พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

 

พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ศ. ๒๕๕๐

-------------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

               พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด

               พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  บทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง หรือกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๔  ห้ามมิให้นําบทบัญญัติในหมวด ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น และหมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา แห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัว ตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

               มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
               "พนักงานอัยการ" หมายความรวมถึงอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
               "ยาเสพติด" หมายความว่า ยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค
               "
คณะกรรมการ ป.ป.ส." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "กรรมการ ป.ป.ส." หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
               "เจ้าพนักงาน ป.ป.ส."๑๐ หมายความว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

               มาตรา ๖๑๑  ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอํานาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอํานาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของตน
               กฎกระทรวงหรือระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๕/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
               มาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "ยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "คณะกรรมการ ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๕ นิยามคำว่า "กรรมการ ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               ๑๐ มาตรา ๕ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน ป.ป.ส." เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               ๑๑ มาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๑ การสืบสวน (มาตรา ๗ - ๑๐)

 

หมวด ๑
การสืบสวน

-------------------------

               มาตรา ๗  ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจปฏิบัติการอำพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
               การอำพราง หมายความว่า การดำเนินการทั้งหลายเพื่อปิดบังสถานะหรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินการโดยลวงผู้อื่นให้เข้าใจไปทางอื่น หรือเพื่อมิให้รู้ความจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
               ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจปฏิบัติการอำพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดไปก่อนแล้วรายงานผู้มีอำนาจอนุญาตตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
               การอนุญาตและการอำพรางตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งการดำเนินการตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย
               การกระทำและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการอำพรางของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

               มาตรา ๘  ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอำนาจครอบครองหรือให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุมทั้งในและนอกราชอาณาจักรเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้
               ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนั้น โดยในการมอบหมายให้คำนึงถึงระดับความรับผิดชอบของผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย
               การครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม หมายความว่า การครอบครองชั่วคราวซึ่งยาเสพติดเพื่อส่งต่อแก่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ คำสั่ง หรือการสะกดรอยติดตามของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ การส่งต่อนั้นให้รวมถึงการนำเข้าหรือส่งออกเพื่อการส่งต่อในหรือนอกราชอาณาจักรด้วย
               การขออนุญาต การอนุญาต การครอบครอง ระยะเวลาในการครอบครองหรือการให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย
               การกระทำและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทำของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

               มาตรา ๙  ในกรณีที่เจ้าพนักงานขอให้บุคคลใดซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเฉพาะในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่งเป็นการส่วนตัวในบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จะได้กระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ

               มาตรา ๑๐  ในกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานอาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดำเนินการให้ได้มาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดและการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้รับการร้องขอดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการตามคำร้องขอโดยปฏิบัติตามวิธีการในกฎหมายดังกล่าว
               เจ้าพนักงานผู้ใดเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลอื่นอันมิใช่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

หมวด ๒ การสอบสวน (มาตรา ๑๑)

 

หมวด ๒
การสอบสวน

-------------------------

               มาตรา ๑๑  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดสิ่งของไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในสามวันทำการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทำความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ไม่อาจส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ โดยให้บันทึกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

หมวด ๒/๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. (มาตรา ๑๑/๑ - ๑๑/๗)

 

หมวด ๒/๑
หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส.
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.

-------------------------

               มาตรา ๑๑/๑  เพื่อดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่และอํานาจดังต่อไปนี้
               (๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด หรือมีบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
               (๒) ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               (๓) ค้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               (๔) จับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๕) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่ได้รับมาจากการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
               (๖) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นกรณีเร่งด่วน ก่อนดําเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน แล้วรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายในเจ็ดวันเพื่อดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
               (๗) ตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย แล้วแต่กรณี
               (๘) สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๙) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการใด ๆ มาให้ถ้อยคําหรือให้ส่งบัญชี ข้อมูล เอกสาร หรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา
               การใช้อํานาจตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนด และแสดงความบริสุทธิ์ก่อนการเข้าค้น รายงานเหตุผล และผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป และบันทึกเหตุอันควรสงสัยตามสมควรและเหตุอันควรเชื่อที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถาน หรือสถานที่ค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นส่งมอบสําเนาหนังสือนั้นให้แก่ผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทําได้ และหากเป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการพลเรือนตําแหน่งประเภทบริหาร ตําแหน่งประเภทอํานวยการ ตําแหน่งประเภทวิชาการระดับชํานาญการขึ้นไป ตําแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป หรือข้าราชการตํารวจตําแหน่งตั้งแต่สารวัตรหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือข้าราชการทหารตําแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับกองร้อยหรือเทียบเท่าขึ้นไป
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตําแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอํานาจตามที่ได้กําหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดําเนินการ ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกําหนดด้วยความเห็นขอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. โดยทําเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจําตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
               เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงเอกสารมอบหมายนั้นต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
               ในการปฏิบัติการตามมาตรานี้ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
               ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทํารายงานผลการปฏิบัติตามมาตรานี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจําปี โดยให้รายงานข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค ปริมาณการปฏิบัติงานตามงบประมาณและกองทุนประจําปี และผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานโดยละเอียด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานดังกล่าวพร้อมข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

               มาตรา ๑๑/๒  ในกรณีจําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงานป.ป.ส. มีอํานาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
               วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๓  ในกรณีที่มีการยึดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดโดยบันทึกรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้และให้ดําเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้
               (๒) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือประเภท ๕ หรือสารระเหยที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนทําลายหรือนําไปใช้ประโยชน์ได้
               (๓) ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ยึดไว้ ให้สถานตรวจพิสูจน์คืนพนักงานสอบสวน
               การตรวจรับ การเก็บรักษา การทําลาย การนําไปใช้ประโยชน์ และการรายงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามมาตรา ๑๑/๑ หรือมาตรา ๑๑/๒ ถ้าเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ ให้บุคคลนั้นมีอํานาจช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้

               มาตรา ๑๑/๕  ในกรณีจําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นหนังสือจะยื่นคําขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญา เพื่อมีคําสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
               การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใด ประกอบกับเหตุผลและความจําเป็น ดังต่อไปนี้
               (๑) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิดหรือจะมีการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
               (๒) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
               (๓) ไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้
               การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสั่งอนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยกําหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารในสิ่งสื่อสารตามคําสั่งดังกล่าวจะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ภายหลังที่มีคําสั่งอนุญาต หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุผลความจําเป็นไม่เป็นไปตามที่ระบุหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอํานาจเปลี่ยนแปลงคําสั่งอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร
               เมื่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ดําเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้รายงานการดําเนินการให้ศาลทราบ
               บรรดาข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาและใช้ประโยชน์ในการสืบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในการดําเนินคดีเท่านั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๖  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๑/๑ ให้ถือว่ากรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอํานาจตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอํานาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) ซึ่งกระทําความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไว้เพื่อทําการสืบสวนสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกําหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าว เป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               การควบคุมผู้ถูกจับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๑/๗  การแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย เว้นแต่กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสํานวนให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีแล้วพนักงานอัยการเห็นควรแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทําความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการเป็นผู้อนุมัติให้แจ้งข้อหาเพื่อดําเนินคดีตามมาตรานี้ และเมื่อดําเนินการตามที่ได้รับอนุมัติแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบทันที
               การขออนุมัติ การอนุมัติ และการรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง


               หมวด ๒/๑ หน้าที่และอำนาจของกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มาตรา ๑๑/๑ ถึงมาตรา ๑๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๑/๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น (มาตรา ๑๒ - ๑๓)

 

หมวด ๓
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

-------------------------

               มาตรา ๑๒  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจำเลยมีทนายความ ถ้าปรากฏว่าจำเลยคนใดจงใจไม่มาศาลหรือหลบหนี และมีความจำเป็นเพื่อมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบในภายหลัง เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรก็ให้ศาลมีอำนาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจำเลย แต่ต้องให้โอกาสทนายความของจำเลยที่จะถามค้านและนำสืบหักล้างพยานหลักฐานนั้นได้

               มาตรา ๑๓  ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

หมวด ๔ อุทธรณ์และฎีกา (มาตรา ๑๔ - ๒๐)

 

หมวด ๓
วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น

-------------------------

               มาตรา ๑๔  ให้จัดตั้งแผนกคดียาเสพติดขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

               มาตรา ๑๕  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
               เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์หรือคำร้องเช่นว่านั้นพร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว

               มาตรา ๑๕/๑  ในกรณีที่ตามคําพิพากษาจําเลยต้องรับโทษจําคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจําเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จําเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจําเลยก็ได้
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จําเลยได้รับการรอการลงโทษจําคุก หรือรับโทษจําคุกตามคําพิพากษาครบถ้วนแล้ว

               มาตรา ๑๖  คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนและคำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗  ในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน และกรรมใดกรรมหนึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หากมีการอุทธรณ์ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมความผิดอื่น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในความผิดอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย

               มาตรา ๑๘  ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๙ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด
               คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในการกระทำกรรมอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คู่ความอาจฎีกาได้ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๙  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๑๘ วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้
               เมื่อมีคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ศาลฎีกาอาจพิจารณารับฎีกาในปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้วินิจฉัยก็ได้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย
               คดีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้วินิจฉัย ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์
               หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ ตลอดจนการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทั้งนี้ ในระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุเงื่อนเวลาของการสั่งไม่อนุญาตที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการปฏิบัติตามมาตรา ๒๖๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               ระเบียบตามวรรคสี่ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๙/๑  ให้นําความในมาตรา ๑๕/๑ มาใช้บังคับกับการยื่นคําขออนุญาตฎีกาและการฎีกาโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๐  การอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร


               มาตรา ๑๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔
               มาตรา ๑๙/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๕ การบังคับโทษปรับ (มาตรา ๒๑) (ยกเลิก)

 

หมวด ๕
การบังคับโทษปรับ

-------------------------

               มาตรา ๒๑ (ยกเลิก)


               หมวด ๕ การบังคับโทษปรับ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมวด ๖ อายุความ (มาตรา ๒๒ - ๒๓)

 

หมวด ๖
อายุความ

-------------------------

               มาตรา ๒๒  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สำหรับฐานความผิดซึ่งต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสามสิบปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ
               ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วผู้กระทำความผิดวิกลจริตและศาลสั่งงดการพิจารณาหรือหลบหนีจนเกินกำหนดตามวรรคหนึ่งแล้วนับแต่วันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา หรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน

               มาตรา ๒๓  ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใด และผู้นั้นยังมิได้รับโทษหรือได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนเพราะหลบหนี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษเกินกำหนดเวลาสามสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ผู้นั้นหลบหนี แล้วแต่กรณี เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๒๔)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๒๔  บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
        โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
         รองนายกรัฐมนตรี

 

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้เปลี่ยนแปลงไปสู่อาชญากรรมที่มีการจัดตั้งในลักษณะองค์กร และมีลักษณะพิเศษมากยิ่งขึ้น โดยผู้กระทำความผิดอาศัยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดประกอบกับมีคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีดังกล่าวมีลักษณะพิเศษและซับซ้อนแตกต่างจากการกระทำความผิดอาญาทั่วไป สมควรมีกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดโดยเฉพาะเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนโดยการใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนพิเศษ และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การอุทธรณ์ ฎีกา และอายุความ รวมทั้งกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับชำระค่าปรับตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาและบังคับโทษคดียาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อจัดทําประมวลกฎหมายยาเสพติด ทําให้ต้องมีการยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ และในประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ได้กําหนดเฉพาะบทบัญญัติของกฎหมายสารบัญญัติเท่านั้น สําหรับบทบัญญัติของกฎหมายวิธีสบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมถึงการดําเนินการเกี่ยวกับยาเสพติดที่ถูกยึดไว้ตามกฎหมายซึ่งเดิมเคยกําหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น สมควรนํามารวมกําหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติดและปรับปรุงบทบัญญัติบางประการให้เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด อีกทั้งกําหนดบทบัญญัติเรื่องการแสดงตนของจําเลยต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ การยื่นคําขออนุญาตฎีกาและการฎีกาให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๙ ก/หน้า ๔๕/๑๔ มกราคม ๒๕๕๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๗๓ ก/หน้า ๘๑/๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔