หมวด ๔ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา ๔๑ - ๘๓)

ส่วนที่ ๑ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา ๔๑ - ๔๒)

 

ส่วนที่ ๑
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๔๑  บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
               (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
               (๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน
               (๔) ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
                     (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
                     (ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
                     (ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา
                     (ง) เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

               มาตรา ๔๒  บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
               (๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
               (๔) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
               (๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
               (๖) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
               (๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
               (๘) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
               (๙) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
               (๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
               (๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
               (๑๔) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
               (๑๕) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
               (๑๖) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
               (๑๗) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
               (๑๘) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
               (๑๙) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               (๒๐) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
               (๒๑) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วนที่ ๒ การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา ๔๓ - ๕๕)

 

ส่วนที่ ๒
การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๔๓  ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้งและได้รับการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ และต้องไม่เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ

               มาตรา ๔๔  ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศวิธีการหรือสถานที่รับสมัครภายในสามวันนับแต่วันที่คณะกรรมการกำหนดวันเลือกตั้ง กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อาจมีการเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยจะกำหนดให้การรับสมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดเดียวกันกระทำในสถานที่เดียวกันก็ได้

               มาตรา ๔๕  ในการสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครยื่นสมัครรับเลือกตั้งตามที่กำหนดตามมาตรา ๔๔ ภายในระยะเวลาการรับสมัคร โดยมีเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
               (๑) หนังสือรับรองการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งต้องมีคำรับรองด้วยว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
               (๒) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
               (๓) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
               (๔) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
               ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๒) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

               มาตรา ๔๖  ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบการสมัครของผู้สมัครว่าได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คืนเอกสารและหลักฐานทั้งหมดให้ผู้สมัครนั้น
               ในกรณีที่ผู้สมัครได้ส่งเอกสารและหลักฐานตามมาตรา ๔๕ ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครนั้นเรียงตามลำดับการยื่นสมัคร และให้ทำสำเนาคู่ฉบับไว้เป็นหลักฐานและให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร
               ประกาศตามวรรคสองอย่างน้อยให้มีชื่อตัว ชื่อสกุล และรูปถ่ายของผู้สมัคร พรรคการเมืองที่สังกัด และหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่จะใช้ในการออกเสียงลงคะแนน

               มาตรา ๔๗  ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งได้ตามมาตรา ๔๕ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่น ในเขตเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมโดยอาจกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่อื่นได้
               ให้นำความในมาตรา ๑๖ มาใช้บังคับแก่การจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๘  ในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครเรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ตามมาตรา ๔๖
               ในกรณีที่มีผู้มาสมัครพร้อมกันหลายคนและไม่อาจตกลงลำดับในการยื่นใบสมัครได้ ให้ใช้วิธีจับสลากระหว่างผู้สมัครที่มาพร้อมกัน
               เมื่อได้กำหนดหมายเลขประจำตัวผู้สมัครแล้วจะเปลี่ยนแปลงหมายเลขประจำตัวผู้สมัครไม่ได้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ

               มาตรา ๔๙  กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยในการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกา ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน และเมื่อศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของศาล

               มาตรา ๕๐  เมื่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ออกหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครตามมาตรา ๔๖ แล้ว ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครได้เฉพาะกรณีผู้สมัครตายหรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๕๑  ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในประกาศรายชื่อที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ประกาศตามมาตรา ๔๖ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ
               ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัคร และในกรณีที่ศาลฎีกายังมิได้มีคำวินิจฉัยเป็นประการใดก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ

               มาตรา ๕๒  ก่อนวันเลือกตั้ง หากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร
               เมื่อถึงวันเลือกตั้ง ถ้าปรากฏว่าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัย ให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีผลอยู่ในวันนั้น

               มาตรา ๕๓  ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคําสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้นําเนินการเลือกตั้งใหม่
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว และดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๓๘

               มาตรา ๕๔  กรณีที่พบเหตุตามมาตรา ๕๓ ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
               เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

               มาตรา ๕๕  พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร หากประสงค์จะส่งผู้แทนไปประจำอยู่ ณ ที่เลือกตั้งเพื่อสังเกตการณ์การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน ให้ยื่นหนังสือแต่งตั้งผู้แทนของตนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งได้ที่เลือกตั้งละหนึ่งคน
               ผู้แทนพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องอยู่ในที่ซึ่งจัดไว้ ณ ที่เลือกตั้งซึ่งสามารถมองเห็นการปฏิบัติงานได้ และต้องปฏิบัติตามที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งกำหนด
               ในกรณีที่มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนความในวรรคสอง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีคำสั่งให้ผู้แทนพรรคการเมืองนั้นออกไปจากที่เลือกตั้ง และให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง
               การปฏิบัติงานของผู้แทนพรรคการเมืองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด


               มาตรา ๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๓ การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (มาตรา ๕๖ - ๖๑)

 

ส่วนที่ ๓
การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

-------------------------

               มาตรา ๕๖  พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้พรรคละหนึ่งบัญชี มีจํานวนไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
               (๑) ดําเนินการสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อตามวิธีการที่กําหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
               (๒) พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อบุคคลใดต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากบุคคลนั้น และบุคคลดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อเพียงพรรคเดียว
               (๓) ให้จัดทําบัญชีรายชื่อตามแบบที่คณะกรรมการกําหนด โดยจัดเรียงลําดับรายชื่อผู้สมัครตามลำดับหมายเลข
               (๔) รายชื่อในบัญชีผู้สมัครของพรรคการเมืองต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่นและไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

               มาตรา ๕๗  การสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นตามมาตรา ๕๖ ต่อคณะกรรมการก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตามวิธีการและสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการอาจเปลี่ยนวิธีการหรือสถานที่รับสมัครก็ได้
               ในการยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ต้องยื่นพร้อมเอกสารและหลักฐานดังต่อไปนี้
               (๑) หนังสือยินยอมของผู้สมัคร
               (๒) หนังสือรับรองของพรรคการเมืองว่าได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว
               (๓) หลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกันสามปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี
               (๔) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละหนึ่งหมื่นบาท
               (๕) เอกสารและหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินการเลือกตั้ง
               ให้สำนักงานจัดทำข้อมูลหลักฐานตาม (๓) และเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ในกรณีพรรคการเมืองใดยื่นเอกสารและหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้คณะกรรมการมีอำนาจไม่รับสมัครรับเลือกตั้งผู้สมัครรายนั้นได้ และให้สำนักงานแจ้งเหตุผลให้พรรคการเมืองทราบ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้นําความในมาตรา ๔๘ มาใช้บังคับแก่การให้หมายเลขประจําตัวสําหรับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๘  เมื่อคณะกรรมการรับสมัครผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดแล้ว ให้ประกาศรายชื่อผู้สมัครภายในเจ็ดวันนับแต่วันปิดรับสมัครไว้โดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่อื่นที่เห็นสมควร และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๕๙  กรณีที่คณะกรรมการไม่รับสมัครบุคคลใดหรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครตามมาตรา ๕๘ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี และให้นำความในมาตรา ๔๙ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๐  ให้นำความในมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้สมัครผู้ใดเห็นว่าผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการประกาศตามมาตรา ๕๘ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๖๑  ก่อนวันเลือกตั้ง หากคณะกรรมการเห็นว่าผู้สมัครของพรรคการเมืองใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ถอนชื่อผู้นั้นออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร และให้นำความในมาตรา ๕๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม


               มาตรา ๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๗ วรรคห้า เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

ส่วนที่ ๔ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียง (มาตรา ๖๒ - ๘๓)

 

ส่วนที่ ๔
ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียง

-------------------------

               มาตรา ๖๒  ให้คณะกรรมการประกาศกําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
               (๑) จํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
               (๒) จํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อผู้ใดของพรรคการเมืองได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจํานวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย
               ในการกําหนดจํานวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตาม (๒) จะกําหนดโดยใช้จํานวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคํานวณมิได้ โดยให้คณะกรรมการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง และให้มีการทบทวนการกําหนดจํานวนเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับความจําเป็นและสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุกสี่ปี

               มาตรา ๖๓  ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่กำหนดตามมาตรา ๖๒ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใด ๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นยินยอมหรือไม่คัดค้าน ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น ๆ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการจัดให้แก่ผู้สมัครทุกคนและพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเท่าเทียมกัน

               มาตรา ๖๔  ในการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองสำหรับการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งในระหว่างระยะเวลาดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันที่คณะกรรมการประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง
               (๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง
               ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการหรือการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการจะขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปก็ได้
               ให้คณะกรรมการประกาศประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้เป็นตัวอย่างให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง และประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน

               มาตรา ๖๕  เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๖๔ แล้ว พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๓ โดยให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
               การกระทำตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งกระทำภายในเขตเลือกตั้งของตน ให้ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามมาตรา ๖๔ โดยให้นำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายของผู้นั้นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป
               ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่การให้ตามปกติประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควร ทั้งนี้ ตามจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๖  ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่ามีผู้ใดกระทำการตามมาตรา ๖๕ ให้คณะกรรมการสั่งให้เลขาธิการบันทึกไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหรือของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๖๕ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป แล้วแจ้งให้พรรคการเมืองหรือบุคคลดังกล่าวทราบ พรรคการเมืองหรือบุคคลดังกล่าวที่ไม่เห็นด้วยให้มีสิทธิยื่นคัดค้านตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๗  ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับจากวันเลือกตั้ง ผู้สมัครแต่ละคนและหัวหน้าพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายต่อคณะกรรมการ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง และผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของบัญชีรายรับและรายจ่าย
               ให้คณะกรรมการเปิดเผยรายงานสรุปรายรับและรายจ่ายของผู้สมัครแต่ละคนและพรรคการเมืองแต่ละพรรคโดยประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการหรือมีการคัดค้านว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่คณะกรรมการกำหนด หรือปรากฏว่าบัญชีรายรับและรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง ให้คณะกรรมการดำเนินการให้มีการสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อดำเนินการต่อไปโดยเร็ว และให้เก็บรักษาบัญชีรายรับและรายจ่าย เอกสารและหลักฐานดังกล่าวไว้จนกว่าคณะกรรมการจะดำเนินการแล้วเสร็จ

               มาตรา ๖๘  เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ วิธีการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าวให้มีผลภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
               (๑) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยแปดสิบวันก่อนวันครบอายุ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
               (๒) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
               (๓) ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้กระทำได้ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง
               (๔) ในกรณีมีการสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ ผู้ใดจะหาเสียงเลือกตั้งมิได้ เว้นแต่คณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่นโดยคำนึงถึงความสุจริตและเที่ยงธรรม

               มาตรา ๖๙  ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา ๘๑

               มาตรา ๗๐  การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดนับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
               ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วย
               ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้นำค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรานี้ ไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมืองด้วย

               มาตรา ๗๑  การหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีการอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๙ มาตรา ๗๐ มาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๓ คณะกรรมการจะกำหนดให้ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัครและพรรคการเมือง

               มาตรา ๗๒  การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใดจะกระทำมิได้

               มาตรา ๗๓  ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
               (๑) จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
               (๒) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
               (๓) ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
               (๔) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
               (๕) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

               มาตรา ๗๔  การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

               มาตรา ๗๕  ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด เพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ลงสมัครหรือไม่ส่งผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

               มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้งหรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ
               ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
               บทบัญญัติในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๗๗  ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยเข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการหรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติโดยสุจริตของผู้นั้น

               มาตรา ๗๘  ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
               การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
               ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหรือกรรมการที่พบเห็นมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่าอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด
               ในกรณีตามวรรคสาม ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดพ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ ในเขตเลือกตั้งหรือนอกเขตเลือกตั้ง หรือห้ามเข้าเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งได้

               มาตรา ๗๙  ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

               มาตรา ๘๐  เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้คณะกรรมการกำหนดลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง
               ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะมีผู้ช่วยหาเสียงก็ได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด และต้องแจ้งให้สำนักงานทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ช่วยหาเสียง หน้าที่และค่าตอบแทนผู้ช่วยหาเสียง ทั้งนี้ ตามรายการและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๘๑  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ในการนี้ คณะกรรมการจะขอให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนด้วยก็ได้
               ในการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศสำหรับพรรคการเมืองได้ด้วย

               มาตรา ๘๒  ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ที่จะต้องตรวจสอบดูแลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในกรณีที่พบเห็นการกระทำใดมิได้เป็นไปตามมาตรา ๘๐ และมาตรา ๘๑ ต้องรายงานให้คณะกรรมการทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปโดยทันที
               พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน หรือเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ผู้ใดไม่รายงานให้คณะกรรมการทราบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางวินัย และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแก่ผู้นั้นโดยเร็ว และแจ้งผลให้คณะกรรมการทราบด้วย ในกรณีที่ผู้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ให้ถือว่าละทิ้งหน้าที่หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

               มาตรา ๘๓  ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้เฉพาะในสถานที่ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องมีขนาดและจำนวนไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด โดยการกำหนดดังกล่าวให้หารือกับพรรคการเมืองด้วย


               มาตรา ๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๗๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖