สารบัญ

พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

 

พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓

-------------------------

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓
เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

               โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลักษณะล้มละลายเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น

               จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓”

               มาตรา ๒  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นต้นไป
              
ให้ใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับแก่คดีล้มละลายทั้งปวงที่ได้ยื่นต่อศาลตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่ามูลคดีได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้นั้น และแก่คดีล้มละลายทั้งปวงที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์

               มาตรา ๓  ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ในเขตจังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี และเมื่อเห็นสมควรจะให้ใช้ในเขตจังหวัดอื่นใดเมื่อใด จะได้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา

               มาตรา ๔  ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติล้มละลาย รัตนโกสินทศก ๑๓๐ พระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๐ พระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๔ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๕  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าพนักงาน ออกกฎกระทรวง และจัดวางระเบียบข้อบังคับทางธุรการเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
              
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๖  ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
              
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
              
“เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์” หมายความตลอดถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ปฏิบัติการแทน
              
“เจ้าพนักงานบังคับคดี” หมายความถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
              
“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ รวมถึงเจ้าหนี้ที่กฎหมายอื่นให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
              
“กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย” หมายความว่า กระบวนพิจารณาซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุด
              
“พิพากษา” หมายความตลอดถึงการที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีโดยทำเป็นคำสั่ง
              
“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว
              
“มติ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมาก ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
              
“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
              
“บุคคลภายในของลูกหนี้” หมายความว่า
              
(๑) กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ หรือผู้สอบบัญชีของลูกหนี้
              
(๒) ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินจำนวนร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการของลูกหนี้
              
(๓) คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของลูกหนี้หรือของบุคคลตาม (๑) หรือ (๒)
              
(๔) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) เป็นหุ้นส่วน
              
(๕) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของหุ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด
               (๖) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) หรือ (๒) หรือ (๓) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (๔) หรือ (๕) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
               (๗) บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ลูกหนี้หรือบุคคลตาม (๑) ถึง (๖) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
               (๘) กรรมการ ผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการ หรือผู้สอบบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ตาม (๔) หรือ (๕) หรือ (๖) หรือ (๗) แล้วแต่กรณี หรือคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว
               “บุคคลล้มละลายทุจริต” หมายความว่า บุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา ๑๖๓ ถึงมาตรา ๑๗๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗/-/หน้า ๙๕๘/๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๓
               มาตรา ๖ นิยามคำว่า "
เจ้าหนี้มีประกัน" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๖ นิยามคำว่า "บุคคลภายในของลูกหนี้" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๖ นิยามคำว่า "บุคคลภายในของลูกหนี้" (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๖ นิยามคำว่า "บุคคลล้มละลายทุจริต" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

หมวดที่ ๑ กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย (มาตรา ๗ - ๘๑/๔)

ส่วนที่ ๑ การขอให้ล้มละลายและการสั่งพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา ๗ - ๒๙)

 

ส่วนที่ ๑
การขอให้ล้มละลายและการสั่งพิทักษ์ทรัพย์

-------------------------

               มาตรา ๗  ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น

               มาตรา ๘  ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
               (๑) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
               (๒) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
               (๓) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
               (๔) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
                     ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
                     ข. ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน หรือหลบไปโดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
                     ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
                     ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
               (๕) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
               (๖) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
               (๗) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
               (๘) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
               (๙) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

               มาตรา ๙  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
               (๑) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
               (๒) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
               (๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

               มาตรา ๑๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๙ เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
               (๑) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
               (๒) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

               มาตรา ๑๑  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลเป็นจำนวนห้าพันบาทในขณะยื่นคำฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคำฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
               ศาลมีอำนาจเรียกให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์วางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
               เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอ ศาลมีอำนาจส่งเงินประกันค่าใช้จ่ายคงเหลือภายหลังหักค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายนั้น

               มาตรา ๑๒  ถ้ามีคำฟ้องหลายรายให้ลูกหนี้คนเดียวกันล้มละลายก็ดี หรือให้ลูกหนี้ร่วมกันแต่ละคนล้มละลายก็ดี ศาลมีอำนาจสั่งให้รวมการพิจารณาได้

               มาตรา ๑๓  เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า ๗ วัน

               มาตรา ๑๔  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง

               มาตรา ๑๕  ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้องลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น

               มาตรา ๑๖  เมื่อศาลได้รับคำฟ้องคดีล้มละลายแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง และโจทก์นำสืบได้ว่าลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               ก. ออกไปหรือกำลังจะออกไปนอกเขตอำนาจศาล หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกเขตอำนาจศาลโดยเจตนาที่จะป้องกันหรือประวิงมิให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้
               ข. ปกปิด ซุกซ่อน โอน ขาย จำหน่าย หรือยักย้ายทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในการดำเนินคดีล้มละลายให้พ้นอำนาจศาล หรือกำลังจะกระทำการดังกล่าวนั้น
               ค. กระทำหรือกำลังจะกระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้
               ศาลมีอำนาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าไปในเคหสถานหรือที่ทำการของลูกหนี้ระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชีหรือเอกสารของลูกหนี้ และให้มีอำนาจสอบสวนลูกหนี้หรือออกหมายเรียกลูกหนี้มาสอบสวนได้
               (๒) ให้ลูกหนี้ให้ประกันจนพอใจศาลว่า ลูกหนี้จะไม่หลบหนีไปนอกอำนาจศาล และจะมาศาลทุกคราวที่ศาลสั่ง ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถให้ประกัน ศาลมีอำนาจสั่งขังลูกหนี้ได้มีกำหนดไม่เกินครั้งละหนึ่งเดือน แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกเดือน
               (๓) ออกหมายจับลูกหนี้มาขังไว้จนกว่าศาลจะพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือจนกว่าศาลจะยกฟ้องหรือจนกว่าลูกหนี้จะให้ประกันจนพอใจศาล

               มาตรา ๑๗  ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวก็ได้ เมื่อศาลได้รับคำร้องนี้แล้วให้ดำเนินการไต่สวนต่อไปโดยทันที ถ้าศาลเห็นว่าคดีมีมูล ก็ให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว แต่ก่อนจะสั่งดังว่านี้ จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายของลูกหนี้ตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๑๘  ถ้าคำสั่งตามมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ นั้น มีเหตุอันสมควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยศาลเห็นเองก็ดีหรือลูกหนี้ได้มีคำขอขึ้นมาก็ดี ศาลมีอำนาจถอนคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรได้

               มาตรา ๑๙  คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่า เป็นหมายของศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
               ในการยึดทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ อันเป็นของลูกหนี้ หรือที่ลูกหนี้ได้ครอบครองอยู่ และมีอำนาจหักพังเพื่อเข้าไปในสถานที่นั้น ๆ รวมทั้งเปิดตู้นิรภัย ตู้หรือที่เก็บของอื่ๆ ตามที่จำเป็น
               ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ยึดไว้ตามมาตรานี้ ห้ามมิให้ขายจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๒๐  เมื่อศาลเห็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีทรัพย์สินของลูกหนี้ซุกซ่อนอยู่ในเรือนโรง เคหสถาน หรือสถานที่อื่นอันมิใช่เป็นของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจออกหมายค้นให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นของศาล ให้มีอำนาจดำเนินการตามข้อความในหมายนั้น

               มาตรา ๒๑  ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับไปรษณีย์โทรเลขหรือการสื่อสารอื่นใด ส่งโทรเลข ไปรษณียภัณฑ์ จดหมาย หนังสือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือข้อมูลทางการสื่อสารอื่นใด ที่มีถึงลูกหนี้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ลูกหนี้ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๒๒  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
               (๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
               (๒) เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น
               (๓) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

               มาตรา ๒๓  เมื่อลูกหนี้ได้รับทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น

               มาตรา ๒๔  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๔/๑  บุคคลผู้เป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครองซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๒๕  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๒๖  ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตราก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๗  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม

               มาตรา ๒๘  เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
               ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

               มาตรา ๒๙  ถ้าปรากฏภายหลังว่า เจ้าหนี้แกล้งให้ศาลใช้อำนาจดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ เมื่อลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับเจ้าหนี้นั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา


               มาตรา ๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖
               มาตรา ๙ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖
               มาตรา ๑๐ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

               มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๑ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๒๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑

ส่วนที่ ๒ คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ (มาตรา ๓๐)

 

ส่วนที่ ๒
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้

-------------------------

               มาตรา ๓๐  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ลูกหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
               (๑) ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำชี้แจงตามแบบพิมพ์ว่า ได้มีหุ้นส่วนกับผู้ใดหรือไม่ ถ้ามีให้ระบุชื่อและตำบลที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด
               (๒) ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้ทราบคำสั่งนั้น ลูกหนี้ต้องไปสาบานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแบบพิมพ์ แสดงเหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว สินทรัพย์และหนี้สิน ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของเจ้าหนี้ ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้น ๆ เป็นประกัน รายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันจะตกได้แก่ตนในภายหน้า ทรัพย์สินของคู่สมรส ตลอดจนทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความยึดถือของตน
               ระยะเวลาตามมาตรานี้ เมื่อมีเหตุผลพิเศษ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขยายให้ได้ตามสมควร
               ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่หรือไม่สามารถทำคำชี้แจงตามมาตรานี้ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทำแทน หรือช่วยลูกหนี้ในการทำคำชี้แจง แล้วแต่กรณี และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็น โดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้

ส่วนที่ ๓ การประชุมเจ้าหนี้ (มาตรา ๓๑ - ๓๖)

 

ส่วนที่ ๓
การประชุมเจ้าหนี้

-------------------------

               มาตรา ๓๑  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ให้เรียกว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
               เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวันเวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบด้วย

               มาตรา ๓๒  การประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกตามเวลาที่เห็นสมควร หรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่ศาลสั่ง หรือเมื่อเจ้าหนี้ซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ได้มีการยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ได้ทำหนังสือขอให้เรียกประชุม
               เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแจ้งกำหนดวันเวลา และสถานที่กับหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน และในกรณีที่ยังไม่พ้นกำหนดเวลาที่เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น ให้แจ้งไปยังเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่มีชื่อในบัญชีซึ่งลูกหนี้ได้ทำยื่นไว้ หรือปรากฏตามหลักฐานอื่นด้วย

               มาตรา ๓๓  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน

               มาตรา ๓๔  เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเป็นเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วก่อนวันประชุมนั้น
               เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตนเอง หรือมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนก็ได้
               ข้อปรึกษาใดที่ทำให้เจ้าหนี้หรือผู้แทนหรือผู้มีหุ้นส่วนกับเจ้าหนี้หรือผู้แทนได้รับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงหรือโดยอ้อม นอกจากที่ควรได้รับตามส่วนในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นนั้น เจ้าหนี้หรือผู้แทนจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้

               มาตรา ๓๕  ในการนับคะแนนเสียงในการประชุมเจ้าหนี้คราวหนึ่ง ๆ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามเจ้าหนี้ที่มาประชุมนั้นว่า ผู้ใดจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้รายใดบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านก็ให้นับคะแนนเสียงสำหรับเจ้าหนี้รายนั้น
               ถ้ามีผู้คัดค้านคำขอรับชำระหนี้รายใด ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้ออกเสียงในจำนวนหนี้ได้เท่าใดหรือไม่ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ายังสั่งในขณะนั้นไม่ได้ ก็ให้หมายเหตุการขัดข้องไว้แล้วให้เจ้าหนี้ออกเสียงไปพลางก่อน โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าต่อไปเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ออกเสียงเพียงใดการออกเสียงของเจ้าหนี้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันใช้ไม่ได้เพียงนั้น
               คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคสอง อาจคัดค้านไปยังศาลได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันมีคำสั่ง

               มาตรา ๓๖  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล และศาลอาจมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ


               มาตรา ๓๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

ส่วนที่ ๔ กรรมการเจ้าหนี้ (มาตรา ๓๗ - ๔๑)

 

ส่วนที่ ๔
กรรมการเจ้าหนี้

-------------------------

               มาตรา ๓๗  ที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้เพื่อแทนเจ้าหนี้ทั้งหลาย ในกิจการเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
               กรรมการเจ้าหนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินกว่าเจ็ดคน โดยเลือกจากเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ แต่เจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจนั้นจะกระทำการเป็นกรรมการเจ้าหนี้ได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้นั้นแล้ว

               มาตรา ๓๘  มติของกรรมการเจ้าหนี้นั้น ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาประชุม และกรรมการเจ้าหนี้ต้องมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนจึงเป็นองค์ประชุม

               มาตรา ๓๙  กรรมการเจ้าหนี้ขาดจากตำแหน่งด้วยเหตุดังต่อไปนี้
               (๑) ลาออกโดยมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
               (๒) ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
               (๓) ที่ประชุมเจ้าหนี้ให้ออกจากตำแหน่ง โดยได้แจ้งการที่จะประชุมให้ออกนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               เมื่อตำแหน่งกรรมการเจ้าหนี้ว่างลง ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า เพื่อเลือกตั้งผู้อื่นขึ้นแทน

               มาตรา ๔๐  ในระหว่างที่ยังไม่ได้เลือกตั้งกรรมการเจ้าหนี้ขึ้นแทนตามความในมาตราก่อน ถ้ากรรมการเจ้าหนี้มีจำนวนเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งแล้ว ให้กรรมการเจ้าหนี้นั้นกระทำการต่อไปได้

               มาตรา ๔๑  ถ้าไม่ได้ตั้งกรรมการเจ้าหนี้ไว้ การกระทำใด ๆ ที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ว่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ก่อนนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้


               มาตรา ๓๗ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

ส่วนที่ ๕ การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย (มาตรา ๔๒ - ๔๔)

 

ส่วนที่ ๕
การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย

-------------------------

               มาตรา ๔๒  เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข เว้นแต่ศาลเห็นว่าการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยยังไม่มีความจำเป็น ศาลจะพิจารณางดการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยไว้ก่อนก็ได้
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งประกาศแจ้งความกำหนดวันเวลาที่ศาลนัดไต่สวนโดยเปิดเผยให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๔๓  ในการไต่สวนโดยเปิดเผย ลูกหนี้ต้องสาบานตัวและตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ได้กล่าวไว้ในมาตรา ๔๒ วรรคแรก ซึ่งศาลได้อนุญาตให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้แล้ว หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้นั้นถาม หรือศาลจะถามเองตามที่เห็นสมควร และให้ศาลจดถ้อยคำของลูกหนี้อ่านให้ลูกหนี้ฟังแล้วให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อไว้ และให้ใช้เป็นพยานหลักฐานยันแก่ลูกหนี้ได้ ในการนี้ลูกหนี้จะให้ทนายความเข้าทำการแทนไม่ได้
               เมื่อศาลได้ไต่สวนลูกหนี้ได้ความเพียงพอแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งปิดการไต่สวนและส่งสำเนาการไต่สวนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หนึ่งฉบับ คำสั่งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะสั่งให้ไต่สวนลูกหนี้เพิ่มเติมอีกเมื่อมีเหตุอันสมควร

               มาตรา ๔๔  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือกายพิการ ซึ่งศาลเห็นว่าไม่สามารถจะให้ศาลไต่สวนโดยเปิดเผยได้ ศาลมีอำนาจสั่งงดการไต่สวนโดยเปิดเผย หรือจะสั่งให้มีการไต่สวนโดยวิธีอื่นใด ณ ที่ใดตามที่เห็นสมควรก็ได้


               มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑

ส่วนที่ ๖ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย (มาตรา ๔๕ - ๖๐)

 

ส่วนที่ ๖
การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๔๕  เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่น ให้ทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา ๓๐ หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
               คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
               (๑) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
               (๒) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
               (๓) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
               (๔) กำหนดเวลาชำระหนี้
               (๕) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
               (๖) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
               ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่

               มาตรา ๔๖  การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว

               มาตรา ๔๗  ลูกหนี้อาจขอแก้ไขคำขอประนอมหนี้ในเวลาประชุมเจ้าหนี้หรือในเวลาที่ศาลพิจารณาได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเห็นว่าการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป

               มาตรา ๔๘  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้นั้น เจ้าหนี้ที่ไม่มาประชุมจะออกเสียงโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับหนังสือนั้นก่อนวันประชุม ในกรณีเช่นนี้ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเจ้าหนี้นั้นได้มาประชุมและออกเสียงด้วยตนเอง

               มาตรา ๔๙  เมื่อเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
               การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๕๐  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้ กิจการทรัพย์สินและความประพฤติของลูกหนี้ต่อศาล ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันที่ศาลนั่งพิจารณา

               มาตรา ๕๑  ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคำขอประนอมหนี้จนกว่าจะได้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้นั้น แม้ศาลจะยังมิได้ไต่สวนลูกหนี้ทั้งหมดโดยเปิดเผย เพราะเหตุว่าลูกหนี้บางคนไม่สามารถจะมาศาลโดยเจ็บป่วยหรืออยู่นอกราชอาณาจักรก็ตาม ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าไม่จำเป็นจะต้องไต่สวนลูกหนี้นั้น ๆ ศาลมีอำนาจพิจารณาคำขอประนอมหนี้ได้ แต่ต้องได้มีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วอย่างน้อยคนหนึ่ง

               มาตรา ๕๒  ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี
               เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม

               มาตรา ๕๓  ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) การประนอมหนี้ไม่มีข้อความให้ใช้หนี้ก่อนและหลังตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย
               (๒) การประนอมหนี้นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป หรือทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเสียเปรียบแก่กัน หรือปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ต้องล้มละลายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้เลย

               มาตรา ๕๔  ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหากว่าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะปลดลูกหนี้จากล้มละลายได้ก็แต่โดยมีเงื่อนไข ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ เมื่อลูกหนี้ให้ประกันสำหรับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนหนี้ที่ไม่มีประกันซึ่งเจ้าหนี้อาจขอรับชำระได้
               ในกรณีอื่น ศาลอาจมีคำสั่งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร

               มาตรา ๕๕  เมื่อศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ

               มาตรา ๕๖  การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

               มาตรา ๕๗  เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอำนาจขอต่อศาลให้บังคับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันให้ปฏิบัติตามข้อความที่ประนอมหนี้ได้

               มาตรา ๕๘  ในการประนอมหนี้ ถ้าได้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้เพื่อจัดการชำระหนี้ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๔ ว่าด้วยวิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และหมวด ๕ ว่าด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๙  การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

               มาตรา ๖๐  ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยาหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
               เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย


               มาตรา ๔๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

ส่วนที่ ๗ คำพิพากษาให้ล้มละลาย (มาตรา ๖๑ - ๖๒)

 

ส่วนที่ ๗
คำพิพากษาให้ล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๑  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกหรือในคราวที่ได้เลื่อนไป ขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี หรือการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบก็ดี ให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายเพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา

               มาตรา ๖๒  การล้มละลายของลูกหนี้เริ่มต้นมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

ส่วนที่ ๘ การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย (มาตรา ๖๓)

 

ส่วนที่ ๘
การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๓  เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้จะเสนอคำขอประนอมหนี้ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นำบทบัญญัติของส่วนที่ ๖ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ในหมวด ๑ กระบวนพิจารณาตั้งแต่ขอให้ล้มละลายจนถึงปลดจากล้มละลาย มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าลูกหนี้ได้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่การขอประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล
               การขอประนอมหนี้ตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเลื่อนหรืองดการจำหน่ายทรัพย์สิน เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควรที่อาจเป็นประโยชน์แก่การขอประนอมหนี้
               ถ้าศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย และจะสั่งให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนหรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้


               มาตรา ๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑

ส่วนที่ ๙ การควบคุมตัวและทรัพย์สินของลูกหนี้และการจำกัดสิทธิ (มาตรา ๖๔ - ๖๗/๑)

 

ส่วนที่ ๙
การควบคุมตัวและทรัพย์สินของลูกหนี้และการจำกัดสิทธิ

-------------------------

               มาตรา ๖๔  ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ต้องไปในการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง และตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้ หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินหรือหุ้นส่วนของตน และต้องกระทำการอันเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน หรือการที่จะแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้จัดการทรัพย์จะสั่งโดยมีเหตุอันสมควร หรือตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ศาลจะได้มีคำสั่งให้กระทำ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๖๕  เมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ต้องเป็นธุระช่วยโดยเต็มความสามารถในการจำหน่ายทรัพย์สินและในการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลาย และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการให้ทำสัญญาประกันชีวิต ลูกหนี้ต้องให้แพทย์ตรวจ และต้องตอบข้อซักถาม และกระทำการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อการนั้น

               มาตรา ๖๖  เมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้อง และศาลพอใจจากรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือพยานที่เจ้าหนี้นำมาสืบ ว่าลูกหนี้ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ออกไปหรือกำลังจะออกไปนอกเขตอำนาจศาล หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกเขตอำนาจศาลโดยเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง ประวิงหรือกระทำให้ขัดข้องแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย
               (๒) กระทำหรือกำลังจะกระทำการฉ้อโกงเจ้าหนี้ หรือกระทำหรือกำลังจะกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัตินี้
               ศาลมีอำนาจออกหมายจับลูกหนี้มาขังไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้ให้ประกันจนพอใจ แต่ไม่ให้เกินกว่าหกเดือน

               มาตรา ๖๗  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้หรือพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว และยังไม่ได้สั่งปลดจากล้มละลาย
               (๑) ลูกหนี้จะต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้อนุญาตให้ลูกหนี้จ่ายจากเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลาย และลูกหนี้จะต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดพร้อมด้วยบัญชีรับจ่าย
               (๒) ทุกครั้งที่ลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินอย่างใดลูกหนี้จะต้องรายงานเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ โดยแสดงรายละเอียดเท่าที่สามารถจะทำได้ภายในเวลาอันสมควร และไม่ว่าในกรณีใด ลูกหนี้จะต้องแสดงบัญชีรับจ่ายเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกระยะหกเดือน
               (๓) ลูกหนี้จะออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตเป็นหนังสือ และถ้าจะย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งตำบลที่อยู่ใหม่เป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในเวลาอันสมควร

               มาตรา ๖๗/๑  เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจาล้มละลายตามมาตรา ๗๑ หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑


               มาตรา ๖๗/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

ส่วนที่ ๑๐ การปลดจากล้มละลาย (มาตรา ๖๘ - ๘๑/๔)

 

ส่วนที่ ๑๐
การปลดจากล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๖๘  เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ แต่ต้องนำเงินมาวางไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเห็นสมควรไม่เกินห้าพันบาทเพื่อเป็นประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
               การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้บุคคลล้มละลาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๖๙  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและความประพฤติของบุคคลล้มละลายในเวลาก่อนหรือระหว่างที่ล้มละลายต่อศาล และส่งสำเนารายงานนั้นให้บุคคลล้มละลายทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันนั่งพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย

               มาตรา ๗๐  ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายนั้น ศาลอาจฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ได้ยื่นตามมาตรา ๖๙ และรายงานการไต่สวนโดยเปิดเผยของศาลนั้นเอง และศาลอาจให้บุคคลล้มละลายสาบานตัวให้การหรือพิจารณาพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๗๑  ให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
               (๑) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบและ
               (๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               คำสั่งปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา ๘๑/๑

               มาตรา ๗๒  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๔  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๕  (ยกเลิก)

               มาตรา ๗๖  เมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

               มาตรา ๗๗  คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่
               (๑) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
               (๒) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้

               มาตรา ๗๘  การที่ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

               มาตรา ๗๙  บุคคลล้มละลายซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ
               ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

               มาตรา ๘๐  ในคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยให้บุคคลล้มละลายใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสำหรับเลี้ยงชีพบุคคลล้มละลายและครอบครัวในปีหนึ่ง ๆ ที่ให้หักเอาจากทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังมีคำสั่งนั้น และกำหนดให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และกำหนดวันให้ยื่นบัญชีแสดงการรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างปีทุก ๆ ปีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
               บุคคลล้มละลายซึ่งถูกปลดจากล้มละลายโดยให้ใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น มีหน้าที่ไปให้เจ้าพนักงาพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มา ตามแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องการ
               ถ้าบุคคลล้มละลายนั้นไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในสองวรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลจะเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

               มาตรา ๘๑  เมื่อศาลได้เพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนนั้นด้วย

               มาตรา ๘๑/๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๘๑/๒ บุคคลธรรมดาซึ่งศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วให้ปลดบุคคลนั้นจากล้มละลายทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย เว้นแต่
               (๑) บุคคลนั้นได้เคยถูกพิพากษาให้ล้มละลายมาก่อนแล้ว และยังไม่พ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายครั้งก่อนจนถึงวันที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งหลังให้ขยายระยะเวลาเป็นห้าปี
               (๒) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตที่ไม่มีลักษณะตาม (๓) ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษและบุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายก่อนครบกำหนดสิบปีตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือของบุคคลล้มละลายนั้นก็ได้
               (๓) บุคคลนั้นเป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ให้ขยายระยะเวลาเป็นสิบปี
               ในกรณีที่มีเหตุตาม (๑) (๒) หรือ (๓) มากกว่าหนึ่งเหตุให้ขยายระยะเวลาโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งที่มีระยะเวลาสูงสุดเพียงเหตุเดียว
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๖ มาตรา ๗๗ และมาตรา ๗๘ มาใช้บังคับกับการปลดจากล้มละลายตามมาตรานี้โดยอนุโลม

               มาตรา ๘๑/๒  ก่อนระยะเวลาสามปีตามมาตรา ๘๑/๑ วรรคหนึ่ง จะสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาดังกล่าวไว้ก่อนก็ได้
               เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านี้แล้ว ให้ศาลกำหนดนัดไต่สวนเป็นการด่วน และส่งสำเนาคำขอให้แก่บุคคลล้มละลายทราบก่อนวันนัดไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๘๑/๓๑๐  เมื่อศาลไต่สวนคำขอตามมาตรา ๘๑/๒ แล้ว ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลล้มละลายมิได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑ ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอหรือวันที่ศาลมีคำสั่งจนถึงวันที่ศาลกำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขหรือไม่ก็ได้
               การหยุดนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามคำขอกี่ครั้งก็ตาม เมื่อรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินสองปี และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ศาลจะมีคำสั่งให้หยุดนับระยะเวลาตามมาตรา ๘๑/๑ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือมีคำสั่งเมื่อพ้นระยะเวลาสามปีตามมาตรา ๘๑/๑ วรรคหนึ่งแล้วไม่ได้
               คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๘๑/๔๑๑  เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๘๑/๓ แล้ว หากพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งดังกล่าวได้
               เมื่อได้รับคำขอดังกล่าว ให้ศาลกำหนดวันนัดไต่สวน และส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               ศาลอาจมีคำสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งตามมาตรา ๘๑/๓ ก็ได้
               คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด


               มาตรา ๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
               มาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๗๒ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

               มาตรา ๗๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๗๔ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๗๕ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

               มาตรา ๘๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๘๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               ๑๐ มาตรา ๘๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

               ๑๑ มาตรา ๘๑/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

หมวด ๒ กระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย (มาตรา ๘๒ - ๘๗)

 

หมวด ๒
กระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้ตาย

-------------------------

               มาตรา ๘๒  ในกรณีที่ลูกหนี้ตาย หากปรากฏว่าถ้าลูกหนี้ยังคงมีชีวิตอยู่เจ้าหนี้อาจฟ้องให้ล้มละลายได้แล้ว เจ้าหนี้อาจฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้ได้ แต่ต้องยื่นคำฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ตาย

               มาตรา ๘๓  ในการฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ตามความในมาตราก่อน เจ้าหนี้จะต้องขอให้เรียกทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ เข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายนั้น
               ถ้าบุคคลที่ถูกเรียกไม่มาศาล หรือมาศาลแต่คัดค้านว่าตนไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ของลูกหนี้ที่ตายก็ดี หรือว่าตนไม่จำต้องยอมรับฐานะเช่นนั้นได้ตามกฎหมายก็ดี ให้ศาลทำการไต่สวน ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นควรเข้าแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตาย ก็ให้สั่งเป็นผู้แทนลูกหนี้นั้น มิฉะนั้นให้สั่งให้เจ้าหนี้จัดการขอให้เรียกบุคคลอื่นเข้ามาแก้คดีแทนลูกหนี้ที่ตายต่อไป

               มาตรา ๘๔  เมื่อได้มีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้แล้ว ให้ปฏิบัติการและจัดการทรัพย์มรดกนั้นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เท่าที่จะทำได้
               ผู้แทนลูกหนี้ที่ตายมีหน้าที่ยื่นคำชี้แจงตามมาตรา ๓๐ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการนี้ให้คิดเอาได้จากทรัพย์มรดก

               มาตรา ๘๕  การที่ทายาท หรือผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ได้กระทำไปเกี่ยวกับทรัพย์มรดกจะใช้ได้เพียงไรหรือไม่นั้น ให้ถือเสมือนว่าเป็นการกระทำของลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายตามความในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๘๖  เมื่อได้ชำระหนี้ทั้งหมดโดยเต็มจำนวนพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้กับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หมดแล้ว ถ้ายังมีทรัพย์มรดกเหลืออยู่อีก ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มอบให้แก่ผู้แทนลูกหนี้ที่ตายหรือผู้จัดการมรดก

               มาตรา ๘๗  ถ้าลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาก็ดี หรือเมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้วก็ดี กระบวนพิจารณาคงดำเนินต่อไป และให้นำบทบัญญัติในหมวดนี้มาใช้บังคับด้วย

หมวด ๓ กระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น (มาตรา ๘๘ - ๙๐)

 

หมวด ๓
กระบวนพิจารณาในกรณีที่ลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น

-------------------------

               มาตรา ๘๘  ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น นอกจากเจ้าหนี้จะฟ้องขอให้ล้มละลายได้ตามความในหมวด ๑ แล้ว ผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคลนั้น ๆ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้นิติบุคคลนั้นล้มละลายได้ถ้าปรากฏว่าเงินลงทุนหรือเงินค่าหุ้นได้ใช้เสร็จหมดแล้วสินทรัพย์ก็ยังไม่พอกับหนี้สิน
               เมื่อศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นเด็ดขาดโดยทันที และให้ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งขึ้น ให้มีสิทธิและหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

               มาตรา ๘๙  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่

               มาตรา ๙๐  เมื่อได้มีคำขอตามมาตราก่อนแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอฝ่ายเดียว โดยทำเป็นคำร้องขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของผู้เป็นหุ้นส่วนชั่วคราว และมีพยานหลักฐานแสดงให้พอใจศาลว่าคำขอมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้นั้นชั่วคราวได้ แต่ก่อนจะมีคำสั่งดังว่านี้จะให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ให้ประกันค่าเสียหายตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
               ถ้าปรากฏภายหลังว่า บุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวไม่ใช่ผู้เป็นหุ้นส่วน ให้ศาลมีคำสั่งถอนการพิทักษ์ทรัพย์ และถ้าผู้นั้นมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งขอให้พิทักษ์ทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรให้ผู้นั้น หรือจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จ่ายจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนก็ได้
               ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังว่าไว้ในวรรคก่อน ศาลมีอำนาจบังคับเจ้าหนี้นั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

หมวด ๓/๑ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (มาตรา ๙๐/๑ - ๙๐/๙๐)

 

หมวด ๓/๑
กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้


               หมวด ๓/๑ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา ๙๐/๑ ถึงมาตรา ๙๐/๙๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๑

ส่วนที่ ๑ บทนิยาม (มาตรา ๙๐/๑)

 

ส่วนที่ ๑
บทนิยาม

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑  ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
               “เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
               “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
               “คำร้องขอ” หมายความว่า คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้ร้องขอ” หมายความว่า ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               “แผน” หมายความว่า แผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งเป็นลูกหนี้ และหมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้ทำนองเดียวกับผู้ถือหุ้น
               “ผู้ทำแผน” หมายความว่า ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้บริหารแผน” หมายความว่า ผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้บริหารของลูกหนี้” หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้บริหารชั่วคราว” หมายความว่า ผู้บริหารของลูกหนี้หรือบุคคลอื่นที่ศาลสั่งให้มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราวในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน

ส่วนที่ ๒ การขอและการให้ฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๒ - ๙๐/๑๕)

 

ส่วนที่ ๒
การขอและการให้ฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๒  เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วหรือไม่
               กระบวนพิจารณาส่วนใดที่มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในหมวดอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๓  เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๔ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้

               มาตรา ๙๐/๔  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๕ บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าหนี้ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกันและมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
               (๒) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา ๙๐/๓
               (๓) ธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
               (๔) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ เป็นบริษัทหลักทรัพย์
               (๕) กรมการประกันภัย ในกรณีที่ลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ เป็นบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต
               (๖) หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ ซึ่งเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐและลูกหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
               เจ้าหนี้ของลูกหนี้ตาม (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) หรือลูกหนี้นั้นเอง จะยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๙๐/๓ ด้วยตนเองได้เมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๖) แล้วแต่กรณี
               การขอความยินยอม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่หน่วยงานตามวรรคสองประกาศกำหนด
               เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๖) แล้วแต่กรณี ได้รับคำขอความยินยอม ให้หน่วยงานนั้นแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอทราบภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอ ในกรณีที่ไม่ให้ความยินยอมให้แจ้งเหตุผลโดยย่อ และให้ผู้ขอมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานนั้นภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๙๐/๕  บุคคลตามมาตรา ๙๐/๔ จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
               (๒) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
               (๓) ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามความในหมวดนี้ ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนยื่นคำร้องขอ

               มาตรา ๙๐/๖  คำร้องขอของบุคคลตามมาตรา ๙๐/๔ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง
               (๑) ความมีหนี้สินล้นพ้นตัวของลูกหนี้หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้
               (๒) รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท
               (๓) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
               (๔) ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน
               (๕) หนังสือยินยอมของผู้ทำแผน
               ผู้ทำแผนอาจเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้
               ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบมาพร้อมคำร้องขอ
               ถ้าลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอ จะต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมคำร้องขอ

               มาตรา ๙๐/๗  ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องชำระค่าขึ้นศาลหนึ่งพันบาท และต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องขอต้องรับผิดชอบในการขอฟื้นฟูกิจการไว้ต่อศาลเป็นจำนวนห้าหมื่นบาทในขณะยื่นคำร้องขอ หากค่าใช้จ่ายนั้นไม่เพียงพอ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอวางเงินประกันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลยังไม่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายและธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓ ซึ่งได้ให้ความยินยอมตามมาตรา ๙๐/๔ แล้วแต่กรณี เพื่อแต่งตั้งเจ้าหนี้อื่นหรือลูกหนี้หรือผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้ร้องขอแทนต่อไปโดยเร็วที่สุด ถ้าไม่มีผู้ร้องขอแทนหรือมีแต่ไม่วางเงินประกันดังกล่าวภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันดังกล่าวตามคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
               ในกรณีที่เจ้าหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เป็นผู้ร้องขอ ให้ผู้ทำแผนชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากทรัพย์สินของลูกหนี้คืนให้แก่ผู้ร้องขอภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วโดยไม่ชักช้า
               ในการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี มีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้

               มาตรา ๙๐/๘  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๙๐/๙  เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วนและให้ศาลประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับไม่น้อยกว่าสองครั้งห่างกันไม่เกินเจ็ดวัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบและแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้ส่งให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณีด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               ถ้าเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องขอ ให้ผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอให้ลูกหนี้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ลูกหนี้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนด้วย
               ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้ การเสนอชื่อผู้ทำแผนต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย
               ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ให้ผู้ร้องขอนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๐  ในการไต่สวนคำร้องขอ ศาลต้องไต่สวนเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐/๓ ถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการ ทั้งผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอโดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ มิฉะนั้นให้มีคำสั่งยกคำร้องขอ
               ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องขอ ถ้าศาลเห็นสมควรจะงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๑  ให้ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องขอติดต่อกันไป โดยไม่ต้องเลื่อนจนกว่าจะเสร็จการไต่สวนและมีคำสั่ง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
               ให้ผู้ร้องขอและผู้คัดค้านมาศาลในวันนัดไต่สวนทุกนัด ฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบในนัดใดให้เตรียมพยานหลักฐานมาให้พร้อม ถ้าผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาหรือไม่เตรียมพยานหลักฐานมาให้ถือว่าไม่ติดใจร้องขอหรือคัดค้าน หรือไม่ติดใจนำสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่นำสืบมีคำขอว่าไม่อาจนำพยานหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีมาศาลในนัดใด เพราะมีความจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้เกี่ยวกับพยานหลักฐานนั้น ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้เลื่อนการสืบพยานหลักฐานนั้นไปก็ได้ แต่ให้สั่งเลื่อนได้เพียงครั้งเดียว
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่นำสืบในนัดใด เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วจะไม่มาศาลในนัดนั้นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิถามค้านพยานที่นำสืบในนัดนั้น
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาศาลในนัดใด ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ ให้ถือว่าผู้นั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว

               มาตรา ๙๐/๑๒  ภายใต้บังคับของมาตรา ๙๐/๑๓ และมาตรา ๙๐/๑๔ นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้
               (๑) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้
               (๒) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
               (๓) ห้ามมิให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประอบกิจการของลูกหนี้หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
               (๔) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๕) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น
                     ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร แล้วให้กักเงินไว้ ถ้าศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้ ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและยังเหลือเงินอยู่ ให้ส่งอบให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไป
               (๖) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ระยะเวลาดังกล่าวศาลอาจขยายได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกเดือน
               (๗) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมาย ยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
               (๘) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขายหรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ราคา ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญา สองคราวติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ
               (๙) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๑๐) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้น ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป
               (๑๑) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน
               บทบัญญัติในวรรคหนึ่งไม่ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่จะมีคำร้องให้ศาลที่รับคำร้องขอมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตามที่ศาลเห็นสมควร
               คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่งไม่มีผลผูกพันลูกหนี้
               การออกคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทำนิติกรรม หรือการชำระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ

               มาตรา ๙๐/๑๓  เจ้าหนี้และบุคคลซึ่งถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่รับคำร้องขอเพื่อให้มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนตามมาตรา ๙๐/๑๒ ได้ หากการจำกัดสิทธิของผู้ร้องนั้น
               (๑) ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือ
               (๒) มิได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ
               เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินการพิจารณาเป็นการด่วน หากปรากฏเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง และหากเป็นกรณีตาม (๒) ศาลอาจมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๔  การดำเนินการดังต่อไปนี้ถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอแล้ว
               (๑) มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๖) เพราะเหตุของการจำกัดสิทธินั้น
               (๒) มีการให้หลักประกันแก่เจ้าหนี้มีประกันเพื่อชดเชยหลักประกันเดิมในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของการจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๖) เพราะเหตุการจำกัดสิทธินั้น หรือ
               (๓) มีการดำเนินการอื่นใดที่เจ้าหนี้มีประกันนั้นยินยอม หรือที่ศาลเห็นว่าจะทำให้เจ้าหนี้มีประกันสามารถได้รับชำระหนี้ของตนตามมูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในเวลาที่มีการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการพร้อมดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตามสัญญา เมื่อการดำเนินการตามความในหมวดนี้สิ้นสุดลง

               มาตรา ๙๐/๑๔ ทวิ  ในกรณีทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันมีสภาพเป็นของสดเสียง่าย หรือหากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายหรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน เจ้าหนี้มีประกันอาจใช้สิทธิจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้วเก็บเงินไว้แทน

               มาตรา ๙๐/๑๕  ถ้าอายุความหรือระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการบังคับคดี หรือระยะเวลาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการที่ถูกห้ามมิให้ดำเนินการหรือถูกงดไว้ตามมาตรา ๙๐/๑๒ ครบกำหนดก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนหรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้ หรือจะครบกำหนดภายในหกเดือนนับแต่วันดังกล่าว ให้อายุความหรือระยะเวลานั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันดังกล่าว แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความหรือระยะเวลานั้นตามกฎหมายมีน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้นำอายุความหรือระยะเวลาที่สั้นกว่าดังกล่าวนั้นมาใช้แทนกำหนดเวลาหนึ่งปีดังกล่าว


               มาตรา ๙๐/๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๙๐/๕ (๓) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๙๐/๖ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๙๐/๑๒ (๖)
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๙๐/๑๔ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑

ส่วนที่ ๓ การตั้งผู้ทำแผน (มาตรา ๙๐/๑๖ - ๙๐/๒๕)

 

ส่วนที่ ๓
การตั้งผู้ทำแผน

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑๖  ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๗  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน
               ในกรณีที่ลูกหนี้มิได้เสนอผู้ทำแผน มติเลือกผู้ทำแผนต้องเป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ข้างมากซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น แต่ในกรณีที่ลูกหนี้เสนอผู้ทำแผนด้วย ให้ผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่จะมีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน ในการลงมติตามมาตรานี้ ให้เจ้าหนี้มีประกันออกเสียงได้เต็มตามจำนวนหนี้
               ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ถ้าที่ประชุมมีมติเลือกผู้ทำแผนได้และศาลเห็นชอบด้วย ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน หากศาลไม่เห็นชอบด้วย ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสนอชื่อเป็นผู้ทำแผน
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้
               ในการประชุมเจ้าหนี้ในวรรคสามหรือวรรคสี่ ถ้าที่ประชุมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่จะไม่ตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนหรือที่ประชุมไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนได้ ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานผลของการประชุมเจ้าหนี้ที่พิจารณาเลือกผู้ทำแผนทุกครั้งต่อศาลภายในสามวันนับแต่วันประชุม เพื่อให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
               การเสนอชื่อผู้ทำแผนต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องเสนอหนังสือยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้ทำแผนด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๘  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และต้องแจ้งไปยังลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบด้วย
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ และให้มีรายงานการประชุม ลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐาน

               มาตรา ๙๐/๑๙  ในการพิจารณาของศาลและการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้งให้ลูกหนี้ไปศาล ไปประชุมและตอบคำถามของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของตน ในกรณีเช่นนี้ลูกหนี้จะเสนอความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดต่อศาลหรือที่ประชุมก็ได้
               เมื่อลูกหนี้ร้องขอ ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะอนุญาตให้ลูกหนี้ไม่ต้องไปศาลหรือไม่ไปประชุมเจ้าหนี้ในนัดใดก็ได้ แล้วแต่กรณี
               ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราว ในการพิจารณาของศาลและการประชุมเจ้าหนี้ในระหว่างที่บุคคลเหล่านี้ยังคงมีหน้าที่ตามตำแหน่งดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๒๐  ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว
               ในการกำกับดูแลนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกำหนดอำนาจหน้าที่ รวมทั้งสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวทำคำชี้แจงในเรื่องบัญชี เรื่องการเงินหรือเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการจัดการกิจการและทรัพย์สิน หรือจะสั่งให้กระทำหรือมิให้กระทำการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
               เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้บริหารชั่วคราวพ้นจากอำนาจหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวใหม่ขึ้นทำหน้าที่ก็ได้ ถ้าศาลไม่มีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวใหม่ ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราวไปตามวรรคหนึ่ง
               ให้ศาลแจ้งคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งหรือให้ผู้บริหารชั่วคราวพ้นจากอำนาจหน้าที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนและแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๒๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ระงับลง เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และให้สิทธิดังกล่าวตกแก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่รณี จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มาใช้บังคับแก่ผู้บริหารชั่วคราวและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุโลม
               เมื่อได้รับทราบคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ผู้บริหารของลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน และกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี โดยเร็วที่สุด เพื่อการนี้ให้ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกให้ผู้ครอบครองส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารข้างต้นแก่ตนได้ด้วย
               ให้ผู้บริหารชั่วคราวที่ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากอำนาจหน้าที่มีหน้าที่ตามความในวรรคสามด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๒๒  เจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนต้องเป็นเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และลูกหนี้ได้ก่อนิติสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม โดยเจ้าหนี้ได้แสดงความประสงค์จะเข้าประชุมตามแบบพิมพ์ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดและแสดงหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้จนเป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม
               เจ้าหนี้และลูกหนี้จะขอตรวจหลักฐานแห่งความเป็นเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้
               เจ้าหนี้จะออกเสียงด้วยตนเองหรือมอบฉันทะเป็นหนังสือให้ผู้อื่นออกเสียงแทนก็ได้

               มาตรา ๙๐/๒๓  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มาประชุมว่าจะคัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใดหรือไม่ ถ้ามีผู้คัดค้านการออกเสียงของเจ้าหนี้รายใด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้คัดค้าน เจ้าหนี้ผู้ถูกคัดค้านและลูกหนี้เกี่ยวกับเรื่องที่คัดค้าน ถ้าบุคคลดังกล่าวมาประชุม แล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่เท่าใด
               คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด โดยให้มีผลเฉพาะให้เจ้าหนี้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีผลให้มติเลือกผู้ทำแผนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลเปลี่ยนแปลงไปหรือกระทบถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้

               มาตรา ๙๐/๒๔  ถ้าศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้ และผู้บริหารชั่วคราวโดยไม่ชักช้า อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนให้เริ่มแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารของลูกหนี้หรือผู้บริหารชั่วคราวสิ้นสุดลง
               เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วให้นำความในมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ และมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม กับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบ
               ในคำโฆษณาและหนังสือแจ้งคำสั่งตามวรรคสอง ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามแบบพิมพ์ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย

               มาตรา ๙๐/๒๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มาใช้บังคับแก่ผู้ทำแผนโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๔ การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๒๖ - ๙๐/๓๓)

 

ส่วนที่ ๔
การขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๒๖  เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมสำเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสำเนาคำขอรับชำระหนี้ให้ผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า
               บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๙๐/๔๑ หรือเพราะผู้บริหารแผนไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา ๙๐/๔๑ ทวิ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับหนี้เดิม หรือค่าเสียหายได้ แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดีให้นับจากวันคดีถึงที่สุด
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๑ วรรคสอง มาตรา ๑๐๕ มาตรา ๑๐๘ และบทบัญญัติในหมวด ๘ ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องค่าธรรมเนียมมาใช้บังคับเกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๒๗  เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
               ผู้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๑๐๑ อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
               หนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้บริหารชั่วคราวก่อขึ้น หนี้ที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๘) หรือ (๑๑) และหนี้ภาษีอากรหรือหนี้อื่นอันมีลักษณะเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ แต่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะต้องมีหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนก่อนวันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้าผู้ทำแผนจะปฏิเสธสิทธิของเจ้าหนี้จะต้องปฏิเสธเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของเจ้าหนี้ มิฉะนั้น ให้ถือว่ายอมรับสิทธิของเจ้าหนี้ตามที่ขอมา ถ้าเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนเองหรือผู้ทำแผนมีหนังสือปฏิเสธสิทธิของเจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น เจ้าหนี้นั้นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในสิบสี่วันนับแต่วันประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนหรือวันที่เจ้าหนี้ได้รับคำปฏิเสธนั้น แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๙๐/๒๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๑๒ (๖) มาตรา ๙๐/๑๓ และมาตรา ๙๐/๑๔ เจ้าหนี้มีประกันจะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการก็ได้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ทำแผนตรวจดูทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๙๐/๒๙  เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนอาจขอตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ แต่ต้องกระทำภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้

               มาตรา ๙๐/๓๐  คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้เต็มจำนวนหนี้ตามที่ระบุไว้ในคำขอรับชำระหนี้ ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนโดยด่วนแล้วมีคำสั่งว่าจะให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่เท่าใด และให้นำความในมาตรา ๙๐/๒๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๓๑  เพื่อประโยชน์ในการคำนวณหนี้ที่ใช้ในการออกเสียงลงคะแนน ถ้าหนี้ได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศให้คิดเป็นเงินตราไทยในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันของธนาคารแห่งประเทศไทย

               มาตรา ๙๐/๓๒  คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น
               คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
               (๒) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
               (๓) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
               การคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๙๐/๓๓  ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้นั้นอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ


               มาตรา ๙๐/๒๖ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๓๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๕ คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ (มาตรา ๙๐/๓๔ - ๙๐/๓๙)

 

ส่วนที่ ๕
คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๓๔  ภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผน ให้ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำชี้แจงตามมาตรา ๙๐/๓๕ เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ตนรับรองแล้วตามแบบพิมพ์ต่อผู้ทำแผน
               เมื่อผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นโดยมีเหตุอันควร ผู้ทำแผนอาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสามสิบวัน
               ถ้าผู้บริหารของลูกหนี้ไม่ทำหรือไม่สามารถทำคำชี้แจงได้ ให้ผู้ทำแผนเป็นผู้ทำแทน และเพื่อการนี้ให้มีอำนาจจ้างบุคคลอื่นเข้าช่วยตามที่เห็นจำเป็นโดยคิดหักค่าใช้จ่ายจากทรัพย์สินของลูกหนี้

               มาตรา ๙๐/๓๕  คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงรายการต่อไปนี้ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณา
               (๑) กิจการของลูกหนี้
               (๒) สินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่ลูกหนี้มีต่อบุคคลภายนอก
               (๓) ทรัพย์สินที่ได้ให้เป็นประกันแก่เจ้าหนี้ และวันที่ได้ให้ทรัพย์สินนั้นเป็นประกัน
               (๔) ทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่อยู่ในความยึดถือของลูกหนี้
               (๕) การเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือนิติบุคคลหรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนอื่น
               (๖) ชื่อ อาชีพและที่อยู่โดยละเอียดของเจ้าหนี้ทั้งหลาย
               (๗) ชื่อ อาชีพและที่อยู่โดยละเอียดของผู้เป็นลูกหนี้ของลูกหนี้
               (๘) รายละเอียดแห่งทรัพย์สินที่จะตกแก่ลูกหนี้ในภายหน้า
               (๙) ข้อมูลอื่นตามที่ผู้ทำแผนเห็นสมควรให้แจ้งเพิ่มเติม
               คำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นหลักฐานอันถูกต้องที่ใช้ยันลูกหนี้ได้

               มาตรา ๙๐/๓๖  ผู้บริหารชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องทำคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อผู้ทำแผนตามมาตรา ๙๐/๓๕ ในช่วงเวลาที่ตนมีอำนาจบริหารกิจการชั่วคราว และให้นำมาตรา ๙๐/๓๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๓๗  ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการทำแผนและการบริหารแผน ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวอาจขอให้ศาลออกหมายเรียกผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ ลูจ้างของลูกหนี้ ผู้สอบบัญชีของลูกหนี้ ผู้บริหารชั่วคราว หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้ความหรือสงสัยว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง หรือเชื่อว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือเห็นว่าสามารถแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาพบตนเพื่อสอบถามหรือขอให้ศาลสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือหรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ตนก็ได้
               เพื่อประโยชน์ในการทำแผนและการบริหารแผน ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะออกหมายเรียบุคคลตามวรรคหนึ่งมาไต่สวนหรือสอบสวนเองหรือสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานก็ได้
               บุคคลใดจงใจขัดขืนหมายเรียกหรือคำสั่งของศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ศาลมีอำนาจออกหมายจับบุคคลนั้นมาขังไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๙๐/๓๘  เมื่อผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครองชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ตนได้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

               มาตรา ๙๐/๓๙  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้และบุคคลนั้นไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ให้ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการ
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลดังกล่าวให้ชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้แจ้งไป และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้น จะถือว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ตามที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด
               ถ้าบุคคลที่รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ให้แจ้งต่อผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนและบุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใด ให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่ได้รับแจ้งความยืนยัน
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันนั้นคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้ศาลพิจารณา ถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผน ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำสั่งจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลตามกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
               ถ้าบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
               ในกรณีที่ผู้ถูกทวงหนี้ร้องคัดค้านต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้สั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ร้องคัดค้านไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งในเรื่องหนี้นั้นได้

ส่วนที่ ๖ การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว (มาตรา ๙๐/๔๐ - ๙๐/๔๑ ทวิ)

 

ส่วนที่ ๖
การเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๔๐  การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง
               ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หา หรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้น รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

               มาตรา ๙๐/๔๑  เมื่อปรากฏว่ามีการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง ในการนี้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
               ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการยื่นคำร้องขอและภายหลังนั้น
               การเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามมาตรานี้ ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการยื่นคำร้องขอ

               มาตรา ๙๐/๔๑ ทวิ  ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันที่ผู้บริหารแผนทราบ คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนของศาล ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ตามที่ได้กำหนดไว้ในแผน
               เจ้าหนี้หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำของผู้บริหารแผนตามมาตรานี้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับ หรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร
               บุคคลใดได้รับความเสียหายตามมาตรานี้ มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับค่าเสียหายได้


               มาตรา ๙๐/๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๔๑ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๗ การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๔๒ - ๙๐/๕๕)

 

ส่วนที่ ๗
การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๔๒  ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
               (๑) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ
               (๒) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               (๓) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ
                     (ก) ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ
                     (ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้
                     (ค) การลดทุนและเพิ่มทุน
                     (ง) การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว
                     (จ) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
                     (ฉ) เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด
               (๔) การไถ่ถอนหลักประกันในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกันและความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
               (๕) แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน
               (๖) วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้
               (๗) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน โดยนำความในมาตรา ๙๐/๖ วรรคสอง มาใช้บังคับเกี่ยวกับผู้บริหารแผนโดยอนุโลม
               (๘) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
               (๙) ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี
               (๑๐) การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญา ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้
               มิให้นำมาตรา ๑๑๑๗ มาตรา ๑๑๑๙ มาตรา ๑๑๔๕ มาตรา ๑๒๒๐ ถึงมาตรา ๑๒๒๘ มาตรา ๑๒๓๘ ถึงมาตรา ๑๒๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๓ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๔ มาตรา ๘๔ มาตรา ๑๐๒ มาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๓๖ มาตรา ๑๓๗ มาตรา ๑๓๙ มาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ มาตรา ๑๔๖ ถึงมาตรา ๑๔๘ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้

               มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ  การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๒ (๓) (ข) ให้จัดดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ให้จัดเป็นรายละกลุ่ม
               (๒) เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดกลุ่มไว้ใน (๑) ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
               (๓) เจ้าหนี้ไม่มีประกัน อาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
               (๔) เจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ ทวิ ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม
               เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี  สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ

               มาตรา ๙๐/๔๓  ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พร้อมด้วยสำเนาจำนวนอันเพียงพอเพื่อส่งให้แก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงและลูกหนี้
               กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งเดือน

               มาตรา ๙๐/๔๔  เมื่อได้รับแผนพร้อมด้วยสำเนาจากผู้ทำแผนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่หรือจะแก้ไขอย่างไร โดยให้ส่งสำเนาแผนและแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และหัวข้อประชุมไปยังเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียง ลูกหนี้ และผู้ทำแผน กับให้โฆษณากำหนดการประชุมดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสิบวัน
               ในกรณีที่ผู้ทำแผนมาประชุมไม่ได้เพราะมีเหตุผลพิเศษ ให้แจ้งขอเลื่อนการประชุมต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุม เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยทำให้แจ้งล่วงหน้าไม่ได้
               ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะให้เลื่อนการพิจารณาแผนไปหรือไม่ ถ้าที่ประชุมมีมติให้เลื่อน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการพิจารณาแผนได้ตามที่เห็นสมควโดยแจ้งกำหนดวันเวลานัดประชุมใหม่ต่อที่ประชุม และให้ถือว่าเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนซึ่งไม่ได้มาประชุมได้ทราบนัดแล้ว

               มาตรา ๙๐/๔๕  เจ้าหนี้ ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนอาจขอแก้ไขแผน โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวัน
               ในกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นผู้ขอต้องส่งสำเนาคำขอแก้ไขแผนให้ผู้ทำแผนทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสามวันด้วย
               ผู้ขอแก้ไขแผนโดยขอเปลี่ยนตัวผู้บริหารแผนต้องส่งหนังสือยินยอมของผู้ที่จะให้เป็นผู้บริหารแผนไปพร้อมกับคำขอแก้ไขแผนด้วย

               มาตรา ๙๐/๔๖  มติยอมรับแผนต้องเป็นไปดังนี้
               (๑) ที่ประชุมเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มทุกกลุ่ม ซึ่งมิใช่กลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ มีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น หรือ
               (๒) ที่ประชุมเจ้าหนี้อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม ซึ่งมิใช่กลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ มีมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่าสองในสามแห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ในกลุ่มนั้นซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น และเมื่อนับรวมจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่มแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบแห่งจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น
               ในการนับจำนวนหนี้ให้ถือว่าเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ ได้มาประชุมและได้ออกเสียงลงคะแนนในมติยอมรับแผนนั้นด้วย

               มาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ  เจ้าหนี้ดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนตามมาตรา ๙๐/๔๖ แล้ว
               (๑) เจ้าหนี้ที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ทำแผนให้ได้รับชำระหนี้ที่ผิดนัดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย และจะได้รับชำระหนี้ที่ผิดนัดเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และเจ้าหนี้นั้นยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญา หรือข้อตกลงเดิมต่อไปโดยให้ถือเสมือนว่าลูกหนี้ไม่เคยตกเป็นผู้ผิดนัดเลย
               (๒) เจ้าหนี้ที่ได้รับข้อเสนอจากผู้ทำแผนให้ได้รับชำระหนี้ตามสัญญาหรือข้อตกลงเดิม
               (๓) เจ้าหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ ทวิ

               มาตรา ๙๐/๔๗  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้าที่ประชุมไม่อาจพิจารณากิจการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นไปได้ในวันนั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปในวันทำการถัดไป โดยนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๔๘  ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน ถ้ามีการขอแก้ไขแผนให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าจะให้แก้ไขตามคำขอนั้นและข้อที่เกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ก่อน ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขและผู้ทำแผนมาประชุม ก็ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามผู้ทำแผนว่ายอมให้แก้ไขแผนตามมติหรือไม่ เมื่อผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนแล้ว จึงให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่
               ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขแผนแต่ผู้ทำแผนไม่มาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปเพื่อสอบถามผู้ทำแผนว่ายอมให้แก้ไขแผนตามมตินั้นหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ไม่มีการขอแก้ไขแผนหรือผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนแล้ว ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนดังกล่าวก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลโดยไม่ชักช้า
               เมื่อศาลได้รับรายงาน ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วน และแจ้งวันเวลานัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ในการพิจารณาให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และคำคัดค้านของลูกหนี้ ถ้าศาลฟังได้ความตามวรรคสาม ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ถ้าเป็นกรณีลูกหนี้ได้ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายไว้ก่อนแล้ว และศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้ยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเสีย แล้วให้ดำเนินคดีล้มละลายที่ได้ให้งดการพิจารณาไว้นั้นต่อไป

               มาตรา ๙๐/๔๙  ในกรณีที่มีการขอแก้ไขแผนในสาระสำคัญ เมื่อผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมขอให้เลื่อนการพิจารณาแผนไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจให้เลื่อนการพิจารณาแผนได้ตามที่เห็นสมควร โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๐  ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ต้องเลื่อนมาเพราะผู้ทำแผนไม่มาประชุมตามมาตรา ๙๐/๔๔ หรือมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสอง ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุมอีกหรือมาแต่ไม่อาจแสดงให้เป็นที่พอใจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่ามีเหตุผลพิเศษหรือมีเหตุสุดวิสัยจึงมาประชุมไม่ได้หรือแจ้งล่วงหน้าก่อนวันประชุมครั้งก่อนไม่ได้ แล้วแต่กรณี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าสมควรให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือไม่ ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๕๑ เกี่ยวกับการเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ไม่ว่าจะมีการขอแก้ไขแผนหรือไม่ ถ้าผู้ทำแผนไม่มาประชุมอีกให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนหรือแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ ถ้าผู้ทำแผนมาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการประชุมเจ้าหนี้ต่อไป ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๑  ในกรณีที่ผู้ทำแผนไม่ยอมให้แก้ไขแผนตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนของผู้ทำแผน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถามที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือไม่ ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้มีการตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ในวันนั้น
               เจ้าหนี้ที่มาประชุมหรือลูกหนี้มีสิทธิเสนอชื่อผู้ทำแผนคนใหม่โดยต้องแสดงหนังสือยินยอมของผู้ถูกเสนอชื่อด้วย
               ถ้าไม่มีผู้ใดเสนอชื่อผู้ทำแผนตามความในวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการประชุมไปเพื่อเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ภายในกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามวันแต่ไม่เกินเจ็ดวัน โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งนัดประชุมใหม่ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๒  ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ได้ ให้ศาลตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนคนใหม่ โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๗ วรรคสอง และวรรคหก มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติไม่ให้ตั้งผู้ทำแผนคนใหม่หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทำแผนคนใหม่ได้ หรือศาลมีเหตุผลอันสมควที่จะไม่ให้มีการตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยเร็ว ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๓  เมื่อศาลตั้งผู้ทำแผนคนใหม่ ให้อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนคนใหม่และผู้ทำแผนคนเดิมเริ่มและสิ้นสุดในวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผนคนเดิมและผู้ทำแผนคนใหม่โดยไม่ชักช้า
               เมื่อได้ทราบคำสั่งศาล ให้ผู้ทำแผนคนเดิมส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ผู้ทำแผนคนใหม่โดยเร็วที่สุด
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ กับแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงและนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้แจ้งไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๕๔  ภายในกำหนดเวลาสี่สิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่งศาลให้ผู้ทำแผนคนใหม่ส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนัดประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔๔ วรรคหนึ่งต่อไป
               กำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจขยายให้อีกได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน
               ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนดังกล่าว ถ้าไม่มีการขอแก้ไขแผน ให้เสนอแผนนั้นต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับหรือไม่
               ถ้ามีการขอแก้ไขแผน ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าจะให้แก้ไขตามคำขอนั้น และข้อที่เกี่ยวเนื่องกันก่อน หากไม่มีมติให้แก้ไข ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
               ถ้ามีมติให้แก้ไขแผนแต่ผู้ทำแผนไม่มาประชุม ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขนั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนดังกล่าว ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
               ถ้ามีมติให้แก้ไขแผนและผู้ทำแผนมาประชุม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามความยินยอมของผู้ทำแผนก่อน เมื่อผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขแผนตามมติแล้ว จึงให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ในกรณีที่ผู้ทำแผนไม่ยอมให้แก้ไขแผนตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่มีการแก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนดังกล่าว ก็ให้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ว่าจะยอมรับแผนที่ผู้ทำแผนยอมให้แก้ไขเพียงบางส่วน หรือแผนที่เสนอตามวรรคหนึ่งหรือไม่
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนของผู้ทำแผนคนใหม่หรือแผนที่มีการแก้ไขก็ดี หรือไม่ลงมติประการใดก็ดี หรือไม่มีเจ้าหนี้ไปประชุมก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลโดยไม่ชักช้า และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๔๕ วรรคสาม มาตรา ๙๐/๔๗ และมาตรา ๙๐/๔๙ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาแผนที่เสนอใหม่โดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๕  ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับแผนที่ประชุมเจ้าหนี้อาจลงมติตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้ทั้งหลายในการสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานตามแผนได้๑๐
               คณะกรรมการเจ้าหนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนและไม่เกินเจ็ดคน โดยเลือกจากเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ เจ้าหนี้คนหนึ่งจะมีผู้แทนเป็นกรรมการเจ้าหนี้เกินกว่าหนึ่งคนไม่ได้


               มาตรา ๙๐/๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๔๒ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๔๒ ตรี เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๔๖
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๙๐/๔๖ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๔๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๕๐ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

               มาตรา ๙๐/๕๑ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               ๑๐ มาตรา ๙๐/๕๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๘ การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๕๖ - ๙๐/๕๙)

 

ส่วนที่ ๘
การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๕๖  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนต่อศาลโดยเร็วเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลกำหนดวันพิจารณาแผนเป็นการด่วน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ผู้ทำแผนลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน

               มาตรา ๙๐/๕๗  ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผนรวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา ๙๐/๓๐ ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน

               มาตรา ๙๐/๕๘  ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า
               (๑) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒
               (๒) ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม และ
               (๓) เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
               ในกรณีที่แผนมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒ ให้ศาลสอบถามผู้ทำแผน ถ้าศาลเห็นว่ารายการในแผนที่ขาดไปนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒
               ถ้าศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลนัดพิจารณาว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๕๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้บริหารแผนและผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ และมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ศาลแจ้งคำสั่งแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณีด้วย และห้ามมิให้ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นมีคำสั่งใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ


               มาตรา ๙๐/๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๙ การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๖๐ - ๙๐/๗๑)

 

ส่วนที่ ๙
การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๖๐  แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ตามมาตรา ๙๐/๒๗
               คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

               มาตรา ๙๐/๖๑  เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๙๐/๒๖ หรือมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่
               (๑) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น หรือ
               (๒) ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

               มาตรา ๙๐/๖๒  เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผน ดังต่อไปนี้
               (๑) หนี้ซึ่งผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือตัวแทนของบุคคลดังกล่าวก่อขึ้น
               (๒) หนี้ภาษีอากร และ
               (๓) หนี้อย่างอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ต้องชำระ เช่น เงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น

               มาตรา ๙๐/๖๒ ทวิ  กรณีศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หนี้ตามมาตรา ๙๐/๖๒ (๑) ที่เกิดขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยสุจริต ย่อมมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ ๑ ตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๙๐/๖๓  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ ผู้บริหารแผนอาจเสนอขอแก้ไขแผน ในกรณีเช่นว่านี้ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ มาตรา ๙๐/๔๔ มาตรา ๙๐/๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๙๐/๔๖ มาตรา ๙๐/๔๗ มาตรา ๙๐/๕๖ มาตรา ๙๐/๕๗ มาตรา ๙๐/๕๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๙๐/๕๙ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๐/๖๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ห้ามมิให้เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ขอแก้ไขข้อเสนอขอแก้ไขแผนนั้น เว้นแต่ผู้บริหารแผนจะยินยอมด้วย
               การแก้ไขแผนโดยขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนให้ทำได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีเป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ผู้บริหารแผนจะขอขยายเวลาต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้
               ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ ยอมรับข้อเสนอขอแก้ไขแผนตามวรรคหนึ่ง หรือศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนดังกล่าว ให้ผู้บริหารแผนบริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไปตามแผนเดิม

               มาตรา ๙๐/๖๔  ผู้บริหารแผนอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำข้อบังคับของลูกหนี้ขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิของลูกหนี้ตามแนวทางที่กำหนดในแผนหรือแผนที่แก้ไข
               เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๖๕  ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ตาย
               (๒) นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารแผนเลิกกัน
               (๓) ศาลอนุญาตให้ลาออก
               (๔) ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
               (๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๖) พ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน
               (๗) เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงหรือเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน
               (๘) ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๐/๖๗

               มาตรา ๙๐/๖๖  ให้ผู้บริหารแผนจัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามแผนเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกรอบสามเดือนตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด

               มาตรา ๙๐/๖๗  ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือขาดคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือคณะกรรมการเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๙๐/๖๘  เมื่อผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและยังมีกิจการตามแผนที่จะต้องดำเนินต่อไป ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่โดยเร็วที่สุด
               เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้สองครั้งแล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ เลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลนัดพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการด่วน และต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
               เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และลูกหนี้แล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผน หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาตรา ๙๐/๔๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๙๐/๕๑ วรรคสองและวรรคสาม มาตรา ๙๐/๕๒ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๙๐/๕๓ วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๖๙  ในกรณีที่มีเหตุทำให้ผู้บริหารแผนทำหน้าที่ไม่ได้เป็นการชั่วคราว หรือในระหว่างที่ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและศาลยังมิได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวจนกว่าเหตุเช่นว่านั้นสิ้นสุดลง ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราวได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว
               ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนชั่วคราวให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๗๐  ถ้าผู้บริหารของลูกหนี้ ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราวหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้วให้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และให้ศาลนัดพิจารณาหากได้ความว่ากาฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตาแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ในกรณีที่ยังเหลือระยะเวลาดำเนินการตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการต่อไปภายในกำหนดระยะเวลาตามแผน ถ้าในระหว่างนั้นระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงแล้ว แต่เป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินการมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ศาลจะขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้ มิฉะนั้นให้ศาลดำเนินการต่อไปตามวรรคสอง
               เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี รายงานให้ศาลทราบภายในสิบสี่วันนับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วนและแจ้งวันเวลานัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน ในการพิจารณาให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้และคำคัดค้านของลูกหนี้ ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าศาลไม่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายก็ให้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
               นับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงจนกระทั่งศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามวรรคสอง ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี คงมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปเท่าที่จำเป็น

               มาตรา ๙๐/๗๑  เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แต่ผู้บริหารของลูกหนี้ยังไม่ได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี มีอำนาจจัดการเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกหนี้ตามสมควรแก่พฤติการณ์จนกว่าผู้บริหารของลูกหนี้จะเข้าจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
               ถ้าตำแหน่งผู้บริหารของลูกหนี้ว่างอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ หรือดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
               ในกรณีที่ต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว และให้ถือว่าเป็นการประชุมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น


               มาตรา ๙๐/๖๒ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
              
มาตรา ๙๐/๖๓ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๖๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๙๐/๖๘ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๑๐ การยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๗๒ - ๙๐/๗๖)

 

ส่วนที่ ๑๐
การยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๗๒  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ให้ศาลประกาศคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับ กับให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วนเพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้ศาลแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๗๓  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี และผู้บริหารของลูกหนี้โดยไม่ชักช้า
               เมื่อได้ทราบคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
               ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แล้วแต่กรณี ในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่าสองฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วนเพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณี เพื่อทราบด้วย

               มาตรา ๙๐/๗๔  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้ และให้ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

               มาตรา ๙๐/๗๕  คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว และให้มีผลดังนี้
               (๑) ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป
               (๒) ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
               (๓) ค่าตอบแทนของผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน ผู้บริหารแผนชั่วคราว และหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยกเว้นหนี้ละเมิด เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ ๑ ตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๙๐/๗๖  คำสั่งศาลที่ให้ยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ไม่กระทบถึงการใดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวได้กระทำไปแล้ว ก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น

ส่วนที่ ๑๑ การขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด (มาตรา ๙๐/๗๗ - ๙๐/๗๘)

 

ส่วนที่ ๑๑
การขอรับชำระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๗๗  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามมาตรา ๙๐/๔๘ มาตรา ๙๐/๕๐ มาตรา ๙๐/๕๒ มาตรา ๙๐/๕๔ มาตรา ๙๐/๕๘ มาตรา ๙๐/๖๘ และมาตรา ๙๐/๗๐ ให้ถือว่าวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาเป็นวันที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย และให้เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งเจ้าหนี้ในหนี้อื่นที่อาจขอรับชำระหนี้ได้จากมูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ แล้วให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๐๔ ถึงมาตรา ๑๐๘
               หนี้ค่าตอบแทนของผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารแผนชั่วคราว และหนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ รวมถึงหนี้ซึ่งลูกหนี้ก่อขึ้นโดยชอบตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) มิให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๙๔ (๒)
               หนี้ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้นตามแผนเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้จัดอยู่ในลำดับเดียวกับค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา ๑๓๐ (๒)
               หนี้จำนวนใดที่เจ้าหนี้ตามวรรคหนึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับหนี้จำนวนนั้นอีก
               ให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกแต่งตั้งเจ้าหนี้คนหนึ่งหรือหลายคนทำหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์

               มาตรา ๙๐/๗๘  คำสั่งของศาลที่ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในมาตรา ๙๐/๔๘ มาตรา ๙๐/๕๐ มาตรา ๙๐/๕๒ มาตรา ๙๐/๕๔ มาตรา ๙๐/๕๘ มาตรา ๙๐/๖๘ และมาตรา ๙๐/๗๐ ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำโดยสุจริตและเป็นไปตามแผนแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น และมีผลให้หนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระในการฟื้นฟูกิจการกลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม เว้นแต่สภาพหนี้ในขณะนั้นจะไม่เปิดช่องให้กระทำได้

ส่วนที่ ๑๒ การอุทธรณ์ (มาตรา ๙๐/๗๙)

 

ส่วนที่ ๑๒
การอุทธรณ์

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๗๙  (ยกเลิก)


               ส่วนที่ ๑๒ การอุทธรณ์ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗
               มาตรา ๙๐/๗๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

ส่วนที่ ๑๓ บทกำหนดโทษว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ (มาตรา ๙๐/๘๐ - ๙๐/๙๐)

 

ส่วนที่ ๑๓
บทกำหนดโทษว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๘๐  ผู้ใดยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๙๐/๓ หรือแบบแสดงความประสงค์จะเข้าประชุมเพื่อเลือกผู้ทำแผนตามมาตรา ๙๐/๒๒ หรือคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๒๖ หรือหนังสือขอให้ผู้ทำแผนออกหนังสือรับรองสิทธิของตนตามมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม อันเป็นเท็จในสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๑  ผู้ใดให้ถ้อยคำหรือส่งสมุดบัญชี เอกสารหรือวัตถุพยานอันเป็นเท็จในสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้หรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๒  ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๐/๑๒ (๙) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๓  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ออกตามความในมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสอง หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๐/๑๙ มาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาตรา ๙๐/๒๔ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๓๔ มาตรา ๙๐/๓๖ มาตรา ๙๐/๕๓ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๕๙ วรรคสอง มาตรา ๙๐/๖๘ วรรคสี่ มาตรา ๙๐/๗๐ วรรคสอง หรือมาตรา ๙๐/๗๓ วรรคสอง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๔  ผู้บริหารของลูกหนี้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ไม่ชี้แจงข้อความอันเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
               (๒) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน เมื่อได้ทราบว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมากล่าวอ้างเพื่อเลือกผู้ทำแผนหรือขอรับชำระหนี้ตามแผน
               (๓) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน เมื่อได้ทราบว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมาขอให้ชำระหนี้ตามมาตรา ๙๐/๒๗ วรรคสาม หรือมาตรา ๙๐/๖๒
               (๔) ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๖ วรรคสี่ หรือมาตรา ๙๐/๙ วรรคสอง หรือยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๓๕ อันเป็นเท็จในสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้เจ้าหนี้เสียหาย
               ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๘๕  ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหนี้หรือผู้อื่น โดยมุ่งหมายที่จะได้รับการสนับสนุนหรือการยอมรับของเจ้าหนี้ในการเลือกผู้ทำแผน

หมวด ๓/๒ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (มาตรา ๙๐/๙๑ - ๙๐/๑๒๘)

 

หมวด ๓/๒
กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


               หมวด ๓/๒ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มาตรา ๙๐/๙๑ ถึงมาตรา ๙๐/๑๒๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

ส่วนที่ ๑ บทนิยาม (มาตรา ๙๐/๙๑)

 

ส่วนที่ ๑
บทนิยาม

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๙๑  ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
               “เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน
               “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่จดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ
               “คำร้องขอ” หมายความว่า คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน
               “ผู้ร้องขอ” หมายความว่า ผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน
               “แผน” หมายความว่า แผนฟื้นฟูกิจการ
               “ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นลูกหนี้ และหมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียในคณะบุคคลผู้เป็นลูกหนี้ด้วย
               “ผู้บริหารแผน” หมายความว่า ผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผน
               “ผู้บริหารของลูกหนี้” หมายความว่า หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

ส่วนที่ ๒ การขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน (มาตรา ๙๐/๙๒ - ๙๐/๙๘)

 

ส่วนที่ ๒
การขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๙๒  เมื่อลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกัน โดยลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาทแต่ไม่ถึงสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนได้
               ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้
               (๑) ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน
               (๒) ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วยังไม่ชำระหนี้ภายในเวลาสามสิบวัน
               (๓) ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ร้องขอบังคับคดีแก่ลูกหนี้แล้วไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้
               (๔) ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ผิดนัดหรืออาจจะผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ
               (๕) ลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้

               มาตรา ๙๐/๙๓  บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนได้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าหนี้ในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้แน่นอนตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง
               (๒) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง

               มาตรา ๙๐/๙๔  บุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
               (๒) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
               (๓) ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามความในหมวดนี้ ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนยื่นคำร้องขอ

               มาตรา ๙๐/๙๕  คำร้องขอของบุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง
               (๑) การที่ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้
               (๒) รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ และมีจำนวนหนี้แน่นอนตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง รวมทั้งรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย
               (๓) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
               ผู้ร้องขอจะต้องแนบแผน พร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบในแผนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด

               มาตรา ๙๐/๙๖  ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย
               (๑) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ
               (๒) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ยื่นคำร้องขอ
               (๓) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ
                     (ก) ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ
                     (ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้โดยสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
                     (ค) การลดทุนและเพิ่มทุน
                     (ง) การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว
                     (จ) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
                     (ฉ) เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด
               (๔) การไถ่ถอนหลักประกัน ในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกัน และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
               (๕) แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน
               (๖) วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้
               (๗) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน
               (๘) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
               (๙) ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินสามปี
               (๑๐) การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญา ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้

               มาตรา ๙๐/๙๗  ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องชำระค่าขึ้นศาลหนึ่งพันบาท และต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องขอต้องรับผิดชอบในการขอฟื้นฟูกิจการไว้ต่อศาลเป็นจำนวนหนึ่งหมื่นบาทในขณะยื่นคำร้องขอ หรือตามจำนวนที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ ให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

               มาตรา ๙๐/๙๘  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
               ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน


               มาตรา ๙๐/๙๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๙๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๙๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๙๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๙๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๙๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๙๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

ส่วนที่ ๓ การพิจารณาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน (มาตรา ๙๐/๙๙ - ๙๐/๑๐๕)

 

ส่วนที่ ๓
การพิจารณาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๙๙  เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน และให้ศาลประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับล่วงหน้าก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอและแจ้งวันเวลานัดไต่สวนแก่ลูกหนี้ เจ้าหนี้ทั้งหลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน

               มาตรา ๙๐/๑๐๐  ในการไต่สวนคำร้องขอ ศาลต้องไต่สวนเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐/๙๒ และมาตรา ๙๐/๙๕ และแผนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ศาลสามารถให้ความเห็นชอบได้ตามมาตรา ๙๐/๑๐๑ ถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการและแผนเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอโดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน มิฉะนั้นให้มีคำสั่งยกคำร้องขอ
               ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านคำร้องขอ ถ้าศาลเห็นสมควรจะงดการไต่สวนและมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๐๑  การให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาล ต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖
               (๒) แผนได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด
               (๓) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้เสียเปรียบจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือกับข้อเสนอชำระหนี้ในลำดับซึ่งแตกต่างออกไป
               (๔) เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และ
               (๕) เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
               ในกรณีที่แผนมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖ ให้ศาลสอบถามผู้ร้องขอ ถ้าศาลเห็นว่ารายการในแผนที่ขาดไปนั้นไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ให้ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖

               มาตรา ๙๐/๑๐๒  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ให้ศาลประกาศคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ กับให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๐๓  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๑ มาใช้บังคับกับการไต่สวนคำร้องขอของศาลโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๑๐๔  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามความในหมวดนี้
               (๑) ห้ามมิให้ฟ้องหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้เลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ ถ้ามีการฟ้องหรือร้องขอคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้
               (๒) ห้ามมิให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ และห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเลิกกันโดยประการอื่น
               (๓) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ในกรณีที่มีการฟ้องคดีหรือเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไว้ก่อนแล้ว ให้งดการพิจารณาไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๔) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ในกรณีที่ได้ดำเนินการบังคับคดีไว้ก่อนแล้วให้ศาลงดการบังคับคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอ หรือการบังคับคดีตามคำพิพากษาให้ลูกหนี้ส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่งเสร็จก่อนวันดังกล่าวนั้น
               ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนแห่งค่าของทรัพย์สินนั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายได้โดยวิธีขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นที่สมควร แล้วให้กักเงินไว้ ถ้าศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมอบเงินนั้นแก่ผู้บริหารแผนนำไปใช้จ่ายได้ ถ้าศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
               (๕) ห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
               (๖) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ซึ่งบังคับชำระหนี้ได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้
               (๗) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่นที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ลูกหนี้หรือผู้บริหารแผน แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ราคา ค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญา สองคราวติดต่อกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ
               (๘) ห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคำร้องขอจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               (๙) คำสั่งตามวิธีการชั่วคราวของศาลที่ให้ยึด อายัด ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราว ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณานั้น ให้ศาลที่รับคำร้องขอมีอำนาจสั่งให้ระงับผลบังคับไว้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ถ้าต่อมาศาลนั้นมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ก็ให้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวหรือคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวดังกล่าวตามที่เห็นสมควรต่อไป
               (๑๐) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ลูกหนี้หรือผู้บริหารแผน แล้วแต่กรณี ไม่ชำระค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนสองคราวติดต่อกัน แต่ไม่ห้ามผู้ประกอบการสาธารณูปโภคที่จะมีคำร้องให้ศาลที่รับคำร้องขอมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องตามที่ศาลเห็นสมควร
               คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล หรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่งไม่มีผลผูกพันลูกหนี้
               การออกคำสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทำนิติกรรมหรือการชำระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ

               มาตรา ๙๐/๑๐๕  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๓ มาตรา ๙๐/๑๔ และมาตรา ๙๐/๑๕ มาใช้บังคับกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้ การดำเนินการที่ถือเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกัน อายุความและระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการบังคับคดี และระยะเวลาเกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดยอนุโลม


               มาตรา ๙๐/๙๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

ส่วนที่ ๔ การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน (มาตรา ๙๐/๑๐๖ - ๙๐/๑๑๕)

 

ส่วนที่ ๔
การดำเนินการภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑๐๖  เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลประกาศคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ และแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคำสั่งศาลไว้ในทะเบียนด้วย กับให้แจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำคำสั่งดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๙๐/๑๐๗  แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ที่ได้เข้าร่วมประชุมในการลงมติเห็นชอบด้วยแผนหรือได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมในการลงมติดังกล่าว
               มิให้นำมาตรา ๑๐๕๕ (๑) (๒) และ (๔) มาตรา ๑๐๕๖ มาตรา ๑๐๕๗ (๑) และ (๒) มาตรา ๑๑๑๗ มาตรา ๑๑๑๙ มาตรา ๑๑๔๕ มาตรา ๑๒๒๐ ถึงมาตรา ๑๒๒๘ และมาตรา ๑๒๓๘ ถึงมาตรา ๑๒๔๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่แผนตามมาตรานี้
               คำสั่งของศาลที่ให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมเป็นหนังสือด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๐๘  ในระหว่างการดำเนินการตามแผน หากมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลเกี่ยวกับมูลหนี้ที่ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนว่าลูกหนี้ไม่แสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินของตน หรือแสดงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระของเจ้าหนี้ทั้งหลายไม่ถูกต้อง ให้ศาลนัดพิจารณาเป็นการด่วน กับให้ส่งสำเนาคำร้องแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายผู้บริหารแผน และลูกหนี้
               หากศาลไต่สวนแล้วได้ความจริงตามที่เจ้าหนี้ร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสอบถามผู้บริหารแผนและลูกหนี้ถึงเหตุดังกล่าว ถ้าศาลเห็นว่าหนี้ที่มิได้แสดงหรือที่ได้แสดงไว้ในรายละเอียดแห่งหนี้สินนั้นเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนหรือลูกหนี้แก้ไขแผนสำหรับหนี้ที่ขาดหายไปหรือแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้อง และให้ถือว่าแผนยังมีผลผูกพันเจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไป ถ้าศาลเห็นว่าหนี้ที่มิได้แสดงหรือที่ได้แสดงไว้ในรายละเอียดแห่งหนี้สินนั้นเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในสาระสำคัญ ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน

               มาตรา ๙๐/๑๐๙  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดรกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ เว้นแต่สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตกแก่ผู้บริหารแผน

               มาตรา ๙๐/๑๑๐  ผู้บริหารแผนอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ทำข้อบังคับของลูกหนี้ขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับหรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิของลูกหนี้ตามแนวทางที่กำหนดในแผน
               เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๑๑๑  ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งในกรณี ดังต่อไปนี้
               (๑) ตาย
               (๒) นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้บริหารแผนเลิกกัน
               (๓) ศาลอนุญาตให้ลาออก
               (๔) ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
               (๕) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๖) พ้นจากตำแหน่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน
               (๗) เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง หรือเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน
               (๘) ศาลมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๙๐/๑๑๓

               มาตรา ๙๐/๑๑๒  ให้ผู้บริหารแผนจัดทำรายงานการปฏิบัติงานตามแผนเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุกรอบสามเดือนตามรูปแบบที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด

               มาตรา ๙๐/๑๑๓  ในกรณีที่ผู้บริหารแผนไม่ดำเนินการตามแผน หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล หรือเจ้าหนี้ ผู้บริหารของลูกหนี้ หรือลูกหนี้มีคำร้องต่อศาล ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งหรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๙๐/๑๑๔  เมื่อผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งและยังมีกิจการตามแผนที่จะต้องดำเนินต่อไป หากเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เสอชื่อผู้บริหารแผนคนใหม่ต่อศาล และไม่มีผู้คัดค้าน ก็ให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้บริหารแผน
               กรณีที่มีการคัดค้านชื่อผู้บริหารแผน ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้โดยเร็วที่สุดเพื่อลงมติเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ โดยมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอชื่อผู้นั้นต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้บริหารแผน
               เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ตามวรรคสองแล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจลงมติเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาล ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลนัดพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นการด่วน และต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนและฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ และลูกหนี้แล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้บริหารแผน หรือมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๑๑๕๑๐  ในกรณีที่มีเหตุทำให้ผู้บริหารแผนทำหน้าที่ไม่ได้เป็นการชั่วคราวหรือในระหว่างที่ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง และศาลยังมิได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวจนกว่าเหตุเช่นว่านั้นสิ้นสุดลง หรือจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ ทั้งนี้ ให้ผู้บริหารแผนชั่วคราวมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้บริหารแผน
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


               มาตรา ๙๐/๑๐๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๐๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               ๑๐ มาตรา ๙๐/๑๑๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

ส่วนที่ ๕ การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ (มาตรา ๙๐/๑๑๖ - ๙๐/๑๒๑)

 

ส่วนที่ ๕
การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน
และการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑๑๖  ถ้าลูกหนี้ ผู้บริหารของลูกหนี้ ผู้บริหารแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี เห็นว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว ให้รายงานขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า และให้ศาลนัดพิจารณา หากได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ชักช้า แต่ถ้าได้ความว่าการฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ในกรณีที่ยังเหลือระยะเวลาดำเนินการตามแผน ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการต่อไปภายในกำหนดระยะเวลาตามแผน ถ้าในระหว่างนั้นระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงแล้ว แต่เป็นที่เห็นได้แน่ชัดว่าแผนได้ดำเนินการมาใกล้จะสำเร็จแล้ว ศาลจะขยายระยะเวลาดำเนินการตามแผนต่อไปอีกตามควรแก่กรณีก็ได้ มิฉะนั้นให้ศาลดำเนินการต่อไปตามวรรคสอง
               เมื่อระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน ให้ผู้บริหารแผนหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แล้วแต่กรณี รายงานให้ศาลทราบภายในสิบสี่วันนับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุด ถ้าศาลเห็นสมควรก็ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
               นับแต่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลงจนกระทั่งศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ผู้บริหารแผนคงมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปเท่าที่จำเป็น

               มาตรา ๙๐/๑๑๗  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ให้ศาลแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารแผน ลูกหนี้และผู้บริหารของลูกหนี้ โดยไม่ชักช้า
               เมื่อได้ทราบคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้บริหารแผนต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้แก่ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๑๐๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๐/๑๑๘  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ และให้ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

               มาตรา ๙๐/๑๑๙  คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความผูกพันในหนี้ของลูกหนี้กับเจ้าหนี้ตามแผน และให้มีผลดังนี้
               (๑) ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้กลับมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป
               (๒) ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป
               (๓) ค่าตอบแทนของผู้บริหารแผน และหนี้ซึ่งผู้บริหารแผนก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยกเว้นหนี้ละเมิด เป็นหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้ โดยให้อยู่ในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิลำดับที่ ๑ ตามมาตรา ๒๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๙๐/๑๒๐  เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจแต่ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ยังไม่ได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจจัดการเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกหนี้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ จนกว่าลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้จะเข้าจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้
               ถ้าตำแหน่งผู้บริหารของลูกหนี้ว่างอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ หรือดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้โดยเร็วที่สุด
               ในกรณีที่ต้องมีการประชุมเพื่อดำเนินการตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมดังกล่าว และให้ถือว่าเป็นการประชุมของลูกหนี้

               มาตรา ๙๐/๑๒๑  คำสั่งศาลที่ให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการไม่กระทบถึงการใดที่ผู้บริหารแผนได้กระทำไปแล้วก่อนศาลมีคำสั่งเช่นว่านั้น


               มาตรา ๙๐/๑๑๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๑๙ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๐ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

ส่วนที่ ๖ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๙๐/๑๒๒ - ๙๐/๑๒๘)

 

ส่วนที่ ๖
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๙๐/๑๒๒  ผู้ใดยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๙๐/๙๒ อันเป็นเท็จในสาระสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๑๒๓  ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๐/๑๐๔ (๘) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๑๒๔  ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ผู้ใดโดยทุจริตปกปิดรายละเอียดแห่งหนี้สินในสาระสำคัญ หรือแสดงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระของเจ้าหนี้ทั้งหลายอันเป็นเท็จในสาระสำคัญ ซึ่งอาจทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๑๒๕  ผู้ใดล่วงรู้กิจการหรือข้อมูลใด ๆ ของลูกหนี้ที่ได้รับการฟื้นฟูกิจการเนื่องมาจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดในหมวดนี้ อันเป็นกิจการหรือข้อมูลที่ตามปกติวิสัยของลูกหนี้ที่ได้รับการฟื้นฟูจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยด้วยประการใด ๆ นอกจากตามหน้าที่ หรือเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสาปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๑๒๖  ผู้ใดเป็นผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราวปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ โดยมุ่งหมายให้เกิดความเสียหายแก่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๙๐/๑๒๗  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามความในหมวดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการ อันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

               มาตรา ๙๐/๑๒๘  ให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นผู้เสียหายในความผิดตามความในหมวดนี้ด้วย


               มาตรา ๙๐/๑๒๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
               มาตรา ๙๐/๑๒๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

หมวด ๔ วิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ (มาตรา ๙๑ - ๑๓๘)

ส่วนที่ ๑ การขอรับชำระหนี้ (มาตรา ๙๑ - ๑๐๘)

 

ส่วนที่ ๑
การขอรับชำระหนี้

-------------------------

               มาตรา ๙๑  เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
               คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินและข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกัน หรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ให้แนบเอกสารที่เกี่ยวกับหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้มาด้วย

               มาตรา ๙๑/๑  ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้และแสดงถึงเหตุสุดวิสัยที่ตนไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลา เมื่อศาลเห็นว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
               เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่ภายหลังการแบ่งทรัพย์สินก่อนที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงการใดที่ศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว

               มาตรา ๙๒  บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะสิ่งของของตนถูกยึดไปตามมาตรา ๑๐๙ (๓) ก็ดี หรือเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๑๑๕ ก็ดี หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา ๑๒๒ ก็ดี มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับราคาสิ่งของหรือหนี้เดิมหรือค่าเสียหายได้ แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดี ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด

               มาตรา ๙๓  ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด

               มาตรา ๙๔  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
               (๑) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
               (๒) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

               มาตรา ๙๕  เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๙๖  เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
               (๑) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
               (๒) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
               (๓) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
               (๔) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
               ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
               บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

               มาตรา ๙๗  ถ้าเจ้าหนี้มีประกันขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้นั้นต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับ เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะแสดงต่อศาลได้ว่า การละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ ในกรณีเช่นนี้ศาลอาจอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ โดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่งหรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๙๘  ถ้าหนี้ที่ขอรับชำระได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คิดเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๙๙  ถ้าเป็นหนี้ค่าเช่าหรือหนี้อย่างอื่นซึ่งมีกำหนดระยะเวลาให้ชำระ และวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ตรงกับวันกำหนด เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ตามส่วนจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้

               มาตรา ๑๐๐  ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ไม่ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้

               มาตรา ๑๐๑  ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
               บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

               มาตรา ๑๐๒  ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดี ก็อาจหักกลบลบกันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว

               มาตรา ๑๐๓  เมื่อบุคคลซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขบังคับก่อนขอหักกลบลบหนี้ บุคคลนั้นจะต้องให้ประกันสำหรับจำนวนที่ขอหักกลบลบหนี้นั้น

               มาตรา ๑๐๔  เมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รีบนัดลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมกันเพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้ โดยแจ้งความให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๑๐๕  ในการพิจารณาและมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนหรือให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับหนี้สินได้

               มาตรา ๑๐๖  คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อื่นไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจเป็นผู้พิจารณาสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น
               คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
               (๒) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
               (๓) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
               การคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
               การพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคัดค้านตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนคำขอรับชำระหนี้มาตรวจและสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำคำชี้แจงในเรื่องที่เป็นปัญหาตามที่เห็นสมควรได้ หากศาลเห็นสมควรไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วเท่าที่จำเป็น

               มาตรา ๑๐๗  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๐๘  คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเจ้าพนังานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วนั้น ถ้าต่อมาปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งไปโดยผิดหลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้ หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้มีคำสั่งอนุญาตไปแล้วได้


               มาตรา ๙๑ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๙๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๙๔ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

               มาตรา ๑๐๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๐๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

ส่วนที่ ๒ ทรัพย์สินซึ่งอาจเอามาชำระหนี้ (มาตรา ๑๐๙)

 

ส่วนที่ ๒
ทรัพย์สินซึ่งอาจเอามาชำระหนี้

-------------------------

               มาตรา ๑๐๙  ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้
               (๑) ทรัพย์สินทั้งหลายอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เว้นแต่
                     ก. เครื่องใช้สอยส่วนตัวอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งลูกหนี้รวมทั้งคู่สมรสและบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ จำเป็นต้องใช้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป และ
                     ข. สัตว์ พืชพันธุ์ เครื่องมือและสิ่งของสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ราคารวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท
               (๒) ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาปลดจากล้มละลาย
               (๓) สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครองหรืออำนาจสั่งการหรือสั่งจำหน่ายของลูกหนี้ ในทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทำให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย


               มาตรา ๑๐๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
               มาตรา ๑๐๙ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๓ ผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว (มาตรา ๑๑๐ - ๑๑๖)

 

ส่วนที่ ๓
ผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว

-------------------------

               มาตรา ๑๑๐  คำสั่งของศาลที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้ เว้นแต่การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
               การบังคับคดีนั้น ให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หรือถึงการที่ผู้ใดได้ชำระเงินโดยสุจริตแก่ศาล หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล หรือถึงความสมบูรณ์แห่งการซื้อโดยสุจริตในการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาล

               มาตรา ๑๑๑  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จำหน่ายทรัพย์สินแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน ถ้าได้รับคำแจ้งความว่าได้มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก่อนที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินไว้ และถ้าต่อไปศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและค่าธรรมเนียมโจทก์ในชั้นบังคับคดี เหลือเท่าใดให้ส่งเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ในกรณีเช่นว่านี้มิให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๑๑๒  ถ้าในระหว่างที่การบังคับคดียังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแจ้งความว่าลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ในอำนาจหรือความยึดถือของตนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และให้ปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและค่าธรรมเนียมโจทก์ในชั้นบังคับคดี ให้หักจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อน

               มาตรา ๑๑๓  การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง
               การขอให้เพิกถอนตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ขอเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น

               มาตรา ๑๑๔  ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๑๑๓ นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

               มาตรา ๑๑๕  การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
               ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น

               มาตรา ๑๑๖  บทบัญญัติในมาตรา ๑๑๕ ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย


               มาตรา ๑๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
               มาตรา ๑๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
               มาตรา ๑๑๓ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               มาตรา ๑๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๑๕ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

               มาตรา ๑๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๔ การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สิน (มาตรา ๑๑๗ - ๑๒๓)

 

ส่วนที่ ๔
การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๑๑๗  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกลูกหนี้ คู่สมรสของลูกหนี้ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้ความหรือสงสัยว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง หรือเชื่อว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ หรือเห็นว่าสามารถแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาไต่สวน หรือสอบสวน และมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือ หรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้
               ถ้าบุคคลนั้นจงใจขัดขืนหมายเรียกหรือคำสั่ง ศาลมีอำนาจออกหมายจับบุคคลนั้นมาขังไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

               มาตรา ๑๑๘  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา

               มาตรา ๑๑๙  เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ให้จำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้ และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งจำนวนเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใดให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยัน
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันนั้นคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้ศาลพิจารณา ถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำสั่งให้จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้
               ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลตามกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
               ถ้าบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
               ในกรณีที่ผู้ถูกทวงหนี้ร้องคัดค้านต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้สั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ร้องคัดค้านไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งในเรื่องหนี้นั้นได้

               มาตรา ๑๒๐  ถ้าลักษณะแห่งธุรกิจของลูกหนี้มีเหตุอันสมควรที่จะดำเนินต่อไป เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินธุรกิจของลูกหนี้นั้นเองเพื่อชำระสะสางธุรกิจนั้นให้เสร็จไปหรือจะตั้งบุคคลใดหรือลูกหนี้เป็นผู้จัดการโดยกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ก็ได้
               ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตั้งบุคคลใดนอกจากลูกหนี้เป็นผู้จัดการ บุคคลนั้นต้องให้ประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่ง และมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้กำหนด ถ้ามิได้กำหนดไว้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนด
               ผู้จัดการต้องทำบัญชียื่นตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่ง

               มาตรา ๑๒๑  ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือน บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป
               บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์การอื่นที่มิใช่รัฐบาลด้วย

               มาตรา ๑๒๒  ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่า ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญานั้นได้
               บุคคลใดได้รับความเสียหายโดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับดังกล่าวมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้

               มาตรา ๑๒๓  ทรัพย์สินซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้มา เมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด
               การขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินนั้น
               ผู้ได้รับโอนทรัพย์สินจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขายหรือการแบ่ง ไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรหรือจังกอบสำหรับปีก่อนที่ได้รับโอน


               มาตรา ๑๑๗ วรรคหนึ่ง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๕ การแบ่งทรัพย์สิน (มาตรา ๑๒๔ - ๑๓๒)

 

ส่วนที่ ๕
การแบ่งทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๑๒๔  ทรัพย์สินซึ่งเหลือจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้โดยเร็ว
               การแบ่งทรัพย์สินต้องกระทำทุกระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปโดยมีเหตุสมควร

               มาตรา ๑๒๕  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องกันเงินส่วนแบ่งรายที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อโต้แย้ง และค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นไว้ตามสมควรแล้วแบ่งเงินที่เหลือให้แก่เจ้าหนี้นอกนั้นไป

               มาตรา ๑๒๖  ก่อนกระทำการแบ่งครั้งใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ และส่งแจ้งความไปยังเจ้าหนี้และบุคคลล้มละลายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน กำหนดวันเวลาให้มาตรวจบัญชีส่วนแบ่ง ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้าน ให้ถือว่าบัญชีนั้นถูกต้องและเป็นที่สุด แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาการแบ่งไว้ ณ สำนักงาน และแจ้งจำนวนส่วนแบ่งที่จะจ่ายไปยังเจ้าหนี้

               มาตรา ๑๒๗  ถ้ามีผู้มีส่วนได้เสียคนใดคัดค้านบัญชีส่วนแบ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคำคัดค้านและคำชี้แจงของเจ้าหนี้และบุคคลล้มละลายแล้วสั่งตามที่เห็นสมควร
               ผู้มีส่วนได้เสียอาจคัดค้านคำสั่งนั้นโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลได้ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่ง
               ถ้ามีผู้คัดค้านต่อศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการจ่ายเงินไปจนกว่าศาลได้มีคำสั่งแล้ว แต่ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการเลื่อนนั้นจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกันเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นไว้ตามสมควร แล้วแบ่งเงินที่เหลือให้แก่เจ้าหนี้รายที่ไม่มีข้อโต้แย้งไปก่อนได้

               มาตรา ๑๒๘  ห้ามมิให้จ่ายส่วนแบ่งแก่เจ้าหนี้คนใดเมื่อรวมส่วนแบ่งทุกครั้งแล้วเป็นเงินไม่ถึงหนึ่งบาท

               มาตรา ๑๒๙  สามีหรือภริยาของบุคคลล้มละลายจะได้รับส่วนแบ่งในฐานะเจ้าหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้เป็นที่พอใจแล้ว

               มาตรา ๑๓๐  ในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้น ให้ชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามลำดับ ดังต่อไปนี้
               (๑) ค่าใช้จ่ายในการจัดการมรดกของลูกหนี้
               (๒) ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้
               (๓) ค่าปลงศพลูกหนี้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป
               (๔) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินตามมาตรา ๑๗๙ (๔)
               (๕) ค่าธรรมเนียมของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และค่าทนายความตามที่ศาล หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด
               (๖) ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพื่อกางานที่ได้ทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างตามมาตรา ๒๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
               (๗) หนี้อื่น ๆ
               ถ้ามีเงินไม่พอชำระเต็มจำนวนหนี้ในลำดับใดให้เจ้าหนี้ในลำดับนั้นได้รับเฉลี่ยตามส่วน

               มาตรา ๑๓๐ ทวิ  ในกรณีที่หนี้ตามมาตรา ๑๓๐ (๗) รายใดมีการกำหนดโดยกฎหมายหรือสัญญาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้จนเต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ดังกล่าวนั้นยังคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินตามสิทธิที่ตนมีอยู่ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายหรือสัญญานั้น

               มาตรา ๑๓๑  ก่อนกระทำการแบ่งครั้งที่สุด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความไปยังผู้ที่เกี่ยวค้างค่าจ้างแรงงานหรือเงินที่ได้ออกไปโดยคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าให้ส่งบัญชีเงินที่เกี่ยวค้างนั้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ ถ้าไม่ส่งตามกำหนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดการแบ่งครั้งที่สุด และจ่ายเงินไปโดยไม่คำนึงถึงเงินที่เกี่ยวค้างอยู่นั้น ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความไม่ปฏิบัติดังว่านี้ ผู้นั้นหมดสิทธิเรียกร้องต่อไป
               กำหนดเวลาดังกล่าวไว้ในวรรคก่อน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขยายได้ เมื่อมีเหตุสมควร

               มาตรา ๑๓๒  เมื่อได้ชำระหนี้ทั้งหมดโดยเต็มจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้กับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคดีล้มละลายหมดแล้ว ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้คืนแก่บุคคลล้มละลายไป


               มาตรา ๑๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
               มาตรา ๑๓๐ วรรคหนึ่ง (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๓๐ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๖ การปิดคดี (มาตรา ๑๓๓ - ๑๓๔)

 

ส่วนที่ ๖
การปิดคดี

-------------------------

               มาตรา ๑๓๓  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งที่สุด หรือได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ หรือเมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจทำรายงานแสดงกิจการและบัญชีรับจ่ายในคดีล้มละลายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
               เมื่อศาลได้พิจารณารายงานและบัญชีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบกับคำคัดค้านของเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ศาลจะสั่งให้ปิดคดีหรือไม่ก็ได้
               ถ้าศาลสั่งไม่ให้ปิดคดี เมื่อเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลอาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับผิดในการที่ได้กระทำหรือละเว้นกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ก็ได้
               คำสั่งปิดคดีทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พ้นจากความรับผิดในหน้าที่จนถึงวันที่ศาลสั่งนั้น
               ถ้าปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลง ศาลอาจเพิกถอนคำสั่งปิดคดีนั้นได้

               มาตรา ๑๓๔  คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้ แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด และไม่ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หลุดพ้นจากหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) หน้าที่ตามมาตรา ๑๖๐
               (๒) หน้าที่อนุมัติการใด ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้
               (๓) หน้าที่ตรวจบัญชีรับจ่ายของบุคคลล้มละลาย
               ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปได้

ส่วนที่ ๗ การยกเลิกการล้มละลาย (มาตรา ๑๓๕ - ๑๓๘)

 

ส่วนที่ ๗
การยกเลิกการล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๑๓๕  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยหรือยอมเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายหรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวแล้วภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนหรือละเลยนั้น
               (๒) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
               (๓) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
                     ถ้าลูกหนี้ปฏิเสธหนี้สินรายใด แต่ลูกหนี้ยอมทำสัญญาและให้ประกันต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เต็มจำนวนกับค่าธรรมเนียมด้วยก็ดี หรือถ้าหาตัวเจ้าหนี้ไม่พบ แต่ลูกหนี้ได้นำเงินเต็มจำนวนมาวางต่อศาลก็ดี ให้ถือว่าหนี้สินรายนั้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
               (๔) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุด หรือไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในกำหนดเวลาสิบปี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย

               มาตรา ๑๓๖  คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา ๑๓๕ (๑) หรือ (๒) นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด

               มาตรา ๑๓๗  คำสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้ว ส่วนทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายให้ตกแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลกำหนด หรือถ้าไม่ได้กำหนด ก็ให้คืนแก่บุคคลล้มละลาย

               มาตรา ๑๓๘  เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ

หมวด ๕ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา ๑๓๙ - ๑๔๘/๑)

ส่วนที่ ๑ การแต่งตั้งและถอดถอน (มาตรา ๑๓๙ - ๑๓๙/๑)

 

ส่วนที่ ๑
การแต่งตั้งและถอดถอน

-------------------------

               มาตรา ๑๓๙  รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนที่เห็นสมควรโดยเฉพาะตัวหรือโดยตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีอำนาจถอดถอน รวมทั้งออกระเบียบกำหนดคุณสมบัติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ได้
               การแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และระเบียบตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๓๙/๑  ให้กรมบังคับคดีจัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม และประสบการณ์ ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญ ตามหลักสูตรการฝึกอบรมที่อธิบดีกรมบังคับคดีกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
               เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งผ่านการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และในการกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้คำนึงถึงภาระหน้าที่ คุณภาพของงาน โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง


               มาตรา ๑๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๓๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑

ส่วนที่ ๒ อำนาจหน้าที่ (มาตรา ๑๔๐ - ๑๔๘/๑)

 

ส่วนที่ ๒
อำนาจหน้าที่

-------------------------

               มาตรา ๑๔๐  ในการเป็นคู่ความในศาลก็ดี ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ดี หรือในการกระทำการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้นามตำแหน่งว่า “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ...............ลูกหนี้” หรือ “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ..................ผู้ล้มละลาย” โดยกรอกนามของลูกหนี้หรือผู้ล้มละลายลงในช่องว่าง แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๔๑  ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจ้างทนายความเข้าทำการแทนได้

               มาตรา ๑๔๒  นอกจากที่มีบัญญัติไว้ในบทมาตราอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
               (๑) รายงานข้อความเกี่ยวกับกิจการ ทรัพย์สิน หรือความประพฤติของลูกหนี้ตามที่ศาลต้องการ
               (๒) ช่วยซักถามลูกหนี้หรือบุคคลอื่นในการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๔๓  ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการใดที่เป็นปัญหาได้

               มาตรา ๑๔๔  ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์แห่งการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้กู้ยืมได้

               มาตรา ๑๔๕  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำการดังต่อไปนี้ได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้แล้ว
               (๑) ถอนการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย
               (๒) โอนทรัพย์สินใด ๆ นอกจากโดยวิธีขายทอดตลาด
               (๓) สละสิทธิ
               (๔) ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือฟ้องหรือถอนฟ้องคดีล้มละลาย
               (๕) ประนีประนอมยอมความหรือมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

               มาตรา ๑๔๖  ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืน ตาม กลับ หรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร

               มาตรา ๑๔๗  ในปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาร้าย หรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

               มาตรา ๑๔๘  การฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ในการที่ได้กระทำหรือละเว้นกระทำการตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดอำนาจฟ้องให้ถือว่าขาดอายุความ

               มาตรา ๑๔๘/๑  ในกรณีที่บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล หรือประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทนตามที่อธิบดีกรมบังคับคดีประกาศกำหนดก็ได้


               มาตรา ๑๔๘/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑

หมวด ๖ อำนาจศาลและกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย (มาตรา ๑๔๙ - ๑๕๙)

ส่วนที่ ๑ อำนาจศาล (มาตรา ๑๔๙ - ๑๕๒)

 

ส่วนที่ ๑
อำนาจศาล

-------------------------

               มาตรา ๑๔๙  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๕๐  การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลายให้ยื่นต่อศาลซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น

               มาตรา ๑๕๑  ศาลต้องสอดส่องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติหน้าที่โดยเรียบร้อย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำคำชี้แจงในเรื่องบัญชีหรือเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย หรือจะสั่งให้กระทำหรือละเว้นกระทำการตามที่เห็นสมควรได้

               มาตรา ๑๕๒  ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่กองทรัพย์สินในคดีล้มละลายโดยเจตนาร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นส่วนตัวตามที่เห็นสมควรได้


               มาตรา ๑๔๙ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

ส่วนที่ ๒ กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย (มาตรา ๑๕๓ - ๑๕๙)

 

ส่วนที่ ๒
กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๑๕๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๕๔  ในคดีที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวแล้ว ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ทิ้งฟ้อง ถอนฟ้อง หรือขาดนัดพิจารณา ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๑๕๕  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มีหน้าที่ระวังประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้และรับผิดในบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายในคดีล้มละลายนั้น เพื่อประกันการรับผิดนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเรียกประกันจากเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามจำนวนที่เห็นว่าจำเป็น

               มาตรา ๑๕๖  ถ้าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขัดขืนหรือละเลยไม่ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือไม่ให้ประกันตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๕๕ ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับคำแจ้งความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วยความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหนี้คนอื่นเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนต่อไป

               มาตรา ๑๕๗  เมื่อได้ส่งแจ้งความนัดประชุมหรือแจ้งความใด ๆ ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายในราชอาณาจักรแล้ว แม้เจ้าหนี้บางคนจะยังไม่ได้รับ ก็ไม่ทำให้การประชุมหรือการนั้นเสียไป

               มาตรา ๑๕๘  ผู้มีส่วนได้เสียคนใดเห็นว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ให้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับคำคัดค้านแล้วให้สอบสวนและมีคำสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งไม่ให้ถอนการยึด ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันได้ทราบคำสั่งนั้น เมื่อศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดา โดยเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาสู้คดี

               มาตรา ๑๕๙  เมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ให้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ


               มาตรา ๑๕๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

หมวด ๗ การสอบสวนและบทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๖๐ - ๑๗๕)

ส่วนที่ ๑ การสอบสวน (มาตรา ๑๖๐)

 

ส่วนที่ ๑
การสอบสวน

-------------------------

               มาตรา ๑๖๐  ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้ามีเหตุควรเชื่อได้ว่าลูกหนี้หรือผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำความผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
               ในกรณีที่พนังานอัยการมีความเห็นว่าไม่ควรฟ้อง ซึ่งแย้งกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ส่งสำนวนไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อสั่ง

ส่วนที่ ๒ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๖๑ - ๑๗๕)

 

ส่วนที่ ๒
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๑๖๑  ลูกหนี้คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๖๗ (๓) โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสองเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๒  ลูกหนี้คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ มาตรา ๗๙ หรือมาตรา ๘๐ โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๖ (๑) มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสี่เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๓  ลูกหนี้คนใดกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๓ มาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๖๗ (๑) หรือ (๒) โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร
               (๒) ละเว้นไม่แจ้งข้อความอันเป็นสาระสำคัญ หรือกล่าวเท็จเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตนต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
               (๓) มิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือน เมื่อได้ทราบหรือมีเหตุผลอันสมควรเชื่อได้ว่ามีผู้นำหนี้สินอันเป็นเท็จมาขอรับชำระในคดีล้มละลาย

               มาตรา ๑๖๔  ในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายหลังนั้น แต่ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) ยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย ก่อความชำรุด หรือเปลี่ยนแปลงดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสารอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือรู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำนั้น ๆ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาปกปิดสภาพแห่งกิจการของตน
                     ถ้าปรากฏว่า ดวงตรา สมุดบัญชี หรือเอกสารสูญหาย ชำรุด หรือเปลี่ยนแปลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้เป็นผู้กระทำ
               (๒) ละเว้นจดข้อความอันเป็นสาระสำคัญ หรือจดข้อความเท็จลงในสมุดบัญชีหรือเอกสารอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือรู้เห็นเป็นใจในการนั้น
               (๓) นำทรัพย์สินซึ่งได้มาโดยเชื่อและยังมิได้ชำระราคาไปจำนำ จำนอง หรือจำหน่าย เว้นแต่การนั้นเป็นปกติธุระของลูกหนี้ และพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล
               (๔) รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นโดยใช้อุบายหลอกลวง หรือซุกซ่อน โอน หรือส่งมอบทรัพย์สินของตนโดยทุจริต หรือกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ทรัพย์สินของตนต้องมีภาระผูกพันขึ้นโดยทุจริต หรือยอมหรือสมยอมกับบุคคลอื่นให้ศาลพิพากษาให้ตนต้องชำระหนี้ซึ่งตนมิควรต้องชำระ

               มาตรา ๑๖๕  ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จนถึงเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) รับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่สองพันบาทขึ้นไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
               (๒) ประกอบกาค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามตัวหรือนามสมญาผิดจากที่ตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย และในการนั้นได้รับสินเชื่อจากบุคคลอื่นโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
               (๓) ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามหรือนามสมญาของผู้อื่นบังหน้า
               (๔) ประกอบการค้าหรือธุรกิจโดยใช้นามตัวหรือนามสมญาผิดไปจากที่ตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย โดยมิได้โฆษณารายการดังต่อไปนี้ในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองฉบับ
                     ก. นามตัวและนามสมญาที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย
                     ข. ตำบลที่ตนประกอบการค้าหรือธุรกิจในขณะที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์
                     ค. นามตัวและนามสมญาซึ่งประสงค์จะใช้ต่อไปในการค้าหรือธุรกิจ
                     ง. ลักษณะของการค้าหรือธุรกิจที่จะประกอบต่อไป
                     จ. ตำบลที่จะประกอบการค้าหรือธุรกิจ

               มาตรา ๑๖๖  ลูกหนี้คนใดมีหนี้สินเนื่องในการค้าหรือธุรกิจอยู่ในขณะที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               (๑) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบถามหรือศาลทำการไต่สวน ลูกหนี้ไม่สามารถให้เหตุผลอันสมควรถึงการที่ได้เสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมากในระหว่างเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย หรือภายหลังนั้นแต่ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
               (๒) กระทำหนี้สินอันพึงขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายโดยไม่มีเหตุอันน่าเชื่อว่าจะสามารถชำระหนี้นั้นได้

               มาตรา ๑๖๗  บุคคลซึ่งประกอบพาณิชยกิจตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนพาณิชย์คนใดไม่มีบัญชีย้อนหลังขึ้นไปสามปีนับแต่วันที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งจะแสดงให้เห็นการประกอบพาณิชยกิจหรือฐานะการเงินของตนอย่างเพียงพอตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบัญชีซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๘  ในระหว่างเวลาหกเดือนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือภายหลังนั้นแต่ก่อนเวลาที่พ้นจากล้มละลาย ลูกหนี้คนใดออกไปหรือพยายามจะออกไปนอกราชอาณาจักร โดยนำทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายต้องเอาไว้แบ่งใช้หนี้แก่เจ้าหนี้ราคาเกินกว่าสองพันบาทออกไปด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๖๙  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้คนใดซ่อนตัวหรือหลบไปเสียจากที่ ๆ เคยอยู่หรือที่ทำการค้า หรือประกอบธุรกิจแห่งสุดท้าย หรือออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหมายเรียกหรือหมายนัดของศาลในคดีล้มละลาย หรือหลีกเลี่ยงการที่จะถูกสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของตน หรือทำให้เกิดความลำบากขัดข้องแก่กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๗๐๑๐  เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้คนใดกระทำการฉ้อฉล หรือให้ หรือเสนอให้ หรือตกลงว่าจะให้ประโยชน์ใด ๆ แก่เจ้าหนี้ โดยมุ่งหมายที่จะได้รับความยินยอมของเจ้าหนี้นั้นในการขอประนอมหนี้หรือข้อตกลงเกี่ยวกับกิจการหรือการล้มละลายของตน หรือเพื่อมิให้มีการคัดค้านการขอปลดจากล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๗๑๑๑  เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใดกล่าวอ้าง หรือขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือการขอประนอมหนี้ หรือในการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยไม่เป็นความจริงในส่วนสาระสำคัญ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่ามิได้มีเจตนาฉ้อฉล มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

               มาตรา ๑๗๒  เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้คนใด เรียกหรือรับหรือยินยอมที่จะรับทรัพย์สินหลักประกันหรือผลประโยชน์ใด ๆ ไว้เป็นประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เพื่อที่จะยินยอมหรือไม่คัดค้านในการขอประนอมหนี้ หรือการขอปลดจากล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าเท่าของราคาผลประโยชน์อันมิควรได้นั้น

               มาตรา ๑๗๓  ผู้ใดรู้ว่าได้มีหรือจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วยักย้าย ซุกซ่อน รับ จำหน่าย หรือจัดการแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้โดยเจตนาทุจริต มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองเท่าราคาทรัพย์สินนั้น หรือจำคุกไม่เกินสองปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษา และหนังสือพิมพ์รายวันหรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทนตามที่อธิบดีกรมบังคับคดีประกาศกำหนดแล้วบุคคลทุกคนได้ทราบว่ามีคำสั่งนั้น๑๒

               มาตรา ๑๗๓/๑๑๓  ผู้ใดมีหน้าที่ตามมาตรา ๒๔/๑ แล้วไม่ปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งด้วย
               ถ้าบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ยื่นคำขอต่อศาลแสดงถึงเหตุที่ตนไม่อาจแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๒๔/๑ เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะให้บุคคลนั้นแจ้งข้อมูลดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ เมื่อบุคคลดังกล่าวได้แจ้งข้อมูลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน

               มาตรา ๑๗๔๑๔  ผู้ใดกล่าวอ้างโดยไม่เป็นความจริงว่าตนเป็นเจ้าหนี้ โดยมุ่งหมายที่จะได้ดูหรือคัดสำเนาเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

               มาตรา ๑๗๕  บุคคลดังต่อไปนี้มีหน้าที่และความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกับลูกหนี้สำหรับกิจการที่ตนได้กระทำในขณะที่เป็นผู้ประกอบการงานของลูกหนี้
               (๑) ถ้าลูกหนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงาน หรือผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนนั้น
               (๒) ถ้าลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัด ผู้เริ่มก่อการ กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ชำระบัญชีของบริษัทนั้น
               (๓) ถ้าลูกหนี้เป็นนิติบุคคลอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ใน (๑) และ (๒) ผู้จัดการหรือผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคลนั้น
               (๔) ถ้าลูกหนี้มีตัวแทนหรือลูกจ้างเป็นผู้ประกอบการงาน ตัวแทนหรือลูกจ้างของลูกหนี้นั้น
               (๕) ถ้าลูกหนี้ตาย ทายาท ผู้จัดการมรดก หรือผู้ปกครองทรัพย์ของลูกหนี้นั้น


               มาตรา ๑๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๑๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               ๑๐ มาตรา ๑๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               ๑๑ มาตรา ๑๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
               ๑๒ มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               ๑๓ มาตรา ๑๗๓/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
               ๑๔ มาตรา ๑๗๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

หมวด ๘ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา ๑๗๖ - ๑๘๑)

ส่วนที่ ๑ เงินค้างจ่าย (มาตรา ๑๗๖)

 

ส่วนที่ ๑
เงินค้างจ่าย

-------------------------

               มาตรา ๑๗๖  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุดแล้ว ถ้ามีเงินค้างจ่ายซึ่งไม่มีผู้ใดมารับภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลสั่งปิดคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับให้เจ้าหนี้มารับภายในกำหนดเวลาสองเดือน ถ้าไม่มารับภายในกำหนด ให้เงินนี้ตกเป็นของแผ่นดิน

ส่วนที่ ๒ การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ (มาตรา ๑๗๗ - ๑๗๘)

 

ส่วนที่ ๒
การล้มละลายเกี่ยวกับต่างประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๑๗๗  การพิทักษ์ทรัพย์หรือการล้มละลายตามพระราชบัญญัตินี้มีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตลอดและเฉพาะแต่ในราชอาณาจักร
               การพิทักษ์ทรัพย์หรือการล้มละลายตามกฎหมายของประเทศอื่น ไม่มีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร

               มาตรา ๑๗๘  เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
               (๑) ต้องพิสูจน์ว่า เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศของตนได้ ในทำนองเดียวกัน
               (๒) ต้องแถลงว่า ตนได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้คนเดียวกันนั้นนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนเท่าใดหรือไม่ และถ้ามี ตนยอมส่งทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้ดังกล่าวแล้วมารวมในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในราชอาณาจักร

ส่วนที่ ๓ ค่าธรรมเนียม (มาตรา ๑๗๙ - ๑๘๑)

 

ส่วนที่ ๓
ค่าธรรมเนียม

-------------------------

               มาตรา ๑๗๙  ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตรา ดังต่อไปนี้
               (๑) ค่าขึ้นศาลสำหรับคำฟ้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย ห้าร้อยบาท
               (๒) ค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย สองร้อยบาท เว้นแต่เป็นคำขอของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ไม่เกินห้าหมื่นบาท
               (๓) ค่าขึ้นศาลในกรณีที่มีการอุทธรณ์เรื่องขอรับชำระหนี้ สองร้อยบาท
               (๔) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินให้คิดในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
               ค่าธรรมเนียมนอกจากนี้ ให้คิดอัตราเดียวกับค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๑๘๐  ถ้ามีเงินเหลือพอ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทางของพยานหรือบุคคลที่ถูกเรียกมาสอบสวน โดยอนุโลมตามอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๑๘๑  แบบพิมพ์ซึ่งลูกหนี้จำต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเว้นอาแสตมป์

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          พิบูลสงคราม
          นายกรัฐมนตรี


               มาตรา ๑๗๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากค่าของเงินในปัจจุบันแตกต่างไปจากเมื่อสมัยก่อนเป็นอันมาก จึงควรแก้ไขกำหนดจำนวนหนี้ที่จะฟ้องคดีล้มละลายให้สูงขึ้น กับแก้ไขจำนวนเงินวางศาลและค่าธรรมเนียมบางอย่างให้เหมาะสม และโดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการขอเพิกถอนการกระทำของลูกหนี้เกี่ยวกับทรัพย์สินยังไม่รัดกุม จึงสมควรแก้ไขด้วย

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดเกี่ยวกับจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้จะต้องเป็นหนี้อยู่ไม่น้อยกว่าสามหมื่นบาทและเนื่องจากในปัจจุบันค่าของเงินบาทตกต่ำลงมาก สมควรกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้เสียใหม่ โดยจะฟ้องได้ต่อเมื่อลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นเดียวหรือหลายคน เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว อันควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากผู้ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ฟื้นฟูกิจการ แต่เนื่องจากมาตรา ๙๔ (๒) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ บัญญัติให้เจ้าหนี้ที่ยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย อันเป็นเหตุให้ไม่มีสถาบันทางการเงิน หรือเอกชนรายใดยินยอมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ลูกหนี้จึงต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายทั้ง ๆ ที่กิจการของลูกหนี้อยู่ในสภาพที่จะฟื้นฟูได้ หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน สมควรที่จะมีบทบัญญัติคุ้มครองการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ฟื้นฟูกิจการได้ซึ่งจะช่วยเจ้าหนี้ให้มีโอกาสรับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมด้วย อันจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันซึ่งกำหนดจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ รวมทั้งจำนวนเงินที่ต้องวางประกันค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่าง ๆ และราคาของทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันสมควรแก้ไขให้เหมาะสม รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ และมาตรการในการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินที่กำหนดไว้ยังไม่ครอบคลุมถึงสามีของลูกหนี้ นอกจากนี้ บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และกระบวนการล้มละลายบางประการยังไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ การใช้ดุลพินิจของศาลในการเห็นชอบด้วยแผน อำนาจของผู้บริหารแผนเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนนิติกรรมที่ได้กระทำไปแล้วในกระบวนการล้มละลาย และกระบวนการฟื้นฟูกิจการ นอกจากนั้นได้แก้ไขในเรื่องลำดับบุริมสิทธิในคดีล้มละลาย โดยกำหนดให้เงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเพื่อการงานที่ได้ทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างมีลำดับบุริมสิทธิเดียวกันกับเงินค่าภาษีอากร และเนื่องจากมีการจัดตั้งศาลล้มละลายเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายโดยเฉพาะ สมควรยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยล้มละลายให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการอิสระของศาลยุติธรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม กรมบังคับคดีจึงยังอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ดังล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดให้ลูกหนี้พ้นจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผลของการพ้นจากการล้มละลาย โดยเฉพาะการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ อย่างไรก็ตามหลักการของบทบัญญัติในเรื่องนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลล้มละลายที่สุจริตได้มีโอกาสพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย สมควรคงหลักการดังกล่าวไว้ โดยยกเลิกบทบัญญัติเดิมและนำมากำหนดเพิ่มเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย นอกจากนี้ บทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลล้มละลายอาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันนั้น ยังขาดความชัดเจนแน่นอนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลแต่ละกรณี จึงสมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งปลดจากล้มละลายให้ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันแก่บุคคลล้มละลายว่าหากดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดแล้วจะสามารถได้รับการปลดจากล้มละลาย และเพื่อให้บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กระบวนพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อศาลเพื่อมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ทำให้กระบวนพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีหลายขั้นตอน สมควรลดขั้นตอนโดยกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ เพื่อให้การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ สมควรกำหนดรายละเอียดของคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายให้ชัดเจน และกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดสามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ยังไม่ครอบคลุมลูกหนี้ซึ่งประกอบธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ดังนั้น เพื่อให้ลูกหนี้ซึ่งไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้มีโอกาสได้รับการฟื้นฟูกิจการและไม่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายหากมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๐

หมายเหตุ :- สืบเนื่องจากรายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกซึ่งปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๖ จาก ๑๙๐ ประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงแก้ไขปัญหาการเข้าถึงการประกอบธุรกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรการเร่งรัดการดำเนินการการพัฒนากระบวนการปฏิบัติงานและการบริการในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรายงานผลของธนาคารโลกแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นความยุ่งยากและซับซ้อนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข รวมทั้งขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ และระเบียบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่มีความสำคัญในกฎหมายบางฉบับอันจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่ออันดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยในการประเมินของธนาคารโลกครั้งต่อไป รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มโอกาสในการเป็นแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑๑๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามหมวด ๓/๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๑ มีบทบัญญัติที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ทันต่อสถานะทางด้านการเงินของลูกหนี้ เนื่องจากลูกหนี้ต้องเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้น จึงจะขอฟื้นฟูกิจการได้ นอกจากนั้น การติดตาม การจัดการ และการรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สมควรกำหนดให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้น และให้มีกลไกในการติดตาม จัดการ และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการคุ้มครองเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ อันเป็นการส่งเสริมและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๕/ตอนที่ ๒๘/หน้า ๑๙๑/๒ เมษายน ๒๕๑๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๐/ตอนที่ ๓๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๖ มีนาคม ๒๕๒๖
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๔/๙ เมษายน ๒๕๔๑
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๓๑/๒๑ เมษายน ๒๕๔๒

               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗/ตอนที่ ๑๐๓ ก/หน้า ๖/๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนที่ ๔๔ ก/หน้า ๑/๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๘๐ ก/หน้า ๑/๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘

               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๔๖ ก/หน้า ๒๔/๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนพิเศษ ๙๗ ง/หน้า ๔๙/๔ เมษายน ๒๕๖๐
               ๑๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๕๑/๒ มีนาคม ๒๕๖๑

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๔)

 

พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย
พ.ศ. ๒๕๔๒

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒
เป็นปีที่ ๕๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลล้มละลายและให้มีวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ศาลล้มละลาย” หมายความว่า ศาลล้มละลายกลาง หรือศาลล้มละลายภาค
               “คดีล้มละลาย” หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและให้หมายความรวมถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีดังกล่าวด้วย
               “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” หมายความว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
               “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” หมายความว่า ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

               มาตรา ๔  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๒๕ ก/หน้า ๑๐/๘ เมษายน ๒๕๔๒
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "คดีล้มละลาย" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๓ นิยามคำว่า "ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ" เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘

หมวด ๑ ศาลล้มละลาย (มาตรา ๕ - ๑๑)

 

หมวด ๑
ศาลล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๕  ให้จัดตั้งศาลล้มละลายกลางขึ้น และจะเปิดทำการเมื่อใดให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
               ให้ศาลล้มละลายกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร แต่บรรดาคดีล้มละลายที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลล้มละลายกลางจะยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้

               มาตรา ๖  การจัดตั้งศาลล้มละลายภาค ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติซึ่งจะต้องระบุเขตศาลและกำหนดที่ตั้งศาลนั้นไว้ด้วย

               มาตรา ๗  ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย
               ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ให้ศาลล้มละลายรับพิจารณาพิพากษาความผิดบทอื่นไว้ด้วย
               ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ในความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน และบางกรรมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ศาลล้มละลายจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ
               ก่อนเริ่มต้นสืบพยาน หากจำเลยเห็นว่าการพิจารณาคดีอาญาตามวรรคสามต่อไปในศาลล้มละลายจะไม่สะดวกหรือไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเลยอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงเหตุผลหรือพยานหลักฐานต่อศาลล้มละลายขอให้แยกฟ้องไปยังศาลที่มีอำนาจ เมื่อศาลล้มละลายเห็นสมควรจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้

               มาตรา ๘  เมื่อศาลล้มละลายเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลล้ละลายไว้พิจารณาพิพากษา

               มาตรา ๙  ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลล้มละลายหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลล้มละลายหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าตามคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะต้องเปลี่ยนแปลงศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ให้ศาลเดิมโอนคดีไปยังศาลดังกล่าว และให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลเดิมก่อนมีคำพิพากษาไม่เสียไป เว้นแต่ศาลที่รับโอนคดีจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
               ห้ามมิให้เสนอปัญหาเช่นว่านี้เมื่อศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว

               มาตรา ๑๐  คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลล้มละลายภาค คู่ความทุกฝ่ายอาจตกลงกันร้องขอต่อศาลนั้น ให้โอนคดีมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลางได้ แต่ห้ามมิให้อนุญาตตามคำขอเช่นว่านั้น เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะได้ยินยอมก่อน

               มาตรา ๑๑  ให้ศาลล้มละลายเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลล้มละลายโดยอนุโลม


               มาตรา ๗ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๗ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๗ วรรคสี่ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘

หมวด ๒ ผู้พิพากษาในศาลล้มละลาย (มาตรา ๑๒ - ๑๓)

 

หมวด ๒
ผู้พิพากษาในศาลล้มละลาย

-------------------------

               มาตรา ๑๒  ในศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษากับรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา จะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้

               มาตรา ๑๓  ผู้พิพากษาในศาลล้มละลายจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย


               มาตรา ๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘

หมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (มาตรา ๑๔ - ๒๘/๒)

ส่วนที่ ๑ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น (มาตรา ๑๔ - ๒๓)

 

ส่วนที่ ๑
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

-------------------------

               มาตรา ๑๔  นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ กระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดตามมาตรา ๑๙ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๕  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๑๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ให้ศาลล้มละลายดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว
               ในกรณีที่คู่ความไม่มาศาลในนัดใดไม่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาลหรือไม่ให้ถือว่าคู่ความนั้นได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในนัดนั้นแล้ว

               มาตรา ๑๖  ถ้าบุคคลใดเกรงว่าพยานหลักฐานที่ตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาเมื่อมีคดีล้มละลายเกิดขึ้น หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานที่ตนจำนงจะอ้างอิงจะสูญหายเสียก่อนที่จะนำมาสืบ หรือเป็นการยากที่จะนำมาสืบในภายหลัง บุคคลนั้นหรือคู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลล้มละลายโดยทำเป็นคำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันที
               เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านั้น ให้ศาลหมายเรียกผู้ขอและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมาศาล และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้ศาลสั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้วให้สืบพยานหลักฐานไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้ศาลเก็บรักษาไว้

               มาตรา ๑๗  ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อมีการยื่นคำขอตามมาตรา ๑๖ ผู้ยื่นคำขอจะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลล้มละลายมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้า และถ้าจำเป็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานที่ขอสืบไว้ก่อน โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
               ให้นำมาตรา ๒๖๑ ถึงมาตรา ๒๖๓ และมาตรา ๒๖๗ ถึงมาตรา ๒๖๙ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่งมาใช้แก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๘  เมื่อศาลล้มละลายเห็นเป็นการสมควร จะให้ศาลอื่นหรือเจ้าพนักงานศาลทำการสืบพยานหลักฐานส่วนใดส่วนหนึ่งแทนก็ได้ การสืบพยานหลักฐานดังกล่าวจะกระทำในศาลหรือนอกศาลก็ได้

               มาตรา ๑๙  เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางมีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลล้มละลายได้ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
               ข้อกำหนดนั้นเมื่อได้รับความเห็นชอบจากประธานศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๒๐  ศาลล้มละลายอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

               มาตรา ๒๑  ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลล้มละลายขอให้มาให้ความเห็นมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

               มาตรา ๒๒  คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีจะแต่งตั้งบุคคลใดซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลล้มละลายเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตนก็ได้โดยให้ยื่นคำขอต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เมื่อศาลอนุญาตแล้ว จะส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นก็ได้
               ถ้าคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานในเขตศาลล้มละลายที่พิจารณาคดี เพื่อความสะดวกในการส่งคำคู่ความหรือเอกสาร ศาลนั้นจะสั่งให้คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารแทนภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้
               ถ้าคู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในวรรคสอง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารจะกระทำโดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ศาลที่พิจารณาคดีแจ้งให้คู่ความหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีมารับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นแทนการส่งโดยวิธีอื่นก็ได้ กาส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีนี้ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันปิดประกาศ
               การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้ง ให้กระทำได้เช่นเดียวกันกับการส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่คู่ความ หรือการส่งโดยวิธีอื่นแทนดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การส่งคำคู่ความหรือเอกสารแก่บุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคนี้ ให้มีผลใช้ได้เมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันส่ง หรือสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้มีการส่งโดยวิธีอื่นแทน

               มาตรา ๒๓  เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่คู่ความหรือบุคคลใดโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่ความหรือบุคคลนั้นจะมีภูมิลำเนาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร กรณีเช่นนี้ให้ถือว่าคำคู่ความหรือเอกสารที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่ง


               มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๑๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๒๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘

ส่วนที่ ๒ อุทธรณ์และฎีกา (มาตรา ๒๔ - ๒๘/๒)

 

ส่วนที่ ๒
อุทธรณ์และฎีกา

-------------------------

               มาตรา ๒๔  การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๔/๑  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๕  คดีล้มละลายที่มิใช่คดีอาญา ห้ามมิให้อุทธณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เว้นแต่
               (๑) คำพิพากษายกฟ้อง หรือคำสั่งยกคำร้องหรือคำร้องขอให้ล้มละลาย
               (๒) คำสั่งยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ
               (๓) คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน
               (๔) คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
               (๕) คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวพันกับคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

               มาตรา ๒๖  คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๕ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไปพร้อมกับอุทธรณ์ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ เมื่อศาลล้มละลายตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลล้มละลายเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้ดำเนินการต่อไป
               ในกรณีที่ศาลล้มละลายสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๕ คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้ว จะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้
               การยื่นคำขอและการพิจารณาคำขอของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ระเบียบดังกล่าวเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               คดีที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งรับอุทธรณ์ส่งมาให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาเห็นว่าอุทธรณ์นั้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๕ ให้ยกอุทธรณ์ แต่ถ้าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดจะรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวนั้นก็ได้

               มาตรา ๒๖/๑  (ยกเลิก)

               มาตรา ๒๗  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๘  ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖ มาใช้บังคับแก่คดีล้มละลายในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาที่ต้องห้ามอุทธรณ์โดยอนุโลม

               มาตรา ๒๘/๑  การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๘/๒๑๐  การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีล้มละลายในศาลฎีกา ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม


               หมวด ๓ วิธีพิจารณาคดีล้มละลาย ส่วนที่ ๒ อุทธรณ์ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๔/๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๖/๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               มาตรา ๒๘/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘
               ๑๐ มาตรา ๒๘/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๒๙ -๓๐)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๒๙  บรรดาคดีล้มละลายที่ยังไม่ถึงที่สุดในวันเปิดทำการของศาลล้มละลายกลางที่ได้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมาใช้บังคับ เว้นแต่คดีนั้นจะได้มีการโอนมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลาง
               สำหรับคดีล้มละลายที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ถ้าคู่ความทุกฝ่ายตกลงกันร้องขอให้โอนคดีนั้นมาพิจารณาพิพากษาในศาลล้มละลายกลางภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางเปิดทำการ ก็ให้ศาลล้มละลายกลางรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

               มาตรา ๓๐  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลล้มละลายกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วย การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอจะยื่นต่อศาลจังหวัดซึ่งลูกหนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือประกอบธุรกิจอยู่ในเขต ไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวน นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวน นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลล้มละลายกลางก็ได้ตามที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นสมควร
               ศาลล้มละลายกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่มีการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอไว้หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็น ในกรณีเช่นนี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีในหมวด ๓ มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
           ชวน หลีกภัย
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากคดีล้มละลายเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไป ซึ่งโดยผลของคดีล้มละลายย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวม และหากได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลายโดยเฉพาะแล้ว ย่อมทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาสามารถดำเนินไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น สมควรจัดตั้งศาลล้มละลายขึ้นเพื่อพิจารณาคดีล้มละลายโดยเฉพาะและให้มีวิธีพิจารณาคดีล้มละลายโดยเหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติในส่วนที่กำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีความไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปด้วยความล่าช้าไม่คุ้มครองสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเพียงพอ ประกอบกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันใช้บังคับเฉพาะคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สมควรแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเพื่อให้หลักเกณฑ์การอุทธรณ์ทั้งคดีล้มละลายและคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อยู่ในกฎหมายเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่มิใช่คดีอาญา ทำให้คดีอาญาที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ซึ่งต้องอาศัยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยล้มละลายอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลธรรมดา ดังนั้น สมควรกำหนดให้ศาลล้มละลายซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษสามารถพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ รวมทั้งมีวิธีพิจารณาพิเศษที่เหมาะสมกับลักษณะของคดีล้มละลาย อันจะเป็นผลให้การดำเนินคดีล้มละลายมีความถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้คดีแพ่งที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาแต่ระบบการอุทธรณ์คดีล้มละลายในปัจจุบันกฎหมายบัญญัติให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ประกอบกับได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีชำนัญพิเศษต่าง ๆ สมควรแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกาในคดีล้มละลายให้มีความสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน รวมทั้งแก้ไขวิธีพิจารณาที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๗๐ ก/หน้า ๕๖/๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๑๑ ก/หน้า ๑/๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๘
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๐ ก/หน้า ๒๒/๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘

ข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๙

ข้อความเบื้องต้น (ข้อ ๑ - ๓)

 

ข้อกำหนดคดีล้มละลาย
พ.ศ. ๒๕๔๙

-------------------------

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางโดยความเห็นชอบจากประธานศาลฎีกาออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา และการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลล้มละลาย และศาลอื่นที่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนศาลล้มละลาย ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑  ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “ข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๙”

               ข้อ ๒  ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               ข้อ ๓  ให้ยกเลิกข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนพิเศษ ๖๔ ง/หน้า ๓/๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙

ลักษณะ ๑ ความแพ่ง (ข้อ ๔ - ๒๕)

หมวด ๑ บททั่วไป (ข้อ ๔)

 

หมวด ๑
บททั่วไป

-------------------------

วิธีการติดต่อระหว่างศาล คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

               ข้อ ๔  เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม การติดต่อระหว่างศาลล้มละลายกับศาลอื่นอาจทำโดยโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษหรือประกอบกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และความเหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ทำการติดต่อ รวมทั้งจำนวนและลักษณะของเอกสาร หรือวัตถุอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด
               คู่ความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี อาจได้รับอนุญาตจากศาลเพื่อใช้วิธีการติดต่อตามวรรคหนึ่งกับศาลแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือทางเจ้าพนักงานศาล หรือประกอบกันก็ได้ ทั้งนี้ โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย

หมวด ๒ การดำเนินกระบวนพิจารณา (ข้อ ๕ - ๑๓)

 

หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา

-------------------------

การยื่นคำคู่ความต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๕  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อมีผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลจังหวัดตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอจัดทำสำเนาคำฟ้องหรือคำร้องขอสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุด แล้วให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็วเพื่อมีคำสั่งและแจ้ง คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับส่งหมายเรียกให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากมี ไปยังศาลจังหวัดโดยเร็วเช่นกัน

               ข้อ ๖  ให้ศาลจังหวัดแจ้งคำสั่งที่ได้รับจากศาลล้มละลายกลางให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอทราบโดยเร็ว และในกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องขอ ให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลจังหวัดภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เพื่อให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องหรือสำเนาคำร้องขอให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินการตามมาตรา ๙๐/๙ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
              
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องขอแล้วให้รีบนำเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางเพื่อกำหนดวัน เวลา และศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาคดีตามความเหมาะสม และให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดเพื่อให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้คู่ความทราบโดยเร็ว

การขอสืบพยานหลักฐานไว้ก่อน

               ข้อ ๗  คำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานไว้ก่อน และในกรณีที่ยังมิได้มีคดีล้มละลายเกิดขึ้นต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุที่จะเกิดคดีล้มละลายขึ้น
               ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำร้องต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุฉุกเฉินซึ่งหากแจ้งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทราบก่อนแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวจะถูกทำให้เสียหาย สูญหาย หรือมีเหตุอื่นใดที่จะทำให้ยากแก่การนำมาสืบในภายหลังได้

               ข้อ ๘  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องให้ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินตามข้อ ๗ วรรคสอง ศาลอาจสั่งให้ผู้ขอวางหลักประกันตามจำนวน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขอย่างใด ตามที่ศาลเห็นสมควรสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก็ได้

               ข้อ ๙  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพหรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ตตามข้อ ๑๙ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาตามข้อ ๗ และข้อ ๘ โดยอนุโลม

เอกสารภาษาต่างประเทศ

               ข้อ ๑๐  ถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาต ให้ส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานต่อศาลโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้

การบันทึกคำเบิกความของพยาน

               ข้อ ๑๑  ในการบันทึกคำเบิกความของพยาน ศาลอาจจัดให้มีการบันทึกด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดหรือหลายวิธีประกอบกัน ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกและอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟังแทน
               (๒ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกด้วยการจดชวเลข หรือวิธีใด ๆ อันสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้
               (๓) บันทึกโดยใช้เครื่องมือในการบันทึกเสียง
               (๔) บันทึกโดยใช้เครื่องมือในการบันทึกภาพและเสียง
               ถ้าศาลจัดให้มีการบันทึกตาม (๒) ศาลต้องจัดให้มีการบันทึกด้วยวิธีการอื่นประกอบด้วย

               ข้อ ๑๒  เมื่อศาลจัดให้มีการบันทึกคำเบิกความของพยานด้วยวิธีการตามข้อ ๑๑ (๒), (๓) หรือ (๔) ศาลอาจจัดให้มีการลงลายมือชื่อของพยานเพื่อรับรองว่าตนเป็นผู้ให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ศาลไม่จำต้องจัดให้มีการถอดความบันทึกคำเบิกความของพยานเป็นภาษาไทยหรือเป็นหนังสืออีก เว้นแต่เมื่อมีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในประเด็นที่เกี่ยวกับพยานนั้น

การพิจารณาลับและการห้ามโฆษณา

               ข้อ ๑๓  เพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อคุ้มครองความลับทางการค้า หรือเพื่อมิให้เสียหายแก่ธุรกิจการค้าที่เข้ามาฟื้นฟูกิจการ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีคำขอหรือถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคดีต่อสาธารณชน ศาลอาจมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้ก็ได้
               (๑) ห้ามประชาชนมิให้เข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แล้วดำเนินการพิจารณาไปโดยไม่เปิดเผย
               (๒) ห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่นว่านั้น
               ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ คำสั่งหรือคำพิพากษาชี้ขาดคดีของศาลต้องอ่านในศาล โดยเปิดเผย และไม่ห้ามการโฆษณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษาหรือย่อเรื่องแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นโดยเป็นกลางและถูกต้อง

หมวด ๓ พยานหลักฐาน (ข้อ ๑๔ - ๒๔)

 

หมวด ๓
พยานหลักฐาน

-------------------------

การกำหนดแนวทางการดำเนินคดี

               ข้อ ๑๔  ก่อนมีการสืบพยานศาลอาจสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายมาศาล เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดี เช่น
               (๑) ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอื่น เช่น การไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีเสร็จไปหรือนำวิธีการอนุญาโตตุลาการ มาใช้เท่าที่สภาพแห่งคดีเปิดช่องให้ทำได้
               (๒) กำหนดระยะเวลาทั้งหมดในการดำเนินคดี
               (๓) กำหนดวัน เวลา วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินคดีที่จำเป็น เช่น จำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับพยานที่จะนำมาเบิกความ บันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานเอกสาร และพยานหลักฐานที่ต้องการให้ศาลเรียกจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการเดินเผชิญสืบและการส่งประเด็นไปสืบยังศาลอื่น เป็นต้น
               (๔) กำหนดตัวผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒

การทบทวนความจำของพยาน

               ข้อ ๑๕  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อพยานเบิกความถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริงใดแห่งคดี ซึ่งพยานไม่สามารถจำข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดนั้นได้ พยานอาจดูบันทึกทบทวนความจำของพยานประกอบการเบิกความโดยได้รับอนุญาตจากศาล
               คู่ความอีกฝ่ายอาจร้องต่อศาลขอตรวจดูบันทึกทบทวนความจำของพยานดังกล่าวได้เมื่อพยานเบิกความเสร็จ และหากศาลเห็นสมควรอาจรวมบันทึกทบทวนความจำของพยานนั้นไว้ในสำนวนก็ได้

การเสนอบันทึกถ้อยคำในการสืบพยาน

               ข้อ ๑๖  เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานแทนการซักถามผู้ให้ถ้อยคำเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้
              
คู่ความที่ประสงค์จะขอเสนอบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานตามวรรคหนึ่ง จะต้องยื่นคำร้องแสดงความจำนงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันสืบพยานบุคคลนั้น ให้ศาลพิจารณากำหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลและส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลแล้ว คู่ความที่ยื่นไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำนั้น และให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแล้ว
              
ให้ผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อเบิกความตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ติดใจถามค้านพยาน ให้ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดี หากผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะรับฟังบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้

               ข้อ ๑๗  บันทึกถ้อยคำตามข้อ ๑๖ ให้มีรายการดังต่อไปนี้
              
(๑) ชื่อศาล และเลขคดี
              
(๒) วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ
              
(๓) ชื่อและชื่อสกุลของคู่ความ
              
(๔) ชื่อ ชื่อสกุล อายุ ที่อยู่ อาชีพ และความเกี่ยวพันกับคู่ความของผู้ให้ถ้อยคำ
              
(๕) รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง และหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ
              
(๖) ลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำ
              
ห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อศาล เว้นแต่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย

บันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งอยู่ต่างประเทศ

               ข้อ ๑๘  เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำผู้ให้ถ้อยคำมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ ทั้งนี้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้มีรายการตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๗ หรือตามกฎหมายของประเทศที่บันทึกถ้อยคำนั้นได้ทำขึ้น และให้นำความในข้อ ๑๖ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

การสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต

               ข้อ ๑๙  เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) ได้ โดยให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย และไม่ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียม ในการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งศาลอาจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายอื่นรับผิดได้ตามมาตรา ๑๖๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
              
การดำเนินกระบวนการพิจารณาตามวรรคหนึ่งให้ถือเสมือนว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในห้องพิจารณาของศาล
              
ในกรณีที่มีการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างเอกสารเพื่อประกอบการสืบพยาน ให้คู่ความฝ่ายนั้นส่งสำเนาเอกสารมายังศาลล้มละลายกลางก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน เมื่อสืบพยานเสร็จ ให้ศาลที่สืบพยานส่งเอกสารที่คู่ความอ้างมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็ว

การรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์

               ข้อ ๒๐  ศาลอาจรับฟังข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ หาก
              
(๑) การบันทึกข้อมูลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือการประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นการกระทำตามปกติในการประกอบกิจการของผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และ
              
(๒) การบันทึกและการประมวลผลข้อมูลเกิดจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ปฏิบัติงานตามขั้นตอน การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง และแม้หามีกรณีการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ขัดข้อง ก็ไม่กระทบถึงความถูกต้องของข้อมูลนั้น
              
การพิสูจน์ถึงการกระทำตามปกติของผู้ใช้ตาม (๑) และความถูกต้องของการบันทึกและการประมวลผลข้อมูลตาม (๒) อาจใช้คำรับรองของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการนั้นก็ได้

               ข้อ ๒๑  คู่ความที่ประสงค์จะเสนอข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องระบุข้อมูลที่จะอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานตามมาตรา ๘๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พร้อมยื่นคำแถลงแสดงความจำนงเช่นว่านั้น กับสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล เว้นแต่
              
(๑) สื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่น หรือของบุคลภายนอก ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงข้อมูลยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตงดส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลและขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาจากผู้ครอบครองโดยให้คู่ความฝ่ายที่อ้างนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้สื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยาน หรือในวันอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
              
(๒) ถ้าการทำสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้น จะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้าหรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความซึ่งอ้างอิงข้อมูลนั้น หรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นให้แล้วเสร็จภายในเวลาตามที่กำหนดได้ ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงข้อมูลยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ขออนุญาต งดส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลและขอนำสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยาน หรือในวันอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
              
ถ้าคู่ความฝ่ายที่อ้างอิงไม่สามารถนำสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลได้ภายในเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลจะกำหนดให้ทำการตรวจข้อมูลดังกล่าว ณ สถานที่ เวลา และภายในเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นสมควร แล้วแต่สภาพแห่งข้อมูลนั้นๆ ก็ได้
              
ถ้าคู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผล โดยเครื่องคอมพิวเตอร์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ห้ามมิให้ศาลรับฟังข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะรับฟังข้อมูลเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นด้วยก็ได้

               ข้อ ๒๒  คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นพยานหลักฐานยันตน อาจยื่นคำแถลงคัดค้านการอ้างข้อมูลนั้นต่อศาลก่อนการสืบข้อมูลนั้นเสร็จ โดยเหตุที่ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขของการรับฟังตามข้อ ๒๐ หรือสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นปลอม หรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจทราบเหตุแห่งการคัดค้านได้ก่อนเวลาดังกล่าว คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างข้อมูลหรือสื่อหรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลเช่นว่านั้นต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อาจยกข้อคัดค้านได้ก่อนนั้นและคำร้องนั้นมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง ในกรณีที่มีการคัดค้านดังว่ามานี้ให้นำมาตรา ๑๒๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
              
ถ้าคู่ความซึ่งประสงค์จะคัดค้านไม่คัดค้านการอ้างข้อมูลดังกล่าวเสียก่อนการสืบข้อมูลนั้นเสร็จ หรือศาลไม่อนุญาตให้คัดค้านภายหลัง ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการอ้างอิงข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจของศาลในการที่จะไต่สวนและชี้ขาดในเรื่องเงื่อนไขของการรับฟังข้อมูลนั้น ตามข้อ ๒๐ หรือในเรื่องความแท้จริงหรือถูกต้องของสื่อหรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลเช่นว่านั้น ในเมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               ข้อ ๒๓  ให้นำความใน ๒๑ ถึงข้อ ๒๒ มาใช้บังคับแก่การรับฟังข้อมูลที่บันทึกไว้ในหรือได้มาจากไมโครฟิล์ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นโดยอนุโลม

บันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ

               ข้อ ๒๔  ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นอาจทำความเห็นเป็นหนังสือ ส่งต่อศาลโดยไม่มาเบิกความประกอบหนังสือนั้นก็ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               ให้ศาลส่งสำเนาความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวแก่คู่ความทุฝ่าย หากเป็นกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจะต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น ให้ศาลส่งสำเนาความเห็นเป็นหนังสือนั้นแก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันเบิกความ

หมวด ๔ คำพิพากษาและคำสั่งของศาล (ข้อ ๒๕)

 

หมวด ๔
คำพิพากษาและคำสั่งของศาล

-------------------------

รายการในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย

               ข้อ ๒๕  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายที่จะต้องทำเป็นหนังสือนั้น จะไม่กล่าวหรือแสดงรายละเอียดแห่งคำฟ้อง คำร้องขอ คำร้อง คำให้การ คำคัดค้านและทางนำสืบของคู่ความก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องกล่าวหรือแสดงไว้โดยชัดแจ้งซึ่งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นแห่งคดี ตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียม

ลักษณะ ๒ ความอาญา (ข้อ ๒๖ - ๓๐)

หมวด ๑ บททั่วไป (ข้อ ๒๖ - ๒๗)

 

หมวด ๑
บททั่วไป

-------------------------

การฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลาย

               ข้อ ๒๖  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังไม่เปิดทำการในท้องที่ใด โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับได้หรือท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการสอบสวนจำเลยก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลล้มละลายกลางก็ได้ ตามที่ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควร
               ศาลล้มละลายกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่โจทก์ยื่นคำฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็นในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีล้มละลายในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
               ให้ศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นตามวรรคสองมีอำนาจออกหมายขัง หรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้

การนำบทบัญญัติลักษณะ ๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               ข้อ ๒๗  นอกจากที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้ ให้นำบทบัญญัติลักษณะ ๑ ความแพ่ง ว่าด้วยวิธีการติดต่อระหว่างศาล คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๔ การขอให้สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนตามข้อ ๗ ถึงข้อ ๙ เอกสารภาษาต่างประเทศตามข้อ ๑๐ การบันทึกคำเบิกความของพยานตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ การพิจารณาลับและการห้ามโฆษณาตามข้อ ๑๓ การทบทวนความจำของพยานตามข้อ ๑๕ การสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ตตามข้อ ๑๙ การรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามข้อ ๒๐ ถึงข้อ ๒๓ บันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามข้อ ๒๔ มาใช้บังคับแก่ความอาญาโดยอนุโลม

หมวด ๒ การดำเนินกระบวนพิจารณา (ข้อ ๒๘ - ๓๐)

 

หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา

-------------------------

การยื่นคำร้องขอหมายค้น หมายจับ ผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๒๘  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอหมายค้น หมายจับ ผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลจังหวัดตามข้อ ๒๖ ประกอบบทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ศาลจังหวัดดำเนินการและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งนำมาใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ แล้วแต่กรณี

การยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๒๙  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดตามข้อ ๒๖ ให้โจทก์จัดทำสำเนาสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุด และถ้าคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
               (๑) ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับคำฟ้องมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็ว เพื่อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องตามความเหมาะสม ให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องโดยเร็ว ให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตาม (๒)
               (๒) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ให้ศาลจังหวัดส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยรายตัวไปสอบถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง สอบถามคำให้การของจำเลยแล้วส่งต้นฉบับคำฟ้องพร้อมคำให้การของจำเลย ถ้าหากมี มายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็วเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือประทับฟ้อง แล้วนำเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เพื่อกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือนั่งพิจารณาพิพากษาคดีตามความเหมาะสมและให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดโดยเร็วเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบกำหนดวันเวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

การพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๓๐  ในกรณีตามข้อ ๒๙ (๒) หากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและเป็นคดีที่ศาลจะพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน ศาลล้มละลายกลางอาจใช้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING)
               ในกรณีที่ไม่มีการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) ให้ผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นคำฟ้องโดยเร็ว แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ทำให้จำเลยเสียสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

ลักษณะ ๓ แบบพิมพ์ (ข้อ ๓๑)

 

ลักษณะ ๓
แบบพิมพ์

-------------------------

               ข้อ ๓๑  อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอาจประกาศใช้แบบพิมพ์ใด ๆ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้
               เมื่อมีกรณีที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง คู่ความอาจจัดทำเอกสารตามรูปแบบพิมพ์นั้นด้วยวิธีการใด ๆ โดยไม่จำต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์ตามที่ศาลจัดไว้ให้ก็ได้


ให้ ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล            
อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง