พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๑๐)

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พ.ศ. ๒๕๖๑

-------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

               พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๗ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
               (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔
               (๓) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
               “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วย
               “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
               “ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด” หมายความว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
               “เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง
               “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               “ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               “วันเลือกตั้ง” หมายความว่า วันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นวันเลือกตั้ง
               “การเลือกตั้ง” หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               “เขตเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
               “หน่วยเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดให้ทำการออกเสียงลงคะแนน
               “ที่เลือกตั้ง” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการออกเสียงลงคะแนน และให้หมายความรวมถึงบริเวณที่กำหนดขึ้นโดยรอบที่เลือกตั้งด้วย
               “จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
               “อำเภอ” หมายความรวมถึงเขตด้วย
               “ตำบล” หมายความรวมถึงแขวงด้วย
               “ศาลากลางจังหวัด” หมายความรวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย
               “ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงสำนักงานเขตด้วย
               “เทศบาล” หมายความรวมถึงเมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษด้วย
               “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
               “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
               “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

               มาตรา ๕  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
               ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย

               มาตรา ๖  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จำเป็นได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๗  ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างเวลานับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการประชุมคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกรรมการแต่ละคนอาจอยู่ ณ สถานที่แตกต่างกันได้ และให้เลขาธิการดำเนินการบันทึกเสียงและภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๘  การพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นผู้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้
               การปฏิบัติหน้าที่ของศาลฎีกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะผู้พิพากษา ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

               มาตรา ๙  ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน ชุมชน รวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไป ให้มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อคณะกรรมการ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
               การส่งเสริม สนับสนุน และการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยอย่างน้อยต้องมีมาตรการคุ้มครองมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล รวมตลอดทั้งมาตรการรักษาความลับของผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลด้วย
               เบาะแสหรือข้อมูลที่องค์กร ชุมชน หรือบุคคลตามวรรคหนึ่งแจ้งต่อคณะกรรมการ จะนำไปเป็นเหตุในการดำเนินคดีแก่ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลนั้นในทางใดมิได้ เว้นแต่เป็นเบาะแสหรือข้อมูลที่ผู้แจ้งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ

               มาตรา ๑๐  ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๑/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑

หมวด ๑ บททั่วไป (มาตรา ๑๑ - ๑๗)

 

หมวด ๑
บททั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๑๑  เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
               (๑) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสี่ร้อยคน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครเป็นรายบุคคลตามการแบ่งเขตเลือกตั้งที่กําหนด เขตเลือกตั้งละหนึ่งคน
               (๒) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งเป็นการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทําขึ้น โดยเลือกเพียงพรรคการเมืองเดียวทั้งประเทศ

               มาตรา ๑๒  ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
               (๑) กำหนดวันเลือกตั้ง
               (๒) กำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเริ่มรับสมัครไม่เกินยี่สิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวัน
               (๓) จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้ง
               (๔) กําหนดวันและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
               ในกรณีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้นำความใน (๑) และ (๒) มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๓  ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวพร้อมกับชื่อของพรรคการเมืองนั้นให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               เมื่อพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลใดตามวรรคหนึ่งแล้ว บุคคลนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นจะถอนรายชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคคลนั้นได้เฉพาะกรณีบุคคลนั้นตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง
               การคัดเลือกรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
               พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้

               มาตรา ๑๔  การเสนอรายชื่อบุคคลตามมาตรา ๑๓ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
               (๑) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการกำหนด
               (๒) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (๑) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งคราวนั้น
               การเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

               มาตรา ๑๕  กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๒ (๑) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๑๐๒ และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าการดำเนินการเลือกตั้งต่อไปตามกำหนดวันเดิมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุดลง
               ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้
               เพื่อประโยชน์ในการนับอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและอายุของผู้สมัคร ให้นับถึงวันเลือกตั้งที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้ตามมาตรา ๑๒ (๑)

               มาตรา ๑๖  ในการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หากคณะกรรมการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งและให้ย่นหรือขยายระยะเวลาหรืองดเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เฉพาะในการเลือกตั้งนั้น เพื่อให้เหมาะสมและจำเป็นแก่การดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยรวดเร็ว สุจริตและเที่ยงธรรมได้
               ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้สมัครเดิมที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามยังคงเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่โดยไม่ต้องรับสมัครใหม่ เว้นแต่จะไม่มีผู้สมัครเดิมเหลืออยู่

               มาตรา ๑๗  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การฟ้องคดีหรือการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการในการจัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งอันมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีเหตุที่จะฟ้องคดีหรือยื่นคำร้อง แต่มิให้นำมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับ
               การพิจารณาคดีและการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดไม่กระทบถึงการดำเนินการเลือกตั้งหรือการกระทำอื่นใดที่ได้ดำเนินการไปก่อนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
               การปฏิบัติหน้าที่ของศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ตุลาการซึ่งร่วมประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด องค์คณะตุลาการ ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะตุลาการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองกำหนด
               การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดตามมาตรานี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ


               มาตรา ๑๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๒ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๒ เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง (มาตรา ๑๘ - ๒๕)

 

หมวด ๒
เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๑๘  ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหนึ่งคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และดำเนินกิจการที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               (๒) คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มชื่อ และการถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งมีหน้าที่กำกับดูแลการออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน และการประกาศผลการนับคะแนน
               การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลใด เป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งได้ตามสมควร
               การใดที่เป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการจะออกระเบียบให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ คณะบุคคล หรือบุคคลตามวรรคสามทำหน้าที่แทนก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น การดำเนินการ การแจ้ง หรือการยื่นที่กระทำต่อผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการ แจ้ง หรือได้ยื่นต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแล้ว

               มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
               (๑) คณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งเก้าคน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง ในกรณีที่หน่วยเลือกตั้งใดมีความจําเป็นอาจแต่งตั้งกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งเพิ่มได้ตามหลักเกณฑ์และไม่เกินจํานวนที่คณะกรรมการกําหนด
               (๒) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
               การแต่งตั้งและการฝึกอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยในการฝึกอบรมจะดำเนินการฝึกอบรมผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเพื่อสำรองไว้มากกว่าจำนวนที่ต้องใช้จริงแต่ไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
               ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ตรวจการเลือกตั้งพบเห็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ใดกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกระทำการใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้รายงานคณะกรรมการหรือกรรมการโดยทันที และให้คณะกรรมการหรือกรรมการมีอำนาจสั่งเปลี่ยนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่แจ้งเตือน ให้รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยเร็ว
               ในกรณีที่กรรมการเป็นผู้พบเห็นการกระทำตามวรรคสาม ให้กรรมการมีอำนาจสั่งเปลี่ยนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ในกรณีที่เห็นว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าเป็นการกระทำของบุคคลซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ หรือสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ตามที่จำเป็น หรือในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำนั้นก็ได้ แล้วรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๒๐  ก่อนวันเลือกตั้ง หากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีไม่ครบจำนวนไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ครบจำนวน

               มาตรา ๒๑  ในวันเลือกตั้ง ถ้าถึงเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนนแล้วมีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบจำนวน แต่มาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ได้รับแต่งตั้ง ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มาปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ได้ และให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพิ่มเติมให้ครบจำนวนก่อนการนับคะแนน
               ในกรณีที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่มาปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนั้นรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้ครบจำนวนโดยเร็ว
               ในกรณีที่ไม่มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่เลย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๙ เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น
               การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๒๒  ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ หรือละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ให้กรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ

               มาตรา ๒๓  ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง

               มาตรา ๒๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
               (๑) กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
               (๒) เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
               สำหรับบุคคลตาม (๒) ให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญานับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งจนสิ้นสุดแห่งการงานในหน้าที่

               มาตรา ๒๕  ค่าตอบแทนของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด


               มาตรา ๑๙ (๑) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๓ การจัดการเลือกตั้ง (มาตรา ๒๖ - ๔๐)

ส่วนที่ ๑ จำนวนสมาชิก เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง (มาตรา ๒๖ - ๓๐)

 

ส่วนที่ ๑
จำนวนสมาชิก เขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๒๖  การกําหนดจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดําเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ใช้จํานวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสี่ร้อยคน จํานวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
               (๒) จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคนตาม (๑) ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน โดยให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
               (๓) จังหวัดใดมีราษฎรเกินจํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกจํานวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จํานวนราษฎรต่อสมาชิกหนึ่งคน
               (๔) เมื่อได้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัดตาม (๒) และ (๓) แล้ว ถ้าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบสี่ร้อยคน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคํานวณตาม (๓) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และให้เพิ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษที่เหลือจากการคํานวณนั้นในลําดับรองลงมาตามลำดับจนครบจํานวนสี่ร้อยคน
               (๕) จังหวัดใดมีการเลือกตั้งได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจํานวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน

               มาตรา ๒๗  ให้คณะกรรมการดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งไว้ทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าซึ่งจะต้องกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ และต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน โดยถือเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้จะทำให้มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียงสำหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแยกหรือรวมเฉพาะเพียงบางส่วนของตำบลไม่ได้
               (๒) ในกรณีที่การกำหนดพื้นที่ตามเกณฑ์ใน (๑) จะทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก โดยจะต้องทำให้จำนวนราษฎรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด
               (๓) เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (๑) และ (๒) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๒๘  เมื่อได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ใช้เขตเลือกตั้งนั้นจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
               ในกรณีที่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่และมีผลให้พื้นที่ของเขตเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ให้การดำเนินการใดที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วก่อนมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ เป็นอันใช้ได้

               มาตรา ๒๙  ในกรณีที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ให้คณะกรรมการถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้แล้วเป็นหลักและปรับปรุงแก้ไขตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๒๗ และให้นำความในมาตรา ๒๘ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๐  ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าวัน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดหน่วยเลือกตั้งที่จะพึงมีในแต่ละเขตเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตของหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อยจะรวมหมู่บ้านที่อยู่ติดกันตั้งแต่สองหมู่บ้านขึ้นไปเป็นหน่วยเลือกตั้งเดียวกันก็ได้ สำหรับในเขตเทศบาล เขตกรุงเทพมหานคร หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้ใช้เขตชุมชน แนวถนน ตรอก ซอย คลอง หรือแม่น้ำ เป็นเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
               (๒) ให้ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละหนึ่งพันคนเป็นประมาณ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกหรือไม่ปลอดภัยในการไปออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้ หรือจะกำหนดหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นโดยให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ได้
               (๓) ที่เลือกตั้งต้องเป็นสถานที่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าออกได้สะดวก เพื่อการออกเสียงลงคะแนนมีความเหมาะสม มีขนาดพอสมควร และควรตั้งอยู่ในย่านกลางของหน่วยเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของที่เลือกตั้งไว้ด้วย ตามลักษณะของท้องที่และภูมิประเทศในการออกเสียงลงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในท้องที่ใดถ้าเห็นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเพื่อความปลอดภัยของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อาจประกาศกำหนดที่เลือกตั้งนอกเขตของหน่วยเลือกตั้งก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับหน่วยเลือกตั้งนั้น
               ให้ปิดประกาศการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งไว้ ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
               การเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยเลือกตั้งหรือที่เลือกตั้ง ให้กระทำได้โดยประกาศก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน เว้นแต่ในกรณีเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จะประกาศก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่าสิบวันก็ได้ และให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม


               มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๒ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา ๓๑ - ๓๒)

 

ส่วนที่ ๒
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๓๑  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ
               (๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง
               (๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง

               มาตรา ๓๒  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
               (๑) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
               (๒) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
               (๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
               (๔) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ส่วนที่ ๓ การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (มาตรา ๓๓ - ๓๕)

 

ส่วนที่ ๓
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๓๓  ในการเลือกตั้งครั้งใด ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งไว้ในแต่ละเขตเลือกตั้งภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งหรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้ง ให้ดำเนินการแจ้งตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ การแจ้งเหตุดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
               ในการแจ้งเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเป็นหนังสือหรือโดยวิธีการอื่นเพื่อชี้แจงเหตุดังกล่าว โดยอาจมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งแทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุนั้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
               ในกรณีที่บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้แจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
               ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งตามวรรคสาม มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
               การแจ้งเหตุ วิธีการแจ้งเหตุทางอิเล็กทรอนิกส์ บุคคลที่จะรับแจ้งเหตุ สถานที่รับแจ้งเหตุ การพิจารณาการแจ้งเหตุ และการอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด โดยในการกำหนดดังกล่าวให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย ในการนี้ ให้คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดของเหตุที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งด้วย

               มาตรา ๓๔  เมื่อครบกำหนดหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ให้บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง ประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุตามมาตรา ๓๓ หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร
               ในกรณีที่ประกาศรายชื่อตามวรรคหนึ่งมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๓๓ เพื่อดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๓๕  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
               (๑) ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๒) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
               (๓) สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
               (๔) ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
               (๕) ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
               การจำกัดสิทธิตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง

ส่วนที่ ๔ บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (มาตรา ๓๖ - ๔๐)

 

ส่วนที่ ๔
บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๓๖  เมื่อมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใดแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง และปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่ประชาชนสะดวกในการตรวจสอบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าวัน กับให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
               บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง มิให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
               บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง ให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย

               มาตรา ๓๗  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าตนหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแห่งหน่วยเลือกตั้งที่ตนหรือผู้นั้นสมควรมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน
               เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบหลักฐาน และถ้าเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้สั่งเพิ่มชื่อตามที่ยื่นคำร้องลงในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเร็ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ให้สั่งยกคำร้อง และแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องโดยแสดงเหตุผลไว้ด้วย
               เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคสองแล้ว ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือต่อศาลแพ่งสำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าวัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจะให้เพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ได้รับคำร้องหรือไม่
               เมื่อศาลได้รับคำร้องตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งโดยเร็วที่สุด และในกรณีที่มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปก่อนได้รับคำสั่งศาล ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกฉบับให้ถูกต้องด้วย
               การใดที่ได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนได้รับคำสั่งศาลให้เป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย

               มาตรา ๓๘  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ประกาศตามมาตรา ๓๖ มีชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านผู้ใดเห็นว่าในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน เพื่อให้ถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
               เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรสั่งถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือสมควรยกคำร้อง ก็ให้มีคำสั่งถอนชื่อผู้นั้นหรือยกคำร้อง แล้วแต่กรณี และให้แจ้งคำสั่งให้ผู้นั้นหรือเจ้าบ้านทราบ และให้นำความในมาตรา ๓๗ วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๓๙  ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลใด แม้คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดก็ตาม ให้สำนักงานจัดทำทะเบียนผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและบันทึกการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นไว้ และในกรณีที่ได้มีการประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ให้สำนักงานแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งถอนชื่อผู้ซึ่งศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยการขีดชื่อบุคคลนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งหมายเหตุไว้ด้วยว่าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งศาล
               กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งคำพิพากษาดังกล่าวต่อสำนักงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สอดคล้องกัน

               มาตรา ๔๐  ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
               กรณีดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ
               (๑) การย้ายบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปซึ่งไม่มีชื่อสกุลเดียวกับเจ้าบ้านเข้ามาในทะเบียนบ้านเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในสองปีนับแต่วันที่ย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน
               (๒) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยบุคคลนั้นมิได้อยู่อาศัยจริงโดยไม่มีเหตุอันสมควร
               (๓) การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้านโดยมิได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้าน
               ความในวรรคสอง (๑) มิให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา หรือสถานประกอบการ หรือสถานที่อื่นใดที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ที่ย้ายเจ้าหน้าที่ นักศึกษา หรือพนักงานของตน หรือบุคคลที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เข้ามาในทะเบียนบ้านของตน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๔ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา ๔๑ - ๘๓)

ส่วนที่ ๑ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา ๔๑ - ๔๒)

 

ส่วนที่ ๑
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๔๑  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
               (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
               (๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
               (๔) ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
                     (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
                     (ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
                     (ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
                     (ง) เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

               มาตรา ๔๒  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
               (๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
               (๔) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
               (๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
               (๖) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
               (๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
               (๘) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
               (๙) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
               (๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
               (๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
               (๑๔) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
               (๑๕) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
               (๑๖) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
               (๑๗) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
               (๑๘) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
               (๑๙) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (๒๐) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
               (๒๑) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วนที่ ๒ การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา ๔๓ - ๕๕)

 

ส่วนที่ ๒
การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๔๓  ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้งและได้รับการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ และต้องไม่เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ

               มาตรา ๔๔  ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศวิธีการหรือสถานที่รับสมัครภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการกำหนดวันเลือกตั้ง กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาจมีการเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยจะกำหนดให้การรับสมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดเดียวกันกระทำในสถานที่เดียวกันก็ได้

               มาตรา ๔๕  ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครยื่นสมัครรับเลือกตั้งตามที่กำหนดตามมาตรา ๔๔ ภายในระยะเวลาการรับสมัคร โดยมีเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
               (๑) หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งต้องมีคำรับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
               (๒) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
               (๓) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
               (๔) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
               ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๒) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

               มาตรา ๔๖  ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบการสมัครของผู้สมัครว่าได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คืนเอกสารและหลักฐานทั้งหมดให้ผู้สมัครนั้น
               ในกรณีที่ผู้สมัครได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครนั้นเรียงตามลำดับการยื่นสมัคร และให้ทำสำเนาคู่ฉบับไว้เป็นหลักฐานและให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร
               ประกาศตามวรรคสองอย่างน้อยให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล และรูปถ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการออกเสียงลงคะแนน

               มาตรา ๔๗  ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ตามมาตรา ๔๕ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ในเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้
               ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับแก่การจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๘  ในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ตามมาตรา ๔๖
               ในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงลำดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน
               เมื่อได้กำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้วจะเปลี่ยนแปลงหมายเลขประจำตัวผู้สมัครไม่ได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ

               มาตรา ๔๙  กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยในการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกา ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน และเมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของศาล

               มาตรา ๕๐  เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ แล้ว ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครได้เฉพาะกรณีผู้สมัครตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๕๑  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในประกาศรายชื่อที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ประกาศตามมาตรา ๔๖ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
               ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัคร และในกรณีที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำวินิจฉัยเป็นประการใดก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ

               มาตรา ๕๒  ก่อนวันเลือกตั้ง หากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
               เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัย ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีผลอยู่ในวันนั้น

               มาตรา ๕๓  ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคําสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้นําเนินการเลือกตั้งใหม่
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว และดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๓๘

               มาตรา ๕๔  กรณีที่พบเหตุตามมาตรา ๕๓ ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
               เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

               มาตรา ๕๕  พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร หากประสงค์จะส่งผู้แทนไปประจำอยู่ ณ ที่เลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ให้ยื่นหนังสือแต่งตั้งผู้แทนของตนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งได้ที่เลือกตั้งละหนึ่งคน
               ผู้แทนพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานได้ และต้องปฏิบัติตามที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกำหนด
               ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคสอง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีคำสั่งให้ผู้แทนพรรคการเมืองนั้นออกไปจากที่เลือกตั้ง และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง
               การปฏิบัติงานของผู้แทนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด


               มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๓ การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา ๕๖ - ๖๑)

 

ส่วนที่ ๓
การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

-------------------------

               มาตรา ๕๖  พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหนึ่งบัญชี มีจํานวนไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) ดําเนินการสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการที่กําหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
               (๒) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว
               (๓) ให้จัดทําบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการกําหนด โดยจัดเรียงลําดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลข
               (๔) รายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นและไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

               มาตรา ๕๗  การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๕๖ ต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามวิธีการและสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการอาจเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้
               ในการยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นพร้อมเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้
               (๑) หนังสือยินยอมของผู้สมัคร
               (๒) หนังสือรับรองของพรรคการเมืองว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว
               (๓) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
               (๔) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
               (๕) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
               ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๓) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ในกรณีพรรคการเมืองใดยื่นเอกสารและหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คณะกรรมการมีอำนาจไม่รับสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครรายนั้นได้ และให้สำนักงานแจ้งเหตุผลให้พรรคการเมืองทราบ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้นําความในมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับแก่การให้หมายเลขประจําตัวสําหรับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๘  เมื่อคณะกรรมการรับสมัครผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๙  กรณีที่คณะกรรมการไม่รับสมัครบุคคลใดหรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๕๘ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๐  ให้นำความในมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการประกาศตามมาตรา ๕๘ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๑  ก่อนวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการเห็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร และให้นำความในมาตรา ๕๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม


               มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๗ วรรคห้า เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๔ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียง (มาตรา ๖๒ - ๘๓)

 

ส่วนที่ ๔
ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียง

-------------------------

               มาตรา ๖๒  ให้คณะกรรมการประกาศกําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
               (๑) จํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
               (๒) จํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อผู้ใดของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจํานวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย
               ในการกําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตาม (๒) จะกําหนดโดยใช้จํานวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคํานวณมิได้ โดยให้คณะกรรมการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง และให้มีการทบทวนการกําหนดจํานวนเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับความจําเป็นและสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุกสี่ปี

               มาตรา ๖๓  ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่กำหนดตามมาตรา ๖๒ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใด ๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นยินยอมหรือไม่คัดค้าน ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น ๆ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการจัดให้แก่ผู้สมัครทุกคนและพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน

               มาตรา ๖๔  ในการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งในระหว่างระยะเวลาดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันที่คณะกรรมการประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง
               (๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง
               ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการหรือการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการจะขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปก็ได้
               ให้คณะกรรมการประกาศประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้เป็นตัวอย่างให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง และประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน

               มาตรา ๖๕  เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๖๔ แล้ว พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๓ โดยให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
               การกระทำตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกระทำภายในเขตเลือกตั้งของตน ให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๔ โดยให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของผู้นั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
               ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การให้ตามปกติประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควร ทั้งนี้ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๖  ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๖๕ ให้คณะกรรมการสั่งให้เลขาธิการบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหรือของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๖๕ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป แล้วแจ้งให้พรรคการเมืองหรือบุคคลดังกล่าวทราบ พรรคการเมืองหรือบุคคลดังกล่าวที่ไม่เห็นด้วยให้มีสิทธิยื่นคัดค้านตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๗  ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง และผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของบัญชีรายรับและรายจ่าย
               ให้คณะกรรมการเปิดเผยรายงานสรุปรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครแต่ละคนและพรรคการเมืองแต่ละพรรคโดยประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการหรือมีการคัดค้านว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด หรือปรากฏว่าบัญชีรายรับและรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง ให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อดำเนินการต่อไปโดยเร็ว และให้เก็บรักษาบัญชีรายรับและรายจ่าย เอกสารและหลักฐานดังกล่าวไว้จนกว่าคณะกรรมการจะดำเนินการแล้วเสร็จ

               มาตรา ๖๘  เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าวให้มีผลภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
               (๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
               (๓) ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
               (๔) ในกรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม

               มาตรา ๖๙  ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา ๘๑

               มาตรา ๗๐  การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
               ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วย
               ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้นำค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรานี้ ไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมืองด้วย

               มาตรา ๗๑  การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ มาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๓ คณะกรรมการจะกำหนดให้ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัครและพรรคการเมือง

               มาตรา ๗๒  การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทำมิได้

               มาตรา ๗๓  ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
               (๑) จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
               (๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
               (๓) ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
               (๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
               (๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

               มาตรา ๗๔  การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

               มาตรา ๗๕  ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ลงสมัครหรือไม่ส่งผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

               มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ
               ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
               บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๗๗  ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติโดยสุจริตของผู้นั้น

               มาตรา ๗๘  ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
               การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
               ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหรือกรรมการที่พบเห็นมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่าอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
               ในกรณีตามวรรคสาม ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดพ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ ในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือห้ามเข้าเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งได้

               มาตรา ๗๙  ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

               มาตรา ๘๐  เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง
               ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะมีผู้ช่วยหาเสียงก็ได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด และต้องแจ้งให้สำนักงานทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง ทั้งนี้ ตามรายการและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๘๑  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ในการนี้ คณะกรรมการจะขอให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้
               ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมืองได้ด้วย

               มาตรา ๘๒  ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ที่จะต้องตรวจสอบดูแลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีที่พบเห็นการกระทำใดมิได้เป็นไปตามมาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๑ ต้องรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยทันที
               พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน หรือเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดไม่รายงานให้คณะกรรมการทราบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัย และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแก่ผู้นั้นโดยเร็ว และแจ้งผลให้คณะกรรมการทราบด้วย ในกรณีที่ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้ถือว่าละทิ้งหน้าที่หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

               มาตรา ๘๓  ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด โดยการกำหนดดังกล่าวให้หารือกับพรรคการเมืองด้วย


               มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๕ การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน (มาตรา ๘๔ - ๑๒๔)

ส่วนที่ ๑ การออกเสียงลงคะแนน (มาตรา ๘๔ - ๑๐๔)

 

ส่วนที่ ๑
การออกเสียงลงคะแนน

-------------------------

               มาตรา ๘๔  การออกเสียงลงคะแนนให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ ซึ่งต้องมีลักษณะแตกต่างที่สามารถจําแนกออกจากกันได้อย่างชัดเจน
               บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีช่องทําเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจํานวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น
               บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องมีช่องทําเครื่องหมายและหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและชื่อพรรคการเมืองพร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
               บัตรเลือกตั้งตามวรรคสองและวรรคสามต้องมีช่องทําเครื่องหมายว่าไม่เลือกผู้สมัครใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด แล้วแต่กรณี ด้วย
               การออกเสียงลงคะแนนให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด

               มาตรา ๘๕  หีบบัตรเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด ในการกำหนดเกี่ยวกับหีบบัตรเลือกตั้งต้องกำหนดให้สามารถใช้หีบบัตรเลือกตั้งเดิมได้ด้วย

               มาตรา ๘๖  ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ นาฬิกา ถึงเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา

               มาตรา ๘๗  ก่อนเริ่มเปิดให้มีการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งนับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และปิดประกาศจำนวนบัตรเลือกตั้งไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อถึงเวลาเปิดการลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเลือกตั้งในที่เปิดเผยแสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่ ณ ที่เลือกตั้งนั้นเห็นว่าหีบบัตรเลือกตั้งเป็นหีบเปล่า และให้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แล้วให้ทำการบันทึกการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองคนซึ่งอยู่ในที่เลือกตั้งในขณะนั้นลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นด้วย เว้นแต่ไม่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้ง

               มาตรา ๘๘  ในระหว่างเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตรไปแสดงตนต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง แล้วให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมอบบัตรเลือกตั้งให้แก่ผู้นั้นเพื่อไปออกเสียงลงคะแนน
               บัตรประจำตัวประชาชนแม้จะหมดอายุแล้วก็ให้สามารถใช้ในการแสดงตนตามวรรคหนึ่งได้
               ขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบการแสดงตนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๘๙  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งใด ให้ออกเสียงลงคะแนนได้ ณ ที่เลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น และให้มีสิทธิลงคะแนนได้เพียงแห่งเดียว

               มาตรา ๙๐  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งอื่นที่อยู่นอกหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเดียวกัน สามารถออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ตนต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบันทึกการลงคะแนนของผู้นั้นไว้ และแจ้งให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งทราบ ทั้งนี้ ตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๙๑  การออกเสียงลงคะแนน ให้ทําเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทําเครื่องหมายของหมายเลขผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง และในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้ทําเครื่องหมายกากบาทลงในช่องทําเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

               มาตรา ๙๒  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ในการออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
               ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควร อาจกำหนดให้มีการจัดที่เลือกตั้งสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ เป็นกรณีพิเศษ โดยจัดให้บุคคลนั้นได้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ สถานที่ดังกล่าว และเมื่อได้ลงทะเบียนแล้ว ให้หมดสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
               การอำนวยความสะดวกตามวรรคหนึ่ง การจัดที่เลือกตั้งและการลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด การลงทะเบียนดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งต้องคำนึงถึงความสะดวกของผู้ขอลงทะเบียนด้วย

               มาตรา ๙๓  ภายใต้บังคับมาตรา ๙๒ เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทําเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งแล้วให้พับบัตรเลือกตั้งเพื่อมิให้ผู้อื่นทราบว่าลงคะแนนอย่างไร แล้วให้นําบัตรเลือกตั้งนั้นใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเองต่อหน้ากรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง

               มาตรา ๙๔  ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น พยายามออกเสียงลงคะแนนหรือออกเสียงลงคะแนน โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหลักฐานอื่นที่มิได้มีไว้สำหรับตนหรือที่ปลอมแปลงขึ้นต่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพื่อออกเสียงลงคะแนน

               มาตรา ๙๕  ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรเลือกตั้งที่ได้รับจากเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งมีอำนาจเพื่อออกเสียงลงคะแนน
               ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง

               มาตรา ๙๖  ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง

               มาตรา ๙๗  ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

               มาตรา ๙๘  ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อออกเสียงลงคะแนนโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากความจริง

               มาตรา ๙๙  ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนําบัตรเลือกตั้งที่ออกเสียงลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนได้ลงคะแนนอย่างไร

               มาตรา ๑๐๐  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าวภายในกำหนดเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนนได้

               มาตรา ๑๐๑  ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน

               มาตรา ๑๐๒  ในกรณีที่การออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งแห่งใด ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการโดยเร็ว
               ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการโดยเร็ว
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               เมื่อได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาและกำหนดวันลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์แห่งความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งโดยเร็ว

               มาตรา ๑๐๓  เมื่อถึงกำหนดเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนนแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศปิดการออกเสียงลงคะแนน และงดจ่ายบัตรเลือกตั้ง แล้วให้ทำเครื่องหมายในบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ให้เป็นบัตรเลือกตั้งที่ใช้ลงคะแนนไม่ได้ แต่ในกรณีที่ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนได้มาปรากฏตัวอยู่ในที่เลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วก่อนเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนนแต่ยังไม่ได้แสดงตนหรือรับบัตรเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นแสดงตนและมอบบัตรเลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และเมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งปิดช่องใส่บัตรเลือกตั้งของหีบบัตรเลือกตั้ง และจัดทำรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมด จำนวนผู้มาแสดงตนและรับบัตรเลือกตั้ง และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือ แล้วประกาศให้ประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง ได้ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๐๔  ตั้งแต่เวลาที่ได้เปิดและปิดหีบบัตรเลือกตั้งที่ตั้งไว้เพื่อการออกเสียงลงคะแนน หรือภายหลังที่ได้ปิดหีบบัตรเลือกตั้งนั้นเพื่อรักษาไว้เมื่อการเลือกตั้งได้เสร็จสิ้นแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดเปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรเลือกตั้ง หรือบัตรเลือกตั้ง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้จัดทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย


               มาตรา ๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๙๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๒ การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง (มาตรา ๑๐๕ - ๑๑๕)

 

ส่วนที่ ๒
การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๑๐๕  การจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง นอกจากที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในส่วนนี้แล้ว ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๐๖  ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งติดต่อกันเป็นเวลาน้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
               บุคคลตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง ให้ยื่นขอลงทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด และให้นำความในมาตรา ๑๐๗ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๐๗  ในการเลือกตั้งทั่วไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับคำสั่งจากทางราชการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี ให้ยื่นขอลงทะเบียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
               การยื่นขอลงทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าเป็นการขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง จะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งหรือที่ตนประสงค์จะขอใช้สิทธิเลือกตั้งก็ได้ หรือคณะกรรมการจะกำหนดให้ลงทะเบียนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
               เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ตรวจสอบการมีสิทธิเลือกตั้งของผู้ขอลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้าเห็นว่าถูกต้อง ให้ทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้ว และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งนั้น และกำหนดที่เลือกตั้งกลางที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน และแจ้งให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบ และหมายเหตุสถานที่ที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งในเอกสารที่เกี่ยวข้อง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งลงทะเบียนผู้ใดแล้ว ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิอยู่เดิม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนั้น
               การขอใช้สิทธิเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง สถานที่และจำนวนที่เลือกตั้งกลาง วันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน การออกเสียงลงคะแนน และการนับคะแนน การส่งบัตรเลือกตั้ง และการดำเนินการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ วันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิต้องเป็นวันเดียวกันทุกแห่งและจะกำหนดให้ลงคะแนนเกินหนึ่งวันมิได้
               ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลที่มีหลักฐานแสดงว่าในวันเลือกตั้งตนมีหน้าที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่อื่นใดนอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง จนไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๐๘  ผู้ใดลงทะเบียนตามมาตรา ๑๐๗ และได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่ ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา ๓๕

               มาตรา ๑๐๙  ในการเลือกตั้งทั่วไปอันมิใช่เป็นการเลือกตั้งใหม่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักรจะขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งเฉพาะในครั้งนั้น ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้
               เมื่อได้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๑๐ และมาตรา ๑๑๑
               ให้นำความในมาตรา ๑๐๗ วรรคสี่ และมาตรา ๑๐๘ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับวันที่กำหนดให้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน คณะกรรมการจะกำหนดให้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ตามที่เห็นสมควรก็ได้

               มาตรา ๑๑๐  ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศใด ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในประเทศนั้น โดยอาจจัดให้มีสถานที่ลงคะแนน หรือให้มีการออกเสียงลงคะแนนทางไปรษณีย์หรือโดยวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการจัดให้มีสถานที่ออกเสียงลงคะแนนก็ได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของประเทศนั้น และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๑๑  เมื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๙ แล้ว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น หมดสิทธิออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น

               มาตรา ๑๑๒  ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน ให้คณะกรรมการประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแยกตามประเทศ

               มาตรา ๑๑๓  ในการออกเสียงลงคะแนนตามส่วนนี้ เมื่อได้ดำเนินการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการอาจจัดให้มีการดำเนินการล่วงหน้าเพื่อนำบัตรเลือกตั้งมานับรวมในวันเลือกตั้งได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเฉพาะท้องที่ คณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้
               ในการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักร คณะกรรมการโดยความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศจะกําหนดให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรก็ได้ หากจะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกําหนดให้แตกต่างไปจากมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ตามความจําเป็นและเหมาะสมก็ได้

               มาตรา ๑๑๔  ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งหรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่ใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีการส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือหีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน โดยมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งมิให้นับคะแนนนั้นโดยให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
               ในกรณีที่มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักร ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนที่ใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ถือว่าการนับคะแนนนั้นเป็นโมฆะและให้ถือว่าบัตรเหล่านั้นเป็นบัตรเสีย

               มาตรา ๑๑๕  กรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ตามมาตรา ๔๗ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๖ มาตรา ๑๐๗ และมาตรา ๑๑๐ เฉพาะในเขตเลือกตั้งนั้นใหม่ ในกรณีการเลือกตั้งตามมาตรา ๑๑๐ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้บุคคลใดมีอำนาจประกาศกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่แทนก็ได้
               ในกรณีมีเหตุตามวรรคหนึ่งสองครั้งติดต่อกัน ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายสั่งงดการออกเสียงลงคะแนนสำหรับการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรในเขตเลือกตั้งนั้น ในกรณีเช่นนั้น ถ้าผู้ลงทะเบียนมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าการลงทะเบียนนั้นเป็นการแจ้งเหตุอันสมควรและไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา ๓๕


               มาตรา ๑๑๓ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๓ การนับคะแนนและการรวมคะแนน (มาตรา ๑๑๖ - ๑๒๔)

 

ส่วนที่ ๓
การนับคะแนนและการรวมคะแนน

-------------------------

               มาตรา ๑๑๖  เมื่อได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๐๓ แล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดหีบบัตรเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนที่อยู่ ณ ที่เลือกตั้ง แล้วดำเนินการนับคะแนน

               มาตรา ๑๑๗  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๒๑ การนับคะแนนให้กระทำ ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยติดต่อกันจนเสร็จสิ้น และห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนน
               การนับคะแนนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด ซึ่งต้องกําหนดให้มีการนับคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทําเครื่องหมายในช่องทําเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ด้วย

               มาตรา ๑๑๘  ในการนับคะแนนหากปรากฏว่ามีบัตรเสีย ให้แยกบัตรเสียออกไว้ต่างหากและห้ามมิให้นับบัตรเสียเป็นคะแนนไม่ว่ากรณีใด
               บัตรเลือกตั้งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
               (๑) บัตรปลอม
               (๒) บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง
               (๓) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
               (๔) บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครเกินจํานวนหนึ่งคน หรือเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเกินหนึ่งบัญชีรายชื่อ
               (๕) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด เว้นแต่เป็นการทําเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”
               (๖) บัตรที่ทําเครื่องหมายลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และทําเครื่องหมายในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” ด้วย
               (๗) บัตรที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เป็นบัตรเสีย
               (๘) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
               ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งสลักหลังในบัตรตามมาตรานี้ว่า “เสีย” พร้อมทั้งระบุเหตุผลว่าเป็นบัตรเสียตามความในอนุมาตราใด และลงลายมือชื่อกำกับไว้ไม่น้อยกว่าสองคน เว้นแต่เป็นกรณีตาม (๗) ให้จัดทำบันทึกเหตุแห่งการเป็นบัตรเสียไว้เป็นหลักฐานแทนการสลักหลัง

               มาตรา ๑๑๙  ห้ามมิให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนให้ผิดไปจากความจริงหรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำการด้วยประการใดแก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความเป็นจริง

               มาตรา ๑๒๐  เมื่อการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้น จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือจากการออกเสียงลงคะแนน ทั้งนี้ ให้กระทำโดยเปิดเผย และรายงานผลการนับคะแนนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งโดยเร็ว
               เพื่อประโยชน์แก่การแจ้งข้อมูลการเลือกตั้งต่อประชาชนให้เกิดความรวดเร็ว คณะกรรมการอาจดำเนินการให้มีการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้
               การประกาศผลการนับคะแนน การรายงานผลการนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๒๑  ถ้าการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้หรือไม่สามารถนับคะแนนได้จนเสร็จสิ้น อันเนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น หรือด้วยความจำเป็นตามสภาพที่อาจมีผลต่อความปลอดภัย ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดการนับคะแนนสำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อกำหนดวัน เวลา และสถานที่นับคะแนนต่อไปโดยเร็ว และรายงานผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการทราบโดยเร็ว ในกรณีมีเหตุอันสมควรคณะกรรมการจะเปลี่ยนแปลงกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดไว้ก็ได้
               เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งแล้วพบว่ามีบัตรเลือกตั้งที่ได้มีการออกเสียงลงคะแนนแล้วชำรุดหรือสูญหาย ให้รายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น
               การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง หีบบัตรเลือกตั้ง และเอกสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมทั้งวิธีการนับคะแนนใหม่ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๒๒  ในกรณีที่ผลการนับคะแนนปรากฏว่าจํานวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ตรงกับจํานวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ออกเสียงลงคะแนน ให้คณะกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้งดําเนินการตรวจสอบความถูกต้อง หากยังไม่ตรงกันอีกให้รายงานความไม่ถูกต้องตรงกันพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการ พร้อมทั้งแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งทราบ และนำส่งหีบบัตรและอุปกรณ์แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งมอบหมาย
               เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่หรือสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้น เว้นแต่คณะกรรมการจะมีความเห็นว่าความไม่ถูกต้องตรงกันนั้นมิได้เกิดจากการทุจริตและไม่ทําให้ผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะสั่งให้ยุติก็ได้

               มาตรา ๑๒๓  เมื่อรวบรวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ประกาศผลการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และคะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
               (๒) ประกาศผลการนับคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด

               มาตรา ๑๒๔  เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลการนับคะแนนแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือการนับคะแนนเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง คณะกรรมการจะงดการประกาศผลการเลือกตั้งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้


               มาตรา ๑๑๗ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๑๘ (๔) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๑๘ (๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๑๘ (๖) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๒๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๖ การประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา ๑๒๕ - ๑๓๑)

 

หมวด ๖
การประกาศผลการเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๑๒๕  ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๒๖  เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการดําเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครใหม่ โดยผู้สมัครเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น
               ในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๒๗  ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
               ในการตรวจสอบเบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการต้องรับฟังรายงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งและข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากแหล่งต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย
               ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การประกาศผลการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างด้วยโดยอนุโลม
               ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ กำหนดเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งใหม่

               มาตรา ๑๒๘  เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานผลรวมคะแนนแบบบัญชีรายชื่อจากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัดแล้ว ให้ดําเนินการคํานวณสัดส่วนเพื่อหาผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
               (๒) ให้นําคะแนนรวมจาก (๑) หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน
               (๓) ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นําคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม (๒) ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจํานวนเต็มคือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
               (๔) ในกรณีที่จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีจํานวนไม่ครบหนึ่งร้อยคน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจํานวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคํานวณตาม (๓) พรรคใดเป็นหรือมีเศษจํานวนมากที่สุด ให้ได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีกหนึ่งคนเรียงตามลําดับ จนกว่าจะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจํานวนหนึ่งร้อยคน
               (๕) ในการดาเนินการตาม (๔) ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากันและจะทําให้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเกินจํานวนหนึ่งร้อยคน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่คณะกรรมการกําหนด เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อครบจํานวน
               ให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองตามจํานวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคํานวณตามวรรคหนึ่งได้รับเลือกตั้งเรียงตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นจนครบจํานวน แต่ต้องไม่เกินจํานวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จํานวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา ๘๓ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

               มาตรา ๑๒๙  เมื่อคณะกรรมการดําเนินการคํานวณสัดส่วนจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๒๘ แล้ว และคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งว่าผู้สมัครผู้ใดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง

               มาตรา ๑๓๐  เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วให้นําผลการเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อมีประธานรัฐสภาแล้ว ให้ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองไปยังประธานรัฐสภาเพื่อทราบโดยเร็ว

               มาตรา ๑๓๑  (ยกเลิก)


               มาตรา ๑๒๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๒๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๒๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๓๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๓๑ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๗ การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม (มาตรา ๑๓๒ - ๑๔๐)

 

หมวด ๗
การดำเนินการกรณีการเลือกตั้ง
มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

-------------------------

               มาตรา ๑๓๒  ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใด กระทําการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครผู้ใดก่อให้บุคคลอื่นกระทํา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทําการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วไม่ดําเนินการเพื่อระงับการกระทํานั้น หรือกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการ จนอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีคําสั่งดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่การกระทําการนั้นเป็นการกระทําเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครซึ่งกระทําการเช่นนั้นทุกรายไว้เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคําสั่ง
               (๒) ในกรณีที่การกระทําการนั้นเป็นการกระทําเกี่ยวกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในหน่วยเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย และให้คณะกรรมการสั่งมิให้นับเป็นคะแนนในการคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ มิให้นําความในมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่บัตรเสียดังกล่าว เฉพาะกรณีที่คณะกรรมการมีคําสั่งภายหลังการนับคะแนนแล้ว
               คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นที่สุด
               ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย
               ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นระงับหรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมนั้นภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานว่าผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำนั้นหรือพรรคการเมืองนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว
               เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดแล้ว ให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นด้วย ในการนี้ ให้ถือว่าคณะกรรมการเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               ในกรณีที่มีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรานี้ภายหลังวันลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก่อนวันประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้สมัครที่ถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ได้คะแนนเลือกตั้งในลำดับซึ่งจะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น
               ผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งผู้ใดพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง มีหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยพลัน

               มาตรา ๑๓๓  เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้วปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม แต่ไม่ได้ความชัดว่าเป็นการกระทำของผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น และให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย และให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว และให้นำความในมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๓๔  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนให้เป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม คณะกรรมการอาจแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐดังกล่าวตามจำนวนที่เหมาะสม เป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะตามความจำเป็น เพื่อช่วยคณะกรรมการในการดำเนินการตรวจสอบสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวน รวมทั้งรับฟังคำชี้แจงหรือพยานหลักฐานแทนคณะกรรมการได้
               การแต่งตั้ง การปฏิบัติหน้าที่ ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ และค่าตอบแทนของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๓๕  ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ใดกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด อันอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำหรือมีคำสั่งให้แก้ไขการกระทำตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดได้
               ถ้ามีผู้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่ง และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดีโดยเร็ว และแจ้งต่อคณะกรรมการเพื่อให้พิจารณาดำเนินการต่อไป

               มาตรา ๑๓๖  ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือให้ลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดหรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้คณะกรรมการมีอํานาจสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง
               ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งที่การยึดหรืออายัดอยู่ในเขตศาลภายในสามวันนับแต่วันยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง เมื่อศาลได้รับคำร้องแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ถ้าศาลเห็นว่าเงินหรือทรัพย์สินตามคำร้องน่าจะได้ใช้หรือจะใช้เพื่อการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดเงินหรือทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้ง
               ความในมาตรานี้ไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้ซึ่งมีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในอันที่จะใช้อำนาจยึดหรืออายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๓๗  ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะดําเนินการสอดส่อง สืบสวน ไต่สวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อตรวจสอบให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าคณะกรรมการสืบสวนหรือไต่สวนแล้ว มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือกรรมการแต่ละคนพบเห็นการกระทําหรือการงดเว้นการกระทําใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้มีอํานาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดําเนินการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่สําหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้ง
แบบบัญชีรายชื่อที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งได้ ในกรณีที่เป็นการดําเนินการของกรรมการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการก้าหนด

               มาตรา ๑๓๘  เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา ๑๓๒ หรือภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
               การพิจารณาของศาลฎีกาให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการเป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
               เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด
               ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และในกรณีที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง

               มาตรา ๑๓๙  ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดและเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ว่าจะมีคำร้องขอหรือไม่ ให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้นั้นรับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งเช่นว่านั้น จำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ศาลฎีกาพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่คณะกรรมการเสนอต่อศาล
               เงินที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่งให้นำส่งเข้ากองทุน

               มาตรา ๑๔๐  ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง หรือที่ตนสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่พรรคการเมืองส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               ผู้มีสิทธิยื่นคัดค้านการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งอาจยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งจนถึงสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง เว้นแต่
               (๑) การคัดค้านเพราะเหตุตามมาตรา ๖๓ หรือมาตรา ๖๗ ให้ยื่นได้ตั้งแต่วันเลือกตั้งจนถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง
               (๒) การคัดค้านเกี่ยวกับการนับคะแนนให้คัดค้านในระหว่างเวลาที่ยังนับคะแนนไม่แล้วเสร็จ หรือในกรณีคัดค้านการรวมคะแนนให้คัดค้านก่อนประกาศผลการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง
               เมื่อคณะกรรมการได้รับคำคัดค้านการเลือกตั้งให้ดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลัน และพิจารณาดำเนินการตามหมวดนี้ แล้วแต่กรณี ต่อไป ทั้งนี้ การยื่นคำคัดค้านการเลือกตั้งและการพิจารณาให้เป็นไปตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด


               มาตรา ๑๓๒ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๓๖ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๘ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๔๑ - ๑๗๐)

 

หมวด ๘
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๑๔๑  ผู้ซึ่งรับโทษตามมาตรา ๑๕๘ หรือมาตรา ๑๖๖ ให้ถือว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

               มาตรา ๑๔๒  ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างผู้ใดขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
               ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
               ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
               ถ้าการกระทำตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทำหรือก่อให้ผู้อื่นกระทำสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

               มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
               ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

               มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง มีหรือครอบครองไว้ซึ่งบัตรเลือกตั้งโดยไม่ชอบ ไม่ว่าบัตรเลือกตั้งนั้นจะเป็นบัตรเลือกตั้งที่สำนักงานเป็นผู้จัดให้มีขึ้นหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๔๖  ในระหว่างเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนนจนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน ถ้ากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเปิดเผยให้แก่ผู้ใดทราบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดมาลงคะแนนหรือยังไม่มาลงคะแนนเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๔๗  ผู้ใดขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่วันลงคะแนนตามมาตรา ๑๐๖ และมาตรา ๑๐๗ ด้วย

               มาตรา ๑๔๘  ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนดสิบปีและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น
               ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๔๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

               มาตรา ๑๕๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๕๑  ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

               มาตรา ๑๕๒  ผู้สมัครผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

               มาตรา ๑๕๓  ผู้สมัครผู้ใดทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา ๔๕ หรือมาตรา ๕๗ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๕๔  ผู้สมัครผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
               ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน
               ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามวรรคสอง ถ้าหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง หรือเหรัญญิกของพรรคการเมืองรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิด ต้องรับโทษและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๕๕  ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นเอกสารหรือหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา ๖๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
               ถ้าบัญชีรายรับและรายจ่ายที่ยื่นตามมาตรา ๖๗ เป็นเท็จ ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี

               มาตรา ๑๕๖  ผู้ใด
               (๑) ฝ่าฝืนมาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ หรือมาตรา ๗๙
               (๒) หาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๗๐
               ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ หรือเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๕๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ (๑) หรือ (๒) มาตรา ๗๕ มาตรา ๗๖ หรือมาตรา ๙๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
               ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๗๓ (๑) หรือ (๒) ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ
               ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดตามมาตรา ๗๕ หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้นซึ่งรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้น และให้ถือเป็นเหตุที่จะยุบพรรคการเมืองนั้นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

               มาตรา ๑๕๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ (๓) (๔) หรือ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี และให้นำความในมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วย

               มาตรา ๑๖๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๔ หรือหาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าด้วยประการใดเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามมาตรา ๗๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

               มาตรา ๑๖๑  ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๗ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

               มาตรา ๑๖๒  ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๘๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๐๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

               มาตรา ๑๖๔  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๕ วรรคสอง มาตรา ๙๖ มาตรา ๙๘ มาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๑ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
               ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายก่อนถูกจับกุม ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
               ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับแก่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งที่คณะกรรมการเห็นสมควรกันไว้เป็นพยานด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๑๖๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๙๗ หรือมาตรา ๙๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๖๖  กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี

               มาตรา ๑๖๗  ในการสืบสวนหรือไต่สวน หากปรากฏว่าการให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลของบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้รายใดจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดคนอื่นที่เป็นตัวการสำคัญ และสามารถที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น คณะกรรมการจะกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้
               เมื่อคณะกรรมการมีมติไม่ดำเนินคดีกับบุคคลใดแล้วให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นอันระงับไป เว้นแต่ปรากฏในภายหลังว่าผู้ถูกกันไว้เป็นพยานได้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือไม่ไปเบิกความ หรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลไว้ ให้การกันบุคคลไว้เป็นพยานนั้นสิ้นสุดลงและคณะกรรมการอาจดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลนั้นต่อไปได้
               มาตรการในการกันบุคคลไว้เป็นพยานตามวรรคหนึ่ง และการเพิกถอนการกันไว้เป็นพยานตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๖๘  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้การเพิกถอนสิทธิดังกล่าวมีผลในทันทีและเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๖๙  ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งใด ให้ถือว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกของตนลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๗๐  ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าตัวการผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๑๗๑ - ๑๗๘)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๑๗๑  ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

               มาตรา ๑๗๒  ในวาระเริ่มแรก เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและได้ชำระเงินทุนประเดิมหรือค่าบำรุงพรรคการเมืองไว้แล้ว หากภายหลังนายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ให้ถือว่าผู้ที่เข้าชื่อร่วมกันนั้นเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นมาตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

               มาตรา ๑๗๓  ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๖๔ และมาตรา ๖๘ ให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง

               มาตรา ๑๗๔  บุคคลใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ถือว่าผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๗๕  ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดเสียสิทธิเนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้การเสียสิทธิของผู้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๗๖  เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองเพื่อกำหนดเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและของผู้สมัครในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๗๗  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดีแพ่งต่อบุคคลใดที่มีความรับผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่
               การกระทำใด ๆ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ถ้าการกระทำนั้นยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาล มีอำนาจดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่

               มาตรา ๑๗๘  บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

   ผู้รับสนองพระราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ กําหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสี่ร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยคน โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ และการคํานวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจํานวนคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งรวมกันทั้งประเทศ โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ การออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้ง และการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินการเลือกตั้งและการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงจําเป็นต้องตรา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๔๐/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑/๒๘ มกราคม ๒๕๖๖