หมวดที่ ๑
ว่าด้วยการให้อนุญาต
-------------------------
มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้สร้างรถไฟราษฎร์ขึ้นในพระราชอาณาจักร เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ
พระบรมราชานุญาตนั้นจะพระราชทานให้แต่เฉพาะเพื่อสร้างทางรถไฟ แยกไปจากทางรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟหัตถกรรมก็ได้ การประกอบใจความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก็ดี หรือการที่จะปฏิบัติตามพระบรมราชานุญาตนั้นก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชกำหนดกฎหมายแห่งพระราชอาณาจักรนี้ทั้งสิ้น
มาตรา ๙๖ เมื่อบุคคลหรือบริษัทใดมีความประสงค์จะขออนุญาตสร้างทางรถไฟ ให้ยื่นเรื่องราวแสดงความประสงค์นั้นต่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
เรื่องราวนั้นให้เสนอต่อสภากรรมการรถไฟ เมื่อสภากรรมการเห็นสมควรจะเรียกร้องให้ยื่นรายละเอียดเพิ่มเติมอีกก็ได้ แล้วจะได้นำเรื่องราวนั้นยื่นต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนการที่จะให้อนุญาตหรือไม่นั้น สุดแล้วแต่จะเห็นเป็นการสมควร
มาตรา ๙๗ ก่อนที่จะยื่นเรื่องราวขอรับอนุญาตนั้จะยื่นเรื่องราวชั้นต้นขึ้นมาตามระเบียบอย่างเดียวกัน เพื่อขออนุญาตตรวจรังวัดพื้นที่ที่จะสร้างทางรถไฟนั้นเสียชั้นหนึ่งก่อนก็ได้
มาตรา ๙๘ ในเรื่องราวขออนุญาตนั้นต้องแสดงรายการละเอียดที่จำเป็นอันเกี่ยวกับการรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้น และทั้งต้องแสดงฐานะสินทรัพย์ของผู้ยื่นเรื่องราว กับให้ส่งแบบและงบประมาณการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ต้องการมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นด้วย
มาตรา ๙๙ ในเวลาที่ยื่นเรื่องราวนั้น ผู้ยื่นเรื่องราวต้องลงแจ้งความในหนังสือพิมพ์รายวันให้ชนทั้งหลายทราบว่าได้ยื่นเรื่องราวไว้ กับให้มอบแบบการก่อสร้างและแผนที่แสดงเขตที่ดินโดยชัดเจน ทั้งบอกประเภทการงานและความสำคัญของการที่จะทำนั้นไว้ ณ ที่ว่าการฝ่ายปกครองในท้องที่ที่รถไฟจะผ่านไปนั้นด้วย
ภายในกำหนดเวลา ๓ เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้มอบหมายแบบการก่อสร้างและแผนที่ไว้ต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองดังกล่าวนั้นเป็นต้นไป ผู้มีส่วนได้และเสียจะขอตรวจดูหนังสือสำคัญเหล่านั้นหรือขอคัดสำเนาไป และจะทำเรื่องราวขัดข้องยื่นต่อสภากรรมการรถไฟก็ได้
มาตรา ๑๐๐ สภากรรมการรถไฟต้องสืบสวนตรวจดูรายการก่อสร้างที่ส่งมาพร้อมกับเรื่องราวนั้นได้ตามวิธีที่จะเห็นเป็นการสมควร ถ้ามีผู้ยื่นเรื่องราวขัดข้องต่อการนั้น ก็ให้สภากรรมการรถไฟตรวจพิเคราะห์ข้อขัดข้องนั้นด้วย
มาตรา ๑๐๑ ในระหว่างเวลาก่อสร้างทางรถไฟก็ดี หรือเมื่อได้เปิดให้รถเดินแล้วก็ดี ถ้าผู้รับอนุญาตเห็นเป็นการจำเป็นต้องขยายทางรถไฟต่อออกไปอีก ให้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตเพิ่มเติมตามระเบียบเดิม
ส่วนการที่จะโอนอำนาจสร้างรถไฟนั้น ก็ให้ขออนุญาตก่อนตามระเบียบอย่างเดียวกัน
มาตรา ๑๐๒ ถ้าผู้รับอนุญาต
(๑) เป็นคนล้มละลาย หรือ
(๒) หยุดไม่เดินรถตลอดทั้งสายหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดเกินกว่า ๖ เดือน เว้นแต่เมื่อมีพลาติศัยเกิดขึ้น หรือ
(๓) ไม่ปฏิบัติตามความข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือไม่ทำการที่จำเป็นเพื่อป้องกันภยันตรายแก่ประชาชน หรือ
(๔) ละเลยไม่ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายอันเกี่ยวแก่รัฐประศาสโนบาย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่ประชาชน
ให้เรียกใบอนุญาตคืน แล้วให้ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอถอนอนุญาตนั้นเสียได้
มาตรา ๑๐๓ ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์จะเข้าปกครองยึดถือรถไฟสายใดก่อนสิ้นกำหนดอนุญาต รัฐบาลมีอำนาจที่จะเข้ายึดถือได้ในเวลาและตามข้อความดังกล่าวไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น ถ้าและในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตมิได้กล่าวความข้อนี้ไว้ รัฐบาลมีอำนาจเข้ายึดถือปกครองรถไฟได้ในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังแต่วันที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตล่วงแล้ว ๒๐ ปี
มาตรา ๑๐๔ ในเมื่อรัฐบาลเข้ายึดถือปกครองรถไฟก่อนสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อสิ้นกำหนดแล้วก็ดี ให้เข้ายึดถือปกครองบรรดาสิ่งปลูกสร้าง รถ เครื่องจักร พัสดุ และวัตถุอย่างอื่นด้วย
ส่วนที่ดินนั้นให้คิดเงินค่าทำขวัญให้ไม่เกินกว่าราคาที่ผู้รับอนุญาตได้ซื้อไว้นั้น
เมื่อถึงวันสิ้นกำหนดอนุญาตก็ดี หรือเมื่อได้ถอนอนุญาตเสียก็ดี ถ้ารัฐบาลไม่ได้แจ้งความประสงค์ที่จะเข้ายึดถือปกครองรถไฟนั้นให้ทราบแล้ว ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะขายที่ดิน สิ่งปลูสร้างหรือเครื่องใช้อย่างอื่นของรถไฟได้ตามแต่จะเห็นควร
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยการกำกับตรวจตราของรัฐบาล
-------------------------
มาตรา ๑๐๕ บรรดารถไฟที่ผู้รับอนุญาตได้สร้างหรือจัดการนั้น ให้อยู่ในความกำกับตรวจตราดูแลของกรมรถไฟแผ่นดินดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ และตามข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นด้วย
มาตรา ๑๐๖๑ (ยกเลิก)
มาตรา ๑๐๗ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ออกความเห็นในเมื่อมีผู้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตสร้างรถไฟ
(๒) ตรวจดูข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนที่จะพระราชทาน กับออกความเห็นแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความนั้นที่จำเป็นตามแต่จะคิดเห็นว่าเป็นการสมควร
(๓) กำกับตรวจตราดูแลการก่อสร้างรถไฟ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะได้กระทำผิดต่อข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่
(๔) เมื่อผู้รับอนุญาตแจ้งมาให้ทราบว่าการก่อสร้างรถไฟสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก่อนเปิดทางให้รถเดิน ให้ออกความเห็นว่าในการที่จะเปิดทางให้รถเดินนั้นจะมีภยันตรายแก่ประชาชนหรือไม่
(๕) เข้าตรวจทางและกำกับตรวจตราการเดินรถได้ทุกเมื่อ เพื่อจะได้ทราบว่าผู้รับอนุญาตได้ปฏิบัติการตามความในพระราชบัญญัตินี้ และข้อความในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นหรือไม่ และเพื่อจะได้ทราบว่าไม่มีเหตุการณ์อันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ประชาชน
(๖) ตรวจสอบและออกความเห็นในเรื่องกฎข้อบังคับที่ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งขึ้นโดยได้อนุมัติจากผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน
(๗) ไต่สวนในเรื่องอุบัติเหตุ เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตจะมีส่วนรับผิดชอบในเหตุนั้นด้วยหรือไม่
(๘) ตรวจกิจการอันจะต้องแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบว่าทางรถไฟ เครื่องจักร หรือรถทั้งหมด หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งจะต้องรุไม่ให้ใช้อีกต่อไป หรือจะต้องซ่อมแซมเสียให้ดีก่อน
(๙) ตรวจแผนผังรายการก่อสร้างหรือแบบที่คิดจะสร้าง ซึ่งผู้รับอนุญาตยื่นขึ้นมาขออนุญาตทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือขยายทางรถไฟ หรือขยายเขตที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือรถ
มาตรา ๑๐๘ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจแจ้งความไปให้ผู้รับอนุญาตทราบและบังคับให้ทำการดังต่อไปนี้ได้ภายในเวลาอันสมควร คือ
(๑) ให้งดเว้นใช้การ หรือซ่อมแซมแก้ไขทางรถไฟ เครื่องจักรหรือรถทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งให้เรียบร้อย
(๒) ให้ใช้คนที่สามารถทำการเดินรถ และให้รักษารถไฟมิให้เป็นอันตราย
(๓) ให้ทำรั้วกั้นตามทางรถไฟในที่ที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน
(๔) ให้ปฏิบัติการตามความในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งกรมรถไฟแผ่นดินจำต้องกระทำเพื่อรักษาประโยชน์และความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อรักษาความเรียบร้อยในเรื่องจัดการรถไฟด้วย
มาตรา ๑๐๙ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจออกกฎข้อบังคับที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อระงับหรือลดหย่อนภยันตรายอันพึงเกิดขึ้นแก่กิจการของรถไฟ เช่น กำหนดให้มีเครื่องห้ามล้อ และโคมไฟ ว่าด้วยสถานที่ตั้งสำนักงาน และโรงเรือนริมทางรถไฟ กำหนดให้รถเดินเร็วหรือช้า กำหนดจำนวนผู้โดยสารและอื่น ๆ
กฎข้อบังคับนี้เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ลงนามและแจ้งไปให้ผู้รับอนุญาตทราบแล้ว ให้ใช้บังคับผู้รับอนุญาตได้ทีเดียว
มาตรา ๑๑๐ ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน พึงตั้งอาณาบาลรถไฟไปประจำทุกสถานีที่สำคัญ และให้ผู้รับอนุญาตจัดหาสำนักงานที่ทำการให้ตามสมควร
มาตรา ๑๑๑ กรรมการรถไฟ หรืออาณาบาลรถไฟทุคนมีอำนาจดังต่อไปนี้เพื่อรักษาการให้เป็นไปตามหน้าที่ คือ
(๑) เข้าตรวจตราทางรถไฟ ที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรหรือของผู้รับอนุญาต
(๒) เรียกผู้ทำการก่อสร้างหรือผู้จัดการรถไฟคนใดคนหนึ่งมาไต่ถาม
(๓) สั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบรรทุกสมุดหนังสือ และเอกสารสำคัญซึ่งเห็นเป็นการจำเป็น
มาตรา ๑๑๒ ผู้รับอนุญาตจำต้องออกใบเบิกทางให้แก่กรรมการรถไฟ อาณาบาลรถไฟและบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ตั้งให้ไปตรวจ เพื่อเข้าออกในที่ดินรถไฟและเพื่อไปบนรถจักรหรือรถโดยสารได้เป็นพิเศษโดยมิต้องเสียค่าโดยสาร
มาตรา ๑๑๓ ผู้รับอนุญาตจำต้องทำบัญชีอันแท้จริงจดเงินรายรับประจำวันอันเป็นเงินค่าโดยสาร ค่าบรรทุกครุภาระ ค่าบรรทุกห่อวัตถุ หรือสินค้า และเก็บรักษาบัญชีนั้นไว้
มาตรา ๑๑๔ ผู้รับอนุญาตจำต้องยื่นบัญชีทุกครึ่งปีต่อสภากรรมการรถไฟแสดงยอดรายรับและรายจ่ายเงินทุกประเภท พร้อมกับบัญชีงบดุลซึ่งผู้อำนวยการและผู้ตรวจสอบบัญชีได้ลงนามรับรองว่าถูกต้อง
กรมรถไฟแผ่นดินพึงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือกว่านั้น แต่มิให้เกินกว่า ๓ คน เพื่อตรวจสอบบัญชีนั้น
มาตรา ๑๑๕ ผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดิน มีอำนาจร้องขอต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมให้ตั้งผู้ตรวจการคนหนึ่งหรือกว่านั้นไปตรวจสอดส่องในแผนกการเงินของผู้รับอนุญาต แล้วให้ทำรายงานเสนอ
เมื่อได้ตั้งผู้ตรวจสอดส่องดังนี้แล้ว ผู้รับอนุญาตจำต้องปฏิบัติการตามข้อความที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัทว่าด้วยอำนาจตรวจสอดส่องการบริษัทนั้น
มาตรา ๑๑๖ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตส่งบัญชีอัตราค่าโดยสาร อัตราค่าระวางบรรทุกครุภาระ ห่อวัตถุและสินค้าที่คงใช้อยู่ กำหนดอัตรานี้ถ้าเปลี่ยนแปลงเมื่อใด ให้แจ้งความไปให้สภากรรมการรถไฟทราบทุกครั้ง
มาตรา ๑๑๗ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาตย้ายหรือเปลี่ยนทางรถไฟ หรือกิจการที่เกี่ยวกับการเดินรถในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ทุกเมื่อ เมื่อเห็นว่าจำเป็นหรือเป็นการสมควรเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน ในเรื่องเช่นนี้ ถ้าผู้รับอนุญาตได้กระทำการครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อมีการเสียหายเกิดขึ้น ก็ให้คิดค่าทำขวัญให้แก่ผู้รับอนุญาตตามที่ได้เสียไปนั้น
มาตรา ๑๑๘ เมื่อสภากรรมการรถไฟออกคำสั่งให้ผู้รับอนุญาตทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้องครบถ้วนตามคำสั่งนั้นแล้ว สภากรรมการมีอำนาจ
(๑) ห้ามการเดินรถไฟตามส่วนที่เห็นสมควรแก่การรักษาความปราศภัยแห่งประชาชน
(๒) สั่งให้คนงานหรือผู้แทนของกรมรถไฟแผ่นดินไปทำกิจการตามที่ต้องการให้ทำนั้น แล้วคิดเอาค่าใช้จ่ายแก่ผู้รับอนุญาต
มาตรา ๑๑๙ ถ้าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของสภากรรมการรถไฟ เมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินเป็นโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาล ให้ลงโทษปรับผู้รับอนุญาตเป็นพินัยไม่เกินกว่าวันละ ๑๐๐ บาท ทุก ๆ วัน ตามจำนวนวันที่ละเลยมิได้ปฏิบัติการตามคำแจ้งความหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายนั้น
๑ มาตรา ๑๐๖ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดิน การก่อสร้าง
การบำรุง วิธีจัดการ และการบรรทุกส่ง
-------------------------
มาตรา ๑๒๐ ห้ามมิให้ลงมือทำการก่อสร้าง หรือทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่ได้รับหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาต
มาตรา ๑๒๑ เมื่อผู้รับอนุญาตได้รับหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วจะจัดหาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟได้ แต่ให้พึงเข้าใจว่า
(๑) ถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเป็นของเอกชน ต้องร้องขอมาทางกรมรถไฟแผ่นดินให้ช่วยจัดหาซื้อให้ตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินเพื่อสร้างทางรถไฟนั้น
(๒) ถ้าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเป็นของหลวงที่หวงห้ามไว้ให้ถือว่าผู้รับอนุญาตเป็นผู้เช่าที่หลวงนั้นตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาต โดยต้องเสียค่าเช่าตามอัตราที่วางไว้ในหนังสือพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น
มาตรา ๑๒๒ เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินเป็นผู้จัดหาซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นแทนผู้รับอนุญาตดังว่ามานั้น ให้กรมรถไฟแผ่นดินใช้ข้อบังคับว่าด้วยการจัดหาซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในภาคที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้
แต่ในเรื่องนี้
(๑) ผู้รับอนุญาตต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ค่าทำขวัญ หรือเงินค่าผลประโยชน์ในการที่จัดหาซื้อทรัพย์นั้น ส่วนเงินที่จะต้องวางตามข้อความในพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับอนุญาตต้องเป็นผู้วางด้วยทั้งสิ้น
(๒) ผู้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะตั้งผู้แทนไปเป็นกรรมการจัดหาซื้อที่ดินคนหนึ่ง และเมื่อเห็นว่าเป็นการสะดวกที่จะจัดการในเรื่องหาซื้อที่ดินสถานใด ก็ให้ทำรายงานเสนอต่อสภากรรมการรถไฟ
(๓) กรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จัดหาซื้อนั้น จะตกมาเป็นของผู้รับอนุญาตต่อเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้รับอนุญาตโดยถูกต้องตามวิธีที่กฎหมายบังคับไว้ในการนี้ มิฉะนั้นอย่าให้ถือว่ากรรมสิทธิ์ได้เปลี่ยนมือกันเลย
มาตรา ๑๒๓ เมื่อผู้รับอนุญาตได้ซื้อหรือเช่าที่ดินแห่งใดไว้แล้วก็ดี ท่านว่าผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งในแร่หรือโลหะธาตุต่าง ๆ หรือป่าไม้ซึ่งมีอยู่ในที่ดิน หรือภายใต้พื้นดินนั้น หรือในการจับสัตว์น้ำนั้นเลย
มาตรา ๑๒๔ ถ้าในเวลาก่อสร้างรถไฟผู้รับอนุญาตมีความปรารถนาจะเปลี่ยนทางรถไฟ เปลี่ยนทางโค้ง เปลี่ยนระดับทาง หรือเปลี่ยนแปลงแถวทางอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผิดไปจากแบบเดิมที่ยื่นไว้ ผู้รับอนุญาตต้องยื่นแบบและรายการละเอียดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนั้นต่อสภากรรมการรถไฟก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะทำการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ได้
มาตรา ๑๒๕ ในการก่อสร้างรถไฟ ผู้รับอนุญาตไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนไปทำการก่อสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแทนอุโมงค์ โค้งคูหา หรือทางที่ยกสูงพ้นพื้นระดับด้วยคูหาหรือเสาให้ผิดไปจากแบบ เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากสภากรรมการรถไฟก่อน
มาตรา ๑๒๖ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตเปิดรถไฟตลอดทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เพื่อรับส่งคนโดยสารหรือเพื่อรับบรรทุกสินค้า เว้นไว้แต่
(๑) จะได้แจ้งความให้สภากรรมการรถไฟทราบล่วงหน้า ๑ เดือน และ
(๒) การที่จะเดินรถนั้นผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้มีความเห็นชอบ และได้ให้อนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้รับอนุญาตแล้ว
มาตรา ๑๒๗ เมื่อผู้รับอนุญาตมีความปรารถนาที่จะทำการซ่อมแซมขนานใหญ่ หรือจะทำการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือการช่างอย่างอื่นอันเป็นการสำคัญ ให้ยื่นรายงานการนั้น ๆ และส่งแบบกับงบประมาณไปยังสภากรรมการรถไฟเพื่อขออนุมัติก่อน
มาตรา ๑๒๘ ผู้รับอนุญาตมีอำนาจตั้งกฎข้อบังคับหรืออัตราค่าระวางบรรทุกที่เห็นจำเป็นเพื่อความปราศภัยแห่งประชาชน และเพื่อความสะดวกในการเดินรถ แต่กฎข้อบังคับหรือกำหนดอัตราค่าระวางบรรทุกนั้นต้องเสนอต่อสภากรรมการรถไฟก่อน ต่อเมื่อผู้บัญชาการรถไฟแผ่นดินได้ให้อนุมัติและลงนามเป็นหลักฐานแล้วจึงจะนับว่าใช้ได้
มาตรา ๑๒๙ ถ้าอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขต้องการให้ผู้รับอนุญาตคนใดรับส่งถุงเมล์ ผู้รับอนุญาตนั้นต้องรับเป็นธุระจัดการให้ ส่วนค่ารับส่งนั้น สุดแล้วแต่สภากรรมการรถไฟจะสั่งอนุญาตและกำหนดอัตราให้
มาตรา ๑๓๐ เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ร้องขอมา ผู้รับอนุญาตจำต้องเป็นธุระจัดการรับส่งทหารบก ทหารเรือ หรือตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร หรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย
การรับส่งนั้นให้รับส่งบรรดาของใช้ พัสดุ อาวุธปืน กระสุนดินดำ และสัมภาระของเจ้าพนักงานนั้น ๆ ด้วย
มาตรา ๑๓๑ เมื่อมีการฉุกเฉินเกิดขึ้นอันเกี่ยวกับความมั่นคงภายนอกหรือภายในแห่งพระราชอาณาจัร รัฐบาลมีอำนาจสั่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้เข้ายึดถือปกครองทางรถไฟทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งเครื่องประกอบทางรถไฟ รถและสรรพพัสดุของผู้รับอนุญาตได้ชั่วคราว ตามที่จะเห็นสมควร
ผู้รับอนุญาตซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่รัฐบาลเข้ายึดถือปกครองนั้น มีสิทธิจะได้รับค่าทำขวัญตามที่จะตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกันตามที่อนุญาโตตุลาการจะกำหนดให้
อนึ่ง รัฐบาลย่อมมีอำนาจที่จะขอให้ผู้รับอนุญาตจัดการเดินรถอันเกี่ยวกับการทหารบกหรือทหารเรือก่อนเดินรถธรรมดา
มาตรา ๑๓๒ ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตคนใดให้บุคคลภายนอกเช่าทางรถไฟตลอดทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือให้เช่าเครื่องประกอบทางรถไฟ โดยมิได้รับอนุญาตจากสภากรรมการรถไฟก่อน
แต่การที่ผู้รับอนุญาตได้ทำความตกลงเดินรถติดต่อกับรถสายอื่นนั้น ไม่นับว่าเป็นการเช่าถือ
มาตรา ๑๓๓ ผู้รับอนุญาตจำต้องจัดการให้ความสะดวกตามสมควรเพื่อการชุมทางระหว่างรถไฟผู้รับอนุญาตกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟสายอื่น เมื่อสภากรรมการรถไฟได้มีความเห็นชอบให้สร้างชุมทางนั้นขึ้นแล้ว
มาตรา ๑๓๔ ในส่วนรถไฟราษฎร์นั้น ท่านบังคับไว้ว่า เมื่อได้เปิดเดินรถทั้งสายหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้างรถและพัสดุของรถไฟ แต่เจ้าหนี้นั้นมีสิทธิที่จะขอให้ตั้งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ได้
มาตรา ๑๓๕ นอกจากข้อความที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ บทบัญญัติในส่วนที่ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยการก่อสร้าง การบำรุงและจัดการงาน และส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการบรรทุกส่งนั้น ให้พึงอนุโลมใช้ข้อบังคับแก่รถไฟผู้รับอนุญาตได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน
-------------------------
มาตรา ๑๓๖ บทบัญญัติในส่วนที่ ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชนนั้น ให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่รถไฟผู้รับอนุญาตได้ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
มาตรา ๑๓๗ อาณาบาลรถไฟซึ่งผู้บัญชาการได้ตั้งขึ้นนั้นมีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ ๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยจัดวางการทั่วไป
ในขณะที่อาณาบาลรถไฟไม่ได้อยู่ประจำการนั้น ให้นายสถานีและพนักงานกำกับรถไฟของผู้รับอนุญาตหรือผู้แทน เมื่อกระทำการตามหน้าที่นั้น มีอำนาจและหน้าที่อย่างเดียวกันกับอาณาบาลรถไฟทุกประการ
มาตรา ๑๓๘ นายหรือพลตำรวจพระนครบาล และนายหรือพลตำรวจภูธร เมื่อกระทำการตามหน้าที่มีอำนาจเข้าออกในที่ดินรถไฟและขึ้นบนรถได้ทุกเมื่อ เพื่อรักษาความเรียบร้อยแห่งประชาชน
มาตรา ๑๓๙ เมื่อได้อนุญาตให้ผู้รับอนุญาตวางรางรถไฟไปบนทางหลวงแห่งใด ผู้รับอนุญาตต้องใช้สิทธินั้นด้วยความระมัดระวังเพื่อให้บุคคลหรือยวดยานต่าง ๆ ผ่านไปมาในทางหลวงนั้นได้โดยสะดวกและปราศจากภยันตราย กับจะต้องปฏิบัติการตามกฎข้อบังคับว่าด้วยการไปมาในทางหลวงนั้นด้วย
ส่วนที่ ๗
ว่าด้วยรถไฟหัตถกรรม
-------------------------
มาตรา ๑๔๐๑ รถไฟหัตถกรรมนั้น คือ รถไฟที่ห้างหรือบริษัทซึ่งประกอบหัตถกรรมหรือพาณิชยกรรมได้สร้างขึ้นไว้เพื่อรับส่งคนงานและบรรทุกสิ่งของซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือสิ่งซึ่งประดิษฐ์ขึ้น กับสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับกิจการนั้น ๆ
ตามปรกติการห้ามมิให้เรียกราคาค่าโดยสารหรือค่าระวางบรรทุกสินค้า แต่สภากรรมการรถไฟอาจอนุญาตให้ทำก็ได้ตามที่จะเห็นเป็นการสมควร โดยมีกำหนดเวลาไม่เกิน ๒ ปี และต่อ ๆ ไปอีกคราวละ ๒ ปี เพื่อให้รถไฟหัตถกรรมเก็บค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกสินค้าในอัตราตามแต่สภาจะอนุมัติและอนุญาตให้เก็บ การออกใบอนุญาตให้ทุกรายจำต้องเป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่ ๖ หมวดที่ ๔ ว่าด้วยความปราศภัยแห่งประชาชน แต่ถ้าการที่อนุญาตให้นั้นจะส่งเสริมให้รถไฟหัตถกรรมทำการแข่งขันประชันกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟผู้รับอนุญาตที่มีอยู่แล้ว ท่านห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้ อนึ่งถ้าได้ออกใบอนุญาตให้แก่รถไฟหัตถกรรมบ้างแล้วก็ดี ก็ให้ใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุไปเองในทันทีที่รถไฟหัตถกรรมได้มากระทำการแข่งขันประชันกับรถไฟแผ่นดินหรือรถไฟผู้รับอนุญาต ถึงแม้ว่าใบอนุญาตนั้นจะยังไม่ทันครบกำหนดบริบูรณ์ก็ดี และท่านบังคับไว้ด้วยว่าในใบอนุญาตเช่นนี้หมดทั้งมวลซึ่งได้ออกให้ไปแก่รถไฟหัตถกรรมจะต้องสิ้นอายุไปในคราวเดียวพร้อมกันกับการสิ้นกำหนดเวลาที่ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต นั้น
มาตรา ๑๔๑ รถไฟหัตถกรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ
(๑) รถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะแต่ภายในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทเท่านั้นอย่างหนึ่ง และ
(๒) รถไฟหัตถกรรมที่เดินอยู่ทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นอีกอย่างหนึ่ง
มาตรา ๑๔๒ ห้ามมิให้เปลี่ยนประเภทรถไฟหัตถกรรมมาเป็นรถไฟผู้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้ยื่นเรื่องราวขออนุญาตก่อนและทั้งได้รับอนุญาตตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๔๓ รถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะแต่ในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้น จะสร้างขึ้นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ แต่ห้ามมิให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองนั้นออกใบอนุญาตให้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติของกรมรถไฟแผ่นดินก่อน
ในการนี้ ให้ห้างหรือบริษัทนั้นยื่นแผนที่แสดงเขตแผนผังและงบประมาณสำหรับรถไฟที่คิดจะสร้างขึ้นนั้นไว้ ณ ที่ว่าการของเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ พร้อมทั้งสำเนาอีกสำรับหนึ่ง เพื่อนำเสนอต่อสภากรรมการรถไฟด้วย
ถ้าในเวลาใดเวลาหนึ่ง ห้างหรือบริษัทนั้นมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงทางให้ผิดไปจากที่วางไว้เดิม ให้แจ้งความประสงค์ที่จะเปลี่ยนนี้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ให้ทราบก่อน ต่อเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะจัดทำการนั้นต่อไปได้
มาตรา ๑๔๔ บทบัญญัติในกฎหมายนี้ที่ว่าด้วยรถไฟผู้รับอนุญาตให้พึงอนุโลมใช้บังคับแก่รถไฟหัตถกรรมที่เดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นได้ ตามสมควรแก่บทนั้น ๆ
แต่ว่ารถไฟหัตถกรรมที่เดินทั้งภายในและภายนอกบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้น ถ้าหากใช้ลากเข็นด้วยแรงคนหรือแรงสัตว์และเดินบนทางชั่วคราวเพื่อกิจการชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสองปี และมิได้มีการบังคับซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้อันว่าด้วยรถไฟหัตถกรรมที่เดินเฉพาะภายในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ประกอบการของห้างหรือบริษัทนั้นเป็นบทบังคับ คำร้องขออนุญาตสร้างและเดินรถไฟชนิดนี้ และคำร้องขออนุญาตใช้ที่หลวงชั่วคราวเพื่อประโยชน์แห่งการนั้น ท่านให้ยื่นต่อสมุหเทศาภิบาลเพื่อให้แสดงความเห็นแล้วส่งต่อไปยังสภากรรมการรถไฟ สภากรรมการรถไฟมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตตามคำร้องโดยกำหนดให้เสียค่าเช่าในการใช้ที่หลวงชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลภายนอกและความปลอดภัยแห่งประชาชนตามแต่จะเห็นควร การให้อนุญาตนั้นท่านว่าจะให้ได้ต่อเมื่อสมุหเทศาภิบาลได้แสดงความเห็นว่าควรให้อนุญาตเท่านั้น๒
ถ้าสภากรรมการรถไฟสั่งยกคำร้องเสียเพราะเหตุรถไฟนั้นมิได้อยู่ในความหมายของวรรคสองแห่งมาตรานี้ไซร้ ท่านว่าการที่สั่งยกคำร้องเสียนั้นไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องในอันที่จะดำเนินการตามความในวรรคหนึ่ง๓
มาตรา ๑๔๕๔ ถ้าห้างหรือบริษัทใดที่ได้รับอนุญาตให้สร้างและใช้รถไฟหัตถกรรมบังอาจรับส่งคนโดยสารหรือรับบรรทุกสินค้าของผู้อื่น โดยคิดเอาค่าโดยสารและค่าระวางบรรทุกผิดต่อบทบัญญัตินี้ก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามความในหนังสืออนุญาตข้อใดข้อหนึ่งก็ดี หรือไม่ปฏิบัติการตามความในหนังสืออนุญาตข้อใดข้อหนึ่งก็ดี ท่านว่าห้างหรือบริษัทนั้นมีความผิดต้องระวางโทษให้ปรับเป็นพินัยไม่เกินกว่า ๑,๐๐๐ บาท ทุก ๆ คราวที่กระทำผิดไปนั้น
๑ มาตรา ๑๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา ๑๔๐ และ ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔
๒ มาตรา ๑๔๔ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ฉบับที่ ๒)
๓ มาตรา ๑๔๔ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวงแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (ฉบับที่ ๒)
๔ มาตรา ๑๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา ๑๔๐ และ ๑๔๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๖๔