ส่วนที่ ๑
การแต่งตั้งและถอดถอน
-------------------------
มาตรา ๑๓๙๑ รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนที่เห็นสมควรโดยเฉพาะตัวหรือโดยตำแหน่งหน้าที่ ให้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีอำนาจถอดถอน รวมทั้งออกระเบียบกำหนดคุณสมบัติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ได้
การแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และระเบียบตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๓๙/๑๒ ให้กรมบังคับคดีจัดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม และประสบการณ์ ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญ ตามหลักสูตรการฝึกอบรมที่อธิบดีกรมบังคับคดีกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งผ่านการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งให้เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และในการกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้คำนึงถึงภาระหน้าที่ คุณภาพของงาน โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
๑ มาตรา ๑๓๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๘
๒ มาตรา ๑๓๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑
ส่วนที่ ๒
อำนาจหน้าที่
-------------------------
มาตรา ๑๔๐ ในการเป็นคู่ความในศาลก็ดี ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ดี หรือในการกระทำการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ก็ดี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้นามตำแหน่งว่า “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ...............ลูกหนี้” หรือ “เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของ..................ผู้ล้มละลาย” โดยกรอกนามของลูกหนี้หรือผู้ล้มละลายลงในช่องว่าง แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๔๑ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจ้างทนายความเข้าทำการแทนได้
มาตรา ๑๔๒ นอกจากที่มีบัญญัติไว้ในบทมาตราอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รายงานข้อความเกี่ยวกับกิจการ ทรัพย์สิน หรือความประพฤติของลูกหนี้ตามที่ศาลต้องการ
(๒) ช่วยซักถามลูกหนี้หรือบุคคลอื่นในการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๔๓ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการใดที่เป็นปัญหาได้
มาตรา ๑๔๔ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์แห่งการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วให้กู้ยืมได้
มาตรา ๑๔๕ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำการดังต่อไปนี้ได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้แล้ว
(๑) ถอนการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย
(๒) โอนทรัพย์สินใด ๆ นอกจากโดยวิธีขายทอดตลาด
(๓) สละสิทธิ
(๔) ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือฟ้องหรือถอนฟ้องคดีล้มละลาย
(๕) ประนีประนอมยอมความหรือมอบคดีให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
มาตรา ๑๔๖ ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืน ตาม กลับ หรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๑๔๗ ในปฏิบัติการตามหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เว้นแต่จะได้กระทำโดยเจตนาร้าย หรือโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๔๘ การฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ ในการที่ได้กระทำหรือละเว้นกระทำการตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดเวลาหกเดือนนับแต่วันที่เกิดอำนาจฟ้องให้ถือว่าขาดอายุความ
มาตรา ๑๔๘/๑๑ ในกรณีที่บทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล หรือประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือพิมพ์รายวัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะอื่นใดแทนตามที่อธิบดีกรมบังคับคดีประกาศกำหนดก็ได้
๑ มาตรา ๑๔๘/๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑