ลักษณะ ๒ ความอาญา (ข้อ ๒๖ - ๓๐)

หมวด ๑ บททั่วไป (ข้อ ๒๖ - ๒๗)

 

หมวด ๑
บททั่วไป

-------------------------

การฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลาย

               ข้อ ๒๖  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังไม่เปิดทำการในท้องที่ใด โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น หรือจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับได้หรือท้องที่ที่เจ้าพนักงานทำการสอบสวนจำเลยก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ณ ศาลล้มละลายกลางก็ได้ ตามที่ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควร
               ศาลล้มละลายกลางอาจขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่โจทก์ยื่นคำฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นใดดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีได้ตามความจำเป็นในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลจังหวัดนำวิธีพิจารณาคดีล้มละลายในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
               ให้ศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นฟ้องไว้หรือศาลจังหวัดอื่นตามวรรคสองมีอำนาจออกหมายขัง หรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้

การนำบทบัญญัติลักษณะ ๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               ข้อ ๒๗  นอกจากที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้ ให้นำบทบัญญัติลักษณะ ๑ ความแพ่ง ว่าด้วยวิธีการติดต่อระหว่างศาล คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๔ การขอให้สืบพยานหลักฐานไว้ก่อนตามข้อ ๗ ถึงข้อ ๙ เอกสารภาษาต่างประเทศตามข้อ ๑๐ การบันทึกคำเบิกความของพยานตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ การพิจารณาลับและการห้ามโฆษณาตามข้อ ๑๓ การทบทวนความจำของพยานตามข้อ ๑๕ การสืบพยานบุคคลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ตตามข้อ ๑๙ การรับฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามข้อ ๒๐ ถึงข้อ ๒๓ บันทึกความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามข้อ ๒๔ มาใช้บังคับแก่ความอาญาโดยอนุโลม

หมวด ๒ การดำเนินกระบวนพิจารณา (ข้อ ๒๘ - ๓๐)

 

หมวด ๒
การดำเนินกระบวนพิจารณา

-------------------------

การยื่นคำร้องขอหมายค้น หมายจับ ผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๒๘  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอหมายค้น หมายจับ ผัดฟ้องหรือฝากขังต่อศาลจังหวัดตามข้อ ๒๖ ประกอบบทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ศาลจังหวัดดำเนินการและมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งนำมาใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ แล้วแต่กรณี

การยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๒๙  ในระหว่างที่ศาลล้มละลายภาคยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดตามข้อ ๒๖ ให้โจทก์จัดทำสำเนาสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุด และถ้าคำฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
               (๑) ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับคำฟ้องมายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็ว เพื่อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องตามความเหมาะสม ให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องโดยเร็ว ให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตาม (๒)
               (๒) ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ให้ศาลจังหวัดส่งสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยรายตัวไปสอบถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง สอบถามคำให้การของจำเลยแล้วส่งต้นฉบับคำฟ้องพร้อมคำให้การของจำเลย ถ้าหากมี มายังศาลล้มละลายกลางโดยเร็วเพื่อให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือประทับฟ้อง แล้วนำเสนออธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง เพื่อกำหนดวัน เวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือนั่งพิจารณาพิพากษาคดีตามความเหมาะสมและให้ศาลล้มละลายกลางแจ้งศาลจังหวัดโดยเร็วเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบกำหนดวันเวลาและศาลที่จะนั่งไต่สวนมูลฟ้องหรือนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

การพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด

               ข้อ ๓๐  ในกรณีตามข้อ ๒๙ (๒) หากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องและเป็นคดีที่ศาลจะพิพากษาได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐาน ศาลล้มละลายกลางอาจใช้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING)
               ในกรณีที่ไม่มีการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) หรือการประชุมทางอินเทอร์เน็ต (INTERNET MEETING) ให้ผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีในศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นคำฟ้องโดยเร็ว แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ทำให้จำเลยเสียสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว