สารบัญ

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๔)

 

พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
พ.ศ. ๒๕๕๙

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” หมายความว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค
               “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” หมายความว่า คดีดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะมีข้อหาหรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกันรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม
               (๑) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ
               (๒) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดตาม (๑) หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
               (๓) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ ขอให้ รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใด ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น
               (๔) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
               (๕) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตาม (๑) ถึง (๔) ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้สมคบ
               (๖) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
               (๗) คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
               (๘) กรณีที่มีการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องขอตาม (๑) ถึง (๗)
               ความในวรรคหนึ่งมิให้รวมถึง
               (๑) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (๒) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
               “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น
               “ประพฤติมิชอบ” หมายความว่า การกระทำที่ไม่ใช่ทุจริตต่อหน้าที่ แต่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดโดยอาศัยเหตุที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรี ที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแลการรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน
               “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้หมายความรวมถึงเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

               มาตรา ๔  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๗๑ ก/หน้า ๑/๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๙

หมวด ๑ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (มาตรา ๕ - ๑๕)

 

หมวด ๑
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

-------------------------

               มาตรา ๕  ให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางโดยยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และจะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา
               ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีเขตตลอดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี แต่บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก็ได้ ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่จะไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้
               ในกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลไว้พิจารณาพิพากษา หรือได้รับโอนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคหรือศาลชั้นต้นอื่นภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ นอกเขตศาลได้ตามที่เห็นสมควร
               ในกรณีที่ความผิดซึ่งเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย ให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย

               มาตรา ๖  ให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคขึ้น และจะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องระบุเขตอำนาจศาลและกำหนดที่ตั้งศาลในเขตศาลนั้นไว้ด้วย

               มาตรา ๗  ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

               มาตรา ๘  ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย

               มาตรา ๙  ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดที่เกี่ยวข้องกัน และบางกรรมไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบโดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ

               มาตรา ๑๐  เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา

               มาตรา ๑๑  ในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๑๒  ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาใช้บังคับแก่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๓  ในกรณีที่มีความจำเป็น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอาจแต่งตั้งให้ศาลชั้นต้นอื่นดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ อันมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแทนก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับแต่งตั้งนำวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไปใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น

               มาตรา ๑๔  การนั่งพิจารณาและการพิพากษาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะกระทำในศาลนั้นเองหรือ ณ ศาลชั้นต้นอื่นที่อยู่ในเขตท้องที่ของศาลนั้นก็ได้ ในกรณีไปนั่งพิจารณาหรือพิพากษาคดีที่ศาลชั้นต้นอื่น จะให้เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือของศาลชั้นต้นนั้นทำหน้าที่ช่วยเหลือในทางธุรการก็ได้

               มาตรา ๑๕  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีอำนาจออกหมายอาญาและหมายใด ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้

หมวด ๒ ผู้พิพากษาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ (มาตรา ๑๖ - ๑๗)

 

หมวด ๒
ผู้พิพากษาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

-------------------------

               มาตรา ๑๖  ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทุกศาล ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งแต่งตั้งจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบซึ่งแต่งตั้งจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

               มาตรา ๑๗  ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ให้มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลละหนึ่งคนกับให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลละหนึ่งคน และในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมโดยความเห็นชอบของประธานศาลฎีกาจะกำหนดให้มีรองอธิบดีผู้พิพากษามากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสามคนก็ได้

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๑๘ - ๒๒)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๑๘  ในระหว่างที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคยังไม่ได้เปิดทำการ ให้แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาและศาลชั้นต้นอื่นยังคงมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ต่อไป

               มาตรา ๑๙  เมื่อมีการเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาที่ค้างพิจารณาอยู่ต่อไป และให้ถือว่าบรรดากระบวนพิจารณาที่แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาได้ดำเนินการไว้ก่อนวันเปิดทำการเป็นกระบวนพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนั้นด้วย
               บรรดาคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นใดในวันเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้ศาลชั้นต้นนั้นยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ต่อไปจนเสร็จ

               มาตรา ๒๐  ในวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้ผู้พิพากษาในศาลอาญาซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ต่อไปจนกว่าจะมีผู้มาดำรงตำแหน่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

               มาตรา ๒๑  ในระหว่างที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคยังไม่ได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีเขตในท้องที่นั้นด้วยและโจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นอื่นที่อยู่ในเขตท้องที่ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคนั้นเช่นเดียวกับการยื่นฟ้องคดีทั่วไปก็ได้ ให้ศาลชั้นต้นที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นแจ้งไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีนั้นไว้แล้วจะออกไปทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณา และพิพากษาคดี ณ ศาลชั้นต้นแห่งท้องที่นั้น หรือจะกำหนดให้ทำการไต่สวนมูลฟ้อง นั่งพิจารณา และพิพากษาคดี ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก็ได้ตามที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะเห็นสมควร
               ให้ศาลชั้นต้นอื่นตามวรรคหนึ่งมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการขอผัดฟ้อง การออกหมายขัง และการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้

               มาตรา ๒๒  บรรดาคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือศาลชั้นต้นใดในวันเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือศาลชั้นต้นนั้น แล้วแต่กรณี ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ต่อไปจนเสร็จ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การทุจริตและประพฤติมิชอบมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางสังคม และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในระยะที่ผ่านมาได้ทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และจากการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง ส่งผลให้มีคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นสู่ศาลมากขึ้น สมควรจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๕)

 

พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
พ.ศ. ๒๕๕๙

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้
               “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” หมายความว่า คดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
               “ศาล” หมายความว่า ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
               “ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               “ประธานกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               “คณะกรรมการ ป.ป.ท.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
               “เจ้าพนักงานคดี” หมายความว่า ข้าราชการศาลยุติธรรมซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมให้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานคดีตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

               มาตรา ๔  ให้นำบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่มาตรา ๗ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ไปใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลทหารด้วย โดย
               (๑) ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสืบพยานหลักฐานตามมาตรา ๒๗ ได้แก่ อัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               (๒) ผู้มีอำนาจฟ้องคดีให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               (๓) การจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลทหารตั้งให้แก่จำเลย ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               (๔) การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นแก่บุคคลตามมาตรา ๑๒ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
               (๕) การอุทธรณ์และฎีกาในศาลทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               (๖) การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนอาญา ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               (๗) ให้คำว่า “พนักงานอัยการ” หมายความรวมถึงอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               ในกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนต่อศาลทหารได้
               ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุดมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๕  ให้ประธานศาลฎีกาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
               ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๘๖ ก/หน้า ๑/๓๐ กันยายน ๒๕๕๙

หมวด ๑ บททั่วไป (มาตรา ๖ - ๑๔)

 

หมวด ๑
บททั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๖  วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้และข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้
               คดีทุจริตและประพฤติมิชอบใดมีข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดหรือข้อหาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วย ให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ข้อหาความผิดนั้นเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๗  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือระหว่างพิจารณาศาลมีอำนาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลใช้เป็นแนวทางในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณาคดี
               (๒) ดำเนินการและจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีตามที่ศาลมีคำสั่ง
               (๓) ช่วยเหลือศาลในการบันทึกคำพยาน
               (๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนั้น
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานคดีเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีอำนาจมีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือให้จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอำนาจหน้าที่
               หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

               มาตรา ๘  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจมีคำสั่งให้คู่ความที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด

               มาตรา ๙  ระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ กฎหมายอื่นที่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้นำมาใช้บังคับ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคำขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

               มาตรา ๑๐  ให้คู่ความฝ่ายที่ยื่นคำคู่ความ คำร้อง คำขอ คำแถลง หรือสรรพเอกสาร จัดทำสำเนายื่นต่อศาลในจำนวนที่เพียงพอต่อองค์คณะผู้พิพากษาและคู่ความฝ่ายอื่น เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               ความในวรรคหนึ่งมิให้รวมเอกสารตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง

               มาตรา ๑๑  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือระหว่างพิจารณา เมื่อคู่ความร้องขอและมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้คัดคำเบิกความพยานและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลได้โดยกำหนดวิธีการและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร

               มาตรา ๑๒  บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
               (๑) พยานบุคคลที่ศาลเรียกมาเองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาตามมาตรา ๑๗ และมาตรา ๒๕
               (๒) บุคคลซึ่งมาให้ถ้อยคำและบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๒๓
               (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตามมาตรา ๒๖

               มาตรา ๑๓  ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
               ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ

               มาตรา ๑๔  ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามพระราชบัญญัตินี้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่หลบหนีไปในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีในระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ตาม ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
               ความผิดตามวรรคหนึ่งไม่ระงับไปเพราะเหตุที่คดีของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้น มีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้อง

หมวด ๒ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น (มาตรา ๑๕ - ๓๓)

ส่วนที่ ๑ การฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้อง และการตรวจพยานหลักฐาน (มาตรา ๑๕ - ๒๑)

 

ส่วนที่ ๑
การฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้อง และการตรวจพยานหลักฐาน

-------------------------

               มาตรา ๑๕  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้
               ในคดีที่อัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล และให้โจทก์ส่งรายงานและสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณา และรวมไว้ในสำนวน
               กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้อง ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๖  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลสั่งดังต่อไปนี้
               (๑) ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ หรือคดีนั้นอัยการสูงสุดหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตาม (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี
               (๒) ในคดีที่พนักงานอัยการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้
               (๓) ในคดีที่อัยการสูงสุด หรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
               ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องตาม (๑) หรือ (๒) แล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

               มาตรา ๑๗  การไต่สวนมูลฟ้อง ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๖๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำหรับกรณีตามมาตรา ๑๖ (๒) ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์
               ไม่ว่าจะเป็นคดีที่พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์หรือคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ก่อนเริ่มไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าจำเลยมาศาล ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่เห็นสมควร โดยโจทก์และจำเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล
               ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องคดีที่พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้
               คำสั่งของศาลที่ว่าคดีมีมูลให้แสดงเหตุผลอย่างชัดเจนประกอบด้วย

               มาตรา ๑๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในวันยื่นฟ้องหรือวันนัดพิจารณาครั้งแรก แล้วแต่กรณี เมื่อจำเลยมาศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป และอ่านกับอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง ถ้าจำเลยให้การหรือไม่ยอมให้การก็ให้บันทึกไว้ และถ้าจำเลยให้การปฏิเสธหรือไม่ให้การ ก็ให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

               มาตรา ๑๙  ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้ข้อหาที่จำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกน้อยกว่าห้าปี หรือโทษสถานที่เบากว่านั้น ศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบพยานต่อไปเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงก็ได้

               มาตรา ๒๐  คู่ความทั้งสองฝ่ายอาจอ้างตนเอง พยานวัตถุ พยานเอกสาร พยานบุคคล หรือหลักฐานอื่น ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และมีสิทธิขอตรวจพยานหลักฐานและคัดสำเนาพยานหลักฐานของตนเอง หรือของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งได้
               การอ้างพยานตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน พร้อมคำแถลงแสดงเหตุผลความจำเป็นในการอ้างพยาน และวิธีการได้มาซึ่งพยานดังกล่าว
               การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสองจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล โดยผู้ยื่นบัญชีระบุพยานจะต้องยื่นคำแถลงแสดงเหตุผลความจำเป็นและวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวด้วย
               ในกรณีที่พยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานดังกล่าวมาจากผู้ที่ครอบครอง โดยยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน เพื่อให้ได้พยานหลักฐานนั้นมาก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานหรือวันที่ศาลกำหนด

               มาตรา ๒๑  ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องมาจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้นเอง หลังจากนั้นให้คู่ความแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อศาล และให้ศาลสอบถามคู่ความถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานที่อ้างอิง ตลอดจนการยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง
               ในกรณีที่มิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานใดหรือมีการโต้แย้งแต่ไม่มีเหตุแห่งการโต้แย้งโดยชัดแจ้ง ศาลจะมีคำสั่งให้รับฟังพยานหลักฐานนั้นโดยไม่ต้องไต่สวนก็ได้ แต่หากมีการโต้แย้งพยานหลักฐานใดหรือเมื่อศาลเห็นเอง ให้ศาลดำเนินการสืบพยานหลักฐานนั้น โดยกำหนดวันนัดสืบพยานและแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

ส่วนที่ ๒ การพิจารณาและพิพากษาคดี (มาตรา ๒๒ - ๓๐)

 

ส่วนที่ ๒
การพิจารณาและพิพากษาคดี

-------------------------

               มาตรา ๒๒  ในคดีที่อัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ให้ศาลนำรายงานและสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์ มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง และอาจสืบพยานเพิ่มเติมเพื่อหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานได้ตามที่เห็นสมควร

               มาตรา ๒๓  ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานหรือบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท. หน่วยงานหรือบุคคลใดตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม แล้วรายงานให้ศาลทราบและจัดส่งพยานหลักฐานดังกล่าวต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
               ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย
               พยานหลักฐานที่ได้มาตามวรรคหนึ่งต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าว

               มาตรา ๒๔  ให้ศาลพิจารณาและสืบพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้

               มาตรา ๒๕  ในการสืบพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะทำการสืบพยาน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นด้วยตนเองหรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม แล้วจึงอนุญาตให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม
               การถามพยานตามวรรคหนึ่ง จะใช้คำถามนำก็ได้
               หลังจากคู่ความถามพยานตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

               มาตรา ๒๖  ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและให้โอกาสคู่ความตามสมควรในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว

               มาตรา ๒๗  ถ้าอัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานซึ่งอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบพยานในภายหลัง บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีได้ โดยให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป พยานหลักฐานที่ได้จากการสืบพยานดังกล่าวให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ว่าภายหลังจะได้มีการฟ้องคดีต่อศาลที่ทำการสืบพยานหรือไม่ก็ตาม

               มาตรา ๒๘  การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย
               เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) จำเลยไม่อาจมาฟังการพิจารณาและการสืบพยานได้เนื่องจากความเจ็บป่วย หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน
               (๒) จำเลยเป็นนิติบุคคลและศาลได้ออกหมายจับผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้
               (๓) จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไปและศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้
               (๔) ในระหว่างพิจารณาหรือสืบพยาน ศาลมีคำสั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณาเพราะเหตุขัดขวางการพิจารณา หรือจำเลยออกไปจากห้องพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
               ในกรณีดังกล่าว เมื่อศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว ให้ศาลมีคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไป

               มาตรา ๒๙  เมื่อการสืบพยานหลักฐานเสร็จสิ้น คู่ความมีสิทธิแถลงปิดคดีของตนด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือภายในเวลาที่ศาลกำหนด

               มาตรา ๓๐  พยานบุคคลในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา

ส่วนที่ ๓ การริบทรัพย์สิน (มาตรา ๓๑ - ๓๓)

 

ส่วนที่ ๓
การริบทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๓๑  การริบทรัพย์สินในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม นอกจากศาลจะมีอำนาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
               (๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
               (๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทำความผิด
               (๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๒)
               (๔) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               ในการที่ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินตาม (๑) ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด รวมทั้งโอกาสที่จะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทำความผิดอีก
               ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่จะทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ทรัพย์สินตาม (๑) ในการกระทำความผิดได้อีกต่อไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวแทนการริบทรัพย์สิน
               หากการดำเนินการตามวรรคสามไม่เป็นผล ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินนั้นในภายหลังก็ได้

               มาตรา ๓๒  ในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม บรรดาทรัพย์สินดังต่อไปนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
               (๑) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
               (๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดในลักษณะเดียวกันตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือตามกฎหมายอื่น
               (๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทำความผิด
               (๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               (๕) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

               มาตรา ๓๓  ในการพิพากษาคดีหรือภายหลังจากนั้น ถ้าความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำขอของโจทก์ว่า สิ่งที่ศาลจะสั่งริบหรือได้สั่งริบ โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด
               การกำหนดมูลค่าตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีการนำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือในกรณีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนต่ำกว่าราคาท้องตลาดของสิ่งที่ศาลสั่งริบในวันที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ให้ศาลกำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวมเข้าด้วยกันนั้น หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนสิ่งนั้น แล้วแต่กรณี
               ในการสั่งให้บุคคลชำระเงินตามวรรคหนึ่ง ศาลจะกำหนดให้ผู้นั้นชำระเงินทั้งหมดในคราวเดียวหรือจะให้ผ่อนชำระก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่กรณี และถ้าผู้นั้นไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลนั้นได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังค้างชำระ

หมวด ๓ การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน (มาตรา ๓๔ - ๓๗)

 

หมวด ๓
การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

-------------------------

               มาตรา ๓๔  ในการพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่มาตรา ๑๕ วรรคสอง มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒

               มาตรา ๓๕  คำร้องขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติแล้ว จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะยื่นคำร้องด้วย

               มาตรา ๓๖  เมื่อได้รับคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลประกาศคำร้องดังกล่าวโดยเปิดเผยตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
               บุคคลภายนอกอาจร้องคัดค้านเข้ามาในคดีได้แต่ต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
               คำคัดค้านให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลโดยระบุเหตุแห่งการคัดค้านโดยละเอียด และให้ศาลส่งสำเนาคำคัดค้านให้แก่คู่ความทุกฝ่าย

               มาตรา ๓๗  ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติก็ดี มิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติก็ดี ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล
               ถ้าผู้มีภาระการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
               ในกรณีผู้ที่กล่าวอ้างโต้แย้งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถในการพิสูจน์ของบุคคลดังกล่าวและพิจารณาพิพากษาตามที่เห็นว่าเป็นธรรม

หมวด ๔ อุทธรณ์ (มาตรา ๓๘ - ๔๓)

 

หมวด ๔
อุทธรณ์

-------------------------

               มาตรา ๓๘  ให้จัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น และตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๓๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๔๑ การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
               เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว

               มาตรา ๔๐  ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์

               มาตรา ๔๑  คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๔๒  ให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับมาตรา ๔๔ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๔๓  การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด ๕ ฎีกา (มาตรา ๔๔ - ๔๘)

 

หมวด ๕
ฎีกา

-------------------------

               มาตรา ๔๔  การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาตามมาตรา ๔๖ พร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
               ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๐ มาใช้บังคับกับการฎีกาด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๕  คำร้องตามมาตรา ๔๔ ให้พิจารณาและวินิจฉัยโดยองค์คณะผู้พิพากษาที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วยรองประธานศาลฎีกาหนึ่งคนและผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกอย่างน้อยสามคน
               การวินิจฉัยให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้บังคับตามความเห็นของฝ่ายที่เห็นควรรับฎีกา

               มาตรา ๔๖  ให้ศาลฎีกามีอำนาจรับฎีกาตามมาตรา ๔๔ ไว้พิจารณาได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
               ปัญหาสำคัญตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ
               (๒) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
               (๓) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน
               (๔) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
               (๕) เมื่อจำเลยต้องคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
               (๖) เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วอาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
               (๗) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
               ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้พิจารณา ให้แสดงเหตุผลประกอบด้วย และให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งไม่รับฎีกานั้น
               ในกรณีที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของพนักงานอัยการว่ามีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย ให้ถือว่าเป็นปัญหาสำคัญและให้ศาลฎีการับฎีกา

               มาตรา ๔๗  หลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย และระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องตามมาตรา ๔๔ การตรวจรับฎีกา การแก้ฎีกา การพิจารณา และการพิพากษาคดี ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

               มาตรา ๔๘  การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีของศาลฎีกา ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นฎีกา มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด ๖ การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง (มาตรา ๔๙ - ๕๑)

 

หมวด ๖
การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

-------------------------

               มาตรา ๔๙  เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในส่วนอาญาให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและในส่วนแพ่งให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๕๐  การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลซึ่งต้องชำระเงินแทนมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบหรือสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ให้กระทำได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และให้พนักงานอัยการหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการบังคับคดี โดยให้ร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งนี้ มิให้หน่วยงานของรัฐเรียกค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ดำเนินการบังคับคดี
               การบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้แม้ว่าบุคคลซึ่งต้องชำระเงินแทนมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบถึงแก่ความตายไปแล้ว หากปรากฏว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนผู้นั้นถึงแก่ความตาย

               มาตรา ๕๑  ในกรณีที่ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒ ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินนั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน คำร้องของเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
               ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลซึ่งต้องชำระเงินตามมาตรา ๓๓ หากปรากฏโดยคำร้องของผู้เป็นเจ้าของแท้จริงในทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินนั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ให้คืนเป็นเงินแทนตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี คำร้องของเจ้าของแท้จริงเช่นว่านี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าว

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๕๒ - ๕๓)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๕๒  บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด

               มาตรา ๕๓  บรรดาระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้
               การดำเนินการออกระเบียบกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางสังคมและเป็นอันตรายต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนับวันจะมีความร้ายแรงมากขึ้นและเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์จำนวนมหาศาล หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วนในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและคดีความที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้รับการพิจารณาพิพากษาอย่างเสมอภาค รวดเร็ว และเป็นธรรม สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้น เพื่อใช้ในการดำเนินคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พ.ศ. ๒๕๕๙

 

พระราชกฤษฎีกา
กำหนดวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
พ.ศ. ๒๕๕๙

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรกำหนดวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พ.ศ. ๒๕๕๙”

               มาตรา ๒  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้เปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

               มาตรา ๔  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ บัญญัติว่า ให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยยกฐานะแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญาขึ้นเป็นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และจะเปิดทำการเมื่อใดให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา บัดนี้ พร้อมที่จะเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๘๕ ก/หน้า ๒๖/๒๖ กันยายน ๒๕๕๙

พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค พ.ศ. ๒๕๖๐

 

พระราชกฤษฎีกา
กำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการ
ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค
พ.ศ. ๒๕๖๐

-------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรกำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวน ที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค พ.ศ. ๒๕๖๐”

               มาตรา ๒  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้มีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค จำนวน ๙ ศาล คือ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๑ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๒ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๔ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๕ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๖ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๘ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๙ และมีเขตศาลดังต่อไปนี้
               (๑) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๑ มีเขตศาลในจังหวัดชัยนาท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง
               (๒) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๒ มีเขตศาลในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสระแก้ว
               (๓) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ มีเขตศาลในจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
               (๔) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๔ มีเขตศาลในจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเลย จังหวัดสกลนคร จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดอุดรธานี
               (๕) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๕ มีเขตศาลในจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน
               (๖) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๖ มีเขตศาลในจังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี
               (๗) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ มีเขตศาลในจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสุพรรณบุรี
               (๘) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๘ มีเขตศาลในจังหวัดกระบี่ จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
               (๙) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๙ มีเขตศาลในจังหวัดตรัง จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดพัทลุง จังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล

               มาตรา ๔ ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๑ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสระบุรี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๒ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดระยอง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสุรินทร์ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๔ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดขอนแก่น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๕ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๖ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดพิษณุโลก ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสมุทรสงคราม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๘ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๙ มีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสงขลา

               มาตรา ๕  ให้เปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๑ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๔ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๕ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๖ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๘ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๙ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

               มาตรา ๖  ให้เปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๒ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

               มาตรา ๗  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

   ผู้รับสนองพระราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ บัญญัติว่า ให้จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคขึ้น และจะเปิดทำการเมื่อใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องระบุเขตอำนาจศาลและกำหนดที่ตั้งศาลในเขตศาลนั้นไว้ด้วย บัดนี้ พร้อมที่จะเปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๑ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๒ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๔ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๕ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๖ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๘ และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๙ ได้แล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๒๑ ก/หน้า ๔๑/๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐