ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

ข้อความเบื้องต้น (ข้อ ๑ - ๕)

 

ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณา
และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค
พ.ศ. ๒๕๕๑

-------------------------

               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ มาตรา ๖ มาตรา ๑๖ มาตรา ๒๕ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๓ และมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

               ข้อ ๑  ข้อกำหนดนี้เรียกว่า ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

               ข้อ ๒  ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

               ข้อ ๓  ในข้อกำหนดนี้
              
ศาลอุทธรณ์หมายความว่า ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค แล้วแต่กรณี

               ข้อ ๔  ให้สำนักงานศาลยุติธรรมออกประกาศกำหนดแบบพิมพ์ที่จำเป็นแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภค

               ข้อ ๕  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามข้อกำหนดนี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙๕ ก/หน้า ๒๖/๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๑

หมวด ๑ การฟ้องคดี (ข้อ ๖ - ๘)

 

หมวด ๑
การฟ้องคดี

-------------------------

               ข้อ ๖  ในกรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หากคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญในเรื่องใด เจ้าพนักงานคดีอาจให้คำแนะนำแก่โจทก์เพื่อจัดทำคำฟ้องให้ถูกต้องครบถ้วน
              
ในกรณีที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องด้วยวาจา ให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการเพื่อให้มีการจดบันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้องลงในแบบพิมพ์คำฟ้องแล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี ให้โจทก์เสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะทำ
ได้มาพร้อมกับคำฟ้อง

               ข้อ ๗  การให้คำแนะนำและการให้ความช่วยเหลือตามข้อ ๖ ให้เจ้าพนักงานคดีพิจารณาช่วยเหลือตามสมควรแก่กรณี และให้รวมถึงการตรวจสอบสถานะการเป็นนิติบุคคลหรือภูมิลำเนาของคู่ความเพื่อประโยชน์ในการจัดทำคำฟ้อง แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีลักษณะเป็นการกำหนดรูปคดีทำนองเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ

               ข้อ ๘  ในคำฟ้อง นอกจากภูมิลำเนาของคู่ความแล้ว ให้ระบุสถานที่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวก และหมายเลขโทรศัพท์ของคู่ความเท่าที่ทราบไว้ด้วย

หมวด ๒ การนัดพิจารณา (ข้อ ๙ - ๑๒)

 

หมวด ๒
การนัดพิจารณา

-------------------------

               ข้อ ๙  ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้อง

               ข้อ ๑๐  การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ศาลอาจมีคำสั่งให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือโดยทางเจ้าพนักงานศาลก็ได้ ในกรณีที่ส่งโดยทางเจ้าพนักงานศาล ศาลจะมีคำสั่งให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ทั้งนี้ ศาลอาจย่นหรือขยายระยะเวลาให้มีผลใช้ได้ก่อนหรือหลังครบกำหนดสิบห้าวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๗๙ ด้วยก็ได้
              
ในกรณีที่ส่งไม่ได้และต้องมีการส่งใหม่ ศาลอาจมีคำสั่งให้เลื่อนวันนัดพิจารณาออกไปได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว

               ข้อ ๑๑  การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องนั้น ให้ส่งคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติและผลแห่งการที่ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาให้จำเลยทราบด้วย ตามแบบที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด

               ข้อ ๑๒  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอย่างอื่นที่มิใช่หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องหรือการแจ้งวันนัด คำสั่งศาล หรือข้อความอย่างอื่นไปยังคู่ความหรือบุคคลอื่นใด ให้ดำเนินการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วนและเป็นการแจ้งไปเพื่อทราบ จะแจ้งข้อความทางโทรศัพท์ก็ได้โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการต้องบันทึกเรื่องที่ได้แจ้ง วันเวลาที่ดำเนินการ รวมทั้งชื่อผู้รับไว้ให้ปรากฏในรายงานเจ้าหน้าที่
              
การส่งหรือแจ้งโดยทางโทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างอื่น หากศาลใดมีความพร้อมก็ให้ดำเนินการได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารทางไปรษณีย์โทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

หมวด ๓ การดำเนินคดีในวันนัดพิจารณา (ข้อ ๑๓ - ๑๘)

 

หมวด ๓
การดำเนินคดีในวันนัดพิจารณา

-------------------------

               ข้อ ๑๓  ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ให้เจ้าหน้าที่ศาลรายงานให้ศาลทราบเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามมาตรา ๒๗

               ข้อ ๑๔  ในวันนัดพิจารณาเมื่อคู่ความมาพร้อมกัน ให้เจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้เจรจาตกลงกัน เว้นแต่ศาลเห็นสมควรจะแต่งตั้งให้ผู้ประนีประนอมประจำศาลทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยแทนก็ได้
               ถ้าคู่ความมีความประสงค์ร่วมกันที่จะให้บุคคลใดเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานคดีพร้อมสถานที่ติดต่อและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลนั้น ศาลอาจมอบหมายให้เจ้า
พนักงานคดีติดต่อไปยังบุคคลดังกล่าวเพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย หากไม่สามารถดำเนินการได้หรือบุคคลนั้นไม่ยอมรับเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหรือการกระทำเช่นนั้นจะทำให้คดีเนิ่นช้าเสียหาย ให้เจ้าพนักงานคดีหรือผู้ประนีประนอมประจำศาลดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป

               ข้อ ๑๕  ในการไกล่เกลี่ย ให้ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยพยายามช่วยเหลือให้คู่ความบรรลุถึงข้อตกลงร่วมกัน และให้นำระเบียบหรือข้อกำหนดว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้บังคับโดยอนุโลม

               ข้อ ๑๖  ในกรณีที่คู่ความตกลงกันได้ ซึ่งจะต้องมีการถอนฟ้องหรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ให้ผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยแนะนำและช่วยเหลือคู่ความในการจัดทำคำร้อง คำแถลง หรือสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเป็นแล้วทำรายงานเสนอต่อศาลเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว แต่ถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้และผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเห็นควรเลื่อนการนัดพิจารณา ก็ให้ทำรายงานเสนอต่อศาลเพื่อขออนุญาตเลื่อนการนัดพิจารณาออกไป กรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งเลื่อนการนัดพิจารณาได้ไม่เกินสามครั้งครั้งละไม่เกินเจ็ดวัน เว้นแต่ในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ ศาลอาจมีคำสั่งเลื่อนการนัดพิจารณาออกไปได้ตามที่เห็นสมควร โดยต้องระบุพฤติการณ์พิเศษดังกล่าวไว้

               ข้อ ๑๗  หากคู่ความไม่สามารถตกลงกันได้และคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะยื่นคำให้การหรือบัญชีระบุพยาน ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีช่วยเหลือคู่ความในการจัดทำคำให้การหรือบัญชีระบุพยานดังกล่าวให้เรียบร้อยแล้วรีบทำรายงานเสนอต่อศาลเพื่อออกนั่งพิจารณาในวันนั้นหรือวันนัดพิจารณาอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร
              
การให้ความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในข้อ ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               ข้อ ๑๘  เพื่อประโยชน์ในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและสืบพยาน ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีอื่นที่มิใช่ผู้ไกล่เกลี่ยสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากคู่ความ แล้วจัดทำรายงานสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาทเสนอต่อศาลโดยเร็ว
              
ข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่งต้องมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการไกล่เกลี่ย

หมวด ๔ การสืบพยานหลักฐาน (ข้อ ๑๙ - ๒๔)

 

หมวด ๔
การสืบพยานหลักฐาน

-------------------------

               ข้อ ๑๙  ก่อนการสืบพยานให้ศาลแจ้งประเด็นข้อพิพาท ภาระการพิสูจน์ในแต่ละประเด็นและลำดับก่อนหลังในการนำพยานหลักฐานของคู่ความแต่ละฝ่ายเข้าสืบ ให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ

               ข้อ ๒๐  ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการเพื่อให้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี การตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ การตรวจพิสูจน์สินค้าหรือความเสียหายอันเกิดจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สิน ทุนจดทะเบียน รายได้ รายชื่อหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งพยานหลักฐาน หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาพิพากษาคดี
              
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานคดีอาจประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ตรวจพิสูจน์หรือขอข้อมูลที่จำเป็น หรือมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการดำเนินการ แล้วจัดทำรายงานเสนอต่อศาล โดยอาจระบุถึงพยานหลักฐานที่ศาลสมควรเรียกมาสืบเพิ่มเติมตามมาตรา ๓๓ หรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลสมควรรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๓๖

               ข้อ ๒๑  พยานหลักฐานหรือความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามรายงานของเจ้าพนักงานคดีตามข้อ ๒๐ ให้ศาลแจ้งให้คู่ความทราบก่อนการสืบพยานนั้นตามสมควร เพื่อให้คู่ความมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานดังกล่าวหรือเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมได้

               ข้อ ๒๒  ศาลอาจใช้ข้อมูลที่ได้จากรายงานของเจ้าพนักงานคดีเป็นแนวทางในการซักถามพยานก็ได้

               ข้อ ๒๓  ในกรณีที่มีการบันทึกคำพยานโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยใช้วิธีการอื่นใด ซึ่งคู่ความและพยานสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการเบิกความนั้นได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อความที่บันทึก ตลอดจนการจัดทำสำเนาข้อความดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือสิ่งบันทึกอย่างอื่น

               ข้อ ๒๔  ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีช่วยตรวจสอบและดูแลให้คู่ความดำเนินคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบว่ามีข้อบกพร่อง ให้รายงานต่อศาลพร้อมด้วยแนวทางแก้ไขโดยเร็ว เพื่อให้ศาลพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร

หมวด ๕ วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา (ข้อ ๒๕ - ๒๗)

 

หมวด ๕
วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา

-------------------------

               ข้อ ๒๕  ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนยื่นฟ้องคดี ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัยตามมาตรา ๕๗ และทำความเห็นเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่เหมาะสม รวมทั้งเงื่อนไขและระยะเวลาของการใช้วิธีการดังกล่าว
              
ความเห็นของเจ้าพนักงานคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจที่จะฟังผู้ที่จะถูกฟ้องเป็นจำเลยถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อนมีคำสั่งในเรื่องนั้นก็ได้

               ข้อ ๒๖  ในการใช้วิธีการชั่วคราวตามมาตรา ๖๓ นอกจากมาตรการหรือวิธีการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการหรือห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น
               (๑) ให้ประกาศหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อมูล
เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการโดยถูกต้องครบถ้วน
              
(๒) ห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจทำให้ผู้บริโภคหลงผิดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
              
(๓) ให้จำหน่ายสินค้าหรือบริการภายใต้เงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร
              
(๔) ห้ามหรือให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดทำนองเดียวกับ (๑) (๒) หรือ (๓)
              
การกำหนดมาตรการหรือวิธีการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาสั่งเท่าที่จำเป็นและไม่เกินสมควรแก่กรณี โดยคำนึงถึงผลระทบทางเศรษฐกิจและประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมประกอบกัน

               ข้อ ๒๗  ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำสั่งศาลเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา การดำเนินการใด ๆ ระหว่างศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลอาจดำเนินการทางโทรสารหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใดก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความเหมาะสมตามสภาพแห่งเนื้อหาของเรื่อง ทั้งนี้ ตามวิธีการที่ประธานศาลอุทธรณ์กำหนด

หมวด ๖ คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี (ข้อ ๒๘ - ๒๙)

 

หมวด ๖
คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

-------------------------

               ข้อ ๒๘  เพื่อประโยชน์ในการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตามมาตรา๓๙ ถึงมาตรา ๔๔ หากศาลเห็นสมควร ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำความเห็นเพื่อประกอบการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ได้
              
ข้อเท็จจริงหรือความเห็นของเจ้าพนักงานคดีตามวรรคหนึ่งต้องให้คู่ความทุกฝ่ายทราบและไม่ตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะโต้แย้งคัดค้าน

               ข้อ ๒๙  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๔๓ ศาลอาจกำหนดเวลาให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำแถลงถึงผลการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวให้ศาลทราบ เมื่อได้รับแจ้งผลแล้วศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือส่งเอกสาร เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าวแล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว
              
หากปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่แจ้งผลตามวรรคหนึ่งหรือไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยถูกต้องครบถ้วน และศาลได้มีคำสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดนอกจากเจ้าพนักงานคดีดำเนินการแทนตามมาตรา ๔๓ วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานคดีมีหน้าที่ประสานงานเพื่อให้บุคคลนั้นสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาล ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการนั้น ให้บุคคลดังกล่าวแถลงต่อศาลพร้อมด้วยพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลกำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิด กรณีเช่นว่านี้ ศาลอาจมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว และหากศาลมีคำสั่งประการใดแล้วให้บังคับคดีไปตามนั้น และให้เจ้าพนักงานคดีให้ความช่วยเหลือแก่ผู้นั้นตามสมควร ในการบังคับคดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้รับผิดในค่าใช้จ่ายตามคำสั่งศาลดังกล่าว
              
ในการกำหนดจำนวนเงินตามวรรคสอง ศาลต้องให้โอกาสผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสในการโต้แย้งคัดค้าน

หมวด ๗ อุทธรณ์ (ข้อ ๓๐ - ๓๗)

 

หมวด ๗
อุทธรณ์

-------------------------

               ข้อ ๓๐  ในกรณีที่มีการยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา ๔๘ ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำขอและอุทธรณ์ และมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘ หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำขอและอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วต่อไป
               ในกรณีมีการขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือระยะเวลายื่นคำขออนุญาต
อุทธรณ์ หากศาลชั้นต้นเห็นสมควรอนุญาตให้ขยาย ให้ศาลชั้นต้นสั่งตามที่เห็นสมควร หากจะไม่อนุญาตให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

               ข้อ ๓๑  เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำขอตามข้อ ๓๐ แล้วให้รีบส่งสำเนาคำขอพร้อมอุทธรณ์ให้คู่ความอีกฝ่ายทราบและส่งคำขอดังกล่าวพร้อมอุทธรณ์และสำนวนคดีไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็ว โดยไม่จำต้องรอคำคัดค้านของคู่ความฝ่ายอื่น

               ข้อ ๓๒  การพิจารณาคำขอเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ตามข้อ ๓๑ ศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เมื่อเห็นว่าเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมหรือประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นส่วนรวม

               ข้อ ๓๓  เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรอนุญาตให้อุทธรณ์ ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาและให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง
              
จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งและภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ หรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำแก้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำแก้อุทธรณ์หรือแจ้งความเช่นว่าแล้วให้นำคดีลงสารบบความโดยพลัน
              
ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์ ให้มีคำสั่งยกคำขอและสั่งไม่รับอุทธรณ์แล้วส่งสำนวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

               ข้อ ๓๔  กรณีที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งตามข้อ ๓๓ หากคดีมีการอุทธรณ์ปัญหาข้ออื่นนอกจากข้อที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขออนุญาตอุทธรณ์รวมอยู่ด้วย ไม่ว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งรับอุทธรณ์เช่นว่านี้ไว้พิจารณาแล้วหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งด้วยว่าจะรับอุทธรณ์ข้ออื่นดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่
              
กรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ปัญหาข้ออื่นตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในข้อ ๓๓ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่อุทธรณ์ข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์สั่งรับไว้พิจารณาด้วย

               ข้อ ๓๕  คดีที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณา หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่ามีเหตุสมควรอนุญาตให้อุทธรณ์หรือไม่ หากอนุญาตก็รับวินิจฉัยให้ หากไม่อนุญาตก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์

               ข้อ ๓๖  หากคู่ความประสงค์จะขอแถลงการณ์ด้วยวาจาต่อศาลอุทธรณ์ ให้ขอมาในตอนท้ายคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำแก้อุทธรณ์ โดยระบุประเด็นและเหตุผลความจำเป็นของการแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น
              
เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้มีการแถลงการณ์ด้วยวาจา ให้กำหนดจำนวนระยะเวลาที่จะอนุญาตให้แต่ละฝ่ายแถลงการณ์ด้วยวาจากับแจ้งวันเวลานัดให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ
               ในการแถลงการณ์ด้วยวาจา คู่ความไม่อาจเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมประกอบคำ
แถลงการณ์ด้วยวาจาได้

               ข้อ ๓๗  ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นำคดีลงสารบบความ ก็ให้บันทึกเหตุแห่งพฤติการณ์พิเศษที่ล่าช้าไว้ในสำนวน

หมวด ๘ ฎีกา (ข้อ ๓๘ - ๔๑)

 

หมวด ๘
ฎีกา

-------------------------

               ข้อ ๓๘  การขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาตามมาตรา ๕๑ ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลชั้นต้นโดยแสดงถึง
              
(๑) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้งและกะทัดรัด
              
(๒) ความเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือความสำคัญของปัญหาที่ทำให้ศาลฎีกาควรอนุญาตให้ฎีกา
              
ให้ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องและฎีกาของผู้ร้อง โดยนำความในข้อ ๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

               ข้อ ๓๙  เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องตามข้อ ๓๘ แล้ว ให้รีบส่งสำเนาคำร้องให้คู่ความอีกฝ่ายทราบและส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมฎีกาและสำนวนความไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่งโดยเร็วโดยไม่จำต้องรอคำคัดค้านของคู่ความฝ่ายอื่น

               ข้อ ๔๐  การพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาอนุญาตฎีกาตามข้อ ๓๘ ศาลฎีกามีดุลพินิจที่จะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกา เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัย
              
ปัญหาสำคัญตามวรรคหนึ่ง เช่น
              
(๑) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลอื่น
              
(๒) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
              
(๓) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกามาก่อน

               ข้อ ๔๑  เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ฎีกา ให้มีคำสั่งรับฎีกาไว้พิจารณาและให้ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความฟัง
              
จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่งและภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยฎีกายื่นคำแก้ฎีกา หรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นคำแก้ฎีกาได้สิ้นสุดลง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำแก้ฎีกาไปยังศาลฎีกาหรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้ฎีกา เมื่อศาลฎีกาได้รับคำแก้ฎีกาหรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นำคดีลงสารบบความโดยพลัน
              
ในกรณีที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้มีคำสั่งยกคำร้องและสั่งไม่รับฎีกาแล้วส่งสำนวนความคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว

หมวด ๙ การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง (ข้อ ๔๒)

 

หมวด ๙
การบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

-------------------------

               ข้อ ๔๒  ในการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๕ หรือปรากฏว่ามีข้อขัดข้องในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว รวมทั้งแนวทางแก้ไขหรือความจำเป็นที่จะต้องกำหนดวิธีการใดเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา
               รายงานข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจที่จะฟังคู่ความอีก
ฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนที่จะออกคำสั่งในเรื่องนั้นก็ได้

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
วิรัช ลิ้มวิชัย
ประธานศาลฎีกา