการทักท้วง ย่อมเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าได้มีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนที่อยู่ในสภาพดีและตรงตามป้ายกำกับสัมภาระ หรือตามเอกสารซึ่งแสดงข้อมูลตามมาตรา ๙ วรรคสอง
ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่สัมภาระลงทะเบียน ผู้มีสิทธิรับสัมภาระต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งหลังจากที่พบความเสียหายนั้นโดยพลันและอย่างช้าที่สุดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับมอบสัมภาระดังกล่าว
ในกรณีล่าช้าในการรับขน ผู้มีสิทธิรับสัมภาระต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิรับสัมภาระได้รับสัมภาระลงทะเบียนนั้น
การทักท้วงตามมาตรานี้ ต้องทำเป็นหนังสือและมอบหรือส่งให้ถึงผู้ขนส่งภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับสัมภาระไม่ทักท้วงภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสองหรือวรรคสาม จะฟ้องผู้ขนส่งมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีกลฉ้อฉลของฝ่ายผู้ขนส่ง
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่การรับขนคนโดยสารและสัมภาระดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ซึ่งเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยกตามมาตรา ๔ วรรคสาม ผู้ขนส่งแต่ละทอดย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าเป็นคู่สัญญาคนหนึ่งของสัญญารับขนทางอากาศเท่าที่เกี่ยวกับส่วนของการรับขนซึ่งดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ขนส่งทอดนั้น
ในกรณีที่มีการับขนตามวรรคหนึ่ง คนโดยสารหรือผู้มีสิทธิในค่าสินไหมทดแทนอันเกี่ยวกับคนโดยสารนั้น จะฟ้องได้เฉพาะผู้ขนส่งทอดที่ได้ดำเนินการรับขนในระหว่างที่อุบัติเหตุหรือกรณีล่าช้านั้นเกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ขนส่งทอดแรกได้ตกลงรับผิดตลอดการเดินทางโดยชัดแจ้งแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับสัมภาระ คนโดยสารย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ขนส่งทอดแรกและผู้ขนส่งทอดสุดท้าย รวมทั้งอาจฟ้องผู้ขนส่งทอดที่ดำเนินการรับขนในระหว่างที่สัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายหรือกรณีที่สัมภาระล่าช้าเกิดขึ้นได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ขนส่งทุกทอดที่กล่าวมานั้นจะต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อคนโดยสาร
๑ มาตรา ๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๒
การรับขนของ
-------------------------
มาตรา ๒๔ ในการรับขนของ ให้มีการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศ
วิธีอื่นซึ่งมีบันทึกการรับขนของที่จะดำเนินการ อาจใช้แทนการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศได้และถ้ามีการใช้วิธีอื่นและผู้ตราส่งร้องขอ ให้ผู้ขนส่งส่งมอบใบรับของซึ่งบ่งบอกข้อมูลของที่ส่งและการเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่ในบันทึกโดยวิธีอื่นนั้นให้แก่ผู้ตราส่ง
มาตรา ๒๕ ใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ ต้องมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง รวมถึงข้อความแสดงถึงน้ำหนักแห่งของที่ส่งด้วย
มาตรา ๒๖ ในกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามพิธีการทางศุลกากร ทางการตำรวจและของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจทำนองเดียวกัน ผู้ตราส่งอาจถูกเรียกให้ส่งมอบเอกสารแสดงถึงสภาพแห่งของได้
ความในวรรคหนึ่งไม่มีผลเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่ ภาระผูกพัน หรือความรับผิดแก่ผู้ขนส่ง
มาตรา ๒๗ ให้ผู้ตราส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศเป็นต้นฉบับจำนวนสามฉบับดังต่อไปนี้
(๑) ฉบับที่หนึ่ง ให้ระบุไว้ว่า “สำหรับผู้ขนส่ง” โดยให้ผู้ตราส่งลงลายมือชื่อไว้
(๒) ฉบับที่สอง ให้ระบุไว้ว่า “สำหรับผู้รับตราส่ง” โดยให้ผู้ตราส่งและผู้ขนส่งลงลายมือชื่อไว้
(๓) ฉบับที่สาม ให้ผู้ขนส่งลงลายมือชื่อและมอบให้แก่ผู้ตราส่งไว้ภายหลังจากที่ผู้ขนส่งได้รับของไว้แล้ว
การลงลายมือชื่อของผู้ตราส่งและผู้ขนส่งอาจใช้วิธีการพิมพ์หรือประทับตราแทนก็ได้
ในกรณีที่ผู้ตราส่งร้องขอให้ผู้ขนส่งเป็นผู้จัดทำใบตราส่งทางอากาศ ให้ถือว่าผู้ขนส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศนั้นในนามของผู้ตราส่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๒๘ ในกรณีที่มีการรับขนของมากกว่าหนึ่งหีบห่อ
(๑) ผู้ขนส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ตราส่งจัดทำใบตราส่งทางอากาศแยกต่างหากจากกัน
(๒) เมื่อมีการใช้วิธีอื่นแทนการส่งมอบใบตราส่งทางอากาศตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ผู้ตราส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบใบรับของแยกต่างหากจากกัน
มาตรา ๒๙ การไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๒๘ ไม่กระทบต่อการมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญารับขนทางอากาศ และสัญญานั้นยังอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๓๐ ผู้ตราส่งต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของรายการและข้อความเกี่ยวกับของที่ตนหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของตนระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศ หรือที่ให้ไว้แก่ผู้ขนส่งเพื่อระบุไว้ในใบรับของหรือในบันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลซึ่งกระทำการในนามของผู้ตราส่งเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งด้วย
ผู้ตราส่งต้องชดใช้แก่ผู้ขนส่ง สำหรับความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขนส่งหรือแก่บุคคลอื่นซึ่งผู้ขนส่งต้องรับผิด เพราะเหตุแห่งความผิดแบบแผน ความไม่ถูกต้อง หรือความไม่ครบถ้วนของรายการและข้อความที่ผู้ตราส่งหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของผู้ตราส่งได้ให้ไว้
ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรานี้ ผู้ขนส่งต้องชดใช้แก่ผู้ตราส่งสำหรับความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่ผู้ตราส่งหรือแก่บุคคลอื่นซึ่งผู้ตราส่งต้องรับผิด เพราะเหตุแห่งความผิดแบบแผนความไม่ถูกต้องหรือความไม่ครบถ้วนของรายการและข้อความที่ผู้ขนส่งหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของผู้ขนส่งได้ระบุไว้ในใบรับของหรือได้ระบุไว้ในบันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง
มาตรา ๓๑ ใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ ถือเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นของการทำสัญญาการรับของ และเงื่อนไขการรับขนที่ระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของนั้น
ข้อความใด ๆ ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของที่เกี่ยวกับน้ำหนัก มิติ และการบรรจุรวมถึงข้อความเกี่ยวกับจำนวนหีบห่อแห่งของ เป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นของข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ ส่วนข้อความในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของที่เกี่ยวกับปริมาณ ปริมาตร หรือสภาพแห่งของ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันต่อผู้ขนส่งได้ เว้นแต่ผู้ขนส่งได้ทำการตรวจสอบใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของกับปริมาณ ปริมาตร หรือสภาพแห่งของนั้นแล้วต่อหน้าผู้ตราส่งและได้ระบุไว้ในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของว่าได้ทำรตรวจสอบปริมาณ ปริมาตร หรือสภาพแห่งของนั้นต่อหน้าผู้ตราส่ง หรือเป็นข้อความในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของที่ระบุเกี่ยวกับสภาพที่เห็นประจักษ์แห่งของนั้น
มาตรา ๓๒ เมื่อผู้ตราส่งได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งปวงตามสัญญารับขนทางอากาศแล้วผู้ตราส่งมีสิทธิจัดการกับของ ดังต่อไปนี้
(๑) ถอนของออก ณ ท่าอากาศยานต้นทางหรือท่าอากาศยานปลายทาง
(๒) ให้งดการขนส่งของในระหว่างการเดินทาง ณ ที่ที่อากาศยานลง
(๓) ให้ส่งมอบของแก่บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้รับตราส่งที่ระบุชื่อไว้แต่เดิม ณ ถิ่นปลายทางหรือในระหว่างการเดินทาง
(๔) ให้ส่งของกลับคืนมายังท่าอากาศยานต้นทาง
ผู้ตราส่งจะต้องไม่ใช้สิทธิจัดการกับของตามวรรคหนึ่งในทางที่จะเสียหายแก่ผู้ขนส่งหรือผู้ตราส่งรายอื่น และจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายใด ๆ อันเกิดขึ้นจากการที่ตนได้ใช้สิทธินั้น
ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตราส่ง ผู้ขนส่งจะต้องแจ้งให้ผู้ตราส่งทราบโดยพลัน
ถ้าผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตราส่ง โดยไม่เรียกให้ผู้ตราส่งแสดงใบตราส่งทางอากาศฉบับที่มอบให้แก่ผู้ตราส่งหรือใบรับของที่มอบให้แก่ผู้ตราส่ง ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นแต่การปฏิบัติตามคำสั่งนั้นต่อบุคคลที่ครอบครองใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้ขนส่งที่จะได้รับชดใช้คืนจากผู้ตราส่ง
สิทธิของผู้ตราส่งตามวรรคหนึ่งย่อมสิ้นสุดลง เมื่อสิทธิของผู้รับตราส่งเริ่มต้นขึ้นตามมาตรา ๓๓ แต่ถ้าผู้รับตราส่งปฏิเสธการรับของหรือไม่อาจติดต่อกับผู้รับตราส่งได้ ผู้ตราส่งย่อมมีสิทธิจัดการกับของนั้นอีก
มาตรา ๓๓ เว้นแต่ผู้ตราส่งได้ใช้สิทธิตามมาตรา ๓๒ ไปแล้ว เมื่อของมาถึงถิ่นปลายทางและผู้รับตราส่งได้ชำระค่าภาระติดพันที่ต้องชำระ รวมทั้งได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการรับขนแล้ว ผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกให้ผู้ขนส่งส่งมอบของให้แก่ตน
ผู้ขนส่งมีหน้าที่แจ้งให้ผู้รับตราส่งทราบเมื่อของมาถึงถิ่นปลายทาง เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
ถ้าผู้ขนส่งยอมรับการสูญหายแห่งของ หรือถ้าของยังมาไม่ถึงเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ของนั้นควรจะมาถึง ผู้รับตราส่งชอบที่จะบังคับเอาแก่ผู้ขนส่งซึ่งสิทธิทั้งหลายอันเกิดแต่สัญญารับขนทางอากาศนั้นได้
มาตรา ๓๔ ผู้ตราส่งและผู้รับตราส่งต่างสามารถบังคับใช้สิทธิทั้งปวงที่มีตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓ ในนามของตนเอง ไม่ว่าจะกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่งจะต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันทั้งปวงที่กำหนดไว้ในสัญญารับขนทางอากาศด้วย
มาตรา ๓๕ บทบัญญัติมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ ไม่กระทบต่อความเกี่ยวพันระหว่างผู้ตราส่งและผู้รับตราส่ง หรือความเกี่ยวพันระหว่างกันของบุคคลภายนอกซึ่งได้สิทธิทั้งหลายมาจากผู้ตราส่งหรือจากผู้รับตราส่ง
ความในมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ จะปฏิบัติให้แตกต่างออกไปได้ต่อเมื่อกำหนดไว้ชัดแจ้งในใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของ
มาตรา ๓๖ ผู้ตราส่งต้องให้ข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นต่อการปฏิบัติตามพิธีการทางศุลกากรทางการตำรวจ หรือของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจทำนองเดียวกัน ก่อนที่จะส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งและผู้ตราส่งจะต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการที่ข้อมูลหรือเอกสารเช่นว่านั้นขาดหาย ไม่เพียงพอ หรือผิดแบบแผน เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ขนส่ง หรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง
ผู้ขนส่งไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องหรือความเพียงพอของข้อมูลหรือเอกสารตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๗ ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย โดยมีเงื่อนไขว่าเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการรับขนทางอากาศ
ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น หากพิสูจน์ได้ว่าการที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายนั้นเป็นผลมาจากเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
(๑) ความชำรุดบกพร่อง คุณภาพ หรือการเสื่อมสภาพแห่งของนั้นเอง
(๒) การบรรจุหีบห่อที่บกพร่องแห่งของนั้น ซึ่งกระทำโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งหรือลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง
(๓) การปฏิบัติการทางสงครามหรือการขัดแย้งทางอาวุธ
(๔) การกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อันเกี่ยวกับการนำของเข้า การนำของออกหรือการนำของผ่านแดน
การรับขนทางอากาศตามมาตรานี้ ให้หมายความรวมถึงช่วงเวลาที่ของอยู่ในหน้าที่ดูแลรักษาของผู้ขนส่งด้วย
ช่วงเวลาของการรับขนทางอากาศ ไม่รวมถึงการรับขนทางบก ทางทะเล หรือทางน้ำ ภายในประเทศที่ดำเนินการนอกท่าอากาศยาน เว้นแต่
(๑) การรับขนทางบก ทางทะเล หรือทางน้ำนั้น เกิดขึ้นในการปฏิบัติการตามสัญญาสำหรับการรับขนทางอากาศเพื่อวัตถุประสงค์ในการขนขึ้น การขนลง การส่งมอบ หรือการถ่ายลำ ในกรณีเช่นนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการรับขนทางอากาศเว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
(๒) ผู้ขนส่งใช้การขนส่งรูปแบบอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ตราส่งตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางแทนการรับขนซึ่งคู่สัญญาได้ทำความตกลงให้ทำการรับขนทางอากาศไว้ ให้ถือว่าการขนส่งรูปแบบอื่นนั้นอยู่ในช่วงเวลาของการรับขนทางอากาศด้วย
มาตรา ๓๘ ให้นำความในมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับแก่ความรับผิดของผู้ขนส่งในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีล่าช้าในการรับขนของโดยอนุโลม
มาตรา ๓๙ ความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือในกรณีที่ของล่าช้า ให้จำกัดไว้เพียงสิบเก้าหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัม เว้นแต่ในขณะที่ส่งมอบหีบห่อให้แก่ผู้ขนส่ง ผู้ตราส่งได้บอกกล่าวไว้เป็นพิเศษถึงส่วนได้เสียที่จะได้รับในการส่งมอบหีบห่อ ณ ถิ่นปลายทางและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระแล้ว
ในกรณีที่ผู้ตราส่งได้บอกกล่าวและได้ชำระเงินเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องชำระตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดชำระเงินจำนวนไม่เกินที่บอกกล่าวไว้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าจำนวนเงินที่บอกกล่าวไว้นั้นสูงกว่าส่วนได้เสียที่แท้จริงที่ผู้ตราส่งจะได้รับเมื่อมีการส่งมอบ ณ ถิ่นปลายทาง
มาตรา ๔๐ ในกรณีที่ของบางส่วนหรือสิ่งใด ๆ ที่อยู่ในของนั้น ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายหรือในกรณีที่ของล่าช้า น้ำหนักที่จะใช้เป็นข้อพิจารณาในการกำหนดจำนวนเงินสำหรับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ให้คิดน้ำหนักทั้งหมดของหีบห่อที่ถูกทำลาย สูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า แล้วแต่กรณี
ถ้าการถูกทำลาย สูญหาย เสียหาย หรือกรณีล่าช้าแก่บางส่วนแห่งของหรือแก่สิ่งใด ๆ ที่อยู่ในของนั้นมีผลกระทบต่อมูลค่าของหีบห่ออื่นที่ส่งโดยใบตราส่งทางอากาศเดียวกัน หรือใบรับของเดียวกันหรือบันทึกเดียวกันที่บันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง ให้ใช้น้ำหนักทั้งหมดของหีบห่อเดียวหรือหลายหีบห่อเช่นว่านั้นเป็นข้อพิจารณาในการกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย
มาตรา ๔๑ เกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดในมาตรา ๓๙ ไม่กระทบถึงการพิพากษาของศาลที่จะให้มีการชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับในกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่ศาลพิพากษาให้แก่โจทก์ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ขนส่งได้เสนอที่จะชำระให้แก่โจทก์เป็นหนังสือภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย หรือก่อนวันยื่นฟ้องคดีถ้าได้ฟ้องคดีก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าว โดยเมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๙
มาตรา ๔๒ ข้อกำหนดใด ๆ ในการรับขนของที่มุ่งจะปลดเปลื้องผู้ขนส่งให้หลุดพ้นจากความรับผิดหรือที่มุ่งกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดให้ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะแต่ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะ และสัญญานั้นยังคงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่มีการฟ้องลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งในมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการรับขนของ ถ้าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นมีสิทธิที่จะใช้เงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดซึ่งผู้ขนส่งมีสิทธิอ้างได้ตามพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ยอดรวมของจำนวนที่จะได้รับจากผู้ขนส่ง และลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งต้องไม่เกินเกณฑ์จำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น
มาตรา ๔๔๑ การที่ผู้มีสิทธิรับของได้รับมอบของโดยไม่มีการทักท้วง ย่อมเป็นพยานหลักฐานเบื้องต้นว่าได้มีการส่งมอบของที่อยู่ในสภาพดีและตรงตามใบตราส่งทางอากาศหรือใบรับของหรือบันทึกโดยวิธีอื่นตามมาตรา ๒๔ วรรคสอง
ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ของ ผู้มีสิทธิรับของต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งภายหลังจากที่พบความเสียหายนั้นโดยพลัน และอย่างช้าที่สุดภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับมอบของดังกล่าว
ในกรณีล่าช้าในการรับขน ผู้มีสิทธิรับของต้องทักท้วงต่อผู้ขนส่งภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิรับของได้รับของนั้น
การทักท้วงตามมาตรานี้ ต้องทำเป็นหนังสือและมอบหรือส่งให้ถึงผู้ขนส่งภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้มีสิทธิรับของไม่ทักท้วงภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสองหรือวรรคสาม จะฟ้องผู้ขนส่งมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีกลฉ้อฉลของฝ่ายผู้ขนส่ง
มาตรา ๔๕ ในกรณีที่การรับขนของดำเนินการโดยผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดซึ่งเป็นการรับขนเดียวโดยไม่แบ่งแยกตามมาตรา ๔ วรรคสาม ผู้ขนส่งแต่ละทอดย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าเป็นคู่สัญญาคนหนึ่งของสัญญารับขนทางอากาศเท่าที่เกี่ยวกับส่วนของการรับขนซึ่งดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ขนส่งทอดนั้น
ในกรณีที่มีการรับขนตามวรรคหนึ่ง ผู้ตราส่งย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ขนส่งทอดแรก และผู้รับตราส่งที่มีสิทธิรับมอบของย่อมมีสิทธิฟ้องผู้ขนส่งทอดสุดท้าย นอกจากนั้นผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่งยังอาจฟ้องผู้ขนส่งทอดที่ดำเนินการรับขนในระหว่างที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือกรณีที่ของล่าช้าเกิดขึ้นได้ด้วย ทั้งนี้ ผู้ขนส่งทุกทอดที่กล่าวมานั้นจะต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อผู้ตราส่งหรือผู้รับตราส่ง
๑ มาตรา ๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๓
การรับขนร่วมกัน
-------------------------
มาตรา ๔๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๗ วรรคสี่ ในกรณีที่มีการรับขนร่วมกันและได้ดำเนินการส่วนหนึ่งโดยทางอากาศและส่วนอื่นโดยการรับขนโดยรูปแบบอื่น ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับเฉพาะกับช่วงที่ดำเนินการรับขนทางอากาศ
การรับขนร่วมกันตามวรรคหนึ่ง คู่สัญญาจะระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับขนโดยรูปแบบอื่นไว้ในเอกสารการรับขนทางอากาศด้วยก็ได้๑
๑ มาตรา ๔๖ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๔
การรับขนทางอากาศที่ดำเนินการโดยบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ขนส่งตามสัญญา
-------------------------
มาตรา ๔๗ บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ขนส่งตามสัญญาในฐานะตัวการทำสัญญารับขนทางอากาศซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ กับคนโดยสารหรือผู้ตราส่งหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามของคนโดยสารหรือผู้ตราส่งนั้น และผู้ขนส่งตามความเป็นจริงเป็นผู้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของผู้ขนส่งตามสัญญากระทำการขนส่งตลอดเส้นทางหรือส่วนหนึ่งของเส้นทางของการขนส่งแต่มิได้เป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความในพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีการให้อำนาจเช่นว่านั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๔๘ ถ้าผู้ขนส่งตามความเป็นจริงดำเนินการรับขนตลอดเส้นทางหรือบางส่วนของเส้นทางการรับขนตามมาตรา ๔๗ ให้ผู้ขนส่งตามสัญญาและผู้ขนส่งตามความเป็นจริงอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ผู้ขนส่งตามสัญญารับผิดสำหรับการรับขนทั้งหมดตามที่มุ่งหมายในสัญญา ส่วนผู้ขนส่งตามความเป็นจริงให้รับผิดเฉพาะการรับขนในส่วนที่ตนเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น เว้นแต่จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในหมวดนี้
มาตรา ๔๙ การกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงและของลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงซึ่งกระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตนที่เกี่ยวกับการรับขนซึ่งดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง ให้ถือว่าเป็นการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามสัญญาด้วย
ในกรณีที่การรับขนดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง ให้ถือว่าการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามสัญญา และของลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งตามสัญญาซึ่งกระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน เป็นการกระทำและละเว้นการกระทำของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงด้วย แต่การกระทำหรือละเว้นการกระทำเช่นว่านั้นไม่ทำให้ผู้ขนส่งตามความเป็นจริงต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ความตกลงพิเศษที่ผู้ขนส่งตามสัญญาเข้าผูกพันนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ การสละสิทธิหรือข้อต่อสู้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือการบอกกล่าวไว้เป็นพิเศษถึงส่วนได้เสียที่จะได้รับเมื่อมีการส่งมอบ ณ ถิ่นปลายทางตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๓๙ ย่อมไม่มีผลกระทบต่อผู้ขนส่งตามความเป็นจริง เว้นแต่ผู้ขนส่งตามความเป็นจริงจะได้ตกลงด้วย
มาตรา ๕๐ การทักท้วงที่จะทำต่อผู้ขนส่งหรือคำสั่งที่จะแจ้งแก่ผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีผลเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะแจ้งแก่ผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริง แต่คำสั่งตามมาตรา ๓๒ จะมีผลต่อเมื่อได้แจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ขนส่งตามสัญญาแล้วเท่านั้น
มาตรา ๕๑ ในการรับขนซึ่งปฏิบัติการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง หากลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งตามสัญญาหรือของผู้ขนส่งตามความเป็นจริงพิสูจน์ได้ว่าตนได้กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นย่อมมีสิทธิใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้บังคับกับผู้ขนส่งที่ตนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนได้ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่งนั้นได้กระทำการในลักษณะที่ไม่สามารถอ้างเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้
มาตรา ๕๒ ในการรับขนซึ่งดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง ยอดรวมของค่าเสียหายที่จะได้รับการชดใช้จากผู้ขนส่งตามสัญญาและผู้ขนส่งตามความเป็นจริง และจากลูกจ้างและตัวแทนของผู้ขนส่งดังกล่าวที่กระทำภายในขอบเขตหน้าที่การงานของตน จะต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่จะได้รับจากผู้ขส่งตามสัญญาหรือจากผู้ขนส่งตามความเป็นจริงภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ บุคคลที่กล่าวในมาตรานี้ไม่ต้องรับผิดในจำนวนที่เกินกว่าเกณฑ์จำกัดความรับผิดสำหรับบุคคลนั้น
มาตรา ๕๓ ข้อกำหนดใด ๆ ที่มุ่งจะปลดเปลื้องผู้ขนส่งตามสัญญาหรือผู้ขนส่งตามความเป็นจริงให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามหมวดนี้ หรือที่มุ่งกำหนดเกณฑ์จำกัดความรับผิดให้ต่ำกว่าที่ใช้บังคับในหมวดนี้ ให้ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ แต่ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะ และสัญญานั้นยังคงอยู่ภายใต้บังคับแห่งหมวดนี้
มาตรา ๕๓/๑๑ บทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่กระทบต่อสิทธิและภาระผูกพันระหว่างกันของบรรดาผู้ขนส่ง รวมถึงสิทธิไล่เบี้ยหรือการชดใช้ความเสียหายใด ๆ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖/๒
๑ มาตรา ๕๓/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๕
การฟ้องเรียกค่าเสียหาย
-------------------------
มาตรา ๕๔ การฟ้องเรียกค่าเสียหายในการรับขนคนโดยสาร สัมภาระ และของ ไม่ว่าจะฟ้องในมูลคดีตามพระราชบัญญัตินี้ มูลหนี้ตามสัญญา หนี้ที่เกิดจากมูลละเมิด หรือมูลหนี้อื่น จะกระทำได้เฉพาะภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขและเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
ผู้เสียหายไม่อาจได้รับค่าเสียหายเชิงลงโทษ หรือค่าเสียหายอื่นที่มิใช่ค่าสินไหมทดแทนจากการฟ้องคดีตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๕๔/๑๑ ในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับผิดถึงแก่ความตาย การฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ฟ้องผู้แทนตามกฎหมายของกองทรัพย์สินของผู้ตาย
มาตรา ๕๕ สิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการรับขนทางอากาศเป็นอันระงับสิ้นไปถ้าไม่มีการฟ้องคดีภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่อากาศยานถึงถิ่นปลายทาง หรือนับแต่วันที่อากาศยานนั้นควรจะได้ถึงแล้ว หรือนับแต่วันที่การรับขนได้หยุดลง แล้วแต่กรณี
วิธีการคำนวณระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตั้งอยู่๒
มาตรา ๕๖ ในกรณีที่มีการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงินบาท ให้คำนวณ ณ วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรา ๕๖/๑๓ การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา โจทก์มีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ศาลที่ผู้ขนส่งมีภูมิลำเนา
(๒) ศาลที่ผู้ขนส่งมีสถานที่ประกอบธุรกิจหลักตั้งอยู่
(๓) ศาลที่ผู้ขนส่งมีสถานที่ประกอบธุรกิจซึ่งได้มีการทำสัญญารับขน
(๔) ศาลในถิ่นปลายทาง
ในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บ นอกจากสิทธิตามวรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลที่คนโดยสารนั้นมีถิ่นที่อยู่หลักและถาวรขณะที่เกิดอุบัติเหตุและผู้ขนส่งดำเนินการให้บริการการรับขนคนโดยสารไปยังหรือออกจากรัฐภาคีนั้น ไม่ว่าจะใช้อากาศยานของผู้ขนส่งเองหรืออากาศยานของผู้ขนส่งอื่นตามข้อตกลงทางพาณิชย์ และผู้ขนส่งนั้นประกอบธุรกิจรับขนคนโดยสารจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นที่ตนมีข้อตกลงทางพาณิชย์ ได้ทำสัญญาเช่าหรือเป็นเจ้าของ
กระบวนพิจารณาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตั้งอยู่
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้
“ข้อตกลงทางพาณิชย์” หมายความว่า ข้อตกลงซึ่งทำขึ้นระหว่างผู้ขนส่งและเกี่ยวกับข้อกำหนดในการให้บริการร่วมในการรับขนคนโดยสารทางอากาศ แต่ไม่รวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับตัวแทน
“ถิ่นที่อยู่หลักและถาวร” หมายความว่า ที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่งของคนโดยสารขณะที่เกิดอุบัติเหตุ โดยห้ามมิให้นำเรื่องสัญชาติของคนโดยสารมาพิจารณาในกรณีนี้
มาตรา ๕๖/๒๔ การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการรับขนที่ดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริง อาจฟ้องผู้ขนส่งตามความเป็นจริงหรือผู้ขนส่งตามสัญญาหรือทั้งสองรายรวมกันหรือแยกกัน ตามแต่โจทก์จะเลือก
ถ้าโจทก์ฟ้องคดีต่อผู้ขนส่งตามความเป็นจริงหรือผู้ขนส่งตามสัญญาเพียงรายเดียว ผู้ขนส่งที่ถูกฟ้องมีสิทธิเรียกผู้ขนส่งที่ไม่ได้ถูกฟ้องเข้ามาในคดีได้
กระบวนพิจารณาคดีและผลแห่งคดีให้ใช้กฎหมายแห่งประเทศซึ่งศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตั้งอยู่
มาตรา ๕๖/๓๕ การฟ้องคดีใด ๆ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา สำหรับการรับขนซึ่งดำเนินการโดยผู้ขนส่งตามความเป็นจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖/๒ นอกจากสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๖/๑ แล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเลือกที่จะเสนอคำฟ้องในอาณาเขตของรัฐภาคีหนึ่งต่อศาลที่ผู้ขนส่งตามความเป็นจริงมีภูมิลำเนาหรือสถานที่ประกอบธุรกิจหลักตั้งอยู่
มาตรา ๕๖/๔๖ คดีที่เกี่ยวกับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ ถ้าโจทก์มีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องในราชอาณาจักร ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
มาตรา ๕๖/๕๗ คู่สัญญาในสัญญารับขนของสำหรับการรับขนทางอากาศอาจตกลงเป็นหนังสือให้การระงับข้อพิพาทใด ๆ เกี่ยวกับความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้โดยการอนุญาโตตุลาการ
ผู้เรียกร้องค่าเสียหายเกี่ยวกับการรับขนของสำหรับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศที่อยู่ภายใต้อนุสัญญา มีสิทธิเลือกให้มีการพิจารณาโดยการอนุญาโตตุลาการภายในเขตอำนาจศาลใดศาลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรัฐภาคีตามมาตรา ๕๖/๑ และถ้าเลือกให้มีการพิจารณาในราชอาณาจักร ให้อนุญาโตตุลาการหรือคณะอนุญาโตตุลาการใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ให้ถือว่าบทบัญญัติวรรคสองเป็นส่วนหนึ่งของข้อความหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ และในกรณีที่ข้อกำหนดใด ๆ ของข้อความหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเป็นโมฆะ
มาตรา ๕๖/๖๘ บุคคลที่ต้องรับผิดในความเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยต่อบุคคลอื่นที่ต้องร่วมรับผิดด้วย
๑ มาตรา ๕๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๕๕ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๓ มาตรา ๕๖/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๔ มาตรา ๕๖/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๕ มาตรา ๕๖/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๖ มาตรา ๕๖/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๗ มาตรา ๕๖/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
๘ มาตรา ๕๖/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
หมวด ๖
การรับขนทางอากาศภายในประเทศ
-------------------------
มาตรา ๕๗ ให้นำความในพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การรับขนทางอากาศภายในประเทศโดยอนุโลม
มาตรา ๕๘ คดีที่เกี่ยวกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและกาค้าระหว่างประเทศ
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๕๙ คดีเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศที่ค้างการพิจารณาอยู่ในศาลก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นพิจารณาต่อไปจนแล้วเสร็จโดยถือว่าคดีนั้นมิใช่คดีเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่สามารถรองรับลักษณะพิเศษของการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม สมควรให้มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติระหว่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้บังคับกับการรับขนทางอากาศภายในประเทศด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ค.ศ. ๑๙๙๙ (Convention for the Unification of Certain Rules for International Carriage by Air, 1999) แต่โดยที่พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การรับขนทางอากาศระหว่างประเทศยังไม่ครอบคลุมครบถ้วน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๑๖/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐