ส่วนที่ ๑
การขอรับชำระหนี้
-------------------------
มาตรา ๙๑ เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินและข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกัน หรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ให้แนบเอกสารที่เกี่ยวกับหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้มาด้วย๑
มาตรา ๙๑/๑๒ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้และแสดงถึงเหตุสุดวิสัยที่ตนไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลา เมื่อศาลเห็นว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามวรรคหนึ่ง ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เฉพาะทรัพย์สินที่มีอยู่ภายหลังการแบ่งทรัพย์สินก่อนที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ทั้งนี้ ไม่กระทบถึงการใดที่ศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว
มาตรา ๙๒ บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะสิ่งของของตนถูกยึดไปตามมาตรา ๑๐๙ (๓) ก็ดี หรือเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา ๑๑๕ ก็ดี หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา ๑๒๒ ก็ดี มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับราคาสิ่งของหรือหนี้เดิมหรือค่าเสียหายได้ แล้วแต่กรณี ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดี ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด
มาตรา ๙๓ ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด
มาตรา ๙๔ เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่
(๑) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้
(๒)๓ หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้
มาตรา ๙๕ เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา ๙๖ เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
(๒) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(๓) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(๔) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
มาตรา ๙๗ ถ้าเจ้าหนี้มีประกันขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้นั้นต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสิทธิเหนือทรัพย์นั้นเป็นอันระงับ เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะแสดงต่อศาลได้ว่า การละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ ในกรณีเช่นนี้ศาลอาจอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ โดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่งหรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๙๘ ถ้าหนี้ที่ขอรับชำระได้กำหนดไว้เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คิดเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา ๙๙ ถ้าเป็นหนี้ค่าเช่าหรือหนี้อย่างอื่นซึ่งมีกำหนดระยะเวลาให้ชำระ และวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ตรงกับวันกำหนด เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ตามส่วนจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ได้
มาตรา ๑๐๐ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ไม่ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้
มาตรา ๑๐๑ ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๒ ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดี ก็อาจหักกลบลบกันได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว
มาตรา ๑๐๓ เมื่อบุคคลซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้ที่อยู่ในเงื่อนไขบังคับก่อนขอหักกลบลบหนี้ บุคคลนั้นจะต้องให้ประกันสำหรับจำนวนที่ขอหักกลบลบหนี้นั้น
มาตรา ๑๐๔ เมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รีบนัดลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมาพร้อมกันเพื่อตรวจคำขอรับชำระหนี้ โดยแจ้งความให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา ๑๐๕๔ ในการพิจารณาและมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนหรือให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับหนี้สินได้
มาตรา ๑๐๖๕ คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใด ถ้าเจ้าหนี้อื่น ลูกหนี้ หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อื่นไม่โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจเป็นผู้พิจารณาสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ได้ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น
คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายใด ถ้ามีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ยกคำขอรับชำระหนี้
(๒) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
(๓) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
การคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
การพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคัดค้านตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนคำขอรับชำระหนี้มาตรวจและสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำคำชี้แจงในเรื่องที่เป็นปัญหาตามที่เห็นสมควรได้ หากศาลเห็นสมควรไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วเท่าที่จำเป็น
มาตรา ๑๐๗๖ (ยกเลิก)
มาตรา ๑๐๘๗ คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเจ้าพนังานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งอนุญาตแล้วนั้น ถ้าต่อมาปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งไปโดยผิดหลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้ หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้มีคำสั่งอนุญาตไปแล้วได้
๑ มาตรา ๙๑ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๒ มาตรา ๙๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๓ มาตรา ๙๔ (๒) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
๔ มาตรา ๑๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๕ มาตรา ๑๐๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๖ มาตรา ๑๐๗ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๗ มาตรา ๑๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
ส่วนที่ ๒
ทรัพย์สินซึ่งอาจเอามาชำระหนี้
-------------------------
มาตรา ๑๐๙๑ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้
(๑)๒ ทรัพย์สินทั้งหลายอันลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เว้นแต่
ก. เครื่องใช้สอยส่วนตัวอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งลูกหนี้รวมทั้งคู่สมรสและบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้ จำเป็นต้องใช้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป และ
ข. สัตว์ พืชพันธุ์ เครื่องมือและสิ่งของสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ราคารวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท
(๒) ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาปลดจากล้มละลาย
(๓) สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครองหรืออำนาจสั่งการหรือสั่งจำหน่ายของลูกหนี้ ในทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทำให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย
๑ มาตรา ๑๐๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
๒ มาตรา ๑๐๙ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
ส่วนที่ ๓
ผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว
-------------------------
มาตรา ๑๑๐ คำสั่งของศาลที่ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ชั่วคราว หรือหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น จะใช้ยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ได้ เว้นแต่การบังคับคดีนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
การบังคับคดีนั้น ให้ถือว่าได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน หรือถึงการที่ผู้ใดได้ชำระเงินโดยสุจริตแก่ศาล หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล หรือถึงความสมบูรณ์แห่งการซื้อโดยสุจริตในการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาล
มาตรา ๑๑๑๑ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จำหน่ายทรัพย์สินแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน ถ้าได้รับคำแจ้งความว่าได้มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายก่อนที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกักเงินไว้ และถ้าต่อไปศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคิดหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและค่าธรรมเนียมโจทก์ในชั้นบังคับคดี เหลือเท่าใดให้ส่งเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ในกรณีเช่นว่านี้มิให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๑๒๒ ถ้าในระหว่างที่การบังคับคดียังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำแจ้งความว่าลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งรายการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ในอำนาจหรือความยึดถือของตนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และให้ปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานบังคับคดีและค่าธรรมเนียมโจทก์ในชั้นบังคับคดี ให้หักจากทรัพย์สินนั้นได้ก่อน
มาตรา ๑๑๓ การขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอได้โดยทำเป็นคำร้อง
การขอให้เพิกถอนตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ขอเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น๓
มาตรา ๑๑๔๔ ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๑๑๓ นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ
มาตรา ๑๑๕ การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้
ถ้าเจ้าหนี้ผู้ได้เปรียบเป็นบุคคลภายในของลูกหนี้ ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำตามวรรคหนึ่งที่ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น๕
มาตรา ๑๑๖๖ บทบัญญัติในมาตรา ๑๑๕ ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย
๑ มาตรา ๑๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
๒ มาตรา ๑๑๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑
๓ มาตรา ๑๑๓ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
๔ มาตรา ๑๑๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
๕ มาตรา ๑๑๕ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
๖ มาตรา ๑๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
ส่วนที่ ๔
การรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สิน
-------------------------
มาตรา ๑๑๗ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกลูกหนี้ คู่สมรสของลูกหนี้ หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้ความหรือสงสัยว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง หรือเชื่อว่าเป็นหนี้ลูกหนี้ หรือเห็นว่าสามารถแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้มาไต่สวน หรือสอบสวน และมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้น ๆ ส่งเอกสารหรือวัตถุพยานซึ่งอยู่ในความยึดถือ หรืออำนาจของผู้นั้นอันเกี่ยวกับกิจการหรือทรัพย์สินของลูกหนี้๑
ถ้าบุคคลนั้นจงใจขัดขืนหมายเรียกหรือคำสั่ง ศาลมีอำนาจออกหมายจับบุคคลนั้นมาขังไว้จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา ๑๑๘ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจบังคับให้บุคคลที่รับว่าเป็นหนี้ลูกหนี้หรือรับว่ามีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
มาตรา ๑๑๙ เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความนั้นปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวน เมื่อเห็นว่าบุคคลนั้นไม่ได้เป็นหนี้ให้จำหน่ายชื่อจากบัญชีลูกหนี้ และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้เท่าใด ให้แจ้งจำนวนเป็นหนังสือยืนยันไปยังบุคคลที่จะต้องรับผิดนั้น และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะคัดค้านประการใดให้ร้องคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยัน
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความยืนยันนั้นคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อน ให้ศาลพิจารณา ถ้าพอใจว่าเป็นหนี้ ให้มีคำบังคับให้บุคคลนั้นชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้ ให้มีคำสั่งให้จำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้
ถ้าบุคคลที่ได้รับแจ้งความจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ปฏิเสธต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือมิได้ร้องคัดค้านต่อศาลตามกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอต่อศาลให้บังคับให้บุคคลนั้นชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
ถ้าบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ในกรณีที่ผู้ถูกทวงหนี้ร้องคัดค้านต่อศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้สั่งยึด หรืออายัดทรัพย์สินของผู้ร้องคัดค้านไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งในเรื่องหนี้นั้นได้
มาตรา ๑๒๐ ถ้าลักษณะแห่งธุรกิจของลูกหนี้มีเหตุอันสมควรที่จะดำเนินต่อไป เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินธุรกิจของลูกหนี้นั้นเองเพื่อชำระสะสางธุรกิจนั้นให้เสร็จไปหรือจะตั้งบุคคลใดหรือลูกหนี้เป็นผู้จัดการโดยกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ก็ได้
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตั้งบุคคลใดนอกจากลูกหนี้เป็นผู้จัดการ บุคคลนั้นต้องให้ประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่ง และมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามที่ที่ประชุมเจ้าหนี้กำหนด ถ้ามิได้กำหนดไว้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้กำหนด
ผู้จัดการต้องทำบัญชียื่นตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่ง
มาตรา ๑๒๑ ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือน บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์การอื่นที่มิใช่รัฐบาลด้วย
มาตรา ๑๒๒ ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่า ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญานั้นได้
บุคคลใดได้รับความเสียหายโดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับดังกล่าวมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้
มาตรา ๑๒๓ ทรัพย์สินซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมได้มา เมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด
การขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นของเสียง่ายหรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สินนั้น
ผู้ได้รับโอนทรัพย์สินจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขายหรือการแบ่ง ไม่ต้องรับผิดในค่าภาษีอากรหรือจังกอบสำหรับปีก่อนที่ได้รับโอน
๑ มาตรา ๑๑๗ วรรคหนึ่ง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
ส่วนที่ ๕
การแบ่งทรัพย์สิน
-------------------------
มาตรา ๑๒๔ ทรัพย์สินซึ่งเหลือจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้โดยเร็ว
การแบ่งทรัพย์สินต้องกระทำทุกระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปโดยมีเหตุสมควร
มาตรา ๑๒๕ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องกันเงินส่วนแบ่งรายที่มีเงื่อนไขหรือมีข้อโต้แย้ง และค่าธรรมเนียมกับค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นไว้ตามสมควรแล้วแบ่งเงินที่เหลือให้แก่เจ้าหนี้นอกนั้นไป
มาตรา ๑๒๖ ก่อนกระทำการแบ่งครั้งใด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ และส่งแจ้งความไปยังเจ้าหนี้และบุคคลล้มละลายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน กำหนดวันเวลาให้มาตรวจบัญชีส่วนแบ่ง ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้าน ให้ถือว่าบัญชีนั้นถูกต้องและเป็นที่สุด แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาการแบ่งไว้ ณ สำนักงาน และแจ้งจำนวนส่วนแบ่งที่จะจ่ายไปยังเจ้าหนี้
มาตรา ๑๒๗ ถ้ามีผู้มีส่วนได้เสียคนใดคัดค้านบัญชีส่วนแบ่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคำคัดค้านและคำชี้แจงของเจ้าหนี้และบุคคลล้มละลายแล้วสั่งตามที่เห็นสมควร
ผู้มีส่วนได้เสียอาจคัดค้านคำสั่งนั้นโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลได้ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่ง
ถ้ามีผู้คัดค้านต่อศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เลื่อนการจ่ายเงินไปจนกว่าศาลได้มีคำสั่งแล้ว แต่ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการเลื่อนนั้นจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกันเงินค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอันอาจเกิดขึ้นไว้ตามสมควร แล้วแบ่งเงินที่เหลือให้แก่เจ้าหนี้รายที่ไม่มีข้อโต้แย้งไปก่อนได้
มาตรา ๑๒๘ ห้ามมิให้จ่ายส่วนแบ่งแก่เจ้าหนี้คนใดเมื่อรวมส่วนแบ่งทุกครั้งแล้วเป็นเงินไม่ถึงหนึ่งบาท
มาตรา ๑๒๙ สามีหรือภริยาของบุคคลล้มละลายจะได้รับส่วนแบ่งในฐานะเจ้าหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้เป็นที่พอใจแล้ว
มาตรา ๑๓๐๑ ในการแบ่งทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้นั้น ให้ชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าใช้จ่ายในการจัดการมรดกของลูกหนี้
(๒) ค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้
(๓) ค่าปลงศพลูกหนี้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป
(๔)๒ ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินตามมาตรา ๑๗๙ (๔)
(๕) ค่าธรรมเนียมของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์และค่าทนายความตามที่ศาล หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด
(๖) ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายในหกเดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพื่อกางานที่ได้ทำให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นนายจ้างตามมาตรา ๒๕๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
(๗) หนี้อื่น ๆ
ถ้ามีเงินไม่พอชำระเต็มจำนวนหนี้ในลำดับใดให้เจ้าหนี้ในลำดับนั้นได้รับเฉลี่ยตามส่วน
มาตรา ๑๓๐ ทวิ๓ ในกรณีที่หนี้ตามมาตรา ๑๓๐ (๗) รายใดมีการกำหนดโดยกฎหมายหรือสัญญาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อเจ้าหนี้อื่นได้รับชำระหนี้จนเต็มจำนวนแล้ว เจ้าหนี้ดังกล่าวนั้นยังคงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินตามสิทธิที่ตนมีอยู่ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายหรือสัญญานั้น
มาตรา ๑๓๑ ก่อนกระทำการแบ่งครั้งที่สุด ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งแจ้งความไปยังผู้ที่เกี่ยวค้างค่าจ้างแรงงานหรือเงินที่ได้ออกไปโดยคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าให้ส่งบัญชีเงินที่เกี่ยวค้างนั้นภายในสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ ถ้าไม่ส่งตามกำหนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดการแบ่งครั้งที่สุด และจ่ายเงินไปโดยไม่คำนึงถึงเงินที่เกี่ยวค้างอยู่นั้น ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความไม่ปฏิบัติดังว่านี้ ผู้นั้นหมดสิทธิเรียกร้องต่อไป
กำหนดเวลาดังกล่าวไว้ในวรรคก่อน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขยายได้ เมื่อมีเหตุสมควร
มาตรา ๑๓๒ เมื่อได้ชำระหนี้ทั้งหมดโดยเต็มจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้กับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในคดีล้มละลายหมดแล้ว ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้คืนแก่บุคคลล้มละลายไป
๑ มาตรา ๑๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
๒ มาตรา ๑๓๐ วรรคหนึ่ง (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๓ มาตรา ๑๓๐ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒
ส่วนที่ ๖
การปิดคดี
-------------------------
มาตรา ๑๓๓ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งที่สุด หรือได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ หรือเมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจทำรายงานแสดงกิจการและบัญชีรับจ่ายในคดีล้มละลายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้
เมื่อศาลได้พิจารณารายงานและบัญชีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบกับคำคัดค้านของเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ศาลจะสั่งให้ปิดคดีหรือไม่ก็ได้
ถ้าศาลสั่งไม่ให้ปิดคดี เมื่อเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลอาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับผิดในการที่ได้กระทำหรือละเว้นกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ก็ได้
คำสั่งปิดคดีทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พ้นจากความรับผิดในหน้าที่จนถึงวันที่ศาลสั่งนั้น
ถ้าปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลง ศาลอาจเพิกถอนคำสั่งปิดคดีนั้นได้
มาตรา ๑๓๔ คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้ แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด และไม่ทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หลุดพ้นจากหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) หน้าที่ตามมาตรา ๑๖๐
(๒) หน้าที่อนุมัติการใด ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้
(๓) หน้าที่ตรวจบัญชีรับจ่ายของบุคคลล้มละลาย
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปได้
ส่วนที่ ๗
การยกเลิกการล้มละลาย
-------------------------
มาตรา ๑๓๕ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยหรือยอมเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายหรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวแล้วภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนหรือละเลยนั้น
(๒) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
(๓) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
ถ้าลูกหนี้ปฏิเสธหนี้สินรายใด แต่ลูกหนี้ยอมทำสัญญาและให้ประกันต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เต็มจำนวนกับค่าธรรมเนียมด้วยก็ดี หรือถ้าหาตัวเจ้าหนี้ไม่พบ แต่ลูกหนี้ได้นำเงินเต็มจำนวนมาวางต่อศาลก็ดี ให้ถือว่าหนี้สินรายนั้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
(๔) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุด หรือไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในกำหนดเวลาสิบปี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลาย
มาตรา ๑๓๖ คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา ๑๓๕ (๑) หรือ (๒) นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด
มาตรา ๑๓๗ คำสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้ว ส่วนทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายให้ตกแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลกำหนด หรือถ้าไม่ได้กำหนด ก็ให้คืนแก่บุคคลล้มละลาย
มาตรา ๑๓๘ เมื่อศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ