ภาค ๒ การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๐๘ - ๑๒๓)

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑๐๘)

 

ลักษณะ ๑
บทบัญญัติทั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๑๐๘  ในภาคนี้
               “ติดยาเสพติด” หมายความว่า เสพเป็นประจําติดต่อกันและตกอยู่ในสภาพที่จําเป็นต้องพึ่งยาเสพติดนั้น โดยสามารถตรวจพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลักวิชาการ
               “การบําบัดรักษา” หมายความว่า การบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งรวมตลอดถึงการคัดกรอง การประเมินความรุนแรง การบําบัดด้วยยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การลดอันตรายจากยาเสพติด และการติดตามหลังการบำบัดรักษา
               “การฟื้นฟูสมรรถภาพ” หมายความว่า การกระทําใด ๆ อันเป็นการบําบัดพฤติกรรมการเสพยาเสพติด และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติดให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
               “การฟื้นฟูสภาพทางสังคม” หมายความว่า การกระทําใด ๆ อันเป็นการสงเคราะห์ สนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือจนสามารถกลับมาดํารงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
               “สถานพยาบาลยาเสพติด” หมายความว่า โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดให้เป็นสถานที่ทําการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
               “สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด” หมายความว่า สถานพยาบาล สถานฟื้นฟู หรือสถานที่อื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดให้เป็นสถานที่ทําการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               “ศูนย์คัดกรอง” หมายความว่า สถานที่คัดกรองการใช้ยาเสพติด
               “ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม” หมายความว่า สถานที่ทําการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               “ผู้อนุญาต” หมายความว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ลักษณะ ๒ คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๐๙ - ๑๑๒)

 

ลักษณะ ๒
คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๐๙  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด” ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เลขาธิการ ป.ป.ส. เลขาธิการ อย. ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจํานวนสามคน ในจํานวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างน้อยหนึ่งคน
               ให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขจํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
               เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอาจมีมติให้เชิญปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งสําหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

               มาตรา ๑๑๐  ให้สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทําหน้าที่เป็นสํานักงานเลขานุการของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษา และกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

               มาตรา ๑๑๑  ให้คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คําแนะนํารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามภาคนี้
               (๒) กําหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               (๓) กําหนดแนวทางและการดำเนินการด้านการพัฒนางานวิชาการ มาตรฐาน และคุณภาพ การบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               (๔) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งและการรับรองคุณภาพศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม
               (๕) กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดกรอง การบําบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และการประเมินผลการบําบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๖) กําหนดระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมการบําบัดรักษาและระเบียบวินัยสําหรับศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๗) ให้ความเห็นชอบในการกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฟื้นฟูสภาพทางสังคม และติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๘) กํากับ ติดตาม ดูแล ให้คําปรึกษา และแนะนําหน่วยงานในพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๙) วางแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จําเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษาซึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวและสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้
               (๑๐) วางแนวทางการดําเนินการของหน่วยงานในการช่วยเหลือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และการให้การสงเคราะห์อื่น ๆ ที่จําเป็นต่อการดํารงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
               (๑๑) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจ้างงานหรือการประกอบอาชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๑๒) กําหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๑๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มอบหมาย
               (๑๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

               มาตรา ๑๑๒  ให้นําความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม

ลักษณะ ๓ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๑๓ - ๑๑๗)

 

ลักษณะ ๓
การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๑๓  ผู้ใดยกเหตุว่าตนได้เสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ และได้สมัครใจขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลยาเสพติดก่อนที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะตรวจพบ อีกทั้งได้ปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบําบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว

               มาตรา ๑๑๔  ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตรวจพบผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทําความผิดฐานเสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดําเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจําคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาของศาล ไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หรือมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคมที่เกิดจากโรคทางจิตและประสาท หรืออาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยาเสพติดที่ใช้ และสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจส่งตัวผู้นั้นไปสถานพยาบาลยาเสพติดหรือศูนย์คัดกรองต่อไป
               เมื่อผู้สมัครใจเข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่งเข้ารับการบําบัดรักษาและปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว
               หากผู้เข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่งหลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบําบัดรักษาจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจัดทําประวัติ ข้อมูล และพฤติการณ์ของผู้หลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบําบัดรักษาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้เข้ารับการบําบัดรักษาตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๑๕  เพื่อประโยชน์ในการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจหรือค้นผู้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าเสพยาเสพติด
               (๒) ยึดยาเสพติดจากผู้ครอบครองยาเสพติด
               (๓) ตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบสารเสพติดในร่างกายของบุคคลเมื่อมีเหตุจําเป็นประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ
               (๔) สอบถามและตรวจสอบ เพื่อทราบชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ประวัติ รายได้ และพฤติการณ์อื่นของบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
               (๕) สอบถามความสมัครใจและให้ลงนามสมัครใจหรือไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา
               (๖) เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) และเพื่อส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานพยาบาลยาเสพติด จะให้บุคคลนั้นอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้แต่ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย
               (๗) บันทึกพฤติการณ์แห่งการดําเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) และส่งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่จะดําเนินคดีกับบุคคลนั้น
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตําแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่กําหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกําหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๑๑๖  ให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนดสถานที่ที่เป็นศูนย์คัดกรอง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ให้ศูนย์คัดกรองมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
               (๒) คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต
               (๓) พิจารณาส่งต่อผู้เข้ารับการบําบัดรักษาไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๔) จัดทําข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองและข้อมูลอื่นของผู้รับการคัดกรอง

               มาตรา ๑๑๗  ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอํานาจดําเนินการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ ประเมินผล ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง จัดทําและเก็บข้อมูลประวัติของผู้เข้ารับการบําบัดรักษาหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งดําเนินการลดอันตรายจากยาเสพติด แล้วแต่กรณี

ลักษณะ ๔ การฟื้นฟูสภาพทางสังคม (มาตรา ๑๑๘ - ๑๒๐)

 

ลักษณะ ๔
การฟื้นฟูสภาพทางสังคม

-------------------------

               มาตรา ๑๑๘  ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมติดตาม ดูแล ให้คําปรึกษา แนะนํา ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบําบัดรักษาตามมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๖๙ เพื่อให้ผู้เข้ารับการบําบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยได้รับบริการด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จําเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับมากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
               ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสํานักงาน ป.ป.ส. สนับสนุนและช่วยเหลือการดําเนินการของหน่วยงานตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา การติดตามดูแลปัญหาด้านสุขภาพ และการให้การสงเคราะห์อื่น ๆ
               การฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวงโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

               มาตรา ๑๑๙  ในการฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามมาตรา ๑๑๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข หรือกรุงเทพมหานคร อาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือมอบหมายอาสาสมัครในพื้นที่ หรืออาจทําความตกลงเพื่อมอบหมายหรือส่งต่อให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน หรือองค์กรอื่น ที่ให้ความร่วมมือก็ได้

               มาตรา ๑๒๐  ให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คําแนะนํา ปรึกษา และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๒) ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม รวมทั้งการสนับสนุนผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษาให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
               (๓) ช่วยเหลือเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และให้การสงเคราะห์อื่น ๆ ที่จําเป็นต่อการดํารงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา
               (๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างหรือสถานประกอบการรับผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาเข้าทํางาน
               (๕) ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบําบัดรักษาและติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบําบัดรักษา

ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด (มาตรา ๑๒๑ - ๑๒๓)

 

ลักษณะ ๕
ความผิดเกี่ยวกับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๑๒๑  ห้ามผู้ใดทําการบําบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเป็นปกติธุระโดยใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายนี้ หรือกระทําการบําบัดรักษายาเสพติดไม่ว่าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งมิได้กระทําในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามที่กําหนดในประมวลกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การให้ความรู้ ให้คําปรึกษา หรือให้คําแนะนําแก่ผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน

               มาตรา ๑๒๒  ห้ามผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับการบําบัดรักษายาเสพติดหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําการดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน หรือชื่อหรือที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน หรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
               การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และเงื่อนไขในการโฆษณาตามใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกําหนดในกฎกระทรวง
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่สถานพยาบาลของรัฐ

               มาตรา ๑๒๓  ในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ หรือมีการใช้ข้อความโฆษณาไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต ให้ผู้อนุญาตมีอํานาจออกคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในโฆษณา
               (๒) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
               (๓) ห้ามการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการใดในการโฆษณา
               (๔) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น
               ในการออกคําสั่งตาม (๔) ให้ผู้อนุญาตกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโฆษณาโดยคํานึงถึงประโยชน์ของประชาชนกับความสุจริตใจในการกระทําของผู้ทําการโฆษณา