พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. ๒๕๖๑
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๗ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
(๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วย
“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด” หมายความว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“วันเลือกตั้ง” หมายความว่า วันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง
“การเลือกตั้ง” หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“เขตเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
“หน่วยเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดให้ทำการออกเสียงลงคะแนน
“ที่เลือกตั้ง” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการออกเสียงลงคะแนน และให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่เลือกตั้งด้วย
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
“อำเภอ” หมายความรวมถึงเขตด้วย
“ตำบล” หมายความรวมถึงแขวงด้วย
“ศาลากลางจังหวัด” หมายความรวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย
“ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงสำนักงานเขตด้วย
“เทศบาล” หมายความรวมถึงเมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วย
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จำเป็นได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างเวลานับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการประชุมคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกรรมการแต่ละคนอาจอยู่ ณ สถานที่แตกต่างกันได้ และให้เลขาธิการดำเนินการบันทึกเสียงและภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘ การพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นผู้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้
การปฏิบัติหน้าที่ของศาลฎีกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะผู้พิพากษา ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๙ ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน ชุมชน รวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไป ให้มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
การส่งเสริม สนับสนุน และการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยอย่างน้อยต้องมีมาตรการคุ้มครองมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล รวมตลอดทั้งมาตรการรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลด้วย
เบาะแสหรือข้อมูลที่องค์กร ชุมชน หรือบุคคลตามวรรคหนึ่งแจ้งต่อคณะกรรมการ จะนำไปเป็นเหตุในการดำเนินคดีแก่ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลนั้นในทางใดมิได้ เว้นแต่เป็นเบาะแสหรือข้อมูลที่ผู้แจ้งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ
มาตรา ๑๐ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๑/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
มาตรา ๑๑๑ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(๑) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสี่ร้อยคน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กําหนด เขตเลือกตั้งละหนึ่งคน
(๒) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทําขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียวทั้งประเทศ
มาตรา ๑๒ ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดวันเลือกตั้ง
(๒) กำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน
(๓) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง
(๔)๒ กําหนดวันและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
ในกรณีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นำความใน (๑) และ (๒) มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๓ ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวพร้อมกับชื่อของพรรคการเมืองนั้นให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
เมื่อพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลใดตามวรรคหนึ่งแล้ว บุคคลนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นจะถอนรายชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคคลนั้นได้เฉพาะกรณีบุคคลนั้นตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง
การคัดเลือกรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้
มาตรา ๑๔ การเสนอรายชื่อบุคคลตามมาตรา ๑๓ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (๑) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น
มาตรา ๑๕ กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๒ (๑) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๐๒ และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าการดำเนินการเลือกตั้งต่อไปตามกำหนดวันเดิมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง
ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการนับอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและอายุของผู้สมัคร ให้นับถึงวันเลือกตั้งที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๒ (๑)
มาตรา ๑๖ ในการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หากคณะกรรมการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและให้ย่นหรือขยายระยะเวลาหรืองดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เฉพาะในการเลือกตั้งนั้น เพื่อให้เหมาะสมและจำเป็นแก่การดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยรวดเร็ว สุจริตและเที่ยงธรรมได้
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้สมัครเดิมที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามยังคงเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่โดยไม่ต้องรับสมัครใหม่ เว้นแต่จะไม่มีผู้สมัครเดิมเหลืออยู่
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การฟ้องคดีหรือการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการในการจัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งอันมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุที่จะฟ้องคดีหรือยื่นคำร้อง แต่มิให้นำมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับ
การพิจารณาคดีและการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดไม่กระทบถึงการดำเนินการเลือกตั้งหรือการกระทำอื่นใดที่ได้ดำเนินการไปก่อนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
การปฏิบัติหน้าที่ของศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ตุลาการซึ่งร่วมประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด องค์คณะตุลาการ ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะตุลาการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนด
การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดตามมาตรานี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ
๑ มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๑๒ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๒
เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๑๘ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหนึ่งคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และดำเนินกิจการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มชื่อ และการถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งมีหน้าที่กำกับดูแลการออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน และการประกาศผลการนับคะแนน
การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลใด เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งได้ตามสมควร
การใดที่เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการจะออกระเบียบให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลตามวรรคสามทำหน้าที่แทนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น การดำเนินการ การแจ้ง หรือการยื่นที่กระทำต่อผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการ แจ้ง หรือได้ยื่นต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแล้ว
มาตรา ๑๙ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(๑)๑ คณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งเก้าคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง ในกรณีที่หน่วยเลือกตั้งใดมีความจําเป็นอาจแต่งตั้งกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งเพิ่มได้ตามหลักเกณฑ์และไม่เกินจํานวนที่คณะกรรมการกําหนด
(๒) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
การแต่งตั้งและการฝึกอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยในการฝึกอบรมจะดำเนินการฝึกอบรมผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเพื่อสำรองไว้มากกว่าจำนวนที่ต้องใช้จริงแต่ไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ตรวจการเลือกตั้งพบเห็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ใดกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกระทำการใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้รายงานคณะกรรมการหรือกรรมการโดยทันที และให้คณะกรรมการหรือกรรมการมีอำนาจสั่งเปลี่ยนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่แจ้งเตือน ให้รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่กรรมการเป็นผู้พบเห็นการกระทำตามวรรคสาม ให้กรรมการมีอำนาจสั่งเปลี่ยนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ในกรณีที่เห็นว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าเป็นการกระทำของบุคคลซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ หรือสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำนั้นก็ได้ แล้วรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๐ ก่อนวันเลือกตั้ง หากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีไม่ครบจำนวนไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ครบจำนวน
มาตรา ๒๑ ในวันเลือกตั้ง ถ้าถึงเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนนแล้วมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบจำนวน แต่มาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ได้รับแต่งตั้ง ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ได้ และให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพิ่มเติมให้ครบจำนวนก่อนการนับคะแนน
ในกรณีที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ครบจำนวนโดยเร็ว
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่เลย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น
การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ หรือละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ให้กรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ
มาตรา ๒๓ ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง
มาตรา ๒๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
(๑) กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
(๒) เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
สำหรับบุคคลตาม (๒) ให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญานับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งจนสิ้นสุดแห่งการงานในหน้าที่
มาตรา ๒๕ ค่าตอบแทนของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
๑ มาตรา ๑๙ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๑
จำนวนสมาชิก เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๒๖๑ การกําหนดจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดําเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ใช้จํานวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน จํานวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(๒) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (๑) ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
(๓) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจํานวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
(๔) เมื่อได้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (๒) และ (๓) แล้ว ถ้าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสี่ร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคํานวณตาม (๓) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคํานวณนั้นในลําดับรองลงมาตามลำดับจนครบจํานวนสี่ร้อยคน
(๕) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจํานวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าซึ่งจะต้องกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ และต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน โดยถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้
(๒) ในกรณีที่การกำหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ใน (๑) จะทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด
(๓) เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และ (๒) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๘ เมื่อได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้เขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
ในกรณีที่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่และมีผลให้พื้นที่ของเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ให้การดำเนินการใดที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก่อนมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นอันใช้ได้
มาตรา ๒๙ ในกรณีที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ให้คณะกรรมการถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้วเป็นหลักและปรับปรุงแก้ไขตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๒๗ และให้นำความในมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าวัน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดหน่วยเลือกตั้งที่จะพึงมีในแต่ละเขตเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตของหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อยจะรวมหมู่บ้านที่อยู่ติดกันตั้งแต่สองหมู่บ้านขึ้นไปเป็นหน่วยเลือกตั้งเดียวกันก็ได้ สำหรับในเขตเทศบาล เขตกรุงเทพมหานคร หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้เขตชุมชน แนวถนน ตรอก ซอย คลอง หรือแม่น้ำ เป็นเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๒) ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละหนึ่งพันคนเป็นประมาณ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกหรือไม่ปลอดภัยในการไปออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้ หรือจะกำหนดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นโดยให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้
(๓) ที่เลือกตั้งต้องเป็นสถานที่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าออกได้สะดวก เพื่อการออกเสียงลงคะแนนมีความเหมาะสม มีขนาดพอสมควร และควรตั้งอยู่ในย่านกลางของหน่วยเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของที่เลือกตั้งไว้ด้วย ตามลักษณะของท้องที่และภูมิประเทศในการออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในท้องที่ใดถ้าเห็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเพื่อความปลอดภัยของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจประกาศกำหนดที่เลือกตั้งนอกเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยเลือกตั้งนั้น
ให้ปิดประกาศการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งไว้ ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
การเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยเลือกตั้งหรือที่เลือกตั้ง ให้กระทำได้โดยประกาศก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน เว้นแต่ในกรณีเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จะประกาศก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่าสิบวันก็ได้ และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๒
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๓๑ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
(๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง
มาตรา ๓๒ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
(๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๔) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ส่วนที่ ๓
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๓๓ ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งไว้ในแต่ละเขตเลือกตั้งภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้ง ให้ดำเนินการแจ้งตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ การแจ้งเหตุดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ในการแจ้งเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเป็นหนังสือหรือโดยวิธีการอื่นเพื่อชี้แจงเหตุดังกล่าว โดยอาจมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งแทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุนั้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ในกรณีที่บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้แจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งตามวรรคสาม มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
การแจ้งเหตุ วิธีการแจ้งเหตุทางอิเล็กทรอนิกส์ บุคคลที่จะรับแจ้งเหตุ สถานที่รับแจ้งเหตุ การพิจารณาการแจ้งเหตุ และการอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยในการกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย ในการนี้ ให้คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดของเหตุที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งด้วย
มาตรา ๓๔ เมื่อครบกำหนดหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ให้บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุตามมาตรา ๓๓ หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร
ในกรณีที่ประกาศรายชื่อตามวรรคหนึ่งมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๓๓ เพื่อดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๒) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(๓) สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(๔) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(๕) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การจำกัดสิทธิตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง
ส่วนที่ ๔
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๓๖ เมื่อมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใดแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่ประชาชนสะดวกในการตรวจสอบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าวัน กับให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง มิให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง ให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าตนหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแห่งหน่วยเลือกตั้งที่ตนหรือผู้นั้นสมควรมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน
เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐาน และถ้าเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้สั่งเพิ่มชื่อตามที่ยื่นคำร้องลงในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเร็ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ให้สั่งยกคำร้อง และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องโดยแสดงเหตุผลไว้ด้วย
เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคสองแล้ว ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือต่อศาลแพ่งสำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าวัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจะให้เพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ได้รับคำร้องหรือไม่
เมื่อศาลได้รับคำร้องตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งโดยเร็วที่สุด และในกรณีที่มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปก่อนได้รับคำสั่งศาล ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วย
การใดที่ได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนได้รับคำสั่งศาลให้เป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย
มาตรา ๓๘ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ประกาศตามมาตรา ๓๖ มีชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน เพื่อให้ถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรสั่งถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือสมควรยกคำร้อง ก็ให้มีคำสั่งถอนชื่อผู้นั้นหรือยกคำร้อง แล้วแต่กรณี และให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นหรือเจ้าบ้านทราบ และให้นำความในมาตรา ๓๗ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลใด แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ให้สำนักงานจัดทำทะเบียนผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและบันทึกการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นไว้ และในกรณีที่ได้มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้สำนักงานแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งถอนชื่อผู้ซึ่งศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยการขีดชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งหมายเหตุไว้ด้วยว่าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งศาล
กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งคำพิพากษาดังกล่าวต่อสำนักงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สอดคล้องกัน
มาตรา ๔๐ ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
กรณีดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
(๑) การย้ายบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าบ้านเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน
(๒) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริงโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(๓) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน
ความในวรรคสอง (๑) มิให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา หรือสถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใดที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ที่ย้ายเจ้าหน้าที่ นักศึกษา หรือพนักงานของตน หรือบุคคลที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เข้ามาในทะเบียนบ้านของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ส่วนที่ ๑
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๔๑ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
(๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
(๔) ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
(ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
(ง) เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี
มาตรา ๔๒ บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๔) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๖) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๘) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๙) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
(๑๕) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(๑๖) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(๑๗) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(๑๘) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(๑๙) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๒๐) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๒๑) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ส่วนที่ ๒
การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๔๓ ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้งและได้รับการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ และต้องไม่เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
มาตรา ๔๔ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศวิธีการหรือสถานที่รับสมัครภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการกำหนดวันเลือกตั้ง กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาจมีการเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยจะกำหนดให้การรับสมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดเดียวกันกระทำในสถานที่เดียวกันก็ได้
มาตรา ๔๕ ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครยื่นสมัครรับเลือกตั้งตามที่กำหนดตามมาตรา ๔๔ ภายในระยะเวลาการรับสมัคร โดยมีเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งต้องมีคำรับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
(๓) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
(๔) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๒) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๔๖ ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบการสมัครของผู้สมัครว่าได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คืนเอกสารและหลักฐานทั้งหมดให้ผู้สมัครนั้น
ในกรณีที่ผู้สมัครได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครนั้นเรียงตามลำดับการยื่นสมัคร และให้ทำสำเนาคู่ฉบับไว้เป็นหลักฐานและให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร
ประกาศตามวรรคสองอย่างน้อยให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล และรูปถ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการออกเสียงลงคะแนน
มาตรา ๔๗ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ตามมาตรา ๔๕ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ในเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้
ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับแก่การจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๘ ในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ตามมาตรา ๔๖
ในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงลำดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน
เมื่อได้กำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้วจะเปลี่ยนแปลงหมายเลขประจำตัวผู้สมัครไม่ได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ
มาตรา ๔๙ กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยในการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกา ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน และเมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของศาล
มาตรา ๕๐ เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ แล้ว ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครได้เฉพาะกรณีผู้สมัครตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๑ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในประกาศรายชื่อที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ประกาศตามมาตรา ๔๖ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัคร และในกรณีที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำวินิจฉัยเป็นประการใดก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ
มาตรา ๕๒ ก่อนวันเลือกตั้ง หากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัย ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีผลอยู่ในวันนั้น
มาตรา ๕๓๑ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคําสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้นําเนินการเลือกตั้งใหม่
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว และดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๓๘
มาตรา ๕๔ กรณีที่พบเหตุตามมาตรา ๕๓ ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น๒
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
มาตรา ๕๕ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร หากประสงค์จะส่งผู้แทนไปประจำอยู่ ณ ที่เลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ให้ยื่นหนังสือแต่งตั้งผู้แทนของตนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งได้ที่เลือกตั้งละหนึ่งคน
ผู้แทนพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานได้ และต้องปฏิบัติตามที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกำหนด
ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคสอง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีคำสั่งให้ผู้แทนพรรคการเมืองนั้นออกไปจากที่เลือกตั้ง และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง
การปฏิบัติงานของผู้แทนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
๑ มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๕๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๓
การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
-------------------------
มาตรา ๕๖๑ พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหนึ่งบัญชี มีจํานวนไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ดําเนินการสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการที่กําหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(๒) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว
(๓) ให้จัดทําบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการกําหนด โดยจัดเรียงลําดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลข
(๔) รายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นและไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
มาตรา ๕๗ การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๕๖ ต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามวิธีการและสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการอาจเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้
ในการยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นพร้อมเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้
(๑) หนังสือยินยอมของผู้สมัคร
(๒) หนังสือรับรองของพรรคการเมืองว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว
(๓) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
(๔) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
(๕) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๓) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีพรรคการเมืองใดยื่นเอกสารและหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คณะกรรมการมีอำนาจไม่รับสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครรายนั้นได้ และให้สำนักงานแจ้งเหตุผลให้พรรคการเมืองทราบ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
ให้นําความในมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับแก่การให้หมายเลขประจําตัวสําหรับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อด้วยโดยอนุโลม๒
มาตรา ๕๘ เมื่อคณะกรรมการรับสมัครผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๕๙ กรณีที่คณะกรรมการไม่รับสมัครบุคคลใดหรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๕๘ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๖๐ ให้นำความในมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการประกาศตามมาตรา ๕๘ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๖๑ ก่อนวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการเห็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร และให้นำความในมาตรา ๕๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๕๗ วรรคห้า เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๔
ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียง
-------------------------
มาตรา ๖๒๑ ให้คณะกรรมการประกาศกําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
(๑) จํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
(๒) จํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อผู้ใดของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจํานวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย
ในการกําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตาม (๒) จะกําหนดโดยใช้จํานวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคํานวณมิได้ โดยให้คณะกรรมการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง และให้มีการทบทวนการกําหนดจํานวนเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับความจําเป็นและสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุกสี่ปี
มาตรา ๖๓ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่กำหนดตามมาตรา ๖๒ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใด ๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นยินยอมหรือไม่คัดค้าน ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น ๆ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการจัดให้แก่ผู้สมัครทุกคนและพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน
มาตรา ๖๔ ในการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งในระหว่างระยะเวลาดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันที่คณะกรรมการประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง
(๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการหรือการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการจะขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปก็ได้
ให้คณะกรรมการประกาศประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้เป็นตัวอย่างให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง และประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน
มาตรา ๖๕ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๖๔ แล้ว พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๓ โดยให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
การกระทำตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกระทำภายในเขตเลือกตั้งของตน ให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๔ โดยให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของผู้นั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การให้ตามปกติประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควร ทั้งนี้ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๖ ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๖๕ ให้คณะกรรมการสั่งให้เลขาธิการบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหรือของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๖๕ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป แล้วแจ้งให้พรรคการเมืองหรือบุคคลดังกล่าวทราบ พรรคการเมืองหรือบุคคลดังกล่าวที่ไม่เห็นด้วยให้มีสิทธิยื่นคัดค้านตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๗ ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง และผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของบัญชีรายรับและรายจ่าย
ให้คณะกรรมการเปิดเผยรายงานสรุปรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครแต่ละคนและพรรคการเมืองแต่ละพรรคโดยประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการหรือมีการคัดค้านว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด หรือปรากฏว่าบัญชีรายรับและรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง ให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อดำเนินการต่อไปโดยเร็ว และให้เก็บรักษาบัญชีรายรับและรายจ่าย เอกสารและหลักฐานดังกล่าวไว้จนกว่าคณะกรรมการจะดำเนินการแล้วเสร็จ
มาตรา ๖๘ เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าวให้มีผลภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
(๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
(๓) ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
(๔) ในกรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม
มาตรา ๖๙ ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา ๘๑
มาตรา ๗๐ การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วย
ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
ให้นำค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรานี้ ไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมืองด้วย
มาตรา ๗๑ การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ มาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๓ คณะกรรมการจะกำหนดให้ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัครและพรรคการเมือง
มาตรา ๗๒ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทำมิได้
มาตรา ๗๓๒ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(๑) จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
(๓) ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
มาตรา ๗๔ การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
มาตรา ๗๕ ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ลงสมัครหรือไม่ส่งผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ
ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๗๗ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติโดยสุจริตของผู้นั้น
มาตรา ๗๘ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหรือกรรมการที่พบเห็นมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่าอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
ในกรณีตามวรรคสาม ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดพ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ ในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือห้ามเข้าเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งได้
มาตรา ๗๙ ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
มาตรา ๘๐ เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง
ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะมีผู้ช่วยหาเสียงก็ได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด และต้องแจ้งให้สำนักงานทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง ทั้งนี้ ตามรายการและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘๑ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ในการนี้ คณะกรรมการจะขอให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้
ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมืองได้ด้วย
มาตรา ๘๒ ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ที่จะต้องตรวจสอบดูแลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีที่พบเห็นการกระทำใดมิได้เป็นไปตามมาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๑ ต้องรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยทันที
พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน หรือเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดไม่รายงานให้คณะกรรมการทราบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัย และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแก่ผู้นั้นโดยเร็ว และแจ้งผลให้คณะกรรมการทราบด้วย ในกรณีที่ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้ถือว่าละทิ้งหน้าที่หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา ๘๓ ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด โดยการกำหนดดังกล่าวให้หารือกับพรรคการเมืองด้วย
๑ มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๑
การออกเสียงลงคะแนน
-------------------------
มาตรา ๘๔๑ การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ ซึ่งต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถจําแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน
บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีช่องทําเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจํานวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น
บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องมีช่องทําเครื่องหมายและหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองพร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
บัตรเลือกตั้งตามวรรคสองและวรรคสามต้องมีช่องทําเครื่องหมายว่าไม่เลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด แล้วแต่กรณี ด้วย
การออกเสียงลงคะแนนให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด
มาตรา ๘๕ หีบบัตรเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด ในการกำหนดเกี่ยวกับหีบบัตรเลือกตั้งต้องกำหนดให้สามารถใช้หีบบัตรเลือกตั้งเดิมได้ด้วย
มาตรา ๘๖ ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา
มาตรา ๘๗ ก่อนเริ่มเปิดให้มีการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรเลือกตั้งไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเลือกตั้งในที่เปิดเผยแสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ ณ ที่เลือกตั้งนั้นเห็นว่าหีบบัตรเลือกตั้งเป็นหีบเปล่า และให้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แล้วให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองคนซึ่งอยู่ในที่เลือกตั้งในขณะนั้นลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย เว้นแต่ไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง
มาตรา ๘๘ ในระหว่างเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตรไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปออกเสียงลงคะแนน
บัตรประจำตัวประชาชนแม้จะหมดอายุแล้วก็ให้สามารถใช้ในการแสดงตนตามวรรคหนึ่งได้
ขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบการแสดงตนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘๙ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งใด ให้ออกเสียงลงคะแนนได้ ณ ที่เลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น และให้มีสิทธิลงคะแนนได้เพียงแห่งเดียว
มาตรา ๙๐ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งอื่นที่อยู่นอกหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเดียวกัน สามารถออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบันทึกการลงคะแนนของผู้นั้นไว้ และแจ้งให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทราบ ทั้งนี้ ตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๑๒ การออกเสียงลงคะแนน ให้ทําเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทําเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้ทําเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทําเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
มาตรา ๙๒ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ในการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควร อาจกำหนดให้มีการจัดที่เลือกตั้งสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ เป็นกรณีพิเศษ โดยจัดให้บุคคลนั้นได้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ สถานที่ดังกล่าว และเมื่อได้ลงทะเบียนแล้ว ให้หมดสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
การอำนวยความสะดวกตามวรรคหนึ่ง การจัดที่เลือกตั้งและการลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด การลงทะเบียนดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้ขอลงทะเบียนด้วย
มาตรา ๙๓๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๒ เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทําเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งแล้วให้พับบัตรเลือกตั้งเพื่อมิให้ผู้อื่นทราบว่าลงคะแนนอย่างไร แล้วให้นําบัตรเลือกตั้งนั้นใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเองต่อหน้ากรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง
มาตรา ๙๔ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น พยายามออกเสียงลงคะแนนหรือออกเสียงลงคะแนน โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่มิได้มีไว้สำหรับตนหรือที่ปลอมแปลงขึ้นต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อออกเสียงลงคะแนน
มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจเพื่อออกเสียงลงคะแนน
ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง
มาตรา ๙๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง
มาตรา ๙๗ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว
มาตรา ๙๘ ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนนโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง
มาตรา ๙๙๔ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนําบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนอย่างไร
มาตรา ๑๐๐ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนนได้
มาตรา ๑๐๑ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน
มาตรา ๑๐๒ ในกรณีที่การออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งแห่งใด ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการโดยเร็ว
ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการโดยเร็ว
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
เมื่อได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาและกำหนดวันลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งโดยเร็ว
มาตรา ๑๐๓ เมื่อถึงกำหนดเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนนแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศปิดการออกเสียงลงคะแนน และงดจ่ายบัตรเลือกตั้ง แล้วให้ทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนไม่ได้ แต่ในกรณีที่ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนได้มาปรากฏตัวอยู่ในที่เลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วก่อนเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนนแต่ยังไม่ได้แสดงตนหรือรับบัตรเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นแสดงตนและมอบบัตรเลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งของหีบบัตรเลือกตั้ง และจัดทำรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตนและรับบัตรเลือกตั้ง และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือ แล้วประกาศให้ประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง ได้ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๐๔ ตั้งแต่เวลาที่ได้เปิดและปิดหีบบัตรเลือกตั้งที่ตั้งไว้เพื่อการออกเสียงลงคะแนน หรือภายหลังที่ได้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งนั้นเพื่อรักษาไว้เมื่อการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรเลือกตั้ง หรือบัตรเลือกตั้ง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้จัดทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย
๑ มาตรา ๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๓ มาตรา ๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๔ มาตรา ๙๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๒
การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๑๐๕ การจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในส่วนนี้แล้ว ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๐๖ ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
บุคคลตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ให้ยื่นขอลงทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และให้นำความในมาตรา ๑๐๗ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๗ ในการเลือกตั้งทั่วไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับคำสั่งจากทางราชการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี ให้ยื่นขอลงทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
การยื่นขอลงทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าเป็นการขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง จะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งหรือที่ตนประสงค์จะขอใช้สิทธิเลือกตั้งก็ได้ หรือคณะกรรมการจะกำหนดให้ลงทะเบียนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ตรวจสอบการมีสิทธิเลือกตั้งของผู้ขอลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้อง ให้ทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนั้น และกำหนดที่เลือกตั้งกลางที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน และแจ้งให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ และหมายเหตุสถานที่ที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเอกสารที่เกี่ยวข้อง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งลงทะเบียนผู้ใดแล้ว ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิอยู่เดิม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนั้น
การขอใช้สิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง สถานที่และจำนวนที่เลือกตั้งกลาง วันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน การออกเสียงลงคะแนน และการนับคะแนน การส่งบัตรเลือกตั้ง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ วันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิต้องเป็นวันเดียวกันทุกแห่งและจะกำหนดให้ลงคะแนนเกินหนึ่งวันมิได้
ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลที่มีหลักฐานแสดงว่าในวันเลือกตั้งตนมีหน้าที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่อื่นใดนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง จนไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๘ ผู้ใดลงทะเบียนตามมาตรา ๑๐๗ และได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่ ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา ๓๕
มาตรา ๑๐๙ ในการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรจะขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะในครั้งนั้น ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้
เมื่อได้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑
ให้นำความในมาตรา ๑๐๗ วรรคสี่ และมาตรา ๑๐๘ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน คณะกรรมการจะกำหนดให้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๑๑๐ ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศใด ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในประเทศนั้น โดยอาจจัดให้มีสถานที่ลงคะแนน หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือโดยวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการจัดให้มีสถานที่ออกเสียงลงคะแนนก็ได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๑๑ เมื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๙ แล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น หมดสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น
มาตรา ๑๑๒ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน ให้คณะกรรมการประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแยกตามประเทศ
มาตรา ๑๑๓ ในการออกเสียงลงคะแนนตามส่วนนี้ เมื่อได้ดำเนินการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการอาจจัดให้มีการดำเนินการล่วงหน้าเพื่อนำบัตรเลือกตั้งมานับรวมในวันเลือกตั้งได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเฉพาะท้องที่ คณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้
ในการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศจะกําหนดให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรก็ได้ หากจะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกําหนดให้แตกต่างไปจากมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ตามความจําเป็นและเหมาะสมก็ได้๑
มาตรา ๑๑๔ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งหรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่ใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีการส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือหีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน โดยมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งมิให้นับคะแนนนั้นโดยให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
ในกรณีที่มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักร ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนที่ใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ถือว่าการนับคะแนนนั้นเป็นโมฆะและให้ถือว่าบัตรเหล่านั้นเป็นบัตรเสีย
มาตรา ๑๑๕ กรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ตามมาตรา ๔๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ และมาตรา ๑๑๐ เฉพาะในเขตเลือกตั้งนั้นใหม่ ในกรณีการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๑๐ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้บุคคลใดมีอำนาจประกาศกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่แทนก็ได้
ในกรณีมีเหตุตามวรรคหนึ่งสองครั้งติดต่อกัน ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายสั่งงดการออกเสียงลงคะแนนสำหรับการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรในเขตเลือกตั้งนั้น ในกรณีเช่นนั้น ถ้าผู้ลงทะเบียนมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา ๓๕
๑ มาตรา ๑๑๓ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
ส่วนที่ ๓
การนับคะแนนและการรวมคะแนน
-------------------------
มาตรา ๑๑๖ เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ แล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง แล้วดำเนินการนับคะแนน
มาตรา ๑๑๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒๑ การนับคะแนนให้กระทำ ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยติดต่อกันจนเสร็จสิ้น และห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน
การนับคะแนนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด ซึ่งต้องกําหนดให้มีการนับคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทําเครื่องหมายในช่องทําเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ด้วย๑
มาตรา ๑๑๘ ในการนับคะแนนหากปรากฏว่ามีบัตรเสีย ให้แยกบัตรเสียออกไว้ต่างหากและห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนนไม่ว่ากรณีใด
บัตรเลือกตั้งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
(๑) บัตรปลอม
(๒) บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
(๓) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
(๔)๒ บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกินจํานวนหนึ่งคน หรือเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเกินหนึ่งบัญชีรายชื่อ
(๕)๓ บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด เว้นแต่เป็นการทําเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
(๖)๔ บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และทําเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ด้วย
(๗) บัตรที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เป็นบัตรเสีย
(๘) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสลักหลังในบัตรตามมาตรานี้ว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียตามความในอนุมาตราใด และลงลายมือชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่าสองคน เว้นแต่เป็นกรณีตาม (๗) ให้จัดทำบันทึกเหตุแห่งการเป็นบัตรเสียไว้เป็นหลักฐานแทนการสลักหลัง
มาตรา ๑๑๙ ห้ามมิให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนให้ผิดไปจากความจริงหรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใดแก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง
มาตรา ๑๒๐ เมื่อการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้น จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือจากการออกเสียงลงคะแนน ทั้งนี้ ให้กระทำโดยเปิดเผย และรายงานผลการนับคะแนนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งโดยเร็ว
เพื่อประโยชน์แก่การแจ้งข้อมูลการเลือกตั้งต่อประชาชนให้เกิดความรวดเร็ว คณะกรรมการอาจดำเนินการให้มีการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้
การประกาศผลการนับคะแนน การรายงานผลการนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๒๑ ถ้าการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้หรือไม่สามารถนับคะแนนได้จนเสร็จสิ้น อันเนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น หรือด้วยความจำเป็นตามสภาพที่อาจมีผลต่อความปลอดภัย ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดการนับคะแนนสำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อกำหนดวัน เวลา และสถานที่นับคะแนนต่อไปโดยเร็ว และรายงานผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการทราบโดยเร็ว ในกรณีมีเหตุอันสมควรคณะกรรมการจะเปลี่ยนแปลงกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดไว้ก็ได้
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งแล้วพบว่ามีบัตรเลือกตั้งที่ได้มีการออกเสียงลงคะแนนแล้วชำรุดหรือสูญหาย ให้รายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น
การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้ง และเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งวิธีการนับคะแนนใหม่ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๒๒๕ ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจํานวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งดําเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานความไม่ถูกต้องตรงกันพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการ พร้อมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งทราบ และนำส่งหีบบัตรและอุปกรณ์แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่คณะกรรมการจะมีความเห็นว่าความไม่ถูกต้องตรงกันนั้นมิได้เกิดจากการทุจริตและไม่ทําให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะสั่งให้ยุติก็ได้
มาตรา ๑๒๓๖ เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ประกาศผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
(๒) ประกาศผลการนับคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด
มาตรา ๑๒๔ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลการนับคะแนนแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือการนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง คณะกรรมการจะงดการประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้
๑ มาตรา ๑๑๗ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๑๑๘ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๓ มาตรา ๑๑๘ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๔ มาตรา ๑๑๘ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๕ มาตรา ๑๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๖ มาตรา ๑๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๖
การประกาศผลการเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๑๒๕ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๒๖ เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการดําเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครใหม่ โดยผู้สมัครเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น๑
ในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๗ ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
ในการตรวจสอบเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการต้องรับฟังรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การประกาศผลการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่
มาตรา ๑๒๘๒ เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
(๒) ให้นําคะแนนรวมจาก (๑) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
(๓) ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (๒) ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจํานวนเต็มคือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
(๔) ในกรณีที่จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจํานวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคํานวณตาม (๓) พรรคใดเป็นหรือมีเศษจํานวนมากที่สุด ให้ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีกหนึ่งคนเรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจํานวนหนึ่งร้อยคน
(๕) ในการดาเนินการตาม (๔) ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทําให้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเกินจํานวนหนึ่งร้อยคน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกําหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน
ให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองตามจํานวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคํานวณตามวรรคหนึ่งได้รับเลือกตั้งเรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นจนครบจํานวน แต่ต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จํานวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา ๘๓ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา ๑๒๙๓ เมื่อคณะกรรมการดําเนินการคํานวณสัดส่วนจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๒๘ แล้ว และคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งว่าผู้สมัครผู้ใดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๓๐๔ เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วให้นําผลการเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อมีประธานรัฐสภาแล้ว ให้ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยเร็ว
มาตรา ๑๓๑๕ (ยกเลิก)
๑ มาตรา ๑๒๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๑๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๓ มาตรา ๑๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๔ มาตรา ๑๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๕ มาตรา ๑๓๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๗
การดำเนินการกรณีการเลือกตั้ง
มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
-------------------------
มาตรา ๑๓๒ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใด กระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดก่อให้บุคคลอื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น หรือกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการ จนอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีคําสั่งดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่การกระทําการนั้นเป็นการกระทําเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครซึ่งกระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคําสั่ง
(๒) ในกรณีที่การกระทําการนั้นเป็นการกระทําเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในหน่วยเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย และให้คณะกรรมการสั่งมิให้นับเป็นคะแนนในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ มิให้นําความในมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่บัตรเสียดังกล่าว เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการมีคําสั่งภายหลังการนับคะแนนแล้ว๑
คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด
ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย
ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นระงับหรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมนั้นภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานว่าผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นด้วย ในการนี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่มีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรานี้ภายหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้คะแนนเลือกตั้งในลำดับซึ่งจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยพลัน
มาตรา ๑๓๓ เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และให้นำความในมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๓๔ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม คณะกรรมการอาจแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐดังกล่าวตามจำนวนที่เหมาะสม เป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะตามความจำเป็น เพื่อช่วยคณะกรรมการในการดำเนินการตรวจสอบสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวน รวมทั้งรับฟังคำชี้แจงหรือพยานหลักฐานแทนคณะกรรมการได้
การแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ และค่าตอบแทนของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๓๕ ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด อันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำหรือมีคำสั่งให้แก้ไขการกระทำตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดได้
ถ้ามีผู้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดีโดยเร็ว และแจ้งต่อคณะกรรมการเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไป
มาตรา ๑๓๖ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือให้ลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้คณะกรรมการมีอํานาจสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง๒
ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งที่การยึดหรืออายัดอยู่ในเขตศาลภายในสามวันนับแต่วันยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ถ้าศาลเห็นว่าเงินหรือทรัพย์สินตามคำร้องน่าจะได้ใช้หรือจะใช้เพื่อการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง
ความในมาตรานี้ไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้ซึ่งมีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในอันที่จะใช้อำนาจยึดหรืออายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๓๗๓ ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะดําเนินการสอดส่อง สืบสวน ไต่สวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อตรวจสอบให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้ว มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือกรรมการแต่ละคนพบเห็นการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้มีอํานาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดําเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่สําหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้ง
แบบบัญชีรายชื่อที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้ ในกรณีที่เป็นการดําเนินการของกรรมการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการก้าหนด
มาตรา ๑๓๘ เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา ๑๓๒ หรือภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
การพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการเป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด
ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และในกรณีที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง
มาตรา ๑๓๙ ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ว่าจะมีคำร้องขอหรือไม่ ให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้นั้นรับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งเช่นว่านั้น จำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ศาลฎีกาพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่คณะกรรมการเสนอต่อศาล
เงินที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่งให้นำส่งเข้ากองทุน
มาตรา ๑๔๐ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่ตนสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่พรรคการเมืองส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้มีสิทธิยื่นคัดค้านการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งจนถึงสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เว้นแต่
(๑) การคัดค้านเพราะเหตุตามมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๗ ให้ยื่นได้ตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง
(๒) การคัดค้านเกี่ยวกับการนับคะแนนให้คัดค้านในระหว่างเวลาที่ยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีคัดค้านการรวมคะแนนให้คัดค้านก่อนประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง
เมื่อคณะกรรมการได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน และพิจารณาดำเนินการตามหมวดนี้ แล้วแต่กรณี ต่อไป ทั้งนี้ การยื่นคำคัดค้านการเลือกตั้งและการพิจารณาให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
๑ มาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๑๓๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๓ มาตรา ๑๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๑๔๑ ผู้ซึ่งรับโทษตามมาตรา ๑๕๘ หรือมาตรา ๑๖๖ ให้ถือว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
มาตรา ๑๔๒ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔๓ ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ถ้าการกระทำตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทำหรือก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
มาตรา ๑๔๔ ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๑๔๕ ผู้ใดไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง มีหรือครอบครองไว้ซึ่งบัตรเลือกตั้งโดยไม่ชอบ ไม่ว่าบัตรเลือกตั้งนั้นจะเป็นบัตรเลือกตั้งที่สำนักงานเป็นผู้จัดให้มีขึ้นหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๔๖ ในระหว่างเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนนจนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน ถ้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดเผยให้แก่ผู้ใดทราบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดมาลงคะแนนหรือยังไม่มาลงคะแนนเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔๗ ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่วันลงคะแนนตามมาตรา ๑๐๖ และมาตรา ๑๐๗ ด้วย
มาตรา ๑๔๘ ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนดสิบปีและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๑๕๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๕๑ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
มาตรา ๑๕๒ ผู้สมัครผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๑๕๓ ผู้สมัครผู้ใดทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๕๗ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๕๔ ผู้สมัครผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน
ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามวรรคสอง ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง หรือเหรัญญิกของพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด ต้องรับโทษและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๕๕ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา ๖๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
ถ้าบัญชีรายรับและรายจ่ายที่ยื่นตามมาตรา ๖๗ เป็นเท็จ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
มาตรา ๑๕๖ ผู้ใด
(๑) ฝ่าฝืนมาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๙
(๒) หาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๗๐
ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๕๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ หรือเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๕๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ (๑) หรือ (๒) มาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ หรือมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๗๓ (๑) หรือ (๒) ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ
ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามมาตรา ๗๕ หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้นซึ่งรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้น และให้ถือเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
มาตรา ๑๕๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ (๓) (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี และให้นำความในมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วย
มาตรา ๑๖๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๔ หรือหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าด้วยประการใดเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๑๖๑ ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๗ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา ๑๖๒ ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๖๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๐๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๑๖๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ วรรคสอง มาตรา ๙๖ มาตรา ๙๘ มาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายก่อนถูกจับกุม ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งที่คณะกรรมการเห็นสมควรกันไว้เป็นพยานด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๖๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๗ หรือมาตรา ๙๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๖๖ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๑๖๗ ในการสืบสวนหรือไต่สวน หากปรากฏว่าการให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้รายใดจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดคนอื่นที่เป็นตัวการสำคัญ และสามารถที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น คณะกรรมการจะกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้
เมื่อคณะกรรมการมีมติไม่ดำเนินคดีกับบุคคลใดแล้วให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นอันระงับไป เว้นแต่ปรากฏในภายหลังว่าผู้ถูกกันไว้เป็นพยานได้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือไม่ไปเบิกความ หรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลไว้ ให้การกันบุคคลไว้เป็นพยานนั้นสิ้นสุดลงและคณะกรรมการอาจดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลนั้นต่อไปได้
มาตรการในการกันบุคคลไว้เป็นพยานตามวรรคหนึ่ง และการเพิกถอนการกันไว้เป็นพยานตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๖๘ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้การเพิกถอนสิทธิดังกล่าวมีผลในทันทีและเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๖๙ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๗๐ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าตัวการผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๑๗๑ ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
มาตรา ๑๗๒ ในวาระเริ่มแรก เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและได้ชำระเงินทุนประเดิมหรือค่าบำรุงพรรคการเมืองไว้แล้ว หากภายหลังนายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ให้ถือว่าผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมาตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง
มาตรา ๑๗๓ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๘ ให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง
มาตรา ๑๗๔ บุคคลใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ถือว่าผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๗๕ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเสียสิทธิเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้การเสียสิทธิของผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๗๖ เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อกำหนดเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและของผู้สมัครในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๗๗ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดีแพ่งต่อบุคคลใดที่มีความรับผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่
การกระทำใด ๆ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ถ้าการกระทำนั้นยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาล มีอำนาจดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่
มาตรา ๑๗๘ บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ กําหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยคน โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ และการคํานวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจํานวนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินการเลือกตั้งและการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจําเป็นต้องตรา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๔๐/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑/๒๘ มกราคม ๒๕๖๖
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๖๑
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นระเบียบเรียบร้อยอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน และให้หมายความรวมถึงข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ กรรมการ หรือผู้อำนวยการการเลือก แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
“วันเลือก” หมายความว่า วันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ แล้วแต่กรณี
“ผู้อำนวยการการเลือก” หมายความว่า ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ แล้วแต่กรณี
“สถานที่เลือก” หมายความว่า สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนดให้เป็นสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ แล้วแต่กรณี
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
“อำเภอ” หมายความรวมถึงเขตด้วย
“ศาลากลางจังหวัด” หมายความรวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย
“ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงสำนักงานเขตด้วย
“ผู้สูงอายุ” หมายความว่า ผู้มีอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จำเป็นได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างเวลานับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือก หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการประชุมคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกรรมการแต่ละคนอาจอยู่ ณ สถานที่แตกต่างกันได้ และให้เลขาธิการดำเนินการบันทึกเสียงและภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘ การพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้
การปฏิบัติหน้าที่ของศาลฎีกาเกี่ยวกับการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะผู้พิพากษา ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๙ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๑/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
หมวด ๑
ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก
-------------------------
มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕ วรรคสอง การแบ่งกลุ่มตามมาตรา ๑๑ เป็นไปเพื่อให้บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ทุกคนมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
มาตรา ๑๑ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้
(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๓) กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๔) กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๕) กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๖) กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๗) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงานหรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๘) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๙) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๐) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (๙)
(๑๑) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๒) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๓) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๔) กลุ่มสตรี
(๑๕) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๖) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๗) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๘) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๙) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๒๐) กลุ่มอื่น ๆ
การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (๒๐) ได้
มาตรา ๑๒ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือก ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
(๒) กำหนดวันรับสมัคร โดยเริ่มรับสมัครไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวันแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน
วันเลือกในระดับอำเภอ ต้องไม่เกินยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันเลือกในระดับจังหวัด ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศ ต้องไม่เกินสิบวันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
มาตรา ๑๓ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก
(๓) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี
(๔) ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
(ข) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(ค) ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(ง) เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
(จ) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา
ความใน (๓) ไม่ใช้บังคับแก่สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งสมัครในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๑๔) และ (๑๕)
มาตรา ๑๔ ผู้สมัครต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๔) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๖) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๘) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๙) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(๑๖) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(๑๗) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๘) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๑๙) เป็นข้าราชการ
(๒๐) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๑) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(๒๒) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๓) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๔) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๕) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
(๒๖) เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๕ ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร และชำระค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวนสองพันห้าร้อยบาท
ให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ ได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว และเมื่อได้ยื่นใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้
ผู้สมัครมีสิทธิสมัครในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๒๐) ได้ แม้จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านอื่นในกลุ่มอื่น
แบบใบสมัคร แบบหนังสือแจ้งการเสนอชื่อ วิธีการสมัคร ระยะเวลาการสมัคร สถานที่สมัคร การเรียงลำดับผู้สมัคร และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
แบบใบสมัครอย่างน้อยต้องมีข้อความที่ผู้สมัครต้องรับรองว่าตนมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
การกำหนดสถานที่สมัครต้องกำหนดให้อยู่ภายในเขตอำเภอที่จะมีการเลือก
มาตรา ๑๖ เอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร ประกอบด้วย
(๑) เอกสารหรือหลักฐานอันแสดงว่าตนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๑๑ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ข้อความแนะนำตัวของผู้สมัครซึ่งมีความยาวไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) เอกสารหรือหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่งทุกฉบับและทุกหน้า ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ให้รับรองความถูกต้องและเป็นจริงตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
เอกสารหรือหลักฐานตาม (๑) ต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้นั้นมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริง และต้องมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องแนบมาพร้อมกัน
การกำหนดตาม (๒) ให้คำนึงถึงความสะดวกในการเผยแพร่ให้ผู้สมัครรับรู้ และการกำหนดตาม (๓) ต้องไม่สร้างภาระแก่ผู้สมัครเกินสมควร
มาตรา ๑๗ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครภายในระยะเวลาหรือในวันที่กำหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่น หรือจะกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมก็ได้
มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภายในสำนักงานหรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ไม่ว่าในกรณีใด ห้ามมิให้เปิดเผยหรือทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่ตรวจสอบดังกล่าวล่วงรู้รายชื่อหรือจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร
มาตรา ๑๙ การเลือกในระดับอำเภอให้กระทำได้ แม้จะไม่มีผู้สมัครครบทุกกลุ่มตามมาตรา ๑๑
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ความปรากฏต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ไม่ว่าด้วยเหตุใดว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือหนึ่งอำเภอ หรือแสดงข้อมูลในใบสมัครหรือเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัคร ในกรณีที่รับสมัครไว้แล้ว ให้การสมัครของผู้นั้นเป็นโมฆะ และให้ผู้อำนวยการการเลือกซึ่งพบเห็นดังกล่าวสั่งลบชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ
ผู้ถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิเลือกและไม่มีสิทธิได้รับเลือก แต่ไม่มีผลกระทบต่อการรับสมัครหรือการเลือกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ในกรณีที่ความตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการดำเนินการเลือกไม่ว่าระดับใดก่อนประกาศผลการเลือก ให้ถือว่าผู้สมัครผู้นั้นกระทำการเพื่อให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดตามที่เห็นสมควร คำสั่งและการกำหนดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคสาม ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๒๑ ภายในห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามแยกเป็นรายกลุ่มทุกกลุ่มในเขตอำเภอ โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัครเพื่อให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอด้วย
การประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๒ กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัครผู้ใดหรือสั่งลบชื่อผู้สมัครผู้ใด ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือวันที่ผู้อำนวยการการเลือกสั่งลบชื่อ แล้วแต่กรณี
ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน เมื่อถึงวันเลือก ถ้าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัยให้ดำเนินการเลือกต่อไป โดยให้ถือว่ามีผู้สมัครเพียงเท่าที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศ ในกรณีเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่มีผลกระทบต่อการเลือกที่ดำเนินการไปแล้ว
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้สมัครซึ่งถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครก่อนการดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ผู้อำนวยการการเลือกสั่งลบชื่อ และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
หมวด ๒
ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
-------------------------
มาตรา ๒๔ ในการดำเนินการเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้มีคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน แนะนำ อำนวยความสะดวก และรายงานปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้
(๑) คณะกรรมการระดับประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการระดับประเทศ
(๒) คณะกรรมการระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น และปลัดกรุงเทพมหานครสำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตจังหวัดซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัคร หรือมีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตจังหวัดนั้น จำนวนสองคนเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๓) คณะกรรมการระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตอำเภอซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัคร หรือมีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตอำเภอนั้น จำนวนสองคนเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานหรือข้าราชการประจำอำเภอซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง การแต่งตั้ง และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการจะกำหนดให้แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครตำแหน่งใดแทนหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตาม (๒) และหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอตาม (๓) ก็ได้
ผู้เป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตาม (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เป็นผู้มีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตจังหวัดหรืออำเภอนั้น
ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่า กรรมการตาม (๒) หรือ (๓) ผู้ใดมีกรณีตามวรรคสามหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอื่นหรือบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนได้ตามที่เห็นสมควร
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๕ ในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้เลขาธิการเป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ให้กรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๒๔ (๒) เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด และให้กรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๒๔ (๓) เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
มาตรา ๒๖ เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ ให้ผู้อำนวยการการเลือกเป็นผู้ดำเนินการให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดหรืออำเภอ แล้วแต่กรณี ที่มีการเลือก ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้ ในการนี้ คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๒) และ (๓) เป็นผู้แต่งตั้งแทนคณะกรรมการก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ในการเลือกทุกระดับ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรดำเนินการหรือช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกได้
ในการเลือกระดับประเทศ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศได้
การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๘ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่รับสมัครและสถานที่เลือกในเขตอำเภอ
(๒) จัดให้มีการรับสมัคร
(๓) ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร
(๔) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามมาตรา ๒๑
(๕) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกคนเพื่อให้ผู้สมัครตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก
(๖) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๗) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอ และส่งบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับเลือกพร้อมทั้งเอกสารหรือข้อมูลตาม (๕) ไปยังผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๘) บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
สถานที่เลือกต้องเป็นสถานที่ที่สามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของสถานที่เลือกไว้ด้วย
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๙ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่เลือกในเขตจังหวัด
(๒) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอแยกเป็นรายกลุ่ม โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
(๓) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอเพื่อให้ผู้ได้รับเลือกได้ตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก ทั้งนี้ ให้ใช้เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
(๔) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๕) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัด และส่งบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับเลือกพร้อมทั้งเอกสารหรือข้อมูลตาม (๓) ไปยังผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ
(๖) บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๒๘ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่เลือกในระดับประเทศ
(๒) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับจังหวัดแยกเป็นรายกลุ่ม โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๓) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับจังหวัดเพื่อให้ผู้ได้รับเลือกได้ตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก ทั้งนี้ ให้ใช้เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๔) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๕) เสนอรายชื่อและคะแนนของแต่ละบุคคลในแต่ละกลุ่มต่อคณะกรรมการเพื่อประกาศผลการเลือก
(๖) บันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๒๘ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๑ ให้ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดและในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก และพนักงานเจ้าหน้าที่ มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดหรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัด หรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง
หมวด ๓
การเลือก
-------------------------
มาตรา ๓๓ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนลับตามวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๔ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเลือกได้ภายในระยะเวลาหรือในวันที่กำหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด คณะกรรมการอาจกำหนดวันเลือกใหม่ของการเลือกระดับอำเภอ การเลือกระดับจังหวัด หรือการเลือกระดับประเทศตามความจำเป็นก็ได้
มาตรา ๓๕ กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๒ (๑) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๓๔ และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิกการเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
มาตรา ๓๖ ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๗ ในระหว่างการดำเนินการเลือกตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือก เว้นแต่จะเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือก หรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี
เมื่อประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ผู้สมัครหรือผู้ได้รับเลือกขั้นต้นซึ่งไม่มีสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก ต้องออกจากสถานที่เลือก
มาตรา ๓๘ ในระหว่างการดำเนินการเลือกตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดนำเข้าไปหรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่อาจใช้เพื่อติดต่อสื่อสารหรือเพื่อบันทึกภาพหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนดในสถานที่เลือก รวมทั้งบริเวณโดยรอบสถานที่เลือกตามที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี กำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกหรือการลงคะแนนโดยได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกตามมาตรา ๕๗ ด้วย
มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกเข้าไป ณ สถานที่เลือก หรือมิให้ไปถึง ณ สถานที่เลือกภายในกำหนดเวลาที่จะเลือก
มาตรา ๔๐ การเลือกระดับอำเภอ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สมัครต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้สมัครมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจัดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด
(๓) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับห้าคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงห้าคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) มีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้สมัครไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินห้าคน ให้ผู้สมัครกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนซึ่งมารายงานตัวในกลุ่มนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นสำหรับกลุ่มนั้น
(๘) กลุ่มใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการให้มีการเลือกสำหรับกลุ่มนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มอื่น
(๙) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๑๐) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๑๐) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๙) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๑๑) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในชั้นนี้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๒) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๑๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๑๓) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๑๒) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๘ (๕) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ในเขตอำเภอใดมีผู้สมัครไม่เกินห้ากลุ่ม เมื่อได้ดำเนินการเลือกตาม (๓) แล้ว ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสายตาม (๑๐) และให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มได้คนละหนึ่งคน โดยผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
มาตรา ๔๑ การเลือกระดับจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับห้าคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงห้าคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) มีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันแล้วไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินห้าคน ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวในกลุ่มนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นสำหรับกลุ่มนั้น
(๘) กลุ่มใดไม่มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มอื่น
(๙) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๑๐) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๑๐) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๙) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๑๑) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในชั้นนี้ ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๒) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๑๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสองคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๑๓) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๑๒) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๙ (๓) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ในจังหวัดใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอจากทุกอำเภอมาระดับจังหวัดไม่เกินห้ากลุ่ม เมื่อได้ดำเนินการเลือกตาม (๓) แล้ว ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสายตาม (๑๐) และให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มได้คนละหนึ่งคน โดยผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
มาตรา ๔๒ การเลือกระดับประเทศ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสิบคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับสี่สิบคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสี่สิบคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสี่สิบคนแต่มีจำนวนตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไป ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นมีเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้ามีผู้ได้คะแนนไม่ถึงยี่สิบคน ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่เพื่อให้ได้จำนวนยี่สิบคน
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างการดำเนินการเลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกมีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๘) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๘) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๗) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๙) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกินห้าคน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๐) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๙) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนโดยเปิดเผย แล้วแจ้งผลการนับคะแนนให้คณะกรรมการทราบ
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตาม (๑๐) แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตาม (๑๐) ในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มนั้น และผู้ได้รับคะแนนลำดับที่สิบเอ็ดถึงลำดับที่สิบห้าของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบ
ในการจัดเรียงลำดับตามวรรคสองสำหรับผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากัน ให้จัดให้มีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการนับคะแนนด้วยเครื่องกลหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าได้ดำเนินการนั้นโดยเปิดเผย ให้ถือว่าเป็นการนับคะแนนโดยเปิดเผยแล้ว
มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้สมัครในระดับอำเภอ หรือผู้มีสิทธิเลือกในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกของคณะกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่มีการออกคำสั่ง และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภากลุ่มใดมีไม่ครบจำนวน ไม่ว่าเพราะเหตุตำแหน่งว่างลง หรือด้วยเหตุอื่นใดอันมิใช่เพราะเหตุถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตามลำดับ และให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่ ในระหว่างที่บุคคลดังกล่าวยังมิได้เข้ารับตำแหน่ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
หากมีกรณีที่ต้องเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มใดขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตามวรรคหนึ่ง แต่ไม่มีบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นเหลืออยู่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าจะเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองในกลุ่มอื่นใดที่ยังมีผู้อยู่ในบัญชีสำรองเหลืออยู่ แล้วดำเนินการเลื่อนบุคคลนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง การจับสลากดังกล่าวให้มีผลเฉพาะการเลื่อนครั้งนั้น
ในกรณีที่ทุกกลุ่มไม่มีรายชื่อบุคคลในบัญชีสำรองเหลืออยู่สำหรับการเลื่อนบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคสอง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ แต่ในกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและอายุของวุฒิสภาเหลืออยู่เกินหนึ่งปี ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภามีสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ได้รับเลือกดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
มาตรา ๔๖ ให้คณะกรรมการสั่งลบรายชื่อของบุคคลออกจากบัญชีสำรอง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
(๔) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในบัญชีสำรองกลุ่มใดกระทำการใดหรือรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
(๕) ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามมาตรา ๖๒ วรรคสาม
คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือว่าบัญชีสำรองมีเพียงเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๔๗ ในกรณีตามมาตรา ๔๖ (๔) และในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในบัญชีสำรองผู้ใดลาออกโดยเจตนาเพื่อให้บุคคลในลำดับถัดลงไปได้รับเลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในลำดับถัดไปหรือบุคคลอื่นใดได้ให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกวุฒิสภาหรือบุคคลในบัญชีสำรองเพื่อลาออก ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๔๘ หีบบัตรและบัตรลงคะแนน ให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด ในการกำหนดเกี่ยวกับหีบบัตรต้องกำหนดให้สามารถใช้หีบบัตรเดิมได้ด้วย
มาตรา ๔๙ วิธีการลงคะแนน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๐ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดใช้บัตรอื่นอันมิใช่บัตรลงคะแนนตามมาตรา ๔๘ ลงคะแนนเลือก
มาตรา ๕๑ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดนำบัตรลงคะแนนออกไปจากสถานที่เลือก
มาตรา ๕๒ ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรลงคะแนน
มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรลงคะแนนใส่ลงในหีบบัตรลงคะแนนโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตน เพื่อเลือกโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรลงคะแนนเพิ่มขึ้นจากความจริง
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่ตนได้ลงคะแนนแล้ว
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกนำบัตรลงคะแนนที่เลือกแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด
มาตรา ๕๖ บัตรลงคะแนนดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสีย และมิให้นับเป็นคะแนน
(๑) บัตรปลอม
(๒) บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรลงคะแนนนอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
(๓) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
(๔) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
(๕) บัตรที่ลงคะแนนให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
(๖) บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลเกินจำนวนที่กำหนด
(๗) บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
(๘) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
มาตรา ๕๗ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกให้แก่ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือก ให้ผู้อำนวยการการเลือกจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการเลือกของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกไว้ด้วย โดยอาจให้บุคคลอื่นหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกมอบหมายเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกนั้น
หมวด ๔
การควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
-------------------------
มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร
การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกของผู้สมัคร โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด
ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหรือกรรมการที่พบเห็น มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่าอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด
ในกรณีตามวรรคสาม ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด พ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอในเขตหรือนอกเขตจังหวัดหรืออำเภอ หรือห้ามเข้าเขตจังหวัดหรืออำเภอใดก็ได้
มาตรา ๕๙ ก่อนประกาศผลการเลือก หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่
การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งให้กรรมการแต่ละคนซึ่งพบเห็นการกระทำความผิดในเขตอำเภอหรือจังหวัดใด ให้มีอำนาจกระทำได้สำหรับการเลือกในเขตอำเภอหรือจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ตรวจการเลือกตั้งและผู้อำนวยการการเลือกผู้ใดพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยพลัน
มาตรา ๖๐ ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง
มาตรา ๖๒ เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองด้วย และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้คณะกรรมการสั่งลบรายชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีสำรอง และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๖๓ เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แล้ว หากความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
หมวด ๕
การคัดค้าน
-------------------------
มาตรา ๖๔ ผู้สมัครในระดับอำเภอ หรือผู้มีสิทธิเลือกในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านว่าการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศที่ตนสมัครหรือมีสิทธิเลือก แล้วแต่กรณี มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อคณะกรรมการภายในสามวันนับแต่วันเลือกในระดับนั้น ๆ และให้คณะกรรมการวินิจฉัยโดยเร็ว หากเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการสั่งยกคำร้อง และให้การเลือกดำเนินการต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการดำเนินการตามมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๖๕ ในการสืบสวนหรือไต่สวน หากปรากฏว่าการให้ข้อมูล การชี้เบาะแสหรือคำให้การของบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้รายใดจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดคนอื่นที่เป็นตัวการสำคัญและสามารถที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น คณะกรรมการจะกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้
เมื่อคณะกรรมการมีมติไม่ดำเนินคดีกับบุคคลใดแล้ว ให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นอันระงับไป เว้นแต่ปรากฏในภายหลังว่าผู้ถูกกันไว้เป็นพยานได้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือไม่ไปเบิกความ หรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ให้การหรือให้ถ้อยคำไว้ ให้การกันบุคคลไว้เป็นพยานนั้นสิ้นสุดลง และคณะกรรมการอาจดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลนั้นต่อไปได้
มาตรการในการกันบุคคลไว้เป็นพยานตามวรรคหนึ่ง และการเพิกถอนการกันบุคคลไว้เป็นพยานตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๖ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้การเพิกถอนสิทธิดังกล่าวมีผลในทันทีและเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๖๗ ผู้ใดสมัครเข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือมากกว่าหนึ่งอำเภออันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๖๘ กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๗๐ ผู้สมัครผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
บุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวโดยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๗๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสถานที่เลือก ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๗๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
มาตรา ๗๓ ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๔ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกไม่ว่าเพราะเหตุใด ได้สมัครรับเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาด้วย
มาตรา ๗๕ ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๗๖ กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดกระทำการโดยวิธีใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือทำให้ผู้สมัครผู้ใดไม่ได้รับเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ผู้สมัครใดยินยอมให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๗๗ ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
(๑) จัด ทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(๒) ทำการแนะนำตัวด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(๓) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(๔) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด
ความผิดตาม (๑) ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้
มาตรา ๗๘ ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะกลั่นแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๗๙ ผู้ใดเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครรับเลือกหรือไม่ลงสมัครรับเลือกเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๐ ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรลงคะแนนชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๑ ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
มาตรา ๘๒ ผู้ใดกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรลงคะแนนหรือบัตรลงคะแนน หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกที่ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกได้จัดทำตั้งแต่เวลาที่ได้เปิดและปิดหีบบัตรลงคะแนนที่ตั้งไว้เพื่อการเลือก หรือภายหลังที่ได้ปิดหีบบัตรลงคะแนนนั้นเพื่อรักษาไว้เมื่อการเลือกได้เสร็จสิ้นแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๓ ผู้ใดไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีหรือครอบครองไว้ซึ่งบัตรลงคะแนนโดยไม่ชอบ ไม่ว่าบัตรลงคะแนนนั้นจะเป็นบัตรลงคะแนนที่สำนักงานเป็นผู้จัดให้มีขึ้นหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๘๔ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดจงใจนับบัตรลงคะแนนหรือนับคะแนนให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรลงคะแนนชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสียหรือกระทำการด้วยประการใดแก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้หรืออ่านบัตรลงคะแนนให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการเลือกไม่ตรงความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๕ ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนดสิบปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้สมัคร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๘๖ ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด และเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกใหม่ไม่ว่าจะมีคำร้องขอหรือไม่ ให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้นั้นรับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งเช่นว่านั้น จำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ศาลฎีกาพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่คณะกรรมการเสนอต่อศาล
เงินที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่งให้นำส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
มาตรา ๘๗ ผู้ใดเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้สมัครหรือผู้เลือกเกี่ยวกับการออกเสียงเลือกในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกจนถึงเวลาปิดการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๘ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของสถานที่เลือก ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๘๙ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๙๐ ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาและแต่งตั้งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคล ซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๑ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ จำนวนสองร้อยคน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แล้วให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยแยกผู้ได้รับเลือกตามกลุ่มและตามวิธีการสมัคร
(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคนตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากำหนด แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม (ก)
(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการตามมาตรา ๙๘ และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จำนวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จำนวนห้าสิบคน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๒) มิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๒๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหาตาม (๑) (ข) และมิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๑๙) มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
(๓) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตาม (๑) (ค) จำนวนสองร้อยห้าสิบคนดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
(๔) อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้ามีตำแหน่งว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลำดับในบัญชีสำรองตาม (๑) (ค) ขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทน โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในขณะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และให้ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งแทน ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
(๕) ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างตาม (๔) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
(๖) เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตาม (๔) ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๙๑ ในวาระเริ่มแรก สำหรับการดำเนินการตามมาตรา ๙๐ (๑) (ก) ให้กลุ่มตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง มีสิบกลุ่ม ประกอบด้วย
(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๓) กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๔) กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๕) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๖) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๗) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและผู้ประกอบกิจการอื่น ๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๘) กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๙) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๐) กลุ่มอื่น ๆ
การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (๑๐) ได้
มาตรา ๙๒ ในวาระเริ่มแรก ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มตามมาตรา ๙๑ อาจสมัครได้โดยวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง
(๒) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแสดงหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กรตามมาตรา ๙๓ แนบมาพร้อมกับใบสมัครด้วย
ให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มตามมาตรา ๙๑ ได้เพียงกลุ่มเดียว และสมัครโดยวิธีการตามวรรคหนึ่งได้เพียงวิธีการเดียว รวมทั้งมีสิทธิสมัครได้เพียงอำเภอเดียว และเมื่อได้ยื่นใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้
ผู้ใดสมัครเข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่ม มากกว่าหนึ่งวิธีการ หรือมากกว่าหนึ่งอำเภอ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามวรรคสอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗
มาตรา ๙๓ องค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีและมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง และองค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง มีสิทธิแนะนำชื่อผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์กร หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาองค์กรละหนึ่งคนในแต่ละจังหวัดโดยต้องระบุอำเภอไว้ด้วย และเมื่อได้แนะนำชื่อผู้สมัครแล้วจะถอนหรือเปลี่ยนชื่อผู้ซึ่งได้แนะนำแล้วมิได้
องค์กรตามวรรคหนึ่งต้องลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และให้เลือกกลุ่มตามมาตรา ๙๑ ได้เพียงกลุ่มเดียว
การแนะนำชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องทำโดยมติของคณะกรรมการที่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานขององค์กรดังกล่าว ในกรณีที่องค์กรดังกล่าวไม่มีคณะกรรมการ ให้ผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานขององค์กรเป็นผู้แนะนำชื่อแทน และให้ทำเป็นหนังสือโดยอย่างน้อยต้องมีประวัติระบุถึงเพศ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสาขาอาชีพของผู้ได้รับการแนะนำชื่อพร้อมทั้งหนังสือยินยอมจากผู้ได้รับการแนะนำชื่อ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
องค์กรตามวรรคหนึ่งซึ่งแจ้งการแนะนำชื่อหรือรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ให้การแจ้งการแนะนำชื่อหรือการรับรองเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้คณะกรรมการประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๙๔ การเลือกระดับอำเภอ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สมัครต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้สมัครมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจัดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด
(๓) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครที่ได้จัดตาม (๒) แล้ว ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร เป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๕) ในกรณีที่กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้สมัครไม่เกินสามคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินสามคน ให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนซึ่งมารายงานตัวนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเลือก
(๖) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มและการสมัครโดยวิธีการอื่น ๆ
(๗) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้สมัครและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
(๘) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๔) และ (๕) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๘ (๕) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๕ การเลือกระดับจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันนั้นรวมอยู่ด้วยกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอตาม (๒) ลงคะแนนเลือกบุคคลตาม (๒) ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสี่ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร เป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสี่คน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสี่คน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๕) ในกรณีที่กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันแล้วไม่เกินสี่คนหรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินสี่คน ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเลือก
(๖) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดไม่มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มและการสมัครโดยวิธีการอื่น ๆ
(๗) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่ โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
(๘) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๔) และ (๕) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๙ (๓) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๖ การเลือกระดับประเทศ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันนั้นรวมอยู่ด้วยกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดตาม (๒) ลงคะแนนเลือกบุคคลตาม (๒) ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
(๕) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผย แล้วแจ้งผลการนับคะแนนให้คณะกรรมการทราบ
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตาม (๕) แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้จัดเรียงลำดับรายชื่อตามผลการเลือกตาม (๕) โดยให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๙๘ ต่อไป
ในการจัดเรียงลำดับตามวรรคสองสำหรับผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากันให้จัดให้มีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๗ ผู้ใดขัดขืนไม่ยอมออกจากสถานที่เลือกตามมาตรา ๙๔ (๗) มาตรา ๙๕ (๗) หรือมาตรา ๙๖ (๔) ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑
มาตรา ๙๘ เมื่อได้ดำเนินการเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา ๙๐ (๑) (ก) เสร็จแล้วให้คณะกรรมการแจ้งรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาคัดเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อไป
ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ได้จำนวนห้าสิบคนเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและคัดเลือกรายชื่ออีกจำนวนห้าสิบคนเป็นบัญชีสำรอง และให้ประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาและบุคคลในบัญชีสำรองในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๙๙ ในการคัดเลือกบุคคลจากบัญชีสำรองเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา ๙๐ (๔) และตามมาตรา ๙๘ ให้นำความในมาตรา ๔๕ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๑/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พ.ศ. ๒๕๖๐
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
(๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
(๔) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วย
“กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย
“เลือกตั้ง” หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการออกเสียงประชามติด้วย แล้วแต่กรณี
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วย แล้วแต่กรณี
“หน่วยเลือกตั้ง” หมายความว่า หน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงหน่วยเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และหน่วยออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติด้วย แล้วแต่กรณี
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นการใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการหรือเลขาธิการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการหรือเลขาธิการกำหนดโดยทำเป็นประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการหรือเลขาธิการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
ให้สำนักงานมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มิได้มีผลเป็นการเปิดเผยถึงตัวบุคคลผู้ลงคะแนนเลือกตั้งเป็นการเฉพาะและมิได้ห้ามเปิดเผยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้
มาตรา ๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือมิชอบด้วยกฎหมาย อาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วยให้คณะกรรมการปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว
มาตรา ๗ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๓ ก/หน้า ๑/๑๓ กันยายน ๒๕๖๐
หมวด ๑
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๘ คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาจำนวนห้าคน จากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(ข) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(ค) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
(ง) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
(จ) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
(ฉ) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (จ) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
(ช) เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
(๒) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวนสองคน
มาตรา ๙ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘ แล้ว กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๐ กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๑๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๘ (๑) ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต มีความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคนให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้
ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๒ ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม และไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด ๆ รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้วให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วยโดยอนุโลม
ในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่หรือวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามหรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วแต่กรณี ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
เมื่อคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหาหรือคัดเลือกได้บุคคลใดแล้วให้เสนอชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังไม่พ้นจากตำแหน่ง ถ้ามีเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงห้าคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้วให้คณะกรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว
ในการสรรหาเพิ่มเติมตามวรรคเก้าให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมเป็นผู้ดำเนินการ
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๓ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๐ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งกรรมการในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่ และให้นำความในมาตรา ๑๒ วรรคสิบ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
การวินิจฉัยให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้
มาตรา ๑๕ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการใหม่แทน
มาตรา ๑๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วย
เมื่อมีปัญหาว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ
ในระหว่างที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างให้คณะกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสี่คน ให้กระทำได้แต่เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในกรณีที่กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกกรรมการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่ถ้ากรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกกรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๑๗ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๖ (๒) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหามีเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
ในกรณีที่กรรมการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบเจ็ดคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการได้จนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ วรรคห้า การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าคน จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม
การลงมติในการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ และให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่คณะกรรมการต้องมีมติวินิจฉัยในเรื่องดังต่อไปนี้ กรรมการทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมต้องลงมติ การงดออกเสียงหรือการออกเสียงที่แตกต่างไปจากประเด็นที่จะต้องลงมติจะกระทำมิได้ แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการลงมติ
(๑) การวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(๒) การให้ความเห็นชอบคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๐ วรรคสอง
(๓) การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งตามมาตรา ๓๐
(๔) การสั่งระงับการดำเนินการอันจะทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๓๓
(๕) การสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม หรือมาตรา ๔๑
(๖) การยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๗) การสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และการวินิจฉัยว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(๘) เรื่องอื่นใดที่คณะกรรมการมีมติกำหนดด้วยคะแนนสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๒๐ ในการลงมติของกรรมการตามมาตรา ๑๙ หรือในเรื่องอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด ให้กรรมการลงมติเป็นหนังสือตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีชื่อเรื่องและประเด็นที่ลงมติ มติที่ลง และลายมือชื่อของกรรมการที่ลงมติ และให้เลขาธิการเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
มติที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุมของคณะกรรมการ และในกรณีที่ต้องทำคำวินิจฉัย เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบร่างคำวินิจฉัยนั้นและประธานกรรมการหรือผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการได้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแล้วให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
การให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแทนคณะกรรมการก็ได้
คำวินิจฉัยตามวรรคสองให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งคณะก่อนลงนามในคำวินิจฉัย ให้เลขาธิการบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัยและให้เลขาธิการเป็นผู้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแทน เมื่อเลขาธิการลงนามในคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นอันใช้บังคับได้
มาตรา ๒๑ กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง กรรมการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่คณะกรรมการเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ
มาตรา ๒๒ นอกจากหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) หน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายอื่น
(๒) ออกข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายอื่น
(๓) วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการ
(๔) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งการสืบสวนและไต่สวน และการอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
(๕) ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชน ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
(๖) วางระเบียบเกี่ยวกับการชำระค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเลือกตั้งและดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ รวมตลอดทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ
(๗) กำกับและติดตามการใช้จ่ายเงินอุดหนุนที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว
(๘) รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตต่อรัฐสภา และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
(๙) จัดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัย เพื่อกำหนดวิธีการหรือมาตรการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
(๑๐) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและสำนักงาน
ในการควบคุม กำกับ ดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการที่จะต้องดำเนินการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวนเพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดอันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมในการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลาในระหว่างประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม
การกำหนดตาม (๑๐) ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ที่สาธารณชนจะพึงได้รับ หลักธรรมาภิบาล และความเป็นธรรมประกอบกัน
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครผู้ใดสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการตอบข้อสอบถามให้แล้วเสร็จโดยเร็วแต่ต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับการสอบถาม ในการนี้ คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือเลขาธิการเป็นผู้ตอบข้อสอบถามแทนคณะกรรมการก็ได้ และเมื่อได้ตอบแล้วให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตอบข้อสอบถามไม่ทันภายในเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
วิธีการสอบถามและวิธีการตอบข้อสอบถามให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้หน่วยงานของรัฐมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตาม (๑) พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใดมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐาน หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อประกอบการพิจารณา
(๓) ขอความร่วมมือให้ศาลส่งเอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(๔) เข้าไปหรือแต่งตั้งให้บุคคลเข้าไปในที่เลือกตั้ง ที่ออกเสียงประชามติ หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้งหรือนับคะแนนการออกเสียงประชามติ
ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจตาม (๔) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
มาตรา ๒๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงาน
มาตรา ๒๖ ในระหว่างการเลือกตั้ง ให้กรรมการแต่ละคนมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) กำกับและตรวจสอบการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
(๒) มีคำสั่งให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเมื่อพบเห็นการกระทำใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(๓) เมื่อพบการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าการนั้นเป็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าเป็นการกระทำของบุคคลซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ หรือสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำนั้นก็ได้
ในกรณีที่กรรมการสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานตาม (๓) ให้ถือว่าการดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นการดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือไต่สวนตาม (๒) จะต้องมีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครผู้ใดไว้เป็นการชั่วคราว หรือดำเนินการอื่นใด ให้เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย
เมื่อกรรมการผู้ใดออกคำสั่งตาม (๒) หรือ (๓) แล้ว ให้รายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบโดยเร็ว ในการนี้ ถ้าคณะกรรมการเห็นสมควรจะมีมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกคำสั่ง หรือมีมติให้ดำเนินการอย่างใดตามที่เหมาะสมก็ได้
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๗ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการออกเสียงประชามติ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการในการจัดการเลือกตั้ง หรือเลือก หรือออกเสียงประชามติ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการ กับให้มีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหน้าที่และอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
มาตรา ๒๘ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งขึ้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วรายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยเร็ว ในการนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย
คณะกรรมการจะมอบหมายให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้แต่จะมอบอำนาจของคณะกรรมการหรือกรรมการที่มีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมิได้
ระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง หมายความถึงเวลาตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งหรือภายหลังจากนั้นอีกไม่เกินหกสิบวันตามที่คณะกรรมการกำหนด
วิธีการรายงานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องกำหนดให้สามารถรายงานได้โดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมหรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการออกเสียงประชามติ หรือมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการจะสั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๓๐
มาตรา ๒๙ ให้คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัดจังหวัดละไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินแปดคน เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งตามจำนวนที่เพียงพอแก่การปฏิบัติหน้าที่ครบทุกจังหวัด โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อขึ้นไว้ บัญชีรายชื่อดังกล่าวให้ใช้ได้เป็นเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปี
เมื่อคัดเลือกบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว ก่อนดำเนินการแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้ประชาชนทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน และให้นำข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งด้วย
จังหวัดใดไม่อาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดครบตามจำนวนตามวรรคหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด คณะกรรมการจะไม่แต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาจากจังหวัดนั้นเลยหรือจะแต่งตั้งน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นคณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาจากจังหวัดอื่นแทนให้ครบจำนวนก็ได้
ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง เป็นบุคคลซึ่งเชื่อได้ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียและต้องมีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดไว้สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งต้องไม่เป็นผู้มีบุพการี คู่สมรส หรือบุตรเป็นหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ต้องยืนยันในใบสมัครว่ามีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดใด ๆ ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๓๐
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัคร การคัดเลือก การประเมินผล การปฏิบัติงานและการพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ถ้าคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งผู้ใดขาดความสุจริต ขาดความเที่ยงธรรม มีความประพฤติเสื่อมเสีย ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ ละทิ้งหน้าที่หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ให้คณะกรรมการมีมติให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งและคัดออกจากบัญชีรายชื่อทันที
มาตรา ๓๐ เมื่อมีกรณีที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๒๙ มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินแปดคนโดยคำนึงถึงพื้นที่ของจังหวัดหรือพื้นที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด
ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ได้นับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง แม้จะยังมีจำนวนไม่ครบตามวรรคหนึ่งก็ตาม
การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมาย จับสลากจาก
(๑) รายชื่อตามบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่จะแต่งตั้งจำนวนสองคน
(๒) รายชื่อตามบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง ที่มิได้มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้งให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับจังหวัดนั้น
ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาม (๑) ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดคณะกรรมการจะแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาม (๒) แทนผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดตาม (๑) ก็ได้
ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ แต่ต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ
เมื่อพ้นเวลาระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้งตามมาตรา ๒๘ แล้ว ให้คำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นอันสิ้นผล เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดใดยังมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการต่อไป คณะกรรมการจะประกาศให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามเวลาที่กำหนดก็ได้
มาตรา ๓๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายหรือการสงเคราะห์อื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๒ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการอาจขอให้มีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต สอบบัญชีของพรรคการเมืองโดยอาจขอให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้งด้วยก็ได้
(๒) เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแจ้งรายงานการทำธุรกรรมของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ตามที่คณะกรรมการแจ้งให้ทราบ หรือให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแจ้งให้ทราบถึงการโอนหรือการเบิกจ่ายเงินในกรณีดังกล่าวตามที่คณะกรรมการร้องขอ ทั้งนี้ ภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามหน่วยงานใดเปิดเผยข้อมูลในความครอบครองมาใช้บังคับแก่การแจ้งข้อมูลตามที่คณะกรรมการร้องขอ
(๓) ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวกับการข่าว แจ้งข้อมูลเบาะแสตามที่คณะกรรมการร้องขอ แต่เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลใดแล้วให้คณะกรรมการใช้ข้อมูลนั้นเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดหรือวางมาตรการป้องกันการกระทำความผิดในส่วนที่เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ แต่คณะกรรมการจะเปิดเผยข้อมูลและแหล่งข้อมูลมิได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรเงินงบประมาณที่สำนักงานได้รับจัดสรรมาให้แก่หน่วยงานนั้นเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปของหน่วยงานนั้นได้
ในการสั่งให้ดำเนินการตาม (๑) คณะกรรมการมีอำนาจจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๓ เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลใดดำเนินการด้านธุรกรรมทางการเงินผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาจใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สินหรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดอันจะเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการดำเนินการนั้นไว้เป็นการชั่วคราวภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน
ผู้ได้รับคำสั่งตามวรรคหนึ่งมีสิทธิร้องขอต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนคำสั่งนั้นได้ และถ้าศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการดำเนินการของบุคคลนั้นมิได้เป็นไปเพื่อให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่งนั้น
มาตรา ๓๔ ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสนับสนุนการเลือกตั้ง หรือการสืบสวนหรือไต่สวนตามที่คณะกรรมการร้องขอเป็นหนังสือ
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งหรือแต่งตั้งข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติการอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสนับสนุนการเลือกตั้ง หรือการสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควร และให้แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างนั้นสังกัดอยู่ทราบโดยเร็ว
ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคสองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัย และถ้าเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการเลือกตั้ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแก่ผู้นั้นโดยเร็ว และแจ้งผลให้คณะกรรมการทราบด้วย
มาตรา ๓๕ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการอาจแต่งตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรชุมชน หรือสถาบันการศึกษาซึ่งสมัครใจปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานหรือเป็นผู้สังเกตการณ์ในการเลือกตั้งเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการหรือกรรมการทราบได้ตามสมควร
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติงาน การสนับสนุนทางการเงิน การรายงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด และให้เผยแพร่ผลการปฏิบัติงานและผลการประเมินให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
มาตรา ๓๖ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลักฐานทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ
ทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิตรวจสอบและขอแก้ไขให้ถูกต้องได้
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจขอเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อนำมาดำเนินการจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรืออาจมอบหมายให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหรือบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเป็นผู้จัดทำแทนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอื่น คณะอนุกรรมการ บุคคลหรือคณะบุคคล เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้
หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง ค่าตอบแทน และการสงเคราะห์อื่นรวมทั้งวิธีปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคคลตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้คำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงาน ความคุ้มค่าและความรวดเร็วด้วย
มาตรา ๓๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการเลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๓๗ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๙ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานกรรมการหรือกรรมการ
มาตรา ๔๐ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๓๙ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
หมวด ๒
การสืบสวน การไต่สวน และการดำเนินคดี
-------------------------
มาตรา ๔๑ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใดไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้กล่าวหาหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานพอสมควรหรือมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนต่อไปว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้มีการสืบสวน หรือไต่สวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานโดยพลัน ถ้าผลการสืบสวนหรือไต่สวนปรากฏว่าไม่มีมูลความผิดให้สั่งยุติเรื่อง หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อว่ามีผู้กระทำการตามที่มีการสืบสวนหรือไต่สวน ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินคดีโดยเร็ว หรือในกรณีจำเป็นจะสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้กระทำการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
การดำเนินการให้มีการสืบสวนหรือไต่สวน การสืบสวนและการไต่สวน และการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นการชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ห้ามมิให้บุคคลใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการดำเนินการตามมาตรานี้ มาตรา ๓๒ (๓) หรือมาตรา ๔๗ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล
ในการสืบสวนหรือไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งให้สืบสวนหรือไต่สวนตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๔๒ ให้กรรมการมีอำนาจสืบสวน ไต่สวน หรือดำเนินคดีตามมาตรา ๔๑ และเพื่อให้การดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวน หรือการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงานเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน หรือไต่สวน หรือดำเนินคดีได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ และขอบเขตแห่งหน้าที่และอำนาจของผู้ได้รับแต่งตั้งแต่ละระดับไว้ให้ชัดเจน รวมตลอดทั้งการออกบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องด้วย
พนักงานของสำนักงานที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทางกฎหมาย การสืบสวน การไต่สวน หรือการดำเนินคดี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว
ในกรณีมีความจำเป็น คณะกรรมการจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐให้เป็นเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกาลหรือเฉพาะเรื่องตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่ง เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการที่จะดำเนินการให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดำเนินการไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๑ วรรคสาม และมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ในการไต่สวน กรรมการหรือเจ้าพนักงานต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานโดยสรุป
ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะให้ถ้อยคำ หรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กรรมการหรือเจ้าพนักงานกำหนด และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการไต่สวนได้ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กำหนด ให้กรรมการหรือเจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อไปได้
ในการแจ้งตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจะแจ้งโดยวิธีปิดหมาย หรือส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และเมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
ในการสืบสวนหรือไต่สวน เจ้าพนักงานอาจจัดให้มีการบันทึกภาพหรือเสียงของผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานด้วยก็ได้
มาตรา ๔๔ เมื่อมีกรณีที่จะต้องดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดเพราะเหตุกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการแจ้งให้พนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยให้ส่งสำนวนการไต่สวนหรือสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการเพื่อใช้เป็นสำนวนในการดำเนินคดีโดยถือว่าสำนวนการไต่สวนหรือสำนวนการสอบสวนดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยจะส่งตัวผู้ต้องหาไปพร้อมกับสำนวนการไต่สวนหรือสำนวนการสอบสวนหรือไม่ก็ได้ แต่พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๔๒ ไต่สวนเพิ่มเติม หรือพนักงานอัยการจะดำเนินการไต่สวนหรือสอบสวนเพิ่มเติมเองก็ได้ ถ้าพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และเป็นกรณีที่ไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหา ให้ศาลออกหมายเรียกหรือออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาตามควรแก่กรณี เพื่อดำเนินคดีต่อไปแต่ถ้าพนักงานอัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัย เมื่ออัยการสูงสุดวินิจฉัยประการใดให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบ และให้คณะกรรมการเผยแพร่เหตุผลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแทนคณะกรรมการก็ได้
เมื่อมีกรณีที่จะต้องร้องขอต่อศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ได้โดยตรง หรือจะมอบหมายให้กรรมการหรือเจ้าพนักงานตามมาตรา ๔๒ เป็นผู้ดำเนินการแทนคณะกรรมการก็ได้ และให้ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการมาใช้เป็นหลักในการพิจารณา แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
ในคดีที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ในการดำเนินคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้คณะกรรมการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง
มาตรา ๔๕ ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการคุ้มครองพยานมิให้เกิดอันตรายแก่พยาน รวมตลอดทั้งมาตรการรักษาความลับให้แก่ผู้เป็นพยาน ในมาตรการดังกล่าวจะกำหนดให้มีการจ่ายค่าที่อยู่หรือค่าเดินทางหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นด้วยก็ได้
การคุ้มครองพยานตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ให้ข้อมูล หรือผู้ชี้เบาะแสด้วย และให้กระทำได้เมื่อได้รับคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าว
ในกรณีที่กรรมการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรืออนุกรรมการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง ผู้ใดถูกดำเนินคดีไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ได้มีมติ คำสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ และมิใช่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้อง ให้คณะกรรมการมีอำนาจให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีแก่บุคคลดังกล่าวได้ และให้พนักงานอัยการเข้าแก้ต่างให้แก่บุคคลเหล่านั้นตามที่คณะกรรมการร้องขอ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวให้รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย
มาตรการในการคุ้มครองพยานตามวรรคหนึ่ง และการให้ความช่วยเหลือตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๖ บุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หากได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิด คณะกรรมการอาจจะไม่ดำเนินคดีก็ได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง และเมื่อคณะกรรมการมีมติไม่ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวแล้วให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นอันระงับไป
มาตรา ๔๗ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนหรือไต่สวน ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมตลอดทั้งให้รางวัลแก่ผู้ชี้เบาะแสการกระทำการอันไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง
ในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับเงิน แต่คณะกรรมการต้องมีหนังสือรับรองค่าใช้จ่ายดังกล่าว
การใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีจำเป็นคณะกรรมการจะจัดสรรเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองหรือจากเงินรายได้ของสำนักงานมาเพื่อใช้จ่ายตามมาตรานี้ตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๔๘ ในกรณีที่คณะกรรมการได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือดำเนินคดีตามหมวดนี้โดยพลัน โดยให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนหรือสอบสวนของคณะกรรมการ
มาตรา ๔๙ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าหน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้พิจารณา และคณะกรรมการเห็นว่าเป็นการสมควรที่คณะกรรมการจะดำเนินการเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนนั้นโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมาให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีเช่นนี้ให้หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานสอบสวนโอนเรื่องหรือส่งสำนวนการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาให้คณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว
หมวด ๓
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๕๐ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา กำกับดูแล และรับผิดชอบของคณะกรรมการ
กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา ๕๑ สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
(๒) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกรรมการ และผู้ตรวจการเลือกตั้ง
(๓) ดำเนินการเพื่อให้พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความรู้ความเข้าใจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และมติของคณะกรรมการ
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือที่คณะกรรมการมอบหมาย
มาตรา ๕๒ ในการกำกับดูแลสำนักงานให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(๒) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งและค่าตอบแทนหรือสิทธิและประโยชน์อื่นของเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
(๓) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม สมรรถภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษ สำหรับเลขาธิการและพนักงานของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน
(๔) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
(๕) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นซึ่งรวมถึงการจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยในกรณีเลขาธิการดำรงตำแหน่งครบวาระ
(๖) การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการได้มาซึ่งเลขาธิการ
(๗) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของคณะกรรมการ เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
(๘) การอื่นใดอันจำเป็นต่อการกำกับหรือควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานหรือการบังคับบัญชาเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน หรือการทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการตาม (๑) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
การกำหนดตาม (๒) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพและภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของพนักงานและลูกจ้างแต่ละสายงานและระดับด้วย
ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยจะกำหนดให้มีคณะบุคคลเพื่อกำกับ ดูแล หรือพิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำอุทธรณ์ที่เป็นอิสระด้วยก็ได้
มาตรา ๕๓ ให้คณะกรรมการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ใดกระทำการใดโดยไม่สุจริตหรือเอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้ใดในการปฏิบัติหน้าที่หรือในการดำเนินการเลือกตั้ง ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเร็ว และในระหว่างนั้น ให้คณะกรรมการย้ายผู้นั้นให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือจากท้องที่ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ทันที
ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่เลขาธิการด้วยโดยอนุโลม โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อนได้
มาตรา ๕๔ ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งตามมติของคณะกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ คณะกรรมการจะกำหนดให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานรองจากเลขาธิการก็ได้
ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
มาตรา ๕๕ เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในระยะเวลาสิบปีก่อนได้รับแต่งตั้ง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทยมีอายุไม่เกินหกสิบปีในวันที่ได้รับแต่งตั้งและมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีในขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการและมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามที่คณะกรรมการกำหนด
เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๕๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๕
(๔) ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
(๕) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือมีการกระทำหรือมีคุณลักษณะไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ
(๖) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
มาตรา ๕๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๙ เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการและให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบของคณะกรรมการ
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศหรือมติของคณะกรรมการ
(๓) หน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นและตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๘ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานแทนก็ได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การงบประมาณของสำนักงาน และกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
มาตรา ๕๙ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัดเพื่อปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจตามที่คณะกรรมการกำหนด
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ให้นำความในมาตรา ๕๓ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วย
มาตรา ๖๐ ให้คณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่าย เพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการและสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งมากกว่างบประมาณที่สำนักงานได้รับ ให้รัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ
มาตรา ๖๑ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๖๐ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะกรณี
ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ
มาตรา ๖๒ รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) เงินอุดหนุนที่ได้รับตามมาตรา ๖๑
(๒) รายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(๓) ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน
(๔) ดอกผลหรือผลประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(๕) รายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ในการรับทรัพย์สินตาม (๓) ให้คำนึงถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการรับทรัพย์สินดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จะสั่งให้สำนักงานไม่รับทรัพย์สินนั้นหรือให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้อุทิศให้ก็ได้
มาตรา ๖๓ รายได้ของสำนักงานไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
ให้สำนักงานจัดทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งสำนักงานได้กรรมสิทธิ์มาไม่ว่าจากการซื้อ หรือมีผู้ยกให้ ให้เป็นที่ราชพัสดุแต่สำนักงานมีอำนาจในการปกครองดูแล ใช้ หรือหาประโยชน์ได้
มาตรา ๖๔ ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้
มาตรา ๖๕ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงาน โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมายมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชักช้า
หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๖๖ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ กรรมการ เลขาธิการผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง กรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการที่สั่งตามมาตรา ๒๔ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๘ ผู้ใดซึ่งได้ล่วงรู้ข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลที่คณะกรรมการได้รับแจ้งตามมาตรา ๓๒ (๓) แล้วเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลนั้นต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คณะกรรมการหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจในการใช้ข้อมูลนั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือฝ่าฝืนมาตรา ๔๑ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นกรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๖๙ กรรมการ เลขาธิการ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ผู้ใดกระทำการหรือละเว้นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาสิบปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยทุจริตต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๗๐ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ให้ผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา ๔๐ โดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออกโดยให้คำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจนถึงวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตาย ลาออก หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดและมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๑๗ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๗๑ ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑
มาตรา ๗๒ ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๗๑ และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๗๓ ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ยังคงเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ตามสัญญาจ้างที่ทำไว้ต่อกัน
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา ๗๔ ให้กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นอันพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๗๕ บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗๖ ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗๗ ให้โอนบรรดาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามมาตรา ๕๒ (๒) กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๗๘ การดำเนินการสืบสวนสอบสวน การไต่สวน การดำเนินคดีหรือการดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่มีปัญหาในการดำเนินการในเรื่องใดที่ยังค้างพิจารณาอยู่ และมิได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ การดำเนินการนั้นต่อไปให้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๓ ก/หน้า ๑/๑๓ กันยายน ๒๕๖๐
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. ๒๕๖๐
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การจัดตั้ง การบริหารงาน และการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งมีมาตรการกำกับให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำ หรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกพรรคการเมือง
“นายทะเบียนสมาชิก” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนในพรรคการเมือง
“ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับพรรคการเมือง
“บริจาค” หมายความว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
“ประโยชน์อื่นใด” หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา ๖
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานครด้วย
“เขตเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือเขตเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี
มาตรา ๕ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖ ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนและมีหน้าที่ และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับและควบคุมของคณะกรรมการ
มาตรา ๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา ๘ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่นหรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศ หรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการหรือนายทะเบียนมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการหรือนายทะเบียนกำหนดโดยทำเป็นประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการหรือนายทะเบียนต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๖๐
หมวด ๑
การจัดตั้งพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๙ บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี
(๓) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ
(๔) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๕) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๑ หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๘
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทแต่ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท
มาตรา ๑๐ ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๙ ต้องประชุมร่วมกันโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคนเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และข้อบังคับ
(๒) เลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
(๓) ดำเนินการอื่นอันจำเป็นต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการกำหนด
ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองตาม (๑) ต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา ๑๔ และต้องไม่ซ้ำ พ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่จดทะเบียนหรือที่ยื่นขอจดทะเบียนตามมาตรา ๙ อยู่ก่อนแล้ว หรือของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและยังไม่พ้นยี่สิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ หรือของพรรคการเมืองที่มีผู้แจ้งไว้แล้วตามมาตรา ๑๘ และต้องไม่ซ้ำพ้อง หรือคล้ายคลึงกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์หรือพระนามของพระราชวงศ์ หรือที่มุ่งหมายให้หมายถึงพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์
การประชุมตามวรรคหนึ่งต้องมีบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร และมติของที่ประชุมให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม โดยผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนซึ่งต้องทำโดยเปิดเผย และการมอบหมายให้ลงคะแนนแทนกันจะกระทำมิได้
ในกรณีที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๗ ให้ถือว่าการประชุมตามวรรคหนึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่หนึ่งของพรรคการเมือง
มาตรา ๑๑ ในการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๐ (๒) เป็นผู้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการกำหนด และให้นายทะเบียนออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอไว้เป็นหลักฐาน
คำขอจดทะเบียน การยื่นคำขอจดทะเบียน และการออกใบรับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๒ คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและชื่อย่อของพรรคการเมือง
(๒) ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
(๓) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง
(๔) ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชนและลายมือชื่อของหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
มาตรา ๑๓ เอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นไปพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน และลายมือชื่อของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน
(๒) หลักฐานการชำระเงินทุนประเดิมของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน
(๓) ข้อบังคับ
(๔) บันทึกการประชุมตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งผู้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้อง
(๕) หนังสือรับแจ้งของนายทะเบียนในกรณีที่มีการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๘
มาตรา ๑๔ ข้อบังคับต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
(๒) ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(๓) อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ
(๔) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๕ ข้อบังคับอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและชื่อย่อของพรรคการเมือง
(๒) ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
(๓) คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง
(๔) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองซึ่งต้องตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
(๕) โครงสร้างการบริหารพรรคการเมือง และตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคการเมือง
(๖) หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และหน้าที่และอำนาจของหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
(๗) การบริหารจัดการสาขาพรรคการเมือง และของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
(๘) การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและการประชุมใหญ่ของสาขาพรรคการเมือง
(๙) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก การรับเข้าเป็นสมาชิก และการพ้นจากการเป็นสมาชิก
(๑๐) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ความรับผิดชอบของสมาชิกต่อพรรคการเมือง และความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก
(๑๑) มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิก โดยมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องเทียบเคียงได้กับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๑๒) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ และการคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวาง
(๑๓) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวาง
(๑๔) วิธีการบริหารการเงินและทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและให้สมาชิกตรวจสอบได้โดยสะดวก
(๑๕)๑ รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละยี่สิบบาท
(๑๖) การเลิกพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
การพิจารณาเพื่อออกข้อบังคับตาม (๖) (๘) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) (๑๕) และ (๑๖) ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมพิจารณาอย่างกว้างขวาง
การกำหนดข้อบังคับในลักษณะที่เป็นการให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจะกระทำมิได้
พรรคการเมืองอาจกําหนดให้เรียกเก็บค่าบํารุงพรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กําหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยบาท๒
เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองตาม (๑๕) ให้สำนักงานประสานกับธนาคาร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๖ หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อบังคับแต่ต้องไม่เกินคราวละสี่ปี
มาตรา ๑๗ ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและเอกสารและหลักฐานที่ยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและให้ประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา
หากนายทะเบียนเห็นว่าคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองในเรื่องใดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่มีการแก้ไขหรือยังแก้ไขไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้นายทะเบียนรายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและมีมติไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และให้นายทะเบียนแจ้งมติของคณะกรรมการให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ
ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้ยื่นไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ ให้นายทะเบียนรายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้น และให้แจ้งมติของคณะกรรมการให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ ในการนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องดำเนินการแก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วหากไม่มีการแก้ไข หรือยังแก้ไขไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านมติของคณะกรรมการตามวรรคสองหรือวรรคสามต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการ
มาตรา ๑๘ บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙ จำนวนไม่น้อยกว่าสิบห้าคน จะยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนไว้ก่อน แล้วดำเนินการรวบรวมผู้จัดตั้งพรรคการเมืองให้ได้ครบจำนวนตามมาตรา ๙ ก็ได้ แต่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับแจ้ง ถ้ามิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้คำขอนั้นเป็นอันสิ้นผล
คำขอแจ้ง การยื่นคำขอแจ้ง และการรับแจ้ง ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ คำขอแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่แจ้งตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา ๑๔ และต้องไม่ซ้ำ พ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่มีผู้แจ้งตามวรรคหนึ่งไว้แล้วหรือของพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งไว้แล้วหรือที่ยื่นขอจดทะเบียนตามมาตรา ๙ อยู่ก่อนแล้ว
มาตรา ๑๙ หากนายทะเบียนเห็นว่าการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘ ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้แจ้งทราบพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่นายทะเบียนกำหนดหรือที่ขยายให้ เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน ให้คำขอนั้นเป็นอันสิ้นผล
๑ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (๑๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๑๕ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๒
การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๒๐ ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง
พรรคการเมืองต้องไม่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน
มาตรา ๒๑ พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมืองมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ
กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดามติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมาย และข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองโดยปรากฏหลักฐานการคัดค้านนั้นในรายงานการประชุมหรือได้ทำหนังสือคัดค้านยื่นต่อประธานในที่ประชุมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่การประชุมนั้นสิ้นสุดลง
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ทำการแทนก็ได้
มาตรา ๒๒ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับรวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากนายทะเบียนว่าสมาชิกกระทำการอันอาจมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีมติหรือสั่งการให้สมาชิกยุติการกระทำนั้นโดยพลัน และกำหนดมาตรการหรือวิธีการที่จำเป็นเพื่อมิให้สมาชิกผู้ใดกระทำการอันอาจมีลักษณะดังกล่าวอีก แล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีมติ
ในกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลายี่สิบปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวรรคสี่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของคณะกรรมการต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว
ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวรรคสี่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และห้ามมิให้มีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๒๓ ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างน้อยในแต่ละปีพรรคการเมืองต้องมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
(๒) ร่วมกับประชาชนในการหาแนวทางการพัฒนาประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน
(๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระอย่างมีเหตุผล
(๔) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน
(๕) กิจกรรมอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดทำแผน หรือโครงการที่จะดำเนินกิจกรรมตามวรรคหนึ่งในแต่ละปีส่งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนเมษายนของทุกปี และให้นายทะเบียนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๒๔๑ สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กําหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ
(๓) ไม่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้จําคุกว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ
(๔) ไม่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้จําคุกว่ากระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๕) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๑ หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๘
มาตรา ๒๕ ให้นายทะเบียนสมาชิกมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก และจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริงและต้องให้สมาชิกตรวจดูได้โดยสะดวก ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง รวมทั้งประกาศชื่อและนามสกุลของสมาชิกให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้อง
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสมาชิกให้นายทะเบียนทราบตามรายการหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
ในกรณีที่พรรคการเมืองใดแอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิกโดยผู้นั้นไม่รู้เห็นหรือไม่สมัครใจผู้ที่ถูกแอบอ้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกแอบอ้าง อาจแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลบชื่อของผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น
มาตรา ๒๖ ให้นายทะเบียนมีหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสมาชิกของทุกพรรคการเมือง
ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าบุคคลใดเป็นสมาชิกหลายพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทราบและลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น และให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบโดยเร็ว แล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
ให้สำนักงานจัดให้มีระบบฐานข้อมูลพรรคการเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๗ สมาชิกภาพของสมาชิกเริ่มตั้งแต่ได้ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับแล้ว โดยจะสิ้นสุดลงตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้
(๑) ลาออก
(๒) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ เว้นแต่เป็นกรณีมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๑) ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการบวชตามประเพณีนิยม แต่ในระหว่างมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกมิได้
(๓) ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน
การลาออกตาม (๑) ให้ถือว่าสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนสมาชิก หรือนายทะเบียน ในกรณีที่ยื่นต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งให้นายทะเบียนสมาชิกทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่ข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมติของพรรคการเมือง หากสมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับต้องกำหนดให้มติของพรรคการเมืองดังกล่าวมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
มาตรา ๒๙ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
มาตรา ๓๐ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก
มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่พรรคการเมืองใช้ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง หรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองหรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า “พรรคการเมือง” หรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า “พรรคการเมือง”
มาตรา ๓๓ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
(๒) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป
เมื่อจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองขึ้นในภาคใดแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขานั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
หนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ต้องมีรายการตามที่นายทะเบียนกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีแผนผังแสดงที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง และชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชนของคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดคน
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
ภายหลังที่ได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองแล้ว สาขาพรรคการเมืองใดไม่เป็นไปตาม (๒) ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองนั้นดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนดหากพรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่ถูกต้องให้สาขาพรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป
มาตรา ๓๔ กรรมการสาขาพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรคการเมือง
การได้มา การดำรงตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง วิธีการบริหาร และหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสาขาพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับโดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา ๒๓ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขาพรรคการเมืองนั้นด้วย
มาตรา ๓๕ ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน พรรคการเมืองนั้นอาจแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้ตามจํานวนที่เห็นสมควรเพื่อดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น และให้นําความในมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดด้วยโดยอนุโลม๒
ให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
มาตรา ๓๖ สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจะจัดตั้งขึ้นนอกราชอาณาจักรมิได้
มาตรา ๓๗ พรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๓๘ การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง
(๑) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรคการเมือง
(๒) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ
(๓) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
(๔) การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง
(๕) ให้ความเห็นชอบรายงานการเงินและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีที่ผ่านมา
(๖) กิจการที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง
(๗) กิจการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมาย หรือข้อบังคับ
กิจการตาม (๑) (๒) และ (๓) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองแล้ว ให้พรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง และให้นายทะเบียนประกาศการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองครบวาระ ตาย ลาออก เปลี่ยนชื่อตัว เปลี่ยนชื่อสกุล หรือเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุใด ๆ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว และให้นายทะเบียนประกาศเหตุดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาด้วย
มาตรา ๓๙ องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสองสาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๓ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน
องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสาขาพรรคการเมืองทั้งหมด และสมาชิกสาขาพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน
มาตรา ๔๐ การลงมติในที่ประชุมใหญ่ให้กระทำโดยเปิดเผย แต่การลงมติเลือกบุคคลตามมาตรา ๓๘ (๓) และ (๔) ให้ลงคะแนนลับ
มาตรา ๔๑ สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของพรรคการเมืองหรือไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า มีสิทธิเข้าชื่อกันยื่นคำร้องขอให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมืองนั้นได้
มาตรา ๔๒ ในกรณีสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งคนใด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น ให้มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
ถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยว่ามติใดของพรรคการเมืองขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้
มาตรา ๔๓ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายการตามที่คณะกรรมการกำหนด
พรรคการเมืองใดที่จดทะเบียนยังไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันสิ้นปีปฏิทิน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งสำหรับปีนั้น
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วตามวรรคหนึ่ง ต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
มาตรา ๔๔ ห้ามมิให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน
มาตรา ๔๕ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ
ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองสมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ
๑ มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๓
การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
-------------------------
มาตรา ๔๗๑ พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดในจังหวัดนั้น ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกําหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดเพื่อดําเนินการตามมาตรา ๕๐
มาตรา ๔๘ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทําบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด โดยต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกําหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดเพื่อดําเนินการตามมาตรา ๕๑๒
คณะกรรมการจะกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของผู้สมัครซึ่งเป็นชายและหญิงที่พรรคการเมืองจะต้องส่งลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่อาจส่งผู้สมัครตามอัตราส่วนดังกล่าวได้ ให้แจ้งเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
การกำหนดอัตราส่วนตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมืองด้วย
มาตรา ๔๙ ในการเลือกตั้งทั่วไป การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ เว้นแต่กรณีที่เป็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแทนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ หรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งหรือกรณีผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามข้อบังคับ
เมื่อมีกรณีต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประกอบด้วยบุคคลและจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทั้งนี้ จำนวนหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้เป็นไปตามข้อบังคับ แต่อย่างน้อยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๓ และให้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้ได้ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดในข้อบังคับ และตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๐และมาตรา ๕๑
เพื่อประโยชน์ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง พรรคการเมืองใดจะดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้
มาตรา ๕๐๓ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณะกรรมการสรรหากําหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป
(๒) เมื่อพ้นกําหนดเวลารับสมัครตาม (๑) ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
(๓) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัครจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดจัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด
(๔) ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดส่งรายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) ให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็น
(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) และ (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเสนอให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
มาตรา ๕๑๔ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณะกรรมการสรรหากําาหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครและการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป
(๒) ให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด เสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา
(๓) เมื่อพ้นกําหนดเวลารับสมัครและเสนอรายชื่อตาม (๑) แล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ โดยต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
(๔) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๓) จากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมเสนอความคิดเห็น
(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแล้วจัดลําดับตามที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ให้สามารถใช้สิทธิการเป็นสมาชิกในจังหวัดใกล้เคียงที่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดตามที่กําหนดในข้อบังคับ
มาตรา ๕๒ ให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑
มาตรา ๕๓๕ (ยกเลิก)
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับ หรือให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือก หรือเพื่อให้เสนอชื่อสมาชิกผู้ใดเข้ารับการเลือก ในการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑
มาตรา ๕๕๖ ห้ามมิให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดยินยอมให้บุคคลใดที่มิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในการดําเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑
มาตรา ๕๖ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๕๑
เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งหรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่ามิได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ แล้วแต่กรณี หรือดำเนินการไม่ครบถ้วน ไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไป แต่ถ้าคณะกรรมการทราบถึงการไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องกล่าวโทษหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีเขตอำนาจเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
มาตรา ๕๗ การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินการประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ
(๒) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
(๓) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
๑ มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๒ มาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๓ มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๔ มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๕ มาตรา ๕๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
๖ มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
หมวด ๔
การเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๕๘ ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่บริหารการเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองตลอดจนจัดให้มีการทำบัญชีตามมาตรา ๕๙ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องจัดให้มีบัญชีรับและจ่ายเงินของสาขาพรรคการเมืองหรือที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับหรือจ่าย แล้วแต่กรณี และจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมที่อยู่ของสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาพรรคการเมืองหรือในเขตจังหวัดที่ตนเป็นตัวแทน แล้วแต่กรณี ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๙ บัญชีของพรรคการเมืองประกอบด้วย
(๑) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย
(๒) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค
(๓) บัญชีแยกประเภท
(๔) บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน
การลงรายการบัญชีตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการและเอกสารประกอบการลงบัญชี และต้องจัดทำภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๐ พรรคการเมืองต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง และครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปีในวันสิ้นปีปฏิทิน
การปิดบัญชี ให้จัดทำงบการเงินซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะทางการเงินและงบรายได้และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง
งบแสดงฐานะทางการเงินต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมืองทั้งต้องแสดงที่มาของรายได้ตามมาตรา ๖๒ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และรายการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
งบการเงินของพรรคการเมืองต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองการสอบบัญชี
มาตรา ๖๑ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบ และรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี
งบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วให้หัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมือง และส่งให้แก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติพร้อมทั้งบัญชีตามมาตรา ๕๙
เมื่อได้รับงบการเงินตามวรรคสองแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
พรรคการเมืองใดที่จดทะเบียนยังไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันสิ้นปีปฏิทิน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งสำหรับปีนั้น
หมวด ๕
รายได้ของพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๖๒ พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินทุนประเดิมตามมาตรา ๙ วรรคสอง
(๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(๓) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(๕) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
(๖) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(๗) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
การได้มาซึ่งรายได้ตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม (๓) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (๔) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้
มาตรา ๖๓ รายได้และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
มาตรา ๖๔ การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผย และแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนและที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากกิจกรรมดังกล่าว และให้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบด้วย ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กิจกรรมดังกล่าวสิ้นสุดลง
ประกาศและหนังสือแจ้งตามวรรคสอง ให้ระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไปด้วย
มาตรา ๖๕ ทุกเดือน ให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าพันบาท ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้แจ้งนายทะเบียนทราบตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
การประเมินมูลค่าของสิ่งที่ได้รับบริจาคตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๖ บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
มาตรา ๖๗ หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
กิจกรรมของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย
มาตรา ๖๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๗ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้บังคับแล้วจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่ารวมกันแล้วเกินหนึ่งหมื่นบาทต่อวัน โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นหรือของพรรคการเมืองหรือเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับบริจาคตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ถ้าสิ่งของที่ได้รับบริจาคตามวรรคหนึ่งไม่อาจนำส่งพรรคการเมืองได้หรือเป็นของสดเสียได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นแจ้งให้พรรคการเมืองทราบเพื่อบันทึกมูลค่าของสิ่งนั้นไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น
ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดมีเหตุสงสัยว่าเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ตนได้รับเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือเพื่อใช้ในการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง หรือเป็นสิ่งของตามวรรคสองหรือไม่ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
มาตรา ๖๙ ผู้เสียภาษีเงินได้ซึ่งมิใช่นิติบุคคลมีสิทธิแสดงเจตนาในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้รัฐนำเงินที่ตนได้เสียภาษีไว้ไปอุดหนุนพรรคการเมืองที่ตนระบุพรรคใดพรรคหนึ่งปีละห้าร้อยบาทได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ให้กรมสรรพากรจัดทำรายชื่อพรรคการเมืองที่ได้รับการระบุตามวรรคหนึ่งพร้อมจำนวนเงินที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับการอุดหนุนจากการแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งทั้งหมดส่งให้นายทะเบียน และโอนเงินดังกล่าวให้กองทุนภายในเดือนกันยายนของทุกปีเพื่อโอนต่อให้พรรคการเมืองที่ได้รับอุดหนุนตามมาตรานี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการและกรมสรรพากรจะได้ตกลงกัน
มาตรา ๗๐ ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้ตามจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทสำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกินห้าหมื่นบาท สำหรับนิติบุคคล
วิธีการขอหักค่าลดหย่อนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการหักค่าลดหย่อน ให้ถือว่าการสนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา ๖๔ เป็นเงินบริจาคตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๗๑ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและเหรัญญิกพรรคการเมืองเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรคการเมืองนั้น และให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งหมายเลขบัญชีของบัญชีเงินฝากและจำนวนเงินที่เปิดบัญชีของทุกบัญชีให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เปิดบัญชีดังกล่าว
มาตรา ๗๒ ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา ๗๓ ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่รวมถึงการที่ข้าราชการการเมืองผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตรา ๖๔ โดยมิได้กระทำหรือมีส่วนกระทำการอันเป็นการต้องห้ามนั้น
มาตรา ๗๔ ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก
(๑) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(๒) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร
(๓) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(๔) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(๕) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
(๖) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ตามที่คณะกรรมการกำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวที่มิใช่เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
มาตรา ๗๕ บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตามมาตรา ๗๔ จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมิได้
มาตรา ๗๖ ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตรา ๖๔
กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงกิจการที่รัฐเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ หรือมีจำนวนถึงหนึ่งในสามของหุ้นส่วนหรือหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับวัด หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศาสนา และองค์กรทางศาสนาไม่ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ด้วย โดยคณะกรรมการจะกำหนดให้ใช้บังคับกับนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือนิติบุคคลที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไรมาแบ่งปันกันด้วยก็ได้
มาตรา ๗๗ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดมาตรการและวิธีการที่จำเป็นให้พรรคการเมืองปฏิบัติเพื่อให้การรับบริจาคของพรรคการเมืองเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผยและตรวจสอบได้ และให้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการบริจาคแก่พรรคการเมือง รวมทั้งให้มีอำนาจออกคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง
ให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ
หมวด ๖
กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๗๘ ให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองกองทุนหนึ่งในสำนักงานมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมือง การให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน และสมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างแท้จริงและการดำเนินการอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนด
กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพัน และงบประมาณที่โอนมาตามมาตรา ๑๔๗
(๒) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย
(๓) เงินที่ได้รับมาจากกรมสรรพากรตามมาตรา ๖๙
(๔) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๕) เงินและดอกเบี้ยที่เรียกคืนจากผู้ซึ่งต้องรับผิดในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อันเนื่องจากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
(๖) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่พรรคการเมืองได้มาโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๗) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๙๕ และมาตรา ๑๒๕
(๘) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีผู้มอบให้ แต่กองทุนจะรับมอบเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลตามมาตรา ๗๔ มิได้
(๙) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของกองทุน
เงินตาม (๓) ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองที่ผู้เสียภาษีเงินได้แสดงเจตนาไว้ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรแจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๖๙
เงินของกองทุนให้ใช้ได้เฉพาะเพื่อการอันเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนและตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗๙ ทรัพย์สินของกองทุนเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้
มาตรา ๘๐ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมดูแลการดำเนินการ และการใช้จ่ายเงินของกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง การบริหาร และควบคุมดูแลกองทุนให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่แทน ประกอบด้วย ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการ กรรมการการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการมอบหมายหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงบประมาณหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคนเป็นกรรมการ และให้นายทะเบียนเป็นกรรมการและเลขานุการ
วาระการดำรงตำแหน่ง เบี้ยประชุม การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการกองทุนผู้ทรงคุณวุฒิและการประชุมของคณะกรรมการกองทุน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนมีองค์ประกอบไม่ครบตามวรรคสองไม่ว่าด้วยเหตุใดให้คณะกรรมการกองทุนปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการกองทุนประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๘๑ ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้คณะกรรมการกำหนดวงเงินที่จะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนแก่พรรคการเมืองสำหรับปีงบประมาณถัดไป ประกอบด้วย
(๑) เงินที่ได้รับจากกรมสรรพากรตามมาตรา ๖๙
(๒) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๗๘ (๒) ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบแต่ไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
(๓) เงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๗๘ (๔) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ
(๔) เงินที่ได้รับจากการเรียกคืนตามมาตรา ๗๘ (๕) ที่ได้รับในปีงบประมาณก่อนหน้านั้นไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
(๕) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ตามมาตรา ๗๘ (๘) ถ้าผู้มอบให้ระบุวัตถุประสงค์ว่าให้แก่พรรคการเมืองหรือเพื่อการอื่น ให้นำมาจัดสรรตามที่ผู้มอบให้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ ถ้าผู้มอบให้มิได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ ให้นำมาจัดสรรไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
(๖) ดอกผลของกองทุนตามมาตรา ๗๘ (๙) ไม่เกินร้อยละแปดสิบ
มาตรา ๘๒ เงินกองทุนดังต่อไปนี้ ให้นำมาจัดสรรเพื่อใช้จ่ายเพื่อการบริหารกองทุนและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและสำนักงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการอันเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรียกเก็บ
(๑) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๗๘ (๒) ไม่เกินร้อยละสามสิบ
(๒) เงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๗๘ (๔) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ
(๓) เงินหรือทรัพย์สินตามมาตรา ๗๘ (๖)
(๔) เงินหรือทรัพย์สินตามมาตรา ๗๘ (๗)
(๕) ดอกผลของกองทุนตามมาตรา ๗๘ (๙) ไม่เกินร้อยละยี่สิบ
(๖) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ที่ระบุให้แก่คณะกรรมการหรือสำนักงาน หรือไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินที่มีผู้มอบให้โดยมิได้ระบุวัตถุประสงค์
การใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่การนำไปใช้เพื่อการเดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะกระทำมิได้
เงินที่เหลือจากการใช้จ่ายของทุกปี ให้นำส่งคืนเข้ากองทุน
มาตรา ๘๓ การจัดสรรเงินตามมาตรา ๘๑ ให้แก่พรรคการเมือง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินจัดสรรตามมาตรา ๘๑ (๑) ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองตามที่ผู้เสียภาษีได้ระบุไว้
(๒) ร้อยละสี่สิบของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ให้จัดสรรให้ตามจำนวนเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้รับ โดยแต่ละพรรคการเมืองให้ได้รับตามอัตราส่วนระหว่างจำนวนเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่ทุกพรรคการเมืองได้รับรวมกันในปีที่ผ่านมาต่อจำนวนเงินค่าบำรุงที่พรรคการเมืองนั้น ๆ ได้รับมาในปีที่ผ่านมา แต่เงินที่จัดสรรให้ต้องไม่เกินเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจากสมาชิกในปีที่ผ่านมา
(๓) ร้อยละสี่สิบของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ให้จัดสรรให้ตามคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยแต่ละพรรคการเมืองให้ได้รับตามอัตราส่วนระหว่างคะแนนเสียงที่ทุกพรรคการเมืองได้รับรวมกันต่อคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ สำหรับปีอื่นให้จัดสรรให้พรรคการเมืองตามสัดส่วนที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับการจัดสรรตามอัตราส่วนเงินบริจาคทั้งหมดตามมาตรา ๖๙ ต่อเงินที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
(๔) ร้อยละยี่สิบของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ให้จัดสรรตามจำนวนสาขาพรรคการเมืองโดยแต่ละพรรคการเมืองให้ได้รับตามอัตราส่วนระหว่างจำนวนสาขาพรรคการเมืองของทุกพรรคการเมืองรวมกันในปีที่ผ่านมาต่อจำนวนสาขาพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้น ๆ ในปีที่ผ่านมา
(๕) ในกรณีที่ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่อันเป็นผลจากการกระทำของสมาชิกของพรรคการเมืองใด เมื่อได้วงเงินที่จะต้องได้รับจากการจัดสรรให้พรรคการเมืองนั้นตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) แล้ว ให้หักจำนวนเงินที่คณะกรรมการยื่นฟ้องให้สมาชิกผู้นั้นชดใช้คืนออกจากเงินจัดสรรของพรรคการเมืองและส่งคืนเข้ากองทุนก่อน ถ้าภายหลังมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดปรากฏว่าผู้นั้นไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยกว่าที่คณะกรรมการยื่นฟ้อง ให้คณะกรรมการกองทุนจ่ายเงินคืนให้แก่พรรคการเมืองนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ถ้าเงินที่จัดสรรให้มีไม่พอให้ดำเนินการหักจากเงินจัดสรรในปีต่อ ๆ ไปจนครบ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิพรรคการเมืองที่จะไล่เบี้ยเอาจากสมาชิกที่ต้องรับผิดตามคำพิพากษา
ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมิได้ดำเนินการตามมาตรา ๒๓ และเมื่อคณะกรรมการได้แจ้งเตือนแล้วยังมิได้ปฏิบัติตาม คณะกรรมการอาจลดจำนวนเงินที่จะจัดสรรให้พรรคการเมืองนั้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
เงินที่เหลือจากการจัดสรรให้ส่งคืนเข้ากองทุน
มาตรา ๘๔ เงินที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรตามมาตรา ๘๓ ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง การจัดทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา ๒๓ การพัฒนาพรรคการเมืองและสมาชิกให้มีคุณภาพและคุณธรรมอันดีงาม และการส่งเสริมความรู้แก่สมาชิกและประชาชนในทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด และเมื่อใช้ไปเพื่อการใดแล้ว ให้จัดทำรายงานให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการจัดสรร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่จะนำไปใช้จ่ายตามมาตรา ๘๘ ไม่ได้
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดการใช้จ่ายเงินให้นายทะเบียนทราบก่อนก็ได้ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าการใช้จ่ายเงินรายการใดไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้พรรคการเมืองทราบ
คณะกรรมการจะกำหนดให้พรรคการเมืองใช้เงินที่ได้รับจัดสรรตามวรรคหนึ่งแต่ละด้านตามสัดส่วนที่กำหนดก็ได้
พรรคการเมืองจะใช้จ่ายเงินที่ได้รับตามวรรคหนึ่งไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมืองหรือเพื่อจ้างบุคลากรของพรรคการเมืองหรือค่าใช้จ่ายอื่นทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการกำหนดมิได้ เว้นแต่เป็นเงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๓ (๔) แต่การใช้จ่ายเงินนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสาขาพรรคการเมืองเท่านั้น
ให้สำนักงานจัดให้มีการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการจัดสรรให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘๕ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าพรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา ๘๔ หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแจ้งให้พรรคการเมืองแก้ไขการใช้จ่ายในเรื่องนั้นของปีถัดไป และในการนี้ คณะกรรมการอาจเรียกเงินคืน หรือลดการจัดสรรเงินอุดหนุนตามมาตรา ๘๓ ในปีถัดไปด้วยก็ได้
ถ้านายทะเบียนตรวจสอบรายงานตามมาตรา ๘๔ แล้วปรากฏว่าเป็นการรายงานด้วยข้อความอันเป็นเท็จทั้งหมดหรือบางส่วน หรือไม่รายงานภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเรียกเงินคืนจากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง และให้งดการจัดสรรเงินอุดหนุนในปีถัด ๆ ไป จนกว่าจะชำระคืนครบถ้วน
มาตรา ๘๖ ให้คณะกรรมการจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรค โดยคำนึงถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๓ หรือเพื่อแถลงผลงานของพรรคการเมืองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐจัดสรรเวลาออกอากาศตามที่คณะกรรมการกำหนด
หมวด ๗
การใช้จ่ายของพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๘๗ เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง
พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าในรูปแบบใด ให้สมาชิกและประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘๘ ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
ห้ามมิให้สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลใดโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เว้นแต่เงินที่ได้มีการแจ้งไว้ตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๘๙ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๔ มาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๘
หมวด ๘
การสิ้นสุดของพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๙๐ พรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๑
(๒) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๒
(๓) มีการควบรวมพรรคการเมืองตามหมวด ๙ การควบรวมพรรคการเมือง
มาตรา ๙๑ พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ
(๑) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม หรือไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา ๓๓ (๑) หรือ (๒) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
(๒) ภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงตามที่กำหนดในมาตรา ๓๓ (๑) ติดต่อกันเกินเก้าสิบวัน
(๓) ภายหลังจากที่ดำเนินการครบตามมาตรา ๓๓ (๒) มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละหนึ่งสาขาเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี
(๔) ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย
(๕) ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน
(๖) มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(๗) พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ
เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนหรือมีผู้แจ้งต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดสิ้นสภาพตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีกรณีที่เป็นเหตุให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพตามวรรคหนึ่ง ให้เสนอคณะกรรมการพิจารณา ถ้าคณะกรรมการเห็นว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการประกาศการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีเช่นนี้ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองที่ถูกประกาศว่าสิ้นสภาพตามวรรคสองไม่เห็นด้วยกับการประกาศของคณะกรรมการตามวรรคสอง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง
มาตรา ๙๒ เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๓) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๗๒ หรือมาตรา ๗๔
(๔) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
มาตรา ๙๓ เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๒ ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๒ คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้
ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้
มาตรา ๙๔ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น
ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ
มาตรา ๙๕ ในกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีและงบแสดงฐานะทางการเงิน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยแจ้งให้คณะกรรมการทราบ
ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่งยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ แต่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบมิได้
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือจำหน่ายทรัพย์สินของพรรคการเมืองเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองนั้นไม่มีเงินหรือทรัพย์สินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี ให้คณะกรรมการสั่งจ่ายเงินจากกองทุนตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้ทราบ
ในการชำระบัญชีเมื่อได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายแล้วยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ ถ้าในข้อบังคับไม่ได้ระบุไว้ให้ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็นของกองทุน
ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดมาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีของพรรคการเมืองด้วยโดยอนุโลม
หมวด ๙
การควบรวมพรรคการเมือง
-------------------------
มาตรา ๙๖ ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้
มาตรา ๙๗ การควบรวมพรรคการเมืองให้กระทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่
มาตรา ๙๘ ในการควบรวมพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๗ ให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง
เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบให้รวมกันแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนพรรคการเมืองละสิบคน ประชุมร่วมกันเพื่อดำเนินการร่างข้อบังคับของพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคการเมืองที่จะรวมกัน เพื่อประชุมตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๐ และดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ การเรียกประชุมตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่จะรวมกันทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง
มาตรา ๙๙ เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๗ แล้ว ให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเดิมที่รวมเข้ากันเป็นอันสิ้นสุดลง โดยให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้น และให้บรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของพรรคการเมืองเดิมโอนไปเป็นของพรรคการเมืองใหม่ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง
ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่ง การสิ้นสุด และการควบรวมพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา
หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๑๐๐ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้การเพิกถอนสิทธิดังกล่าวมีผลในทันทีและเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๐๑ ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นพรรคการเมือง ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
มาตรา ๑๐๒ ผู้ใดไม่มาให้คำชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานแก่นายทะเบียนตามมาตรา ๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๓ ผู้ใดยื่นเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา ๑๓ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๐๔ หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดรู้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ วรรคสองหรือวรรคสี่ และไม่รายงานเป็นหนังสือให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทราบ หรือหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๐๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ วรรคหก หรือมาตรา ๙๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๖ หัวหน้าพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือเหรัญญิกพรรคการเมือง ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสองหรือวรรคสี่ มาตรา ๓๘ วรรคสองหรือวรรคสาม มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๔ วรรคสองหรือวรรคสาม หรือมาตรา ๗๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๑๐๗ นายทะเบียนสมาชิกจัดทำทะเบียนสมาชิกอันเป็นเท็จ หรือพรรคการเมืองใดแอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิกของตนตามมาตรา ๒๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๐๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๐๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
ถ้าความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อให้ลงหรือขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๑๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑๑ ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมือง หรือผู้ใดดำเนินการไม่ว่าด้วยวิธีใดให้เข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองโดยมิได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแต่ยินยอมรับการแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พรรคการเมืองใดแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งโดยรู้ว่าผู้นั้นไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๑๓ พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๑๑๔ ผู้ใดบริจาคให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือสมาชิกเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๑๕ ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๑๗ หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี
ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสมาชิกของพรรคการเมืองทุกคนเป็นผู้เสียหาย
มาตรา ๑๑๘๑ (ยกเลิก)
มาตรา ๑๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำ การฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมือง บรรดาที่รู้เห็นกับการกระทำนั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๒๐ หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดออกหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๕๖ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๒๑ พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง หรือมาตรา ๗๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๑๒๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๒ วรรคสองหรือวรรคสาม มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๗ หรือมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๑๒๓ พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๒๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย
มาตรา ๑๒๕ พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๖๖ ตกเป็นของกองทุน
มาตรา ๑๒๖ ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๒๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๑๒๘ สมาชิกผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๔ หรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๕ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น
มาตรา ๑๒๙ พรรคการเมืองใดไม่รายงานตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๓๐ พรรคการเมืองใดจัดทำรายงานตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง อันเป็นเท็จต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๑๓๑ พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๔ วรรคสามหรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับห้าเท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปโดยไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นการกระทำความผิดซ้ำ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
มาตรา ๑๓๒ หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิกพรรคการเมืองผู้ใดนำหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๓ พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๗ วรรคสอง หรือเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๘๗ วรรคสอง และละเลยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นมีกำหนดห้าปีด้วย
มาตรา ๑๓๔ ผู้ใดจ่ายเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๑๓๕ สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓๖ กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๗ ในกรณีที่พรรคการเมืองเป็นผู้กระทำความผิด ถ้าการกระทำความผิดของพรรคการเมืองนั้น เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของพรรคการเมืองนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการ และละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
มาตรา ๑๓๘ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีด้วย โดยความผิดนั้นไม่มีกรณีที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดดังกล่าวได้
เมื่อผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบและชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป
มาตรา ๑๓๙ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไปและศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาสืบพยาน และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้
๑ มาตรา ๑๑๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๑๔๐๑ ให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และยังดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ เป็นสมาชิก และยังคงเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อไป และให้สมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ และประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ และชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สมาชิกผู้ใดมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิก ให้เป็นอันพ้นจากสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
มาตรา ๑๔๑๒ ในวาระเริ่มแรก ให้พรรคการเมืองตามมาตรา ๑๔๐ ดำเนินการในเรื่องและภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีทุนประเดิมจำนวนหนึ่งล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ
(๒) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมด้วยหลักฐานแสดงการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นระยะเวลาชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองดังกล่าว
(๓) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ และให้นายทะเบียนสมาชิกแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ตามรายการและวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๔๑/๑ (๑) และ (๒) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการอาจมีมติให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีกหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง เมื่อครบระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือครบระยะเวลาตามมาตรา ๑๔๑/๑ วรรคสี่ หรือครบระยะเวลาที่คณะกรรมการมีมติให้ขยาย แล้วแต่กรณี ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นสภาพลง ทั้งนี้ ในระหว่างเวลาที่พรรคการเมืองยังปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๔๑/๑ (๑) และ (๒) ไม่ครบถ้วน จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้
การวินิจฉัยเรื่องใด ๆ ตามมาตรานี้ที่มีผลกระทบต่อพรรคการเมือง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะวินิจฉัย ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
มาตรา ๑๔๑/๑๓ เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมีผลใช้บังคับ พรรคการเมืองใดประสงค์จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวัน และเมื่อได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง
(๑) แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมือง ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีผลใช้บังคับด้วย พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา ๓๘
(๒) เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง ตามข้อบังคับตาม (๑) พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา ๓๘
(๓) จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๕
(๔) รับสมาชิกของพรรคการเมือง
(๕) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง
(๖) มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๗) กิจกรรมทางการเมืองอื่นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนด
ในกรณีที่ต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองเท่าที่มีอยู่ และมีสมาชิกของพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคนแล้ว ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมดำเนินการดังกล่าวได้
ในกรณีที่พรรคการเมืองตามมาตรา ๑๔๐ ดำเนินการตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตามข้อบังคับพรรคที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับด้วย เว้นแต่องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่วรรคสองกำหนด
ให้พรรคการเมืองตามมาตรา ๑๔๐ ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ในราชกิจจานุเบกษา สำหรับการดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๔๒๔ ในระหว่างที่พรรคการเมืองใดยังดำเนินการตามมาตรา ๑๔๑ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๔๑/๑ (๑) (๒) และ (๓) ไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคการเมืองนั้น
มาตรา ๑๔๓ ในวาระเริ่มแรก การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามมาตรา ๘๓ (๓) ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๔๔๕ มิให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ และมาตรา ๕๖ มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ แต่ในการพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนสี่คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวนเจ็ดคน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบ
(๒) ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองเพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบนั้น ให้พิจารณาจากสมาชิกผู้ซึ่งยื่นความจำนงด้วยตนเองและผู้ซึ่งสมาชิกเสนอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งกำหนด โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย และให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิกที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย
(๓) ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง โดยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อด้วย
(๔) ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการสรรหาบุคคลแทนบุคคลนั้น หากคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งยืนยันเสนอชื่อบุคคลเดิมและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประชุมร่วมกัน เมื่อที่ประชุมร่วมกันดังกล่าวมีมติเป็นประการใดให้ดำเนินการไปตามมตินั้น การลงมติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
(๕) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๓) หรือนับแต่วันที่มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของที่ประชุมร่วมกันตาม (๔) ให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป
(๖) การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปแทนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่เป็นโมฆะ หรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ดำเนินการตามมาตรานี้
มาตรา ๑๔๕ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ หากพรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น
มาตรา ๑๔๖๖ ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พรรคการเมืองจะเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองต่ำกว่าอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ (๑๕) ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าสิบบาท
มาตรา ๑๔๗ ให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพัน และงบประมาณของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับไปเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๔๘ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๔๙ ให้อธิบดีกรมสรรพากรออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง และกำหนดวิธีการหักค่าลดหย่อนตามมาตรา ๗๐ วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๕๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการเพื่อยุบพรรคการเมืองหรือการดำเนินคดีแพ่งต่อบุคคลใดที่มีความรับผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่
การกระทำใด ๆ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ถ้าการกระทำนั้นยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาล มีอำนาจดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่
มาตรา ๑๕๑ บรรดาผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและยังไม่พ้นระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับต่อเนื่องไปจนครบกำหนดตามระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น
ผู้ใดถูกต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และยังไม่พ้นระยะเวลาที่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ถือว่าผู้นั้นถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้โดยให้นับต่อเนื่องไปจนครบกำหนดตามระยะเวลาที่ถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๑๕๒ ให้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อให้มีระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ และคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ระยะเวลาดังกล่าว มิให้นับรวมระยะเวลาที่มีกรรมการการเลือกตั้งไม่ถึงห้าคนเข้าด้วย
ในระหว่างดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือของนายทะเบียน ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
๑ มาตรา ๑๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๓/๒๕๖๐ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐
๒ มาตรา ๑๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
๓ มาตรา ๑๔๑/๑ เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
๔ มาตรา ๑๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
๕ มาตรา ๑๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
๖ มาตรา ๑๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง รวมทั้งจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรณีจึงสมควรกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมืองและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ ได้กําหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนห้าร้อยคน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสี่ร้อยคนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยคน และให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบที่ให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต การกำหนดจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง การคํานวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งที่เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและเคารพสิทธิและเสียงของประชาชน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมือง การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๖๐
๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑๓/๒๘ มกราคม ๒๕๖๖
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๖๐
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
(๒) พระราชบัญญัติเครื่องแบบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
(๓) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“สิทธิมนุษยชน” หมายความว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล บรรดาที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย หรือตามหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือ หรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการ หรือเลขาธิการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการหรือเลขาธิการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการหรือเลขาธิการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินการเรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการอาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วย ให้คณะกรรมการปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว
มาตรา ๗ ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๒๓ ก/หน้า ๑/๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐
หมวด ๑
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
-------------------------
มาตรา ๘ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้ และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีในด้านดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนแต่จะเกินด้านละสองคนมิได้
(๑) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน
(๒) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา
(๓) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
(๔) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๕) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันสมัครหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี
มาตรา ๙ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘ แล้ว กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๐ กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๑๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๒๕) เป็นผู้ที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง
มาตรา ๑๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสามคนเป็นกรรมการ
(๕) ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ
(๖) อาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทำงานวิจัย หรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี ซึ่งกรรมการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) มีมติเลือกด้วยคะแนนเสียงสองในสาม หนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตาม (๔) และสภาวิชาชีพตาม (๕) ต้องเป็นองค์กรหรือสภาวิชาชีพที่ได้จดแจ้งไว้กับสำนักงาน โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยต้องกำหนดให้มีการเลือกกันเองให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่มีกรณีที่ต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ
วิธีการเลือกกรรมการสรรหาตาม (๖) ให้เป็นไปตามที่กรรมการสรรหาตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ตกลงร่วมกัน ในกรณีที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามแล้วยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือ (๕) หรือมีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใดและมีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๔) อย่างน้อยหนึ่งคน ให้กรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ดำเนินการตกลงและเลือกกรรมการสรรหาตาม (๖) ได้ต่อไป โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสาม
ในกรณีที่พ้นกำหนดเวลาการเลือกกรรมการสรรหาตาม (๖) แล้ว ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) (๕) หรือ (๖) หรือมีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใดและมีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๔) อย่างน้อยหนึ่งคน ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๑๒ ให้กรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ (๔) (๕) และ (๖) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ แต่ไม่รวมถึงการสรรหาใหม่หรือการสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๓ วรรคห้า มาตรา ๑๔ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๑๕ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งแล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการสรรหาว่างลง ให้ดำเนินการให้มีการเลือกกรรมการสรรหาแทนโดยเร็ว ในระหว่างที่ยังไม่ได้กรรมการสรรหาใหม่ ถ้ายังมีกรรมการสรรหาตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓ ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรมไม่เลือกปฏิบัติ และปราศจากอคติทั้งปวง โดยอย่างน้อยการสรรหาต้องมีกระบวนการ ดังต่อไปนี้
(๑) ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงกระบวนการสรรหากรรมการ โดยอย่างน้อยต้องระบุจำนวนตำแหน่งกรรมการที่จะสรรหา หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่จะใช้ในการสรรหาทุกขั้นตอน และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
(๒) การสรรหากรรมการให้กระทำโดยการประกาศรับสมัครหรือการเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปเพื่อเข้ารับการสรรหาซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผย โดยในการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาจะต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้นด้วยและให้มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปเพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้เข้ารับการสรรหาดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย
(๓) ในการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ รวมตลอดทั้งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และส่งเสริมความเป็นพหุสังคม และให้คณะกรรมการสรรหาส่งข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาคัดสรรไปยังวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
การกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ต้องเพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถสมัครหรือเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาได้อย่างทั่วถึง และทำให้กรรมการสรรหาสามารถพิจารณาคัดสรรบุคคลให้ดำรงตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่ หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสาม ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหาให้ดำเนินการสรรหาใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
มาตรา ๑๔ ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหา แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงห้าคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๕ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๐ (๒๓) อยู่ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว ต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งกรรมการ ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดำเนินการสรรหาใหม่
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
การวินิจฉัย ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้
มาตรา ๑๗ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด แต่สำหรับเบี้ยประชุมให้กำหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๘ การนำคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หรือการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสรรหาไปสู่ศาลปกครอง ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา และมิให้นำบทบัญญัติว่าด้วยมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับ
มาตรา ๑๙ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๐ (๔) ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน
มาตรา ๒๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
(๔) พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม
เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) (๓) หรือ (๔) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ
ในระหว่างที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสี่คน ให้กระทำได้แต่เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในกรณีที่กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่ถ้ากรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๑ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๐ (๒) (๓) หรือ (๔) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมากและให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย ในกรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
มาตรา ๒๒ ในกรณีที่กรรมการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบเจ็ดคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการได้จนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๐ วรรคห้า การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุมในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม
การลงมติในการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติโดยจะงดออกเสียงมิได้ และให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมตามวรรคสองเฉพาะในกรณีมีการพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๒๖ (๒) หรือ (๔) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการลงมติ
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๔ ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง กรรมการต้องไม่รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก
(๑) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(๒) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร
(๓) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหรือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(๔) องค์การหรือนิติบุคคลที่มีรายได้หลักจากทุนหรือเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีที่กรรมการได้รับเชิญจากองค์การระหว่างประเทศหรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศให้ไปประชุมหรือสัมมนาในต่างประเทศโดยผู้เชิญเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว
มาตรา ๒๕ กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ทั้งต้องคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยและผลประโยชน์ส่วนรวม ของชาติเป็นสำคัญ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งกรรมการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่คณะกรรมการเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามและบริบทของสังคมไทยเป็นสำคัญด้วย
มาตรา ๒๖ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง
(๒) จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อประชาชน
(๓) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
(๔) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม
(๕) สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือแก่บุคคล หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนในการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ความรู้และพัฒนาความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งในการให้ความช่วยเหลือหรือเยียวยาแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
(๒) ส่งเสริมและเผยแพร่ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคลที่ทัดเทียมกัน และการเคารพในสิทธิมนุษยชนของบุคคลอื่นซึ่งอาจแตกต่างกันในทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และศาสนา
(๓) ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐองค์กรเอกชน และองค์การระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน
(๔) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีหรือการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๕) ออกระเบียบหรือประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๖) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๒๘ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานและต้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ เว้นแต่ที่มีบทบัญญัติหรือที่คณะกรรมการมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนกระทำได้ ให้กรรมการแต่ละคนมีอำนาจที่จะดำเนินการดังกล่าวได้ แต่ในการใช้อำนาจนั้นจะต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกันด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเบื้องต้นแทนคณะกรรมการก็ได้
มาตรา ๒๙ ในกรณีที่จำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด คณะกรรมการจะขอให้สำนักงานจ้างบุคคลหรือสถาบันซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดำเนินการในเรื่องนั้นได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการจ้างหรือแต่งตั้ง คณะกรรมการต้องกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน
หลักเกณฑ์และวิธีการจ้าง และค่าตอบแทนของบุคคลหรือสถาบัน หรือการแต่งตั้งอนุกรรมการ การพ้นจากตำแหน่ง ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอื่นและวิธีปฏิบัติงานของอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
กรรมการไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง เนื่องจากการที่ตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยสุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๑ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
ให้กรรมการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานกรรมการหรือกรรมการ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๒ กรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๓๑ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
หมวด ๒
การดำเนินการตามหน้าที่ของคณะกรรมการ
-------------------------
มาตรา ๓๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการดำเนินการโดยมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และให้เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการโดยการประสานหรือแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาสังคม
มาตรา ๓๔ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก
บุคคลใดที่ได้รับความเสียหายหรือพบเห็นว่ามีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมมีสิทธิแจ้งหรือร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น และต้องดำเนินการโดยมุ่งหมายให้การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว และไม่มีลักษณะบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน เว้นแต่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับประโยชน์ของผู้ร้องเรียนเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งจำเป็นต้องทราบตัวบุคคลเพื่อประโยชน์ในการติดต่อขอข้อมูลหรือแจ้งผลการดำเนินการ
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีที่มีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน เมื่อผลการพิจารณาเป็นประการใด ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนทราบด้วย เว้นแต่ผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนมิได้แจ้งสถานที่อยู่ที่จะติดต่อได้
มาตรา ๓๕ ในการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงตามมาตรา ๓๔ คณะกรรมการอาจดำเนินการโดยประการใด ๆ ซึ่งต้องไม่สร้างขั้นตอนหรือเป็นภาระแก่บุคคลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมากเกินจำเป็น และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้องเรียนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนได้ตามสมควร
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้ ซึ่งต้องกระทำเท่าที่จำเป็น
(๑) ขอให้หน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานดังกล่าว หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลใดไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการร้องขอคณะกรรมการจะออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นดำเนินการดังกล่าวก็ได้
(๒) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในกรณีที่เคหสถานหรือสถานที่ที่จะเข้าไปนั้นมิได้อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม ให้เข้าไปได้เมื่อมีหมายของศาล
(๓) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางของบุคคลซึ่งมาให้ความเห็นหรือถ้อยคำ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
ในการดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒) คณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการแทนคณะกรรมการได้ เว้นแต่การออกคำสั่งตาม (๑) ให้มอบหมายได้เฉพาะกรรมการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในการดำเนินการตาม (๒) ให้ดำเนินการต่อหน้าผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือถ้าหาบุคคลดังกล่าวไม่ได้ ก็ให้ดำเนินการต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งได้ขอร้องให้มาเป็นพยาน ในการนี้ ให้ผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยสะดวก
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบแล้วเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีใดเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นรายกรณี ให้แจ้งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวตามหน้าที่และอำนาจภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวัน โดยให้คณะกรรมการเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีนั้นด้วย แล้วแต่กรณี
ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการทราบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องไม่อาจดำเนินการได้เนื่องจากไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนนั้น หรือเป็นการร้องเรียนโดยใช้สิทธิไม่สุจริต หรือได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใดให้แจ้ง ให้คณะกรรมการทราบก่อนพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องมิได้ดำเนินการตามวรรคสองหรือวรรคสามภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญาและผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่กรรมการผู้ใดพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่มีทางเยียวยาได้ในภายหลัง กรรมการผู้นั้นอาจแจ้งให้หน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้นได้ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการทราบ ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้กรรมการผู้นั้นอาจสั่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตามที่เห็นสมควรได้
ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งตามวรรคหนึ่งที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
มาตรา ๓๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๖ ห้ามมิให้คณะกรรมการรับเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ ไว้พิจารณา
(๑) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่เป็นการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
(๒) เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ
(๓) เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น หรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นแล้ว แต่ไม่ตัดอำนาจในการที่จะขอรับทราบผลการพิจารณาขององค์กรอิสระที่รับเรื่องไว้ดำเนินการ
(๔) เป็นการร้องเรียนโดยใช้สิทธิไม่สุจริตและการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๕) เรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
(๖) เป็นเรื่องที่คณะกรรมการเคยพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เว้นแต่จะปรากฏพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไป
(๗) เรื่องอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ในกรณีที่ความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งยุติเรื่อง
มาตรา ๔๐ ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศประจำปีให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินเพื่อเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ให้กรรมการมาแถลงรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาด้วย
ในกรณีที่มีสถานการณ์อันกระทบหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบแล้วจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศในเรื่องนั้นขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรายงานให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทำรายงานตามวรรคหนึ่งไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาจะขยายเวลาออกไปอีกไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันก็ได้แต่ต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบ ในกรณีที่ยังไม่สามารถเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดเวลาที่ขยายโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
การจัดทำรายงานตามมาตรานี้ ให้กระทำเป็นการสรุป โดยอย่างน้อยในรายงานต้องประกอบด้วย ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมิให้ระบุรายละเอียดอันเป็นการเปิดเผยความลับของบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็น และต้องคำนึงถึงความถูกต้อง เป็นธรรม และผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย ทั้งนี้ ให้หน่วยงานของรัฐที่คณะกรรมการร้องขอ แจ้งข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในส่วนที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการทราบ และให้นำความในมาตรา ๓๕ (๑) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๑ ให้คณะกรรมการจัดให้มีแผนการดำเนินการตามมาตรา ๔๐ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่แต่ละกรณีเป็นไปโดยไม่ชักช้า และแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
มาตรา ๔๒ ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการแก้ไขปัญหาหรือการป้องกันเพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องใดหรือลักษณะใดขึ้นอีก จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุง กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนให้คณะกรรมการจัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อรัฐสภาคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรายงานหรือข้อเสนอแนะตามมาตรา ๓๖ วรรคสี่ มาตรา ๔๐ หรือมาตรา ๔๒ แล้ว ให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสมโดยเร็ว กรณีใดไม่อาจดำเนินการได้หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการอาจเผยแพร่รายงานหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการหรือผลการดำเนินการของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปได้
มาตรา ๔๔ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการไม่ว่าโดยทางใดว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของสถานการณ์นั้นโดยไม่ชักช้า เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้สรุปไว้ในรายงานตามมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง ด้วย ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๓๕ (๑) มาใช้บังคับแก่การตรวจสอบโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยอย่างน้อยให้คณะกรรมการสรุปปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินการด้วย และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๔๖ ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล
ผู้จัดทำและเผยแพร่รายงานตามหมวดนี้ หากได้กระทำโดยสุจริต ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา ทางปกครอง หรือทางวินัย
หมวด ๓
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
-------------------------
มาตรา ๔๗ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ
มาตรา ๔๘ สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการและดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
(๒) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน การปฏิบัติงานของคณะกรรมการและกรรมการ
(๓) ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับงานของคณะกรรมการ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรอื่นใดในด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อประโยชน์ในการสนับสนุนภารกิจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือที่คณะกรรมการมอบหมาย
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๙ ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการดังกล่าว
(๒) การกำหนดตำแหน่ง การจัดประเภทตำแหน่ง ระดับตำแหน่ง และการเทียบตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
(๓) การกำหนดคุณสมบัติ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากราชการ วินัย และการลงโทษทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์การลงโทษและการอื่นที่จำเป็นในการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการและพนักงานราชการของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน
(๔) การบริหารจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
(๕) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
(๖) การกำหนดคุณสมบัติ วิธีการสรรหา และการคัดเลือกเลขาธิการ
(๗) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
(๘) การจ้างและการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการ รวมทั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการประจำประธานกรรมการและกรรมการ และการกำหนดเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่บุคคลดังกล่าว
(๙) การอื่นใดอันจำเป็นต่อการกำกับหรือควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานหรือการบังคับบัญชาเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานหรือการทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการตาม (๑) (๒) และ (๘) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
การกำหนดตาม (๒) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพ และภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของบุคลากรแต่ละสายงานและระดับด้วย
ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร
ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีหน้าที่ลงนามในระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๕๐ ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
การใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่มิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการโดยอนุโลม
การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่ข้าราชการสำนักงาน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๕๑ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๕๐ วรรคสาม ให้คณะกรรมการทำหน้าที่ เป็น ก.พ. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงานได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. แล้วแต่กรณี
มาตรา ๕๒ ให้คณะกรรมการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
มาตรา ๕๓ ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการโดยคณะกรรมการจะกำหนดให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการก็ได้
ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ
มาตรา ๕๔ การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการสำนักงาน และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ เมื่อได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกตามมาตรา ๔๙ (๖) แล้ว ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(๒) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงนอกจาก (๑) หรือเทียบเท่าเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
(๓) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ให้เลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง
มาตรา ๕๕ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติราชการแทนก็ได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงานและกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน
มาตรา ๕๖ ให้คณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการและสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในการเสนองบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๕๘ วรรคสอง ประกอบด้วย
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้คณะกรรมการเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย
มาตรา ๕๗ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๕๖ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะกรณี
ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ
มาตรา ๕๘ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานโดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชักช้า
หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๕๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๕ (๑) มาตรา ๔๐ วรรคสี่ หรือมาตรา ๔๔ โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๖๐ ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ให้ผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา ๓๒ โดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก โดยให้คำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจนถึงวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
ในกรณีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตาย ลาออก หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด และมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๖๑ ในวาระเริ่มแรก ให้การดำเนินการเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากต้องดำเนินการตามหมวด ๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว ให้เป็นไปตามกระบวนการและกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(๑) ให้คณะกรรมการกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
(๒) ให้สำนักงานประกาศการรับจดแจ้งและดำเนินการรับจดแจ้งการเป็นองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรา ๑๑ (๔) และสภาวิชาชีพตามมาตรา ๑๑ (๕) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่ที่ระเบียบตาม (๑) ใช้บังคับ
(๓) ให้องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและสภาวิชาชีพซึ่งได้รับการจดแจ้งตาม (๒) ดำเนินการเลือกกันเองเพื่อเป็นกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ (๔) และ (๕) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่พ้นกำหนดเวลาตาม (๒)
(๔) ให้กรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ตกลงวิธีการเลือกกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ (๖) ให้แล้วเสร็จภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตาม (๓) และดำเนินการเลือกกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ (๖) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีข้อตกลงวิธีการเลือกดังกล่าว
(๕) เมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๔) แล้ว ให้กรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑ ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่จะใช้ในการสรรหาตามมาตรา ๑๓ (๑) ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่พ้นกำหนดเวลาตาม (๔)
(๖) ให้กรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่พ้นกำหนดเวลาตาม (๕)
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และให้นำความในมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๖๒ ให้เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๓ ให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๔ ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามมาตรา ๔๙ (๒) กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ให้พระราชบัญญัติเครื่องแบบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีระเบียบตามมาตรา ๔๙ (๗) ใช้บังคับ
มาตรา ๖๕ ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของกรรมการตามมาตรา ๓๑ ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับประธานกรรมการหรือกรรมการในองค์กรอิสระอื่น แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖๖ บรรดาระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๗ บรรดาการดำเนินการใด ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าการนั้นอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๐ (๑๐) มาตรา ๒๔๖ มาตรา ๒๔๗ และมาตรา ๒๖๗ บัญญัติให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา การพ้นจากตำแหน่ง หน้าที่และอำนาจ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ความเห็น และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่จะใช้ประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมาย โดยการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องมีการกระทบหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลบางประการ และเป็นไปเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ประกอบกับเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องมาจากความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๒๓ ก/หน้า ๑/๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๐
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ. ๒๕๖๑
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
(๒) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๑ เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙
(๓) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐
(๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
(๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘
(๖) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙
(๗) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๘) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“เจ้าพนักงานของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคลบรรดาซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
“เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ” หมายความว่า ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ปกครอง หรือตุลาการ ของรัฐต่างประเทศ และบุคคลใด ๆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐต่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่สำหรับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง มีตำแหน่งประจำหรือชั่วคราว และได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอื่นหรือไม่ก็ตาม
“เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” หมายความว่า ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในองค์การระหว่างประเทศ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากองค์การระหว่างประเทศให้ปฏิบัติหน้าที่ในนามขององค์การระหว่างประเทศนั้น
“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า
(๑) นายกรัฐมนตรี
(๒) รัฐมนตรี
(๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๔) สมาชิกวุฒิสภา
(๕) ข้าราชการการเมืองอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง
(๖) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
“ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติยกเว้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วย ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๑ (๑)
“ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือสภาท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
“ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง”๒ หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือนและปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพสำหรับข้าราชการทหารและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
“ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว
“คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการด้วย
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เลขาธิการ และข้าราชการในสังกัดสำนักงาน และให้หมายความรวมถึงข้าราชการหรือพนักงานซึ่งมาช่วยราชการในสำนักงานซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“หัวหน้าพนักงานไต่สวน” หมายความว่า ผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากพนักงานไต่สวน
“ไต่สวน” หมายความว่า การแสวงหา รวบรวม และการดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
“ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น
“ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
“พนักงานสอบสวน” หมายความว่า พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความรวมถึงพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษด้วย
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการกำหนดโดยทำเป็นประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การดำเนินการเรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว
มาตรา ๗ ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ
มาตรา ๘ ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่มีปัญหาการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัย ทั้งนี้ มติในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่๓
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๑/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
๒ มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
๓ มาตรา ๘ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
-------------------------
มาตรา ๙ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๓) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๔) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
(๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
(๖) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
(๗) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
การนับระยะเวลาตามวรรคสอง ให้นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๐ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๙ แล้ว กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๑ กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๑๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๒ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๙ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาตาม (๔) ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ แต่ไม่รวมถึงการสรรหาใหม่หรือสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๓ วรรคสี่ มาตรา ๑๔ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๑๕ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้
ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหา เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๓ ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสาม หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสาม ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
ภายในสามวันนับแต่วันปิดรับสมัครให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประวัติการทำงานตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนดด้วย
มาตรา ๑๔ ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหา แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงเจ็ดคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๕ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ โดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๑ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๑ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว ต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งกรรมการ ในกรณีที่ไม่แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดำเนินการสรรหาใหม่
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
การวินิจฉัย ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้
มาตรา ๑๗ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด แต่สำหรับเบี้ยประชุมให้กำหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๘ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการใหม่แทน
มาตรา ๑๙ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑
(๔) พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ
ในระหว่างที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เว้นแต่จะมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงห้าคน
ในกรณีที่กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่ถ้ากรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๐ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๙ (๒) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัย ให้ถือเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่กรรมการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้อง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นกรรมการ เป็นการชั่วคราวให้ครบเก้าคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการจนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๒๒ การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าคนจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม
การลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ และให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่ออกเสียงลงมติโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการลงมติ
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
มาตรา ๒๓ การลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๒๔ ในการลงมติของกรรมการตามมาตรา ๒๓ หรือในเรื่องอื่นใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้กรรมการลงมติเป็นหนังสือตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีชื่อเรื่อง และประเด็นที่ลงมติ มติที่ลง และลายมือชื่อของกรรมการที่ลงมติ และให้เลขาธิการเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
มติที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และในกรณีที่ต้องทำคำวินิจฉัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นชอบร่างคำวินิจฉัยนั้นและประธานกรรมการหรือผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการได้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งคณะก่อนลงนามในคำวินิจฉัย ให้เลขาธิการบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัย และให้เลขาธิการเป็นผู้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแทน เมื่อเลขาธิการลงนามในคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นอันใช้บังคับได้
มาตรา ๒๕ กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่งกรรมการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ
มาตรา ๒๖ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานกรรมการหรือกรรมการ
มาตรา ๒๗ ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปี มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๒๖ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
ส่วนที่ ๒
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
-------------------------
มาตรา ๒๘ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๒) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(๓) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว
(๔) ไต่สวนเพื่อดำเนินคดีในฐานความผิดอื่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(๕) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น
ในการดำเนินการตาม (๔) ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินการก็ได้
มาตรา ๒๙ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อรัฐสภาทุกปี ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการ หรือกรรมการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย มาแถลงรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภา และให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และเปิดเผยต่อสาธารณะ
มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) ให้รวมถึงการดำเนินการกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายด้วย
ในการดำเนินคดีตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) ให้ใช้บังคับกับการดำเนินการในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) และคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันด้วย
มาตรา ๓๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม
มาตรา ๓๒ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(๒) จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด
(๓) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
ในการจัดทำมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๓๓ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นต่อการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต
(๒) ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการจัดให้มีกลไกการแจ้งเตือน กรณีพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตในหน่วยงานของตน
(๓) ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต รวมถึงค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง
(๔) รับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในการดำเนินการตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อให้คำเสนอแนะ ช่วยเหลือ และร่วมมือกันดำเนินการ
คณะกรรมการตามวรรคสองให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการเป็นประธาน กรรมการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายจำนวนหนึ่งคน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประธานกรรมการการอุดมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่เกินสี่คนและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสามคน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งเป็นกรรมการ การแต่งตั้งผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่น้อยกว่าสองคน ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติการใด ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
มาตรา ๓๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน
(๒) ให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน
(๓) ดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายเพื่อเข้าไปในเคหสถาน สถานที่ทำการ หรือสถานที่อื่นใด รวมทั้งยานพาหนะของบุคคลใด ๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกอบกิจการ เพื่อตรวจสอบ ค้น ยึด หรืออายัด เอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐานอื่นใดซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไต่สวน และหากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จในเวลาดังกล่าว ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ
(๔) มีคำสั่งให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานเอกชนชี้แจงข้อเท็จจริง อำนวยความสะดวก หรือให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(๕) จ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบหาข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สิน และการดำเนินคดีในการติดตามทรัพย์สินในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว ถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่ากรณีมีเหตุอันควรระมัดระวัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข
หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนโดยเร็วและถ้าไม่เกี่ยวกับความลับของทางราชการให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๓๖ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้
การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละขั้นตอน ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) ในชั้นก่อนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกร้อง เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
(๒) เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(๓) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์การกระทำความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคำวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ
มาตรา ๓๗ ในกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ให้เลขาธิการดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาตัวผู้เปิดเผยข้อมูลโดยเร็ว หากตรวจสอบพบให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูล หากเป็นกรณีที่กระทำโดยจงใจให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ หากเลขาธิการไม่ดำเนินการตรวจสอบให้ถือว่าเป็นความบกพร่องของเลขาธิการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบหรือไต่สวนเพื่อมีความเห็นหรือวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลใด และมีความจำเป็นต้องได้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบุคคลนั้นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจขอข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ตามที่จำเป็น และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งมอบข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ถือว่าการส่งมอบดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว
มาตรา ๓๙ ในระหว่างการไต่สวน หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าผู้ใดกระทำความผิดและความผิดนั้นมีโทษทางอาญา หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายมีอำนาจดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้
ในการจับและควบคุมตัวบุคคลตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการแทนก็ได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในการจับ คุมขังและการปล่อยชั่วคราว ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่มีการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เกิดขึ้นในลักษณะความผิดซึ่งหน้า ให้กรรมการพนักงานไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายของศาล และเมื่อจับได้แล้วให้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๑) ให้ประธานกรรมการและกรรมการ เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
(๒) ให้กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ในการดำเนินการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการไต่สวน เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวน เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนด้วย
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือมอบอำนาจในการฟ้องคดี ว่าต่าง หรือดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจว่าความ และดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๔๑ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดถูกดำเนินคดีไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ได้มีมติ คำสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ ให้สำนักงานมีอำนาจให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีแก่บุคคลดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ต่างก็ได้ หรือในกรณีที่พนักงานอัยการมิใช่เป็นผู้ฟ้อง อาจขอให้พนักงานอัยการเข้าแก้ต่างให้แก่บุคคลเหล่านั้นก็ได้ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวให้รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการมีความเห็น มติ คำสั่ง ในการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งได้แสดงเหตุผลอันสมควรประกอบแล้ว และได้กระทำไปโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง
ส่วนที่ ๓
การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
-------------------------
มาตรา ๔๒ ให้กรรมการมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อประธานวุฒิสภา โดยให้นำความในหมวด ๕ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มาตรา ๑๐๕ ถึงมาตรา ๑๑๓ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยให้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา ทั้งนี้ ให้ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อนเสนอประธานวุฒิสภาพิจารณา
ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง และให้นำความในมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานวุฒิสภาในกรณีนี้ด้วยโดยอนุโลม
คู่สมรสตามวรรคหนึ่งให้นำความในมาตรา ๑๐๒ วรรคสองมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการที่กรรมการผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๗๗ และมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ปรากฏว่ากรรมการผู้ใดร่ำรวยผิดปกติให้ประธานวุฒิสภาส่งสำนวนพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานไปยังประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
มาตรา ๔๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้นำความในมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
การกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงการเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการและบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญา รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย
หมวด ๒
การไต่สวน
-------------------------
มาตรา ๔๖ ในการดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน แล้วแต่กรณี ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหา
พยานหลักฐานใดที่ผู้ถูกกล่าวหานำส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนจะไม่รับด้วยเหตุล่วงเลยเวลาหรือผิดขั้นตอนมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลแล้ว หรือเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจประวิงเวลา หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนเรียกบุคคลหรือเรียกเอกสารจากบุคคลใด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานไต่สวนดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่ผู้ถูกกล่าวหาต้องร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือกรรมการที่กำกับดูแลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจประวิงเวลา หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบุคคลหรือเอกสารที่ขอให้เรียกนั้นไม่มีผลต่อการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการไต่สวนหรือรายงานการไต่สวนเบื้องต้นด้วย
มาตรา ๔๗ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการที่จะควบคุมและกวดขันพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวน ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี ดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี
มาตรา ๔๘ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน
ในการกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คำนึงถึงความรวดเร็ว ความยากง่ายของการไต่สวน และอายุความของการดำเนินการในเรื่องนั้น โดยจะระบุระยะเวลาของการไต่สวนข้อกล่าวหาแต่ละประเภทที่แตกต่างกันก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จำเป็นก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนโดยพลัน โดยให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ภายใต้กำหนดอายุความ เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวน และมีความเห็น หรือวินิจฉัย หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีโดยเร็ว
มาตรา ๔๙ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาหรือไม่ ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายตรวจสอบเบื้องต้นก่อนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่ามีข้อมูลหรือรายละเอียดไม่เพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป หรือความผิดที่กล่าวหานั้นไม่ได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาตามมาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ (๑) ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามระยะเวลาและวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าเป็นกรณีที่มีคำกล่าวหา ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้กล่าวหาทราบ
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
คำกล่าวหาใดที่ไม่มีเหตุที่ไม่รับไว้พิจารณาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการไต่สวนต่อไป
ผู้กล่าวหาซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาของกรรมการตามวรรคสอง อาจมีหนังสือขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนคำสั่งนั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามวรรคสอง
ในการตรวจสอบเบื้องต้นให้เลขาธิการหรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) และ (๓) ด้วย
มาตรา ๕๐ ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน เป็นผู้ไต่สวนเบื้องต้นได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ให้เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนดำเนินการเป็นคณะ ประกอบด้วย เลขาธิการหรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนเป็นหัวหน้า พนักงานไต่สวนอย่างน้อยหนึ่งคนร่วมเป็นคณะ และอาจมีผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยก็ได้ และในการไต่สวนปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานต้องกระทำโดยเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวนหนึ่งคน และผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
การไต่สวนเบื้องต้นตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จและจัดทำรายงานการไต่สวนเบื้องต้นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย
ภายใต้ระยะเวลาตามมาตรา ๔๘ ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นตามระยะเวลาที่กำหนดในวรรคสาม ให้เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนแจ้งอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินการ พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสั่งขยายระยะเวลา โดยให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้มีอำนาจขยายระยะเวลาแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะเหตุขาดอายุความ อันเนื่องมาแต่การมิได้ปฏิบัติตามระยะเวลาตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งยุติการดำเนินคดีอาญา และหากการขาดอายุความดังกล่าวเกิดจากความผิด หรือจงใจปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่อของผู้ใด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นโดยเร็ว
ในการไต่สวนเบื้องต้นให้เลขาธิการและหัวหน้าพนักงานไต่สวน มีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) และ (๓) ด้วย
เพื่อประโยชน์ในการกำกับการไต่สวนเบื้องต้นให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนกำกับดูแลการไต่สวนเบื้องต้นในแต่ละด้านตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดก็ได้
มาตรา ๕๑ ในการไต่สวนเรื่องใดที่เป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือเป็นกรณีมีการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเอง หรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
การแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการในคณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจแต่งตั้งจากหัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคสี่ตามความเหมาะสมกับเรื่องที่ไต่สวนได้
คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือคณะกรรมการไต่สวนในการดำเนินการตามหน้าที่ได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีมีความจำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการไต่สวน ให้คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวที่ไม่มีลักษณะตามมาตรา ๕๖ ให้เป็นที่ปรึกษาหรือเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นกรรมการในคณะกรรมการไต่สวนได้
ให้ที่ปรึกษาตามวรรคสี่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับกรรมการ
คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จและจัดทำสำนวนการไต่สวนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย และให้นำความในมาตรา ๕๐ วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหกมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเอง ให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้ามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๕๒ ในการพิจารณารายงานการไต่สวนเบื้องต้นหรือสำนวนการไต่สวน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนเพิ่มเติมหรือสั่งให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบด้วยกับรายงานการไต่สวนเบื้องต้นหรือสำนวนการไต่สวนรวมทั้งที่ไต่สวนเพิ่มเติมแล้ว ให้ถือว่ารายงานหรือสำนวนดังกล่าว เป็นสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเพื่อมีมติว่ากรณีมีมูลตามที่กล่าวหาหรือไม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง
มาตรา ๕๓ นอกจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้นการไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้แล้วให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้น การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้นได้ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น โดยอย่างน้อยต้องกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ และขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละระดับให้ชัดเจน และมีระบบการติดตามตรวจสอบเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา
(๑) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่คดี ซึ่งอาจทำให้ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป
(๒) เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกันและศาลประทับฟ้องหรือพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับหรือยกคำกล่าวหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้
(๓) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตาย เว้นแต่เป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติ
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา เว้นแต่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(๑) เรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกินสิบปีนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่มีการกล่าวหา
(๒) เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีการดำเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม
(๓) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาไปแล้วเกินห้าปี ในกรณีที่มีการพิจารณาเรื่องภายในกำหนดเวลา แม้จะพ้นกำหนดเวลาห้าปีแล้วก็ให้มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้
มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีเหตุดังต่อไปนี้ เข้าร่วมดำเนินการไต่สวน พิจารณาหรือวินิจฉัยคดี
(๑) รู้เห็นเหตุการณ์หรือเคยสอบสวนหรือพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาในฐานะอื่นที่มิใช่ในฐานะกรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มาก่อน
(๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา
(๓) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
(๔) เป็นผู้กล่าวหาหรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดาหรือมารดากับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
(๕) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะญาติหรือเป็นหุ้นส่วนหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือขัดแย้งกันทางธุรกิจกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
ในการดำเนินการในเรื่องใด กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งในเรื่องนั้น ให้ผู้นั้นแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายโดยเร็ว และระหว่างนั้นห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายจะวินิจฉัย ซึ่งต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้มีส่วนได้เสียจะคัดค้านกรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมาย ซึ่งมีเหตุตามวรรคหนึ่งก็ได้ โดยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุดังกล่าว เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างที่รอการวินิจฉัย ให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกคัดค้านระงับการปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อน
การยื่นคำคัดค้าน การพิจารณาคำคัดค้าน และการแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ระยะเวลาดำเนินการ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๕๗ ในระหว่างการไต่สวน หากปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการเพราะเหตุใด ๆ นอกจากถึงแก่ความตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญา ดำเนินการทางวินัย หรือขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน แล้วแต่กรณี ต่อไปได้
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการอันเนื่องมาจากความตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนในข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติต่อไปได้
มาตรา ๕๘ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้สำนักงานแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็วซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ และให้เปิดเผยเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เว้นแต่เป็นกรณีการดำเนินการสอบสวนตามมาตรา ๘๘
มาตรา ๕๙ ในการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐบรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ยื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน
ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕ การกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ ให้กล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เกินห้าปี แต่ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้วหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่มีการยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณาหรือกรณีที่ยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการกับเจ้าพนักงานของรัฐอื่นซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในเรื่องนั้นได้ด้วย ไม่ว่าผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว
มาตรา ๖๐ คำกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา
(๒) ชื่อหรือตำแหน่งของผู้ถูกร้อง
(๓) ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา พร้อมพยานหลักฐานหรืออ้างพยานหลักฐาน
ผู้กล่าวหาจะเป็นผู้เสียหายหรือมิใช่ผู้เสียหายก็ได้
การกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง จะทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ และจะส่งด้วยวิธีใด ๆ ที่จะให้คำกล่าวหานั้นถึงสำนักงานก็ได้ ในกรณีที่ทำด้วยวาจา ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานไต่สวนที่จะบันทึกรายละเอียดไว้ให้ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง
ให้สำนักงานจัดให้มีระบบในการจดแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหาไว้ในทะเบียนที่รักษาไว้เป็นความลับ และไม่ว่ากรณีใดจะเปิดเผยทะเบียนดังกล่าวมิได้ และให้ลบชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหาออกจากหนังสือกล่าวหานั้น
หนังสือกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา ถ้ามีรายละเอียดตาม (๓) แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะปฏิเสธไม่รับไว้พิจารณาไม่ได้
การกล่าวหาบุคคลตามมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลใดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นความผิดด้วย
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลอื่นใดในข้อหาใด ๆ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พนักงานสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือแม้จะอยู่ในหน้าที่และอำนาจแต่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงที่เป็นการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน โดยจะกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำคู่มือแจกจ่ายให้พนักงานสอบสวนอย่างทั่วถึงเพื่อให้พนักงานสอบสวนทราบว่าเรื่องใดบ้างที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในกรณีที่มีเหตุจะต้องขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกหมายจับบุคคลดังกล่าวได้ หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับบุคคลดังกล่าวได้
ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่จับบุคคลดังกล่าวไว้ ส่งตัวผู้ถูกจับพร้อมทั้งบันทึกการจับมายังพนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน โดยมิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ถูกจับจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน รวมเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย ในกรณีที่ไม่จำต้องมีการควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจปล่อยตัวผู้ถูกจับไปโดยมีประกัน หรือไม่มีประกันก็ได้
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายขังผู้ถูกจับไว้ได้ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับความผิดที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น
มาตรา ๖๒ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมามีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งนี้ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานดำเนินการส่งเรื่องที่ได้รับไว้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเพื่อดำเนินการต่อไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเรื่อง
การเทียบตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะวางหลักเกณฑ์การดำเนินการไต่สวนและการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้สอดคล้องกับการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้
ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๓ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๒๘ (๒) และ (๔) ที่มิใช่ความผิดร้ายแรงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้
มาตรา ๖๔ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องใดมิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือกล่าวหาในเรื่องที่มิได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้องดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจก็ได้
มาตรา ๖๕ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๖๔ แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจของตนและรายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และภายในกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๖๖ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับผลการดำเนินการตามรายงานตามมาตรา ๖๕ หรือมีกรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการดำเนินการนั้นจะไม่เที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเรียกสำนวนการไต่สวนหรือสอบสวนมาเพื่อดำเนินการได้ โดยจะดำเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนำผลการไต่สวนหรือสอบสวนของหน่วยงานของรัฐนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
มาตรา ๖๗ ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นจะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และต้องไม่ทำหรือจัดทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้นั้นให้ถ้อยคำในเรื่องที่ไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น
ในการสอบปากคำพยานหรือผู้ให้ถ้อยคำ จะกระทำโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยวิธีการอื่นใด ซึ่งพยานหรือผู้ให้ถ้อยคำนั้นได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการให้ปากคำนั้นแล้ว กรรมการหรือพนักงานไต่สวนอาจทำสำเนาข้อความดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือสิ่งบันทึกอย่างอื่นก็ได้ ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจนำพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนหรือพยานหลักฐานที่ได้มาจากต่างประเทศอันได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในคดีใดคดีหนึ่งมาใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนที่เกี่ยวข้องได้
มาตรา ๖๘ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนตามมาตรา ๕๑ หรือมอบหมายให้ผู้ไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นเรื่องใดแล้ว ให้คณะกรรมการไต่สวนและผู้ไต่สวนเบื้องต้นมีหน้าที่และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการไต่สวนเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๖๙ ในกรณีที่ปรากฏจากการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหา ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ เนื่องจากการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการดังนี้
(๑) ในกรณีที่ความผิดนั้นมีโทษทางอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยมีหรือไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้
(๒) ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีนั้น แต่ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราวมิได้เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งถอนการยึดหรืออายัดโดยพลัน รวมทั้งไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยมีหรือไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินที่บุคคลอื่นมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และมีพฤติการณ์เป็นการถือครองแทนหรือถือกรรมสิทธิ์แทนด้วย ในกรณีเช่นนั้น ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิพิสูจน์ว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ
มาตรา ๗๐ ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๕๐ วรรคเจ็ด เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ามีมูลความผิด ให้กรรมการหรือพนักงานไต่สวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้ถูกกล่าวหาจะมาชี้แจงข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจง
การแจ้งข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดและแจ้งข้อกล่าวหาเท่าที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี และในกรณีที่เป็นการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ สถานที่ตั้งของทรัพย์สิน ชื่อและที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เท่าที่ทำได้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบถึงสิทธิการคัดค้านตามมาตรา ๕๖
ในการแจ้งข้อกล่าวหาให้จัดทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๗๑ ถ้าผู้ถูกกล่าวหามีหลักฐานแสดงว่าตนไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจงได้ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดแต่ต้องยื่นคำร้องขอก่อนที่จะมีการฟ้องคดีต่อศาล
การเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงตามวรรคหนึ่ง ไม่มีผลกระทบต่อการไต่สวนที่ได้กระทำไปก่อนแล้ว
มาตรา ๗๒ ในการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา ๗๐ ให้กรรมการหรือพนักงานไต่สวนแจ้งพร้อมทั้งมอบบันทึกสรุปสาระสำคัญข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหา สรุปสาระสำคัญต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ และต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๗๓ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้ด้วย
สรุปสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งต้องไม่เป็นการเปิดเผยชื่อ ตำแหน่ง ที่อยู่ของผู้กล่าวหาหรือพยาน หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นเหตุให้ทราบถึงตัวผู้กล่าวหาหรือพยาน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๗๓ ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการให้ปากคำของผู้ถูกกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือบุคคลซึ่งผู้ถูกกล่าวหาไว้วางใจไม่เกินสามคนเข้าฟังในการชี้แจงหรือให้ปากคำของตนได้
มาตรา ๗๔ ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าพยานหลักฐานใดในสำนวนการไต่สวนซึ่งต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบพยานในภายหลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีได้ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๗๕ เมื่อดำเนินการไต่สวนเสร็จแล้ว ให้จัดทำสำนวนการไต่สวนเสนอประธานกรรมการ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา
(๒) เรื่องที่ถูกกล่าวหา
(๓) ข้อกล่าวหา คำแก้ข้อกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่ได้จากการไต่สวน
(๔) เหตุผลในการพิจารณาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(๕) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
(๖) สรุปความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา
ให้มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนการไต่สวนเพื่อมีมติโดยเร็วซึ่งต้องนำเสนอต่อที่ประชุมไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับสำนวนการไต่สวน เว้นแต่จะได้มีการนัดหมายให้มีการประชุมทุกวันอยู่แล้วและมีเรื่องอื่นค้างพิจารณาอยู่
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการจัดทำรายงานการไต่สวนเบื้องต้นด้วยโดยอนุโลม
ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนตามลำดับที่ได้รับสำนวนนั้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเรื่องใดกระทบถึงประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนอย่างร้ายแรง จะหยิบยกขึ้นพิจารณาก่อนก็ได้
ส่วนที่ ๑
การดำเนินคดีทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่
หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
-------------------------
มาตรา ๗๖ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติลงความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้อัยการสูงสุดแต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ
มาตรา ๗๗ เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีอาญาตามมาตรา ๗๖ ไว้แล้ว ให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน
ในกรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุข้อไม่สมบูรณ์ให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในกรณีนี้ ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากันโดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายไม่เกินฝ่ายละห้าคน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดให้สำนวนการไต่สวนครบถ้วนสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไป ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการร่วมมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วย
ในกรณีที่คณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ แต่ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรฟ้องคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ แต่ต้องไม่ช้ากว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่หาข้อยุติไม่ได้
ให้สำนักงานอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมตามวรรคสอง และให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการด้วย
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีเอง ห้ามมิให้พนักงานอัยการรับแก้ต่างคดีให้แก่จำเลย
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาที่ต้องดำเนินการตามวรรคสองและวรรคสามด้วย
ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรานี้ ในกรณีมีเหตุอันจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายออกไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่กำหนดไว้ และเมื่ออัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขยายเวลาแล้วให้แจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในการปฏิบัติหน้าที่และการขยายระยะเวลาต้องคำนึงถึงอายุความในการดำเนินคดีประกอบด้วย
การฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรานี้ย่อมกระทำได้ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความแต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอัยการ อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี ต้องดำเนินการสอบสวน หากปรากฏว่าการไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาดังกล่าวเกิดจากการจงใจปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใด ให้ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นต่อไปโดยเร็ว
มาตรา ๗๘ ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนแล้วตามมาตรา ๓๙ ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวบุคคลดังกล่าวมาศาลในวันฟ้องคดี
ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุต่อศาล อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่อัยการสูงสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายมีอำนาจขอให้ศาลออกหมายจับได้
มาตรา ๗๙ ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาแล้ว ถ้าอัยการสูงสุดเห็นควรอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาต่อไปให้ดำเนินการได้
กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นควรไม่อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบการพิจารณาด้วย
ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ การจะอุทธรณ์หรือไม่ ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๘๐ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณามอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือจะพิจารณาแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๘๑ ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้องตามมาตรา ๗๗ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
มาตรา ๘๒ ในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในทางทรัพย์สินหรือเป็นการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลอื่น อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบที่เป็นการละเมิดนั้นก็ได้
สำหรับความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
การยื่นคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอนุมัติหรืออนุญาต หรือกระทำการใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย
มาตรา ๘๓ ในการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดได้ใช้หรือได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ เนื่องจากการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี อาจร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
(๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
(๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยมิชอบ
(๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทำความผิด
(๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๓)
(๕) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๓) หรือ (๔)
มาตรา ๘๔ เพื่อประโยชน์ในการร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินตามมาตรา ๘๓ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินนั้นในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทรัพย์สินนั้นมา หรือมูลค่าของทรัพย์สินนั้นในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดแล้วแต่ว่ามูลค่าในขณะใดจะมากกว่ากัน และขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งให้ชำระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดแทนตามมูลค่าดังกล่าวได้
ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทำความผิด แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้เลขาธิการมีอำนาจเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวจนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๘๕ การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินตามมาตรา ๖๙ และมาตรา ๘๔ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกัน หรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบก็ได้
การให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินไปดูแลและใช้ประโยชน์ การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด หรือการนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ถ้าความปรากฏในภายหลังว่า ทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดหรือที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่ได้รับคืนหรือชดใช้ราคา แล้วแต่กรณี
การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๘๖ ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ก็ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และถ้าในระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่มิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ก็ให้มีสิทธิได้รับเสมือนหนึ่งผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่จะมีคำพิพากษา การจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตำแหน่ง
ส่วนที่ ๒
การดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม
มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
-------------------------
มาตรา ๘๗ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวน และให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว
ให้นำความในมาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้
ส่วนที่ ๓
การดำเนินการกรณีฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔ ของรัฐธรรมนูญ
-------------------------
มาตรา ๘๘ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคสี่ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน และไม่ว่าในกรณีใดผู้ใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้
เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะพ้นจากความรับผิดตามรัฐธรรมนูญเฉพาะเมื่อได้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้ดำเนินการสอบสวน
การสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนแล้วเห็นว่ามีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วและให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคสาม
ในกรณีจำเป็นและได้รับคำร้องขอ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งเช่นเดียวกับการคุ้มครองพยานตามมาตรา ๑๓๑
มาตรา ๘๙ การเรียกเงินคืนกรณีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคสาม หรือวรรคสี่ ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา ๕๕ (๑) มาใช้บังคับกับการดำเนินการตามมาตรานี้
หมวด ๒
การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
-------------------------
มาตรา ๙๐ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นตามมาตรา ๗๐ และเห็นว่าการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจจะเกิดความเสียหายให้แก่ทางราชการ หรือเป็นอุปสรรคในการไต่สวนต่อไป ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ถ้าต่อมาผลการไต่สวนปรากฏว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็วเพื่อดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหานั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นเวลาหกเดือนหรือจนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่พ้นกำหนดหกเดือนแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมิได้มีคำวินิจฉัย ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติงานต่อไป
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้น และมีอำนาจสั่งการตามวรรคสองได้
ความในมาตรานี้ไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหานั้น
ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
มาตรา ๙๑ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวัน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อไป
(๒) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนภายในสามสิบวันเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป
มาตรา ๙๒ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้ไปรายงานตัวต่ออัยการสูงสุดตามวันเวลาที่กำหนด
หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ต่อไป
ส่วนที่ ๑
การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
-------------------------
มาตรา ๙๓ เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีอาญาตามมาตรา ๙๑ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน
ให้นำความในมาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ มาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๙๔ เมื่อศาลที่มีเขตอำนาจพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ตามสำนวนที่ได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ถ้าอัยการสูงสุดจะไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ให้อัยการสูงสุดหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน ในกรณีที่มีความเห็นต่างกันและไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
เมื่ออัยการสูงสุดฟ้องคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว จะถอนฟ้องมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรถอนฟ้อง
มาตรา ๙๕ ในการดำเนินคดีหากผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุดในขณะกระทำความผิดหรือขณะที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการมีอำนาจฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเอง
มาตรา ๙๖ ในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ให้อัยการสูงสุดเป็นอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร หรือจะมอบหมายให้อัยการทหารเป็นผู้ฟ้องคดีแทนก็ได้
มาตรา ๙๗ ในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำความในมาตรา ๙๑ (๑) มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๒
การดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
-------------------------
มาตรา ๙๘ เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๙๑ แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี
กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยเร็ว โดยให้ถือรายงานและเอกสารหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเพื่อพิจารณาทางวินัยในสำนวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา
การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับแจ้งมติที่ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนตามมาตรา ๙๙ วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๘ แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ในการส่งสำนวนการไต่สวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานกรรมการ อาจมอบหมายให้เลขาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้
มาตรา ๙๙ ในการพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมตินั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในการพิจารณาทบทวนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาพยานหลักฐานโดยละเอียด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นประการใด ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๑๐๐ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๘ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น
ในกรณีตามวรรคหนึ่งหรือในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการทางวินัยไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีและให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควร หรือในกรณีจำเป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะขอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือคณะกรรมการอื่นซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารรัฐวิสาหกิจ หรือผู้สั่งแต่งตั้งกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๐๑ ผู้ซึ่งถูกลงโทษตามมาตรา ๙๘ ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ถูกลงโทษโดยไม่ต้องอุทธรณ์ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกลงโทษนั้น หรือจะดำเนินการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกลงโทษนั้นก่อนก็ได้
ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองโดยมิได้ฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ศาลปกครองแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดีด้วยได้
ส่วนที่ ๑
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และการตรวจสอบ
-------------------------
มาตรา ๑๐๒ ในการดำเนินการตามมาตรา ๒๘ (๓) อย่างน้อยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(๑) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๒) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(๓) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(๔) ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
(๕) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
(๖) ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
(๗) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
(๘) ตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
(๙) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
คู่สมรสตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๐๓ เจ้าพนักงานของรัฐตำแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้นำความในวรรคสองของมาตรา ๑๐๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๔ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๒ และมาตรา ๑๐๓ แล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้แจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบด้วย
มาตรา ๑๐๕ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ยื่นพร้อมหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยในกรณียื่นเป็นเอกสารผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย ทั้งนี้ ทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการ ให้รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย
หลักเกณฑ์ ระยะเวลา การขยายระยะเวลา วิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยอาจกำหนดให้ยื่นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ การกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรูปแบบและวิธีการใช้อิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารได้ด้วย รวมทั้งให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นตามกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) ตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๓) และ (๙) ให้ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง
(๒) ตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และตำแหน่งอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด นอกจาก (๑) ให้ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งและเมื่อพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกสามปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในกรณีตาม (๑) ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายในหนึ่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
ในกรณีตาม (๑) หรือ (๒) ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
มาตรา ๑๐๖ เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๑) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๒) (๓) (๗) และ (๙) รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว โดยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน และภาพถ่ายทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยการเผยแพร่ให้กำหนดช่วงระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน
การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๙) ตำแหน่งใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่ง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูล ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลนั้นก่อนการเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปได้ โดยแจ้งให้ผู้ยื่นทราบถึงการดำเนินการดังกล่าว
มาตรา ๑๐๗ เมื่อมีการแต่งตั้งหรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในหน่วยงานใด ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้แจ้ง
มาตรา ๑๐๘ บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่มีผู้ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความหรือเอกสารได้
มาตรา ๑๐๙ ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามเวลาที่กำหนด ให้สำนักงานมีหนังสือแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบโดยทางไปรษณีย์ตอบรับหรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งกำหนดเวลาที่ขยายให้ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และในกรณีที่มีความจำเป็นอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน
เมื่อปรากฏว่าบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือเอกสารประกอบที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่งไม่ครบถ้วนหรือมีข้อมูลคลาดเคลื่อน และไม่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่ามีเจตนาปกปิดทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายแจ้งให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการให้ครบถ้วนหรือถูกต้องภายในระยะเวลาที่เลขาธิการกำหนด
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ถ้าบุคคลดังกล่าวยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยื่นไม่ครบถ้วนหรือมีข้อมูลคลาดเคลื่อน และมีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่ามีเจตนาปกปิดทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้สำนักงานเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา ๑๑๔ ต่อไป
มาตรา ๑๑๐ ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งแรก และเมื่อมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งต่อ ๆ ไปให้ตรวจสอบถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานไต่สวน ดำเนินการตรวจสอบตามวรรคหนึ่งก่อนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาที่จะต้องตรวจสอบหรือพิจารณาข้อโต้แย้งให้แล้วเสร็จ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้นำความในมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินด้วยโดยอนุโลม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานไต่สวนมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) และ (๓) ด้วย
มาตรา ๑๑๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๖ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป การเปิดเผยดังกล่าวให้เปิดเผยว่าผิดปกติหรือไม่
ในกรณีที่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบว่าไม่พบเหตุผิดปกติ การเปิดเผยเช่นนั้นไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยของความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงขึ้นในภายหลัง
มาตรา ๑๑๒ ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงตามที่ปรากฏในรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือทรัพย์สินหรือหนี้สินอื่นใดที่มิได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และแจ้งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามหน่วยงานใดเปิดเผยข้อมูลในความครอบครองมาใช้บังคับกับการแจ้งข้อมูลดังกล่าว
มาตรา ๑๑๓ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินพบว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเพื่อร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
มาตรา ๑๑๔ เมื่อปรากฏว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้นั้นทราบ และกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้นั้นจะมาชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาต่อไป
กรณีตามวรรคหนึ่ง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีเป็นบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๓) และ (๙) ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีของบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๙) ด้วย
(๒) กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๑๐๒ (๙) ให้เสนอเรื่องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อวินิจฉัย
ในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคสอง ให้นำความในมาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ส่วนที่ ๒
การดำเนินการกรณีร่ำรวยผิดปกติ
-------------------------
มาตรา ๑๑๕ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าเพราะเหตุมีการกล่าวหาหรือเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนโดยพลัน
การกล่าวหาและการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในหมวด ๒ การไต่สวน มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่จะมีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในส่วนนี้
มาตรา ๑๑๖ ในการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินและหนี้สิน การเคลื่อนไหวทางการเงิน หรือการทำธุรกรรมของบุคคลนั้น และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมาประกอบการวินิจฉัย และในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเป็นการยื่นตามมาตรา ๑๓๐ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมาพิจารณาเพื่อเทียบเคียงกับทรัพย์สินที่มีอยู่ในขณะดำเนินการไต่สวน ประกอบกับรายได้และรายจ่าย และการเสียภาษีเงินได้ของผู้นั้น และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามรายการและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ไม่ว่าผู้นั้นจะได้เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมาก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม
ระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตามวรรคหนึ่งแล้ว แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะถึงแก่ความตายก็ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย
มาตรา ๑๑๗ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติแล้ว ให้ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่พิสูจน์หรือแสดงที่มาของรายได้หรือทรัพย์สินของตน
มาตรา ๑๑๘ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้น รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ โดยให้นำความในมาตรา ๘๔ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๑๙ เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีตามมาตรา ๑๑๘ แล้ว ให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้นำความในมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ
การดำเนินคดีหรือการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
มาตรา ๑๒๐ ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับฟ้องคดีตามมาตรา ๑๑๙ ให้นำความในมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ให้นำความในมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับกับกรณีร่ำรวยผิดปกติด้วย
ในกรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๑๑๙ สำหรับบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีสำหรับบุคคลดังกล่าวได้ด้วย
มาตรา ๑๒๑ ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้ยกคำร้องด้วยเหตุที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหา ให้นำความในมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๒ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไป และให้นำความในมาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๐ และมาตรา ๑๒๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ให้ประธานกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยให้นำความในมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่วินิจฉัยเพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่
ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าข้าราชการดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ ให้แจ้งให้ประธานกรรมการแจ้งไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ แล้วแต่กรณี ต่อไป และในกรณีที่มีการสั่งให้พ้นจากราชการ ให้ถือว่าเป็นการให้พ้นจากราชการเพราะกระทำการทุจริตต่อหน้าที่
ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่
ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตามวรรคสาม หรือผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามวรรคห้า มีอำนาจสั่งไล่ออกหรือดำเนินการถอดถอนได้โดยไม่ต้องสอบสวนหรือขอมติจากคณะรัฐมนตรี หรือความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคล
มาตรา ๑๒๓ ในกรณีที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลให้ยกคำร้องขอด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหา และถ้าผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกไล่ออกหรือถูกถอดถอนตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสามหรือวรรคห้า ให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน หรือผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี สั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกหรือถอดถอนโดยเร็ว และผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่พึงได้รับถ้ามิได้ถูกไล่ออกหรือถูกถอดถอน ทั้งนี้ ตามระเบียบบริหารงานบุคคลหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนด
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสี่ การจะดำเนินการอย่างใดให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองหรือคณะกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี กำหนด
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ผู้นั้นได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ในกรณีที่ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับดังกล่าว ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐยกอายุความใดขึ้นอ้างอันจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลดังกล่าวได้
มาตรา ๑๒๔ การโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้กระทำหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๖ ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือระงับการกระทำนั้น ๆ ได้ เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าตนได้รับโอนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน
มาตรา ๑๒๕ ถ้าศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ใดซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดแล้ว หากปรากฏว่ามีการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินก่อนหรือหลังมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่ถูกศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนการโอนนั้นได้ หากไม่สามารถเพิกถอนการโอนนั้นได้เพราะเหตุแห่งการแปลงสภาพหรือเหตุอื่นให้ดำเนินการตามมาตรา ๘๔ โดยอนุโลม
หมวด ๖
การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนร่วม
-------------------------
มาตรา ๑๒๖ นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
(๒) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(๓) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(๔) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
ให้นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วยโดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง
คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เจ้าพนักงานของรัฐที่มีลักษณะตาม (๒) หรือ (๓) ต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง
มาตรา ๑๒๗ ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา ๑๒๖ (๔) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๒๘ ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๙ การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
หมวด ๗
การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
-------------------------
มาตรา ๑๓๐ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๑๐๓ และมาตรา ๑๕๘ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้มีเงินเดือนและตำแหน่งประจำ
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินสำหรับตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำเพียงตำแหน่งเดียว
บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาไว้ที่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และให้ถือเป็นความลับในราชการที่จะเปิดเผยมิได้ เว้นแต่จะส่งมอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ร้องขอ หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๓ หรือเมื่อมีกรณีที่จะต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใหม่ ให้หน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นสังกัดอยู่เดิมส่งมอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้นั้นให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไปสังกัดใหม่ ทั้งนี้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นพ้นจากหน่วยงานของรัฐนั้น
ระยะเวลาการยื่น แบบรายการ หลักเกณฑ์ วิธีการยื่น และการเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องคำนึงถึงการตรวจสอบได้ ความสะดวก และไม่สร้างภาระจนเกินจำเป็น ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จ้างมาเป็นการชั่วคราวหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางประเภท ให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งก็ได้
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งและวรรคหก
มาตรา ๑๓๑ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าคดีใดสมควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่บุคคลดังกล่าว โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้อำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมายดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจกำหนดมาตรการอื่นใดที่สมควรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือ และมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นช่วยดำเนินการตามที่จำเป็นได้
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือช่วยเหลือก่อน
ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือคู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลดังกล่าว เพราะมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนา เนื่องจากการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้บุคคลนั้นหรือทายาทมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอรับค่าทดแทนเท่าที่จำเป็นและสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญาด้วย
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการหรือให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของบุคคลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยิ่ง และสมควรได้รับยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนโดยทั่วไป ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและระดับตำแหน่งให้แก่บุคคลนั้นเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๓๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๕ ผู้ใดแจ้งถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
มาตรา ๑๓๓ ในกรณีบุคคลตามมาตรา ๑๓๑ วรรคหนึ่ง เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เมื่อบุคคลนั้นร้องขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าหากยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมต่อไป อาจถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการกล่าวหาหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลนั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะมีเหตุดังกล่าว ให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ได้รับความคุ้มครองหรือมีมาตรการอื่นใดตามที่เห็นสมควรต่อไป และอาจเสนอให้มีการกำหนดตำแหน่งและสิทธิประโยชน์อื่นเพื่อคุ้มครองบุคคลนั้นในหน่วยงานของรัฐอื่นที่ไม่ต่ำกว่าระดับและตำแหน่งที่บุคคลดังกล่าวเคยดำรงตำแหน่งอยู่เดิม
มาตรา ๑๓๔ ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพราะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ทำ ถ้าได้ทำหนังสือโต้แย้งหรือให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งหรือให้ยืนยันคำสั่งแล้วหรือได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบถึงเบาะแส ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้กระทำการนั้น ให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา ๑๓๕ บุคคลใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานของรัฐ หากได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าพนักงานของรัฐรายอื่นหรือผู้ถูกกล่าวหารายอื่นนั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรจะกันผู้นั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันบุคคลตามวรรคหนึ่งไว้เป็นพยานแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยกับบุคคลซึ่งถูกกันไว้เป็นพยานนั้น และบุคคลนั้นอาจได้รับความช่วยเหลือได้ตามสมควรจนคดีถึงที่สุด เว้นแต่บุคคลนั้นฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขการกันไว้เป็นพยานตามวรรคหนึ่ง
การคุ้มครองตามวรรคสอง ย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งตำแหน่งของพยานที่ดำรงอยู่และการเลื่อนขั้นเงินเดือนรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นด้วย เว้นแต่บุคคลนั้นไม่สมควรได้รับการคุ้มครองเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาพของการกระทำผิดแล้ว หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขการกันไว้เป็นพยาน
มาตรา ๑๓๖ เมื่อผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานของรัฐมีคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่เจ้าพนักงานของรัฐในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง ในกรณีเช่นนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะสั่งให้ผู้บังคับบัญชารายงานความคืบหน้าและผลของการดำเนินการ หรือจะให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไปก็ได้ และให้นำความในมาตรา ๖๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๓๗ ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หากผู้ใดชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการชี้ช่องแจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยคำสั่งถึงที่สุดของศาลแล้ว ผู้นั้นอาจได้เงินรางวัลจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
หมวด ๘
ความร่วมมือกับต่างประเทศ
-------------------------
มาตรา ๑๓๘ ในการดำเนินการด้านการต่างประเทศเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต
(๒) ดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในคดีทุจริตในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการหรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศในคดีทุจริตซึ่งมิใช่คำร้องขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา
มาตรา ๑๓๙ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ หรือมาตรา ๑๗๖ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างประเทศที่มีหน้าที่และอำนาจรับไปดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๑๔๐ เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลใด ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ มาตรา ๑๗๖ หรือมาตรา ๑๗๗ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยหรือดำเนินการอื่นตามที่ได้รับการร้องขอได้
ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ มาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ มาตรา ๑๗๖ และมาตรา ๑๗๗ ถ้าผู้มีสัญชาติไทยหรือเจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำ หรือกระทำต่อผู้มีสัญชาติไทยหรือเจ้าพนักงานของรัฐ แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และมีความเห็นหรือวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำความในมาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๕ มาใช้บังคับกับทรัพย์สินที่ต้องริบด้วยโดยอนุโลม แต่มิให้นำบทบัญญัติที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ริบตกเป็นของแผ่นดินมาใช้บังคับ ในกรณีเช่นนั้น การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ริบให้เป็นไปตามข้อตกลงกับประเทศที่ร้องขอ
หมวด ๙
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
-------------------------
มาตรา ๑๔๑ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช.” เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๑๔๒ สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. บรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
(๒) อำนวยความสะดวก ประสานงาน ให้ความร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ
(๓) ประสานงานและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๔) ดำเนินการหรือจัดให้มีการรวบรวม วิเคราะห์ ศึกษาวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบและอันตรายของการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
(๕) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส ตามกลไกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา ๓๓
(๖) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือภาคเอกชน เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๗) จัดทำระบบสารสนเทศของข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุผู้รับผิดชอบและความคืบหน้าของการดำเนินการของแต่ละเรื่อง เพื่อกรรมการจะได้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
(๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย และตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการดำเนินการตาม (๖) สำนักงานต้องตอบข้อหารือภายในสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาดังกล่าว ประธานกรรมการอาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินเก้าสิบวัน
มาตรา ๑๔๓ ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การจัดแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(๒) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
(๓) การวางระเบียบว่าด้วยการจัดทำ การเปิดเผย การเผยแพร่ การเก็บรักษา และการทำลายเอกสารและข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ทั้งนี้ ในการเผยแพร่ข้อมูลให้จัดทำสำหรับคนพิการที่จะสามารถเข้าถึงได้ด้วย
(๔) วางระเบียบเก็บรักษาและบริหารจัดการพยานหลักฐานของกลางในคดีและทรัพย์สิน รวมทั้งการจำหน่าย การมอบหมายให้ผู้อื่นเก็บรักษา หรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่น และค่าตอบแทนของพยานบุคคลหรือผู้ซึ่งช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องขอของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๖) วางระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะบุคคล เพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ใช่การไต่สวน และกำหนดเบี้ยประชุมให้แก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าว
(๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา ๕๑ คณะกรรมการตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง และคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๓๓ วรรคสาม
การดำเนินการตาม (๑) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๔๔ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิและประโยชน์อื่นของเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
(๒) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การถอดถอน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม สมรรถภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การดำเนินการสอบสวนทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษ และการอื่นใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างพนักงานราชการและลูกจ้างของสำนักงาน
(๓) การรักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทน และการรักษาการในตำแหน่งของข้าราชการของสำนักงาน
(๔) วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี และวันหยุดราชการประจำปี
(๕) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
(๖) การจ้างและการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการของสำนักงาน รวมตลอดทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นให้แก่บุคคลดังกล่าว
(๗) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
(๘) การรักษาทะเบียนประวัติและควบคุมการเกษียณอายุของข้าราชการสำนักงาน
การกำหนดตำแหน่งตาม (๑) อย่างน้อยต้องกำหนดให้มีตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวน โดยผู้ช่วยพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวนต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งตามมาตรา ๑๔๖ (๑) ด้วย
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ หรือด้านการงบประมาณ จำนวนไม่เกินสามคนร่วมเป็นกรรมการ โดยให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งข้าราชการสำนักงานจำนวนไม่เกินสามคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลหรือพิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำอุทธรณ์ที่เป็นอิสระ และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใด ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนด้วยก็ได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงานกำหนด
ในการออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยเฉพาะการกำหนดตาม (๑) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพและความเพียงพอในการดำรงชีพ และภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างแต่ละสายงานและระดับด้วย
ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนาม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับกับวินัยและการลงโทษทางวินัยแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยโดยอนุโลม
การปฏิบัติหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน และคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. วิสามัญ แล้วแต่กรณี
ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำว่า “ก.พ.” ให้หมายถึง “คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช.” และคำว่า “ส่วนราชการที่มีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” ให้หมายถึง “สำนักงาน ป.ป.ช.”
มาตรา ๑๔๕ ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด
มาตรา ๑๔๖ ตำแหน่งของข้าราชการสำนักงานให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้จำแนกประเภทตำแหน่งดังต่อไปนี้
(๑) ข้าราชการสำนักงาน สาขากระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นผู้มีพื้นความรู้สำเร็จการศึกษาระดับตั้งแต่ปริญญาโททางกฎหมายขึ้นไป หรือสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาสาขาอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี หรือการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือการดำเนินคดีในชั้นศาล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(๒) ข้าราชการสำนักงานประเภททั่วไป ให้จำแนกประเภทตำแหน่งตามสาขาอาชีพและตามภารกิจของลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ โดยจะมีตำแหน่งประเภทวิชาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนด้วยก็ได้
ในส่วนของตำแหน่งทางบริหารตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแต่งตั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่าในสำนักงานให้เป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวนด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๔๗ มาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดตามมาตรา ๑๔๔ (๒) ต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าข้าราชการหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ใดกระทำการใดโดยไม่สุจริตหรือเอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้ใดในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเร็ว และในระหว่างนั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย้ายผู้นั้นให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือจากท้องที่ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ทันที
ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่เลขาธิการด้วยโดยอนุโลม โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อนได้
มาตรา ๑๔๘ ให้สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนดให้มีรองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
วิธีการได้มาซึ่งเลขาธิการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เมื่อมีกรณีที่จะแต่งตั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
มาตรา ๑๔๙ เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ เป็นกลาง มีจริยธรรมที่ดี และปราศจากอคติทั้งปวง และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
มาตรา ๑๕๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
(๓) ลาออก
(๔) คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะไม่ผ่านการประเมิน ตามระเบียบหรือประกาศที่ออกตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
กรณีที่เลขาธิการพ้นตำแหน่งตามวาระแต่ยังไม่พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) ให้บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักงาน หรือตำแหน่งอื่นใดซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่า
มาตรา ๑๕๑ เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง โอน ถอดถอน เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบ หรือประกาศ หรือมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(๓) หน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น และตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๕๒ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติราชการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงาน และกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน
มาตรา ๑๕๓ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย
มาตรา ๑๕๔ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๕๓ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการเฉพาะกรณี
ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ
มาตรา ๑๕๕ ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้
มาตรา ๑๕๖ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใดแล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๑๕๗ ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ มี ใช้ และพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ การมี การใช้ และการพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๕๘ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งและหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการเฉพาะก็ได้
ให้นำความในมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕๙ เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอง หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการไต่สวน
มาตรา ๑๖๐ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแล้ว หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การไต่สวนเบื้องต้นของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแจ้งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยุติการดำเนินการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปก็ได้ และเมื่อดำเนินการเป็นประการใดแล้วให้แจ้งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นต่อไป เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยโดยให้ถือสำนวนการไต่สวนเบื้องต้น เอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๑๖๑ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด” เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงาน มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานกำหนด แต่ไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเบื้องต้น เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติมอบหมายให้ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นเฉพาะกรณี โดยมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด
เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการสำนักงานให้จัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคตามจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดซึ่งต้องไม่เกินสิบสองภาค และให้มีหัวหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการ
สำนักงาน ป.ป.ช. ภาคมีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเบื้องต้น กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และมีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานกำหนด
หมวด ๑๐
กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
-------------------------
มาตรา ๑๖๒ ให้จัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้นในสำนักงานเรียกโดยย่อว่า “กองทุน ป.ป.ช.” มีวัตถุประสงค์เพื่อ
(๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสนับสนุนภาคเอกชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือรณรงค์ในการป้องกันการทุจริต
(๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทนตามมาตรา ๑๓๑ และเงินรางวัลตามมาตรา ๑๓๗
(๓) ใช้จ่ายในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๑
(๔) ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
มาตรา ๑๖๓ กองทุน ป.ป.ช. ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อสมทบเข้ากองทุน ป.ป.ช.
(๒) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช.
เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุน ป.ป.ช. ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
เงินและทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช. ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๖๔ การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช. และการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๖๕ หน้าที่และอำนาจในการบริหารและการจัดการกองทุน ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. เพื่อดูแลรับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. ดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีผู้แทนของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่สำนักงาน หนึ่งคน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หนึ่งคน
มาตรา ๑๖๖ ภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ให้กองทุน ป.ป.ช. ส่งรายงานการเงินของกองทุน ป.ป.ช. ในปีที่ล่วงมาแล้ว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินนั้น แล้วเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
หมวด ๑๑
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๑๖๗ ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา ๒๘ (๓) กรรมการตามมาตรา ๔๒ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๘ ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๖๘ เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีความผิดตามมาตรา ๑๒๖ วรรคสอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐนั้นรู้เห็นยินยอมด้วย เจ้าพนักงานของรัฐนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๖๙ เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗๐ เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗๑ เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗๒ เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗๓ เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา ๑๗๔ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา ๑๗๕ ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗๖ ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
นิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงผู้แทนของนิติบุคคล ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีหน้าที่และอำนาจในการนั้นหรือไม่ก็ตาม
มาตรา ๑๗๗ ผู้ใดขัดขวางกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการสอบสวนหรือไต่สวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี เพื่อมิให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้เสียหายหรือพยานเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นไม่ไปพบเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือไม่ไปศาลเพื่อให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความ หรือเพื่อให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความอันเป็นเท็จ หรือไม่ให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
(๒) ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ ข่มขู่ ข่มขืนใจ หลอกลวง หรือกระทำการอันมิชอบประการอื่นเพื่อมิให้ผู้เสียหายหรือพยานไปพบเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือไม่ไปศาลเพื่อให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความ หรือเพื่อให้ผู้นั้นให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความอันเป็นเท็จ หรือไม่ให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
(๓) ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ เอาไปเสีย แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปกปิด หรือซ่อนเร้นเอกสารหรือพยานหลักฐานใด ๆ หรือปลอม ทำ หรือใช้เอกสาร หรือพยานหลักฐานใด ๆ อันเป็นเท็จในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
(๔) ใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ ข่มขู่ ข่มขืนใจ หรือกระทำการอันมิชอบประการอื่นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้
มาตรา ๑๗๘ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๗๙ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๑๒ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับรายวันอีกวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง
มาตรา ๑๘๐ ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามมาตรา ๓๖
หากการเปิดเผยตามวรรคหนึ่งเป็นการเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา หรือชื่อและที่อยู่ของผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือเปิดเผยทะเบียนที่จัดทำขึ้นตามมาตรา ๖๐ วรรคสี่ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๘๑ ผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน ที่หัวหน้าพนักงานไต่สวน คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยึดหรืออายัดไว้ หรือสั่งให้ส่ง หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๘๒ ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ เลขาธิการ คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๘๓ กรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๑๘๐ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
มาตรา ๑๘๔ ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฟ้องเท็จหรือเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล ทั้งนี้ เพื่อจะแกล้งบุคคลใดให้ถูกไต่สวน ให้ได้รับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๑๘๕ ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๙ เว้นแต่กรณีตามมาตรา ๑๙ (๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ (๑) และ (๑๘) มิให้นำมาใช้บังคับ
มาตรา ๑๘๖ ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
มาตรา ๑๘๗ ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๘๘ ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อไปจนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้จะกำหนดเป็นอย่างอื่น และการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นไว้แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ถือว่าเป็นการยื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๘๙ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๙๐ ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ และลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งข้าราชการหรือลูกจ้างดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามมาตรา ๑๔๔ (๑) กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๙๑ ให้การถอดถอนจากตำแหน่งที่ได้ดำเนินการตามหมวด ๕ การถอดถอนจากตำแหน่งแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลอยู่ต่อไป และให้นับระยะเวลาที่ถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการรับราชการของผู้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งนั้นต่อเนื่องต่อไป
มาตรา ๑๙๒ ในการดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหา แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัย และการดำเนินการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ บรรดาที่ดำเนินการไปโดยชอบอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งบรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป ทั้งนี้ เว้นแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะมีมติให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
การดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา ๔๘ เว้นแต่ระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือเหลือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ให้นับระยะเวลาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติให้ยื่นคำร้อง คำฟ้องต่อศาล หรือมอบอำนาจให้พนักงานไต่สวนหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและพิพากษาของศาลสำหรับคดีที่ยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
มาตรา ๑๙๓ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หรือผู้ช่วยพนักงานไต่สวน อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไป แต่สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งดำรงตำแหน่งในสาขากระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔๖ (๑) จะต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรเกี่ยวกับการไต่สวนและความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๙๔ บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ออกมายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง
การดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยชอบก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้การดำเนินการดังกล่าวมีผลต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๙๕ ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกประกาศตามมาตรา ๑๒๖ (๒) และ (๓) ให้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนการถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีมาใช้บังคับกับประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกาศกำหนดโดยอนุโลม จนกว่าจะมีการออกประกาศตามมาตรา ๑๒๖ (๒) และ (๓) ดังกล่าว
การนับระยะเวลาตามมาตรา ๑๒๖ วรรคสี่ สำหรับประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกาศกำหนด ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ ให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
มาตรา ๑๙๖ บรรดาเรื่องกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไว้แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๕๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะได้มีการมอบหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๙๗ ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามมาตรา ๑๔๔ ให้นำบรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน แล้วแต่กรณี หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ออกมายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง
ให้ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นตามที่ได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะมีการออกระเบียบตามมาตรา ๑๔๔ (๑) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๙๘ บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าอ้างถึงเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๙๙ การดำเนินคดีที่ดำเนินการกับผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ดำเนินการอยู่ในศาลแล้ว ให้ศาลที่รับไว้พิจารณามีอำนาจดำเนินการต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยให้ถือเสมือนว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับอยู่
มาตรา ๒๐๐ ในวาระเริ่มแรก เพื่อมิให้เกิดภาระเกินสมควร ในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๓๐ จะกำหนดการเริ่มใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละระดับหรือแต่ละประเภทแตกต่างกันตามที่เห็นสมควรก็ได้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม รวมทั้งได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตลอดจนวาระการดำรงตำแหน่งไว้ อีกทั้งได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวดตามมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการสมควรบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต๒
ข้อ ๔ เพื่อประโยชน์ของการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป
ข้อ ๕ ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ ๖ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๑/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑
๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ง/หน้า ๔๒/๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พ.ศ. ๒๕๖๐
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อกำหนดวิธีพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒
(๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐
(๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงไว้เป็นอย่างอื่น
“ศาล” หมายความว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“กรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า ประธานหรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“คณะผู้ไต่สวนอิสระ” หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งประธานศาลฎีกาแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ไต่สวนหาข้อเท็จจริงและทำความเห็นในกรณีที่มีการกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๕ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นนอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา
มาตรา ๖ การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ แม้ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่ความในการโต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานนั้นแล้ว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น ทั้งนี้ ตามแนวทางและวิธีการตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ โดยนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือของคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้ศาลอื่น พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้
ศาลมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมายในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของศาลที่มิใช่การพิจารณาหรือพิพากษาคดีได้
มาตรา ๗ ศาลมีอำนาจออกหมายอาญาและหมายใด ๆ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติ
มาตรา ๘ ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และมีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และข้อกำหนดอื่นเกี่ยวกับการดำเนินคดีเพื่อใช้แก่การปฏิบัติงานของศาลได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
นอกจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๑/๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
มาตรา ๙ ให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนตามที่เห็นสมควร เป็นผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเพื่อปฏิบัติงานที่จำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีองค์คณะผู้พิพากษาตามมาตรา ๑๑ สำหรับคดีใดคดีหนึ่ง
มาตรา ๑๐ ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
(๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๒) คดีที่คณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๓) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุคคลตาม (๑) และ (๒) เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญาตาม (๑) หรือ (๒) รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตาม (๑) หรือ (๒) เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
(๔) คดีที่บุคคลตาม (๑) หรือกรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน
มาตรา ๑๑ เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเร็ว เพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวนเก้าคน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยให้เลือกเป็นรายคดี
ในกรณีมีเหตุสมควร ผู้พิพากษาคนใดอาจขอถอนตัวจากการได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาได้ โดยให้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก่อนการลงคะแนน และให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติว่าจะให้มีการถอนตัวหรือไม่ มติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เป็นที่สุด
การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแต่ละคดีให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ ให้ผู้พิพากษาซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเรียงลงไปตามลำดับจนครบจำนวนเก้าคนเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาสำหรับคดี ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันในลำดับใดอันเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับเลือกเกินจำนวนดังกล่าว ให้ประธานศาลฎีกาจับสลากว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือก
ผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีจนกว่าจะสิ้นสุดหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ห้ามมิให้มีคำสั่งให้ผู้พิพากษาผู้นั้นไปทำงานที่อื่นนอกศาลฎีกา
ในกรณีที่ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาพ้นจากหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ หรือมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษานั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ดำเนินการเลือกผู้พิพากษาเข้ามาแทนที่ให้ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคหนึ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกนั้น ให้มีอำนาจเช่นเดียวกับผู้พิพากษาอื่นในองค์คณะผู้พิพากษาที่ตนเข้าแทนที่และมีอำนาจตรวจสำนวน ทำความเห็นในการวินิจฉัยคดี และลงลายมือชื่อในคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาได้
ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในวันนัดเป็นการชั่วคราว และผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาคงเหลือไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ให้ถือว่าผู้พิพากษาเท่าที่มีอยู่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีต่อไปได้ เว้นแต่การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษา
การเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะผู้พิพากษาไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่ผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่เป็นองค์คณะผู้พิพากษาต่อไป
ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งได้รับเลือกในการประชุมดังกล่าว ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๑๒ ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาย่อมพ้นหน้าที่ในคดี เมื่อ
(๑) พ้นจากการเป็นข้าราชการตุลาการ
(๒) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ศาลอื่น
(๓) ถอนตัวเนื่องจากการคัดค้านผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งยอมรับตามคำคัดค้านในมาตรา ๑๓
(๔) มีเหตุสมควรและได้รับอนุญาตจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ถอนตัวได้
มาตรา ๑๓ หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะคัดค้านผู้พิพากษาคนใดซึ่งได้รับเลือกเป็นผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษา เนื่องจากมีเหตุอันจะคัดค้านผู้พิพากษาได้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเริ่มการไต่สวนพยานหลักฐาน ในการนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาไต่สวนตามที่เห็นสมควรแล้วมีคำสั่งยอมรับหรือยกคำคัดค้าน คำสั่งนี้เป็นที่สุด และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
การคัดค้านผู้พิพากษาจะกระทำมิได้ หากได้เริ่มการไต่สวนพยานหลักฐานไปแล้ว เว้นแต่ผู้คัดค้านสามารถแสดงต่อศาลได้ว่ามีเหตุสมควรที่ทำให้ไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนนั้น
มาตรา ๑๔ ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้พิพากษาคนหนึ่งในจำนวนเก้าคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน
ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีอำนาจดำเนินการตามมติขององค์คณะผู้พิพากษา และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาอีกสองคน มีอำนาจออกคำสั่งใด ๆ ที่มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้
มาตรา ๑๕ ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานต่อเนื่องติดต่อกันไปจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
มาตรา ๑๖ ถ้าอัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานที่อาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาไต่สวนในภายหลัง บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งไต่สวนพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีได้
ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งก่อนอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาตามมาตรา ๙ เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนพยานหลักฐานดังกล่าวให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
มาตรา ๑๗ เมื่อศาลประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๑) กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่ง หรือคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้ใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะมีการอุทธรณ์ตามหมวด ๖ อุทธรณ์ หรือไม่ ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
มาตรา ๑๘ ในระหว่างพิจารณา ศาลมีอำนาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคดี
(๒) ดำเนินการและจัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีตามที่ศาลมีคำสั่ง
(๓) ช่วยเหลือศาลในการบันทึกคำพยาน
(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศาลฎีกาให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
มาตรา ๑๙ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในกฎหมายอื่นที่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นำมาใช้บังคับ หรือในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความมีคำขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ในกรณีที่มีข้อผิดพลาดหรือบกพร่องทางวิธีพิจารณาเกิดขึ้น ศาลอาจสั่งให้คู่ความซึ่งดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
มาตรา ๒๐ การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือโดยสังเขป พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนแล้วจึงลงมติโดยให้ถือมติตามเสียงข้างมาก ในการนี้ องค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้
ความเห็นในการวินิจฉัยคดีตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคน ให้เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
มาตรา ๒๑ คำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(๑) ชื่อคู่ความทุกฝ่าย
(๒) เรื่องที่ถูกกล่าวหา
(๓) ข้อกล่าวหาและคำให้การ
(๔) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา
(๕) เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(๖) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
(๗) คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี
มาตรา ๒๒ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมหรือคุมขังผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเนื่องจากมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้นั้นจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้ไต่สวนอิสระ หรืออัยการสูงสุดอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายจับหรือหมายขังผู้นั้นได้
ในกรณีที่มีการฟ้องคดีแล้ว ไม่ว่าจะมีการคุมขังจำเลยมาก่อนหรือไม่ ให้องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาถึงเหตุอันควรคุมขังจำเลย และมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรหรือปล่อยชั่วคราวจำเลยนั้นได้
หมวด ๒
การดำเนินคดีอาญา
-------------------------
มาตรา ๒๓ ผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ได้แก่
(๑) อัยการสูงสุด
(๒) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด
มาตรา ๒๔ ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย
ในกรณีที่พบว่าศาลอื่นรับฟ้องคดีในข้อหาความผิดอาญาบทอื่นจากการกระทำความผิดกรรมเดียวกับการกระทำความผิดตามที่มีการยื่นฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้องค์คณะผู้พิพากษาแจ้งไปยังศาลอื่นที่รับฟ้องดังกล่าวเพื่อให้โอนคดีดังกล่าวมายังศาลต่อไป หรือศาลอื่นจะขอโอนคดีดังกล่าวมายังศาลเองก็ได้ และให้ถือว่ากระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการไปแล้วในศาลอื่นก่อนมีคำพิพากษาไม่เสียไป เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
มาตรา ๒๕ ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ
มาตรา ๒๖ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้
ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗ ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล และให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน ทั้งนี้ ศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้อง ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง
การฟ้องคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
มาตรา ๒๗ ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล และอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล
มาตรา ๒๘ ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา ๒๗ และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด
ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลยและได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วต้องเสียไป
มาตรา ๒๙ ในคดีที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา ๒๘ และมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ถ้าภายหลังจำเลยมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จำเลยจะมาแสดงตนต่อศาลและยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่ต้องยื่นเสียภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ศาลสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๑ แต่ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาต้องไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน
การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ไม่มีผลให้การไต่สวนและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วต้องเสียไป
การดำเนินการในการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
มาตรา ๓๐ เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง เว้นแต่จะได้ความว่าหากไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม
มาตรา ๓๑ การพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐานให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำคัญ ให้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับได้
เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานลับหลังจำเลยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) จำเลยไม่อาจมาฟังการไต่สวนพยานหลักฐานได้เนื่องจากความเจ็บป่วยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยาน
(๒) จำเลยเป็นนิติบุคคลและศาลได้ออกหมายจับผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้
(๓) จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไป และศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้
(๔) ในระหว่างพิจารณาหรือไต่สวน ศาลมีคำสั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณาเพราะเหตุขัดขวางการพิจารณา หรือจำเลยออกไปจากห้องพิจารณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
(๕) จำเลยทราบวันนัดแล้วไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐานใดในนัดนั้นโดยไม่เลื่อนคดี
กรณีตาม (๓) ในกรณีที่ต้องมีการส่งหนังสือ คำสั่ง หรือหมายอาญาของศาล ให้ส่งไปยังทนายความของจำเลยแทน
มาตรา ๓๒ ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยซึ่งหลบหนีไปในระหว่างได้รับการปล่อยชั่วคราวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นการหลบหนีไปในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร
ความผิดตามวรรคหนึ่งไม่ระงับไปเพราะเหตุที่คดีของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้นมีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้อง
มาตรา ๓๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๘ เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก
นับแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาฟ้อง ให้จำเลยมีสิทธิขอตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ในวันพิจารณาครั้งแรก เมื่อจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้บันทึกไว้ ถ้าจำเลยไม่ให้การก็ให้บันทึกไว้ และถ้าจำเลยให้การปฏิเสธหรือไม่ให้การ ก็ให้ศาลกำหนดวันตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน ในกรณีที่จำเลยมิได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ
ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้ข้อหาที่จำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกน้อยกว่าห้าปี หรือโทษสถานที่เบากว่านั้น ศาลอาจเรียกพยานหลักฐานมาไต่สวนต่อไปเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงก็ได้
มาตรา ๓๔ ให้โจทก์จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอก่อนวันพิจารณาตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
การยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากองค์คณะผู้พิพากษา เมื่อมีเหตุสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้น หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดี
มาตรา ๓๕ ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้โจทก์จำเลยส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาลเพื่อให้อีกฝ่ายตรวจสอบ เว้นแต่องค์คณะผู้พิพากษาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้น หลังจากนั้นให้โจทก์จำเลยแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อองค์คณะผู้พิพากษา
เพื่อประโยชน์ในการค้นหาความจริง แม้จำเลยจะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา ๓๔ หรือมิได้ส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุต่อศาลตามวรรคหนึ่ง เพราะเหตุที่จำเลยไม่มาศาลและไม่มีทนายความ หรือแม้โจทก์จำเลยจะมิได้มีการโต้แย้งพยานหลักฐานไว้ หรือมีการโต้แย้งพยานหลักฐานภายหลังวันตรวจพยานหลักฐาน องค์คณะผู้พิพากษาจะไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ต้องมีการไต่สวน ให้องค์คณะผู้พิพากษากำหนดวันเริ่มไต่สวนโดยแจ้งให้โจทก์จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา ๓๗ ในการไต่สวนพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้องค์คณะผู้พิพากษาสอบถามพยานบุคคลเอง โดยการแจ้งให้พยานทราบประเด็นและข้อเท็จจริงที่จะไต่สวน แล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเอง หรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม แล้วจึงอนุญาตให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม
การถามพยานตามวรรคหนึ่ง จะใช้คำถามนำตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
หลังจากคู่ความถามพยานตามวรรคหนึ่งแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
มาตรา ๓๘ บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
(๑) พยานบุคคลที่ศาลเรียกมาเองตามมาตรา ๓๗
(๒) บุคคลซึ่งมาให้ถ้อยคำ และบุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๖ วรรคสาม และวรรคสี่
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตามมาตรา ๓๙
มาตรา ๓๙ ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ต้องแจ้งให้คู่ความทุกฝ่ายทราบ และให้โอกาสคู่ความตามสมควร ในอันที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตนมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
มาตรา ๔๐ เมื่อการไต่สวนพยานหลักฐานเสร็จสิ้น โจทก์จำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดีของตนภายในเวลาที่ศาลกำหนด แล้วให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำพิพากษาและให้อ่านคำพิพากษาในศาลโดยเปิดเผยภายในสามสิบวันนับแต่วันเสร็จการพิจารณา
ในกรณีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว
ในการพิจารณาคดีตามมาตรา ๒๘ วรรคสอง เมื่อศาลนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ปิดประกาศแจ้งการนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ณ ภูมิลำเนา หรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของจำเลย หรือวิธีการอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร และให้ถือว่าจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้ว
มาตรา ๔๑ ให้ถือว่าพยานบุคคลในคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เป็นพยานที่อาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา
มาตรา ๔๒ การริบทรัพย์สินในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม นอกจากศาลจะมีอำนาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
(๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
(๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทำความผิด
(๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๒)
(๔) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
ในการที่ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินตาม (๑) ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิด รวมทั้งโอกาสที่จะนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทำความผิดอีก
ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่จะทำให้บุคคลไม่สามารถใช้ทรัพย์สินตาม (๑) ในการกระทำความผิดได้อีกต่อไป ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวแทนการริบทรัพย์สิน
หากการดำเนินการตามวรรคสามไม่เป็นผล ศาลจะมีคำสั่งริบทรัพย์สินนั้นในภายหลังก็ได้
มาตรา ๔๓ การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม บรรดาทรัพย์สินดังต่อไปนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
(๑) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
(๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดในลักษณะเดียวกันตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือตามกฎหมายอื่น
(๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทำความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทำความผิด
(๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
(๕) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
มาตรา ๔๔ ในการพิพากษาคดีหรือภายหลังจากนั้น ถ้าความปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตามคำขอของโจทก์ว่า สิ่งที่ศาลจะสั่งริบหรือได้สั่งริบ โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่น ศาลอาจกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง และสั่งให้ผู้มีหน้าที่ต้องส่งสิ่งที่ศาลสั่งริบชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด
การกำหนดมูลค่าตามวรรคหนึ่งในกรณีที่มีการนำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือในกรณีมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนต่ำกว่าราคาท้องตลาดของสิ่งที่ศาลสั่งริบในวันที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ให้ศาลกำหนดโดยคำนึงถึงสัดส่วนของทรัพย์สินที่มีการรวมเข้าด้วยกันนั้น หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนสิ่งนั้น แล้วแต่กรณี
ในการสั่งให้บุคคลชำระเงินตามวรรคหนึ่ง ศาลจะกำหนดให้ผู้นั้นชำระเงินทั้งหมดในคราวเดียวหรือจะให้ผ่อนชำระก็ได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่กรณี และถ้าผู้นั้นไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามอัตราที่ศาลกำหนด และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลนั้นได้ไม่เกินจำนวนเงินที่ยังค้างชำระ
หมวด ๓
การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๔๕ ในการพิจารณาพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา เว้นแต่มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ เฉพาะบทบัญญัติที่กำหนดให้ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ วรรคสาม และวรรคสี่ มาตรา ๔๐ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๔๖ คำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติแล้ว จะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและสถานที่ตั้งของทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ชื่อและที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะยื่นคำร้องด้วย
มาตรา ๔๗ เมื่อได้รับคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ศาลประกาศคำร้องดังกล่าวในที่เปิดเผยตามวิธีการในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
บุคคลภายนอกอาจร้องคัดค้านเข้ามาในคดีได้ แต่ต้องกระทำก่อนศาลมีคำพิพากษา
มาตรา ๔๘ ผู้ใดกล่าวอ้างโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ต่อศาล
ถ้าผู้มีภาระการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ในกรณีผู้ที่กล่าวอ้างโต้แย้งเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก ให้ศาลคำนึงถึงความสามารถในการพิสูจน์ของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาพิพากษาตามที่เห็นว่าเป็นธรรม
หมวด ๔
การดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช.
-------------------------
มาตรา ๔๙ ในกรณีที่มีการกล่าวหาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ว่ากรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหาและเสนอเรื่องมายังประธานศาลฎีกา ให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระตามมาตรา ๕๐ เพื่อดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและทำความเห็นเกี่ยวกับข้อกล่าวหาดังกล่าว
มาตรา ๕๐ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระที่ประธานศาลฎีกาแต่งตั้ง ประกอบด้วยบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคน ที่คัดเลือกจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยให้แต่งตั้งจากข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ หรืออัยการอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีอย่างน้อยหนึ่งคน สำหรับจำนวนที่เหลือให้คัดเลือกจากบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๕๑ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๕๒ ตามความเหมาะสมแห่งคดี
มาตรา ๕๑ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะผู้ไต่สวนอิสระต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีในวันแต่งตั้ง และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๒) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๓) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(๔) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
(๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
(๖) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
(๗) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้ง
มาตรา ๕๒ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะผู้ไต่สวนอิสระต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๓) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๕) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๖) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๗) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๘) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๙) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๐) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๒) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๓) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๔) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๑๕) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๖) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการแต่งตั้ง
มาตรา ๕๓ ในการดำเนินการของคณะผู้ไต่สวนอิสระ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยอนุโลม
มาตรา ๕๔ ผู้ไต่สวนอิสระมีสิทธิได้รับค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าเช่าที่พัก และค่าตอบแทนอย่างอื่นตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๕๕ คณะผู้ไต่สวนอิสระมีอำนาจสั่งให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเพื่อประกอบการไต่สวนตามรายการ วิธีการ และภายในระยะเวลาที่คณะผู้ไต่สวนอิสระกำหนด โดยจะเรียกรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้เคยยื่นไว้จากผู้ซึ่งเก็บรักษาเพื่อนำมาเทียบเคียงดูด้วยก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน
มาตรา ๕๖ เมื่อดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้สั่งยุติเรื่อง และให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด
(๒) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
(๓) ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา และมิใช่เป็นกรณีตาม (๒) ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล
ในการไต่สวนและดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ยื่นคำขอต่อประธานศาลฎีกาเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาตามที่เห็นสมควร
ให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีอาญาตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนอิสระภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่ไม่อาจฟ้องคดีได้ก่อนพ้นระยะเวลาตามวรรคสาม ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตขยายระยะเวลาฟ้องคดีออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนด แต่ทั้งนี้ ต้องฟ้องภายในอายุความ
ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา และหมวด ๓ การดำเนินคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน มาใช้บังคับในการดำเนินคดีตามหมวดนี้โดยอนุโลม
หมวด ๕
การดำเนินคดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชี
แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
-------------------------
มาตรา ๕๗ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการที่บุคคลตามมาตรา ๑๐ (๑) ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด
ในกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกกล่าวหา อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด
มาตรา ๕๘ คำร้องตามมาตรา ๕๗ ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งของผู้นั้น บุคคลซึ่งผู้นั้นมีหน้าที่รับผิดชอบต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ระยะเวลาที่ต้องยื่น รวมทั้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยชัดแจ้งพร้อมทั้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ผลการตรวจสอบและรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งมติและรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่กรณีที่หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง โดยอนุโลม
มาตรา ๕๙ การพิจารณาพิพากษาคดีตามหมวดนี้ให้นำบทบัญญัติในหมวด ๒ การดำเนินคดีอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีมีข้อขัดข้องในการดำเนินคดีส่วนอาญาที่อาจทำให้การวินิจฉัยคดีล่าช้าออกไป องค์คณะผู้พิพากษาอาจมีคำสั่งให้แยกการดำเนินคดีในส่วนอาญาออกเป็นอีกคดีหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีต่อไปได้
หมวด ๖
อุทธรณ์
-------------------------
มาตรา ๖๐ คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
มาตรา ๖๒ คดีที่ไม่มีอุทธรณ์คำพิพากษา ให้เป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ศาลได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษา แต่ถ้าเป็นคดีที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ศาลมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีดังกล่าวต่อไปให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๖๓
มาตรา ๖๓ การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวนเก้าคน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจากผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน โดยให้เลือกเป็นรายคดี คำวินิจฉัยอุทธรณ์ขององค์คณะให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ให้นำความในมาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับแก่การดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ โดยอนุโลม
มาตรา ๖๔ ในการพิจารณาอุทธรณ์ หากมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญ ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในองค์คณะของศาลฎีกานั้น หรือประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาจะเสนอประธานศาลฎีกาเพื่อพิจารณาให้มีการวินิจฉัยปัญหานั้นโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ได้
เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในเรื่องหรือประเด็นใดตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้องค์คณะของศาลฎีกาวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาในเรื่องหรือประเด็นนั้นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
หมวด ๗
การบังคับคดี
-------------------------
มาตรา ๖๕ การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
คำพิพากษาและคำสั่งในการบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด
มาตรา ๖๖ การบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลซึ่งต้องชำระเงินแทนมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบหรือสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน ให้กระทำได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด และให้พนักงานอัยการหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการบังคับคดี โดยให้ร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีมีหน้าที่และอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการหรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทั้งนี้ มิให้หน่วยงานของรัฐเรียกค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ดำเนินการบังคับคดี
การบังคับคดีตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้แม้ว่าบุคคลซึ่งต้องชำระเงินแทนมูลค่าสิ่งที่ศาลสั่งริบถึงแก่ความตายไปแล้ว หากปรากฏว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนผู้นั้นถึงแก่ความตาย
มาตรา ๖๗ ในกรณีที่ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินนั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ คำร้องของเจ้าของที่แท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของบุคคลซึ่งต้องชำระเงินตามมาตรา ๔๔ หากปรากฏโดยคำร้องของผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดว่าผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินนั้นตามสภาพที่เป็นอยู่ หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ ให้คืนเป็นเงินแทนตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี คำร้องของเจ้าของที่แท้จริงเช่นว่านี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าว
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๖๘ ในระหว่างที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ากรณีมีมูลที่จะดำเนินคดีตามมาตรา ๑๐ (๑) หรือ (๓) และยังมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตามมาตรา ๒๓ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับกับการดำเนินการดังกล่าวโดยอนุโลม จนกว่าจะมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตใช้บังคับ
มาตรา ๖๙ บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗๐ บรรดาพระราชกฤษฎีกา ระเบียบ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีหรือการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบหรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพิพากษาและการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๙ ก/หน้า ๑/๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๖๑
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒
(๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒
(๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๑/๒๕๕๗ เรื่อง การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗
(๔) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๙/๒๕๕๘ เรื่อง การเลือกกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างในคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และการดำเนินการเพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(๕) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
(๖) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๕/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินด้วย
“ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
“หน่วยรับตรวจ” หมายความว่า
(๑) กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกซื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง หรือกรม
(๒) หน่วยงานของราชการส่วนภูมิภาค
(๓) หน่วยงานของราชการส่วนท้องถิ่น
(๔) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและตามกฎหมายอื่น
(๕) ทุนหมุนเวียน
(๖) หน่วยงานอื่นของรัฐ
(๗) หน่วยงานที่รัฐมิได้จัดตั้งขึ้นแต่ได้รับเงินอุดหนุน หรือกิจการที่ได้รับเงินหรือทรัพย์สินลงทุนจากหน่วยรับตรวจตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินอุดหนุนหรือกิจการดังกล่าว
(๘) หน่วยงานอื่นใดหรือกิจการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สำนักงานเป็นผู้ตรวจสอบ หรือที่มีกฎหมายกำหนดให้มีสิทธิร้องขอให้สำนักงานเป็นผู้ตรวจสอบ
“หน่วยงานของราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น
“ทุนหมุนเวียน” หมายความว่า กองทุน กองทุนหมุนเวียน เงินทุน เงินทุนหมุนเวียน ทุน หรือทุนหมุนเวียน ที่ตั้งขึ้นเพื่อกิจการที่อนุญาตให้นำรายรับสมทบทุนไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง
“ผู้รับตรวจ” หมายความว่า หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการหรือการบริหารของหน่วยรับตรวจ
“ตรวจเงินแผ่นดิน” หมายความว่า ตรวจสอบการเงินของหน่วยรับตรวจ ซึ่งรวมถึงตรวจการจัดเก็บรายได้ การรับ การใช้จ่าย การใช้ประโยชน์ การเก็บรักษา และการบริหารซึ่งเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ของหน่วยรับตรวจหรือที่อยู่ในความครอบครองหรืออำนาจใช้จ่ายของหน่วยรับตรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ หรือไม่ และตรวจว่าการใช้จ่ายเงินหรือการใช้ประโยชน์นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมตลอดถึงการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจและแสดงความเห็นต่อผลของการตรวจสอบ และการตรวจสอบอื่นที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“ตรวจสอบ” หมายความว่า ตรวจเงินแผ่นดิน
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือ ส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิสำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการหรือผู้ว่าการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการหรือผู้ว่าการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการหรือผู้ว่าการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการและผู้ว่าการต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่ผู้ว่าการเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้คณะกรรมการโดยข้อเสนอแนะของผู้ว่าการมีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่คณะกรรมการโดยข้อเสนอแนะของผู้ว่าการเห็นว่าการดำเนินการเรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการหรือผู้ว่าการอาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วย ให้คณะกรรมการปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซํ้าซ้อนกัน
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ ในการประชุมดังกล่าวให้ผู้ว่าการร่วมประชุมด้วย และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว
มาตรา ๗ ภายใต้บังคับวรรคสาม ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรืออาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้ ให้ผู้ว่าการแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี เพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือของหน่วยงานอื่นนั้น แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ว่าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ผู้ว่าการแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ และให้มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด การไต่สวนเบื้องต้นดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะพนักงานไต่สวนหรือเข้าตรวจสำนวนการไต่สวนของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เมื่อผลการไต่สวนเบื้องต้นปรากฏเป็นประการใด ให้ส่งสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าการดำเนินการของผู้ว่าการจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะแจ้งให้ผู้ว่าการยุติการดำเนินการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่อไป
มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน ในกรณีที่ประชุมร่วมมีมติเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่ลงคะแนน ให้ประธานกรรมการ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติร่วมกันลงนามในหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย
ให้กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกคน มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมตามวรรคสอง ในกรณีที่กรรมการผู้ใดไม่มาประชุมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมาประชุมแล้วไม่ลงคะแนนเสียงหรืองดออกเสียง ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนวันประชุม หรือก่อนลงมติ แล้วแต่กรณี
ในการประชุมตามวรรคสอง ให้ผู้ว่าการมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นได้ด้วย แต่ไม่มีสิทธิลงคะแนน
การประชุมของที่ประชุมร่วมตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ที่ประชุมร่วมกำหนด
มาตรา ๙ ให้ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๑/๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
มาตรา ๑๐ การตรวจเงินแผ่นดินต้องกระทำด้วยความสุจริต รอบคอบ โปร่งใส เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
การตรวจสอบต้องคำนึงถึงการดำเนินการตามหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงความคุ้มค่า ความสงบเรียบร้อย ความไว้วางใจของสาธารณชน การดำเนินงานโดยสุจริต ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ และการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐด้วย
มาตรา ๑๑ ในการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และให้โอกาสเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจได้ชี้แจงเหตุผลและแสดงพยานหลักฐานของตน
หมวด ๒
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๑๒ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งนี้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
มาตรา ๑๓ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ แล้ว กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ตํ่ากว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ตํ่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๔ กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะรํ่ารวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือเป็นผู้มีพฤติการณ์รํ่ารวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๑๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๕ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๒ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาตาม (๔) ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ แต่ไม่รวมถึงการสรรหาใหม่หรือสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๖ วรรคสี่ มาตรา ๑๗ วรรคสอง และวรรคสาม และมาตรา ๑๘ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้
ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๖ ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสาม หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสาม ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหาให้ดำเนินการสรรหาใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
ภายในสามวันนับแต่วันปิดรับสมัคร ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประวัติการทำงานตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนดด้วย
มาตรา ๑๗ ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหา แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงห้าคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๘ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๔ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว ต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งกรรมการ ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิและให้ดำเนินการสรรหาใหม่
มาตรา ๑๙ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
การวินิจฉัย ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้
มาตรา ๒๐ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด แต่สำหรับเบี้ยประชุมให้กำหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๒๑ กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน
มาตรา ๒๒ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
(๔) พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ
ในระหว่างที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสี่คน ให้กระทำได้แต่เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในกรณีที่กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่ถ้ากรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๓ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๒๒ (๒) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมากและให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย ในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่กรรมการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบเจ็ดคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการได้จนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๒ วรรคห้า การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าคน จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม
การลงมติในการประชุมของคณะกรรมการให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ และให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมตามวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมที่คณะกรรมการกำหนด
ในการประชุมของคณะกรรมการ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าการที่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็นด้วย เว้นแต่เป็นการประชุมเพื่อมีมติตามมาตรา ๕๐ (๔)
ให้ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
มาตรา ๒๖ กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง กรรมการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่คณะกรรมการเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ
มาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน
(๒) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
(๓) กำกับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม (๑) และ (๒) และตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(๔) ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน
(๕) สั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(๖) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น
ในการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานตาม (๒) ให้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยรับตรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
มาตรา ๒๘ นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๗ (๑) ให้คณะกรรมการวางเป็นนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีและนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินระยะยาว ซึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) ทิศทางและเป้าหมายในการตรวจเงินแผ่นดิน
(๒) ผลสัมฤทธิ์ในการตรวจเงินแผ่นดิน
(๓) การพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการจัดทำแล้ว ให้แจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทราบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
มาตรา ๒๙ หลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นตามมาตรา ๒๗ (๒) ต้องสอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นที่ยอมรับของสากล และให้ใช้ได้จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถ้าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของหน่วยรับตรวจ ต้องมีระยะเวลาให้หน่วยรับตรวจเพียงพอที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่
หลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ให้เผยแพร่ให้หน่วยรับตรวจและประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่หน่วยรับตรวจเห็นว่าหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน หรือยังไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ จะแจ้งให้คณะกรรมการทราบและพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์มาตรฐาน หรือเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการของทางราชการดังกล่าวตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรก็ได้
มาตรา ๓๐ หลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๗ (๒) อย่างน้อย ต้องประกอบด้วย
(๑) วิธีการตรวจเงินแผ่นดินแต่ละด้าน
(๒) ความเคร่งครัดในจริยธรรมแห่งวิชาชีพในการตรวจเงินแผ่นดิน
(๓) ระยะเวลาในการตรวจเงินแผ่นดิน
(๔) วิธีปฏิบัติในการเข้าตรวจ
(๕) วิธีการให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาแก่หน่วยรับตรวจ
(๖) วิธีการเปิดโอกาสให้หน่วยรับตรวจชี้แจง
(๗) วิธีการรายงาน การแจ้ง และการเผยแพร่ผลการตรวจ
มาตรา ๓๑ การวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา ๒๗ (๑) และ (๒) หากผู้ว่าการเห็นว่านโยบายหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนดมีผลเป็นการเลือกปฏิบัติต่อหน่วยรับตรวจ หรือทำให้มีการตรวจสอบใด ๆ ที่อยู่นอกเหนือหน้าที่และอำนาจของผู้ว่าการ หรือมีผลให้ผู้ว่าการไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ว่าการจะขอให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนก็ได้
มติของคณะกรรมการในการพิจารณาทบทวนตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ว่าการเห็นว่านโยบายหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวมีผลให้ผู้ว่าการไม่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยต่อไป
มาตรา ๓๒ นอกจากหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๒๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือข้อบังคับในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การกำกับการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๗ (๓)
(๒) การจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงานโดยผู้ประเมินอิสระ
(๓) การจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของสำนักงาน
(๔) การอื่นใดอันจำเป็นต่อการดำเนินงานของผู้ว่าการหรือสำนักงาน หรือการทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การออกระเบียบตาม (๑) จะกำหนดให้ผู้ว่าการต้องจัดทำรายงานผลการตรวจเงินแผ่นดินโดยสรุปเป็นรายไตรมาสก็ได้
มาตรา ๓๓ ในการกำกับการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๗ (๓) ถ้าความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าการตรวจสอบไม่เป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนด หรือตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ว่าการรับไปดำเนินการปรับปรุง แก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป
ก่อนสั่งการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการต้องนำคำชี้แจงและความเห็นของผู้ว่าการมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย
มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ผู้ว่าการเห็นว่ามีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และประสงค์จะได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการ ให้ผู้ว่าการปรึกษาหารือคณะกรรมการเพื่อขอคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่หน่วยรับตรวจเห็นว่าผู้ว่าการหรือผู้ได้รับมอบหมายดำเนินการตรวจสอบไม่เป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน หน่วยรับตรวจมีสิทธิยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๖ ในกรณีที่จำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด คณะกรรมการจะขอให้สำนักงานจ้างบุคคลหรือสถาบันซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดำเนินการในเรื่องนั้นได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการจ้างหรือแต่งตั้ง คณะกรรมการต้องกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน
หลักเกณฑ์และวิธีการจ้าง และค่าตอบแทน ของบุคคลหรือสถาบัน หรือการแต่งตั้งอนุกรรมการ การพ้นจากตำแหน่ง ค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่น และวิธีปฏิบัติงานของอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจขอให้หน่วยรับตรวจมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหลักฐานหรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และเรียกผู้รับตรวจมาให้ถ้อยคำ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ
มาตรา ๓๘ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของกรรมการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ให้กรรมการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานกรรมการหรือกรรมการ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๙ กรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปี มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๓๘ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
หมวด ๓
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๔๐ ให้มีผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการ
ผู้ว่าการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ
มาตรา ๔๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องแต่งตั้งผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการดำเนินการสรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ
มาตรา ๔๒ ในการสรรหาผู้ว่าการ ให้คณะกรรมการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ซึ่งต้องกระทำโดยเปิดเผย และให้มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เพื่อรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้เข้ารับการสรรหาดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสมัคร และระยะเวลาที่จะใช้ในการสรรหาทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการปรึกษาหารือเพื่อคัดเลือกให้ได้บุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญและความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ
มาตรา ๔๔ ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการลงคะแนนของตนไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการ ในกรณีที่ไม่มีผู้ได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีมีผู้สมัครคนเดียว ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
(๒) ในกรณีมีผู้สมัครสองคนให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงถึงสองในสาม ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
(๓) ในกรณีมีผู้สมัครเกินสองคนขึ้นไป ให้นำผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงถึงสองในสาม ให้ดำเนินการสรรหาใหม่
ถ้ามีผู้ได้รับคะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสองคน ให้ประธานกรรมการจับสลากผู้ที่ได้รับคะแนนเท่ากันเพื่อให้เหลือสองคนแล้วจึงลงคะแนน
มาตรา ๔๕ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการได้แล้ว ให้เสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๖ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อ ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้ว่าการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๔๗ ให้ผู้ว่าการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
มาตรา ๔๘ ให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่โดยรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงาน
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ว่าการพึงรับฟังคำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติงของคณะกรรมการซึ่งต้องไม่กระทบต่อความเป็นอิสระในการตรวจเงินแผ่นดินของผู้ว่าการ
มาตรา ๔๙ ผู้ว่าการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของผู้ว่าการต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการและผู้ว่าการ
มาตรา ๕๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
(๔) คณะกรรมการมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เนื่องจากจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินหรือหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนดและเมื่อคณะกรรมการสั่งให้แก้ไขแล้วไม่ดำเนินการภายในเวลาอันสมควรจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทางราชการ
(๕) พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามรัฐธรรมนูญ
(๖) ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
มาตรา ๕๑ ในกรณีที่ผู้ว่าการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งมีอาวุโสสูงสุดปฏิบัติหน้าที่แทน จนกว่าผู้ว่าการจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแทน
หลักเกณฑ์การกำหนดอาวุโสตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๒ ให้ผู้ว่าการได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่ารับรองเหมาจ่ายและประโยชน์ตอบแทนอื่นเช่นเดียวกับกรรมการ
มาตรา ๕๓ ให้ผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนด และตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(๒) ตรวจผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ
(๓) มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตาม (๑) และ (๒)
(๔) กำกับและรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตาม (๓)
ในการตรวจเงินแผ่นดินสำหรับหน่วยรับตรวจตามบทนิยามคำว่า “หน่วยรับตรวจ” ตามมาตรา ๔ (๗) ให้ตรวจเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินอุดหนุนหรือกิจการที่ได้รับเงินหรือทรัพย์สินลงทุนจากหน่วยรับตรวจตามบทนิยามคำว่า “หน่วยรับตรวจ” ตามมาตรา ๔ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) ว่ามีการใช้จ่ายไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
มาตรา ๕๔ นอกจากหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๕๓ ให้ผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) กำหนดแผนการตรวจสอบประจำปีเพื่อให้สำนักงานถือปฏิบัติ และเสนอคณะกรรมการเพื่อทราบ
(๒) ตรวจสอบรายงานการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่
(๓) ตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราประจำปี และแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่
(๔) แจ้งผลการตรวจสอบและติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้เป็นไปตามผลการตรวจสอบ
(๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศหรือมติของคณะกรรมการ
(๖) แต่งตั้งที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการหรือในกิจการต่าง ๆ เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๗) จัดจ้างและกำหนดค่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๘) มอบหมายเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตาม (๒) (๓) และ (๔) และมาตรา ๗ วรรคสาม รวมถึงรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
การกำหนดแผนการตรวจสอบตาม (๑) ต้องสอดคล้องกับนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๕ การใช้หน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔ นั้น ห้ามมิให้ผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าการมอบหมายดำเนินการสอบบัญชีโดยมีการเรียกค่าใช้จ่ายจากหน่วยรับตรวจ อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
มาตรา ๕๖ ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้สาธารณชนทราบ จนกว่าจะได้ข้อยุติเกี่ยวกับการตรวจสอบนั้นแล้ว เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการระงับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ทางราชการ ผู้ว่าการจะเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ดังกล่าวก็ได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การเปิดเผยต้องไม่มีลักษณะเป็นการวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว
มาตรา ๕๗ ในกรณีที่หน่วยรับตรวจสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือในเรื่องที่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของผู้ว่าการ ให้ผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตอบข้อสอบถามเป็นหนังสือโดยเร็ว ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันได้รับการสอบถาม
ในกรณีที่หน่วยรับตรวจได้ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง หรือตามที่หน่วยงานที่เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการได้แจ้งให้ทราบแล้ว มิให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง แต่ไม่ตัดอำนาจผู้ว่าการที่จะแก้ไขคำตอบหรือโต้แย้งกับหน่วยงานที่เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการดังกล่าว และในกรณีที่มีข้อยุติที่แตกต่างไป มิให้มีผลกระทบกับการกระทำที่ได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว
หมวด ๔
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๕๘ ให้มีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าการ
ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการ
มาตรา ๕๙ สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
(๒) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการ
(๓) ดำเนินการเพื่อให้หน่วยรับตรวจมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ
(๔) จัดให้มีการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการตรวจสอบ
(๕) ประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศหรือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
(๖) จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและรายงานผลการปฏิบัติงานระหว่างปีเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติง และพิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีทราบ
(๗) ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน
(๘) รวบรวมคำสั่งของผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ที่มีถึงหน่วยรับตรวจในส่วนที่เกี่ยวกับผลการตรวจสอบ เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาวางหลักเกณฑ์ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงเผยแพร่ให้หน่วยรับตรวจและประชาชนทราบ
(๙) เผยแพร่ผลการตรวจสอบให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
(๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือที่คณะกรรมการหรือผู้ว่าการมอบหมาย
มาตรา ๖๐ ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการดังกล่าว
(๒) การกำหนดตำแหน่ง การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง และการเทียบตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนพิเศษหรือสิทธิประโยชน์อื่นของเจ้าหน้าที่
(๓) การกำหนดคุณสมบัติ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากราชการ วินัย การร้องทุกข์ และการอื่นที่จำเป็นในการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่
(๔) การกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน รวมตลอดทั้งอัตราเงินเดือน เงินเพิ่ม และค่าตอบแทนพิเศษหรือสิทธิประโยชน์อื่นของลูกจ้างของสำนักงาน
(๕) การกำหนดวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของสำนักงาน รวมตลอดทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นของที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ
(๖) การบริหารจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
(๗) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน
(๘) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ ผู้ว่าการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรอื่นของสำนักงาน
การดำเนินการตาม (๑) และ (๒) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัว
การกำหนดตาม (๒) และ (๔) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพและภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของบุคลากรแต่ละสายงานและระดับด้วย
ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร
ให้ประธานกรรมการเป็นผู้มีหน้าที่ลงนามในระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการมีมติเห็นชอบแล้ว และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
การดำเนินการตามมาตรานี้ ต้องไม่มีผลเป็นการให้คณะกรรมการหรือกรรมการมีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง ย้าย เลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่ เว้นแต่เป็นกรณีของรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า คณะกรรมการจะกำหนดให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนก็ได้
เมื่อมีกรณีที่จะต้องแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป
มาตรา ๖๑ ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
การใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่มิได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือระเบียบหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับแก่การบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ด้วยโดยอนุโลม
การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้แก่ข้าราชการสำนักงาน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๖๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๖๐ วรรคหก และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา ๖๑ ให้คณะกรรมการทำหน้าที่เป็น ก.พ. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอนุกรรมการข้าราชการสำนักงานได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. แล้วแต่กรณี
มาตรา ๖๓ ให้คณะกรรมการออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
มาตรา ๖๔ การโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นข้าราชการสำนักงาน อาจกระทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจ โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทำความตกลงกับเจ้าสังกัดแล้วเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใดและได้รับเงินเดือนเท่าใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่เงินเดือนที่จะให้ได้รับจะต้องไม่สูงกว่าข้าราชการสำนักงานที่มีคุณวุฒิ ความสามารถ และความชำนาญงานในระดับเดียวกัน
เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาราชการ ให้ถือเวลาราชการหรือเวลาทำงานของผู้ซึ่งโอนมาตามวรรคหนึ่งในขณะที่เป็นข้าราชการนั้น เป็นเวลาราชการของข้าราชการสำนักงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ด้วย
การโอนข้าราชการการเมืองและข้าราชการที่อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมาเป็นข้าราชการสำนักงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้จะกระทำมิได้
มาตรา ๖๕ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้ว่าการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ ผู้ว่าการจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานแทนก็ได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๖ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ว่าการ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรอื่น ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบที่ผู้ว่าการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๖๗ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้ว่าการ และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ และมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๖๘ ให้ผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการและสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ว่าการเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอ ให้ผู้ว่าการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
ในการเสนองบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้ผู้ว่าการพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะผู้ตรวจสอบตามมาตรา ๗๔ ประกอบด้วย
ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้ว่าการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย
มาตรา ๖๙ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๖๘ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการเป็นการเฉพาะกรณี
ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ
มาตรา ๗๐ รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) เงินอุดหนุนที่ได้รับตามมาตรา ๖๘
(๒) ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน
(๓) ดอกผลหรือประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(๔) รายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ในการรับทรัพย์สินตาม (๒) ให้คำนึงถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการรับทรัพย์สินดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จะสั่งให้สำนักงานไม่รับทรัพย์สินนั้นหรือให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้อุทิศให้ก็ได้
การใช้จ่ายเงินรายได้ของสำนักงานให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๗๑ รายได้ของสำนักงานไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
ให้สำนักงานจัดทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งสำนักงานได้กรรมสิทธิ์มาไม่ว่าจากการซื้อ หรือมีผู้ยกให้ ให้เป็นที่ราชพัสดุ แต่สำนักงานมีอำนาจในการปกครองดูแล ใช้ หรือหาประโยชน์ได้
มาตรา ๗๒ ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้
มาตรา ๗๓ ให้มีคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่ในการกำกับการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบสำนักงานของคณะผู้ตรวจสอบ และดูแลให้คณะผู้ตรวจสอบมีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) ประธานวุฒิสภาเป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานองค์กรอิสระทุกองค์กร ยกเว้นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา ๗๔ ให้กรมบัญชีกลางโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในกรมบัญชีกลางขึ้นคณะหนึ่งตามจำนวนที่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบสำนักงาน โดยให้คณะผู้ตรวจสอบมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับที่ผู้ว่าการมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจเงินแผ่นดินของหน่วยรับตรวจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๒๗ (๒) แล้วทำรายงานเสนอผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการกำกับการตรวจสอบ คณะกรรมการ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป รายงานดังกล่าวให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
ในการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะผู้ตรวจสอบมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ว่าการตามมาตรา ๙๓
มาตรา ๗๕ ให้สำนักงานจัดทำรายงานการเงินประจำปีซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของสำนักงานส่งคณะผู้ตรวจสอบ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
มาตรา ๗๖ ให้สำนักงานจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ของสำนักงานและกองทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๗๗ ให้สำนักงานทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ภายในสองร้อยสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการหรือกรรมการที่คณะกรรมการมอบหมายและผู้ว่าการมาแถลงรายงานดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย
รายงานผลการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ เว้นแต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าควรแก่การรักษาไว้เป็นความลับหรือมีกฎหมายห้ามมิให้เปิดเผย
ในกรณีเพื่อประโยชน์ทางราชการ สำนักงานจะจัดทำรายงานเผยแพร่เป็นครั้งคราวนอกเหนือจากรายงานตามวรรคหนึ่งก็ได้
หมวด ๕
กองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๗๘ ให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดินในสำนักงานกองทุนหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการสนับสนุนและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๗๙ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา ๑๑๒
(๒) รายได้จากค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานของสำนักงาน
(๓) เงินรายได้ตามมาตรา ๗๐ (๑) ที่ดำเนินการแล้วมีเหลือจ่ายในแต่ละปีงบประมาณ
(๔) เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่มีผู้บริจาคให้กองทุน
(๕) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่งไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๘๐ เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นค่าใช้จ่ายกรณีงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เพียงพอหรือที่ไม่อาจเบิกจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้
(๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประสิทธิภาพในการตรวจเงินแผ่นดิน
(๓) สมทบเป็นค่าตอบแทนพิเศษ และสวัสดิการของเจ้าหน้าที่และบุคลากรอื่นของสำนักงาน
(๔) เป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และลูกจ้างเพื่อช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน
(๕) ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
การใช้จ่ายเงินกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
มาตรา ๘๑ เงินกองทุนให้นำฝากกระทรวงการคลังหรือธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือนำไปลงทุน ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด แต่ในการลงทุน คณะกรรมการกองทุนจะกำหนดให้ลงทุนอื่นใดนอกจากการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้
มาตรา ๘๒ ให้มีคณะกรรมการกองทุนประกอบด้วย ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธานกรรมการ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักการเงินและการคลัง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นเลขานุการ และผู้ว่าการจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการคนหนึ่งก็ได้
มาตรา ๘๓ ให้คณะกรรมการกองทุนมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) บริหารจัดการ อนุมัติการจ่ายเงินกองทุน และกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
(๒) วางและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถจัดทำรายงานการเงินประจำปี ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะการเงินและงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของกองทุนได้อย่างถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป
(๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกองทุน
ให้คณะกรรมการกองทุนส่งรายงานการเงินของกองทุนตาม (๒) ให้คณะผู้ตรวจสอบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ
มาตรา ๘๔ ให้คณะผู้ตรวจสอบตามมาตรา ๗๔ เป็นผู้สอบบัญชีของกองทุน ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินนั้น และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
หมวด ๖
หน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบของผู้ว่าการ
-------------------------
มาตรา ๘๕ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีข้อบกพร่องเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการ ให้ผู้ว่าการมีหนังสือแจ้งข้อบกพร่องพร้อมทั้งข้อเสนอแนะให้ผู้รับตรวจทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข และควบคุมหรือกำกับมิให้เกิดข้อบกพร่องขึ้นอีก แต่ผู้ว่าการต้องรับฟังคำชี้แจงและเหตุผลหรือความจำเป็นของหน่วยรับตรวจประกอบด้วย
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการแจ้งให้ผู้รับตรวจพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจหรือดำเนินการทางวินัย แล้วแต่กรณี และเมื่อผู้รับตรวจดำเนินการเป็นประการใดแล้วให้แจ้งให้ผู้ว่าการทราบ
ในกรณีที่ผลการตรวจสอบประกอบกับคำชี้แจงของหน่วยรับตรวจปรากฏว่ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการใดไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือการปฏิบัติตามจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือประชาชน ให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าการที่จะเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการให้เหมาะสมต่อไป ในกรณีเช่นนั้น การดำเนินการของหน่วยรับตรวจที่บกพร่องให้เป็นอันพับไป เว้นแต่เป็นกรณีทุจริต
มาตรา ๘๖ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่า หน่วยรับตรวจจัดเก็บรายได้หรือผลตอบแทนไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือสัญญา ให้ผู้ว่าการมีหนังสือแจ้งข้อบกพร่องพร้อมทั้งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยรับตรวจเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือสัญญา และให้หน่วยรับตรวจชี้แจงเหตุผลหรือแจ้งผลการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามข้อเสนอแนะภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าการกำหนด
ในกรณีที่ผู้ว่าการไม่เห็นด้วยกับการชี้แจงเหตุผลของหน่วยรับตรวจ หรือเห็นว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อเสนอแนะหรือไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ผู้ว่าการแจ้งรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่กำกับหรือควบคุมกิจการของหน่วยรับตรวจ หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ในกรณีที่ผู้ว่าการมีหลักฐานอันน่าเชื่อว่าหน่วยรับตรวจมีข้อบกพร่องในการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่นใด ผู้ว่าการมีอำนาจขอให้หน่วยรับตรวจเปิดเผยข้อมูลโดยรวมที่ได้มาจากผู้เสียภาษีอากร ผู้ชำระค่าธรรมเนียม หรือรายได้อื่นใด โดยต้องระบุหลักฐานให้หน่วยรับตรวจทราบตามสมควร และให้ถือว่าการที่หน่วยรับตรวจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้ว่าการเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
อำนาจในการขอให้หน่วยรับตรวจเปิดเผยข้อมูลตามวรรคสาม ถ้าเป็นกรณีเกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ผู้ว่าการจะมอบหมายให้รองผู้ว่าการกระทำการแทนก็ได้ แต่จะมอบให้เจ้าหน้าที่อื่นมิได้
ในการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีอากรประเมินตามวรรคสามต้องไม่มีลักษณะเข้าไปใช้อำนาจประเมินแทนหน่วยรับตรวจ หรือเป็นการวินิจฉัยการประเมินของผู้มีอำนาจประเมิน
มาตรา ๘๗ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏว่า หน่วยรับตรวจที่มีหน้าที่และอำนาจบริหารจัดการ ดูแลรักษา และติดตามทรัพย์สินของแผ่นดิน ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ให้ผู้ว่าการมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยรับตรวจพร้อมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง โดยให้หน่วยรับตรวจชี้แจงเหตุผลหรือแจ้งผลการดำเนินการภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าการกำหนด
ในกรณีที่หน่วยรับตรวจไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ผู้ว่าการแจ้งรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่กำกับหรือควบคุมกิจการของหน่วยรับตรวจ หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป หรือในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าการมีอำนาจดำเนินการอย่างใดต่อไป ก็ให้ผู้ว่าการดำเนินการไปตามนั้น
มาตรา ๘๘ ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือตรวจสอบพบว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง หรือพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการดังกล่าว ให้ผู้ว่าการแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ารายงานและเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการจัดส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนหรือสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
มาตรา ๘๙ ในการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ ต้องตรวจสอบเมื่อการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เว้นแต่ผู้ว่าการจะเห็นว่ามีการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์หรือขาดประสิทธิภาพ จะแจ้งให้หน่วยรับตรวจทราบก่อนหรือในระหว่างดำเนินการก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ผู้ว่าการต้องแนะนำวิธีดำเนินการที่ถูกต้องให้หน่วยรับตรวจปฏิบัติด้วย และในกรณีที่หน่วยรับตรวจเห็นว่าการดำเนินการที่ผู้ว่าการแนะนำนั้นไม่อาจหรือไม่สมควรดำเนินการโดยมีเหตุผลอันสมควร ให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าการ หน่วยรับตรวจ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันหารือเพื่อหาข้อยุติโดยเร็ว เพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้น เมื่อได้ข้อยุติประการใดแล้ว ให้หน่วยรับตรวจดำเนินการไปตามข้อยุตินั้น
มาตรา ๙๐ ในการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ ให้ผู้ว่าการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและแสดงความเห็นว่าเป็นไปโดยประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่หน่วยรับตรวจกำหนดไว้หรือไม่ และให้จัดทำข้อเสนอแนะให้แก่หน่วยรับตรวจในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของหน่วยรับตรวจ
ในการตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ต้องคำนึงถึงประเพณี วัฒนธรรม สังคม และความนิยมของท้องถิ่น รวมถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในด้านต่าง ๆ โดยให้รับฟ้งเหตุผลและความจำเป็นของหน่วยรับตรวจประกอบด้วย
มาตรา ๙๑ ให้ผู้ว่าการตรวจสอบรายงานการเงินที่หน่วยงานของรัฐส่งให้ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณหรือตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง แล้วแจ้งผลการตรวจสอบไปยังหน่วยรับตรวจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๒๗ (๒)
มาตรา ๙๒ การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินราชการลับ หรือเงินที่มีลักษณะคล้ายกับเงินราชการลับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องไม่กำหนดในลักษณะที่จะขัดต่อวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินราชการลับ
มาตรา ๙๓ ในการตรวจสอบ ให้ผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายมีอำนาจตรวจสอบเงินและทรัพย์สินอื่น บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานในการใช้จ่ายและหลักฐานอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจและให้มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) ให้ผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง มาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นบรรดาที่หน่วยรับตรวจจัดทำขึ้นหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ไนการตรวจสอบ
(๒) อายัดบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่มีอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ
(๓) ให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยรับตรวจเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
(๔) มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ใด ๆ ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจสอบ ค้น ยึด หรืออายัด บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่น หรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับหรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกี่ยวกับหน่วยรับตรวจเท่าที่จำเป็น
ในการมอบหมายเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง จะให้มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนให้ระบุให้ชัดแจ้ง โดยคำนึงถึงสถานะของเจ้าหน้าที่ในแต่ละระดับ
มาตรา ๙๔ บรรดาบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการตรวจสอบ ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ไม่อาจเข้าใจได้ จะขอให้หน่วยรับตรวจจัดการแปลเป็นภาษาไทยให้แล้วเสร็จภายในเวลาตามที่เห็นสมควรก็ได้
หมวด ๗
วินัยการเงินการคลัง
-------------------------
มาตรา ๙๕ ในการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หากข้อบกพร่องที่ตรวจพบไม่มีลักษณะเป็นการทุจริต และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจ ผู้ว่าการจะแจ้งให้ผู้รับตรวจทราบเพื่อกำกับดูแลมิให้เกิดข้อบกพร่องอีกก็ได้
ในกรณีที่ข้อบกพร่องที่ตรวจพบมีลักษณะเป็นการทุจริต ให้ผู้ว่าการส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และให้นำความในมาตรา ๘๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีที่ข้อบกพร่องที่ตรวจพบมีลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือหน่วยรับตรวจหรือมีลักษณะเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการแจ้งให้ผู้รับตรวจพิจารณาดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐหรือหน่วยรับตรวจต่อไป หรือดำเนินการทางวินัย แล้วแต่กรณี และเมื่อผู้รับตรวจดำเนินการแล้วให้แจ้งให้ผู้ว่าการทราบ
ในกรณีที่ผู้รับตรวจไม่ดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคสามภายในเวลาอันสมควร ผู้ว่าการจะแจ้งให้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้
มาตรา ๙๖ ผู้รับตรวจผู้ใดไม่ดำเนินการภายในเวลาที่ผู้ว่าการกำหนดตามมาตรา ๘๕ วรรคสอง หรือมาตรา ๙๕ วรรคสี่ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้ว่าการจะเสนอต่อคณะกรรมการให้ลงโทษทางปกครองแก่ผู้รับตรวจผู้นั้นก็ได้
ในการเสนอเพื่อให้ลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการสรุปข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ที่เป็นเหตุอันควรลงโทษทางปกครอง พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโทษที่สมควรลงด้วย
มาตรา ๙๗ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามมาตรา ๙๕ วรรคสาม หรือมาตรา ๙๖ ให้ผู้ว่าการเสนอต่อคณะกรรมการให้ลงโทษทางปกครองแก่ผู้นั้น โดยให้นำความในมาตรา ๙๖ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๙๘ โทษทางปกครอง มีดังต่อไปนี้
(๑) ภาคทัณฑ์
(๒) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน
(๓) ปรับทางปกครอง
ในการลงโทษปรับทางปกครอง จะลงโทษปรับเป็นเงินเกินเงินเดือนสิบสองเดือนของผู้ถูกลงโทษมิได้
ในการพิจารณาโทษทางปกครองตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น
มาตรา ๙๙ ในการพิจารณาวินิจฉัยเพื่อลงโทษทางปกครอง ให้คณะกรรมการใช้รายงานผลการตรวจสอบของผู้ว่าการเป็นหลัก แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจ้งแสดงหลักฐานประกอบการพิจารณาด้วย
การแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และการยื่นคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๑๐๐ ผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจผู้ใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ เพราะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หากปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจผู้นั้นได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำสั่งนั้นไว้แล้ว ให้ได้รับยกเว้นโทษทางปกครองตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้
มาตรา ๑๐๑ การดำเนินการเกี่ยวกับความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐระงับลงในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ถูกกล่าวหาถึงแก่ความตาย
(๒) ดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่กระทำความผิด
มาตรา ๑๐๒ การวินิจฉัยลงโทษทางวินัยการเงินการคลังของรัฐไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกลงโทษทางวินัยในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารของหน่วยรับตรวจที่จะพิจารณาลงโทษทางวินัยเพราะเหตุเดียวกันนี้อีก แต่โทษดังกล่าวจะต้องเป็นโทษสถานอื่นซึ่งมิใช่เป็นโทษตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือน
มาตรา ๑๐๓ ผู้ถูกสั่งลงโทษทางปกครองอาจอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
หมวด ๘
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๑๐๔ ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การเปิดเผยสรุปผลการตรวจสอบที่เสร็จสิ้นแล้วโดยไม่ระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นการเปิดเผยตามมาตรา ๕๖ หรือเป็นการเปิดเผยต่อศาล พนักงานอัยการ หรือหน่วยงานที่ต้องดำเนินการตามผลการตรวจสอบของสำนักงาน หรือตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือเป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการ
มาตรา ๑๐๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๓๗ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๖ ผู้ใดครอบครองเงินหรือรักษาทรัพย์สิน บัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นใดที่ผู้ว่าการหรือเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙๓ ยึด อายัด หรือเรียกให้ส่ง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐๗ เจ้าหน้าที่ผู้ใด ละเลยหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย และให้ผู้ว่าการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๑๐๘ ให้ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
มาตรา ๑๐๙ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๓/๒๕๖๐ เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการสรรหา คัดเลือก หรือเสนอชื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ให้ถือว่าผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและพ้นจากตำแหน่งไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๑๔ (๑) ประกอบกับมาตรา ๔๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ด้วย
มาตรา ๑๑๐ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๑๑ ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน ข้าราชการ และบุคลากรอื่นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาเป็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งข้าราชการหรือบุคลากรอื่นดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๑๒ ให้โอนเงินค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการตรวจสอบบัญชีหรือการปฏิบัติหน้าที่อื่นซึ่งมิได้นำส่งกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา ๑๑๓ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ มติและคำสั่งของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเสมือนระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ มติและคำสั่งของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๑๔ บรรดาการดำเนินการใด ๆ ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าการนั้นอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๑๕ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวินัยทางงบประมาณและการคลังที่ได้กระทำตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๒ ไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไป ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามหมวด ๗ วินัยการเงินการคลัง โดยให้ถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลังตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๐ (๗) มาตรา ๒๓๘ มาตรา ๒๔๐ มาตรา ๒๔๑ มาตรา ๒๔๒ และมาตรา ๒๖๗ บัญญัติให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา การพ้นจากตำแหน่ง หน้าที่และอำนาจ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องมีการกระทบหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลบางประการ และเป็นไปเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๑/๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๖๐
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒
(๒) พระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒
(๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒
(๔) คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” หมายความรวมถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ข้อบังคับ ระเบียบ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นที่ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองด้วย
“รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ และบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองด้วย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือเลขาธิการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือเลขาธิการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือเลขาธิการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการดำเนินการเรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว
มาตรา ๗ ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๓๑ ก/หน้า ๑/๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
หมวด ๑
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๘ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนสามคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้
(๑) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่ากรมตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด โดยต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี จำนวนสองคน
(๒) ผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่ายี่สิบปี จำนวนหนึ่งคน
ลักษณะการมีประสบการณ์ และกิจการอันเป็นสาธารณะตาม (๒) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด ในการกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงการที่จะได้บุคคลที่มีประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน
มาตรา ๙ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘ แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๐ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๑๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริตและมีความเข้าใจในภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่ แต่ไม่รวมถึงการสรรหาใหม่หรือสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๒ วรรคสี่ มาตรา ๑๓ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๑๔ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้
ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๒ ในการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสาม หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสาม ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
มาตรา ๑๓ ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหา แต่เมื่อรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงสองคน ก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าผู้ตรวจการแผ่นดินประกอบด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว
ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๔ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินโดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๐ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว ต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิและให้ดำเนินการสรรหาใหม่
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
การวินิจฉัย ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้
มาตรา ๑๖ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด แต่สำหรับเบี้ยประชุมให้กำหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๗ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่แทน
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
เมื่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่าผู้ตรวจการแผ่นดินผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ในระหว่างที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีผู้ตรวจการแผ่นดินเหลืออยู่เพียงคนเดียว จะใช้อำนาจหรือปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๖ ไม่ได้ เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนและหากไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินครบวาระ แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๑๙ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ตรวจการแผ่นดินผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ (๒) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็วในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องและมีผู้ตรวจการแผ่นดินเหลืออยู่ไม่ถึงสองคน ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการชั่วคราวให้ครบสามคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะผู้ตรวจการแผ่นดินได้จนกว่าผู้ตรวจการแผ่นดินที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน
มาตรา ๒๑ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับผู้ตรวจการแผ่นดิน
มาตรา ๒๒ ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ
(๒) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น
(๓) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ
(๔) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น
การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามวรรคหนึ่ง ต้องมุ่งหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างทัดเทียมกัน และลดภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่หน่วยงานของรัฐปฏิบัติต่อประชาชน
ในการดำเนินการตาม (๑) หรือ (๒) หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการต่อไป และเพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกันหารือและวางหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปด้วย
มาตรา ๒๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๒ (๑) (๒) หรือ (๓) ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
(๒) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
มาตรา ๒๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่ต้องไม่ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่
(๒) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการแจ้ง การร้องเรียน การแสวงหาข้อเท็จจริง และการพิจารณา รวมทั้งระเบียบเกี่ยวกับการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๓) ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางของบุคคลซึ่งมาให้ความเห็นหรือถ้อยคำ และการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ออกระเบียบหรือประกาศอื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
การออกระเบียบตาม (๒) และ (๔) ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นเกิดความล่าช้า หรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งต้องไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนเกินสมควร หรือมีลักษณะเป็นการมุ่งหมายที่จะกล่าวหาหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในส่วนที่เกี่ยวกับการแจ้งหรือการร้องเรียน ต้องดำเนินการโดยมุ่งหมายให้การเสนอเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว และไม่มีลักษณะบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียน เว้นแต่เป็นเรื่องการขอให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งจำเป็นต้องทราบตัวบุคคลเพื่อประโยชน์ในการติดต่อขอข้อมูลหรือแจ้งผลการดำเนินการ
มาตรา ๒๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจดังต่อไปนี้ ซึ่งต้องกระทำเท่าที่จำเป็น
(๑) ให้หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลใด มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในการปฏิบัติงาน หรือมาให้ถ้อยคำ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หลักฐาน หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในกรณีที่เคหสถานหรือสถานที่ที่จะเข้าไปนั้นมิได้อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม ให้เข้าไปได้เมื่อมีหมายของศาล
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแทนผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เว้นแต่การออกคำสั่งตาม (๑) ให้มอบหมายได้เฉพาะเลขาธิการหรือรองเลขาธิการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
ในการดำเนินการตาม (๒) ให้ดำเนินการต่อหน้าผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือถ้าหาบุคคลดังกล่าวไม่ได้ ก็ให้ดำเนินการต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งได้ขอร้องให้มาเป็นพยาน ในการนี้ ให้ผู้ครอบครองหรือดูแลสถานที่ หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปโดยสะดวก
มาตรา ๒๖ ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน
(๑) การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
(๒) การปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามมาตรา ๖ และมาตรา ๒๒ วรรคสาม
(๓) การเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา ๒๒ (๑)
(๔) การเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๒ (๓)
(๕) การเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองตามมาตรา ๒๓
(๖) การรายงานการไม่ปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือการส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๙
(๗) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๓๖ (๓)
(๘) การออกข้อกำหนดทางจริยธรรมตามมาตรา ๔๓
(๙) การกำหนดคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของเลขาธิการอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามมาตรา ๔๕
(๑๐) การกำหนดกิจการที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา ๔๘
(๑๑) การเสนองบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๔๙ และการให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งการอนุมัติการใช้จ่ายเงินของสำนักงานตามมาตรา ๕๐
(๑๒) การพิจารณาการรับทรัพย์สินที่อาจมีผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตามมาตรา ๕๑
(๑๓) การออกระเบียบ ประกาศ หรือการอื่นใดที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กำหนดให้เป็นไปตามมติหรือต้องได้รับความเห็นชอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๑๔) การอื่นใดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินตกลงร่วมกัน
มาตรา ๒๗ ในกรณีที่จำเป็นต้องได้ข้อมูลหรือมีการศึกษาเรื่องใด ผู้ตรวจการแผ่นดินจะขอให้สำนักงานจ้างบุคคลหรือสถาบันซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญดำเนินการในเรื่องนั้นได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนก็ได้ โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและประสิทธิภาพที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการจ้างหรือแต่งตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องกำหนดเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไว้ให้ชัดเจน
หลักเกณฑ์และวิธีการจ้าง และค่าตอบแทน ของบุคคลหรือสถาบัน หรือการแต่งตั้งอนุกรรมการ การพ้นจากตำแหน่ง ค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่น และวิธีปฏิบัติงานของอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลอันทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้แจ้ง ผู้ร้องเรียน รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจหรือตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล
ผู้จัดทำและเผยแพร่รายงานตามมาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๙ หากได้กระทำโดยสุจริต ผู้นั้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง หรือทางวินัย
มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๐ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๑ ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปี มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๓๐ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
หมวด ๒
การดำเนินการตามหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๓๒ เมื่อความปรากฏต่อผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตาม ว่าบุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีกรณีที่การปฏิบัติงานใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ให้เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงหรือดำเนินการอื่นใดด้วยความรอบคอบ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น หรือปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ ต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ อำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างทัดเทียมกัน และลดภาระที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยไม่จำเป็น
ก่อนการเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความสามารถ และอุปสรรคของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการตามแนวทางที่เสนอแนะประกอบด้วย
ในการแสวงหาข้อเท็จจริงตามวรรคหนึ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตามระเบียบที่ออกตามมาตรา ๒๔ (๒) ก็ได้
มาตรา ๓๓ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒ วรรคสอง เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา จะขยายเวลาออกไปอีกก็ได้เมื่อได้แจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบแล้ว โดยจะขยายเวลาได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วหน่วยงานของรัฐนั้นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอันทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเร็ว โดยให้ถือว่ารายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐตามวรรคหนึ่ง เห็นว่าข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่อาจดำเนินการได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐนั้นที่จะแจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง และปรึกษาหารือร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดินและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคนั้นโดยเร็ว และเมื่อได้ข้อยุติประการใดให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการไปตามข้อยุตินั้น ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการดำเนินการตามข้อยุติหรือตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลใด ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามคำเสนอแนะนั้นภายในสามสิบวัน เว้นแต่หัวหน้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้แจ้งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบก่อนพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันดังกล่าว และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อยุติโดยเร็วต่อไป และให้นำความในมาตรา ๓๓ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๓๕ ในกรณีที่ความปรากฏต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานพร้อมข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยเร็ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะรายงานให้รัฐสภาและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบด้วยก็ได้
มาตรา ๓๖ ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมเรื่องใดเป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นรายกรณี หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐที่จะขจัดความเดือดร้อนหรืออำนวยความเป็นธรรมได้ตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐนั้นอยู่แล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่การดำเนินการในเรื่องนั้นมีกฎหมายกำหนดให้มีการร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ไว้แล้ว ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานของรัฐนั้นพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
(๒) ในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือการดำเนินการทางวินัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลหรือการดำเนินการทางวินัยในกรณีนั้นดำเนินการต่อไป แต่ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นเพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมาย กฎ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบได้
(๓) ในกรณีที่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการต่อไป แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๗ ภายใต้บังคับมาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่ามีลักษณะดังต่อไปนี้ ไว้พิจารณา
(๑) เรื่องที่เป็นนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่นโยบายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือมีผลให้มีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ
(๒) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่เป็นการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
(๓) เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๔) เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น หรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นแล้ว แต่ไม่ตัดอำนาจในการที่จะขอรับทราบผลการพิจารณาขององค์กรอิสระที่รับเรื่องไว้ดำเนินการ
(๕) เป็นการร้องเรียนโดยใช้สิทธิไม่สุจริตและการพิจารณาจะไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม
(๖) เรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอย่างเหมาะสมแล้ว
(๗) เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเคยสรุปผลการพิจารณาแล้ว เว้นแต่จะปรากฏพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่อันอาจทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไป
(๘) เรื่องอื่นตามมติที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
ในกรณีที่ความปรากฏในภายหลังว่าเป็นเรื่องที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสั่งยุติเรื่อง
มาตรา ๓๘ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการดำเนินการตามมาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๖ หรือการไม่รับพิจารณาหรือยุติเรื่องตามมาตรา ๓๗ ให้ผู้ร้องเรียนหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทราบโดยในกรณีที่ไม่รับไว้พิจารณาหรือให้ยุติเรื่อง ให้ระบุเหตุผลให้ผู้ร้องเรียนทราบด้วย
มาตรา ๓๙ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยอย่างน้อยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสรุปปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินการด้วย และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมาแถลงรายงานประจำปีต่อรัฐสภาด้วย
ความในวรรคหนึ่งไม่เป็นการตัดอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะรายงานให้คณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา หรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง เพราะเป็นกรณีเร่งด่วนหรือจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
การจัดทำรายงานตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้กระทำเป็นการสรุปโดยมิให้ระบุรายละเอียดอันเป็นการเปิดเผยความลับของบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยไม่จำเป็น
หมวด ๒
การดำเนินการตามหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
-------------------------
มาตรา ๔๐ ให้มีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา กำกับดูแล และรับผิดชอบร่วมกันของผู้ตรวจการแผ่นดิน
กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทน ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
มาตรา ๔๑ สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบงานธุรการและดำเนินการเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินบรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
(๒) อำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุน การปฏิบัติงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๓) ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๔) ดำเนินการหรือส่งเสริมและสนับสนุนหรือประสานงานกับหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติมอบหมาย
มาตรา ๔๒ ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
(๒) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งและค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นของเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน
(๓) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม สมรรถภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษ สำหรับเลขาธิการและพนักงานของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน
(๔) การบริหารจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
(๕) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นซึ่งรวมถึงการจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยในกรณีเลขาธิการดำรงตำแหน่งครบวาระ
(๖) การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการได้มาซึ่งเลขาธิการ
(๗) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน
(๘) การอื่นใดอันจำเป็นต่อการกำกับหรือควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานหรือการบังคับบัญชาเลขาธิการ พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน หรือการทำให้บุคคลดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การดำเนินการตาม (๑) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
การกำหนดตาม (๒) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และความเพียงพอในการดำรงชีพ และภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของพนักงานและลูกจ้างแต่ละสายงานและระดับด้วย
ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินคำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยจะกำหนดให้มีคณะบุคคลเพื่อกำกับ ดูแล หรือพิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำอุทธรณ์ที่เป็นอิสระด้วยก็ได้
มาตรา ๔๓ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินออกข้อกำหนดทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ทั้งนี้ ข้อกำหนดทางจริยธรรมดังกล่าวต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
มาตรา ๔๔ ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งตามมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีมติกำหนดให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานรองจากเลขาธิการก็ได้
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมร่วมกัน ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการของที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน
มาตรา ๔๕ เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกินหกสิบปีในวันที่ได้รับแต่งตั้งและมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีในขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามระเบียบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
มาตรา ๔๖ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๔๕
(๔) ไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
(๕) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือมีการกระทำ หรือมีคุณลักษณะไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ
(๖) เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
มาตรา ๔๗ เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัย พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศหรือมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน
(๓) หน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นและตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
การออกระเบียบตาม (๒) ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น เกิดความล่าช้าหรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
มาตรา ๔๘ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานแทนก็ได้ตามระเบียบที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงานและกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน
มาตรา ๔๙ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ในการเสนองบประมาณรายจ่ายดังกล่าวให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง ประกอบด้วย
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย
มาตรา ๕๐ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๔๙ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการเฉพาะกรณี
ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ
มาตรา ๕๑ รายได้และทรัพย์สินในการดำเนินกิจการของสำนักงาน ประกอบด้วย
(๑) เงินอุดหนุนที่ได้รับมาตามมาตรา ๔๙
(๒) รายได้จากค่าธรรมเนียมหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(๓) ทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงาน
(๔) ดอกผลหรือผลประโยชน์ของเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน
(๕) รายได้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด
ในการรับทรัพย์สินตาม (๓) ให้คำนึงถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการรับทรัพย์สินดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน จะสั่งให้สำนักงานไม่รับทรัพย์สินนั้นหรือให้คืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้อุทิศให้ก็ได้
มาตรา ๕๒ รายได้ของสำนักงานไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
ให้สำนักงานจัดทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี
อสังหาริมทรัพย์ซึ่งสำนักงานได้กรรมสิทธิ์มาไม่ว่าจากการซื้อหรือมีผู้ยกให้ ให้เป็นที่ราชพัสดุแต่สำนักงานมีอำนาจในการปกครองดูแล ใช้ หรือหาประโยชน์ได้
มาตรา ๕๓ ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้
มาตรา ๕๔ ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน รวมทั้งประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานโดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมายมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใด แล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี โดยไม่ชักช้า
หมวด ๔
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๕๕ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา ๒๕ (๑) โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๕๖ ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ เว้นแต่กรณีตาม (๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ มิให้นำมาใช้บังคับ
มาตรา ๕๗ ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑
เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระใดยังไม่อาจแต่งตั้งผู้แทนได้ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่จะแต่งตั้งผู้แทนมาในภายหลัง การแต่งตั้งดังกล่าวไม่มีผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องเสียไป
ภายในสามสิบวันนับแต่วันพ้นจากระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับผู้ใด ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๘ (๑) หรือ (๒)
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
มาตรา ๕๘ ในกรณีที่ต้องมีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินที่ว่างอยู่ ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๕๗ ดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินตามจำนวนที่ยังว่างอยู่ ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๕๗
ในกรณีที่ไม่มีประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาแล้ว ให้ผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาและผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งตามมาตรา ๕๖ ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
มาตรา ๕๙ ให้เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป และให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำสัญญาจ้างขึ้นโดยให้มีระยะเวลาการจ้างไม่เกินวาระที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะวินิจฉัย
มาตรา ๖๐ บรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ และพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๑ ให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๖๒ ให้โอนบรรดาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ มาเป็นของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งพนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามมาตรา ๔๒ (๒) กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๖๓ การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนหรือการดำเนินการอื่นใดตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ และพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าการนั้นอยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๖๐๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๓๐ (๕) และมาตรา ๒๖๗ บัญญัติให้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อกำหนดการได้มา หน้าที่และอำนาจ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ความเห็น และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่จะใช้ประกอบการพิจารณาและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมาย โดยการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องมีการกระทบหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลบางประการและเป็นไปเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๓๑ ก/หน้า ๑/๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๐
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. ๒๕๖๑
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
(๒) คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“ศาล” หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
“ตุลาการ” หมายความว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
“คดี” หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ที่ได้ยื่นคําร้องหรือหนังสือต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัย
“คําร้อง” หมายความว่า คําร้องที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง และให้รวมถึงผู้มีสิทธิกระทําการแทนด้วย
“ผู้ร้อง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นไม่ว่าจะเสนอโดยคําร้องหรือโดยหนังสือ
“ผู้ถูกร้อง” หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามคําร้องหรือผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามหนังสือที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
“ผู้เกี่ยวข้อง” หมายความว่า หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี
“กระบวนพิจารณา” หมายความว่า การกระทําใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เกี่ยวกับคดีซึ่งกระทําโดยคู่กรณี หรือโดยศาล หรือตามคําสั่งศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกระทําต่อศาล หรือต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือศาลกระทําต่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย รวมถึงการส่งคําร้องและเอกสารอื่น ๆ การพิจารณาคดี และการลงมติ ตลอดจนการปฏิบัติตามหน้าที่และอํานาจตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น
“การพิจารณาคดี” หมายความว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมถึงการไต่สวน การประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย หรือการนั่งพิจารณา
“การนั่งพิจารณา” หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีโดยคู่กรณีมีสิทธิมาอยู่ต่อหน้าศาล
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กําหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กําหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลําเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบ หรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดําเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดให้ศาลหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลมีอํานาจกําหนดหรือมีคําสั่งเรื่องใดอันมิใช่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี ถ้ามิได้กําหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้ศาลหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลกําหนดโดยทําเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดําเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งใดมีการกําหนดขั้นตอนการดําเนินงานไว้ ศาลหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลต้องกําหนดระยะเวลาการดําเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอํานาจออกข้อกําหนด ระเบียบ และประกาศของศาล เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
การออกข้อกําหนด ระเบียบ หรือประกาศของศาล ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๑/๒ มีนาคม ๒๕๖๑
หมวด ๑
ศาล
-------------------------
มาตรา ๗ ให้ศาลมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังต่อไปนี้
(๑) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
(๒) คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
(๓) คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้เลิกการกระทําล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๔) คดีที่ประชาชนหรือชุมชนฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ
(๕) คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
(๖) คดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
(๗) คดีเกี่ยวกับการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๘) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
(๙) คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี
(๑๐) คดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
(๑๑) คดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
(๑๒) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(๑๓) คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาล
หมวด ๒
องค์ประกอบของศาล
-------------------------
มาตรา ๘ ศาลประกอบด้วยตุลาการจํานวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวนสามคน
(๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จํานวนสองคน
(๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวนหนึ่งคน
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวนหนึ่งคน
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จํานวนสองคน
ในกรณีไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาตาม (๑) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก็ได้
การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี ในกรณีจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าสองปีมิได้
มาตรา ๙ นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘ แล้ว ตุลาการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีแต่ไม่ถึงหกสิบแปดปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา
(๓) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรา ๑๐ ตุลาการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการหรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระใด
(๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ในระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๖) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๑๗) เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
(๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา
(๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
(๒๒) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดําเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
(๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
(๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มาตรา ๑๑ เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการตามมาตรา ๘ (๓) (๔) หรือ (๕) ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(๔) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ในการดําเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้องค์กรอิสระดําเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของศาล และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระ ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นําเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระ ให้ดําเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาตาม (๔) ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกําหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อํานาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดํารงตําแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหาตุลาการใหม่ แต่ไม่รวมการสรรหาใหม่หรือการสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๒ วรรคหก วรรคเก้า และวรรคสิบ และมาตรา ๑๓ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับองค์กรอิสระในขณะเดียวกันมิได้
ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๑๒ ในการสรรหาตุลาการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดําเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของศาล หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดด้วยโดยอนุโลม
ในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่หรือวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้มีการลงคะแนนใหม่สําหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามหรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วแต่กรณี ถ้ายังได้ไม่ครบตามจํานวน ให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่สําหรับจํานวนที่ยังขาดอยู่
ภายในสามวันนับแต่วันปิดรับสมัครให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประวัติการทํางานตามที่คณะกรรมการสรรหากําหนดด้วย
เมื่อคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสรรหาหรือคัดเลือกได้บุคคลใดแล้ว ให้เสนอชื่อไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น ซึ่งต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับตุลาการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับตุลาการซึ่งยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจํานวนถึงเจ็ดคน ก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าศาลประกอบด้วยตุลาการเท่าที่มีอยู่ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว
ให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๓ ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นตุลาการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๐ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากําหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งตุลาการ ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่
มาตรา ๑๔ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากําหนด
การวินิจฉัยให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการดําเนินการใดที่คณะกรรมการสรรหาได้ดําเนินการไปแล้วก่อนมีคําวินิจฉัย
มาตรา ๑๕ ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากําหนด แต่สําหรับเบี้ยประชุมให้กําหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๖ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ”
มาตรา ๑๗ ตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ในกรณีที่ตุลาการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
มาตรา ๑๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตุลาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
(๕) ศาลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ
(๖) ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการด้วย
ในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ตุลาการเลือกตุลาการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๙ เมื่อตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกตุลาการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่ตุลาการครบวาระ แต่ถ้าตุลาการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกตุลาการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ตุลาการพ้นจากตำแหน่ง และยังไม่มีการแต่งตั้งตุลาการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ตุลาการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีตุลาการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคนจะนั่งพิจารณาหรือทำคำวินิจฉัยมิได้ ในกรณีเช่นนั้นหากมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของประเทศ ให้ศาลร้องขอต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ เพื่อให้มีตุลาการครบเจ็ดคน
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ตุลาการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีตุลาการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคน ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับตุลาการทำหน้าที่เป็นตุลาการเป็นการชั่วคราวให้ครบตามจำนวนที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่เกินเก้าคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะตุลาการได้จนกว่าตุลาการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน ในการแต่งตั้งดังกล่าวให้คำนึงถึงองค์ประกอบตามมาตรา ๘ ด้วย
มาตรา ๒๒ เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
หลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
มาตรา ๒๓ การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง มีความกล้าหาญ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ตุลาการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา การเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ ที่จัดในเวลาราชการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่ศาลเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตุลาการ
มาตรา ๒๔ เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของตุลาการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมสำหรับการประชุมในฐานะกรรมการเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
ให้ตุลาการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของตุลาการ
มาตรา ๒๕ ตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ครบวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๒๔ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง
มาตรา ๒๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ตุลาการเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
-------------------------
มาตรา ๒๗ การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประเภท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามรับฟังไว้โดยเฉพาะ ไม่ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่กรณีในการนำสืบพยานหลักฐานหักล้างแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น
การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และข้อกำหนดของศาล
ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำตลอดจนขอให้หน่วยงานของรัฐ หรือพนักงานสอบสวน ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้
มาตรา ๒๘ นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แต่ข้อกำหนดของศาลดังกล่าวต้องไม่สร้างขั้นตอนหรือก่อให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น
มาตรา ๒๙ การพิจารณาคดีจะต้องกระทำ ณ ที่ทำการศาลในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดของศาล แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลจะมีคำสั่งกำหนดการพิจารณาคดี ณ สถานที่อื่น หรือในวัน หรือเวลาใด ๆ ก็ได้
มาตรา ๓๐ การนับระยะเวลาที่มีวันเริ่มต้นและวันสุดท้าย ให้นับวันถัดไปเป็นวันเริ่มต้น และถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการหรือวันหยุดทำการของศาล ให้นับวันทำการถัดไปเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา
มาตรา ๓๑ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในข้อกำหนดของศาล หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีร้องขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะ
มาตรา ๓๒ ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) เคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่นหรือเคยเป็นอนุญาโตตุลาการซึ่งเคยพิจารณาวินิจฉัยในคดีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้นมาก่อน
(๒) เป็นหรือเคยเป็นสามีหรือภริยา หรือญาติของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้น
(๓) เคยให้ถ้อยคำหรือให้ความเห็นในฐานะพยานโดยที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในคดีในศาลอื่นซึ่งพิจารณาวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้นมาก่อน
(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน
(๕) มีหรือเคยมีคดีที่ตุลาการนั้นเอง สามี ภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของตุลาการนั้นฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่กรณี สามี ภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา ๓๓ ในกรณีที่ตุลาการมีส่วนได้เสียหรือมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ ตุลาการอาจถูกคัดค้านด้วยเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือวินิจฉัยเสียความยุติธรรมไป
มาตรา ๓๔ ตุลาการจะขอถอนตัวจากการพิจารณาคดี หรือการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่งคดีไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุที่อาจถูกคัดค้านตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓
เมื่อมีการขอถอนตัวตามวรรคหนึ่งและศาลอนุญาตแล้ว ให้ตุลาการซึ่งขอถอนตัวงดการปฏิบัติหน้าที่ในคดีนั้น
มาตรา ๓๕ เมื่อมีเหตุที่ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาลได้ก่อนมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาด แต่อย่างช้าต้องไม่เกินสิบวันนับแต่วันที่ทราบเหตุคัดค้านนั้น
เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชี้ขาดในเรื่องที่คัดค้านนั้นโดยเร็ว
มาตรา ๓๖ การยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการตามมาตรา ๓๕ ต้องระบุเหตุที่จะคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
การคัดค้านตุลาการที่พิจารณาวินิจฉัยในเรื่องใดมากกว่าหนึ่งคน ให้คู่กรณีจัดทำเป็นคำร้องแยกเป็นตุลาการแต่ละราย
มาตรา ๓๗ เมื่อมีการขอถอนตัวตามมาตรา ๓๔ หรือยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา ๓๕ ให้ศาลประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านนั้น โดยตุลาการซึ่งขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านจะร่วมพิจารณา หรือออกเสียงลงคะแนนชี้ขาดคำขอถอนตัวหรือคำร้องที่คัดค้านตนเองมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในการพิจารณาเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านตุลาการ ให้ศาลฟังคำชี้แจงของตุลาการที่ขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านประกอบด้วย
การชี้ขาดเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้ทำหน้าที่ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ในการลงมติตามวรรคสาม ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
เมื่อศาลพิจารณาวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยให้ตุลาการที่ขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านและคู่กรณีทราบ
การพิจารณาที่ได้ดำเนินไปก่อนที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดย่อมสมบูรณ์ไม่เสียไปเพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้ถอนตัวหรืออนุญาตตามคำคัดค้าน เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้ในคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อมีการชี้ขาดเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านแล้วมีตุลาการเหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงเจ็ดคน ให้ศาลร้องขอต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ตุลาการเฉพาะคดีนั้นให้ครบเจ็ดคน
มาตรา ๓๘ ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล หรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว
ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
มาตรา ๓๙ ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา ๓๘ ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
(๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล
(๓) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี
การสั่งลงโทษตาม (๓) ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลตาม (๓) ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๐ การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พัก ของบุคคลใดที่ศาลเรียกมาในการไต่สวน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีของศาลให้เป็นไปตามประกาศของศาล
ส่วนที่ ๒
การยื่นคำร้องและการยื่นหนังสือ
ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
-------------------------
มาตรา ๔๑ ผู้ที่จะขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ จะต้องเป็นบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น
การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ ให้กระทำเป็นคำร้องตามแบบที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล เว้นแต่การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีในกรณีดังต่อไปนี้ ให้จัดทำเป็นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
(๑) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ หรือนายกรัฐมนตรีขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย
(๒) ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
(๓) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด
(๔) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ
(๕) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
(๖) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
(๗) คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
(๘) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
(๙) การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๗ (๑๓) ที่ข้อกำหนดของศาลกำหนดให้ทำเป็นหนังสือ
การดำเนินการตาม (๒) ให้ส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง หรือกรมพระธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
มาตรา ๔๒ คำร้องต้องทำเป็นหนังสือใช้ถ้อยคำสุภาพ มีรายการครบถ้วนตามแบบที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุ
(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง
(๒) เรื่องหรือการกระทำทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ต้องขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
(๓) มาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง
(๔) คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใดพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณีจัดทำสำเนายื่นต่อศาลตามจำนวนที่กำหนดในข้อกำหนดของศาลด้วย
คำร้องใดมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ชัดเจน หรือไม่อาจเข้าใจได้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องนั้นให้ถูกต้อง
ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ผู้ร้องจะดำเนินการทั้งปวงด้วยตนเองหรือจะมอบฉันทะให้ทนายความหรือบุคคลอื่นยื่นคำร้องหรือดำเนินคดีแทนผู้ร้องได้ ผู้รับมอบฉันทะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีความรู้ความสามารถที่อาจดำเนินการแทนผู้มอบฉันทะได้
มาตรา ๔๓ หนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๔๑ วรรคสอง ให้ทำเป็นหนังสือราชการโดยอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ความประสงค์ที่จะให้ศาลดำเนินการ และมาตราของรัฐธรรมนญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๔๔ การยื่นขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ (๒) ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว โดยในกรณีที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่เป็นปัญหาโต้แย้งระหว่างหน่วยงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
มาตรา ๔๕ บุคคลหรือชุมชนซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ และได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควร ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ (๔) ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) บุคคลหรือชุมชนนั้นได้ร้องขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้ตนหรือชุมชนได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่ดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง และบุคคลหรือชุมชนได้โต้แย้งการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการดังกล่าวเป็นหนังสือต่อหน่วยงานนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือวันที่ได้รับแจ้งหรือถือว่าได้รับแจ้ง และ
(๒) บุคคลหรือชุมชนตาม (๑) ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าหน่วยงานของรัฐตาม (๑) มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีหนังสือโต้แย้งตาม (๑) ในกรณีนี้ หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องและหน่วยงานของรัฐทราบ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทราบถึงการดังกล่าว
(๓) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินและสั่งการตามที่เห็นสมควร ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้คณะกรรมการหรือหน่วยงานใดเป็นผู้พิจารณาและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก็ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีสั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งให้บุคคลหรือชุมชนทราบ หากบุคคลหรือชุมชนเห็นว่าการสั่งการของคณะรัฐมนตรียังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา ๗ (๔) ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ในระหว่างการพิจารณาคดีตามมาตรานี้ ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ให้ศาลวินิจฉัยคดีตามมาตรานี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับคำร้อง
มาตรา ๔๖ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ (๑๑) ได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสียก่อนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าว เว้นแต่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นยังคงมีอยู่ก็ให้ยื่นคำร้องได้ตราบที่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นยังคงมีอยู่ และให้นำความในมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือวันที่พ้นกำหนดเวลาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง
ภายใต้บังคับมาตรา ๔๒ การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของตนโดยตรงให้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำใดและละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตนอย่างไร
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำร้องตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลจะไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ และถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
มาตรา ๔๗ การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๖ ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) การกระทำของรัฐบาล
(๒) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
(๓) กฎหมายบัญญัติขั้นตอนและวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ และยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการนั้นครบถ้วน
(๔) เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น หรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
(๕) การกระทำของคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๒
(๖) การกระทำที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการทหาร รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
มาตรา ๔๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๗ ผู้ใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ถ้าผู้นั้นเห็นว่าการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลพร้อมด้วยความเห็นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องจากผู้ร้อง โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ผู้ถูกละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลได้
ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่กรณีผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพประสงค์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม
ให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับแก่การยื่นและการพิจารณาคำร้องตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๙ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ศาลจะแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่าสามคนเป็นผู้พิจารณาก็ได้ ทั้งนี้ จะแต่งตั้งให้มีมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้
ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะตุลาการตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลส่งเรื่องให้คณะตุลาการตามวรรคหนึ่งภายในสองวันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้องตามข้อกำหนดของศาล และให้คณะตุลาการดังกล่าวมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล คำสั่งดังกล่าวให้ถือว่าเป็นคำสั่งของศาล
ในกรณีที่คณะตุลาการตามวรรคหนึ่งมีความเห็นควรสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้เสนอศาลพิจารณาภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง และให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะตุลาการดังกล่าว หากศาลเห็นพ้องด้วยกับความเห็นนั้น ให้จัดทำเป็นคำสั่งของศาล หากศาลไม่เห็นพ้องด้วย ให้ดำเนินการตามความเห็นของศาล
คำสั่งของคณะตุลาการตามวรรคสองให้ถือเสียงข้างมาก
ในกรณีที่ไม่มีการแต่งตั้งคณะตุลาการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ภายในห้าวันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้อง
มาตรา ๕๐ เมื่อมีผู้ยื่นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย และศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่ต้องด้วยมาตรา ๔๑ วรรคสอง (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ให้ศาลรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป
มาตรา ๕๑ คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก่อนศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคำร้อง หรือไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะพิจารณาสั่งจำหน่ายคดีนั้นก็ได้ เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ส่วนที่ ๓
องค์คณะและการพิจารณาคดี
-------------------------
มาตรา ๕๒ ในการนั่งพิจารณาและทำคำวินิจฉัย ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องร่วมพิจารณาคดีและร่วมทำคำวินิจฉัย เว้นแต่มีเหตุถูกคัดค้าน หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือเป็นกรณีตามวรรคสาม
องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่าเจ็ดคน
ตุลาการซึ่งมิได้ร่วมในการพิจารณาในประเด็นสำคัญแห่งคดีใด ย่อมไม่มีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยคดีนั้น หากมีปัญหาว่าตุลาการคนใดร่วมในการพิจารณาในประเด็นสำคัญแห่งคดีนั้นหรือไม่ ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ เว้นแต่การไม่ร่วมทำคำวินิจฉัยจะทำให้มีองค์คณะเหลือไม่ถึงเจ็ดคน
มาตรา ๕๓ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลหรือคณะตุลาการตามมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้คู่กรณีที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เห็นสมควรได้
หากคู่กรณีไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำสั่งตามวรรคหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีเป็นผู้ร้อง ศาลอาจพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดีนั้นก็ได้ หากเป็นผู้ถูกร้อง ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะแก้ไข และให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
มาตรา ๕๔ เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งให้ผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้นำความในมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
มาตรา ๕๕ ผู้ร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง หรือผู้ถูกร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาย่อมทำได้ โดยต้องยื่นคำขอเสียก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ในกรณีที่มีการยื่นคำขอก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยน้อยกว่าเจ็ดวันหรือที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะไม่รับไว้พิจารณาก็ได้ แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับไว้พิจารณาศาลต้องส่งสำเนาการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทราบด้วย
มาตรา ๕๖ การส่งสำเนาคำร้อง สำเนาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือเอกสารอื่นใดระหว่างศาลกับคู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้ส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้
วิธีการส่ง และการปิดประกาศแทนการส่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๕๗ เมื่อศาลรับคดีใดไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลกำหนดประเด็นและลำดับประเด็นที่จะพิจารณาวินิจฉัย แต่ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมประเด็นหรือลำดับประเด็นที่ได้กำหนดหรือลำดับไว้เดิม
ตุลาการทุกคน เว้นแต่ตุลาการที่ได้รับอนุญาตให้ถอนตัวหรือต้องถอนตัวเพราะถูกคัดค้าน ต้องทำความเห็นส่วนตนตามประเด็นและตามลำดับประเด็นที่ศาลได้กำหนดหรือลำดับไว้
เมื่อศาลรับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว ตุลาการผู้ใดจะปฏิเสธไม่วินิจฉัยโดยอ้างว่าเรื่องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลมิได้
มาตรา ๕๘ หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้
เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเกิดขึ้น หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร ศาลอาจสั่งงดการสืบหรือไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นก็ได้
ตุลาการจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจมีมติไม่ให้นำเอกสารหรือพยานหลักฐานซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศมาใช้ในคดีได้
มาตรา ๕๙ การนั่งพิจารณาของศาลให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอำนาจกำหนดบุคคลที่จะอยู่ในห้องพิจารณาได้
เมื่อศาลประกาศกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสำเนาประกาศให้แก่คู่กรณีไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัด ส่วนกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด และให้ปิดประกาศกำหนดนัดดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการศาลด้วย
มาตรา ๖๐ คู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคล และหลักฐานอื่นเป็นพยานหลักฐานได้ และมีสิทธิตรวจพยานหลักฐานและขอสำเนาพยานหลักฐานของตนเองหรือของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในเวลาทำการตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในข้อกำหนดของศาลก็ได้
การอ้างพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และวิธีการที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว
ภายใต้บังคับมาตรา ๕๘ ก่อนศาลมีคำวินิจฉัย คู่กรณีอาจยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ต้องยื่นเสียก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
มาตรา ๖๑ เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ แต่ต้องแจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน
มาตรา ๖๒ ในการไต่สวนพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่ฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลสอบถามพยานบุคคลเอง แล้วให้พยานให้ถ้อยคำในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเอง หรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดี แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่กรณีซักถามพยานเพิ่มเติมตามประเด็นและข้อเท็จจริงที่ศาลกำหนดไว้ก็ได้ โดยให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามก่อน
หลังจากคู่กรณีถามพยานตามวรรคสองแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
มาตรา ๖๓ ศาลอาจอนุญาตให้มีการไต่สวนพยานที่อยู่นอกที่ทำการศาลตามที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอ การไต่สวนพยานเช่นนั้นอาจใช้ระบบการประชุมทางจอภาพตามข้อกำหนดของศาลได้
การไต่สวนพยานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ากระทำในห้องพิจารณาของศาล
มาตรา ๖๔ ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่ต้องมาให้ถ้อยคำ เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือที่ศาลอนุญาตให้คู่กรณีฝ่ายที่ร้องขอกำหนด โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล และสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นเพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
คู่กรณีที่ติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่น้อยกว่าสามวัน มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน
ในวันไต่สวนพยาน ให้พยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า แล้วตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาลและคู่กรณีฝ่ายอื่นตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามวรรคสองและศาลอนุญาต หากพยานไม่มาศาล หรือมาศาลแต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้
พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญใดยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งต่อศาลแล้ว จะขอถอนบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นมิได้ และเมื่อพยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าแล้ว ให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการให้ถ้อยคำของพยาน
มาตรา ๖๕ ความในมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ศาลกำหนดให้พยานบุคคลใดหรือพยานผู้เชี่ยวชาญเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนดแทนการมาให้ถ้อยคำโดยพยานไม่ต้องมาศาลด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ระยะเวลาตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ให้นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งศาล
มาตรา ๖๖ ระหว่างการไต่สวนของศาล ให้ศาลบันทึกรายงานการพิจารณาคดีรวมไว้ในสำนวน และจัดให้คู่กรณีและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน หากคู่กรณีหรือพยานลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้ศาลทำรายงานจดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นนั้นไว้แทนการลงลายมือชื่อ
ให้ศาลบันทึกการให้ถ้อยคำของพยานในการไต่สวนรวมไว้ในสำนวนด้วย โดยใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงหรืออุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง หรือโดยวิธีการอื่นใดตามข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๖๗ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของตนได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และภายในเวลาที่ศาลกำหนด
การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของคู่กรณีต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา และให้นำความในมาตรา ๖๖ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๖๘ คู่กรณี พยานในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ถ้อยคำของตน หรือบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียโดยชอบหรือมีเหตุผลอันสมควร มีสิทธิขอตรวจดู ขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองความถูกต้องของเอกสารในสำนวนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของศาล ซึ่งจะกำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยก็ได้
มาตรา ๖๙ ให้ศาลเป็นผู้บันทึกรายงานการพิจารณาคดี
มาตรา ๗๐ ให้ตุลาการคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายจากศาลเป็นผู้ลงลายมือชื่อในประกาศ คำสั่ง รายงานการพิจารณาคดี หรือหนังสืออื่นใดของศาล
มาตรา ๗๑ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึงและคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่กรณีได้ยื่นคำขอ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย และออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล
มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวนั้น
หมวด ๔
การทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง
-------------------------
มาตรา ๗๒ คำวินิจฉัยของศาลให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ศาลปรึกษาหารือกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ
ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลได้กำหนดไว้มิได้ เว้นแต่มีเหตุตามมาตรา ๕๒ วรรคสาม
มาตรา ๗๓ คำวินิจฉัยของศาลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้ออ้างและคำขอตามที่ปรากฏในคำร้องหรือหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ข้อโต้แย้งในคำชี้แจงข้อกล่าวหา ประเด็นแห่งคดี สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในแต่ละประเด็น และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง รวมทั้งผลแห่งคำวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของศาลต้องลงลายมือชื่อของตุลาการที่วินิจฉัย ถ้าตุลาการคนใดมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้องค์คณะนั้นมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นองค์คณะจดแจ้งเหตุดังกล่าวแล้วติดรวมไว้กับคำวินิจฉัย
มาตรา ๗๔ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาล หากมีความจำเป็นจะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลไว้ในคำวินิจฉัยนั้น โดยศาลอาจกำหนดให้มีผลไปในอนาคตขณะใดขณะหนึ่งหลังวันอ่านคำวินิจฉัย หรืออาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ตามความจำเป็นหรือสมควร ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี และให้องค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดที่มีหน้าที่ในการบังคับรายงานผลการปฏิบัติหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำบังคับของศาลต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๗๕ ในการวินิจฉัยคดี ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อน แล้วจึงลงมติ
ความเห็นส่วนตนตามวรรคหนึ่ง ให้ทำโดยสังเขปและต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะตามข้อกำหนดของศาล
การทำคำวินิจฉัยของศาล องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนหนึ่งคนใดเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลก็ได้
คำวินิจฉัยของศาล ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
มาตรา ๗๖ คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน
ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีที่มีคู่กรณี ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย แล้วแต่กรณี ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ให้ศาลบันทึกไว้ และให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นได้อ่านโดยชอบแล้ว
ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องหรือผู้มีหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย และให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน
ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๓ มาตรา ๒๑๒ มาตรา ๒๑๓ หรือมาตรา ๒๓๑ (๑) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลจัดทำประกาศผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว
การแจ้งให้คู่กรณีมาฟังคำวินิจฉัยและการอ่านคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคสอง และการแจ้งคำวินิจฉัยตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อกำหนดของศาล
มาตรา ๗๗ คำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดี ต้องประกอบด้วย ความเป็นมาโดยย่อของคดี เหตุผลในการมีคำสั่ง ความเห็นประกอบ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
ให้นำความในมาตรา ๗๕ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การทำคำสั่งด้วยโดยอนุโลม เมื่อจัดทำคำสั่งเสร็จแล้วให้แจ้งคู่กรณีทราบ พร้อมปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาลไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้มีผลในวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำสั่ง
มาตรา ๗๘ ในกรณีที่คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลเห็นเอง หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอและศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเช่นว่านั้นให้ถูกต้องก็ได้
การทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้ผลในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเดิม เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว ให้แจ้งคู่กรณีทราบ และให้นำความในมาตรา ๗๕ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการจัดทำคำสั่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๗๙ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ เว้นแต่กรณีตาม (๑) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ มิให้นำมาใช้บังคับ และให้ถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปตามวรรคนี้ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคสอง มีจำนวนครบตามองค์ประกอบตามมาตรา ๘ แล้ว
ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ บรรดาที่ดำรงตำแหน่งครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๕) จะเข้ารับหน้าที่
มาตรา ๘๐ การสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีเหตุพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด และแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเมื่อได้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรอิสระแต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑
เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสองแล้ว หากองค์กรอิสระใดยังไม่อาจแต่งตั้งผู้แทนได้ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ แต่ไม่ตัดสิทธิองค์กรอิสระที่จะแต่งตั้งผู้แทนมาในภายหลัง การแต่งตั้งดังกล่าวไม่มีผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องเสียไป
ภายในยี่สิบวันนับแต่วันพ้นจากระยะเวลาตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง ถือว่าเป็นผู้ซึ่งจะต้องมีการสรรหาหรือคัดเลือกในประเภทใดตามมาตรา ๘ (๑) (๒) และ (๕)
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
มาตรา ๘๑ ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๘๐ ดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามจำนวนที่ยังว่างอยู่ และตามประเภทที่คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามมาตรา ๘๐ วรรคสี่ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๘๐
ในกรณีที่ต้องมีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี ด้วยโดยอนุโลม
ในกรณีที่ไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกแล้ว ให้ผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
มาตรา ๘๒ บรรดาข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของศาลที่ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๘๓ การดำเนินการไต่สวน หรือการดำเนินการอื่นใดตามหน้าที่และอำนาจของศาลซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการในเรื่องใดที่ยังค้างพิจารณาอยู่ และมิได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการนั้นต่อไปตามมติของศาล
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้การสรรหาและการวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องตามหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๑/๒ มีนาคม ๒๕๖๑