ลักษณะ ๔ การตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา ๖๓ - ๘๙)

หมวด ๑ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา ๖๓ - ๖๗)

 

หมวด ๑
คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๖๓  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่งตั้งจํานวนสองคนจากบุคคลซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน
               ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

               มาตรา ๖๔  ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๘๒
               (๒) ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและมีคําสั่งตามมาตรา ๖๘
               (๓) วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๗๓
               (๔) มีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ตามมาตรา ๗๓
               (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๘ ระเบียบเกี่ยวกับการยุติการตรวจสอบทรัพย์สินและการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามมาตรา ๗๑ และระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สิน การนําทรัพย์สินออกขายทอดตลาด การนําทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ และการประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามมาตรา ๗๕
               (๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อปฏิบัติตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมอบหมาย
               (๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน
               คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๖ หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. ดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินตาม (๒) ดําเนินการยึดหรืออายัดตาม (๔) หรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตาม (๖) ดําเนินการวินิจฉัยทรัพย์สินตาม (๓) แล้วรายงานให้ทราบก็ได้

               มาตรา ๖๕  การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
               ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๖๔ (๒) (๓) และ (๔) ให้ถือเสียงสองในสามของกรรมการที่มาประชุม กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

               มาตรา ๖๖  ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคณะหนึ่งหรือหลายคณะประกอบด้วย อธิบดีอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายเป็นประธาน อนุกรรมการ ผู้แทนสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมบังคับคดี ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนสามคนซึ่งประธานอนุกรรมการแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินจากภาครัฐหรือภาคเอกชนเป็นอนุกรรมการ
               ให้ผู้อํานวยการสํานักตรวจสอบทรัพย์สินคดียาเสพติดหรือผู้อํานวยการสํานักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค สํานักงาน ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และประธานอนุกรรมการจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
               ให้นําความในมาตรา ๖๕ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๗  ให้นําความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วยโดยอนุโลม

หมวด ๒ มาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน (มาตรา ๖๘ - ๘๓)

 

หมวด ๒
มาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน

-------------------------

               มาตรา ๖๘  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินของผู้ต้องหารายใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้น
               ในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วน เลขาธิการ ป.ป.ส. อาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาไปก่อน แล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบก็ได้
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๖๙  เพื่อประโยชน์ในการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๘ เมื่อเลขาธิการ ป.ป.ส. ได้รับรายงานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. ทําความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
               หากเห็นว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาไม่เกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต หรือเป็นทรัพย์สินที่บุคคลทั่วไปสามารถมีได้ตามฐานานุรูป หรือตามความจําเป็นในการดํารงชีพ ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. รายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบด้วย

               มาตรา ๗๐  ในการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหา หากมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดของผู้อื่นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหา โดยได้รับทรัพย์สินนั้นมาโดยเสน่หาหรือรู้อยู่ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอํานาจสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้นั้นด้วย และในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วน ให้นําความในมาตรา ๖๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๗๑  คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี อาจมอบหมายให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแทนแล้วรายงานให้ทราบก็ได้ ในการดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินให้แจ้งผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ว่าทรัพย์สินนั้นไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแล้วพบว่าการดําเนินการตรวจสอบต่อไปจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมกับความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเห็นด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจสั่งให้ยุติการตรวจสอบทรัพย์สินนั้นก็ได้ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งให้ยุติการตรวจสอบทรัพย์สิน หากคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินเห็นสมควรจะสั่งให้คืนทรัพย์สินที่มีการยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวในระหว่างการตรวจสอบให้แก่เจ้าของทรัพย์สินก็ได้
               การตรวจสอบทรัพย์สินและการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               การยุติการตรวจสอบทรัพย์สินและการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๗๒  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นทรัพย์สินที่สามารถดําเนินการตามกฎหมายอื่นได้และการดําเนินการตามกฎหมายอื่นจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจมีคําสั่งให้ส่งทรัพย์สินนั้นไปดำเนินการตามกฎหมายอื่นก็ได้

               มาตรา ๗๓  ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าศาลจะยกคําร้องขอให้ริบทรัพย์สิน
               เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน หรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจําเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่นคําร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ และในกรณีที่มีความจําเป็นเร่งด่วน ให้นําความในมาตรา ๖๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจัดให้มีการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว และในกรณีที่ผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สามารถพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งได้ ก็ให้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้นั้น แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้ถือว่าการยึดหรืออายัดตามวรรคสองเป็นการยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง
               การยื่นคําร้องขอผ่อนผันตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ คําว่า “ทรัพย์สิน” ให้หมายความรวมถึง
               (๑) ทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพไป สิทธิเรียกร้อง ผลประโยชน์ และดอกผลจากทรัพย์สิน
ดังกล่าว
               (๒) หนี้ที่บุคคลภายนอกถึงกําหนดชําระแก่ผู้ต้องหา
               (๓) ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาที่ได้ขาย จําหน่าย โอน หรือยักย้ายไปเสียในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคําสั่งยึดหรืออายัด และภายหลังนั้น เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ว่าการโอนหรือการกระทํานั้นได้กระทําไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

               มาตรา ๗๔  เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี ได้มีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายดําเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและประเมินราคาทรัพย์สินนั้นโดยเร็วแล้วรายงานให้ทราบ
               การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๗๕  การเก็บรักษาทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี ได้มีคําสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนําไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการ ป.ป.ส. อาจสั่งให้นําทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดหรือไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบก็ได้
               การนําทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือการนําทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
               ถ้าความปรากฏในภายหลังว่าทรัพย์สินที่นําไปใช้ตามวรรคสองมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจํานวนที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนด โดยใช้จากเงินกองทุนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี
               การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๗๖  เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน หรือยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามหมวดนี้ ให้กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน อนุกรรมการ เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมาย มีอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจมาเพื่อให้ถ้อยคํา ส่งคําชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
               (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคํา ส่งคําชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลจากธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินด้วย
               (๓) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีทรัพย์สินตามมาตรา ๗๓ ซุกซ่อนอยู่ เพื่อทําการตรวจค้น หรือเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สินในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากไม่ดําเนินการดังกล่าวในทันทีทรัพย์สินนั้นจะถูกยักย้ายก็ให้มีอํานาจเข้าไปในเวลากลางคืน
               ในกรณีตาม (๓) ประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ประธานอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. จะมอบหมายให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ปฏิบัติการแทน แล้วรายงานให้ทราบก็ได้
               ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคสองต้องแสดงเอกสารมอบหมายต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องทุกครั้ง

               มาตรา ๗๗  เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคําร้องไปพร้อมกับคําฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด
               ในกรณีที่พบว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นอีก ให้ยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด
               ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินคดีได้เพราะไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจําเลยได้หรือเพราะเหตุที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดถึงแก่ความตาย หรือพนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคําวินิจฉัย หรือในกรณีที่มีการยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ศาลพิจารณาคําร้องนั้นต่อไปได้ตามมาตรา ๘๒

               มาตรา ๗๘  เมื่อศาลสั่งรับคําร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๗๗ แล้ว ให้ศาลสั่งให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีหนังสือแจ้งผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคําร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด โดยแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานในสํานวนการสอบสวน กรณีที่ไม่อาจแจ้งตามวิธีการดังกล่าวได้ ให้วางหรือปิดหนังสือนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่ายตามที่อยู่ดังกล่าวต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ โดยให้ถือว่าผู้นั้นได้รับทราบหรือได้รับแจ้งแล้ว
               ค่าใช้จ่ายในการแจ้ง ให้จ่ายจากเงินของกองทุน

               มาตรา ๗๙  ให้ศาลไต่สวนคําร้องที่พนักงานอัยการได้ยื่นต่อศาลตามมาตรา ๗๗ หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคําร้องขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า
               (๑) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือ
               (๒) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ
               เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่าทรัพย์สินรายการใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลมีคําสั่งว่าทรัพย์สินรายการนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นได้ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

               มาตรา ๘๐  ในกรณีที่ผู้ขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ไม่ทราบว่าพนักงานอัยการได้มีคําร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สิน จนศาลได้มีคําสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นแล้ว ผู้ขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวอาจยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินต่อศาลได้ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งให้ริบทรัพย์สิน

               มาตรา ๘๑  ทรัพย์สินที่ศาลมีคําสั่งให้ริบตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกองทุน

               มาตรา ๘๒  ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาหรือศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องจําเลยรายใด ให้ศาลไต่สวนคําร้องของพนักงานอัยการที่ขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่ได้ยื่นไว้ตามมาตรา ๗๗ นั้นต่อไปได้ หากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินในคดีนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
               ทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทําความผิดของผู้ต้องหาหรือจําเลยรายนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่มีคําสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ให้ตกเป็นของกองทุน
               การขอรับทรัพย์สินคืนและการคืนทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๘๓  ในกรณีที่ต้องคืนทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากเงินให้แก่เจ้าของแต่ไม่อาจคืนได้ให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทนจากกองทุนตามราคาที่ประเมินได้ในวันยึดหรืออายัดทรัพย์สิน

หมวด ๓ มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินตามมูลค่า (มาตรา ๘๔ - ๘๖)

 

หมวด ๓
มาตรการตรวจสอบทรัพย์สินตามมูลค่า

-------------------------

               มาตรา ๘๔  ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบแล้ววินิจฉัยว่าผู้ถูกตรวจสอบได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคํานวณมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวเป็นจํานวนเงินที่แน่นอน พร้อมส่งสํานวนการตรวจสอบทรัพย์สิน เอกสาร และพยานหลักฐานไปยังพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
               การขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินและการไต่สวนคําร้องของพนักงานอัยการ ให้นําความในมาตรา ๒๗ มาตรา ๗๙ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๘๕  กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลสั่งริบนั้นไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบหาทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมูลค่าดังกล่าวได้ ให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบนั้น
               ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีกับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสํานักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา และให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมายจากสํานักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่สืบหาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของจําเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบ เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคําสั่งศาลโดยคําแนะนําของพนักงานอัยการ
               การขอคืนมูลค่าของทรัพย์สิน ให้นําความในมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๘๖  ทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับคดีตามมาตรา ๘๕ ให้ตกเป็นของกองทุน

หมวด ๔ กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (มาตรา ๘๗ - ๘๙)

 

หมวด ๔
กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๘๗  ให้จัดตั้งกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นในสํานักงาน ป.ป.ส. มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีหน้าที่ และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด และติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย ทดสอบ ทดลอง ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
               (๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทําหน้าที่ให้คําปรึกษา แนะนํา ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
               (๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการให้บริการหรือจัดกิจกรรมอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด ผู้เข้ารับการบําบัดฟื้นฟู และผู้ผ่านการบําบัดฟื้นฟูให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้
               (๕) ส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ทั้งในประเทศและระดับต่างประเทศ
               (๖) เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการป้องกัน ปราบปราม บําบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
               (๗) กิจการอื่นที่จําเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามประมวลกฎหมายนี้
               บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเงินในลักษณะเดียวกันจากกองทุนหมุนเวียนอื่นแล้ว ไม่มีสิทธิขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้

               มาตรา ๘๘  กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
               (๑) เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔
               (๒) ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๑๘๖
               (๓) เงินและทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค
               (๔) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับจากรัฐบาล
               (๕) ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔)
               เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

               มาตรา ๘๙  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการดําเนินการของกองทุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้
               (๑) การแต่งตั้ง การพ้นจากตําแหน่ง และหน้าที่และอํานาจของคณะอนุกรรมการและการบริหารจัดการกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน
               (๒) การจัดหาผลประโยชน์ การจัดการ และการจําหน่ายทรัพย์สินของกองทุน
               (๓) การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
               (๔) ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจําเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงาน เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดําเนินงานตามประมวลกฎหมายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นให้จ่ายจากกองทุน
               (๕) การบริหารและการดําเนินการอื่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
               การวางระเบียบตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย