หมวด ๑
บทบัญญัติทั่วไป
-------------------------
มาตรา ๑๕ ในลักษณะนี้
“ตํารับยาเสพติดให้โทษ” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบและปริมาณของสิ่งปรุงที่มียาเสพติดให้โทษรวมอยู่ด้วย
“ตํารับวัตถุออกฤทธิ์” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบและปริมาณของสิ่งปรุงที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย
“วัตถุตํารับ” หมายความว่า สิ่งปรุงไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่มีวัตถุออกฤทธิ์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์ที่มีลักษณะเป็นวัตถุสําเร็จรูปทางเภสัชกรรมซึ่งพร้อมที่จะนําไปใช้แก่คนหรือสัตว์ได้
“วัตถุตำรับยกเว้น” หมายความว่า วัตถุตํารับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมบางประการสําหรับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตํารับนั้น
“ฉลาก” หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติด
“ผู้รับอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามบทบัญญัติในลักษณะนี้
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า เลขาธิการ อย. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ อย.
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
มาตรา ๑๖ บทบัญญัติในหมวด ๔ การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ และหมวด ๕ การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ และการขึ้นทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ไม่ใช้บังคับแก่สํานักงาน อย.
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่สํานักงาน อย. ผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์และได้รับยกเว้นตามมาตรา ๑๖ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายนี้ ให้สํานักงาน อย. รายงานการรับ การจ่าย และการเก็บรักษาซึ่งยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว และวิธีการปฏิบัติอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดทราบทุกหกเดือนของปีปฏิทิน แล้วให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอรายงานพร้อมกับให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสั่งการต่อไป
มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจออกกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ให้บริการ รวมทั้งกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้หรือยกเว้นค่าธรรมเนียม
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือเลขาธิการ อย. มีอํานาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบของตน หรือผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชีโดยสํานักงาน อย. ปฏิบัติงานต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุญาตยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ได้ตามความเหมาะสม
การขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสานักงาน อย. ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
มาตรา ๒๐ ค่าธรรมเนียมตาม (๑๗) (๑๘) (๑๙) (๒๐) และ (๒๑) ในอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ตกเป็นของสํานักงาน อย. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา ๑๙ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๑ การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจ่ายเงินตามมาตรา ๒๐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๒๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกำหนดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์ หรือลักษณะอื่นของยาเสพติดให้โทษ ตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษ
(๒) กําหนดจํานวนและจํานวนเพิ่มเติมซึ่งยาเสพติดให้โทษที่จะต้องใช้ในทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ทั่วราชอาณาจักรประจําปี
(๓) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นําเข้า จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองได้
(๔) ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษที่ต้องมีคําเตือนหรือข้อควรระวัง และข้อความของคําเตือนหรือข้อควรระวังเป็นตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายให้ผู้ใช้ระมัดระวังตามความจําเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
(๕) กําหนดสถานที่แห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษที่นําเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน
(๖) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้
มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกําหนดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ใดอยู่ในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔
(๒) กําหนดมาตรฐานว่าด้วยปริมาณ ส่วนประกอบ คุณภาพ ความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่นของวัตถุออกฤทธิ์ ตลอดจนการบรรจุและการเก็บรักษาวัตถุออกฤทธิ์ตาม (๑)
(๓) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตาม (๑)
(๔) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ห้ามผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่าน
(๕) ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ซึ่งอนุญาตให้ผลิตเพื่อส่งออกหรือส่งออกได้
(๖) ระบุวัตถุตํารับให้เป็นวัตถุตํารับยกเว้นและเพิกถอนวัตถุตํารับยกเว้น
(๗) กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกําหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้อนุญาตจะอนุญาตให้ผลิต นําเข้า จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง
(๘) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องมีคําเตือนหรือข้อควรระวัง และข้อความของคําเตือนหรือข้อควรระวังเป็นตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายให้ผู้ใช้ระมัดระวังตามความจําเป็นเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้
(๙) กําหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขอื่น มีไว้ในครอบครองได้ตามมาตรา ๓๒
(๑๐) ระบุชื่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๓๓ (๔)
(๑๑) ระบุชื่อและประเภทวัตถุออกฤทธิ์ที่ประเทศหนึ่งประเทศใดห้ามนําเข้าตามมาตรา ๔๔
(๑๒) กําหนดสถานที่แห่งใดในราชอาณาจักรให้เป็นด่านตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ที่นําเข้า ส่งออก หรือนําผ่าน
(๑๓) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้
มาตรา ๒๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจประกาศกําหนดเกี่ยวกับสารระเหย ดังต่อไปนี้
(๑) ระบุชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหย
(๒) เพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อ ประเภท ชนิด หรือขนาดบรรจุของสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหยตาม (๑)
(๓) กําหนดการอื่นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติตามลักษณะนี้
หมวด ๒
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด
-------------------------
มาตรา ๒๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการ ป.ป.ส. นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย และนายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจํานวนสิบคนจากผู้ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านวิสัญญีแพทย์ จิตแพทย์ อายุรแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ในจํานวนนี้ ให้แต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่าสามคน
ให้เลขาธิการ อย. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการ อย. แต่งตั้งข้าราชการในสํานักงาน อย. จํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
มาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดมาตรการการควบคุมยาเสพติด
(๒) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วแต่กรณี ในการระบุชื่อหรือประเภทยาเสพติด รวมทั้งการเพิกถอนหรือการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติด
(๓) ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผู้อนุญาต แล้วแต่กรณี ในการปฏิบัติการตามลักษณะนี้
(๔) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้อนุญาตตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๕
(๕) ให้ความเห็นต่อกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายในการทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๔๕ และมาตรา ๖๐
(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด หรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย
มาตรา ๒๗ ให้นําความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๒๘ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมอบหมายก็ได้
การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยาเสพติดให้โทษ คณะอนุกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ และคณะอนุกรรมการสารระเหย
การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นําความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
หมวด ๓
ประเภทของยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์
-------------------------
มาตรา ๒๙ ยาเสพติดให้โทษแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
(๑) ประเภท ๑ ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน (Heroin)
(๒) ประเภท ๒ ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคคาอีน (Cocaine) โคเดอีน (Codeine) หรือฝิ่นยา (Medicinal Opium)
(๓) ประเภท ๓ ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นตํารับยา และมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด
(๔) ประเภท ๔ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เช่น อาเซติค แอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride)
(๕) ประเภท ๕ ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท ๑ ถึงประเภท ๔ เช่น พืชฝิ่น
การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดตามวรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๔) และ (๕) และการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกําหนด
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คําว่า “ฝิ่นยา (Medicinal Opium)” หมายความว่า ฝิ่นที่ได้ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งโดยมีความมุ่งหมายเพื่อใช้ในทางยา
มาตรา ๓๐ วัตถุออกฤทธิ์แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
(๑) ประเภท ๑ วัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง
(๒) ประเภท ๒ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนําไปใช้ในทางที่ผิดสูง
(๓) ประเภท ๓ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิด
(๔) ประเภท ๔ วัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ และอาจก่อให้เกิดการนําไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดน้อยกว่าประเภท ๓
ทั้งนี้ การระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ว่าวัตถุออกฤทธิ์ชื่อใดอยู่ในประเภทใด และการเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด
มาตรา ๓๑ ในกรณีที่วัตถุตํารับมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดปรุงผสมอยู่ ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทนั้นด้วย
ในกรณีที่วัตถุตํารับมีวัตถุออกฤทธิ์อันระบุอยู่ในประเภทต่างกันผสมอยู่ ให้ถือว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่มีการควบคุมเข้มงวดกว่าในประเภทที่ผสมอยู่นั้น
ส่วนที่ ๑
ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต
-------------------------
มาตรา ๓๒ การผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด
มาตรา ๓๓ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต
(๑) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณเท่าที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งสําหรับใช้ในการบำบัดหรือป้องกันโรคสําหรับสัตว์ที่ให้การรักษานั้น
(๒) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไว้ในครอบครองในปริมาณเท่าที่จําเป็นต้องใช้ประจําในการปฐมพยาบาล หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ในยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมสําหรับการนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่าน ทั้งนี้ ผู้ควบคุมยานพาหนะดังกล่าวต้องจัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สูญหายหรือมีการนําเอาไปใช้โดยมิชอบ
(๓) การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สําหรับกิจการของผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือนําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภทนั้น ๆ
(๔) การมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
(๕) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา
ส่วนที่ ๒
การอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
-------------------------
มาตรา ๓๔ ในกรณีจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจอนุญาตให้ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจอนุญาตให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ เพื่อการศึกษาวิจัย ประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม
การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
ส่วนที่ ๓
การอนุญาตโดยผู้อนุญาต
-------------------------
มาตรา ๓๕ ผู้อนุญาตมีอํานาจอนุญาต ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
(๒) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓
(๓) ให้ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ ในปริมาณเล็กน้อยที่นําไปใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์
(๔) ให้ผู้ใดจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕
(๕) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์
ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีอํานาจอนุญาต ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือประโยชน์อื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
ผู้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองผู้ใดประกอบกิจการภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้ยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยแสดงเหตุที่ไม่สามารถยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตภายในกําหนดและผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้ต่ออายุใบอนุญาตได้
มาตรา ๓๖ การนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ นอกจากจะต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตราดังกล่าวแล้ว ในการนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้งที่นําเข้าหรือส่งออกอีกด้วย ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๓๗ ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่าน ซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ และผู้รับอนุญาตเฉพาะคราวนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๖ ต้องจัดเก็บรักษา ดําเนินการขออนุญาตและจัดให้มีการควบคุมดูแลการโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ จัดให้มีการทําบัญชีและเสนอรายงานเกี่ยวกับการดําเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาต หรือดําเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกํากับดูแลยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
การขออนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามวรรคหนึ่งของผู้รับอนุญาต การออกใบอนุญาต และเงื่อนไขในการโฆษณาตามใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๓๘ ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ และใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อการนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๖ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตซึ่งได้กระทําไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้รับอนุญาต
ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการกระทําของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่ได้กระทําไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการกระทําของผู้รับอนุญาตด้วย
มาตรา ๓๙ ผู้อนุญาตอาจอนุญาตให้ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศนํายาเสพติดให้โทษซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมใบอนุญาตด้วย โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
การนําวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จําเป็นต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวภายในสามสิบวัน โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ไม่ต้องขออนุญาต กรณีการนําติดตัวเพื่อใช้รักษาโรคเกินกว่าสามสิบวันต้องได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
การนํายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ไม่เป็นความผิดฐานนําเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา ๔๐ ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจําควบคุมกิจการตลอดเวลาทําการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๑ ในการนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท ห้ามผู้ใดเปลี่ยนแปลงการส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายอื่นที่มิได้ระบุในใบอนุญาตส่งออกที่ส่งมาพร้อมกับวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจของประเทศผู้ออกใบอนุญาตนั้น และเลขาธิการ อย. ให้ความเห็นชอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ไม่อาจส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายที่กําหนดตามวรรคหนึ่งได้ ให้ผู้รับอนุญาตส่งวัตถุออกฤทธิ์กลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร หากผู้รับอนุญาตไม่ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กําหนด ให้วัตถุออกฤทธิ์นั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
มาตรา ๔๒ ในระหว่างที่มีการนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ การแปรรูปหรือแปรสภาพวัตถุออกฤทธิ์ให้เป็นอย่างอื่น หรือเปลี่ยนหีบห่อที่บรรจุวัตถุออกฤทธิ์ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย.
มาตรา ๔๓ ในการนําเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท การส่งวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไปยังบุคคลอื่นหรือสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากบุคคลหรือสถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อนําเข้าสามารถกระทําได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็น โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย.
มาตรา ๔๔ เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งการห้ามนําเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดที่ต่างประเทศได้แจ้งผ่านเลขาธิการสหประชาชาติระบุห้ามนําเข้าไปยังประเทศใด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดการห้ามนําเข้าประเทศนั้น
ห้ามผู้ใดส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังประเทศที่ระบุห้ามนําเข้าตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ได้รับอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากประเทศนั้นและใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากเลขาธิการ อย.
การขอรับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวและการออกใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๕ ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตเลิกกิจการ ไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต ไม่ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต หรือตาย ให้ผู้รับอนุญาต ทายาท ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้ตาย แล้วแต่กรณี ปฏิบัติตามข้อกําหนดที่ผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น ให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลืออยู่ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
มาตรา ๔๖ ผู้รับอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือผู้รับอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งได้ดําเนินการตามประมวลกฎหมายนี้แล้ว ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยยา
ส่วนที่ ๔
การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต
-------------------------
มาตรา ๔๗ ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหมวดนี้ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามหมวดนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี ว่ากล่าวตักเตือน สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามสมควรแก่กรณี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๔๘ ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตอีกไม่ได้
ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามหมวดนี้อีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ในกรณีที่นิติบุคคลถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้นําความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรรมการผู้จัดการ และผู้รับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วยโดยอนุโลม
หมวด ๕
การขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓
และการขึ้นทะเบียนตำรับวัตถุออกฤทธิ์
-------------------------
มาตรา ๔๙ ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนําเข้าซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ ตามมาตรา ๓๕ (๒) หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ตามมาตรา ๓๕ (๕) จะผลิตหรือนําเข้าซึ่งตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวปรุงผสมอยู่ ต้องขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์นั้นต่อผู้อนุญาตก่อน และเมื่อได้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์แล้วจึงจะผลิตหรือนําเข้าซึ่งตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์นั้นได้
การขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การออกใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การต่ออายุใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การออกใบแทนใบสําคัญการขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การแจ้งรายการในการยื่นคําขอ และการขอแก้ไขรายการที่ได้รับอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนําเข้าซึ่งตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือนําเข้าตัวอย่างของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ที่จะขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ การขออนุญาตและการอนุญาตให้ผลิตหรือนําเข้าตัวอย่างของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๕๐ ผู้อนุญาตโดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดอาจไม่รับขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) การขอขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรา ๔๙
(๒) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนไม่เป็นที่เชื่อถือในสรรพคุณ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้
(๓) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนใช้ชื่อในทํานองโอ้อวด ไม่สุภาพ หรืออาจทําให้เข้าใจผิดจากความจริง
(๔) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนตามมาตรา ๕๑
(๕) ตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามมาตรา ๕๒
มาตรา ๕๑ เมื่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเห็นว่าทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ใด ที่ได้ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไว้ หรืออาจไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ หรือมีเหตุผลอันไม่สมควรที่จะอนุญาตให้ต่อไป ให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ หรือทะเบียนตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ นั้นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๖
ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ผิดมาตรฐาน หรือเสื่อมคุณภาพ
-------------------------
มาตรา ๕๒ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ปลอม
ยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ หรือสิ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอม
(๑) สิ่งที่ทําเทียมยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพื่อแสดงว่าเป็นยาเสพติดให้โทษแท้หรือวัตถุออกฤทธิ์แท้
(๒) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์อื่น หรือแสดงวัน เดือน ปี ที่ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สิ้นอายุแล้วว่ายังไม่สิ้นอายุ
(๓) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิต ซึ่งมิใช่ความจริง
(๔) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ถึงขนาดสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินกว่าร้อยละสิบของปริมาณที่กําหนดไว้จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุดตามที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๑) หรือมาตรา ๒๓ (๒) หรือตามที่กําหนดไว้ในตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ได้ขึ้นทะเบียนตํารับ หรือที่ผู้อนุญาตได้อนุญาตให้ผลิต นําเข้า หรือส่งออกไว้
มาตรา ๕๓ ห้ามผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ผิดมาตรฐาน
ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐาน
(๑) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามมาตรฐานโดยสารออกฤทธิ์ขาดหรือเกินจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด ตามที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๑) หรือมาตรา ๒๓ (๒) หรือตามตํารับของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามมาตรา ๔๙ แต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าวในมาตรา ๕๒ (๔)
(๒) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์หรือลักษณะอื่นซึ่งมีความสําคัญต่อคุณภาพของยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดไปจากเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๑) หรือมาตรา ๒๓ (๒) หรือตามตํารับของตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้
มาตรา ๕๔ ห้ามผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ เสื่อมคุณภาพ
ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เสื่อมคุณภาพ
(๑) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่สิ้นอายุตามที่แสดงไว้ในฉลากซึ่งขึ้นทะเบียนตํารับยาเสพติดให้โทษหรือตํารับวัตถุออกฤทธิ์ไว้
(๒) ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ปลอมตามมาตรา ๕๒ (๔) หรือยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ผิดมาตรฐานตามมาตรา ๕๓
หมวด ๗
มาตรการควบคุมพิเศษ
-------------------------
มาตรา ๕๕ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกําหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
(๑) ทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
(๒) ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด
(๓) เสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภทและปริมาณที่กำหนด
การกําหนดพื้นที่และการกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการกระทําดังกล่าวด้วย
ให้การกระทําการในเขตพื้นที่ที่กําหนดในวรรคหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและตรวจสอบไม่เป็นความผิด
มาตรา ๕๖ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอํานาจออกประกาศกําหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ และประกาศกําหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕๗ ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๕๖ หรือพบว่ามีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๕๖ หากเจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการดังกล่าวไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เชื่อได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอํานาจสั่งให้ดำเนินมาตรการที่จําเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นอีก หรือให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอํานาจสั่งปิดสถานประกอบการแห่งนั้นชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการสําหรับการประกอบธุรกิจนั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีจําเป็นเร่งด่วน ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอํานาจดําเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ การสั่งปิดชั่วคราวหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการต้องไม่เกินครั้งละสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการนั้นทราบคําสั่ง
ในกรณีที่สถานประกอบการซึ่งถูกสั่งปิดชั่วคราวหรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการตามวรรคหนึ่งเป็นสถานประกอบการซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมการประกอบการตามกฎหมายอื่น ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. แจ้งให้หน่วยงานซึ่งควบคุมการประกอบการนั้นทราบ และให้หน่วยงานดังกล่าวถือปฏิบัติตามนั้น
การสั่งปิดชั่วคราวหรือการสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ และการแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ดําเนินกิจการสถานประกอบการทราบตามวรรคหนึ่ง และการแจ้งให้หน่วยงานทราบตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกําหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย
ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด
มาตรา ๕๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกําหนดให้วัตถุตํารับใด ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นวัตถุตํารับยกเว้นได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
(๑) มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างปรุงผสมอยู่
(๒) มีลักษณะที่ไม่อาจก่อให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง
(๓) ไม่สามารถจะแยกสกัดเอาวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตํารับนั้นกลับมาใช้ในปริมาณที่จะทําให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง และ
(๔) ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางด้านสุขภาพและสังคมได้
วัตถุตำรับยกเว้นที่ประกาศตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศเพิกถอนได้เมื่อปรากฏว่าวัตถุตํารับนั้นไม่ตรงลักษณะที่กําหนดไว้
มาตรา ๖๐ ในการนําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และ ประเภท ๕ ต้องมีใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษแสดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ยินยอมให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษ และนํายาเสพติดให้โทษที่นำผ่านมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษที่กําหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๕) เพื่อทําการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งไว้ในที่สมควร จนกว่าผู้ที่นําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษจะนํายาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
ในกรณีที่ผู้นําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งไม่นํายาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันนําเข้า ให้พนักงานศุลกากรรายงานให้เลขาธิการ อย. ทราบ เลขาธิการ อย. มีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้นําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษนํายาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคําสั่ง ถ้าผู้ได้รับคําสั่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
มาตรา ๖๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดตามภาคนี้ มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในสถานที่ทําการของผู้รับอนุญาตนําเข้าหรือส่งออก สถานที่ผลิต สถานที่จําหน่าย สถานที่เก็บยาเสพติด หรือสถานที่ที่ต้องได้รับอนุญาตตามภาคนี้ ในเวลาทําการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามภาคนี้
(๒) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามภาคนี้
(๓) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคํา หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา
พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ตําแหน่งใด ระดับใด หรือชั้นยศใด จะมีหน้าที่และอํานาจตามที่กําหนดไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดําเนินการ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด
มาตรา ๖๒ ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอานาจนํายาเสพติดจากสถานที่นั้นในปริมาณพอสมควรไปเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ และหากปรากฏว่ายาเสพติดใดเป็นยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ให้ประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์คุณภาพของยาเสพติดที่นําไปตรวจสอบหรือวิเคราะห์นั้นให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่เห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการ อย.
เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ยาเสพติด ในกรณีที่ปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันเชื่อได้ว่ายาเสพติดใดเป็นยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดหรืออายัดยาเสพติดดังกล่าวไว้ หรือสั่งให้ผู้รับอนุญาตงดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติด เรียกเก็บยาเสพติดดังกล่าวกลับคืนมาภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนด และอาจสั่งทําลายยาเสพติดดังกล่าวเสียได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา