ข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๔๔
-------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกา ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานสำหรับคดีภาษีอากรไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อกำหนดนี้ให้เรียกว่า “ข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๔๔”
ข้อ ๒๑ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบรรดาข้อกำหนดคดีภาษีอากรที่มีอยู่เดิม
ข้อกำหนดนี้ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนวันที่ข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ ส่วนกระบวนพิจารณาใดที่ยังมิได้กระทำจนล่วงพ้นกำหนดเวลาที่ต้องกระทำตามข้อกำหนดที่ใช้บังคับอยู่ก่อนข้อกำหนดนี้ แต่ยังอยู่ในกำหนดเวลาที่อาจกระทำได้ตามข้อกำหนดนี้ ให้ดำเนินกระบวนพิจารณานั้นได้ภายในกำหนดเวลาตามข้อกำหนดนี้
ข้อ ๔ ในข้อกำหนดนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(๑) “คดี” หมายความว่า คดีภาษีอากร
(๒) “ศาล” หมายความว่า ศาลภาษีอากร หรือศาลจังหวัดที่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนศาลภาษีอากรกลาง
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนพิเศษ ๕๖ ง/หน้า ๖/๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๔
หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
ข้อ ๕ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจมีคำสั่งให้คู่ความที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เว้นแต่ข้อที่ไม่ถูกต้องนั้นจะเกิดจากความจงใจหรือละเลยเพิกเฉยของคู่ความฝ่ายนั้น และทำให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ
ข้อ ๖ คู่ความอาจตกลงกันยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่คู่ความตกลงกัน ถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม จะอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้
ข้อ ๗ เพื่อให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม การติดต่อระหว่างศาลอาจทำโดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือประกอบกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และความเหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ทำการติดต่อ รวมทั้งจำนวนและลักษณะของเอกสารหรือวัตถุอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด
ข้อ ๘ การแต่งตั้งบุคคลที่มีภูมิลำเนาในเขตศาลนั้นเพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตนต้องทำเป็นหนังสือ
หมวด ๒
การยื่นคำฟ้อง คำให้การ คำให้การและฟ้องแย้ง
-------------------------
ข้อ ๙ ในระหว่างที่ศาลภาษีอากรจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด ให้โจทก์จัดทำสำเนาคำฟ้องสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุดแล้วให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยเร็ว เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับคดีนั้นไว้พิจารณาแล้ว ให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางกำหนดองค์คณะโดยเร็ว ส่วนศาลที่จะนั่งพิจารณาพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางกำหนดตามความเหมาะสม
ข้อ ๑๐ คดีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด ให้ศาลจังหวัดที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากศาลภาษีอากรกลางแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบโดยเร็ว ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลจังหวัดเพื่อให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
จำเลยจะทำคำให้การยื่นต่อศาลจังหวัดที่โจทก์ยื่นคำฟ้องหรือต่อศาลภาษีอากรกลางก็ได้ ในกรณีที่จำเลยยื่นคำให้การต่อศาลจังหวัด ให้จำเลยจัดทำสำเนาคำให้การสำหรับศาลจังหวัดด้วยหนึ่งชุดแล้วให้ศาลจังหวัดส่งต้นฉบับพร้อมกับรายงานการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังศาลภาษีอากรกลางเพื่อมีคำสั่ง หากจำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ก็ให้ศาลจังหวัดแจ้งให้ศาลภาษีอากรกลางทราบพร้อมกับส่งรายงานการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ถ้าหากมี เพื่อมีคำสั่ง เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอย่างใดแล้วให้แจ้งศาลจังหวัดเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบโดยเร็ว
ข้อ ๑๑ ถ้าจำเลยฟ้องแย้งรวมมาในคำให้การที่ยื่นต่อศาลจังหวัด ให้นำข้อ ๙ และข้อ ๑๐ มาใช้บังคับแก่ฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้งโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒ คำฟ้องหรือคำให้การที่อ้างบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง ระเบียบ หรือคำวินิจฉัยใดที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียง ให้แนบสำเนามาพร้อมกับคำคู่ความดังกล่าวด้วย เว้นแต่คำคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้อ้างไว้แล้ว
คำฟ้องหรือคำให้การที่มิได้ปฏิบัติตามความในวรรคหนึ่ง ศาลอาจมีคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ถ้ามิได้ปฏิบัติก็ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำคู่ความนั้น
ข้อ ๑๓ คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
ถ้าจำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องในส่วนใด ศาลอาจสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอธิบายรายละเอียดในส่วนนั้นให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ และจำเลยมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การในส่วนคำฟ้องที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นได้
ความในวรรคสองให้ใช้บังคับแก่คำให้การแก้ฟ้องแย้งโดยอนุโลม
หมวด ๓
การชี้สองสถานและการสืบพยาน
-------------------------
ข้อ ๑๔ คดีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัด เมื่อศาลภาษีอากรกลางกำหนดว่าจะมีการชี้สองสถานหรือไม่แล้ว ให้แจ้งวันนัดชี้สองสถานหรือวันนัดสืบพยาน แล้วแต่กรณี ให้ศาลจังหวัดทราบเพื่อแจ้งให้คู่ความทราบต่อไป หากศาลภาษีอากรกลางแจ้งให้คู่ความทราบโดยตรงก็ให้แจ้งศาลจังหวัดทราบด้วย
ข้อ ๑๕ ในกรณีที่มีการชี้สองสถาน เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจสอบบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งเพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ซึ่งบัญชีระบุพยานโดยแสดงเอกสารหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้างและรายชื่อ ที่อยู่ ของบุคคล ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยาน หรือคำขอให้ศาลไปตรวจหรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญ แล้วแต่กรณี พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าว ในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมารับไปโดยทางเจ้าพนักงานศาล
ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาตามวรรคหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ก่อนระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี สิ้นสุดลง ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว
เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ หรือถ้าคู่ความซึ่งยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วมีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด คู่วามดังกล่าวนั้นอาจยื่นคำร้องพร้อมทั้งบัญชีระบุพยานและสำเนาในจำนวนที่เพียงพอไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี ขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้น และถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง
ข้อ ๑๖ ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน และพยานวัตถุอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่อยู่ในความครอบครองของตนและสามารถนำมาศาลได้ต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น
คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารหรือพยานวัตถุต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัย หรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ
ข้อ ๑๗ ถ้าพยานเอกสารหรือพยานวัตถุอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือบุคคลภายนอก ให้คู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะอ้างอิงขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานหลักฐานดังกล่าวมาจากผู้ครอบครองโดยยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน และให้คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้พยานหลักฐานมาก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานในกรณีไม่มีการชี้สองสถานหรือภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ ๑๘ เอกสารหรือพยานวัตถุที่คู่ความได้ยื่นตามข้อ ๑๖ หรือที่ศาลได้เรียกมาตามข้อ ๑๗ ถ้าผู้ยื่นหรือผู้ครอบครองมีความจำเป็นต้องใช้ หรือถ้าการเก็บรักษาไว้ที่ศาลจะเป็นการไม่สะดวก ศาลจะให้ผู้ยื่นหรือผู้ครอบครองรับคืนไปโดยให้คู่ความตรวจดู และให้ผู้ยื่นหรือผู้ครอบครองส่งสำเนาหรือภาพถ่ายไว้แทนหรือจะมีคำสั่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
ข้อ ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการชี้สองสถาน ศาลอาจส่งข้อสอบถามข้อเท็จจริงเป็นหนังสือไปยังคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายเพื่อให้คู่ความฝ่ายนั้นตอบข้อสอบถามนั้นในวันชี้สองสถานก็ได้ เมื่อศาลส่งข้อสอบถามไปยังคู่ความฝ่ายใดให้ส่งสำเนาข้อสอบถามนั้นไปยังคู่ความฝ่ายอื่นเพื่อทราบด้วย
บทบัญญัติในข้อนี้ให้ใช้บังคับแก่เรื่องเอกสารที่ศาลประสงค์จะถามด้วยโดยอนุโลมโดยให้ศาลส่งสำเนาเอกสารนั้นไปพร้อมกับข้อสอบถาม หรือจะให้คู่ความมาตรวจเอกสารดังกล่าวที่ศาลก็ได้
ข้อ ๒๐ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งประสงค์จะอ้างอิงข้อเท็จจริงใดและขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ อาจส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งรายการข้อเท็จจริงนั้นไปให้คู่ความฝ่ายอื่นทราบก่อนวันชี้สองสถานหรือวันสืบพยาน แล้วแต่กรณี ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ถ้าคู่ความฝ่ายอื่นได้รับคำบอกกล่าวโดยชอบแล้ว เมื่อคู่ความฝ่ายที่ส่งคำบอกกล่าวร้องขอต่อศาลในวันชี้สองสถานหรือในวันสืบพยาน แล้วแต่กรณี ให้ศาลสอบคู่ความฝ่ายอื่นว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าคู่ความฝ่ายนั้นไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธได้ในขณะนั้น ศาลจะมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทำคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นมายื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
ให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๙ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๑ ในวันชี้สองสถานให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความ แล้วนำข้ออ้าง ข้อเถียง ที่ปรากฏในคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกัน ก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความ ให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้
ในการสอบถามคู่ความตามวรรคหนึ่ง คู่ความแต่ละฝ่ายต้องตอบคำถามที่ศาลสอบถามหรือถามตามคำขอของคู่ความฝ่ายอื่น เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายอื่นยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุผลแห่งการปฏิเสธได้ในขณะนั้น
คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบ ให้ศาลชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน
ข้อ ๒๒ กรณีที่คู่ความทุกฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันชี้สองสถาน ให้ศาลทำการชี้สองสถาน โดยให้ถือว่าคู่ความที่ไม่มาศาลได้ทราบกระบวนพิจารณาในวันนั้นแล้ว
คู่ความที่ไม่มาศาลนั้นไม่มีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง เว้นแต่เป็นกรณีที่ไม่สามารถมาศาลได้ในวันชี้สองสถานเพราะเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ หรือเป็นการคัดค้านในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้นำข้อ ๒๑ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๒๓ ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด เพื่อประโยชน์แห่งการสืบพยาน เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ศาลอาจส่งข้อสอบถามเป็นหนังสือแจ้งรายการข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายเพื่อให้ทำคำแถลงตอบข้อสอบถามว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ โดยให้นำบทบัญญัติในข้อ ๑๙ วรรคสองและข้อ ๒๑ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การส่งข้อสอบถามให้คู่ความฝ่ายใดอาจกระทำในศาล หรือโดยวิธีอื่นที่ศาลเห็นสมควรและให้ส่งสำเนาข้อสอบถามนั้นไปยังคู่ความฝ่ายอื่นเพื่อทราบด้วย เมื่อคู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงตอบข้อสอบถามก็ให้ส่งสำเนาคำแถลงนั้นในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล
ข้อ ๒๔ เมื่อได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบแล้ว ให้ศาลกำหนดจำนวนวันนัดสืบพยานของคู่ความทุกฝ่ายโดยคำนึงถึงคำแถลงของคู่ความ จำนวนพยาน เนื้อหาสาระที่พยานจะต้องเบิกความ และให้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาไว้ล่วงหน้าด้วย
เมื่อได้กำหนดวันนัดสืบพยานไว้ตามวรรคหนึ่งแล้ว คู่ความต้องดำเนินการสืบพยานของฝ่ายตนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด การเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมวันนัดสืบพยานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ให้คู่ความร้องขอภายในวันนัดสืบพยานนัดสุดท้ายของฝ่ายตน แต่วันนัดสืบพยานที่ขอเพิ่มเติมนั้นจะต้องเป็นวันก่อนวันเริ่มสืบพยานของคู่ความที่สืบพยานภายหลัง หรือก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา แล้วแต่กรณี
ข้อ ๒๕ ให้คู่ความที่ไม่สามารถนำพยานมาศาลได้เองร้องขอต่อศาลให้ออกหมายเรียกพยานมาศาล โดยคู่ความต้องส่งให้พยานทราบวันนัดสืบพยานล่วงหน้าไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๒๖ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีคำขอและศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ (VIDEO CONFERENCE) ได้โดยให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและไม่ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งศาลอาจพิพากษาให้คู่ความฝ่ายอื่นรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑
การสืบพยานตามวรรคหนึ่งให้ถือเสมือนว่า พยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล
ข้อ ๒๗ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดการนั่งพิจารณาคดี ณ สถานที่ใดหรือในวันเวลาใด ๆ ก็ได้ตามที่เห็นสมควร
การที่ศาลภาษีอากรกลางขอให้ศาลจังหวัดแห่งท้องที่ใดดำเนินการสืบพยานแทนนั้นไม่ถือว่าเป็นการส่งประเด็น
ข้อ ๒๘ การบันทึกคำเบิกความของพยาน ศาลอาจมอบให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้บันทึกและอ่านคำเบิกความนั้นให้พยานฟังแทนก็ได้
ข้อ ๒๙ ในการสืบพยานบุคคล พยานอาจนำบันทึกทบทวนความจำหรือบันทึกถ้อยคำของพยานที่บันทึกไว้ล่วงหน้ามาใช้ประกอบการเบิกความก็ได้
บันทึกถ้อยคำของพยานที่บันทึกไว้ล่วงหน้าตามวรรคหนึ่ง ให้มีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อศาล และเลขคดี
(๒) วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ
(๓) ชื่อและสกุลของคู่ความ
(๔) ชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่ อาชีพ และความเกี่ยวพันกับคู่ความของผู้ให้ถ้อยคำ
(๕) รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง และหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ
(๖) ลายมือชื่อผู้ให้ถ้อย
คำคู่ความที่ประสงค์จะขอเสนอบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานตามวรรคหนึ่งจะต้องแถลงแสดงความจำนงต่อศาลก่อนวันสืบพยานบุคคลนั้น โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำดังกล่าวต่อศาลและส่งสำเนาแก่คู่ความฝ่ายอื่นทราบล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันสืบพยานบุคคลนั้น การสืบพยานดังกล่าวให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บันทึกถ้อยคำของพยานที่ทำไว้ล่วงหน้าดังกล่าว เมื่อพยานเบิกความรับรองแล้วให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความตอบคำซักถาม และถือว่าได้อ่านคำเบิกความดังกล่าวให้พยานฟังแล้ว เมื่อมีการยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาลแล้วคู่ความไม่อาจขอถอนบันทึกถ้อยคำนั้นและให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแล้ว
ให้ผู้ให้ถ้อยคำมาศาลเพื่อเบิกความตอบคำซักถามเพิ่มเติม ถ้าหากมี ตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ หากผู้ให้ถ้อยคำไม่มาศาล ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำของผู้นั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จะรับฟังบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลนั้น ประกอบหลักฐานอื่นก็ได้
ในกรณีที่คู่ความตกลงกันให้พยานไม่ต้องมาศาล หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ติดใจถามค้านพยาน ให้ศาลรับฟังบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดี
ข้อ ๓๐ ศาลอาจรับฟังข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ หาก
(๑) การบันทึกข้อมูลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือการประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นการกระทำตามปกติในการประกอบกิจการของผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และ
(๒) การบันทึกและการประมวลผลข้อมูลเกิดจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ปฏิบัติงานตามขั้นตอนการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้องและแม้หากมีกรณีการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ขัดข้องก็ไม่กระทบถึงความถูกต้องของข้อมูลนั้น
การกระทำตามปกติของผู้ใช้ตาม (๑) และความถูกต้องของการบันทึกและการประมวลผลข้อมูลตาม (๒) ต้องมีคำรับรองของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินการนั้น
ข้อ ๓๑ คู่ความที่ประสงค์จะเสนอข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องระบุข้อมูลที่จะอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานตามข้อ ๑๕ พร้อมยื่นคำแถลงแสดงความจำนงเช่นว่านั้น และคำรับรองตามข้อ ๓๐ วรรคสอง กับสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล เว้นแต่
(๑) สื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงข้อมูลยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขออนุญาตงดส่งคำรับรองตามข้อ ๓๐ วรรคสอง และสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูล และขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาจากผู้ครอบครองโดยให้คู่ความฝ่ายที่อ้างนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้สื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยานหรือในวันอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
(๒) ถ้าการทำสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้น จะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้าหรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความซึ่งอ้างอิงข้อมูลนั้น หรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจส่งสำเนาสื่อบันทึกข้อมูลนั้นให้แล้วเสร็จภายในเวลาตามที่กำหนดได้ ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงข้อมูลยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ขออนุญาตงดส่งสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลและขอนำสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยานหรือในวันอื่นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
ถ้าคู่ความฝ่ายที่อ้างอิงไม่สามารถนำสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นมาแสดงต่อศาลได้ภายในเวลาตามวรรคหนึ่ง ศาลจะกำหนดให้ทำการตรวจข้อมูลดังกล่าว ณ สถานที่ เวลา และภายในเงื่อนไขตามที่ศาลเห็นสมควรแล้วแต่สภาพแห่งข้อมูลนั้น ๆ ก็ได้
ถ้าคู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามในวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ห้ามมิให้ศาลรับฟังข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจะรับฟังข้อมูลเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบพยานหลักฐานอื่นด้วยก็ได้
ข้อ ๓๒ คู่ความฝ่ายที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงข้อมูลที่บันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์มาเป็นพยานหลักฐานยันตนอาจยื่นคำแถลงต่อศาลก่อนการสืบข้อมูลนั้นเสร็จ คัดค้านการอ้างข้อมูลนั้นโดยเหตุที่ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เข้าเงื่อนไขของการรับฟังตามข้อ ๓๐ หรือสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นปลอมหรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่จะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจทราบเหตุแห่งการคัดค้านได้ก่อนเวลาดังกล่าว คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตคัดค้านการอ้างข้อมูลหรือสื่อหรือสำเนาสื่อที่บันทึกข้อมูลเช่นว่านั้นต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อาจยกข้อคัดค้านได้ก่อนนั้นและคำร้องนั้นมีเหตุผลฟังได้ ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง ในกรณีที่มีการคัดค้านดังว่ามานี้ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าคู่ความซึ่งประสงค์จะคัดค้านแต่ไม่ได้คัดค้านการอ้างข้อมูลดังกล่าวเสียก่อนการสืบข้อมูลนั้นเสร็จ หรือศาลไม่อนุญาตให้คัดค้านภายหลัง ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นคัดค้านการอ้างอิงข้อมูลนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจของศาลในการที่จะไต่สวนและชี้ขาดในเรื่องเงื่อนไขของการรับฟังข้อมูลนั้นตามข้อ ๓๐ หรือในเรื่องความแท้จริงหรือถูกต้องของสื่อหรือสำเนา สื่อที่บันทึกข้อมูลเช่นว่านั้น ในเมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ข้อ ๓๓ ให้นำข้อกำหนด ข้อ ๓๐ ถึงข้อ ๓๒ มาใช้บังคับแก่การรับฟังข้อมูลที่บันทึกไว้ในหรือได้มาจากไมโครฟิล์ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่นโดยอนุโลม
หมวด ๔
การมาศาลและการให้ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ
-------------------------
ข้อ ๓๔ การขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาล ให้ทำเป็นหนังสือเชิญ
กรณีที่คู่ความขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มา ให้ศาลออกหมายเรียก
ข้อ ๓๕ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็น ให้ศาลกำหนดค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักตามระเบียบสำนักงานศาลยุติธรรม
ข้อ ๓๖ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่คู่ความขอให้เรียกมาให้ความเห็น ให้ศาลกำหนดค่าป่วยการตามรายได้และฐานะของบุคคลนั้น แต่ไม่ให้เกินวันละสองพันบาทกับค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักของบุคคลนั้นที่เสียไปด้วยตามสมควรและสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ขอให้เรียกมาเป็นผู้จ่ายโดยถือเป็นค่าฤชาธรรมเนียม
ข้อ ๓๗ ก่อนให้ความเห็น ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาหรือที่คู่ความขอให้เรียกมา ต้องสาบานหรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้ความเห็นตามความสัตย์จริง เว้นแต่บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๑๒
ข้อ ๓๘ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอาจให้ความเห็นด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ทั้งอาจยื่นความเห็นเป็นหนังสือต่อศาลประกอบความเห็นด้วยวาจาก็ได้
ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การให้ความเห็นด้วยวาจาดังกล่าวโดยอนุโลม
หมวด ๕
การพิพากษาและบังคับคดี
-------------------------
ข้อ ๓๙ ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยตามกำหนดที่ได้นัดไว้ตามข้อ ๒๔ แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นจะเลื่อนไปอ่านในวันอื่นก็ได้
ข้อ ๔๐ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี ศาลภาษีอากรกลางอาจออกหมายบังคับคดีส่งไปยังศาลจังหวัดแห่งท้องที่ใดท้องที่หนึ่งดำเนินการบังคับคดีให้ก็ได้ ให้ศาลจังหวัดที่ได้รับมอบหมายแจ้งผลการดำเนินการให้ศาลภาษีอากรกลางทราบตามที่เห็นสมควร
หมวด ๖
แบบพิมพ์
-------------------------
ข้อ ๔๑ การแต่งตั้งบุคคลเพื่อรับคำคู่ความหรือเอกสารแทนตามข้อ ๘ ให้ตามแบบพิมพ์ ภษ. ๑ ท้ายข้อกำหนดนี้
ข้อ ๔๒ หนังสือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามข้อ ๓๔ วรรคหนึ่ง ให้ตามแบบพิมพ์ ภษ. ๒ ส่วนหมายเรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญตามข้อ ๓๔ วรรคสอง ให้ทำตามแบบพิมพ์ ภษ. ๓ ท้ายข้อกำหนดนี้
ข้อ ๔๓ การสอบถามข้อเท็จจริงตามข้อ ๑๙ และข้อ ๒๓ ให้ทำตามแบบพิมพ์ ภษ.๔ และ ภษ. ๕ การบอกกล่าวข้อเท็จจริงของคู่ความตามข้อ ๒๐ ให้ทำตามแบบพิมพ์ ภษ. ๖ บันทึกถ้อยคำพยานที่บันทึกไว้ล่วงหน้าตามข้อ ๒๙ ให้ทำตามแบบพิมพ์ ภษ. ๗ ท้ายข้อกำหนดนี้
ข้อ ๔๔ ในการยื่นหรือส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในข้อกำหนดนี้ ให้ศาล เจ้าพนักงานศาล คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ใช้แบบพิมพ์ซึ่งมีรูปแบบ ขนาด และข้อความตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด เว้นแต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
การยื่นอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๔ ให้ใช้แบบพิมพ์อุทธรณ์แบบ (๓๒) และแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์แบบ (๓๓) ส่วนคำแก้อุทธรณ์ให้ใช้แบบพิมพ์คำแก้อุทธรณ์แบบ (๓๔) และแบบพิมพ์ท้ายคำแก้อุทธรณ์แบบ (๓๕)
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เธียรไท สุนทรนันท
อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ในการพิจารณาคดีอยู่ มีข้อขัดข้องบางประการ ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสาร การบันทึกข้อมูลได้มีการพัฒนาไปมากขึ้น ซึ่งหากได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาคดีของศาลภาษีอากรกลางแล้ว จะทำให้คดีเสร็จไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันต่อเหตุการณ์และมีความสะดวกในทางปฏิบัติ จึงได้ออกข้อกำหนดคดีภาษีอากรฉบับนี้ขึ้น