พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๘)

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
พ.ศ. ๒๕๖๑

-------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

               พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
               (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
               (๒) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๑ เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙
               (๓) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ พ.ศ. ๒๕๕๐
               (๔) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
               (๕) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘
               (๖) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙
               (๗) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๔/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๘) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๒/๒๕๕๗ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               “เจ้าพนักงานของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคลบรรดาซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               “เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ” หมายความว่า ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ปกครอง หรือตุลาการ ของรัฐต่างประเทศ และบุคคลใด ๆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้แก่รัฐต่างประเทศ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่สำหรับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าโดยการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง มีตำแหน่งประจำหรือชั่วคราว และได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอื่นหรือไม่ก็ตาม
               “เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ” หมายความว่า ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในองค์การระหว่างประเทศ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากองค์การระหว่างประเทศให้ปฏิบัติหน้าที่ในนามขององค์การระหว่างประเทศนั้น
               “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า
               (๑) นายกรัฐมนตรี
               (๒) รัฐมนตรี
               (๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๔) สมาชิกวุฒิสภา
               (๕) ข้าราชการการเมืองอื่นนอกจาก (๑) และ (๒) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง
               (๖) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
               “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติยกเว้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินด้วย ยกเว้นกรณีตามมาตรา ๑๑ (๑)
               “ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริหารท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือสภาท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับข้าราชการพลเรือนและปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพสำหรับข้าราชการทหารและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่ไม่รวมถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               “ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว
               “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
               “ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
               “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการด้วย
               “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
               “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
               “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า เลขาธิการ และข้าราชการในสังกัดสำนักงาน และให้หมายความรวมถึงข้าราชการหรือพนักงานซึ่งมาช่วยราชการในสำนักงานซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               “หัวหน้าพนักงานไต่สวน” หมายความว่า ผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากพนักงานไต่สวน
               “ไต่สวน” หมายความว่า การแสวงหา รวบรวม และการดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
               “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทำการอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น
               “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
               “พนักงานสอบสวน” หมายความว่า พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้หมายความรวมถึงพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษด้วย

               มาตรา ๕  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
               ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการกำหนดโดยทำเป็นประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย

               มาตรา ๖  ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยไม่ชักช้า
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า การดำเนินการเรื่องใดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นด้วย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ปรึกษาหารือร่วมกับองค์กรอิสระอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อนกัน
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานกรรมการมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว

               มาตรา ๗  ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ

               มาตรา ๘  ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ในกรณีที่มีปัญหาการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตีความและวินิจฉัย ทั้งนี้ มติในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๑/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
               มาตรา ๔ นิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง” แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               มาตรา ๘ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

หมวด ๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา ๙ - ๔๕)

ส่วนที่ ๑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา ๙ - ๒๗)

 

ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-------------------------

               มาตรา ๙  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเก้าคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา
               ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลาง หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๒) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๓) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๔) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์
               (๕) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น
               (๖) เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
               (๗) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๖) รวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
               การนับระยะเวลาตามวรรคสอง ให้นับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๐  นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๙ แล้ว กรรมการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
               (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปี
               (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
               (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
               (๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               มาตรา ๑๑  กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด
               (๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
               (๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
               (๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
               (๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
               (๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
               (๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
               (๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
               (๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
               (๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
               (๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
               (๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (๑๕) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
               (๑๖) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
               (๑๗) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
               (๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา
               (๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
               (๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
               (๒๒) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
               (๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
               (๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

               มาตรา ๑๒  เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา ๙ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
               (๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
               (๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
               (๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
               (๔) บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
               ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
               ในการดำเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ แล้วแต่กรณี ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
               ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาตาม (๔) ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกำหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
               ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหากรรมการใหม่ แต่ไม่รวมถึงการสรรหาใหม่หรือสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๓ วรรคสี่ มาตรา ๑๔ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา ๑๕ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
               ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นในขณะเดียวกันมิได้
               ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหา เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๑๓  ในการสรรหากรรมการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
               ในการสรรหา ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
               ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
               ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสาม หรือมีแต่ยังไม่ครบจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่สำหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสาม ถ้ายังได้ไม่ครบตามจำนวนให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่จะต้องสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
               ภายในสามวันนับแต่วันปิดรับสมัครให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประวัติการทำงานตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนดด้วย

               มาตรา ๑๔  ผู้ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
               ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหารายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
               เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องสรรหา แต่เมื่อรวมกับกรรมการซึ่งยังดำรงตำแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจำนวนถึงเจ็ดคนก็ให้ดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้ดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องสรรหาต่อไปโดยเร็ว
               ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

               มาตรา ๑๕  ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ โดยที่ยังมิได้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๑ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๑ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้ว ต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากำหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งกรรมการ ในกรณีที่ไม่แสดงหลักฐานภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดำเนินการสรรหาใหม่

               มาตรา ๑๖  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
               การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากำหนด
               การวินิจฉัย ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
               ให้นำความในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาด้วยโดยอนุโลม แต่กรรมการสรรหาที่ถูกกล่าวหาว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามจะอยู่ในที่ประชุมในขณะพิจารณาและวินิจฉัยมิได้

               มาตรา ๑๗  ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากำหนด แต่สำหรับเบี้ยประชุมให้กำหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๘  กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
               ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีกรรมการใหม่แทน

               มาตรา ๑๙  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑
               (๔) พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามรัฐธรรมนูญ
               เมื่อประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการด้วย
               ในกรณีที่มีปัญหาว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๒) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
               ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานกรรมการ
               ในระหว่างที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เว้นแต่จะมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงห้าคน
               ในกรณีที่กรรมการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่กรรมการครบวาระ แต่ถ้ากรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหากรรมการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

               มาตรา ๒๐  เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่ากรรมการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๙ (๒) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัย ให้ถือเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               หลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

               มาตรา ๒๑  ในกรณีที่กรรมการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้อง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการทำหน้าที่เป็นกรรมการ เป็นการชั่วคราวให้ครบเก้าคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการจนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน

               มาตรา ๒๒  การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าคนจึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่กรรมการคนใดไม่อาจมาประชุมได้ ให้จดแจ้งเหตุนั้นไว้ในรายงานการประชุม
               การลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ และให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่ออกเสียงลงมติโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม แต่ไม่เป็นการตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนมีการลงมติ
               ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประชุมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ

               มาตรา ๒๓  การลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
               ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการลงมติเพื่อมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๒๔  ในการลงมติของกรรมการตามมาตรา ๒๓ หรือในเรื่องอื่นใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้กรรมการลงมติเป็นหนังสือตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีชื่อเรื่อง และประเด็นที่ลงมติ มติที่ลง และลายมือชื่อของกรรมการที่ลงมติ และให้เลขาธิการเก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน
               มติที่ได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และในกรณีที่ต้องทำคำวินิจฉัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นชอบร่างคำวินิจฉัยนั้นและประธานกรรมการหรือผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการได้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               การให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งคณะก่อนลงนามในคำวินิจฉัย ให้เลขาธิการบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในคำวินิจฉัย และให้เลขาธิการเป็นผู้ลงนามในคำวินิจฉัยนั้นแทน เมื่อเลขาธิการลงนามในคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นอันใช้บังคับได้

               มาตรา ๒๕  กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา และการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม ในระหว่างการดำรงตำแหน่งกรรมการจะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ มิได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ

               มาตรา ๒๖  เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
               ให้ประธานกรรมการและกรรมการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของประธานกรรมการหรือกรรมการ

               มาตรา ๒๗  ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปี มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) ครบวาระ
               (๒) ตาย
               (๓) ลาออก
               (๔) มีอายุครบเจ็ดสิบปี
               ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๒๖ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
               สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง

ส่วนที่ ๒ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (มาตรา ๒๘ - ๔๑)

 

ส่วนที่ ๒
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

-------------------------

               มาตรา ๒๘  คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
               (๒) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
               (๓) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว
               (๔) ไต่สวนเพื่อดำเนินคดีในฐานความผิดอื่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               (๕) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น
               ในการดำเนินการตาม (๔) ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินการก็ได้

               มาตรา ๒๙  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อรัฐสภาทุกปี ทั้งนี้ ให้ประธานกรรมการ หรือกรรมการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย มาแถลงรายงานดังกล่าวต่อรัฐสภา และให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา และเปิดเผยต่อสาธารณะ

               มาตรา ๓๐  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) ให้รวมถึงการดำเนินการกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายด้วย
               ในการดำเนินคดีตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) ให้ใช้บังคับกับการดำเนินการในคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) และ (๔) และคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะต้องดำเนินการในคราวเดียวกันด้วย

               มาตรา ๓๑  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๒๘ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม

               มาตรา ๓๒  คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
               (๒) จัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด
               (๓) เสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีต่อราชการได้
               ในการจัดทำมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เมื่อองค์กรตามวรรคหนึ่งได้รับแจ้งมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว หากเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๓๓  เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นต่อการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐานสำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวต้องมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต
               (๒) ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการจัดให้มีกลไกการแจ้งเตือน กรณีพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตในหน่วยงานของตน
               (๓) ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของการทุจริต รวมถึงค่านิยมที่เน้นการพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง
               (๔) รับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
               ในการดำเนินการตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อให้คำเสนอแนะ ช่วยเหลือ และร่วมมือกันดำเนินการ
               คณะกรรมการตามวรรคสองให้ประกอบด้วย ประธานกรรมการเป็นประธาน กรรมการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายจำนวนหนึ่งคน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประธานกรรมการการอุดมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่เกินสี่คนและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสามคน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งเป็นกรรมการ การแต่งตั้งผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้ผู้แทนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่น้อยกว่าสองคน ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติการใด ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

               มาตรา ๓๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน
               (๒) ให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน
               (๓) ดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายเพื่อเข้าไปในเคหสถาน สถานที่ทำการ หรือสถานที่อื่นใด รวมทั้งยานพาหนะของบุคคลใด ๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกอบกิจการ เพื่อตรวจสอบ ค้น ยึด หรืออายัด เอกสาร ทรัพย์สิน หรือพยานหลักฐานอื่นใดซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไต่สวน และหากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จในเวลาดังกล่าว ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ
               (๔) มีคำสั่งให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานเอกชนชี้แจงข้อเท็จจริง อำนวยความสะดวก หรือให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               (๕) จ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบหาข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สิน และการดำเนินคดีในการติดตามทรัพย์สินในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๓๕  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว ถ้าผลการตรวจสอบปรากฏว่ากรณีมีเหตุอันควรระมัดระวัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวและคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข
               หน่วยงานของรัฐและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนโดยเร็วและถ้าไม่เกี่ยวกับความลับของทางราชการให้เปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

               มาตรา ๓๖  คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้
               การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละขั้นตอน ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
               (๑) ในชั้นก่อนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกร้อง เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
               (๒) เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               (๓) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์การกระทำความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคำวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
               ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ

               มาตรา ๓๗  ในกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๖ ให้เลขาธิการดำเนินการตรวจสอบเพื่อหาตัวผู้เปิดเผยข้อมูลโดยเร็ว หากตรวจสอบพบให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่เปิดเผยข้อมูล หากเป็นกรณีที่กระทำโดยจงใจให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ หากเลขาธิการไม่ดำเนินการตรวจสอบให้ถือว่าเป็นความบกพร่องของเลขาธิการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี

               มาตรา ๓๘  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบหรือไต่สวนเพื่อมีความเห็นหรือวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำของบุคคลใด และมีความจำเป็นต้องได้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของบุคคลนั้นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจขอข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ตามที่จำเป็น และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งมอบข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ถือว่าการส่งมอบดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว

               มาตรา ๓๙  ในระหว่างการไต่สวน หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าผู้ใดกระทำความผิดและความผิดนั้นมีโทษทางอาญา หากมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายมีอำนาจดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้
               ในการจับและควบคุมตัวบุคคลตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการแทนก็ได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในการจับ คุมขังและการปล่อยชั่วคราว ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่มีการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เกิดขึ้นในลักษณะความผิดซึ่งหน้า ให้กรรมการพนักงานไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายของศาล และเมื่อจับได้แล้วให้ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๔๐  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               (๑) ให้ประธานกรรมการและกรรมการ เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
               (๒) ให้กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
               ในการดำเนินการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการไต่สวน เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวน เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนด้วย
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือมอบอำนาจในการฟ้องคดี ว่าต่าง หรือดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจว่าความ และดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๔๑  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดถูกดำเนินคดีไม่ว่าเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง และไม่ว่าจะถูกฟ้องในขณะดำรงตำแหน่งหรือเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ถ้าการถูกดำเนินคดีดังกล่าวเป็นเพราะเหตุที่ได้มีมติ คำสั่ง หรือปฏิบัติหน้าที่ ให้สำนักงานมีอำนาจให้ความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีแก่บุคคลดังกล่าว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ต่างก็ได้ หรือในกรณีที่พนักงานอัยการมิใช่เป็นผู้ฟ้อง อาจขอให้พนักงานอัยการเข้าแก้ต่างให้แก่บุคคลเหล่านั้นก็ได้ การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวให้รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               ในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ในการมีความเห็น มติ คำสั่ง ในการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งได้แสดงเหตุผลอันสมควรประกอบแล้ว และได้กระทำไปโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ส่วนที่ ๓ การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (มาตรา ๔๒ - ๔๕)

 

ส่วนที่ ๓
การตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

-------------------------

               มาตรา ๔๒  ให้กรรมการมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อประธานวุฒิสภา โดยให้นำความในหมวด ๕ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มาตรา ๑๐๕ ถึงมาตรา ๑๑๓ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยให้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา ทั้งนี้ ให้ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อนเสนอประธานวุฒิสภาพิจารณา
               ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง และให้นำความในมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานวุฒิสภาในกรณีนี้ด้วยโดยอนุโลม
               คู่สมรสตามวรรคหนึ่งให้นำความในมาตรา ๑๐๒ วรรคสองมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๓  ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการที่กรรมการผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๗๗ และมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๔  ในกรณีที่ปรากฏว่ากรรมการผู้ใดร่ำรวยผิดปกติให้ประธานวุฒิสภาส่งสำนวนพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานไปยังประธานรัฐสภาเพื่อแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

               มาตรา ๔๕  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้นำความในมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               การกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงการเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการและบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญา รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย

หมวด ๒ การไต่สวน (มาตรา ๔๖ - ๗๕)

 

หมวด ๒
การไต่สวน

-------------------------

               มาตรา ๔๖  ในการดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน แล้วแต่กรณี ต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหา
               พยานหลักฐานใดที่ผู้ถูกกล่าวหานำส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนจะไม่รับด้วยเหตุล่วงเลยเวลาหรือผิดขั้นตอนมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลแล้ว หรือเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจประวิงเวลา หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
               ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนเรียกบุคคลหรือเรียกเอกสารจากบุคคลใด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานไต่สวนดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่ผู้ถูกกล่าวหาต้องร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือกรรมการที่กำกับดูแลเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจประวิงเวลา หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบุคคลหรือเอกสารที่ขอให้เรียกนั้นไม่มีผลต่อการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการไต่สวนหรือรายงานการไต่สวนเบื้องต้นด้วย

               มาตรา ๔๗  ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการที่จะควบคุมและกวดขันพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวน ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี ดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี

               มาตรา ๔๘  เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน
               ในการกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คำนึงถึงความรวดเร็ว ความยากง่ายของการไต่สวน และอายุความของการดำเนินการในเรื่องนั้น โดยจะระบุระยะเวลาของการไต่สวนข้อกล่าวหาแต่ละประเภทที่แตกต่างกันก็ได้
               ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศ หรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้ หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จำเป็นก็ได้
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจจะดำเนินการใดได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนโดยพลัน โดยให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               ภายใต้กำหนดอายุความ เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวน และมีความเห็น หรือวินิจฉัย หรือดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป แต่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสอบสวนและดำเนินการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีโดยเร็ว

               มาตรา ๔๙  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาหรือไม่ ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายตรวจสอบเบื้องต้นก่อนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่ามีข้อมูลหรือรายละเอียดไม่เพียงพอที่จะดำเนินการต่อไป หรือความผิดที่กล่าวหานั้นไม่ได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไว้พิจารณาตามมาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ (๑) ให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามระยะเวลาและวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าเป็นกรณีที่มีคำกล่าวหา ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้กล่าวหาทราบ
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
               คำกล่าวหาใดที่ไม่มีเหตุที่ไม่รับไว้พิจารณาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการไต่สวนต่อไป
               ผู้กล่าวหาซึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาของกรรมการตามวรรคสอง อาจมีหนังสือขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนคำสั่งนั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งตามวรรคสอง
               ในการตรวจสอบเบื้องต้นให้เลขาธิการหรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) และ (๓) ด้วย

               มาตรา ๕๐  ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน เป็นผู้ไต่สวนเบื้องต้นได้
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ให้เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนดำเนินการเป็นคณะ ประกอบด้วย เลขาธิการหรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนเป็นหัวหน้า พนักงานไต่สวนอย่างน้อยหนึ่งคนร่วมเป็นคณะ และอาจมีผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยก็ได้ และในการไต่สวนปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานต้องกระทำโดยเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวนหนึ่งคน และผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               การไต่สวนเบื้องต้นตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จและจัดทำรายงานการไต่สวนเบื้องต้นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย
               ภายใต้ระยะเวลาตามมาตรา ๔๘ ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นตามระยะเวลาที่กำหนดในวรรคสาม ให้เลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวนแจ้งอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินการ พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสั่งขยายระยะเวลา โดยให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินหกสิบวัน ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้มีอำนาจขยายระยะเวลาแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เพราะเหตุขาดอายุความ อันเนื่องมาแต่การมิได้ปฏิบัติตามระยะเวลาตามมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งยุติการดำเนินคดีอาญา และหากการขาดอายุความดังกล่าวเกิดจากความผิด หรือจงใจปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่อของผู้ใด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นโดยเร็ว
               ในการไต่สวนเบื้องต้นให้เลขาธิการและหัวหน้าพนักงานไต่สวน มีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) และ (๓) ด้วย
               เพื่อประโยชน์ในการกำกับการไต่สวนเบื้องต้นให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้กรรมการแต่ละคนกำกับดูแลการไต่สวนเบื้องต้นในแต่ละด้านตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดก็ได้

               มาตรา ๕๑  ในการไต่สวนเรื่องใดที่เป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือเป็นกรณีมีการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเอง หรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
               การแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการในคณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจแต่งตั้งจากหัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคสี่ตามความเหมาะสมกับเรื่องที่ไต่สวนได้
               คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือคณะกรรมการไต่สวนในการดำเนินการตามหน้าที่ได้ตามที่เห็นสมควร
               ในกรณีมีความจำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการไต่สวน ให้คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวที่ไม่มีลักษณะตามมาตรา ๕๖ ให้เป็นที่ปรึกษาหรือเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นกรรมการในคณะกรรมการไต่สวนได้
               ให้ที่ปรึกษาตามวรรคสี่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับกรรมการ
               คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จและจัดทำสำนวนการไต่สวนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับมอบหมาย และให้นำความในมาตรา ๕๐ วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหกมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเอง ให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้ามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๒  ในการพิจารณารายงานการไต่สวนเบื้องต้นหรือสำนวนการไต่สวน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนเพิ่มเติมหรือสั่งให้มีการไต่สวนเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบด้วยกับรายงานการไต่สวนเบื้องต้นหรือสำนวนการไต่สวนรวมทั้งที่ไต่สวนเพิ่มเติมแล้ว ให้ถือว่ารายงานหรือสำนวนดังกล่าว เป็นสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเพื่อมีมติว่ากรณีมีมูลตามที่กล่าวหาหรือไม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง

               มาตรา ๕๓  นอกจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้นการไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้แล้วให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้น การไต่สวน และการไต่สวนเบื้องต้นได้ แต่ต้องไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น โดยอย่างน้อยต้องกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ และขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละระดับให้ชัดเจน และมีระบบการติดตามตรวจสอบเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม

               มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา
               (๑) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่คดี ซึ่งอาจทำให้ผลของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป
               (๒) เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกันและศาลประทับฟ้องหรือพิพากษาหรือมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับหรือยกคำกล่าวหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้
               (๓) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตาย เว้นแต่เป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติ

               มาตรา ๕๕  ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ขึ้นพิจารณา เว้นแต่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
               (๑) เรื่องที่ล่วงเลยมาแล้วเกินสิบปีนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่มีการกล่าวหา
               (๒) เรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีการดำเนินการต่อผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอื่นเสร็จสิ้นและเป็นไปโดยชอบแล้ว และไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการนั้นไม่เที่ยงธรรม
               (๓) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาไปแล้วเกินห้าปี ในกรณีที่มีการพิจารณาเรื่องภายในกำหนดเวลา แม้จะพ้นกำหนดเวลาห้าปีแล้วก็ให้มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้

               มาตรา ๕๖  ห้ามมิให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีเหตุดังต่อไปนี้ เข้าร่วมดำเนินการไต่สวน พิจารณาหรือวินิจฉัยคดี
               (๑) รู้เห็นเหตุการณ์หรือเคยสอบสวนหรือพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหาในฐานะอื่นที่มิใช่ในฐานะกรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มาก่อน
               (๒) มีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา
               (๓) มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
               (๔) เป็นผู้กล่าวหาหรือเป็นคู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดาหรือมารดากับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
               (๕) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในฐานะญาติหรือเป็นหุ้นส่วนหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือขัดแย้งกันทางธุรกิจกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา
               ในการดำเนินการในเรื่องใด กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งในเรื่องนั้น ให้ผู้นั้นแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายโดยเร็ว และระหว่างนั้นห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายจะวินิจฉัย ซึ่งต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
               ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้มีส่วนได้เสียจะคัดค้านกรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมาย ซึ่งมีเหตุตามวรรคหนึ่งก็ได้ โดยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุดังกล่าว เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างที่รอการวินิจฉัย ให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถูกคัดค้านระงับการปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อน
               การยื่นคำคัดค้าน การพิจารณาคำคัดค้าน และการแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ระยะเวลาดำเนินการ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๕๗  ในระหว่างการไต่สวน หากปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการเพราะเหตุใด ๆ นอกจากถึงแก่ความตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญา ดำเนินการทางวินัย หรือขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน แล้วแต่กรณี ต่อไปได้
               ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการอันเนื่องมาจากความตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนในข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติต่อไปได้

               มาตรา ๕๘  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้สำนักงานแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็วซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ และให้เปิดเผยเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เว้นแต่เป็นกรณีการดำเนินการสอบสวนตามมาตรา ๘๘

               มาตรา ๕๙  ในการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐบรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ยื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน
               ภายใต้บังคับมาตรา ๕๕ การกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ ให้กล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เกินห้าปี แต่ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้วหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่มีการยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณาหรือกรณีที่ยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการกับเจ้าพนักงานของรัฐอื่นซึ่งเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในเรื่องนั้นได้ด้วย ไม่ว่าผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว

               มาตรา ๖๐  คำกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา
               (๒) ชื่อหรือตำแหน่งของผู้ถูกร้อง
               (๓) ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา พร้อมพยานหลักฐานหรืออ้างพยานหลักฐาน
               ผู้กล่าวหาจะเป็นผู้เสียหายหรือมิใช่ผู้เสียหายก็ได้
               การกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง จะทำด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้ และจะส่งด้วยวิธีใด ๆ ที่จะให้คำกล่าวหานั้นถึงสำนักงานก็ได้ ในกรณีที่ทำด้วยวาจา ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานไต่สวนที่จะบันทึกรายละเอียดไว้ให้ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง
               ให้สำนักงานจัดให้มีระบบในการจดแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหาไว้ในทะเบียนที่รักษาไว้เป็นความลับ และไม่ว่ากรณีใดจะเปิดเผยทะเบียนดังกล่าวมิได้ และให้ลบชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหาออกจากหนังสือกล่าวหานั้น
               หนังสือกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา ถ้ามีรายละเอียดตาม (๓) แล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะปฏิเสธไม่รับไว้พิจารณาไม่ได้
               การกล่าวหาบุคคลตามมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลใดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติไว้เป็นความผิดด้วย

               มาตรา ๖๑  ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลอื่นใดในข้อหาใด ๆ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้พนักงานสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้วส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือแม้จะอยู่ในหน้าที่และอำนาจแต่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงที่เป็นการกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรมอบหมายให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินการ ก็ให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน โดยจะกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดทำคู่มือแจกจ่ายให้พนักงานสอบสวนอย่างทั่วถึงเพื่อให้พนักงานสอบสวนทราบว่าเรื่องใดบ้างที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               ในกรณีที่มีเหตุจะต้องขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกหมายจับบุคคลดังกล่าวได้ หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ ให้พนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจจับบุคคลดังกล่าวได้
               ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่จับบุคคลดังกล่าวไว้ ส่งตัวผู้ถูกจับพร้อมทั้งบันทึกการจับมายังพนักงานสอบสวนหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน โดยมิให้นับระยะเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ถูกจับจากที่จับมายังที่ทำการของพนักงานสอบสวน รวมเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย ในกรณีที่ไม่จำต้องมีการควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจปล่อยตัวผู้ถูกจับไปโดยมีประกัน หรือไม่มีประกันก็ได้
               ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายขังผู้ถูกจับไว้ได้ ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสำหรับความผิดที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น

               มาตรา ๖๒  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่าลงมามีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง ทั้งนี้ บรรดาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานดำเนินการส่งเรื่องที่ได้รับไว้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเพื่อดำเนินการต่อไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเรื่อง
               การเทียบตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะวางหลักเกณฑ์การดำเนินการไต่สวนและการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐให้สอดคล้องกับการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้
               ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๖๓  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๒๘ (๒) และ (๔) ที่มิใช่ความผิดร้ายแรงให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้

               มาตรา ๖๔  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องใดมิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือกล่าวหาในเรื่องที่มิได้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้องดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจก็ได้

               มาตรา ๖๕  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ และมาตรา ๖๔ แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจของตนและรายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และภายในกำหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๖๖  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับผลการดำเนินการตามรายงานตามมาตรา ๖๕ หรือมีกรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการดำเนินการนั้นจะไม่เที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเรียกสำนวนการไต่สวนหรือสอบสวนมาเพื่อดำเนินการได้ โดยจะดำเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนำผลการไต่สวนหรือสอบสวนของหน่วยงานของรัฐนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้

               มาตรา ๖๗  ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นจะต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และต้องไม่ทำหรือจัดทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้นั้นให้ถ้อยคำในเรื่องที่ไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น
               ในการสอบปากคำพยานหรือผู้ให้ถ้อยคำ จะกระทำโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งถ่ายทอดออกเป็นภาพหรือเสียงหรือโดยวิธีการอื่นใด ซึ่งพยานหรือผู้ให้ถ้อยคำนั้นได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องของบันทึกการให้ปากคำนั้นแล้ว กรรมการหรือพนักงานไต่สวนอาจทำสำเนาข้อความดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือสิ่งบันทึกอย่างอื่นก็ได้ ในกรณีที่ผู้ให้ถ้อยคำเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย
               เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจนำพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนหรือพยานหลักฐานที่ได้มาจากต่างประเทศอันได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในคดีใดคดีหนึ่งมาใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนที่เกี่ยวข้องได้

               มาตรา ๖๘  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนตามมาตรา ๕๑ หรือมอบหมายให้ผู้ไต่สวนเบื้องต้นดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นเรื่องใดแล้ว ให้คณะกรรมการไต่สวนและผู้ไต่สวนเบื้องต้นมีหน้าที่และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับการไต่สวนเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๖๙  ในกรณีที่ปรากฏจากการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นว่ามีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหา ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ เนื่องจากการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการดังนี้
               (๑) ในกรณีที่ความผิดนั้นมีโทษทางอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยมีหรือไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้
               (๒) ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดีนั้น แต่ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราวมิได้เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งถอนการยึดหรืออายัดโดยพลัน รวมทั้งไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยมีหรือไม่มีประกันหรือหลักประกันก็ได้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินที่บุคคลอื่นมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และมีพฤติการณ์เป็นการถือครองแทนหรือถือกรรมสิทธิ์แทนด้วย ในกรณีเช่นนั้น ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิพิสูจน์ว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ

               มาตรา ๗๐  ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา ๕๐ วรรคเจ็ด เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ามีมูลความผิด ให้กรรมการหรือพนักงานไต่สวนแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้ถูกกล่าวหาจะมาชี้แจงข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจง
               การแจ้งข้อกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดและแจ้งข้อกล่าวหาเท่าที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี และในกรณีที่เป็นการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ สถานที่ตั้งของทรัพย์สิน ชื่อและที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่แจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เท่าที่ทำได้ด้วย พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบถึงสิทธิการคัดค้านตามมาตรา ๕๖
               ในการแจ้งข้อกล่าวหาให้จัดทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๗๑  ถ้าผู้ถูกกล่าวหามีหลักฐานแสดงว่าตนไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจงได้ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดแต่ต้องยื่นคำร้องขอก่อนที่จะมีการฟ้องคดีต่อศาล
               การเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงตามวรรคหนึ่ง ไม่มีผลกระทบต่อการไต่สวนที่ได้กระทำไปก่อนแล้ว

               มาตรา ๗๒  ในการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา ๗๐ ให้กรรมการหรือพนักงานไต่สวนแจ้งพร้อมทั้งมอบบันทึกสรุปสาระสำคัญข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหา สรุปสาระสำคัญต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ และต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๗๓ และให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับทราบไว้ด้วย
               สรุปสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งต้องไม่เป็นการเปิดเผยชื่อ ตำแหน่ง ที่อยู่ของผู้กล่าวหาหรือพยาน หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นเหตุให้ทราบถึงตัวผู้กล่าวหาหรือพยาน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๗๓  ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการให้ปากคำของผู้ถูกกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำทนายความหรือบุคคลซึ่งผู้ถูกกล่าวหาไว้วางใจไม่เกินสามคนเข้าฟังในการชี้แจงหรือให้ปากคำของตนได้

               มาตรา ๗๔  ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าพยานหลักฐานใดในสำนวนการไต่สวนซึ่งต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมาสืบพยานในภายหลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันทีได้ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

               มาตรา ๗๕  เมื่อดำเนินการไต่สวนเสร็จแล้ว ให้จัดทำสำนวนการไต่สวนเสนอประธานกรรมการ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อและตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา
               (๒) เรื่องที่ถูกกล่าวหา
               (๓) ข้อกล่าวหา คำแก้ข้อกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่ได้จากการไต่สวน
               (๔) เหตุผลในการพิจารณาวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
               (๕) บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
               (๖) สรุปความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหา
               ให้มีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนการไต่สวนเพื่อมีมติโดยเร็วซึ่งต้องนำเสนอต่อที่ประชุมไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับสำนวนการไต่สวน เว้นแต่จะได้มีการนัดหมายให้มีการประชุมทุกวันอยู่แล้วและมีเรื่องอื่นค้างพิจารณาอยู่
               ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการจัดทำรายงานการไต่สวนเบื้องต้นด้วยโดยอนุโลม
               ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนตามลำดับที่ได้รับสำนวนนั้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเรื่องใดกระทบถึงประโยชน์ของรัฐหรือประชาชนอย่างร้ายแรง จะหยิบยกขึ้นพิจารณาก่อนก็ได้

หมวด ๓ การดำเนินการกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งเฉพาะ (มาตรา ๗๖ - ๘๙)

ส่วนที่ ๑ การดำเนินคดีทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (มาตรา ๗๖ - ๘๖)

 

ส่วนที่ ๑
การดำเนินคดีทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่
หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

-------------------------

               มาตรา ๗๖  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติลงความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้อัยการสูงสุดแต่ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ

               มาตรา ๗๗  เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีอาญาตามมาตรา ๗๖ ไว้แล้ว ให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน
               ในกรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุข้อไม่สมบูรณ์ให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในกรณีนี้ ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากันโดยมีผู้แทนจากแต่ละฝ่ายไม่เกินฝ่ายละห้าคน ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ รวมทั้งดำเนินการอื่นใดให้สำนวนการไต่สวนครบถ้วนสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง เพื่อส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อไป ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการร่วมมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) (๓) และ (๔) ด้วย
               ในกรณีที่คณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควร โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ แต่ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรฟ้องคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ แต่ต้องไม่ช้ากว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่หาข้อยุติไม่ได้
               ให้สำนักงานอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมตามวรรคสอง และให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทำหน้าที่เลขานุการด้วย
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีเอง ห้ามมิให้พนักงานอัยการรับแก้ต่างคดีให้แก่จำเลย
               ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง มิให้นับรวมระยะเวลาที่ต้องดำเนินการตามวรรคสองและวรรคสามด้วย
               ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรานี้ ในกรณีมีเหตุอันจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจขยายออกไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่กำหนดไว้ และเมื่ออัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขยายเวลาแล้วให้แจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในการปฏิบัติหน้าที่และการขยายระยะเวลาต้องคำนึงถึงอายุความในการดำเนินคดีประกอบด้วย
               การฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดในมาตรานี้ย่อมกระทำได้ถ้าได้ฟ้องภายในอายุความแต่ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอัยการ อัยการสูงสุด หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี ต้องดำเนินการสอบสวน หากปรากฏว่าการไม่ปฏิบัติภายในระยะเวลาดังกล่าวเกิดจากการจงใจปล่อยปละละเลย หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใด ให้ดำเนินการเพื่อลงโทษผู้นั้นต่อไปโดยเร็ว

               มาตรา ๗๘  ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวอยู่ก่อนแล้วตามมาตรา ๓๙ ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวบุคคลดังกล่าวมาศาลในวันฟ้องคดี
               ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุต่อศาล อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่อัยการสูงสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายมีอำนาจขอให้ศาลออกหมายจับได้

               มาตรา ๗๙  ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาแล้ว ถ้าอัยการสูงสุดเห็นควรอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาต่อไปให้ดำเนินการได้
               กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นควรไม่อุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบการพิจารณาด้วย
               ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ การจะอุทธรณ์หรือไม่ ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๘๐  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะพิจารณามอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือจะพิจารณาแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๘๑  ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้องตามมาตรา ๗๗ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
               ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ

               มาตรา ๘๒  ในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในทางทรัพย์สินหรือเป็นการละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลอื่น อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำหรือคำสั่งอันมิชอบที่เป็นการละเมิดนั้นก็ได้
               สำหรับความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป
               การยื่นคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอนุมัติหรืออนุญาต หรือกระทำการใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วย

               มาตรา ๘๓  ในการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดได้ใช้หรือได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ เนื่องจากการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี อาจร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
               (๑) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
               (๒) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยมิชอบ
               (๓) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทำความผิด หรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทำความผิด
               (๔) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) หรือ (๓)
               (๕) ดอกผลหรือประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (๑) (๓) หรือ (๔)

               มาตรา ๘๔  เพื่อประโยชน์ในการร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินตามมาตรา ๘๓ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินนั้นในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ทรัพย์สินนั้นมา หรือมูลค่าของทรัพย์สินนั้นในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดแล้วแต่ว่ามูลค่าในขณะใดจะมากกว่ากัน และขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งให้ชำระเงินหรือสั่งให้ริบทรัพย์สินอื่นของผู้กระทำความผิดแทนตามมูลค่าดังกล่าวได้
               ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทำความผิด แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้เลขาธิการมีอำนาจเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินดังกล่าวจนกว่าคดีถึงที่สุด หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๘๕  การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินตามมาตรา ๖๙ และมาตรา ๘๔ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกัน หรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบก็ได้
               การให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินไปดูแลและใช้ประโยชน์ การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด หรือการนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               ถ้าความปรากฏในภายหลังว่า ทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดหรือที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่ได้รับคืนหรือชดใช้ราคา แล้วแต่กรณี
               การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๘๖  ในกรณีที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ก็ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และถ้าในระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่มิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ก็ให้มีสิทธิได้รับเสมือนหนึ่งผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนที่จะมีคำพิพากษา การจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตำแหน่ง

ส่วนที่ ๒ การดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (มาตรา ๘๗)

 

ส่วนที่ ๒
การดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม
มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

-------------------------

               มาตรา ๘๗  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
               การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวน และให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว
               ให้นำความในมาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้

ส่วนที่ ๓ การดำเนินการกรณีฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔ ของรัฐธรรมนูญ (มาตรา ๘๘ - ๘๙)

 

ส่วนที่ ๓
การดำเนินการกรณีฝ่าฝืนมาตรา ๑๔๔ ของรัฐธรรมนูญ

-------------------------

               มาตรา ๘๘  เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคสี่ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน และไม่ว่าในกรณีใดผู้ใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้
               เจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งจัดทำโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะพ้นจากความรับผิดตามรัฐธรรมนูญเฉพาะเมื่อได้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้ดำเนินการสอบสวน
               การสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนแล้วเห็นว่ามีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็วและให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคสาม
               ในกรณีจำเป็นและได้รับคำร้องขอ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งเช่นเดียวกับการคุ้มครองพยานตามมาตรา ๑๓๑

               มาตรา ๘๙  การเรียกเงินคืนกรณีฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๔๔ วรรคสาม หรือวรรคสี่ ให้กระทำได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณนั้น ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา ๕๕ (๑) มาใช้บังคับกับการดำเนินการตามมาตรานี้

หมวด ๔ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (มาตรา ๙๐ - ๑๐๑)

 

หมวด ๒
การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

-------------------------

               มาตรา ๙๐  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นตามมาตรา ๗๐ และเห็นว่าการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจจะเกิดความเสียหายให้แก่ทางราชการ หรือเป็นอุปสรรคในการไต่สวนต่อไป ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ถ้าต่อมาผลการไต่สวนปรากฏว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็วเพื่อดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
               เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหานั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นเวลาหกเดือนหรือจนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่พ้นกำหนดหกเดือนแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมิได้มีคำวินิจฉัย ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติงานต่อไป
               ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้น และมีอำนาจสั่งการตามวรรคสองได้
               ความในมาตรานี้ไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหานั้น
               ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ

               มาตรา ๙๑  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
               (๑) ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวัน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อไป
               (๒) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนภายในสามสิบวันเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป

               มาตรา ๙๒  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้ไปรายงานตัวต่ออัยการสูงสุดตามวันเวลาที่กำหนด
               หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ต่อไป

 

ส่วนที่ ๑
การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

-------------------------

               มาตรา ๙๓  เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีอาญาตามมาตรา ๙๑ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวน
               ให้นำความในมาตรา ๗๗ มาตรา ๗๘ มาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔  มาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๙๔  เมื่อศาลที่มีเขตอำนาจพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ตามสำนวนที่ได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ถ้าอัยการสูงสุดจะไม่อุทธรณ์หรือฎีกา ให้อัยการสูงสุดหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน ในกรณีที่มีความเห็นต่างกันและไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมและประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               เมื่ออัยการสูงสุดฟ้องคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว จะถอนฟ้องมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรถอนฟ้อง

               มาตรา ๙๕  ในการดำเนินคดีหากผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุดในขณะกระทำความผิดหรือขณะที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการมีอำนาจฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเอง

               มาตรา ๙๖  ในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ให้อัยการสูงสุดเป็นอัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร หรือจะมอบหมายให้อัยการทหารเป็นผู้ฟ้องคดีแทนก็ได้

               มาตรา ๙๗  ในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นำความในมาตรา ๙๑ (๑) มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ และมาตรา ๙๔ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

 

ส่วนที่ ๒
การดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

-------------------------

               มาตรา ๙๘  เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๙๑ แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี
               กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยเร็ว โดยให้ถือรายงานและเอกสารหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเพื่อพิจารณาทางวินัยในสำนวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา
               การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับแจ้งมติที่ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนตามมาตรา ๙๙ วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๔๘ แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป
               สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
               ในการส่งสำนวนการไต่สวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานกรรมการ อาจมอบหมายให้เลขาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้

               มาตรา ๙๙  ในการพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมตินั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในการพิจารณาทบทวนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาพยานหลักฐานโดยละเอียด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นประการใด ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๑๐๐  ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนหรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามมาตรา ๙๘ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อกฎหมายหรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น
               ในกรณีตามวรรคหนึ่งหรือในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการทางวินัยไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรีและให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควร หรือในกรณีจำเป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะขอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือคณะกรรมการอื่นซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารรัฐวิสาหกิจ หรือผู้สั่งแต่งตั้งกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๐๑  ผู้ซึ่งถูกลงโทษตามมาตรา ๙๘ ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ถูกลงโทษโดยไม่ต้องอุทธรณ์ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกลงโทษนั้น หรือจะดำเนินการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกลงโทษนั้นก่อนก็ได้
               ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองโดยมิได้ฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ศาลปกครองแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดีด้วยได้

หมวด ๕ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน (มาตรา ๑๐๒ - ๑๒๕)

ส่วนที่ ๑ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และการตรวจสอบ (มาตรา ๑๐๒ - ๑๑๔)

 

ส่วนที่ ๑
การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และการตรวจสอบ

-------------------------

               มาตรา ๑๐๒  ในการดำเนินการตามมาตรา ๒๘ (๓) อย่างน้อยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               (๑) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (๒) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
               (๓) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
               (๔) ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป
               (๕) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป
               (๖) ข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป
               (๗) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
               (๘) ตำแหน่งอื่นตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
               (๙) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               คู่สมรสตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๐๓  เจ้าพนักงานของรัฐตำแหน่งใดจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้นำความในวรรคสองของมาตรา ๑๐๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๐๔  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๒ และมาตรา ๑๐๓ แล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้แจ้งให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบด้วย

               มาตรา ๑๐๕  การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ยื่นพร้อมหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยในกรณียื่นเป็นเอกสารผู้ยื่นจะต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และสำเนาหลักฐานที่ยื่นไว้ทุกหน้า พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดของเอกสารประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นด้วย ทั้งนี้ ทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงรายการ ให้รวมทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศ และให้รวมถึงทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าวที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย
               หลักเกณฑ์ ระยะเวลา การขยายระยะเวลา วิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยอาจกำหนดให้ยื่นด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ การกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรูปแบบและวิธีการใช้อิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารได้ด้วย รวมทั้งให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
               การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นตามกำหนด ดังต่อไปนี้
               (๑) ตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๓) และ (๙) ให้ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง
               (๒) ตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และตำแหน่งอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด นอกจาก (๑) ให้ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งและเมื่อพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกสามปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
               ในกรณีตาม (๑) ถ้าพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายในหนึ่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
               ในกรณีตาม (๑) หรือ (๒) ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน

               มาตรา ๑๐๖  เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๒ (๑) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๒) (๓) (๗) และ (๙) รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว โดยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สิน และภาพถ่ายทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นหรือที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยการเผยแพร่ให้กำหนดช่วงระยะเวลาในการดำเนินการที่ชัดเจน
               การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๙) ตำแหน่งใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่ง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูล ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลนั้นก่อนการเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปได้ โดยแจ้งให้ผู้ยื่นทราบถึงการดำเนินการดังกล่าว

               มาตรา ๑๐๗  เมื่อมีการแต่งตั้งหรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากตำแหน่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในหน่วยงานใด ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะเป็นผู้แจ้ง

               มาตรา ๑๐๘  บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่มีผู้ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อความหรือเอกสารได้

               มาตรา ๑๐๙  ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามเวลาที่กำหนด ให้สำนักงานมีหนังสือแจ้งให้บุคคลดังกล่าวทราบโดยทางไปรษณีย์ตอบรับหรือทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งกำหนดเวลาที่ขยายให้ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และในกรณีที่มีความจำเป็นอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกินสามสิบวัน
               เมื่อปรากฏว่าบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือเอกสารประกอบที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่งไม่ครบถ้วนหรือมีข้อมูลคลาดเคลื่อน และไม่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่ามีเจตนาปกปิดทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายแจ้งให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการให้ครบถ้วนหรือถูกต้องภายในระยะเวลาที่เลขาธิการกำหนด
               เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ถ้าบุคคลดังกล่าวยังไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ยื่นไม่ครบถ้วนหรือมีข้อมูลคลาดเคลื่อน และมีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่ามีเจตนาปกปิดทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้สำนักงานเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามมาตรา ๑๑๔ ต่อไป

               มาตรา ๑๑๐  ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินตามบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งแรก และเมื่อมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งต่อ ๆ ไปให้ตรวจสอบถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานไต่สวน ดำเนินการตรวจสอบตามวรรคหนึ่งก่อนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาที่จะต้องตรวจสอบหรือพิจารณาข้อโต้แย้งให้แล้วเสร็จ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
               เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้นำความในมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๘ มาใช้บังคับกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินด้วยโดยอนุโลม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานไต่สวนมีอำนาจตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) และ (๓) ด้วย

               มาตรา ๑๑๑  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๖ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป การเปิดเผยดังกล่าวให้เปิดเผยว่าผิดปกติหรือไม่
               ในกรณีที่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบว่าไม่พบเหตุผิดปกติ การเปิดเผยเช่นนั้นไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยของความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงขึ้นในภายหลัง

               มาตรา ๑๑๒  ในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความถูกต้องหรือความมีอยู่จริงตามที่ปรากฏในรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือทรัพย์สินหรือหนี้สินอื่นใดที่มิได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และแจ้งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามหน่วยงานใดเปิดเผยข้อมูลในความครอบครองมาใช้บังคับกับการแจ้งข้อมูลดังกล่าว

               มาตรา ๑๑๓  ในกรณีที่ผลการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินพบว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเพื่อร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

               มาตรา ๑๑๔  เมื่อปรากฏว่าผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้นั้นทราบ และกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้นั้นจะมาชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาต่อไป
               กรณีตามวรรคหนึ่ง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) กรณีเป็นบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๓) และ (๙) ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีของบุคคลตามมาตรา ๑๐๒ (๙) ด้วย
               (๒) กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๑๐๒ (๙) ให้เสนอเรื่องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อวินิจฉัย
               ในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคสอง ให้นำความในมาตรา ๘๐ มาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

ส่วนที่ ๒ การดำเนินการกรณีร่ำรวยผิดปกติ (มาตรา ๑๑๕ - ๑๒๕)

 

ส่วนที่ ๒
การดำเนินการกรณีร่ำรวยผิดปกติ

-------------------------

               มาตรา ๑๑๕  เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าเพราะเหตุมีการกล่าวหาหรือเพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนโดยพลัน
               การกล่าวหาและการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในหมวด ๒ การไต่สวน มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่จะมีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในส่วนนี้

               มาตรา ๑๑๖  ในการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินและหนี้สิน การเคลื่อนไหวทางการเงิน หรือการทำธุรกรรมของบุคคลนั้น และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมาประกอบการวินิจฉัย และในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือเป็นการยื่นตามมาตรา ๑๓๐ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมาพิจารณาเพื่อเทียบเคียงกับทรัพย์สินที่มีอยู่ในขณะดำเนินการไต่สวน ประกอบกับรายได้และรายจ่าย และการเสียภาษีเงินได้ของผู้นั้น และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามรายการและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ไม่ว่าผู้นั้นจะได้เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมาก่อนแล้วหรือไม่ก็ตาม
               ระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหกสิบวัน
               เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตามวรรคหนึ่งแล้ว แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะถึงแก่ความตายก็ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

               มาตรา ๑๑๗  เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติแล้ว ให้ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่พิสูจน์หรือแสดงที่มาของรายได้หรือทรัพย์สินของตน

               มาตรา ๑๑๘  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้น รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ โดยให้นำความในมาตรา ๘๔ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๑๙  เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีตามมาตรา ๑๑๘ แล้ว ให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้นำความในมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               ในคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ
               การดำเนินคดีหรือการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

               มาตรา ๑๒๐  ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับฟ้องคดีตามมาตรา ๑๑๙ ให้นำความในมาตรา ๘๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจากการกระทำความผิด รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
               ให้นำความในมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับกับกรณีร่ำรวยผิดปกติด้วย
               ในกรณีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๑๑๙ สำหรับบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีสำหรับบุคคลดังกล่าวได้ด้วย

               มาตรา ๑๒๑  ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้ยกคำร้องด้วยเหตุที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหา ให้นำความในมาตรา ๘๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๒๒  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีมติ เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไป และให้นำความในมาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๑๑๙ มาตรา ๑๒๐ และมาตรา ๑๒๑ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ให้ประธานกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินต่อไป โดยให้นำความในมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               ในกรณีตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนของผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่วินิจฉัยเพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่
               ความในวรรคสามมิให้ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าข้าราชการดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ ให้แจ้งให้ประธานกรรมการแจ้งไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ แล้วแต่กรณี ต่อไป และในกรณีที่มีการสั่งให้พ้นจากราชการ ให้ถือว่าเป็นการให้พ้นจากราชการเพราะกระทำการทุจริตต่อหน้าที่
               ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ส่งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุปไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการทุจริตต่อหน้าที่
               ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตามวรรคสาม หรือผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตามวรรคห้า มีอำนาจสั่งไล่ออกหรือดำเนินการถอดถอนได้โดยไม่ต้องสอบสวนหรือขอมติจากคณะรัฐมนตรี หรือความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคล

               มาตรา ๑๒๓  ในกรณีที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลให้ยกคำร้องขอด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติตามที่ถูกกล่าวหา และถ้าผู้ถูกกล่าวหาได้ถูกไล่ออกหรือถูกถอดถอนตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสามหรือวรรคห้า ให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน หรือผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี สั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกหรือถอดถอนโดยเร็ว และผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อื่นใดที่พึงได้รับถ้ามิได้ถูกไล่ออกหรือถูกถอดถอน ทั้งนี้ ตามระเบียบบริหารงานบุคคลหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนด
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสี่ การจะดำเนินการอย่างใดให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองหรือคณะกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี กำหนด
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ผู้นั้นได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ในกรณีที่ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับดังกล่าว ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐยกอายุความใดขึ้นอ้างอันจะเป็นเหตุให้ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลดังกล่าวได้

               มาตรา ๑๒๔  การโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้กระทำหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๑๑๖ ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือระงับการกระทำนั้น ๆ ได้ เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าตนได้รับโอนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

               มาตรา ๑๒๕  ถ้าศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ใดซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน
               ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลถึงที่สุดแล้ว หากปรากฏว่ามีการโอนหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินก่อนหรือหลังมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่ถูกศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนการโอนนั้นได้ หากไม่สามารถเพิกถอนการโอนนั้นได้เพราะเหตุแห่งการแปลงสภาพหรือเหตุอื่นให้ดำเนินการตามมาตรา ๘๔ โดยอนุโลม

หมวด ๖ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม (มาตรา ๑๒๖ - ๑๒๙)

 

หมวด ๖
การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนร่วม

-------------------------

               มาตรา ๑๒๖  นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
               (๒) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               (๓) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               (๔) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
               ให้นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วยโดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง
               คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เจ้าพนักงานของรัฐที่มีลักษณะตาม (๒) หรือ (๓) ต้องดำเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง

               มาตรา ๑๒๗  ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา ๑๒๖ (๔) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

               มาตรา ๑๒๘  ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป
               บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๒๙  การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

หมวด ๗ การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา ๑๓๐ - ๑๓๗)

 

หมวด ๗
การส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

-------------------------

               มาตรา ๑๓๐  ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๔๒ มาตรา ๑๐๓ และมาตรา ๑๕๘ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
               บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิได้มีเงินเดือนและตำแหน่งประจำ
               ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคหนึ่งดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง ให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินสำหรับตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำเพียงตำแหน่งเดียว
               บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาไว้ที่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และให้ถือเป็นความลับในราชการที่จะเปิดเผยมิได้ เว้นแต่จะส่งมอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ร้องขอ หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา ๑๐๓ หรือเมื่อมีกรณีที่จะต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
               ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐย้ายไปสังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใหม่ ให้หน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นสังกัดอยู่เดิมส่งมอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้นั้นให้แก่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นไปสังกัดใหม่ ทั้งนี้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นพ้นจากหน่วยงานของรัฐนั้น
               ระยะเวลาการยื่น แบบรายการ หลักเกณฑ์ วิธีการยื่น และการเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องคำนึงถึงการตรวจสอบได้ ความสะดวก และไม่สร้างภาระจนเกินจำเป็น ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะยกเว้นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จ้างมาเป็นการชั่วคราวหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางประเภท ให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามวรรคหนึ่งก็ได้
               ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งและวรรคหก

               มาตรา ๑๓๑  ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าคดีใดสมควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่บุคคลดังกล่าว โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้อำนาจของรัฐมนตรีตามกฎหมายดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินการดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจกำหนดมาตรการอื่นใดที่สมควรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือ และมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นช่วยดำเนินการตามที่จำเป็นได้
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่จะได้รับความคุ้มครองหรือช่วยเหลือก่อน
               ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือคู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลดังกล่าว เพราะมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนา เนื่องจากการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้บุคคลนั้นหรือทายาทมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอรับค่าทดแทนเท่าที่จำเป็นและสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญาด้วย
               ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการดำเนินการหรือให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของบุคคลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยิ่ง และสมควรได้รับยกย่องให้เป็นแบบอย่างแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนโดยทั่วไป ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและระดับตำแหน่งให้แก่บุคคลนั้นเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

               มาตรา ๑๓๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๓๕ ผู้ใดแจ้งถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา

               มาตรา ๑๓๓  ในกรณีบุคคลตามมาตรา ๑๓๑ วรรคหนึ่ง เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เมื่อบุคคลนั้นร้องขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าหากยังคงปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดเดิมต่อไป อาจถูกกลั่นแกล้งหรือได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการกล่าวหาหรือการให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลนั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานเบื้องต้นอันควรเชื่อได้ว่าน่าจะมีเหตุดังกล่าว ให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้ได้รับความคุ้มครองหรือมีมาตรการอื่นใดตามที่เห็นสมควรต่อไป และอาจเสนอให้มีการกำหนดตำแหน่งและสิทธิประโยชน์อื่นเพื่อคุ้มครองบุคคลนั้นในหน่วยงานของรัฐอื่นที่ไม่ต่ำกว่าระดับและตำแหน่งที่บุคคลดังกล่าวเคยดำรงตำแหน่งอยู่เดิม

               มาตรา ๑๓๔  ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเพราะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ทำ ถ้าได้ทำหนังสือโต้แย้งหรือให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งหรือให้ยืนยันคำสั่งแล้วหรือได้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบถึงเบาะแส ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้กระทำการนั้น ให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

               มาตรา ๑๓๕  บุคคลใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าพนักงานของรัฐ หากได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าพนักงานของรัฐรายอื่นหรือผู้ถูกกล่าวหารายอื่นนั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรจะกันผู้นั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันบุคคลตามวรรคหนึ่งไว้เป็นพยานแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยกับบุคคลซึ่งถูกกันไว้เป็นพยานนั้น และบุคคลนั้นอาจได้รับความช่วยเหลือได้ตามสมควรจนคดีถึงที่สุด เว้นแต่บุคคลนั้นฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขการกันไว้เป็นพยานตามวรรคหนึ่ง
               การคุ้มครองตามวรรคสอง ย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งตำแหน่งของพยานที่ดำรงอยู่และการเลื่อนขั้นเงินเดือนรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นด้วย เว้นแต่บุคคลนั้นไม่สมควรได้รับการคุ้มครองเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาพของการกระทำผิดแล้ว หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขการกันไว้เป็นพยาน

               มาตรา ๑๓๖  เมื่อผู้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานของรัฐมีคำสั่งให้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่เจ้าพนักงานของรัฐในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง ในกรณีเช่นนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะสั่งให้ผู้บังคับบัญชารายงานความคืบหน้าและผลของการดำเนินการ หรือจะให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไปก็ได้ และให้นำความในมาตรา ๖๖ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๓๗  ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หากผู้ใดชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการชี้ช่องแจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยคำสั่งถึงที่สุดของศาลแล้ว ผู้นั้นอาจได้เงินรางวัลจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

หมวด ๘ ความร่วมมือกับต่างประเทศ (มาตรา ๑๓๘ - ๑๔๐)

 

หมวด ๘
ความร่วมมือกับต่างประเทศ

-------------------------

               มาตรา ๑๓๘  ในการดำเนินการด้านการต่างประเทศเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต
               (๒) ดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในคดีทุจริตในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการหรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศในคดีทุจริตซึ่งมิใช่คำร้องขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

               มาตรา ๑๓๙  เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ หรือมาตรา ๑๗๖ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานต่างประเทศที่มีหน้าที่และอำนาจรับไปดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

               มาตรา ๑๔๐  เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลใด ว่ามีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ มาตรา ๑๗๖ หรือมาตรา ๑๗๗ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยหรือดำเนินการอื่นตามที่ได้รับการร้องขอได้
               ความผิดตามมาตรา ๑๗๒ มาตรา ๑๗๓ มาตรา ๑๗๔ มาตรา ๑๗๕ มาตรา ๑๗๖ และมาตรา ๑๗๗ ถ้าผู้มีสัญชาติไทยหรือเจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำ หรือกระทำต่อผู้มีสัญชาติไทยหรือเจ้าพนักงานของรัฐ แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และมีความเห็นหรือวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้ ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำความในมาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ และมาตรา ๘๕ มาใช้บังคับกับทรัพย์สินที่ต้องริบด้วยโดยอนุโลม แต่มิให้นำบทบัญญัติที่บัญญัติให้ทรัพย์สินที่ริบตกเป็นของแผ่นดินมาใช้บังคับ ในกรณีเช่นนั้น การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ริบให้เป็นไปตามข้อตกลงกับประเทศที่ร้องขอ

หมวด ๙ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา ๑๔๑ - ๑๖๑)

 

หมวด ๙
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-------------------------

               มาตรา ๑๔๑  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช.” เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคล รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๑๔๒  สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) รับผิดชอบงานธุรการ และดำเนินการเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. บรรลุภารกิจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายอื่น
               (๒) อำนวยความสะดวก ประสานงาน ให้ความร่วมมือ ส่งเสริม และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ
               (๓) ประสานงานและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๔) ดำเนินการหรือจัดให้มีการรวบรวม วิเคราะห์ ศึกษาวิจัย และเผยแพร่ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบและอันตรายของการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
               (๕) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส ตามกลไกที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา ๓๓
               (๖) เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานของรัฐ หรือภาคเอกชน เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๗) จัดทำระบบสารสนเทศของข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุผู้รับผิดชอบและความคืบหน้าของการดำเนินการของแต่ละเรื่อง เพื่อกรรมการจะได้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา
               (๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย และตามที่กฎหมายบัญญัติ
               ในการดำเนินการตาม (๖) สำนักงานต้องตอบข้อหารือภายในสามสิบวัน เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาดังกล่าว ประธานกรรมการอาจขยายระยะเวลาออกไปตามที่จำเป็นได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกินเก้าสิบวัน

               มาตรา ๑๔๓  ในการกำกับดูแลสำนักงาน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การจัดแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
               (๒) การบริหารและจัดการการเงินและทรัพย์สิน การงบประมาณ และการพัสดุของสำนักงาน
               (๓) การวางระเบียบว่าด้วยการจัดทำ การเปิดเผย การเผยแพร่ การเก็บรักษา และการทำลายเอกสารและข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ทั้งนี้ ในการเผยแพร่ข้อมูลให้จัดทำสำหรับคนพิการที่จะสามารถเข้าถึงได้ด้วย
               (๔) วางระเบียบเก็บรักษาและบริหารจัดการพยานหลักฐานของกลางในคดีและทรัพย์สิน รวมทั้งการจำหน่าย การมอบหมายให้ผู้อื่นเก็บรักษา หรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว
               (๕) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่น และค่าตอบแทนของพยานบุคคลหรือผู้ซึ่งช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้องขอของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               (๖) วางระเบียบเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะบุคคล เพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ใช่การไต่สวน และกำหนดเบี้ยประชุมให้แก่บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าว
               (๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการไต่สวนตามมาตรา ๕๑ คณะกรรมการตามมาตรา ๓๓ วรรคสอง และคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๓๓ วรรคสาม
               การดำเนินการตาม (๑) ต้องคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความคล่องตัว
               ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามและเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

               มาตรา ๑๔๔  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงาน มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศในเรื่องดังต่อไปนี้
               (๑) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิและประโยชน์อื่นของเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๒) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การถอดถอน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม สมรรถภาพ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การดำเนินการสอบสวนทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษ และการอื่นใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลสำหรับเลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างพนักงานราชการและลูกจ้างของสำนักงาน
               (๓) การรักษาราชการแทน การปฏิบัติราชการแทน และการรักษาการในตำแหน่งของข้าราชการของสำนักงาน
               (๔) วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี และวันหยุดราชการประจำปี
               (๕) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งเครื่องแบบของกรรมการ เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๖) การจ้างและการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการของสำนักงาน รวมตลอดทั้งค่าจ้างหรือค่าตอบแทนอื่นให้แก่บุคคลดังกล่าว
               (๗) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่เลขาธิการ ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงาน
               (๘) การรักษาทะเบียนประวัติและควบคุมการเกษียณอายุของข้าราชการสำนักงาน
               การกำหนดตำแหน่งตาม (๑) อย่างน้อยต้องกำหนดให้มีตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวน โดยผู้ช่วยพนักงานไต่สวนและพนักงานไต่สวนต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งตามมาตรา ๑๔๖ (๑) ด้วย
               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ หรือด้านการงบประมาณ จำนวนไม่เกินสามคนร่วมเป็นกรรมการ โดยให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และอาจแต่งตั้งข้าราชการสำนักงานจำนวนไม่เกินสามคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลหรือพิจารณาคำร้องทุกข์หรือคำอุทธรณ์ที่เป็นอิสระ และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใด ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือทำหน้าที่ในคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนด้วยก็ได้ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงานกำหนด
               ในการออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเที่ยงธรรม ขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยเฉพาะการกำหนดตาม (๑) ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพและความเพียงพอในการดำรงชีพ และภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างแต่ละสายงานและระดับด้วย
               ระเบียบหรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการเป็นผู้ลงนาม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับกับวินัยและการลงโทษทางวินัยแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยโดยอนุโลม
               การปฏิบัติหน้าที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน และคณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้มีสิทธิได้รับค่าเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับ ก.พ. หรือ อ.ก.พ. วิสามัญ แล้วแต่กรณี
               ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำว่า “ก.พ.” ให้หมายถึง “คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช.” และคำว่า “ส่วนราชการที่มีหัวหน้าส่วนราชการรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี” ให้หมายถึง “สำนักงาน ป.ป.ช.”

               มาตรา ๑๔๕  ข้าราชการสำนักงาน ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ให้ข้าราชการสำนักงานเป็นข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
               การจ่ายเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด

               มาตรา ๑๔๖  ตำแหน่งของข้าราชการสำนักงานให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยให้จำแนกประเภทตำแหน่งดังต่อไปนี้
               (๑) ข้าราชการสำนักงาน สาขากระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นผู้มีพื้นความรู้สำเร็จการศึกษาระดับตั้งแต่ปริญญาโททางกฎหมายขึ้นไป หรือสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาสาขาอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งนี้ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี หรือการให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือการดำเนินคดีในชั้นศาล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               (๒) ข้าราชการสำนักงานประเภททั่วไป ให้จำแนกประเภทตำแหน่งตามสาขาอาชีพและตามภารกิจของลักษณะงานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ โดยจะมีตำแหน่งประเภทวิชาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนด้วยก็ได้
               ในส่วนของตำแหน่งทางบริหารตาม (๑) และ (๒) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
               คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแต่งตั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่าในสำนักงานให้เป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวนด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๔๗  มาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดตามมาตรา ๑๔๔ (๒) ต้องระบุด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องได้รับโทษอย่างใด
               ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าข้าราชการหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ใดกระทำการใดโดยไม่สุจริตหรือเอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้ใดในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเร็ว และในระหว่างนั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย้ายผู้นั้นให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่หรือจากท้องที่ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ทันที
               ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่เลขาธิการด้วยโดยอนุโลม โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้พลางก่อนได้

               มาตรา ๑๔๘  ให้สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานและรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกำหนดให้มีรองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้
               วิธีการได้มาซึ่งเลขาธิการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เมื่อมีกรณีที่จะแต่งตั้งเลขาธิการ รองเลขาธิการ หรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่าให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

               มาตรา ๑๔๙  เลขาธิการต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ เป็นกลาง มีจริยธรรมที่ดี และปราศจากอคติทั้งปวง และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของสำนักงานตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
               เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

               มาตรา ๑๕๐  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
               (๓) ลาออก
               (๔) คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะไม่ผ่านการประเมิน ตามระเบียบหรือประกาศที่ออกตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
               กรณีที่เลขาธิการพ้นตำแหน่งตามวาระแต่ยังไม่พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระตามวรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) ให้บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักงาน หรือตำแหน่งอื่นใดซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่า

               มาตรา ๑๕๑  เลขาธิการมีหน้าที่และอำนาจควบคุมดูแลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) บรรจุ แต่งตั้ง โอน ถอดถอน เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๔๔ (๒)
               (๒) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบ หรือประกาศ หรือมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
               (๓) หน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น และตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๕๒  ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน  เพื่อการนี้ เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติราชการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกิจการสำคัญเกี่ยวกับการงบประมาณของสำนักงาน และกิจการอื่นใดที่มีผลต่อการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ให้เลขาธิการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน

               มาตรา ๑๕๓  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนองบประมาณรายจ่ายเพื่อจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรรให้ไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง
               ในการเสนองบประมาณรายจ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงรายได้และทรัพย์สินที่มีอยู่ด้วย

               มาตรา ๑๕๔  เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๕๓ ใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               การใช้จ่ายเงินของสำนักงานต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการเฉพาะกรณี
               ในการเบิกงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ให้สำนักงานส่งข้อมูลคำขอเบิกงบประมาณต่อกรมบัญชีกลาง โดยให้ระบุจำนวนเงินที่จะต้องใช้ในแต่ละงวด งวดละสามเดือน และให้กรมบัญชีกลางสั่งจ่ายเงินให้แก่สำนักงานภายในสามวันก่อนวันขึ้นงวดใหม่ แต่ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่าที่ได้แจ้งไว้ในงวดใด ให้กรมบัญชีกลางจ่ายให้ตามที่สำนักงานร้องขอ

               มาตรา ๑๕๕  ทรัพย์สินของสำนักงานไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้

               มาตรา ๑๕๖  ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
               ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน โดยให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของสำนักงาน โดยแสดงให้เห็นด้วยว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด ได้ผลตามเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และคุ้มค่าเพียงใดแล้วทำรายงานเสนอผลการสอบบัญชีต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า

               มาตรา ๑๕๗  ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้กรรมการ กรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ มี ใช้ และพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ การมี การใช้ และการพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ยุทธภัณฑ์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๕๘  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งและหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นการเฉพาะก็ได้
               ให้นำความในมาตรา ๔๓ มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๕๙  เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลและเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเอง หรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
               คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาและวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนการไต่สวน

               มาตรา ๑๖๐  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแล้ว หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การไต่สวนเบื้องต้นของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแจ้งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยุติการดำเนินการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวนเองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อไปก็ได้ และเมื่อดำเนินการเป็นประการใดแล้วให้แจ้งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย
               ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นต่อไป เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยโดยให้ถือสำนวนการไต่สวนเบื้องต้น เอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

               มาตรา ๑๖๑  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด” เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงาน มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการตรวจสอบเบื้องต้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานกำหนด แต่ไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเบื้องต้น เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติมอบหมายให้ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นเฉพาะกรณี โดยมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด
               เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการสำนักงานให้จัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคตามจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดซึ่งต้องไม่เกินสิบสองภาค และให้มีหัวหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการ
               สำนักงาน ป.ป.ช. ภาคมีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนเบื้องต้น กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และมีหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานกำหนด

หมวด ๑๐ กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา ๑๖๒ - ๑๖๖)

 

หมวด ๑๐
กองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

-------------------------

               มาตรา ๑๖๒  ให้จัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้นในสำนักงานเรียกโดยย่อว่า “กองทุน ป.ป.ช.” มีวัตถุประสงค์เพื่อ
               (๑) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสนับสนุนภาคเอกชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือรณรงค์ในการป้องกันการทุจริต
               (๒) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือและค่าทดแทนตามมาตรา ๑๓๑ และเงินรางวัลตามมาตรา ๑๓๗
               (๓) ใช้จ่ายในการคุ้มครองการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๑
               (๔) ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

               มาตรา ๑๖๓  กองทุน ป.ป.ช. ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
               (๑) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อสมทบเข้ากองทุน ป.ป.ช.
               (๒) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช.
               เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุน ป.ป.ช. ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
               เงินและทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช. ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๖๔  การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน ป.ป.ช. และการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

               มาตรา ๑๖๕  หน้าที่และอำนาจในการบริหารและการจัดการกองทุน ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. เพื่อดูแลรับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และคณะกรรมการกองทุน ป.ป.ช. ดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีผู้แทนของหน่วยงานของรัฐที่มิใช่สำนักงาน หนึ่งคน ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หนึ่งคน

               มาตรา ๑๖๖  ภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ให้กองทุน ป.ป.ช. ส่งรายงานการเงินของกองทุน ป.ป.ช. ในปีที่ล่วงมาแล้ว ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินนั้น แล้วเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

หมวด ๑๑ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๖๗ - ๑๘๔)

 

หมวด ๑๑
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๑๖๗  ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตามมาตรา ๒๘ (๓) กรรมการตามมาตรา ๔๒ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๘ ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๘  เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               กรณีความผิดตามมาตรา ๑๒๖ วรรคสอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐนั้นรู้เห็นยินยอมด้วย เจ้าพนักงานของรัฐนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๙  เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๐  เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๑  เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๒  เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๓  เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

               มาตรา ๑๗๔  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

               มาตรา ๑๗๕  ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๖  ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ
               นิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
               บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึงผู้แทนของนิติบุคคล ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีหน้าที่และอำนาจในการนั้นหรือไม่ก็ตาม

               มาตรา ๑๗๗  ผู้ใดขัดขวางกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการสอบสวนหรือไต่สวน ฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี เพื่อมิให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               (๑) ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้เสียหายหรือพยานเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นไม่ไปพบเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือไม่ไปศาลเพื่อให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความ หรือเพื่อให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความอันเป็นเท็จ หรือไม่ให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
               (๒) ใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ ข่มขู่ ข่มขืนใจ หลอกลวง หรือกระทำการอันมิชอบประการอื่นเพื่อมิให้ผู้เสียหายหรือพยานไปพบเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือไม่ไปศาลเพื่อให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความ หรือเพื่อให้ผู้นั้นให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความอันเป็นเท็จ หรือไม่ให้ข้อเท็จจริงหรือเบิกความในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
               (๓) ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ เอาไปเสีย แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปกปิด หรือซ่อนเร้นเอกสารหรือพยานหลักฐานใด ๆ หรือปลอม ทำ หรือใช้เอกสาร หรือพยานหลักฐานใด ๆ อันเป็นเท็จในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
               (๔) ใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญ ข่มขู่ ข่มขืนใจ หรือกระทำการอันมิชอบประการอื่นต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
               ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำการตามวรรคหนึ่งต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้

               มาตรา ๑๗๘  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน หรือหัวหน้าพนักงานไต่สวนตามมาตรา ๓๔ (๑) (๒) หรือ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๗๙  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา ๑๑๒ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับรายวันอีกวันละหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง

               มาตรา ๑๘๐  ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามมาตรา ๓๖
               หากการเปิดเผยตามวรรคหนึ่งเป็นการเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา หรือชื่อและที่อยู่ของผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือเปิดเผยทะเบียนที่จัดทำขึ้นตามมาตรา ๖๐ วรรคสี่ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๘๑  ผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน ที่หัวหน้าพนักงานไต่สวน คณะกรรมการไต่สวน หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยึดหรืออายัดไว้ หรือสั่งให้ส่ง หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๒  ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ เลขาธิการ คณะกรรมการไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ถ้าการขัดขวางการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๘๓  กรรมการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๑๘๐ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และในกรณีที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความเที่ยงธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

               มาตรา ๑๘๔  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฟ้องเท็จหรือเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล ทั้งนี้ เพื่อจะแกล้งบุคคลใดให้ถูกไต่สวน ให้ได้รับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๑๘๕ - ๒๐๐)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๑๘๕  ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๙ เว้นแต่กรณีตามมาตรา ๑๙ (๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๙ และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑ (๑) และ (๑๘) มิให้นำมาใช้บังคับ

               มาตรา ๑๘๖  ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าจะครบวาระตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว

               มาตรา ๑๘๗  ให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๘๘  ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อไปจนกว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้จะกำหนดเป็นอย่างอื่น และการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นไว้แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ถือว่าเป็นการยื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๘๙  ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้บรรดาสิทธิ หน้าที่ และความผูกพันใด ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอยู่กับบุคคลใดในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้โอนมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๙๐  ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ และลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสิทธิและประโยชน์อื่นใดซึ่งข้าราชการหรือลูกจ้างดังกล่าวได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นสิทธิและประโยชน์อื่นใดที่ได้รับต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เว้นแต่จะมีระเบียบที่ออกตามมาตรา ๑๔๔ (๑) กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๙๑  ให้การถอดถอนจากตำแหน่งที่ได้ดำเนินการตามหมวด ๕ การถอดถอนจากตำแหน่งแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังคงมีผลอยู่ต่อไป และให้นับระยะเวลาที่ถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในการรับราชการของผู้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งนั้นต่อเนื่องต่อไป

               มาตรา ๑๙๒  ในการดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหา แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัย และการดำเนินการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ บรรดาที่ดำเนินการไปโดยชอบอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งบรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป ทั้งนี้ เว้นแต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะมีมติให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา ๔๘ เว้นแต่ระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงพ้นไปแล้วหรือเหลือน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ให้นับระยะเวลาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติให้ยื่นคำร้อง คำฟ้องต่อศาล หรือมอบอำนาจให้พนักงานไต่สวนหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทน หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติมไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้และให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและพิพากษาของศาลสำหรับคดีที่ยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

               มาตรา ๑๙๓  ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หรือผู้ช่วยพนักงานไต่สวน อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ คงดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไป แต่สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งดำรงตำแหน่งในสาขากระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๔๖ (๑) จะต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรเกี่ยวกับการไต่สวนและความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวน แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๙๔  บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ออกมายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง
               การดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยชอบก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้การดำเนินการดังกล่าวมีผลต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๙๕  ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกประกาศตามมาตรา ๑๒๖ (๒) และ (๓) ให้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนการถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีมาใช้บังคับกับประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกาศกำหนดโดยอนุโลม จนกว่าจะมีการออกประกาศตามมาตรา ๑๒๖ (๒) และ (๓) ดังกล่าว
               การนับระยะเวลาตามมาตรา ๑๒๖ วรรคสี่ สำหรับประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประกาศกำหนด ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ ให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ

               มาตรา ๑๙๖  บรรดาเรื่องกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไว้แล้ว ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๕๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะได้มีการมอบหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๙๗  ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามมาตรา ๑๔๔ ให้นำบรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน แล้วแต่กรณี หรือมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ออกมายกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง
               ให้ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่ง และค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นตามที่ได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าจะมีการออกระเบียบตามมาตรา ๑๔๔ (๑) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๙๘  บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าอ้างถึงเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๙๙  การดำเนินคดีที่ดำเนินการกับผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ดำเนินการอยู่ในศาลแล้ว ให้ศาลที่รับไว้พิจารณามีอำนาจดำเนินการต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยให้ถือเสมือนว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับอยู่

               มาตรา ๒๐๐  ในวาระเริ่มแรก เพื่อมิให้เกิดภาระเกินสมควร ในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๑๓๐ จะกำหนดการเริ่มใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละระดับหรือแต่ละประเภทแตกต่างกันตามที่เห็นสมควรก็ได้

   ผู้รับสนองพระราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม รวมทั้งได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตลอดจนวาระการดำรงตำแหน่งไว้ อีกทั้งได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวดตามมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการสมควรบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๑/๒๕๖๑ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

               ข้อ ๔  เพื่อประโยชน์ของการกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสียใหม่ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้ เสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป

               ข้อ ๕  ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

               ข้อ ๖  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๕๒ ก/หน้า ๑/๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนพิเศษ ง/หน้า ๔๒/๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑