หมวด ๔ การอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ (มาตรา ๓๒ - ๔๘)

ส่วนที่ ๑ ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต (มาตรา ๓๒ - ๓๓)

 

ส่วนที่ ๑
ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ซึ่งไม่ต้องขออนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๓๒  การผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น หรือเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐหรือสภากาชาดไทย ไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศกําหนด

               มาตรา ๓๓  การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต
              
(๑) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณเท่าที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัวตามคําสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งสําหรับใช้ในการบำบัดหรือป้องกันโรคสําหรับสัตว์ที่ให้การรักษานั้น
               (๒) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ไว้ในครอบครองในปริมาณเท่าที่จําเป็นต้องใช้ประจําในการปฐมพยาบาล หรือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ในยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักร โดยให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมสําหรับการนําเข้า ส่งออก หรือนําผ่าน ทั้งนี้ ผู้ควบคุมยานพาหนะดังกล่าวต้องจัดให้มีการป้องกันตามสมควรเพื่อมิให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สูญหายหรือมีการนําเอาไปใช้โดยมิชอบ
               (๓) การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์สําหรับกิจการของผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือนําผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภทนั้น ๆ
               (๔) การมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด
               (๕) การมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ไว้ในครอบครองไม่เกินปริมาณที่จําเป็นสําหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา

ส่วนที่ ๒ การอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (มาตรา ๓๔)

 

ส่วนที่ ๒
การอนุญาตโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

-------------------------

               มาตรา ๓๔  ในกรณีจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของทางราชการในการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอํานาจอนุญาตให้ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ ได้
               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีอํานาจอนุญาตให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ เพื่อการศึกษาวิจัย ประโยชน์ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม
               การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

ส่วนที่ ๓ การอนุญาตโดยผู้อนุญาต (มาตรา ๓๕ - ๔๖)

 

ส่วนที่ ๓
การอนุญาตโดยผู้อนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๓๕  ผู้อนุญาตมีอํานาจอนุญาต ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒
               (๒) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓
               (๓) ให้ผู้ใดนําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ หรือประเภท ๔ ในปริมาณเล็กน้อยที่นําไปใช้เป็นสารมาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์
               (๔) ให้ผู้ใดจําหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕
               (๕) ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์
               ผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดมีอํานาจอนุญาต ให้ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัยหรือประโยชน์อื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
               การขออนุญาต คุณสมบัติของผู้ขออนุญาต การออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ผู้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองผู้ใดประกอบกิจการภายหลังที่ใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้ยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยแสดงเหตุที่ไม่สามารถยื่นคําขอต่ออายุใบอนุญาตภายในกําหนดและผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี เห็นสมควรให้ต่ออายุใบอนุญาตได้

               มาตรา ๓๖  การนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ นอกจากจะต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตราดังกล่าวแล้ว ในการนําเข้าหรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้รับอนุญาตในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตเฉพาะคราวจากผู้อนุญาตทุกครั้งที่นําเข้าหรือส่งออกอีกด้วย ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๗  ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนําผ่าน ซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ และผู้รับอนุญาตเฉพาะคราวนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๖ ต้องจัดเก็บรักษา ดําเนินการขออนุญาตและจัดให้มีการควบคุมดูแลการโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ จัดให้มีการทําบัญชีและเสนอรายงานเกี่ยวกับการดําเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาต หรือดําเนินการอื่นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกํากับดูแลยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               การขออนุญาตโฆษณายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามวรรคหนึ่งของผู้รับอนุญาต การออกใบอนุญาต และเงื่อนไขในการโฆษณาตามใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๓๘  ใบอนุญาตตามมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ และใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อการนําเข้าหรือส่งออกตามมาตรา ๓๖ ให้คุ้มกันถึงลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตซึ่งได้กระทําไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้รับอนุญาต
               ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการกระทําของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับอนุญาตที่ได้กระทําไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นการกระทําของผู้รับอนุญาตด้วย

               มาตรา ๓๙  ผู้อนุญาตอาจอนุญาตให้ผู้ป่วยซึ่งเดินทางระหว่างประเทศนํายาเสพติดให้โทษซึ่งต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมใบอนุญาตด้วย โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               การนําวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไม่เกินปริมาณที่จําเป็นต้องใช้รักษาโรคเฉพาะตัวภายในสามสิบวัน โดยมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ไม่ต้องขออนุญาต กรณีการนําติดตัวเพื่อใช้รักษาโรคเกินกว่าสามสิบวันต้องได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               การนํายาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ติดตัวเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ไม่เป็นความผิดฐานนําเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา ๔๐  ให้ผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือผู้รับอนุญาตผลิต นําเข้า ส่งออก หรือจําหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ต้องจัดให้มีเภสัชกรอยู่ประจําควบคุมกิจการตลอดเวลาทําการซึ่งระบุไว้ในใบอนุญาต พร้อมทั้งต้องดูแลให้เภสัชกรได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๑  ในการนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท ห้ามผู้ใดเปลี่ยนแปลงการส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายอื่นที่มิได้ระบุในใบอนุญาตส่งออกที่ส่งมาพร้อมกับวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจของประเทศผู้ออกใบอนุญาตนั้น และเลขาธิการ อย. ให้ความเห็นชอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ในกรณีที่ไม่อาจส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายที่กําหนดตามวรรคหนึ่งได้ ให้ผู้รับอนุญาตส่งวัตถุออกฤทธิ์กลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร หากผู้รับอนุญาตไม่ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กําหนด ให้วัตถุออกฤทธิ์นั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด

               มาตรา ๔๒  ในระหว่างที่มีการนําผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ การแปรรูปหรือแปรสภาพวัตถุออกฤทธิ์ให้เป็นอย่างอื่น หรือเปลี่ยนหีบห่อที่บรรจุวัตถุออกฤทธิ์ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย.

               มาตรา ๔๓  ในการนําเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท การส่งวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไปยังบุคคลอื่นหรือสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากบุคคลหรือสถานที่ที่ระบุในใบอนุญาตเฉพาะคราวเพื่อนําเข้าสามารถกระทําได้ในกรณีที่มีเหตุจําเป็น โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ อย.

               มาตรา ๔๔  เมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้รับแจ้งการห้ามนําเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทหนึ่งประเภทใดที่ต่างประเทศได้แจ้งผ่านเลขาธิการสหประชาชาติระบุห้ามนําเข้าไปยังประเทศใด ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดการห้ามนําเข้าประเทศนั้น
               ห้ามผู้ใดส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังประเทศที่ระบุห้ามนําเข้าตามวรรคหนึ่ง
เว้นแต่ได้รับอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากประเทศนั้นและใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวจากเลขาธิการ อย.
              
การขอรับใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราวและการออกใบอนุญาตพิเศษเฉพาะคราว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๕  ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตเลิกกิจการ ไม่ขอต่ออายุใบอนุญาต ไม่ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต หรือตาย ให้ผู้รับอนุญาต ทายาท ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หรือผู้ครอบครองยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ของผู้ตาย แล้วแต่กรณี ปฏิบัติตามข้อกําหนดที่ผู้อนุญาตหรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น ให้ยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลืออยู่ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนด

               มาตรา ๔๖  ผู้รับอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือผู้รับอนุญาตเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งได้ดําเนินการตามประมวลกฎหมายนี้แล้ว ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยยา

ส่วนที่ ๔ การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา ๔๗ - ๔๘)

 

ส่วนที่ ๔
การพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต

-------------------------

               มาตรา ๔๗  ผู้รับอนุญาตผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหมวดนี้ หรือกฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามหมวดนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ผู้อนุญาต หรือผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด แล้วแต่กรณี ว่ากล่าวตักเตือน สั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามสมควรแก่กรณี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๔๘  ผู้ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตอีกไม่ได้
               ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามหมวดนี้อีกไม่ได้ จนกว่าจะพ้นสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
               ในกรณีที่นิติบุคคลถูกเพิกถอนใบอนุญาต ให้นําความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรรมการผู้จัดการ และผู้รับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วยโดยอนุโลม