สารบัญ

ประมวลกฎหมายยาเสพติด

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔

 

พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๖๔

-------------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔
เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๘ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกําหนดมาตรการในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการบูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอันจะเป็นประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม รวมถึงเพื่อปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และป้องกันการสนับสนุนการกระทําความผิดขององค์กรดังกล่าวในด้านต่าง ๆ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

               มาตรา ๔  เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ได้ใช้บังคับแล้ว ให้ยกเลิก
               (๑) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙
               (๒) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
               (๓) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓
               (๔) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
               (๕) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒
               (๖) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๘
               (๗) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๐
               (๘) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓
               (๙) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕
               (๑๐) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๐
               (๑๑) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒
               (๑๒) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๖๔
               (๑๓) พระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓
               (๑๔) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พ.ศ.๒๕๔๒
               (๑๕) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               (๑๖) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ (ฉบับที่๓) พ.ศ.๒๕๕๐
               (๑๗) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
               (๑๘) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
               (๑๙) พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕
               (๒๐) พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙
               (๒๑) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบําบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
               (๒๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๙/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
               (๒๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑๖/๒๕๕๗ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗
               (๒๔) คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๖๑ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

               มาตรา ๕  ให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เข้ารับการฝึกอบรมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ รวมถึงการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ตามหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

               มาตรา ๖  ให้ข้าราชการของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. โดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือจากคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย และผ่านการฝึกอบรมตามมาตรา ๕ เป็นตําแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และในการกําหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสําหรับตําแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ให้คํานึงถึงภาระหน้าที่ คุณภาพของงาน และการดํารงตนอยู่ในความยุติธรรม โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกําหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

               มาตรา ๗  เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอ้างถึงบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างถึงบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ในบทมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน

               มาตรา ๘  บรรดากฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ หรือประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบําบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือจนกว่าจะมีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้หรือตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔ ใช้บังคับ

               มาตรา ๙  ในกรณีที่มีบทบัญญัติใดในประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ กําหนดให้การลงโทษผู้กระทําผิด หรือการขออนุญาต หรือการอนุญาต หรือการปฏิบัติตามบทบัญญัตินั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติดังกล่าวจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้นแล้ว

               มาตรา ๑๐  ในระหว่างที่ยังมิได้มีกฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้
               (๑) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี มีอํานาจในการพิจารณาอนุญาตการผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง นําผ่าน หรือโฆษณาซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ การผลิตหรือนําเข้าตัวอย่างของตํารับวัตถุออกฤทธิ์ และการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ โดยนําบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก ขาย จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง นําผ่าน หรือโฆษณาซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ผลิต หรือนําเข้าตัวอย่างของตํารับวัตถุออกฤทธิ์ และการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้
               (๒) ให้ผู้ได้รับการยกเว้นให้ดําเนินการผลิต นําเข้า ส่งออก ขาย จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๓๒ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้
               (๓) การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต คุณสมบัติและหน้าที่ของผู้รับอนุญาต และหน้าที่ของเภสัชกร ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙

               มาตรา ๑๑  ให้เจ้าพนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชกําหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. ๒๕๓๓ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ แล้วแต่กรณี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๒  บรรดาคดีที่ได้มีการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงาน อัยการ และศาล ดําเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

               มาตรา ๑๓  คําขอใด ๆ ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นคําขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ด้วยโดยอนุโลม และถ้าคําขอดังกล่าวมีข้อความหรือเอกสารประกอบคำขอแตกต่างไปจากคำขอตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้ผู้อนุญาตมีอํานาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคําขอเพื่อให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ได้

               มาตรา ๑๔  บรรดาใบอนุญาต ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตํารับ หนังสือสําคัญ ใบแจ้งการนําเข้า ใบแจ้งการส่งออก ใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ใบแทนใบสําคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตํารับ และใบแทนหนังสือสําคัญที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ

               มาตรา ๑๕  ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก ขาย จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดําเนินกิจการต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นอายุ และถ้าประสงค์จะดําเนินกิจการต่อไปให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ก่อนใบอนุญาตเดิมจะสิ้นอายุ

               มาตรา ๑๖  ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ประกอบด้วยกรรมการโดยตําแหน่งตามมาตรา ๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๑๐๙ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
               ให้คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๗  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง เงินงบประมาณ และรายได้ของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของกองทุนป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๘  ผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการประจําเขตพื้นที่ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีหน้าที่และอํานาจปฏิบัติงานที่ค้างอยู่ต่อไปจนเสร็จสิ้น
               ในกรณีที่ตําแหน่งกรรมการหรืออนุกรรมการตามวรรคหนึ่งว่างลง และมีกรรมการหรืออนุกรรมการที่เหลืออยู่ไม่ครบองค์ประกอบ หรือไม่พอที่จะเป็นองค์ประชุม ให้กรรมการหรืออนุกรรมการที่เหลืออยู่ดําเนินการต่อไปได้
               ให้สถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือการควบคุมตัว และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจและดําเนินการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ จนกว่าจะดําเนินการตรวจพิสูจน์หรือฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเสร็จสิ้น

               มาตรา ๒๐  คดีที่ได้มีการออกหมายบังคับคดีแต่งตั้งข้าราชการในสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดดําเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐ ต่อไปจนเสร็จสิ้น

               มาตรา ๒๑  ให้บทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นการกระทําเพื่อจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และเพื่อขายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัตินี้ยังคงมีผลใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาแล้วก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แล้วแต่กรณี จนกว่าคดีถึงที่สุด
               คดีซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นอยู่ในวันก่อนวันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยื่นคําแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเพื่อจําหน่ายหรือเพื่อขายหรือไม่ แล้วแต่กรณี ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

               มาตรา ๒๒  ให้ศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟูและศูนย์เพื่อประสานการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐๘/๒๕๕๗ เรื่อง การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเข้าสู่การบําบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟู ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นศูนย์คัดกรอง และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการจัดตั้งศูนย์คัดกรองหรือศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๓  ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การอนุญาตนําเข้ายาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วยตามมาตรา ๓๕ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้นําเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์
               ความในวรรคหนึ่งไมใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้ขออนุญาตเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย
               (๒) ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจําเป็นต้องนำยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นกัญชาติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว
               (๓) ผู้ขออนุญาตซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการดําเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาตามมาตรา ๓๕ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๒๔  ให้ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของตน
               ให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอํานาจออกข้อบังคับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีอํานาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และตามประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอํานาจของตน
               ข้อบังคับ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
           นายกรัฐมนตรี


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๗๓ ก/หน้า ๑/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

ภาค ๑ การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด (มาตรา ๑ - ๑๐๗)

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑ - ๒)

 

ลักษณะ ๑
บทบัญญัติทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๑  ในประมวลกฎหมายนี้
               “ยาเสพติด” หมายความว่า ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ หรือสารระเหย
               “ยาเสพติดให้โทษ” หมายความว่า สารเคมี พืช หรือวัตถุชนิดใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพแล้ว ทําให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสําคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลําดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง กับให้รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึง ยาสามัญประจําบ้านบางตํารับที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยยา
               “วัตถุออกฤทธิ์” หมายความว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นสิ่งธรรมชาติหรือที่ได้จากสิ่งธรรมชาติ หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่เป็นวัตถุสังเคราะห์
               “สารระเหย” หมายความว่า สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่อาจนําไปใช้เพื่อสนองความต้องการของร่างกายหรือจิตใจซึ่งทําให้สุขภาพโดยทั่วไปทรุดโทรมลง
               “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้
               “ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด เว้นแต่มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทําความผิดดังกล่าวด้วย
               “ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวซื้อหรือกระทําไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่น หรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม
               “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทํา ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์
               “นําเข้า” หมายความว่า นําหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
               “ส่งออก” หมายความว่า นําหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร
               “จําหน่าย” หมายความว่า ขาย แลกเปลี่ยน จ่าย แจก หรือให้โดยมีสิ่งตอบแทน หรือผลประโยชน์อย่างอื่น และให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจําหน่าย
               “นำผ่าน” หมายความว่า นําหรือส่งผ่านราชอาณาจักร แต่ไม่รวมถึงการนําหรือส่งยาเสพติดผ่านราชอาณาจักร โดยมิได้มีการขนถ่ายออกจากอากาศยานที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ
               “เสพ” หมายความว่า การรับยาเสพติดเข้าสู่ร่างกายโดยรู้อยู่ว่าเป็นยาเสพติดไม่ว่าด้วยวิธีใด
               “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
               “สํานักงาน ป.ป.ส.” หมายความว่า สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
               “เลขาธิการ ป.ป.ส.” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
               “สํานักงาน อย.” หมายความว่า สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา
               “เลขาธิการ อย.” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
               “กองทุน” หมายความว่า กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               “เจ้าพนักงาน ป.ป.ส.” หมายความว่า ผู้ซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ส. แต่งตั้งโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือจากคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. มอบหมาย เพื่อปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้
               “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง เพื่อปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดตามภาคนี้

               มาตรา ๒  ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือเป็นไปตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการต่าง ๆ และของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นผู้วินิจฉัยและวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการและการประสานงาน
               ให้สํานักงาน ป.ป.ส. ดําเนินการเผยแพร่คําวินิจฉัยและระเบียบปฏิบัติที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดตามวรรคหนึ่งให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

ลักษณะ ๒ การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (มาตรา ๓ - ๑๔)

หมวด ๑ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (มาตรา ๓)

 

หมวด ๑
นโยบายและแผนระดับชาติ
ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๓  เพื่อให้การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ความต่อเนื่อง กระบวนการในการดำเนินการอย่างเป็นระบบและประสิทธิภาพอันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของรัฐ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ส.
               นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างน้อยต้องมีในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) เป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการดําเนินงาน รวมถึงการกําหนดและการบริหารจัดการด้านงบประมาณในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการกําหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน
               (๒) มาตรการในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน สถานศึกษา ครอบครัว และชุมชน ตลอดจนการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพ การจัดหางาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนและผู้ประกอบธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินการตามมาตรการดังกล่าว และการกําหนดมาตรการส่งเสริมแก่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับผู้ผ่านการบำบัดรักษาเข้าทํางาน
               (๓) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้สามารถดํารงชีวิตในสังคม การประกอบอาชีพ การศึกษาและการสงเคราะห์อื่น ๆ
               (๔) ยุทธศาสตร์และแนวทางในการประสานความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ หรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อปราบปรามการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติด รวมทั้งประสานงานการข่าวเพื่อสกัดกั้นและปราบปรามจับกุมขบวนการและเครือข่ายการค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ
               (๕) การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย และพัฒนาด้านวิชาการเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษา
               (๖) การติดตามและประเมินผลการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               เมื่อมีการประกาศใช้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของตนให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว
               นโยบายและแผนระดับชาติตามวรรคหนึ่ง เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้มีผลใช้บังคับ
               ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. ดําเนินการทบทวนนโยบายและแผนระดับชาติทุกห้าปี ในกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือความจําเป็นอื่นเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ดําเนินการปรับปรุงและแก้ไขนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าวและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

หมวด ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (มาตรา ๔ - ๑๑)

 

หมวด ๒
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๔  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการ อย. และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคน
               ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่งตั้งข้าราชการในสํานักงาน ป.ป.ส. จํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
               เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ส. คณะกรรมการ ป.ป.ส. อาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งสําหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

               มาตรา ๕  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) เสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๓ รวมทั้งดําเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว แล้วรายงานผลการดําเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
               (๒) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุน และเร่งรัดการดําเนินการของคณะกรรมการที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อให้มีการดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๓) ให้คําแนะนําหรือข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการ ตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               (๔) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดและการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง
               (๕) กําหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองเพาะปลูก ผลิตและทดสอบ หรือเสพหรือครอบครองยาเสพติดตามมาตรา ๕๕
               (๖) กําหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการและกําหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าวตามมาตรา ๕๖
               (๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการดําเนินการของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามมาตรา ๘๙
               (๘) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรืองาน แผนงาน หรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๙) ควบคุม เร่งรัด และประสานงานในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจในการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม และการบังคับโทษตามประมวลกฎหมายนี้
               (๑๐) กําหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจําเป็นเร่งด่วน และกําหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับกําหนดให้มีกลไก โครงสร้าง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหาและให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ
               (๑๑) กํากับและติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๑๒) วางโครงการและดําเนินการ ตลอดจนสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดําเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
               (๑๓) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๑๔) ประสานงานและกํากับเกี่ยวกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๑๕) พิจารณาอนุมัติหรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้
               (๑๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ส.
               ให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานผลการดําเนินการตาม (๑) พร้อมด้วยข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งนี้ รายงานผลการดําเนินการอย่างน้อยให้มีสาระสําคัญเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด การตรวจสอบทรัพย์สิน การบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการดําเนินการอื่นตามประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา ๖  ในการพิจารณาเรื่องใด ๆ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ส. เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติเป็นประการใดแล้ว ให้มติของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ผูกพันหน่วยงานซึ่งมีผู้แทนร่วมเป็นกรรมการโดยตําแหน่งอยู่ด้วย แม้ว่าในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้นผู้แทนของหน่วยงานที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจะมิได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยก็ตาม ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันให้บันทึกความเห็นของกรรมการทุกฝ่ายไว้ให้ปรากฏในเรื่องนั้นด้วย
               ให้นําความในวรรคหนึ่งไปใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๗  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสามปี
               เมื่อครบกําหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

               มาตรา ๘  นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะเหตุบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
               (๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
               (๖) ได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๗) ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอื่น

               มาตรา ๙  ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ ให้แต่งตั้งผู้อื่นดํารงตําแหน่งแทน เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตําแหน่งที่ว่างนั้นอยู่ในตําแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
               ในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

               มาตรา ๑๐  การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
               ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               คณะกรรมการ ป.ป.ส. ต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง

               มาตรา ๑๑  คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. มอบหมายก็ได้
               การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นําความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

หมวด ๓ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (มาตรา ๑๒ - ๑๔)

 

หมวด ๓
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๒  ให้สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรียกโดยย่อว่า “สํานักงาน ป.ป.ส." มีหน้าที่และอานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ดําเนินงานในฐานะหน่วยงานปฏิบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ตามหน้าที่และอํานาจที่กําหนด
               (๒) พิจารณาให้คําแนะนําและประสานงานกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อจัดทําแผนงานและโครงการด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ
               (๓) ประสานนโยบาย แผน งบประมาณ และการปฏิบัติงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
               (๔) ประสาน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ส.
               (๕) เป็นหน่วยงานกลางของประเทศในการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์สภาพปัญหาและมาตรการด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และสนับสนุนข้อมูลข่าวสารวิชาการ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๖) ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการตามประมวลกฎหมายนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ส. และสํานักงาน ป.ป.ส.
               (๗) ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๘) ออกระเบียบเพื่อให้มีการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้
               (๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของสํานักงาน ป.ป.ส. หรือตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. มอบหมาย

               มาตรา ๑๓  ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสํานักงาน ป.ป.ส. และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสํานักงาน ป.ป.ส. โดยมีรองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยปฏิบัติราชการ

               มาตรา ๑๔  เพื่อประโยชน์ในการประสานงานให้เกิดการบูรณาการการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด เลขาธิการ ป.ป.ส. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. จะเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการให้ความดีความชอบหรือโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยต่อข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตลอดจนขอให้หน่วยงานของรัฐเจ้าสังกัดเร่งรัดการดําเนินการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติงานด้านยาเสพติด
               ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้โยกย้าย ให้ความดีความชอบ หรือลงโทษทางวินัย ให้แจ้งต้นสังกัดเพื่อนําเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

ลักษณะ ๓ การควบคุมยาเสพติด (มาตรา ๑๕ - ๖๒)

หมวด ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑๕ - ๒๔)

 

หมวด ๑
บทบัญญัติทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๑๕  ในลักษณะนี้
               “ตํารับยาเสพติดให้โทษ” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบและปริมาณของสิ่งปรุงที่มียาเสพติดให้โทษรวมอยู่ด้วย
               “ตํารับวัตถุออกฤทธิ์” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบและปริมาณของสิ่งปรุงที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย
               “วัตถุตํารับ” หมายความว่า สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นวัตถุสําเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนําไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้
               “วัตถุตำรับยกเว้น” หมายความว่า วัตถุตํารับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมบางประการสําหรับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตํารับนั้น
               “ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติด
               “ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามบทบัญญัติในลักษณะนี้
               “ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ อย.
               “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

               มาตรา ๑๖  บทบัญญัติในหมวด ๔ การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และหมวด ๕ การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการขึ้นทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ไม่ใช้บังคับแก่สํานักงาน อย.

               มาตรา ๑๗  ในกรณีที่สํานักงาน อย. ผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และได้รับยกเว้นตามมาตรา ๑๖ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายนี้ ให้สํานักงาน อย. รายงานการรับ การจ่าย และการเก็บรักษาซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว และวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดทราบทุกหกเดือนของปีปฏิทิน แล้วให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอรายงานพร้อมกับให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสั่งการต่อไป

               มาตรา ๑๘  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ รวมทั้งกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม
               กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๙  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือเลขาธิการ อย. มีอํานาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบของตน หรือผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีโดยสํานักงาน อย. ปฏิบัติงานต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุญาตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ได้ตามความเหมาะสม
               การขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสานักงาน อย. ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด

               มาตรา ๒๐  ค่าธรรมเนียมตาม (๑๗) (๑๘) (๑๙) (๒๐) และ (๒๑) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ตกเป็นของสํานักงาน อย. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา ๑๙ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

               มาตรา ๒๑  การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจ่ายเงินตามมาตรา ๒๐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

               มาตรา ๒๒  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังต่อไปนี้
               (๑) กําหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษ ตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษ
               (๒) กําหนดจํานวนและจํานวนเพิ่มเติมซึ่งยาเสพติดให้โทษที่จะต้องใช้ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจําปี
               (๓) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นําเข้า จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้
               (๔) ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษที่ต้องมีคําเตือนหรือข้อควรระวัง และข้อความของคําเตือนหรือข้อควรระวังเป็นตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายให้ผู้ใช้ระมัดระวังตามความจําเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
               (๕) กําหนดสถานที่แห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษที่นําเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน
               (๖) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้

               มาตรา ๒๓  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกําหนดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ดังต่อไปนี้
               (๑) ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ใดอยู่ในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔
               (๒) กําหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่นของวัตถุออกฤทธิ์ ตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษาวัตถุออกฤทธิ์ตาม (๑)
               (๓) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตาม (๑)
               (๔) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่าน
               (๕) ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ซึ่งอนุญาตให้ผลิตเพื่อส่งออกหรือส่งออกได้
               (๖) ระบุวัตถุตํารับให้เป็นวัตถุตํารับยกเว้นและเพิกถอนวัตถุตํารับยกเว้น
               (๗) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นําเข้า จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง
               (๘) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องมีคําเตือนหรือข้อควรระวัง และข้อความของคําเตือนหรือข้อควรระวังเป็นตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายให้ผู้ใช้ระมัดระวังตามความจําเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
               (๙) กําหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขอื่น มีไว้ในครอบครองได้ตามมาตรา ๓๒
               (๑๐) ระบุชื่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๓๓ (๔)
               (๑๑) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ประเทศหนึ่งประเทศใดห้ามนําเข้าตามมาตรา ๔๔
               (๑๒) กําหนดสถานที่แห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ที่นําเข้า ส่งออก หรือนําผ่าน
               (๑๓) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้

               มาตรา ๒๔  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกําหนดเกี่ยวกับสารระเหย ดังต่อไปนี้
               (๑) ระบุชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหย
               (๒) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหยตาม (๑)
               (๓) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้

หมวด ๒ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด (มาตรา ๒๕ - ๒๘)

 

หมวด ๒
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๒๕  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการ ป.ป.ส. นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจํานวนสิบคนจากผู้ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านวิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ อายุรแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ในจํานวนนี้ ให้แต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าสามคน
               ให้เลขาธิการ อย. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการ อย. แต่งตั้งข้าราชการในสํานักงาน อย. จํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

               มาตรา ๒๖  ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) กําหนดมาตรการการควบคุมยาเสพติด
               (๒) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี ในการระบุชื่อหรือประเภทยาเสพติด รวมทั้งการเพิกถอนหรือการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติด
               (๓) ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผู้อนุญาต แล้วแต่กรณี ในการปฏิบัติการตามลักษณะนี้
               (๔) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้อนุญาตตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๕
               (๕) ให้ความเห็นต่อกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายในการทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๐
               (๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย

               มาตรา ๒๗  ให้นําความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๘  คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมอบหมายก็ได้
               การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยาเสพติดให้โทษ คณะอนุกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ และคณะอนุกรรมการสารระเหย
               การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นําความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

หมวด ๓ ประเภทของยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๒๙ - ๓๑)

 

หมวด ๓
ประเภทของยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์

-------------------------

               มาตรา ๒๙  ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
               (๑) ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
               (๒) ประเภท ๒ ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) หรือฝิ่นยา (Medicinal Opium)
               (๓) ประเภท ๓ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตํารับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด
               (๔) ประเภท ๔ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เช่น อาเซติค แอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride)
               (๕) ประเภท ๕ ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท ๑ ถึงประเภท ๔ เช่น พืชฝิ่น
               การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๔) และ (๕) และการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกําหนด
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คําว่า “ฝิ่นยา (Medicinal Opium)” หมายความว่า ฝิ่นที่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา

               มาตรา ๓๐  วัตถุออกฤทธิ์แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
               (๑) ประเภท ๑ วัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง
               (๒) ประเภท ๒ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง
               (๓) ประเภท ๓ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิด
               (๔) ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดน้อยกว่าประเภท ๓
               ทั้งนี้ การระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ชื่อใดอยู่ในประเภทใด และการเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด

               มาตรา ๓๑  ในกรณีที่วัตถุตํารับมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่ ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย
               ในกรณีที่วัตถุตํารับมีวัตถุออกฤทธิ์อันระบุอยู่ในประเภทต่างกันผสมอยู่ ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่มีการควบคุมเข้มงวดกว่าในประเภทที่ผสมอยู่นั้น

หมวด ๔ การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๓๒ - ๔๘)

ส่วนที่ ๑ ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต (มาตรา ๓๒ - ๓๓)

 

ส่วนที่ ๑
ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๓๒  การผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด

               มาตรา ๓๓  การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต
              
(๑) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณเท่าที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งสําหรับใช้ในการบำบัดหรือป้องกันโรคสําหรับสัตว์ที่ให้การรักษานั้น
               (๒) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไว้ในครอบครองในปริมาณเท่าที่จําเป็นต้องใช้ประจําในการปฐมพยาบาล หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ในยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมสําหรับการนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่าน ทั้งนี้ ผู้ควบคุมยานพาหนะดังกล่าวต้องจัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สูญหายหรือมีการนําเอาไปใช้โดยมิชอบ
               (๓) การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สําหรับกิจการของผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือนําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภทนั้น ๆ
               (๔) การมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
               (๕) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา

ส่วนที่ ๒ การอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (มาตรา ๓๔)

 

ส่วนที่ ๒
การอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

-------------------------

               มาตรา ๓๔  ในกรณีจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจอนุญาตให้ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ ได้
               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจอนุญาตให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ เพื่อการศึกษาวิจัย ประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม
               การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

ส่วนที่ ๓ การอนุญาตโดยผู้อนุญาต (มาตรา ๓๕ - ๔๖)

 

ส่วนที่ ๓
การอนุญาตโดยผู้อนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๓๕  ผู้อนุญาตมีอํานาจอนุญาต ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
               (๒) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓
               (๓) ให้ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ ในปริมาณเล็กน้อยที่นําไปใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์
               (๔) ให้ผู้ใดจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕
               (๕) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์
               ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีอํานาจอนุญาต ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือประโยชน์อื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
               การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ผู้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองผู้ใดประกอบกิจการภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้ยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยแสดงเหตุที่ไม่สามารถยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตภายในกําหนดและผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้ต่ออายุใบอนุญาตได้

               มาตรา ๓๖  การนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ นอกจากจะต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตราดังกล่าวแล้ว ในการนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้งที่นําเข้าหรือส่งออกอีกด้วย ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๗  ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่าน ซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ และผู้รับอนุญาตเฉพาะคราวนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๖ ต้องจัดเก็บรักษา ดําเนินการขออนุญาตและจัดให้มีการควบคุมดูแลการโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ จัดให้มีการทําบัญชีและเสนอรายงานเกี่ยวกับการดําเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาต หรือดําเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกํากับดูแลยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               การขออนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามวรรคหนึ่งของผู้รับอนุญาต การออกใบอนุญาต และเงื่อนไขในการโฆษณาตามใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๓๘  ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ และใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อการนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๖ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตซึ่งได้กระทําไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้รับอนุญาต
               ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการกระทําของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่ได้กระทําไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการกระทําของผู้รับอนุญาตด้วย

               มาตรา ๓๙  ผู้อนุญาตอาจอนุญาตให้ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศนํายาเสพติดให้โทษซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมใบอนุญาตด้วย โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               การนําวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จําเป็นต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวภายในสามสิบวัน โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ไม่ต้องขออนุญาต กรณีการนําติดตัวเพื่อใช้รักษาโรคเกินกว่าสามสิบวันต้องได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               การนํายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ไม่เป็นความผิดฐานนําเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา ๔๐  ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจําควบคุมกิจการตลอดเวลาทําการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๑  ในการนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท ห้ามผู้ใดเปลี่ยนแปลงการส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายอื่นที่มิได้ระบุในใบอนุญาตส่งออกที่ส่งมาพร้อมกับวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจของประเทศผู้ออกใบอนุญาตนั้น และเลขาธิการ อย. ให้ความเห็นชอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ในกรณีที่ไม่อาจส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายที่กําหนดตามวรรคหนึ่งได้ ให้ผู้รับอนุญาตส่งวัตถุออกฤทธิ์กลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร หากผู้รับอนุญาตไม่ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กําหนด ให้วัตถุออกฤทธิ์นั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด

               มาตรา ๔๒  ในระหว่างที่มีการนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ การแปรรูปหรือแปรสภาพวัตถุออกฤทธิ์ให้เป็นอย่างอื่น หรือเปลี่ยนหีบห่อที่บรรจุวัตถุออกฤทธิ์ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย.

               มาตรา ๔๓  ในการนําเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท การส่งวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไปยังบุคคลอื่นหรือสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากบุคคลหรือสถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อนําเข้าสามารถกระทําได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็น โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย.

               มาตรา ๔๔  เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งการห้ามนําเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดที่ต่างประเทศได้แจ้งผ่านเลขาธิการสหประชาชาติระบุห้ามนําเข้าไปยังประเทศใด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดการห้ามนําเข้าประเทศนั้น
               ห้ามผู้ใดส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังประเทศที่ระบุห้ามนําเข้าตามวรรคหนึ่ง
เว้นแต่ได้รับอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากประเทศนั้นและใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากเลขาธิการ อย.
              
การขอรับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวและการออกใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๕  ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตเลิกกิจการ ไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต ไม่ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต หรือตาย ให้ผู้รับอนุญาต ทายาท ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้ตาย แล้วแต่กรณี ปฏิบัติตามข้อกําหนดที่ผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น ให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลืออยู่ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด

               มาตรา ๔๖  ผู้รับอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือผู้รับอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งได้ดําเนินการตามประมวลกฎหมายนี้แล้ว ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยยา

ส่วนที่ ๔ การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา ๔๗ - ๔๘)

 

ส่วนที่ ๔
การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๔๗  ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหมวดนี้ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามหมวดนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี ว่ากล่าวตักเตือน สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามสมควรแก่กรณี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๘  ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตอีกไม่ได้
               ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามหมวดนี้อีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
               ในกรณีที่นิติบุคคลถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้นําความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรรมการผู้จัดการ และผู้รับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วยโดยอนุโลม

หมวด ๕ การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการขึ้นทะเบียนตำรับวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๔๙ - ๕๑)

 

หมวด ๕
การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓
และการขึ้นทะเบียนตำรับวัตถุออกฤทธิ์

-------------------------

               มาตรา ๔๙  ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนําเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตามมาตรา ๓๕ (๒) หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ตามมาตรา ๓๕ (๕) จะผลิตหรือนําเข้าซึ่งตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวปรุงผสมอยู่ ต้องขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์นั้นต่อผู้อนุญาตก่อน และเมื่อได้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์แล้วจึงจะผลิตหรือนําเข้าซึ่งตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์นั้นได้
               การขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การออกใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การต่ออายุใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การออกใบแทนใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การแจ้งรายการในการยื่นคําขอ และการขอแก้ไขรายการที่ได้รับอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนําเข้าซึ่งตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนําเข้าตัวอย่างของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ที่จะขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การขออนุญาตและการอนุญาตให้ผลิตหรือนําเข้าตัวอย่างของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๕๐  ผู้อนุญาตโดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดอาจไม่รับขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ในกรณีดังต่อไปนี้
               (๑) การขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรา ๔๙
               (๒) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนไม่เป็นที่เชื่อถือในสรรพคุณ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้
               (๓) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนใช้ชื่อในทํานองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทําให้เข้าใจผิดจากความจริง
               (๔) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๕๑
               (๕) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามมาตรา ๕๒

               มาตรา ๕๑  เมื่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นว่าทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ใด ที่ได้ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไว้ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือมีเหตุผลอันไม่สมควรที่จะอนุญาตให้ต่อไป ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ นั้นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๖ ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ (มาตรา ๕๒ - ๕๔)

 

หมวด ๖
ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ

-------------------------

               มาตรา ๕๒  ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ปลอม
               ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ หรือสิ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม
               (๑) สิ่งที่ทําเทียมยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพื่อแสดงว่าเป็นยาเสพติดให้โทษแท้หรือวัตถุออกฤทธิ์แท้
               (๒) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์อื่น หรือแสดงวัน เดือน ปี ที่ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สิ้นอายุแล้วว่ายังไม่สิ้นอายุ
               (๓) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิต ซึ่งมิใช่ความจริง
               (๔) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ถึงขนาดสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าร้อยละสิบของปริมาณที่กําหนดไว้จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดตามที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๑) หรือมาตรา ๒๓ (๒) หรือตามที่กําหนดไว้ในตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนตํารับ หรือที่ผู้อนุญาตได้อนุญาตให้ผลิต นําเข้า หรือส่งออกไว้

               มาตรา ๕๓  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ผิดมาตรฐาน
               ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน
               (๑) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด ตามที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๑) หรือมาตรา ๒๓ (๒) หรือตามตํารับของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา ๔๙ แต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าวในมาตรา ๕๒ (๔)
               (๒) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่นซึ่งมีความสําคัญต่อคุณภาพของยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดไปจากเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๑) หรือมาตรา ๒๓ (๒) หรือตามตํารับของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้

               มาตรา ๕๔  ห้ามผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ เสื่อมคุณภาพ
               ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เสื่อมคุณภาพ
               (๑) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลากซึ่งขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไว้
               (๒) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามมาตรา ๕๒ (๔) หรือยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐานตามมาตรา ๕๓

หมวด ๗ มาตรการควบคุมพิเศษ (มาตรา ๕๕ - ๖๒)

 

หมวด ๗
มาตรการควบคุมพิเศษ

-------------------------

               มาตรา ๕๕  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกําหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
               (๑) ทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
               (๒) ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๓) เสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภทและปริมาณที่กำหนด
               การกําหนดพื้นที่และการกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการกระทําดังกล่าวด้วย
               ให้การกระทําการในเขตพื้นที่ที่กําหนดในวรรคหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและตรวจสอบไม่เป็นความผิด

               มาตรา ๕๖  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอํานาจออกประกาศกําหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ และประกาศกําหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๕๗  ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๕๖ หรือพบว่ามีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๕๖ หากเจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการดังกล่าวไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เชื่อได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอํานาจสั่งให้ดำเนินมาตรการที่จําเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นอีก หรือให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอํานาจสั่งปิดสถานประกอบการแห่งนั้นชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการสําหรับการประกอบธุรกิจนั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีจําเป็นเร่งด่วน ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอํานาจดําเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ การสั่งปิดชั่วคราวหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการต้องไม่เกินครั้งละสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการนั้นทราบคําสั่ง
               ในกรณีที่สถานประกอบการซึ่งถูกสั่งปิดชั่วคราวหรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการตามวรรคหนึ่งเป็นสถานประกอบการซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมการประกอบการตามกฎหมายอื่น ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. แจ้งให้หน่วยงานซึ่งควบคุมการประกอบการนั้นทราบ และให้หน่วยงานดังกล่าวถือปฏิบัติตามนั้น
               การสั่งปิดชั่วคราวหรือการสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ และการแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการทราบตามวรรคหนึ่ง และการแจ้งให้หน่วยงานทราบตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๕๘  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกําหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย
               ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด

               มาตรา ๕๙  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกําหนดให้วัตถุตํารับใด ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นวัตถุตํารับยกเว้นได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               (๑) มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างปรุงผสมอยู่
               (๒) มีลักษณะที่ไม่อาจก่อให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง
               (๓) ไม่สามารถจะแยกสกัดเอาวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตํารับนั้นกลับมาใช้ในปริมาณที่จะทําให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง และ
               (๔) ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางด้านสุขภาพและสังคมได้
               วัตถุตำรับยกเว้นที่ประกาศตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศเพิกถอนได้เมื่อปรากฏว่าวัตถุตํารับนั้นไม่ตรงลักษณะที่กําหนดไว้

               มาตรา ๖๐  ในการนําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และ ประเภท ๕ ต้องมีใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษแสดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ยินยอมให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษ และนํายาเสพติดให้โทษที่นำผ่านมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๕) เพื่อทําการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
               ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งไว้ในที่สมควร จนกว่าผู้ที่นําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษจะนํายาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
               ในกรณีที่ผู้นําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งไม่นํายาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันนําเข้า ให้พนักงานศุลกากรรายงานให้เลขาธิการ อย. ทราบ เลขาธิการ อย. มีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้นําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษนํายาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคําสั่ง ถ้าผู้ได้รับคําสั่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

               มาตรา ๖๑  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดตามภาคนี้ มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) เข้าไปในสถานที่ทําการของผู้รับอนุญาตนําเข้าหรือส่งออก สถานที่ผลิต สถานที่จําหน่าย สถานที่เก็บยาเสพติด หรือสถานที่ที่ต้องได้รับอนุญาตตามภาคนี้ ในเวลาทําการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามภาคนี้
               (๒) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามภาคนี้
               (๓) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคํา หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา
               พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ตําแหน่งใด ระดับใด หรือชั้นยศใด จะมีหน้าที่และอํานาจตามที่กําหนดไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดําเนินการ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด

               มาตรา ๖๒  ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอานาจนํายาเสพติดจากสถานที่นั้นในปริมาณพอสมควรไปเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ และหากปรากฏว่ายาเสพติดใดเป็นยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ให้ประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์คุณภาพของยาเสพติดที่นําไปตรวจสอบหรือวิเคราะห์นั้นให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่เห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการ อย.
               เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ยาเสพติด ในกรณีที่ปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันเชื่อได้ว่ายาเสพติดใดเป็นยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดหรืออายัดยาเสพติดดังกล่าวไว้ หรือสั่งให้ผู้รับอนุญาตงดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติด เรียกเก็บยาเสพติดดังกล่าวกลับคืนมาภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนด และอาจสั่งทําลายยาเสพติดดังกล่าวเสียได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ลักษณะ ๔ การตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา ๖๓ - ๘๙)

หมวด ๑ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา ๖๓ - ๖๗)

 

หมวด ๑
คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๖๓  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่งตั้งจํานวนสองคนจากบุคคลซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน
               ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

               มาตรา ๖๔  ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๘๒
               (๒) ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและมีคําสั่งตามมาตรา ๖๘
               (๓) วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๗๓
               (๔) มีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ตามมาตรา ๗๓
               (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๘ ระเบียบเกี่ยวกับการยุติการตรวจสอบทรัพย์สินและการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามมาตรา ๗๑ และระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สิน การนําทรัพย์สินออกขายทอดตลาด การนําทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ และการประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามมาตรา ๗๕
               (๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อปฏิบัติตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมอบหมาย
               (๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน
               คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๖ หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. ดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินตาม (๒) ดําเนินการยึดหรืออายัดตาม (๔) หรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตาม (๖) ดําเนินการวินิจฉัยทรัพย์สินตาม (๓) แล้วรายงานให้ทราบก็ได้

               มาตรา ๖๕  การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
               ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๖๔ (๒) (๓) และ (๔) ให้ถือเสียงสองในสามของกรรมการที่มาประชุม กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

               มาตรา ๖๖  ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคณะหนึ่งหรือหลายคณะประกอบด้วย อธิบดีอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายเป็นประธาน อนุกรรมการ ผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมบังคับคดี ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนสามคนซึ่งประธานอนุกรรมการแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินจากภาครัฐหรือภาคเอกชนเป็นอนุกรรมการ
               ให้ผู้อํานวยการสํานักตรวจสอบทรัพย์สินคดียาเสพติดหรือผู้อํานวยการสํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค สํานักงาน ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และประธานอนุกรรมการจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
               ให้นําความในมาตรา ๖๕ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๗  ให้นําความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วยโดยอนุโลม

หมวด ๒ มาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา ๖๘ - ๘๓)

 

หมวด ๒
มาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๖๘  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้น
               ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วน เลขาธิการ ป.ป.ส. อาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปก่อน แล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบก็ได้
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๖๙  เพื่อประโยชน์ในการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๘ เมื่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้รับรายงานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. ทําความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
               หากเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาไม่เกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต หรือเป็นทรัพย์สินที่บุคคลทั่วไปสามารถมีได้ตามฐานานุรูป หรือตามความจําเป็นในการดํารงชีพ ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. รายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบด้วย

               มาตรา ๗๐  ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหา หากมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดของผู้อื่นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหา โดยได้รับทรัพย์สินนั้นมาโดยเสน่หาหรือรู้อยู่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอํานาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้นด้วย และในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วน ให้นําความในมาตรา ๖๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๗๑  คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี อาจมอบหมายให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแทนแล้วรายงานให้ทราบก็ได้ ในการดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินให้แจ้งผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแล้วพบว่าการดําเนินการตรวจสอบต่อไปจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมกับความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเห็นด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจสั่งให้ยุติการตรวจสอบทรัพย์สินนั้นก็ได้ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้ยุติการตรวจสอบทรัพย์สิน หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเห็นสมควรจะสั่งให้คืนทรัพย์สินที่มีการยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวในระหว่างการตรวจสอบให้แก่เจ้าของทรัพย์สินก็ได้
               การตรวจสอบทรัพย์สินและการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               การยุติการตรวจสอบทรัพย์สินและการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๗๒  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นทรัพย์สินที่สามารถดําเนินการตามกฎหมายอื่นได้และการดําเนินการตามกฎหมายอื่นจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจมีคําสั่งให้ส่งทรัพย์สินนั้นไปดำเนินการตามกฎหมายอื่นก็ได้

               มาตรา ๗๓  ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าศาลจะยกคําร้องขอให้ริบทรัพย์สิน
               เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน หรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจําเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่นคําร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ และในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วน ให้นําความในมาตรา ๖๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจัดให้มีการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว และในกรณีที่ผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สามารถพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งได้ ก็ให้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้นั้น แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้ถือว่าการยึดหรืออายัดตามวรรคสองเป็นการยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง
               การยื่นคําร้องขอผ่อนผันตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ คําว่า “ทรัพย์สิน” ให้หมายความรวมถึง
               (๑) ทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพไป สิทธิเรียกร้อง ผลประโยชน์ และดอกผลจากทรัพย์สิน
ดังกล่าว
               (๒) หนี้ที่บุคคลภายนอกถึงกําหนดชําระแก่ผู้ต้องหา
               (๓) ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาที่ได้ขาย จําหน่าย โอน หรือยักย้ายไปเสียในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคําสั่งยึดหรืออายัด และภายหลังนั้น เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ว่าการโอนหรือการกระทํานั้นได้กระทําไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

               มาตรา ๗๔  เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี ได้มีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายดําเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและประเมินราคาทรัพย์สินนั้นโดยเร็วแล้วรายงานให้ทราบ
               การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๗๕  การเก็บรักษาทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี ได้มีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนําไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการ ป.ป.ส. อาจสั่งให้นําทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบก็ได้
               การนําทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือการนําทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
               ถ้าความปรากฏในภายหลังว่าทรัพย์สินที่นําไปใช้ตามวรรคสองมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจํานวนที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนด โดยใช้จากเงินกองทุนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี
               การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๗๖  เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน หรือยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามหมวดนี้ ให้กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน อนุกรรมการ เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมาย มีอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจมาเพื่อให้ถ้อยคํา ส่งคําชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
               (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคํา ส่งคําชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลจากธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินด้วย
               (๓) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีทรัพย์สินตามมาตรา ๗๓ ซุกซ่อนอยู่ เพื่อทําการตรวจค้น หรือเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สินในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากไม่ดําเนินการดังกล่าวในทันทีทรัพย์สินนั้นจะถูกยักย้ายก็ให้มีอํานาจเข้าไปในเวลากลางคืน
               ในกรณีตาม (๓) ประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ประธานอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. จะมอบหมายให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ปฏิบัติการแทน แล้วรายงานให้ทราบก็ได้
               ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคสองต้องแสดงเอกสารมอบหมายต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องทุกครั้ง

               มาตรา ๗๗  เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคําร้องไปพร้อมกับคําฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด
               ในกรณีที่พบว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นอีก ให้ยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด
               ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินคดีได้เพราะไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจําเลยได้หรือเพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดถึงแก่ความตาย หรือพนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคําวินิจฉัย หรือในกรณีที่มีการยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ศาลพิจารณาคําร้องนั้นต่อไปได้ตามมาตรา ๘๒

               มาตรา ๗๘  เมื่อศาลสั่งรับคําร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๗๗ แล้ว ให้ศาลสั่งให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีหนังสือแจ้งผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคําร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด โดยแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานในสํานวนการสอบสวน กรณีที่ไม่อาจแจ้งตามวิธีการดังกล่าวได้ ให้วางหรือปิดหนังสือนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่ายตามที่อยู่ดังกล่าวต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ โดยให้ถือว่าผู้นั้นได้รับทราบหรือได้รับแจ้งแล้ว
               ค่าใช้จ่ายในการแจ้ง ให้จ่ายจากเงินของกองทุน

               มาตรา ๗๙  ให้ศาลไต่สวนคําร้องที่พนักงานอัยการได้ยื่นต่อศาลตามมาตรา ๗๗ หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคําร้องขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
               (๑) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือ
               (๒) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่าทรัพย์สินรายการใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลมีคําสั่งว่าทรัพย์สินรายการนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นได้ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๘๐  ในกรณีที่ผู้ขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ไม่ทราบว่าพนักงานอัยการได้มีคําร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สิน จนศาลได้มีคําสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นแล้ว ผู้ขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวอาจยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินต่อศาลได้ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งให้ริบทรัพย์สิน

               มาตรา ๘๑  ทรัพย์สินที่ศาลมีคําสั่งให้ริบตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกองทุน

               มาตรา ๘๒  ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาหรือศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องจําเลยรายใด ให้ศาลไต่สวนคําร้องของพนักงานอัยการที่ขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่ได้ยื่นไว้ตามมาตรา ๗๗ นั้นต่อไปได้ หากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินในคดีนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               ทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทําความผิดของผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่มีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ตกเป็นของกองทุน
               การขอรับทรัพย์สินคืนและการคืนทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๘๓  ในกรณีที่ต้องคืนทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากเงินให้แก่เจ้าของแต่ไม่อาจคืนได้ให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทนจากกองทุนตามราคาที่ประเมินได้ในวันยึดหรืออายัดทรัพย์สิน

หมวด ๓ มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินตามมูลค่า (มาตรา ๘๔ - ๘๖)

 

หมวด ๓
มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินตามมูลค่า

-------------------------

               มาตรา ๘๔  ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบแล้ววินิจฉัยว่าผู้ถูกตรวจสอบได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคํานวณมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวเป็นจํานวนเงินที่แน่นอน พร้อมส่งสํานวนการตรวจสอบทรัพย์สิน เอกสาร และพยานหลักฐานไปยังพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
               การขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินและการไต่สวนคําร้องของพนักงานอัยการ ให้นําความในมาตรา ๒๗ มาตรา ๗๙ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๘๕  กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลสั่งริบนั้นไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบหาทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมูลค่าดังกล่าวได้ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบนั้น
               ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีกับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา และให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมายจากสํานักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่สืบหาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบ เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคําสั่งศาลโดยคําแนะนําของพนักงานอัยการ
               การขอคืนมูลค่าของทรัพย์สิน ให้นําความในมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๘๖  ทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับคดีตามมาตรา ๘๕ ให้ตกเป็นของกองทุน

หมวด ๔ กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (มาตรา ๘๗ - ๘๙)

 

หมวด ๔
กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๘๗  ให้จัดตั้งกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นในสํานักงาน ป.ป.ส. มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีหน้าที่ และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด และติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย ทดสอบ ทดลอง ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
               (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทําหน้าที่ให้คําปรึกษา แนะนํา ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
               (๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการให้บริการหรือจัดกิจกรรมอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด ผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟู และผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้
               (๕) ส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ทั้งในประเทศและระดับต่างประเทศ
               (๖) เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
               (๗) กิจการอื่นที่จําเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามประมวลกฎหมายนี้
               บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเงินในลักษณะเดียวกันจากกองทุนหมุนเวียนอื่นแล้ว ไม่มีสิทธิขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้

               มาตรา ๘๘  กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
               (๑) เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
               (๒) ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๑๘๖
               (๓) เงินและทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค
               (๔) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับจากรัฐบาล
               (๕) ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)
               เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

               มาตรา ๘๙  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการดําเนินการของกองทุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้
               (๑) การแต่งตั้ง การพ้นจากตําแหน่ง และหน้าที่และอํานาจของคณะอนุกรรมการและการบริหารจัดการกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน
               (๒) การจัดหาผลประโยชน์ การจัดการ และการจําหน่ายทรัพย์สินของกองทุน
               (๓) การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
               (๔) ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจําเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงาน เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดําเนินงานตามประมวลกฎหมายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นให้จ่ายจากกองทุน
               (๕) การบริหารและการดําเนินการอื่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
               การวางระเบียบตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย

ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๙๐ - ๙๖)

 

ลักษณะ ๕
ความผิดเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย
มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์

-------------------------

               มาตรา ๙๐  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ (๓)

               มาตรา ๙๑  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๔ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ (๑) หรือ (๓)

               มาตรา ๙๒  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕ (๒)

               มาตรา ๙๓  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๔) หรือวรรคสอง

               มาตรา ๙๔  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕ (๕)

               มาตรา ๙๕  ห้ามผู้รับอนุญาตผู้ใดดําเนินการผลิตหรือจําหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจําควบคุมกิจการ

               มาตรา ๙๖  ห้ามผู้ใดจําหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปหรือจําหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยารวมกันหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ทางการค้า

ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับสารระเหย (มาตรา ๙๗ - ๑๐๐)

 

ลักษณะ ๖
ความผิดเกี่ยวกับสารระเหย

-------------------------

               มาตรา ๙๐  ห้ามผู้ใดผลิตหรือนําเข้าสารระเหย โดยก่อนนําออกจําหน่าย ไม่จัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหยเพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารระเหยดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๙๘  ห้ามผู้ใดจําหน่ายสารระเหยโดยไม่มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตามมาตรา ๙๗ อยู่ครบถ้วน

               มาตรา ๙๙  ห้ามผู้ใดจําหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่เป็นการจําหน่ายหรือจัดหาโดยสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน

               มาตรา ๑๐๐  ห้ามผู้ใดจําหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย

ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตำรับ (มาตรา ๑๐๑ - ๑๐๓)

 

ลักษณะ ๗
ความผิดเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตำรับ

-------------------------

               มาตรา ๑๐๑  ห้ามผู้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับตามมาตรา ๔๙ ผลิตหรือนําเข้าตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไม่ตรงตามรายการที่ได้ขึ้นทะเบียนตํารับไว้

               มาตรา ๑๐๒  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๔๙ แต่มิได้ขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์

               มาตรา ๑๐๓  ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๕๑

ลักษณะ ๘ ความผิดเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดและการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพ (มาตรา ๑๐๔ - ๑๐๗)

 

ลักษณะ ๘
ความผิดเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด
และการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพ

-------------------------

               มาตรา ๑๐๔  ห้ามผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เว้นแต่การเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ เพื่อการรักษาโรคตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือการเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดตามมาตรา ๕๘ เพื่อการรักษาโรคตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย

               มาตรา ๑๐๕  ห้ามผู้ใดเสพสารระเหย

               มาตรา ๑๐๖  ห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ หรือสารระเหย
               ผู้ประกอบวิชาชีพดังต่อไปนี้ อาจจูงใจหรือชักนําให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อการรักษาพยาบาลได้
               (๑) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม สําหรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ หรือสําหรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดตามมาตรา ๕๘
               (๒) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สําหรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดตามมาตรา ๕๘

               มาตรา ๑๐๗  ห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เพื่อเสพ
               การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

ภาค ๒ การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๐๘ - ๑๒๓)

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑๐๘)

 

ลักษณะ ๑
บทบัญญัติทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๑๐๘  ในภาคนี้
               “ติดยาเสพติด” หมายความว่า เสพเป็นประจําติดต่อกันและตกอยู่ในสภาพที่จําเป็นต้องพึ่งยาเสพติดนั้น โดยสามารถตรวจพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลักวิชาการ
               “การบําบัดรักษา” หมายความว่า การบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งรวมตลอดถึงการคัดกรอง การประเมินความรุนแรง การบําบัดด้วยยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การลดอันตรายจากยาเสพติด และการติดตามหลังการบำบัดรักษา
               “การฟื้นฟูสมรรถภาพ” หมายความว่า การกระทําใด ๆ อันเป็นการบําบัดพฤติกรรมการเสพยาเสพติด และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติดให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
               “การฟื้นฟูสภาพทางสังคม” หมายความว่า การกระทําใด ๆ อันเป็นการสงเคราะห์ สนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือจนสามารถกลับมาดํารงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
               “สถานพยาบาลยาเสพติด” หมายความว่า โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดให้เป็นสถานที่ทําการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
               “สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด” หมายความว่า สถานพยาบาล สถานฟื้นฟู หรือสถานที่อื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดให้เป็นสถานที่ทําการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               “ศูนย์คัดกรอง” หมายความว่า สถานที่คัดกรองการใช้ยาเสพติด
               “ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม” หมายความว่า สถานที่ทําการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               “ผู้อนุญาต” หมายความว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ลักษณะ ๒ คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๐๙ - ๑๑๒)

 

ลักษณะ ๒
คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๐๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด” ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เลขาธิการ ป.ป.ส. เลขาธิการ อย. ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจํานวนสามคน ในจํานวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างน้อยหนึ่งคน
               ให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
               เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอาจมีมติให้เชิญปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งสําหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

               มาตรา ๑๑๐  ให้สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทําหน้าที่เป็นสํานักงานเลขานุการของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษา และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

               มาตรา ๑๑๑  ให้คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คําแนะนํารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามภาคนี้
               (๒) กําหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               (๓) กําหนดแนวทางและการดำเนินการด้านการพัฒนางานวิชาการ มาตรฐาน และคุณภาพ การบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               (๔) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งและการรับรองคุณภาพศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม
               (๕) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดกรอง การบําบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และการประเมินผลการบําบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๖) กําหนดระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมการบําบัดรักษาและระเบียบวินัยสําหรับศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๗) ให้ความเห็นชอบในการกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๘) กํากับ ติดตาม ดูแล ให้คําปรึกษา และแนะนําหน่วยงานในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๙) วางแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จําเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษาซึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวและสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้
               (๑๐) วางแนวทางการดําเนินการของหน่วยงานในการช่วยเหลือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และการให้การสงเคราะห์อื่น ๆ ที่จําเป็นต่อการดํารงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
               (๑๑) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจ้างงานหรือการประกอบอาชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๑๒) กําหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๑๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มอบหมาย
               (๑๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

               มาตรา ๑๑๒  ให้นําความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม

ลักษณะ ๓ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๑๓ - ๑๑๗)

 

ลักษณะ ๓
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๑๓  ผู้ใดยกเหตุว่าตนได้เสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ และได้สมัครใจขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลยาเสพติดก่อนที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะตรวจพบ อีกทั้งได้ปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบําบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว

               มาตรา ๑๑๔  ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตรวจพบผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หรือมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคมที่เกิดจากโรคทางจิตและประสาท หรืออาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยาเสพติดที่ใช้ และสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจส่งตัวผู้นั้นไปสถานพยาบาลยาเสพติดหรือศูนย์คัดกรองต่อไป
               เมื่อผู้สมัครใจเข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่งเข้ารับการบําบัดรักษาและปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว
               หากผู้เข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่งหลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบําบัดรักษาจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจัดทําประวัติ ข้อมูล และพฤติการณ์ของผู้หลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบําบัดรักษาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้เข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๑๕  เพื่อประโยชน์ในการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจหรือค้นผู้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าเสพยาเสพติด
               (๒) ยึดยาเสพติดจากผู้ครอบครองยาเสพติด
               (๓) ตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกายของบุคคลเมื่อมีเหตุจําเป็นประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ
               (๔) สอบถามและตรวจสอบ เพื่อทราบชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ประวัติ รายได้ และพฤติการณ์อื่นของบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               (๕) สอบถามความสมัครใจและให้ลงนามสมัครใจหรือไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา
               (๖) เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) และเพื่อส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานพยาบาลยาเสพติด จะให้บุคคลนั้นอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้แต่ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย
               (๗) บันทึกพฤติการณ์แห่งการดําเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) และส่งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่จะดําเนินคดีกับบุคคลนั้น
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตําแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๑๑๖  ให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดสถานที่ที่เป็นศูนย์คัดกรอง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ให้ศูนย์คัดกรองมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
               (๒) คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต
               (๓) พิจารณาส่งต่อผู้เข้ารับการบําบัดรักษาไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๔) จัดทําข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองและข้อมูลอื่นของผู้รับการคัดกรอง

               มาตรา ๑๑๗  ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจดําเนินการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ ประเมินผล ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง จัดทําและเก็บข้อมูลประวัติของผู้เข้ารับการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งดําเนินการลดอันตรายจากยาเสพติด แล้วแต่กรณี

ลักษณะ ๔ การฟื้นฟูสภาพทางสังคม (มาตรา ๑๑๘ - ๑๒๐)

 

ลักษณะ ๔
การฟื้นฟูสภาพทางสังคม

-------------------------

               มาตรา ๑๑๘  ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมติดตาม ดูแล ให้คําปรึกษา แนะนํา ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบําบัดรักษาตามมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๖๙ เพื่อให้ผู้เข้ารับการบําบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยได้รับบริการด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จําเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับมากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
               ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสํานักงาน ป.ป.ส. สนับสนุนและช่วยเหลือการดําเนินการของหน่วยงานตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา การติดตามดูแลปัญหาด้านสุขภาพ และการให้การสงเคราะห์อื่น ๆ
               การฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวงโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

               มาตรา ๑๑๙  ในการฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามมาตรา ๑๑๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข หรือกรุงเทพมหานคร อาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือมอบหมายอาสาสมัครในพื้นที่ หรืออาจทําความตกลงเพื่อมอบหมายหรือส่งต่อให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน หรือองค์กรอื่น ที่ให้ความร่วมมือก็ได้

               มาตรา ๑๒๐  ให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คําแนะนํา ปรึกษา และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๒) ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม รวมทั้งการสนับสนุนผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษาให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
               (๓) ช่วยเหลือเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และให้การสงเคราะห์อื่น ๆ ที่จําเป็นต่อการดํารงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างหรือสถานประกอบการรับผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาเข้าทํางาน
               (๕) ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบําบัดรักษาและติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา

ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๒๑ - ๑๒๓)

 

ลักษณะ ๕
ความผิดเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๒๑  ห้ามผู้ใดทําการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเป็นปกติธุระโดยใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายนี้ หรือกระทําการบําบัดรักษายาเสพติดไม่ว่าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งมิได้กระทําในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามที่กําหนดในประมวลกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การให้ความรู้ ให้คําปรึกษา หรือให้คําแนะนําแก่ผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน

               มาตรา ๑๒๒  ห้ามผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับการบําบัดรักษายาเสพติดหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําการดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน หรือชื่อหรือที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน หรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
               การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และเงื่อนไขในการโฆษณาตามใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่สถานพยาบาลของรัฐ

               มาตรา ๑๒๓  ในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ หรือมีการใช้ข้อความโฆษณาไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต ให้ผู้อนุญาตมีอํานาจออกคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในโฆษณา
               (๒) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
               (๓) ห้ามการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการใดในการโฆษณา
               (๔) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น
               ในการออกคําสั่งตาม (๔) ให้ผู้อนุญาตกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโฆษณาโดยคํานึงถึงประโยชน์ของประชาชนกับความสุจริตใจในการกระทําของผู้ทําการโฆษณา

ภาค ๓ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๒๔ - ๑๘๖)

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑๒๔ - ๑๓๔)

 

ลักษณะ ๑
บทบัญญัติทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๑๒๔  ผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทํานอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า
               (๑) ผู้กระทําความผิดหรือผู้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
               (๒) ผู้กระทําความผิดเป็นคนต่างด้าวและได้กระทําโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
               (๓) ผู้กระทําความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทํานั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทําเกิดขึ้นในเขตอํานาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักร และมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
               ทั้งนี้ ให้นําความในมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๒๕  ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
               (๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทําความผิดก่อนหรือขณะกระทําความผิด
               (๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทําความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทําความผิดถูกลงโทษ
               (๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พํานัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทําความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทําความผิดพ้นจากการถูกจับกุม
               (๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทําความผิดเพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทําความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทําความผิดถูกลงโทษ
               (๕) ปกปิด ซ่อนเร้น หรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทําความผิด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทําความผิด
               (๖) ชี้แนะหรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิด
               ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พํานักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

               มาตรา ๑๒๖  ผู้ใดพยายามกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดสําเร็จ

               มาตรา ๑๒๗  ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
               ถ้าได้มีการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น
               ในกรณีที่การกระทําตามวรรคหนึ่งมีลักษณะเป็นการกระทําขององค์กรอาชญากรรม ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คําว่า “องค์กรอาชญากรรม” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทําการใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น

               มาตรา ๑๒๘  ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นกระทําความผิดฐานผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๒๙  ผู้ใดยอมให้ผู้อื่นใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐานของตน ในการเปิด จด หรือลงทะเบียนทําธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าหรือบริการอื่นใด ยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้สิ่งเช่นว่านั้น ซึ่งตนได้เปิด จด หรือลงทะเบียนไว้แล้ว โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดรู้หรืออาจรู้ความลับในทางราชการเกี่ยวกับการดําเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ กระทําด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๑  ห้ามผู้ใดเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ซึ่งถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาโดยคำสั่งอนุญาตของศาลอาญาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล
               ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําโดยกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้กระทําต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่ก้าหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๓๒  ผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดโดยแต่งเครื่องแบบหรือโดยแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงาน ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานอื่นของรัฐ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้นอีกกึ่งหนึ่ง

               มาตรา ๑๓๓  ในกรณีที่ผู้กระทําผิดภาคนี้เป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น
               ถ้าการกระทําผิดของนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง เกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทําการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทําการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๓๔  บรรดายาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ หรือประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

ลักษณะ ๒ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการอนุญาตสำหรับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๑๓๕ - ๑๔๑)

 

ลักษณะ ๒
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการอนุญาต
สำหรับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์

-------------------------

               มาตรา ๑๓๕  ผู้ควบคุมยานพาหนะผู้ใดไม่จัดให้มีการป้องกันตามสมควร เพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สูญหายหรือมีการนําเอาไปใช้โดยมิชอบตามมาตรา ๓๓ (๒) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

               มาตรา ๑๓๖  ผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๖ ผู้ใดนําเข้าหรือส่งออกในแต่ละครั้งซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวในแต่ละครั้งที่นําเข้าหรือส่งออก ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกินห้าพันบาท

               มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําของเจ้าของสื่อโฆษณาหรือผู้ประกอบกิจการโฆษณา ผู้กระทําต้องระวางโทษเช่นเดียวกันกับผู้โฆษณา
               ผู้กระทําความผิดซึ่งต้องรับโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดเปลี่ยนแปลงจุดหมายในการส่งวัตถุออกฤทธิ์อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง หรือไม่ส่งวัตถุออกฤทธิ์กลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกตามมาตรา ๔๑ วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ อย. แปรรูปหรือแปรสภาพวัตถุออกฤทธิ์ให้เป็นอย่างอื่น หรือเปลี่ยนหีบห่อที่บรรจุวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๐  ผู้ใดส่งวัตถุออกฤทธิ์ที่ได้รับอนุญาตนําเข้าไปยังบุคคลอื่นหรือสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากที่ระบุในใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อนําเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๑  ผู้ใดส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังประเทศที่ระบุห้ามนําเข้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากประเทศนั้นและใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากเลขาธิการ อย. อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๔๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ลักษณะ ๓ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ (มาตรา ๑๔๒ - ๑๔๔)

 

ลักษณะ ๓
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
และวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ

-------------------------

               มาตรา ๑๔๒  ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               ผู้ใดจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท

               มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ผิดมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ผู้ใดจําหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือ ประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ เสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ผู้ใดจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ เสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ลักษณะ ๔ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๑๔๕ - ๑๕๓)

 

ลักษณะ ๔
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย
มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์

-------------------------

               มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๐ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองเป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
               (๑) การกระทําโดยหัวหน้า ผู้มีหน้าที่สั่งการ หรือผู้มีหน้าที่จัดการในเครือข่ายอาชญากรรม
               (๒) การทําให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป

               มาตรา ๑๔๖  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๔ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเฉพาะยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

               มาตรา ๑๔๗  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท

               มาตรา ๑๔๘  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ

               มาตรา ๑๔๙  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษตามที่กําหนดไว้ ดังต่อไปนี้
               (๑) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท
               (๒) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท
               (๓) วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเฉพาะวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เป็นการกระทําดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               (๑) การกระทําเพื่อการค้า
               (๒) การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน
               (๓) การจําหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี
               (๔) การจําหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ
               (๕) การกระทําโดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย
               (๖) การกระทําโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ
               ผู้ใดนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท

               มาตรา ๑๕๐  ผู้รับอนุญาตผู้ใดดําเนินการผลิตหรือจําหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจําควบคุมกิจการ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๕๑  ผู้ใดจําหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปหรือจําหน่ายวัตถุออกฤทธิ์และยารวมกันหลายขนาน โดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๒  ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายนี้ที่มีโทษจําคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจําคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคํานึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               ถ้าศาลเห็นว่าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งของผู้ใดเมื่อได้พิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทําความผิด ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทําความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย ศาลจะลงโทษจําคุกหรือปรับน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นก็ได้

               มาตรา ๑๕๓  ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทําความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สําคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจซึ่งเป็นผู้จับกุม หรือพนักงานสอบสวนในคดีนั้น เมื่อพนักงานอัยการระบุในคําฟ้องหรือยื่นคําร้องต่อศาล ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นก็ได้
               กรณีที่ผู้กระทําความผิดได้เคยให้ข้อมูลที่สําคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามวรรคหนึ่ง ถ้าพนักงานอัยการไม่ระบุในคําฟ้องหรือยื่นคําร้องต่อศาล ผู้กระทําความผิดนั้นอาจยื่นคําร้องต่อศาลตามมาตรานี้ได้

ลักษณะ ๕ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับสารระเหย (มาตรา ๑๕๔ - ๑๕๗)

 

ลักษณะ ๕
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับสารระเหย

-------------------------

               มาตรา ๑๕๔  ผู้ใดผลิตหรือนําเข้าสารระเหย โดยก่อนนําออกจําหน่ายไม่จัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๗ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๕  ผู้ใดจําหน่ายสารระเหยโดยไม่มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความ ที่ผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตามมาตรา ๙๗ อยู่ครบถ้วน อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๖  ผู้ใดจําหน่ายสารระเหยแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๙๙ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดจําหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๐ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการจําหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ลักษณะ ๖ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตำรับ (มาตรา ๑๕๘ - ๑๖๑)

 

ลักษณะ ๖
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนตำรับ

-------------------------

               มาตรา ๑๕๘  ผู้ใดแก้ไขรายการทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไม่เป็นไปตามที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวงตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

               มาตรา ๑๕๙  ผู้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับตามมาตรา ๔๙ ผู้ใดผลิตหรือนําเข้าตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไม่ตรงตามรายการที่ได้ขึ้นทะเบียนตํารับไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

               มาตรา ๑๖๐  ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๔๙ แต่มิได้ขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๑  ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๕๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท
               ผู้ใดจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๕๑ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท

ลักษณะ ๗ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดและการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพ (มาตรา ๑๖๒ - ๑๗๐)

 

ลักษณะ ๗
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด
และการมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพ

-------------------------

               มาตรา ๑๖๒  ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ และมิใช่กรณีตามมาตรา ๑๑๓ หรือมาตรา ๑๑๔ อ้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๓  ผู้ใดเสพสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๕ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๔  ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เพื่อเสพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๗ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๕  ในการพิจารณาและพิพากษาคดีตามลักษณะนี้ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์ให้จําเลยเลิกเสพยาเสพติดโดยการบำบัดรักษายิ่งกว่าการลงโทษ หากจะลงโทษจําเลยก็ให้พิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับจําเลยแต่ละคน แม้จําเลยจะได้กระทําผิดร่วมกัน โดยคำนึงถึงความร้ายแรงตามลักษณะของความผิดที่แตกต่างกันในแต่ละคดี ผลร้ายแรงตามประเภทและปริมาณของยาเสพติดที่เกี่ยวพันกับผู้กระทําความผิด และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับผู้กระทําความผิด เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ นิสัย สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว การเสพเพื่อรักษาโรคบรรเทาความเจ็บปวด ความจําเป็นต้องเสพด้วยเหตุอื่น สภาพร่างกาย และสภาพจิตใจ สิ่งแวดล้อม การถูกบังคับขู่เข็ญหลอกลวงให้เสพยาเสพติด หรือตกเป็นเครื่องมือของผู้ค้ายาเสพติด หรือเหตุอันควรปรานีอื่นใด
               นอกจากนั้นการลงโทษควรได้คํานึงถึงชนิดของยาเสพติดที่เสพหรือครอบครองเพื่อเสพ จํานวนยาเสพติดที่เสพหรือครอบครองเพื่อเสพ การเสพยาเสพติดเป็นครั้งคราวหรือประจํา หรือเสพยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานบางอย่าง
               ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้พนักงานคุมประพฤติแสวงหาข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบส่งคําสั่งศาลและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังสํานักงานคุมประพฤติภายในสามวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง เว้นแต่ศาลมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
               เมื่อสํานักงานคุมประพฤติได้รับคําสั่งตามวรรคสาม ให้พนักงานคุมประพฤติดําเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง แล้วทํารายงานและความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สํานักงานคุมประพฤติได้รับหนังสือ ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นพนักงานคุมประพฤติอาจร้องขอต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสิบห้าวัน

               มาตรา ๑๖๖  ในการพิจารณาพิพากษาผู้กระทําความผิดตามลักษณะนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ให้ศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวมีอํานาจเปลี่ยนโทษจําคุกเป็นการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา หรือนําเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อตามมาตรา ๕๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้แทนการลงโทษ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าสองปี
               หากเหตุที่ให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้

               มาตรา ๑๖๗  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคําแถลงของพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่าผู้กระทําความผิดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ศาลกําหนดตามมาตรา ๑๖๖ ศาลอาจตักเตือนผู้กระทําความผิด หรือกําหนดวิธีการตามมาตรา ๑๖๖ วรรคหนึ่ง เสียใหม่ หรือพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมต่อไป

               มาตรา ๑๖๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๔ เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลว่าบุคคลใดกระทําความผิดตามลักษณะนี้ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ในกรณีที่ศาลเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจําเลย หากจําเลยสํานึกในการกระทําโดยตกลงเข้ารับการบำบัดรักษา เมื่อศาลสอบถามพนักงานอัยการแล้ว หากศาลเห็นสมควร ให้ส่งตัวจำเลยไปสถานพยาบาลยาเสพติดเพื่อเข้ารับการบําบัดรักษาต่อไป

               มาตรา ๑๖๙  เมื่อจําเลยเข้ารับการบําบัดรักษาและปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนด จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบําบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ศาลสั่งยุติคดี เว้นแต่จะต้องมีคําสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ผู้นั้นพ้นจากความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖๘
               ถ้าจําเลยไมให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนด ก็ให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาต่อไป

               มาตรา ๑๗๐  คําสั่งศาลตามมาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๘ และมาตรา ๑๖๙ ให้เป็นที่สุด
               การพิจารณาและมีคําสั่งของศาลตามมาตรา ๑๖๖ มาตรา ๑๖๘ และมาตรา ๑๖๙ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ลักษณะ ๘ บทกำหนดโทษสำหรับการจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง หรือใช้กำลังบังคับให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด (มาตรา ๑๗๑ - ๑๗๓)

 

ลักษณะ ๘
บทกำหนดโทษสำหรับการจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม
ใช้อุบายหลอกลวง หรือใช้กำลังบังคับให้ผู้อื่นเสพยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๗๑  ผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หรือเป็นการกระทําเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทําความผิดทางอาญา หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทําความผิดทางอาญา ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าล้านบาท

               มาตรา ๑๗๒  ผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทําโดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หรือเป็นการกระทําเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทําความผิดทางอาญาหรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทําความผิดทางอาญา ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สามปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าล้านบาท

               มาตรา ๑๗๓  ผู้ใดจูงใจ ชักนํา ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังบังคับ ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพสารระเหย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๖ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
               ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทําต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หรือเป็นการกระทําเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทําความผิดทางอาญาหรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทําความผิดทางอาญา ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ลักษณะ ๙ บทกำหนดโทษสำหรับความผิดต่อเลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๑๗๔ - ๑๗๗)

 

ลักษณะ ๙
บทกำหนดโทษสำหรับความผิดต่อเลขาธิการ ป.ป.ส.
รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานเจ้าหน้าที่

-------------------------

               มาตรา ๑๗๔  เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามมาตรา ๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๗๕  ผู้รับอนุญาตหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคําหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใดแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

               มาตรา ๑๗๖  ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคําหรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือวัตถุใด ๆ หรือไม่ยอมให้มีการตรวจหรือทดสอบว่าผู้ใดมียาเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการสืบสวน สอบสวน หรือตรวจสอบทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๗  ผู้ใดยักย้าย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ หรือรับไว้โดยมิชอบด้วยประการใดซึ่งทรัพย์สินที่มีคําสั่งยึดหรืออายัดหรือที่ตนรู้ว่าจะถูกยึดหรืออายัดตามมาตรา ๗๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ลักษณะ ๑๐ บทกำหนดโทษสำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (มาตรา ๑๗๘ - ๑๘๐)

 

ลักษณะ ๑๐
บทกำหนดโทษสำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

-------------------------

               มาตรา ๑๗๘  กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกของคณะทํางานตามประมวลกฎหมายนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายนี้ ผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเสียเอง ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๗๙  กรรมการ อนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายนี้ หรือเจ้าพนักงานหรือข้าราชการผู้ใดกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

               มาตรา ๑๘๐  ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าพนักงาน หรือกรรมการองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญผู้ใดกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

ลักษณะ ๑๑ บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๘๑ - ๑๘๔)

 

ลักษณะ ๑๑
บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๘๑  ผู้ใดทําการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเป็นปกติธุระ โดยมิได้กระทําในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามที่กําหนดในประมวลกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๒  ผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับการบําบัดรักษายาเสพติดหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําการดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน หรือชื่อหรือที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน หรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการโฆษณาที่กําหนดในกฎกระทรวง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๓  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้อนุญาตตามมาตรา ๑๒๓ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๔  ถ้าการกระทําตามมาตรา ๑๘๒ หรือมาตรา ๑๘๓ เป็นการกระทําของเจ้าของสื่อโฆษณาหรือผู้ประกอบกิจการโฆษณา ผู้กระทําต้องระวางโทษเพียงกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น

ลักษณะ ๑๒ การบังคับโทษปรับ (มาตรา ๑๘๕ - ๑๘๖)

 

ลักษณะ ๑๒
การบังคับโทษปรับ

-------------------------

               มาตรา ๑๘๕  บรรดาความผิดตามภาคนี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. มอบหมาย หรือเลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย. มอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ถ้าผู้ต้องหาได้ชําระเงินค่าปรับตามคําเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กําหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๘๖  ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้เงินที่ได้จากค่าปรับตามคําพิพากษาตกเป็นของกองทุน ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่นําส่งคลังโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
               หากจําเลยไม่ชำระค่าปรับตามวรรคหนึ่งและมีการดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. อํานวยความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการบังคับคดีด้วย

อัตราค่าธรรมเนียม

 

อัตราค่าธรรมเนียม

-------------------------

               (๑) ใบอนุญาตผลิตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๕๐,๐๐๐  บาท

               (๒) ใบอนุญาตผลิตเพื่อส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒  ฉบับละ  ๑๐,๐๐๐  บาท

               (๓) ใบอนุญาตนําเข้ายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๑๐๐,๐๐๐  บาท

               (๔) ใบอนุญาตส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๑๐,๐๐๐  บาท

               (๕) ใบอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกเฉพาะคราวยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๒๐,๐๐๐  บาท

               (๖) ใบอนุญาตจําหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๕,๐๐๐  บาท

               (๗) ใบอนุญาตจําหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์โดยการขายส่ง  ฉบับละ  ๑๐,๐๐๐  บาท

               (๘) ใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๕,๐๐๐  บาท

               (๙) ใบอนุญาตจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ เกินปริมาณที่รัฐมนตรีกําหนด  ฉบับละ  ๑,๐๐๐  บาท

               (๑๐) ใบอนุญาตนําผ่านวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๒,๐๐๐  บาท

               (๑๑) ใบอนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๑๐,๐๐๐  บาท

               (๑๒) ใบอนุญาตผลิตหรือนําเข้าตัวอย่างตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๕,๐๐๐  บาท

               (๑๓) ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๑๐,๐๐๐  บาท

               (๑๔) การอนุญาตให้แก้ไขรายการทะเบียน  ฉบับละ  ๒,๐๐๐  บาท

               (๑๕) ใบแทนใบอนุญาตหรือใบแทนใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์  ฉบับละ  ๒,๐๐๐  บาท

               (๑๖) การต่ออายุใบอนุญาตหรือการต่ออายุใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์  เท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบสำคัญนั้น

               (๑๗) ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  รายละ  ๑๐๐,๐๐๐  บาท

               (๑๘) ค่าคำขออนุญาตหรือคำขออื่น ๆ  คำขอละ  ๗,๐๐๐  บาท

               (๑๙) ค่าประเมินเอกสารทางวิชาการ  คำขอละ  ๕๐๐,๐๐๐  บาท

               (๒๐) ค่าตรวจสถานประกอบการ  ครั้งละ  ๕๐,๐๐๐  บาท

               (๒๑) ค่าดําเนินการอื่น ๆ นอกเหนือจาก (๑) - (๒๐)  คําขอละ  ๔,๐๐๐  บาท

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๖๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด รวมถึงการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้กระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับและการดําเนินการตามกฎหมายแต่ละฉบับเป็นหน้าที่และอํานาจของหลายองค์กร ทําให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความสอดคล้องกัน อีกทั้งบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรรวบรวมกฎหมายดังกล่าวจัดทําเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติดเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและใช้กฎหมายที่จะรวมอยู่ในฉบับเดียวกันอย่างเป็นระบบ พร้อมกันนี้ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ จําเป็นต้องกําหนดให้มีระบบอนุญาตเพื่อให้การควบคุมและการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ไม่ถูกต้อง อันจะนําไปสู่การเสพติดยาเสพติด ซึ่งเป็นการบั่นทอนสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่กระจายยาเสพติดเข้าสู่กลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งกําหนดให้มีระบบคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคลากรซึ่งมีความหลากหลายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณากําหนดนโยบายในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด และรวมถึงการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๗๓ ก/หน้า ๑/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

 

พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๕๐

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  บทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง หรือกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๔  ห้ามมิให้นําบทบัญญัติในหมวด ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น และหมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัว ตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

               มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
               "พนักงานอัยการ" หมายความรวมถึงอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               "ยาเสพติด" หมายความว่า ยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค
               "
คณะกรรมการ ป.ป.ส." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "กรรมการ ป.ป.ส." หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "เจ้าพนักงาน ป.ป.ส."๑๐ หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

               มาตรา ๖๑๑  ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอํานาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอํานาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของตน
               กฎกระทรวงหรือระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๕/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
               มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "ยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "คณะกรรมการ ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "กรรมการ ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               ๑๐ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               ๑๑ มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๑ การสืบสวน (มาตรา ๗ - ๑๐)

 

หมวด ๑
การสืบสวน

-------------------------

               มาตรา ๗  ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจปฏิบัติการอำพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
               การอำพราง หมายความว่า การดำเนินการทั้งหลายเพื่อปิดบังสถานะหรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินการโดยลวงผู้อื่นให้เข้าใจไปทางอื่น หรือเพื่อมิให้รู้ความจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
               ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจปฏิบัติการอำพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดไปก่อนแล้วรายงานผู้มีอำนาจอนุญาตตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
               การอนุญาตและการอำพรางตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งการดำเนินการตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย
               การกระทำและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการอำพรางของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

               มาตรา ๘  ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจครอบครองหรือให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุมทั้งในและนอกราชอาณาจักรเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้
               ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนั้น โดยในการมอบหมายให้คำนึงถึงระดับความรับผิดชอบของผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย
               การครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม หมายความว่า การครอบครองชั่วคราวซึ่งยาเสพติดเพื่อส่งต่อแก่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ คำสั่ง หรือการสะกดรอยติดตามของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ การส่งต่อนั้นให้รวมถึงการนำเข้าหรือส่งออกเพื่อการส่งต่อในหรือนอกราชอาณาจักรด้วย
               การขออนุญาต การอนุญาต การครอบครอง ระยะเวลาในการครอบครองหรือการให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย
               การกระทำและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

               มาตรา ๙  ในกรณีที่เจ้าพนักงานขอให้บุคคลใดซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเฉพาะในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่งเป็นการส่วนตัวในบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จะได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ

               มาตรา ๑๐  ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานอาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดำเนินการให้ได้มาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดและการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้รับการร้องขอดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอโดยปฏิบัติตามวิธีการในกฎหมายดังกล่าว
               เจ้าพนักงานผู้ใดเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลอื่นอันมิใช่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

หมวด ๒ การสอบสวน (มาตรา ๑๑)

 

หมวด ๒
การสอบสวน

-------------------------

               มาตรา ๑๑  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดสิ่งของไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ไม่อาจส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โดยให้บันทึกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

หมวด ๒/๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (มาตรา ๑๑/๑ - ๑๑/๗)

 

หมวด ๒/๑
หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส.
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.

-------------------------

               มาตรา ๑๑/๑  เพื่อดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่และอํานาจดังต่อไปนี้
               (๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด หรือมีบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
               (๒) ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               (๓) ค้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               (๔) จับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๕) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่ได้รับมาจากการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
               (๖) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นกรณีเร่งด่วน ก่อนดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน แล้วรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายในเจ็ดวันเพื่อดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
               (๗) ตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย แล้วแต่กรณี
               (๘) สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๙) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการใด ๆ มาให้ถ้อยคําหรือให้ส่งบัญชี ข้อมูล เอกสาร หรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา
               การใช้อํานาจตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนด และแสดงความบริสุทธิ์ก่อนการเข้าค้น รายงานเหตุผล และผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป และบันทึกเหตุอันควรสงสัยตามสมควรและเหตุอันควรเชื่อที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถาน หรือสถานที่ค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นส่งมอบสําเนาหนังสือนั้นให้แก่ผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทําได้ และหากเป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการพลเรือนตําแหน่งประเภทบริหาร ตําแหน่งประเภทอํานวยการ ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการขึ้นไป ตําแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป หรือข้าราชการตํารวจตําแหน่งตั้งแต่สารวัตรหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือข้าราชการทหารตําแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับกองร้อยหรือเทียบเท่าขึ้นไป
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตําแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่ได้กําหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดําเนินการ ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกําหนดด้วยความเห็นขอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. โดยทําเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจําตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงเอกสารมอบหมายนั้นต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
               ในการปฏิบัติการตามมาตรานี้ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
               ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทํารายงานผลการปฏิบัติตามมาตรานี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี โดยให้รายงานข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค ปริมาณการปฏิบัติงานตามงบประมาณและกองทุนประจําปี และผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานโดยละเอียด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานดังกล่าวพร้อมข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

               มาตรา ๑๑/๒  ในกรณีจําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานป.ป.ส. มีอํานาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
               วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๓  ในกรณีที่มีการยึดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดโดยบันทึกรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้และให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้
               (๒) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือประเภท ๕ หรือสารระเหยที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้
               (๓) ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ยึดไว้ ให้สถานตรวจพิสูจน์คืนพนักงานสอบสวน
               การตรวจรับ การเก็บรักษา การทําลาย การนําไปใช้ประโยชน์ และการรายงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามมาตรา ๑๑/๑ หรือมาตรา ๑๑/๒ ถ้าเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ ให้บุคคลนั้นมีอํานาจช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้

               มาตรา ๑๑/๕  ในกรณีจําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นหนังสือจะยื่นคําขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญา เพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
               การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใด ประกอบกับเหตุผลและความจําเป็น ดังต่อไปนี้
               (๑) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิดหรือจะมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๒) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
               (๓) ไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้
               การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสั่งอนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยกําหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารในสิ่งสื่อสารตามคําสั่งดังกล่าวจะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ภายหลังที่มีคําสั่งอนุญาต หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุผลความจําเป็นไม่เป็นไปตามที่ระบุหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอํานาจเปลี่ยนแปลงคําสั่งอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร
               เมื่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ดําเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้รายงานการดําเนินการให้ศาลทราบ
               บรรดาข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาและใช้ประโยชน์ในการสืบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในการดําเนินคดีเท่านั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๖  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๑/๑ ให้ถือว่ากรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอํานาจตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอํานาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) ซึ่งกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไว้เพื่อทําการสืบสวนสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกําหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าว เป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               การควบคุมผู้ถูกจับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๗  การแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย เว้นแต่กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสํานวนให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีแล้วพนักงานอัยการเห็นควรแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการเป็นผู้อนุมัติให้แจ้งข้อหาเพื่อดําเนินคดีตามมาตรานี้ และเมื่อดําเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบทันที
               การขออนุมัติ การอนุมัติ และการรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง


               หมวด ๒/๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มาตรา ๑๑/๑ ถึงมาตรา ๑๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น (มาตรา ๑๒ - ๑๓)

 

หมวด ๓
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

-------------------------

               มาตรา ๑๒  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจำเลยมีทนายความ ถ้าปรากฏว่าจำเลยคนใดจงใจไม่มาศาลหรือหลบหนี และมีความจำเป็นเพื่อมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบในภายหลัง เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรก็ให้ศาลมีอำนาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลย แต่ต้องให้โอกาสทนายความของจำเลยที่จะถามค้านและนำสืบหักล้างพยานหลักฐานนั้นได้

               มาตรา ๑๓  ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

หมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา (มาตรา ๑๔ - ๒๐)

 

หมวด ๓
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ให้จัดตั้งแผนกคดียาเสพติดขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๕  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
               เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว

               มาตรา ๑๕/๑  ในกรณีที่ตามคําพิพากษาจําเลยต้องรับโทษจําคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจําเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจําเลยก็ได้
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จําเลยได้รับการรอการลงโทษจําคุก หรือรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาครบถ้วนแล้ว

               มาตรา ๑๖  คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗  ในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน และกรรมใดกรรมหนึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หากมีการอุทธรณ์ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมความผิดอื่น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย

               มาตรา ๑๘  ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๙ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด
               คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในการกระทำกรรมอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คู่ความอาจฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๙  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้
               เมื่อมีคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ศาลฎีกาอาจพิจารณารับฎีกาในปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้วินิจฉัยก็ได้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย
               คดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้วินิจฉัย ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์
               หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ ตลอดจนการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้ ในระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนเวลาของการสั่งไม่อนุญาตที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติตามมาตรา ๒๖๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               ระเบียบตามวรรคสี่ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๙/๑  ให้นําความในมาตรา ๑๕/๑ มาใช้บังคับกับการยื่นคําขออนุญาตฎีกาและการฎีกาโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๐  การอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร


               มาตรา ๑๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๙/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๕ การบังคับโทษปรับ (มาตรา ๒๑) (ยกเลิก)

 

หมวด ๕
การบังคับโทษปรับ

-------------------------

               มาตรา ๒๑ (ยกเลิก)


               หมวด ๕ การบังคับโทษปรับ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๖ อายุความ (มาตรา ๒๒ - ๒๓)

 

หมวด ๖
อายุความ

-------------------------

               มาตรา ๒๒  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สำหรับฐานความผิดซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสามสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
               ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วผู้กระทำความผิดวิกลจริตและศาลสั่งงดการพิจารณาหรือหลบหนีจนเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

               มาตรา ๒๓  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใด และผู้นั้นยังมิได้รับโทษหรือได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนเพราะหลบหนี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษเกินกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๒๔)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๒๔  บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
        โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
         รองนายกรัฐมนตรี

 

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้เปลี่ยนแปลงไปสู่อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งในลักษณะองค์กร และมีลักษณะพิเศษมากยิ่งขึ้น โดยผู้กระทำความผิดอาศัยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดประกอบกับมีคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีดังกล่าวมีลักษณะพิเศษและซับซ้อนแตกต่างจากการกระทำความผิดอาญาทั่วไป สมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนโดยการใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนพิเศษ และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ ฎีกา และอายุความ รวมทั้งกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาและบังคับโทษคดียาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อจัดทําประมวลกฎหมายยาเสพติด ทําให้ต้องมีการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และในประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ได้กําหนดเฉพาะบทบัญญัติของกฎหมายสารบัญญัติเท่านั้น สําหรับบทบัญญัติของกฎหมายวิธีสบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมถึงการดําเนินการเกี่ยวกับยาเสพติดที่ถูกยึดไว้ตามกฎหมายซึ่งเดิมเคยกําหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น สมควรนํามารวมกําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดและปรับปรุงบทบัญญัติบางประการให้เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด อีกทั้งกําหนดบทบัญญัติเรื่องการแสดงตนของจําเลยต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ การยื่นคําขออนุญาตฎีกาและการฎีกาให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๕/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๗๓ ก/หน้า ๘๑/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔