ข้อกำหนดคดีล้มละลาย
พ.ศ. ๒๕๔๙
-------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๘ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางโดยความเห็นชอบจากประธานศาลฎีกาออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา และการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลล้มละลาย และศาลอื่นที่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนศาลล้มละลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อกำหนดนี้เรียกว่า “ข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๙”
ข้อ ๒๑ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๓/ตอนพิเศษ ๖๔ ง/หน้า ๓/๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙
หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
วิธีการติดต่อระหว่างศาล คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๔ เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม การติดต่อระหว่างศาลล้มละลายกับศาลอื่นอาจทำโดยโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษหรือประกอบกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และความเหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ทำการติดต่อ รวมทั้งจำนวนและลักษณะของเอกสาร หรือวัตถุอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด
คู่ความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี อาจได้รับอนุญาตจากศาลเพื่อใช้วิธีการติดต่อตามวรรคหนึ่งกับศาลแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือทางเจ้าพนักงานศาล หรือประกอบกันก็ได้ ทั้งนี้ โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา
-------------------------
การยื่นคำคู่ความต่อศาลจังหวัด
ข้อ ๕ ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อมีผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลจังหวัดตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอจัดทำสำเนาคำฟ้องหรือคำร้องขอสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุด แล้วให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็วเพื่อมีคำสั่งและแจ้ง คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับส่งหมายเรียกให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากมี ไปยังศาลจังหวัดโดยเร็วเช่นกัน
ข้อ ๖ ให้ศาลจังหวัดแจ้งคำสั่งที่ได้รับจากศาลล้มละลายกลางให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอทราบโดยเร็ว และในกรณีที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องขอ ให้ผู้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลจังหวัดภายในเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เพื่อให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องหรือสำเนาคำร้องขอให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินการตามมาตรา ๙๐/๙ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือคำร้องขอแล้วให้รีบนำเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางเพื่อกำหนดวัน เวลา และศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาคดีตามความเหมาะสม และให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดเพื่อให้แจ้งกำหนดวัน เวลา และศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นให้คู่ความทราบโดยเร็ว
การขอสืบพยานหลักฐานไว้ก่อน
ข้อ ๗ คำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานหลักฐานไว้ก่อน และในกรณีที่ยังมิได้มีคดีล้มละลายเกิดขึ้นต้องบรรยายข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุที่จะเกิดคดีล้มละลายขึ้น
ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำร้องต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุฉุกเฉินซึ่งหากแจ้งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทราบก่อนแล้ว พยานหลักฐานดังกล่าวจะถูกทำให้เสียหาย สูญหาย หรือมีเหตุอื่นใดที่จะทำให้ยากแก่การนำมาสืบในภายหลังได้
ข้อ ๘ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องให้ยึดหรืออายัดเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินตามข้อ ๗ วรรคสอง ศาลอาจสั่งให้ผู้ขอวางหลักประกันตามจำนวน ภายในระยะเวลาและกำหนดเงื่อนไขอย่างใด ตามที่ศาลเห็นสมควรสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก็ได้
ข้อ ๙ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพหรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ตตามข้อ ๑๙ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาตามข้อ ๗ และข้อ ๘ โดยอนุโลม
เอกสารภาษาต่างประเทศ
ข้อ ๑๐ ถ้าเอกสารที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ และคู่ความตกลงกันว่าไม่ต้องทำคำแปลทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน และศาลเห็นว่ามิใช่พยานหลักฐานในประเด็นหลักแห่งคดี ศาลจะอนุญาต ให้ส่งเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานต่อศาลโดยไม่ต้องทำคำแปลก็ได้
การบันทึกคำเบิกความของพยาน
ข้อ ๑๑ ในการบันทึกคำเบิกความของพยาน ศาลอาจจัดให้มีการบันทึกด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดหรือหลายวิธีประกอบกัน ดังต่อไปนี้
(๑) ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกและอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟังแทน
(๒ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกด้วยการจดชวเลข หรือวิธีใด ๆ อันสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้
(๓) บันทึกโดยใช้เครื่องมือในการบันทึกเสียง
(๔) บันทึกโดยใช้เครื่องมือในการบันทึกภาพและเสียง
ถ้าศาลจัดให้มีการบันทึกตาม (๒) ศาลต้องจัดให้มีการบันทึกด้วยวิธีการอื่นประกอบด้วย
ข้อ ๑๒ เมื่อศาลจัดให้มีการบันทึกคำเบิกความของพยานด้วยวิธีการตามข้อ ๑๑ (๒), (๓) หรือ (๔) ศาลอาจจัดให้มีการลงลายมือชื่อของพยานเพื่อรับรองว่าตนเป็นผู้ให้ถ้อยคำตามที่มีการบันทึกไว้ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ศาลไม่จำต้องจัดให้มีการถอดความบันทึกคำเบิกความของพยานเป็นภาษาไทยหรือเป็นหนังสืออีก เว้นแต่เมื่อมีคู่ความฝ่ายใดยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในประเด็นที่เกี่ยวกับพยานนั้น
การพิจารณาลับและการห้ามโฆษณา
ข้อ ๑๓ เพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อคุ้มครองความลับทางการค้า หรือเพื่อมิให้เสียหายแก่ธุรกิจการค้าที่เข้ามาฟื้นฟูกิจการ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีคำขอหรือถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรที่จะให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคดีต่อสาธารณชน ศาลอาจมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้ก็ได้
(๑) ห้ามประชาชนมิให้เข้าฟังการพิจารณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แล้วดำเนินการพิจารณาไปโดยไม่เปิดเผย
(๒) ห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่นว่านั้น
ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ คำสั่งหรือคำพิพากษาชี้ขาดคดีของศาลต้องอ่านในศาล โดยเปิดเผย และไม่ห้ามการโฆษณาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษาหรือย่อเรื่องแห่งคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นโดยเป็นกลางและถูกต้อง
หมวด ๓
พยานหลักฐาน
-------------------------
การกำหนดแนวทางการดำเนินคดี
ข้อ ๑๔ ก่อนมีการสืบพยานศาลอาจสั่งให้คู่ความทุกฝ่ายมาศาล เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดี เช่น
(๑) ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอื่น เช่น การไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีเสร็จไปหรือนำวิธีการอนุญาโตตุลาการ มาใช้เท่าที่สภาพแห่งคดีเปิดช่องให้ทำได้
(๒) กำหนดระยะเวลาทั้งหมดในการดำเนินคดี
(๓) กำหนดวัน เวลา วิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินคดีที่จำเป็น เช่น จำนวนและรายละเอียดเกี่ยวกับพยานที่จะนำมาเบิกความ บันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญ พยานเอกสาร และพยานหลักฐานที่ต้องการให้ศาลเรียกจากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการเดินเผชิญสืบและการส่งประเด็นไปสืบยังศาลอื่น เป็นต้น
(๔) กำหนดตัวผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒
การทบทวนความจำของพยาน
ข้อ ๑๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อพยานเบิกความถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริงใดแห่งคดี ซึ่งพยานไม่สามารถจำข้อเท็จจริงอันเป็นรายละเอียดนั้นได้ พยานอาจดูบันทึกทบทวนความจำของพยานประกอบการเบิกความโดยได้รับอนุญาตจากศาล
คู่ความอีกฝ่ายอาจร้องต่อศาลขอตรวจดูบันทึกทบทวนความจำของพยานดังกล่าวได้เมื่อพยานเบิกความเสร็จ และหากศาลเห็นสมควรอาจรวมบันทึกทบทวนความจำของพยานนั้นไว้ในสำนวนก็ได้
การเสนอบันทึกถ้อยคำในการสืบพยาน
ข้อ ๑๖ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่ความเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานแทนการซักถามผู้ให้ถ้อยคำเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้
คู่ความที่ประสงค์จะขอเสนอบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานตามวรรคหนึ่ง จะต้องยื่นคำร้องแสดงความจำนงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันสืบพยานบุคคลนั้น ให้ศาลพิจารณากำหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลและส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำนั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลแล้ว คู่ความที่ยื่นไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำนั้น และให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแล้ว
ให้ผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อเบิกความตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ติดใจถามค้านพยาน ให้ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดี หากผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะรับฟังบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้
ข้อ ๑๗ บันทึกถ้อยคำตามข้อ ๑๖ ให้มีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อศาล และเลขคดี
(๒) วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ
(๓) ชื่อและชื่อสกุลของคู่ความ
(๔) ชื่อ ชื่อสกุล อายุ ที่อยู่ อาชีพ และความเกี่ยวพันกับคู่ความของผู้ให้ถ้อยคำ
(๕) รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง และหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ
(๖) ลายมือชื่อผู้ให้ถ้อยคำ
ห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อศาล เว้นแต่ศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย
บันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานบุคคลของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งอยู่ต่างประเทศ
ข้อ ๑๘ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำผู้ให้ถ้อยคำมาเบิกความเป็นพยานต่อหน้าศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ ทั้งนี้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้มีรายการตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๗ หรือตามกฎหมายของประเทศที่บันทึกถ้อยคำนั้นได้ทำขึ้น และให้นำความในข้อ ๑๖ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
การสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต
ข้อ ๑๙ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) ได้ โดยให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย และไม่ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียม ในการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งศาลอาจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายอื่นรับผิดได้ตามมาตรา ๑๖๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
การดำเนินกระบวนการพิจารณาตามวรรคหนึ่งให้ถือเสมือนว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในห้องพิจารณาของศาล
ในกรณีที่มีการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอ้างเอกสารเพื่อประกอบการสืบพยาน ให้คู่ความฝ่ายนั้นส่งสำเนาเอกสารมายังศาลล้มละลายกลางก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน เมื่อสืบพยานเสร็จ ให้ศาลที่สืบพยานส่งเอกสารที่คู่ความอ้างมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็ว
การรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์
ข้อ ๒๐ ศาลอาจรับฟังข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ หาก
(๑) การบันทึกข้อมูลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือการประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นการกระทำตามปกติในการประกอบกิจการของผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และ
(๒) การบันทึกและการประมวลผลข้อมูลเกิดจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ปฏิบัติงานตามขั้นตอน การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้อง และแม้หามีกรณีการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ขัดข้อง ก็ไม่กระทบถึงความถูกต้องของข้อมูลนั้น
การพิสูจน์ถึงการกระทำตามปกติของผู้ใช้ตาม (๑) และความถูกต้องของการบันทึกและการประมวลผลข้อมูลตาม (๒) อาจใช้คำรับรองของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการนั้นก็ได้
ข้อ ๒๑ คู่ความที่ประสงค์จะเสนอข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องระบุข้อมูลที่จะอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานตามมาตรา ๘๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พร้อมยื่นคำแถลงแสดงความจำนงเช่นว่านั้น กับสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล เว้นแต่
(๑) สื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่น หรือของบุคลภายนอก ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงข้อมูลยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตงดส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลและขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาจากผู้ครอบครองโดยให้คู่ความฝ่ายที่อ้างนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้สื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยาน หรือในวันอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
(๒) ถ้าการทำสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้น จะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้าหรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความซึ่งอ้างอิงข้อมูลนั้น หรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นให้แล้วเสร็จภายในเวลาตามที่กำหนดได้ ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงข้อมูลยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ขออนุญาต งดส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลและขอนำสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยาน หรือในวันอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
ถ้าคู่ความฝ่ายที่อ้างอิงไม่สามารถนำสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลได้ภายในเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลจะกำหนดให้ทำการตรวจข้อมูลดังกล่าว ณ สถานที่ เวลา และภายในเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นสมควร แล้วแต่สภาพแห่งข้อมูลนั้นๆ ก็ได้
ถ้าคู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผล โดยเครื่องคอมพิวเตอร์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ห้ามมิให้ศาลรับฟังข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะรับฟังข้อมูลเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นด้วยก็ได้
ข้อ ๒๒ คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นพยานหลักฐานยันตน อาจยื่นคำแถลงคัดค้านการอ้างข้อมูลนั้นต่อศาลก่อนการสืบข้อมูลนั้นเสร็จ โดยเหตุที่ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขของการรับฟังตามข้อ ๒๐ หรือสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นปลอม หรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจทราบเหตุแห่งการคัดค้านได้ก่อนเวลาดังกล่าว คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างข้อมูลหรือสื่อหรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลเช่นว่านั้นต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อาจยกข้อคัดค้านได้ก่อนนั้นและคำร้องนั้นมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง ในกรณีที่มีการคัดค้านดังว่ามานี้ให้นำมาตรา ๑๒๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าคู่ความซึ่งประสงค์จะคัดค้านไม่คัดค้านการอ้างข้อมูลดังกล่าวเสียก่อนการสืบข้อมูลนั้นเสร็จ หรือศาลไม่อนุญาตให้คัดค้านภายหลัง ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการอ้างอิงข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจของศาลในการที่จะไต่สวนและชี้ขาดในเรื่องเงื่อนไขของการรับฟังข้อมูลนั้น ตามข้อ ๒๐ หรือในเรื่องความแท้จริงหรือถูกต้องของสื่อหรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลเช่นว่านั้น ในเมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ข้อ ๒๓ ให้นำความใน ๒๑ ถึงข้อ ๒๒ มาใช้บังคับแก่การรับฟังข้อมูลที่บันทึกไว้ในหรือได้มาจากไมโครฟิล์ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นโดยอนุโลม
บันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ
ข้อ ๒๔ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นอาจทำความเห็นเป็นหนังสือ ส่งต่อศาลโดยไม่มาเบิกความประกอบหนังสือนั้นก็ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ให้ศาลส่งสำเนาความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวแก่คู่ความทุฝ่าย หากเป็นกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญจะต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น ให้ศาลส่งสำเนาความเห็นเป็นหนังสือนั้นแก่คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันเบิกความ
หมวด ๔
คำพิพากษาและคำสั่งของศาล
-------------------------
รายการในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย
ข้อ ๒๕ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายที่จะต้องทำเป็นหนังสือนั้น จะไม่กล่าวหรือแสดงรายละเอียดแห่งคำฟ้อง คำร้องขอ คำร้อง คำให้การ คำคัดค้านและทางนำสืบของคู่ความก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องกล่าวหรือแสดงไว้โดยชัดแจ้งซึ่งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นแห่งคดี ตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียม
หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
การฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลาย
ข้อ ๒๖ ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังไม่เปิดทำการในท้องที่ใด โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับได้หรือท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการสอบสวนจำเลยก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลล้มละลายกลางก็ได้ ตามที่ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควร
ศาลล้มละลายกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่โจทก์ยื่นคำฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็นในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีล้มละลายในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
ให้ศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นตามวรรคสองมีอำนาจออกหมายขัง หรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้
การนำบทบัญญัติลักษณะ ๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๗ นอกจากที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้ ให้นำบทบัญญัติลักษณะ ๑ ความแพ่ง ว่าด้วยวิธีการติดต่อระหว่างศาล คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๔ การขอให้สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนตามข้อ ๗ ถึงข้อ ๙ เอกสารภาษาต่างประเทศตามข้อ ๑๐ การบันทึกคำเบิกความของพยานตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ การพิจารณาลับและการห้ามโฆษณาตามข้อ ๑๓ การทบทวนความจำของพยานตามข้อ ๑๕ การสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ตตามข้อ ๑๙ การรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามข้อ ๒๐ ถึงข้อ ๒๓ บันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามข้อ ๒๔ มาใช้บังคับแก่ความอาญาโดยอนุโลม
หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา
-------------------------
การยื่นคำร้องขอหมายค้น หมายจับ ผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลจังหวัด
ข้อ ๒๘ ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอหมายค้น หมายจับ ผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลจังหวัดตามข้อ ๒๖ ประกอบบทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ศาลจังหวัดดำเนินการและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งนำมาใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ แล้วแต่กรณี
การยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด
ข้อ ๒๙ ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดตามข้อ ๒๖ ให้โจทก์จัดทำสำเนาสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุด และถ้าคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
(๑) ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับคำฟ้องมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็ว เพื่อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องตามความเหมาะสม ให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องโดยเร็ว ให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตาม (๒)
(๒) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ให้ศาลจังหวัดส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยรายตัวไปสอบถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง สอบถามคำให้การของจำเลยแล้วส่งต้นฉบับคำฟ้องพร้อมคำให้การของจำเลย ถ้าหากมี มายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็วเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือประทับฟ้อง แล้วนำเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เพื่อกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือนั่งพิจารณาพิพากษาคดีตามความเหมาะสมและให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดโดยเร็วเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบกำหนดวันเวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้น
การพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด
ข้อ ๓๐ ในกรณีตามข้อ ๒๙ (๒) หากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและเป็นคดีที่ศาลจะพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน ศาลล้มละลายกลางอาจใช้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING)
ในกรณีที่ไม่มีการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) ให้ผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นคำฟ้องโดยเร็ว แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ทำให้จำเลยเสียสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
ลักษณะ ๓
แบบพิมพ์
-------------------------
ข้อ ๓๑ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอาจประกาศใช้แบบพิมพ์ใด ๆ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้
เมื่อมีกรณีที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ตามวรรคหนึ่ง คู่ความอาจจัดทำเอกสารตามรูปแบบพิมพ์นั้นด้วยวิธีการใด ๆ โดยไม่จำต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์ตามที่ศาลจัดไว้ให้ก็ได้
ให้ ณ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
นวลทิพย์ ฉัตรชัยสกุล
อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง