พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๕)

 

พระราชบัญญัติ
การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๗

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนคนโดยสารระหว่างประเทศ

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “คนโดยสาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งผู้ขนส่งได้ทำการขนส่งตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
               “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับที่จะทำการขนส่งคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศเป็นทางค้าปกติของตน ไม่ว่าจะมีสัมภาระหรือไม่ก็ตาม
               “การเดินทาง” หมายความว่า การเดินทางของคนโดยสารโดยรถจากจุดต้นทางไปยังจุดปลายทางตามที่กำหนดในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงการขึ้นหรือลงรถในระหว่างการเดินทางนั้นด้วย
               “รถ” หมายความว่า รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
               “ล่าช้า” หมายความว่า
               (๑) การถึงจุดปลายทางช้ากว่ากำหนดเวลา ในกรณีที่มีการตกลงกำหนดเวลาไว้
               (๒) การถึงจุดปลายทางช้ากว่ากำหนดเวลาอันควรตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ของผู้ขนส่งในพฤติการณ์เดียวกัน ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกำหนดเวลาไว้
               “สัมภาระ” หมายความว่า สัมภาระติดตัวและสัมภาระลงทะเบียน
               “สัมภาระติดตัว” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารระหว่างการเดินทางและให้หมายความรวมถึงของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวคนโดยสารด้วย
               “สัมภาระลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่คนโดยสารส่งมอบให้ผู้ขนส่งดูแล
               “ข้อสงวน” หมายความว่า ข้อความเกี่ยวกับสภาพของสัมภาระลงทะเบียนว่าอยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อยซึ่งผู้ขนส่งได้ระบุไว้ในใบรับสัมภาระลงทะเบียนในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนหรือข้อความที่คนโดยสารมีหนังสือแจ้งผู้ขนส่งในเวลาที่คนโดยสารได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้นคืนว่ามีจำนวนไม่ครบหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี
               “หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

               มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
               ในกรณีที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของการเดินทางมีการใช้การขนส่งรูปแบบอื่นในการขนส่งคนโดยสารและสัมภาระ ความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนโดยสารหรือสัมภาระในระหว่างการใช้การขนส่งรูปแบบอื่น ให้ผู้ขนส่งรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งรูปแบบอื่นนั้น
               ในกรณีที่การเดินทางตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศต้องหยุดลงด้วยเหตุใดก่อนถึงจุดปลายทาง ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่การขนส่งนั้นด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจุดที่หยุดลงนั้นจะอยู่ภายในประเทศต้นทางหรือประเทศอื่น

               มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๒ ก/หน้า ๑/๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๗

หมวด ๑ สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ (มาตรา ๖ - ๑๓)

 

หมวด ๑
สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๖  สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ คือ สัญญาที่ผู้ขนส่งตกลงกับคนโดยสารว่าจะรับดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งคนโดยสารทางถนนและสัมภาระโดยรถจากจุดต้นทางในประเทศหนึ่งไปยังจุดปลายทางในอีกประเทศหนึ่ง หรือจากจุดต้นทางในประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งแล้วกลับมายังจุดปลายทางในประเทศต้นทาง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีบำเหน็จหรือไม่ก็ตาม

               มาตรา ๗  ข้อตกลงใดในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย เป็นการปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ขนส่งหรือเป็นผลให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดน้อยกว่าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
               ข้อตกลงที่เป็นโมฆะตามวรรคหนึ่ง ไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ของข้อตกลงอื่นในสัญญานั้น

               มาตรา ๘  การรับขนคนโดยสารตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศผู้ขนส่งต้องออกตั๋วโดยสารไว้เป็นหลักฐานให้แก่คนโดยสารไม่ว่าจะเป็นตั๋วโดยสารที่ออกเป็นรายบุคคลหรือตั๋วโดยสารที่ออกเป็นหมู่คณะ

               มาตรา ๙  ตั๋วโดยสารอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่ง
               (๒) จุดต้นทางและจุดปลายทางของการเดินทาง
               (๓) วันเดินทางหรือช่วงเวลาที่สามารถใช้ตั๋วโดยสารนั้นได้
               (๔) ราคาค่าโดยสาร
               (๕) ข้อความที่กำหนดให้การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี
               ตั๋วโดยสารอาจออกโดยระบุชื่อคนโดยสารหรือออกให้แก่ผู้ถือก็ได้

               มาตรา ๑๐  การไม่ได้ออกตั๋วโดยสารตามมาตรา ๘ การออกตั๋วโดยสารโดยมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙ หรือการที่ตั๋วโดยสารสูญหาย ย่อมไม่กระทบต่อความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ

               มาตรา ๑๑  ผู้ขนส่งต้องออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนให้แก่คนโดยสารเมื่อได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนไว้ โดยอาจออกรวมไปกับตั๋วโดยสารก็ได้

               มาตรา ๑๒  ใบรับสัมภาระลงทะเบียนอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่ง
               (๒) จุดต้นทางและจุดปลายทางของการเดินทาง
               (๓) วันที่ออกใบรับสัมภาระลงทะเบียน
               (๔) จำนวนและน้ำหนักของสัมภาระลงทะเบียน
               (๕) ค่าขนส่งสัมภาระลงทะเบียนส่วนที่เกินเกณฑ์สูงสุดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓
               (๖) ข้อความที่กำหนดให้การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี

               มาตรา ๑๓  การไม่ได้ออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนตามมาตรา ๑๑ หรือการออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนโดยไม่ได้ระบุถึงจำนวนหรือน้ำหนักของสัมภาระลงทะเบียนตามมาตรา ๑๒ (๔) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำนวนหรือน้ำหนักของสัมภาระลงทะเบียนนั้นเท่ากับเกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้คนโดยสารนำไปกับตนได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าโดยสารตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
               การไม่ได้ออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนตามมาตรา ๑๑ ย่อมไม่ทำให้ผู้ขนส่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒ หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง (มาตรา ๑๔ - ๑๖)

 

หมวด ๒
หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ผู้ขนส่งต้องตรวจสภาพเท่าที่เห็นได้จากภายนอกของสัมภาระลงทะเบียนในเวลาที่ลงทะเบียนสัมภาระนั้น และหากจำเป็น ผู้ขนส่งต้องระบุข้อสงวนไว้ในใบรับสัมภาระลงทะเบียนตามความเหมาะสม
               ถ้าผู้ขนส่งมิได้ระบุข้อสงวนไว้ ให้สันนิษฐานว่าสัมภาระนั้นอยู่ในสภาพเรียบร้อย

               มาตรา ๑๕  ในเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนคืนให้แก่คนโดยสาร คนโดยสารต้องตรวจสอบจำนวน สิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน และสภาพของสัมภาระนั้น หากพบว่ามีจำนวนไม่ครบหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้คนโดยสารมีหนังสือแจ้งข้อสงวนต่อผู้ขนส่งทันที
               ถ้าคนโดยสารรับมอบสัมภาระลงทะเบียนโดยมิได้มีหนังสือแจ้งข้อสงวน ให้สันนิษฐานว่าได้มีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนครบถ้วนในสภาพเรียบร้อย

               มาตรา ๑๖  เมื่อผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนให้แก่ผู้ถือใบรับสัมภาระลงทะเบียน ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระดังกล่าวโดยชอบแล้ว
               ในกรณีที่มีบุคคลใดเรียกร้องให้ส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนโดยไม่มีใบรับสัมภาระลงทะเบียนมาแสดง ผู้ขนส่งไม่จำต้องส่งมอบสัมภาระดังกล่าวให้ เว้นแต่บุคคลนั้นจะสามารถพิสูจน์ถึงสิทธิของตนที่จะรับมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้น
               ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดมารับสัมภาระลงทะเบียนเมื่อรถมาถึงจุดปลายทาง ไม่ว่าจะได้มีการออกใบรับสัมภาระลงทะเบียนหรือไม่ ให้ถือว่าสัมภาระนั้นยังอยู่ในความดูแลรักษาของผู้ขนส่งแทนคนโดยสาร แต่ผู้ขนส่งอาจมอบหมายให้บุคคลภายนอกดูแลรักษาสัมภาระนั้นแทนก็ได้ โดยผู้ขนส่งหรือบุคคลที่ดูแลรักษาดังกล่าวมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสมควร
               การดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับสัมภาระลงทะเบียนที่ไม่มีผู้รับตามวรรคสาม ให้ผู้ขนส่งมีสิทธิดำเนินการเกี่ยวกับสัมภาระนั้นตามกฎหมายของประเทศที่สัมภาระได้รับการดูแลรักษาไว้ แต่ถ้าสัมภาระดังกล่าวได้รับการดูแลรักษาไว้ในประเทศไทย ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนคนโดยสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ

หมวด ๓ ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง (มาตรา ๑๗ - ๒๓)

 

หมวด ๓
ความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่ง

-------------------------

               มาตรา ๑๗  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสารอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

               มาตรา ๑๘  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายอันเป็นผลมาจากการที่คนโดยสารและสัมภาระไปถึงจุดปลายทางล่าช้า

               มาตรา ๑๙  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายหรือการสูญหายของสัมภาระติดตัวอันเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

               มาตรา ๒๐  ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายหรือการสูญหายที่เกิดแก่สัมภาระลงทะเบียนนับแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระนั้นคืน
               หากมิได้มีการส่งมอบสัมภาระลงทะเบียนคืนให้แก่คนโดยสารภายในสามสิบวันนับแต่เวลาที่รถไปถึงจุดปลายทาง หรือกำหนดเวลาที่รถจะไปถึงจุดปลายทาง หรือเวลาที่ตามปกติควรจะไปถึงจุดปลายทางแล้วแต่เวลาใดเป็นเวลาหลังสุด ให้ถือว่าสัมภาระลงทะเบียนนั้นสูญหายและคนโดยสารมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายดังกล่าวได้
               ในกรณีที่ได้สัมภาระลงทะเบียนกลับมาภายหลัง ผู้ขนส่งต้องแจ้งให้คนโดยสารทราบในทันทีและคนโดยสารมีสิทธิเรียกสัมภาระนั้นคืน โดยจะต้องคืนค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับมาแต่ไม่เสียสิทธิที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือความเสียหายบางส่วนหรือเพื่อความล่าช้า
               ถ้าคนโดยสารไม่ใช้สิทธิเรียกคืนตามวรรคสาม ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะดำเนินการแก่สัมภาระดังกล่าวตามที่เห็นสมควรตามกฎหมายของประเทศที่สัมภาระลงทะเบียนนั้นตกค้างอยู่
               ในกรณีที่สัมภาระลงทะเบียนนั้นตกค้างอยู่ในประเทศไทย ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการรับช่วงสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ

               มาตรา ๒๑  ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อการกระทำหรือละเว้นกระทำการของลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้รับจ้างช่วงของตนซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือภายในขอบอำนาจแห่งการเป็นตัวแทนหรือในกิจการที่รับจ้างช่วงนั้น แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๒๒  ผู้ขนส่งจะปฏิเสธความรับผิดในความสูญหาย ความเสียหายหรือความล่าช้าที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลจากความชำ รุดบกพร่องของรถที่ใช้ในการขนส่งหรือการหย่อนความสามารถทางร่างกายหรือจิตใจของผู้ขับขี่มิได้

               มาตรา ๒๓  ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในความสูญหาย ความเสียหาย หรือความล่าช้า ถ้าพิสูจน์ได้ว่าความสูญหาย ความเสียหาย หรือความล่าช้านั้น เกิดขึ้นหรือเป็นผลจาก
               (๑) เหตุสุดวิสัย
               (๒) ความชำรุดบกพร่องของสัมภาระนั้นเอง
               (๓) ความผิดหรือประมาทเลินเล่อของคนโดยสารนั้นเอง
               (๔) สภาพร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสารที่เป็นอยู่ก่อนการเดินทาง

หมวด ๔ การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าสินไหมทดแทน (มาตรา ๒๔ - ๓๑)

 

หมวด ๔
การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งและการคิดค่าสินไหมทดแทน

-------------------------

               มาตรา ๒๔  ในกรณีที่คนโดยสารตาย หรือบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินเก้าพันหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารหนึ่งคนในเหตุการณ์เดียวกัน

               มาตรา ๒๕  ในกรณีที่สัมภาระลงทะเบียนสูญหายหรือเสียหาย ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินแปดจุดสามสามหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักรวมทั้งหมดแห่งสัมภาระลงทะเบียนนั้นหรือหนึ่งร้อยหกสิบหกจุดหกเจ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อสัมภาระลงทะเบียนหนึ่งชิ้น แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
               ในกรณีที่สัมภาระติดตัวสูญหายหรือเสียหาย ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินหนึ่งร้อยหกสิบหกจุดหกเจ็ดหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารหนึ่งคน
               ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดทั้งกรณีตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินสามร้อยสามสิบสามจุดสามสี่หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารหนึ่งคน

               มาตรา ๒๖  ในกรณีที่มีความเสียหายอื่นที่เกิดจากความล่าช้า ให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกินราคาค่าโดยสาร

               มาตรา ๒๗  คู่สัญญาในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศอาจตกลงกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ก็ได้

               มาตรา ๒๘  นอกจากค่าสินไหมทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้แล้ว ในกรณีที่ผู้ขนส่งไม่สามารถดำเนินการขนส่งตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังอันจะโทษผู้ขนส่งไม่ได้ ผู้ขนส่งต้องใช้คืนราคาค่าโดยสารตามส่วนที่ยังไม่ได้ขนส่ง

               มาตรา ๒๙  ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในค่าสินไหมทดแทนในอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ส่งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่ง หรือนับแต่วันที่ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ

               มาตรา ๓๐  การยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๒๓ และการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ มิให้ใช้บังคับถ้าพิสูจน์ได้ว่าการตาย การบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือความล่าช้าเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่ง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้รับจ้างช่วงของตน กระทำการหรืองดเว้นการกระทำการโดยจงใจให้เกิดการตาย การบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือความล่าช้าหรือโดยละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการตาย การบาดเจ็บ ความเสียหาย หรือความล่าช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้

               มาตรา ๓๑  เพื่อประโยชน์แห่งการคำนวณความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ การแปลงหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินให้เป็นสกุลเงิบาท ให้คำนวณ ณ เวลาอันเป็นฐานของการคำนวณค่าเสียหายโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

หมวด ๕ การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท (มาตรา ๓๒ - ๓๕)

 

หมวด ๕
การใช้สิทธิเรียกร้องและการระงับข้อพิพาท

-------------------------

               มาตรา ๓๒  ความในพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ ไม่ว่าการใช้สิทธิเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาหรือละเมิด
               ในกรณีที่มีการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ต่อลูกจ้าง ตัวแทนหรือผู้รับจ้างช่วงของผู้ขนส่ง บุคคลที่ถูกใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของผู้ขนส่งตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ขึ้นต่อสู้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องได้ด้วย

               มาตรา ๓๓  ในการฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์มีสิทธิเลือกฟ้องคดีในศาลใดศาลหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจาณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลในประเทศที่การรับขนเริ่มต้นหรือสิ้นสุดลง
               (๒) ศาลในประเทศที่ความสูญหายหรือความเสียหายเกิดขึ้น หากสามารถระบุได้
               (๓) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของผู้ขนส่ง หรือ
               (๔) ศาลในประเทศที่เป็นภูมิลำเนาของโจทก์
               การฟ้องคดีเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัตินี้ในประเทศไทยให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

               มาตรา ๓๔  คู่สัญญาอาจตกลงเป็นหนังสือให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ

               มาตรา ๓๕  การใช้สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องคดีต่อศาลหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ ให้เป็นอันขาดอายุความ
               (๑) สามปี สำหรับการตาย การบาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสาร
               (๒) หกเดือน สำหรับการสูญหาย ความเสียหาย ความล่าช้าของสัมภาระและความล่าช้าในการถึงจุดหมายของคนโดยสาร
               การนับอายุความตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่เกิดสิทธิเรียกร้อง หรือวันที่ถึงจุดปลายทาง หรือวันที่กำหนดจะไปถึงจุดปลายทาง หรือวันที่สมควรถึงจุดปลายทางตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ของผู้ขนส่งในพฤติการณ์เดียวกัน แล้วแต่วันใดเป็นวันหลังสุด
               ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันมีโทษทางอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าอายุความตามวรรคหนึ่ง ให้นำอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้การกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องสิทธิ หน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น อันจะช่วยลดอุปสรรคในด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ใช้บริการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศและเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว สมควรมีกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในเรื่องการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้