พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๖๑
-------------------------
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นระเบียบเรียบร้อยอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก
(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
(๒) ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้งด้วย
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงาน และให้หมายความรวมถึงข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการ กรรมการ หรือผู้อำนวยการการเลือก แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
“วันเลือก” หมายความว่า วันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ แล้วแต่กรณี
“ผู้อำนวยการการเลือก” หมายความว่า ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ แล้วแต่กรณี
“สถานที่เลือก” หมายความว่า สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกกำหนดให้เป็นสถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ แล้วแต่กรณี
“จังหวัด” หมายความรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย
“อำเภอ” หมายความรวมถึงเขตด้วย
“ศาลากลางจังหวัด” หมายความรวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย
“ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงสำนักงานเขตด้วย
“ผู้สูงอายุ” หมายความว่า ผู้มีอายุตั้งแต่หกสิบปีขึ้นไป
มาตรา ๕ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการกำหนดโดยทำเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย
มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจวางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอื่นใดที่จำเป็นได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งหรือที่มิได้มีบัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ในระหว่างเวลานับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือก หากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการประชุมคณะกรรมการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกรรมการแต่ละคนอาจอยู่ ณ สถานที่แตกต่างกันได้ และให้เลขาธิการดำเนินการบันทึกเสียงและภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๘ การพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องกำหนดให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วและเที่ยงธรรม ในการนี้ อาจกำหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจเป็นผู้รับคำร้องแทนเพื่อจัดส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หรืออาจให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นแทนศาลฎีกาก็ได้
การปฏิบัติหน้าที่ของศาลฎีกาเกี่ยวกับการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ผู้พิพากษาซึ่งร่วมประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะผู้พิพากษา ตลอดจนบุคคลซึ่งองค์คณะผู้พิพากษามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด
มาตรา ๙ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๑/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑
หมวด ๑
ผู้สมัครและการสมัครรับเลือก
-------------------------
มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๕ วรรคสอง การแบ่งกลุ่มตามมาตรา ๑๑ เป็นไปเพื่อให้บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ทุกคนมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้
มาตรา ๑๑ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม ดังต่อไปนี้
(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๓) กลุ่มการศึกษา อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๔) กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๕) กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๖) กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๗) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงานหรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๘) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๙) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๐) กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตาม (๙)
(๑๑) กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๒) กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๓) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๔) กลุ่มสตรี
(๑๕) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๖) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๗) กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๘) กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๙) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๒๐) กลุ่มอื่น ๆ
การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (๒๐) ได้
มาตรา ๑๒ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ภายในห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการเลือก ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ
(๒) กำหนดวันรับสมัคร โดยเริ่มรับสมัครไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาใช้บังคับ และต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่าห้าวันแต่ต้องไม่เกินเจ็ดวัน
วันเลือกในระดับอำเภอ ต้องไม่เกินยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันเลือกในระดับจังหวัด ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศ ต้องไม่เกินสิบวันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
มาตรา ๑๓ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก
(๓) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี
(๔) ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก
(ข) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(ค) ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(ง) เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
(จ) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา
ความใน (๓) ไม่ใช้บังคับแก่สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ซึ่งสมัครในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๑๔) และ (๑๕)
มาตรา ๑๔ ผู้สมัครต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๓) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
(๔) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๖) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๘) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๙) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๑) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๕) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
(๑๖) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
(๑๗) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๘) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๑๙) เป็นข้าราชการ
(๒๐) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๑) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(๒๒) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๓) เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๔) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๕) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
(๒๖) เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๕ ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร และชำระค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวนสองพันห้าร้อยบาท
ให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ ได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว และเมื่อได้ยื่นใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้
ผู้สมัครมีสิทธิสมัครในกลุ่มตามมาตรา ๑๑ (๒๐) ได้ แม้จะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านอื่นในกลุ่มอื่น
แบบใบสมัคร แบบหนังสือแจ้งการเสนอชื่อ วิธีการสมัคร ระยะเวลาการสมัคร สถานที่สมัคร การเรียงลำดับผู้สมัคร และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
แบบใบสมัครอย่างน้อยต้องมีข้อความที่ผู้สมัครต้องรับรองว่าตนมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
การกำหนดสถานที่สมัครต้องกำหนดให้อยู่ภายในเขตอำเภอที่จะมีการเลือก
มาตรา ๑๖ เอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร ประกอบด้วย
(๑) เอกสารหรือหลักฐานอันแสดงว่าตนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านใดด้านหนึ่งตามมาตรา ๑๑ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) ข้อความแนะนำตัวของผู้สมัครซึ่งมีความยาวไม่เกินที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) เอกสารหรือหลักฐานอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานตามวรรคหนึ่งทุกฉบับและทุกหน้า ในกรณีที่ไม่อาจลงลายมือชื่อได้ ให้รับรองความถูกต้องและเป็นจริงตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
เอกสารหรือหลักฐานตาม (๑) ต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้นั้นมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริง และต้องมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องแนบมาพร้อมกัน
การกำหนดตาม (๒) ให้คำนึงถึงความสะดวกในการเผยแพร่ให้ผู้สมัครรับรู้ และการกำหนดตาม (๓) ต้องไม่สร้างภาระแก่ผู้สมัครเกินสมควร
มาตรา ๑๗ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครภายในระยะเวลาหรือในวันที่กำหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดให้ดำเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่น หรือจะกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติมก็ได้
มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบภายในสำนักงานหรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ไม่ว่าในกรณีใด ห้ามมิให้เปิดเผยหรือทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่ตรวจสอบดังกล่าวล่วงรู้รายชื่อหรือจำนวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร
มาตรา ๑๙ การเลือกในระดับอำเภอให้กระทำได้ แม้จะไม่มีผู้สมัครครบทุกกลุ่มตามมาตรา ๑๑
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ความปรากฏต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ไม่ว่าด้วยเหตุใดว่าผู้สมัครผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือหนึ่งอำเภอ หรือแสดงข้อมูลในใบสมัครหรือเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครอันเป็นเท็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัคร ในกรณีที่รับสมัครไว้แล้ว ให้การสมัครของผู้นั้นเป็นโมฆะ และให้ผู้อำนวยการการเลือกซึ่งพบเห็นดังกล่าวสั่งลบชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัคร แล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบ
ผู้ถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิเลือกและไม่มีสิทธิได้รับเลือก แต่ไม่มีผลกระทบต่อการรับสมัครหรือการเลือกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ในกรณีที่ความตามวรรคหนึ่งปรากฏขึ้นในระหว่างการดำเนินการเลือกไม่ว่าระดับใดก่อนประกาศผลการเลือก ให้ถือว่าผู้สมัครผู้นั้นกระทำการเพื่อให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดตามที่เห็นสมควร คำสั่งและการกำหนดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคสาม ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๒๑ ภายในห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามแยกเป็นรายกลุ่มทุกกลุ่มในเขตอำเภอ โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัครเพื่อให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอด้วย
การประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๒ กรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอสั่งไม่รับสมัครผู้ใดหรือสั่งลบชื่อผู้สมัครผู้ใด ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือวันที่ผู้อำนวยการการเลือกสั่งลบชื่อ แล้วแต่กรณี
ในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน เมื่อถึงวันเลือก ถ้าศาลฎีกายังมิได้วินิจฉัยให้ดำเนินการเลือกต่อไป โดยให้ถือว่ามีผู้สมัครเพียงเท่าที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอประกาศ ในกรณีเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่มีผลกระทบต่อการเลือกที่ดำเนินการไปแล้ว
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้สมัครซึ่งถูกลบชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครก่อนการดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่ผู้อำนวยการการเลือกสั่งลบชื่อ และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
หมวด ๒
ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
-------------------------
มาตรา ๒๔ ในการดำเนินการเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้มีคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน แนะนำ อำนวยความสะดวก และรายงานปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้
(๑) คณะกรรมการระดับประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการระดับประเทศ
(๒) คณะกรรมการระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น และปลัดกรุงเทพมหานครสำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตจังหวัดซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัคร หรือมีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตจังหวัดนั้น จำนวนสองคนเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๓) คณะกรรมการระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตอำเภอซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัคร หรือมีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตอำเภอนั้น จำนวนสองคนเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานหรือข้าราชการประจำอำเภอซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง การแต่งตั้ง และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการจะกำหนดให้แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครตำแหน่งใดแทนหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตาม (๒) และหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอตาม (๓) ก็ได้
ผู้เป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตาม (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เป็นผู้มีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตจังหวัดหรืออำเภอนั้น
ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่า กรรมการตาม (๒) หรือ (๓) ผู้ใดมีกรณีตามวรรคสามหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอื่นหรือบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนได้ตามที่เห็นสมควร
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๕ ในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้เลขาธิการเป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ให้กรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๒๔ (๒) เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด และให้กรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๒๔ (๓) เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
มาตรา ๒๖ เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ ให้ผู้อำนวยการการเลือกเป็นผู้ดำเนินการให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดหรืออำเภอ แล้วแต่กรณี ที่มีการเลือก ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้ ในการนี้ คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๒) และ (๓) เป็นผู้แต่งตั้งแทนคณะกรรมการก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ในการเลือกทุกระดับ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรดำเนินการหรือช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกได้
ในการเลือกระดับประเทศ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศได้
การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๘ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่รับสมัครและสถานที่เลือกในเขตอำเภอ
(๒) จัดให้มีการรับสมัคร
(๓) ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร
(๔) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามมาตรา ๒๑
(๕) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกคนเพื่อให้ผู้สมัครตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก
(๖) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๗) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอ และส่งบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับเลือกพร้อมทั้งเอกสารหรือข้อมูลตาม (๕) ไปยังผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๘) บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
สถานที่เลือกต้องเป็นสถานที่ที่สามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของสถานที่เลือกไว้ด้วย
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๙ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่เลือกในเขตจังหวัด
(๒) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอแยกเป็นรายกลุ่ม โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
(๓) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอเพื่อให้ผู้ได้รับเลือกได้ตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก ทั้งนี้ ให้ใช้เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
(๔) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๕) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัด และส่งบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับเลือกพร้อมทั้งเอกสารหรือข้อมูลตาม (๓) ไปยังผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ
(๖) บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๒๘ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่เลือกในระดับประเทศ
(๒) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับจังหวัดแยกเป็นรายกลุ่ม โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๓) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับจังหวัดเพื่อให้ผู้ได้รับเลือกได้ตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก ทั้งนี้ ให้ใช้เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๔) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๕) เสนอรายชื่อและคะแนนของแต่ละบุคคลในแต่ละกลุ่มต่อคณะกรรมการเพื่อประกาศผลการเลือก
(๖) บันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๒๘ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๑ ให้ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดและในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก และพนักงานเจ้าหน้าที่ มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดหรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัด หรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง
หมวด ๓
การเลือก
-------------------------
มาตรา ๓๓ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนลับตามวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๓๔ ในกรณีมีเหตุจำเป็นเฉพาะพื้นที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการเลือกได้ภายในระยะเวลาหรือในวันที่กำหนดเพราะเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด คณะกรรมการอาจกำหนดวันเลือกใหม่ของการเลือกระดับอำเภอ การเลือกระดับจังหวัด หรือการเลือกระดับประเทศตามความจำเป็นก็ได้
มาตรา ๓๕ กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๑๒ (๑) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา ๓๔ และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิมจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิกการเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
มาตรา ๓๖ ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๗ ในระหว่างการดำเนินการเลือกตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครเข้าไปในสถานที่เลือก เว้นแต่จะเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือก หรือผู้ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี
เมื่อประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ผู้สมัครหรือผู้ได้รับเลือกขั้นต้นซึ่งไม่มีสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก ต้องออกจากสถานที่เลือก
มาตรา ๓๘ ในระหว่างการดำเนินการเลือกตามมาตรา ๔๐ มาตรา ๔๑ หรือมาตรา ๔๒ ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดนำเข้าไปหรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่อาจใช้เพื่อติดต่อสื่อสารหรือเพื่อบันทึกภาพหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนดในสถานที่เลือก รวมทั้งบริเวณโดยรอบสถานที่เลือกตามที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี กำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่ผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ตามวรรคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกหรือการลงคะแนนโดยได้รับอนุญาตจากกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด หรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกตามมาตรา ๕๗ ด้วย
มาตรา ๓๙ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกเข้าไป ณ สถานที่เลือก หรือมิให้ไปถึง ณ สถานที่เลือกภายในกำหนดเวลาที่จะเลือก
มาตรา ๔๐ การเลือกระดับอำเภอ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สมัครต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้สมัครมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจัดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด
(๓) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับห้าคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงห้าคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) มีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้สมัครไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินห้าคน ให้ผู้สมัครกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนซึ่งมารายงานตัวในกลุ่มนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นสำหรับกลุ่มนั้น
(๘) กลุ่มใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการให้มีการเลือกสำหรับกลุ่มนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มอื่น
(๙) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๑๐) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๑๐) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๙) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๑๑) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในชั้นนี้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๒) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๑๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๑๓) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๑๒) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๘ (๕) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ในเขตอำเภอใดมีผู้สมัครไม่เกินห้ากลุ่ม เมื่อได้ดำเนินการเลือกตาม (๓) แล้ว ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสายตาม (๑๐) และให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มได้คนละหนึ่งคน โดยผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
มาตรา ๔๑ การเลือกระดับจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับห้าคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินห้าคนให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงห้าคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างดำเนินการเลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) มีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) ในกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันแล้วไม่เกินห้าคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินห้าคน ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอกลุ่มนั้นไม่ต้องดำเนินการเลือกกันเอง โดยให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวในกลุ่มนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นสำหรับกลุ่มนั้น
(๘) กลุ่มใดไม่มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มอื่น
(๙) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๑๐) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๑๐) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๙) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๑๑) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละหนึ่งคน ในชั้นนี้ ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๒) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๑๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้มีการนับคะแนนโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสองคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๑๓) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๑๒) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๙ (๓) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ในจังหวัดใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอจากทุกอำเภอมาระดับจังหวัดไม่เกินห้ากลุ่ม เมื่อได้ดำเนินการเลือกตาม (๓) แล้ว ไม่ต้องจัดให้มีการแบ่งสายตาม (๑๐) และให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มได้คนละหนึ่งคน โดยผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
มาตรา ๔๒ การเลือกระดับประเทศ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดมาครบหรือพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกินสิบคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นโดยเปิดเผย
(๕) ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับสี่สิบคนแรกเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่ในลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสี่สิบคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้น ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสี่สิบคนแต่มีจำนวนตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไป ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นมีเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้ามีผู้ได้คะแนนไม่ถึงยี่สิบคน ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือกซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่เพื่อให้ได้จำนวนยี่สิบคน
(๖) ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับเลือกตาม (๕) ผู้ใดไม่อยู่ในสถานที่เลือกในระหว่างการดำเนินการเลือกขั้นต่อไป ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และให้ถือว่าผู้ซึ่งได้รับเลือกมีเพียงเท่าที่มีอยู่
(๗) เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้จับสลากตาม (๘) ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๘) ให้จัดให้มีการแบ่งสายออกเป็นสายไม่เกินสี่สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เว้นแต่จะแบ่งให้เท่ากันไม่ได้ ให้แบ่งให้แต่ละสายมีจำนวนกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด และในแต่ละสายต้องมีกลุ่มไม่เกินห้ากลุ่มแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามกลุ่ม และให้บุคคลตาม (๗) ของแต่ละกลุ่มจับสลากว่ากลุ่มของตนจะอยู่ในสายใด
(๙) ให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกินห้าคน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกันจะเลือกกันเองหรือเลือกตนเองมิได้
(๑๐) เมื่อดำเนินการเลือกตาม (๙) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนโดยเปิดเผย แล้วแจ้งผลการนับคะแนนให้คณะกรรมการทราบ
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตาม (๑๐) แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตาม (๑๐) ในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบเป็นผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มนั้น และผู้ได้รับคะแนนลำดับที่สิบเอ็ดถึงลำดับที่สิบห้าของแต่ละกลุ่มอยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบ
ในการจัดเรียงลำดับตามวรรคสองสำหรับผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากัน ให้จัดให้มีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดให้มีการนับคะแนนด้วยเครื่องกลหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าได้ดำเนินการนั้นโดยเปิดเผย ให้ถือว่าเป็นการนับคะแนนโดยเปิดเผยแล้ว
มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้สมัครในระดับอำเภอ หรือผู้มีสิทธิเลือกในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศเห็นว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกของคณะกรรมการ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายในสามวันนับแต่วันที่มีการออกคำสั่ง และให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๔๕ ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภากลุ่มใดมีไม่ครบจำนวน ไม่ว่าเพราะเหตุตำแหน่งว่างลง หรือด้วยเหตุอื่นใดอันมิใช่เพราะเหตุถึงคราวออกตามอายุของวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตามลำดับ และให้ผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่ ในระหว่างที่บุคคลดังกล่าวยังมิได้เข้ารับตำแหน่ง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
หากมีกรณีที่ต้องเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มใดขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาแทนตามวรรคหนึ่ง แต่ไม่มีบุคคลในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้นเหลืออยู่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ประธานวุฒิสภาจับสลากว่าจะเลื่อนบุคคลในบัญชีสำรองในกลุ่มอื่นใดที่ยังมีผู้อยู่ในบัญชีสำรองเหลืออยู่ แล้วดำเนินการเลื่อนบุคคลนั้นขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคหนึ่ง การจับสลากดังกล่าวให้มีผลเฉพาะการเลื่อนครั้งนั้น
ในกรณีที่ทุกกลุ่มไม่มีรายชื่อบุคคลในบัญชีสำรองเหลืออยู่สำหรับการเลื่อนบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคสอง ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ แต่ในกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดและอายุของวุฒิสภาเหลืออยู่เกินหนึ่งปี ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภามีสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ได้รับเลือกดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
มาตรา ๔๖ ให้คณะกรรมการสั่งลบรายชื่อของบุคคลออกจากบัญชีสำรอง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔
(๔) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในบัญชีสำรองกลุ่มใดกระทำการใดหรือรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
(๕) ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามมาตรา ๖๒ วรรคสาม
คำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือว่าบัญชีสำรองมีเพียงเท่าที่มีอยู่
มาตรา ๔๗ ในกรณีตามมาตรา ๔๖ (๔) และในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในบัญชีสำรองผู้ใดลาออกโดยเจตนาเพื่อให้บุคคลในลำดับถัดลงไปได้รับเลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลในลำดับถัดไปหรือบุคคลอื่นใดได้ให้ หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกวุฒิสภาหรือบุคคลในบัญชีสำรองเพื่อลาออก ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๔๘ หีบบัตรและบัตรลงคะแนน ให้มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด ในการกำหนดเกี่ยวกับหีบบัตรต้องกำหนดให้สามารถใช้หีบบัตรเดิมได้ด้วย
มาตรา ๔๙ วิธีการลงคะแนน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๕๐ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดใช้บัตรอื่นอันมิใช่บัตรลงคะแนนตามมาตรา ๔๘ ลงคะแนนเลือก
มาตรา ๕๑ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดนำบัตรลงคะแนนออกไปจากสถานที่เลือก
มาตรา ๕๒ ห้ามมิให้ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรลงคะแนน
มาตรา ๕๓ ห้ามมิให้ผู้ใดนำบัตรลงคะแนนใส่ลงในหีบบัตรลงคะแนนโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตน เพื่อเลือกโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรลงคะแนนเพิ่มขึ้นจากความจริง
มาตรา ๕๔ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรลงคะแนนที่ตนได้ลงคะแนนแล้ว
มาตรา ๕๕ ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกนำบัตรลงคะแนนที่เลือกแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนเลือกหรือไม่เลือกผู้ใด
มาตรา ๕๖ บัตรลงคะแนนดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบัตรเสีย และมิให้นับเป็นคะแนน
(๑) บัตรปลอม
(๒) บัตรที่มีการทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตหรือเขียนข้อความใด ๆ ลงในบัตรลงคะแนนนอกจากเครื่องหมายในการลงคะแนน เว้นแต่เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
(๓) บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
(๔) บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด
(๕) บัตรที่ลงคะแนนให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับเลือก
(๖) บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลเกินจำนวนที่กำหนด
(๗) บัตรที่ลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนน
(๘) บัตรที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนดว่าเป็นบัตรเสีย
มาตรา ๕๗ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกให้แก่ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือก ให้ผู้อำนวยการการเลือกจัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการเลือกของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกไว้ด้วย โดยอาจให้บุคคลอื่นหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกมอบหมายเป็นผู้กระทำการแทนโดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบปัญหาในการใช้สิทธิเลือกนั้น
หมวด ๔
การควบคุมการเลือกให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
-------------------------
มาตรา ๕๘ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร
การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น หรือการแนะนำหรือช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกของผู้สมัคร โดยมิได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ แม้ว่าการกระทำจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด
ในกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหรือกรรมการที่พบเห็น มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำใดที่เห็นว่าอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด
ในกรณีตามวรรคสาม ให้คณะกรรมการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น สั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีพฤติการณ์อันอาจเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด พ้นจากหน้าที่เป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ประจำกระทรวง ทบวง กรม ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอในเขตหรือนอกเขตจังหวัดหรืออำเภอ หรือห้ามเข้าเขตจังหวัดหรืออำเภอใดก็ได้
มาตรา ๕๙ ก่อนประกาศผลการเลือก หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่
การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่งให้กรรมการแต่ละคนซึ่งพบเห็นการกระทำความผิดในเขตอำเภอหรือจังหวัดใด ให้มีอำนาจกระทำได้สำหรับการเลือกในเขตอำเภอหรือจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้ตรวจการเลือกตั้งและผู้อำนวยการการเลือกผู้ใดพบเห็นการกระทำตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่รายงานให้คณะกรรมการหรือกรรมการทราบโดยพลัน
มาตรา ๖๐ ก่อนประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการใดหรือรู้เห็นกับการกระทำใดของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๖๑ ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ใดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง
มาตรา ๖๒ เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิดให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองด้วย และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้คณะกรรมการสั่งลบรายชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีสำรอง และให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๖๓ เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือกตามมาตรา ๔๒ วรรคสอง แล้ว หากความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ให้คณะกรรมการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า
หมวด ๕
การคัดค้าน
-------------------------
มาตรา ๖๔ ผู้สมัครในระดับอำเภอ หรือผู้มีสิทธิเลือกในระดับจังหวัด หรือระดับประเทศมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านว่าการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศที่ตนสมัครหรือมีสิทธิเลือก แล้วแต่กรณี มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อคณะกรรมการภายในสามวันนับแต่วันเลือกในระดับนั้น ๆ และให้คณะกรรมการวินิจฉัยโดยเร็ว หากเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการสั่งยกคำร้อง และให้การเลือกดำเนินการต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการดำเนินการตามมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
หมวด ๖
บทกำหนดโทษ
-------------------------
มาตรา ๖๕ ในการสืบสวนหรือไต่สวน หากปรากฏว่าการให้ข้อมูล การชี้เบาะแสหรือคำให้การของบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้รายใดจะเป็นประโยชน์ในการพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดคนอื่นที่เป็นตัวการสำคัญและสามารถที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดนั้น คณะกรรมการจะกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้
เมื่อคณะกรรมการมีมติไม่ดำเนินคดีกับบุคคลใดแล้ว ให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาเป็นอันระงับไป เว้นแต่ปรากฏในภายหลังว่าผู้ถูกกันไว้เป็นพยานได้ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือไม่ไปเบิกความ หรือไปเบิกความแต่ไม่เป็นไปตามที่ให้การหรือให้ถ้อยคำไว้ ให้การกันบุคคลไว้เป็นพยานนั้นสิ้นสุดลง และคณะกรรมการอาจดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลนั้นต่อไปได้
มาตรการในการกันบุคคลไว้เป็นพยานตามวรรคหนึ่ง และการเพิกถอนการกันบุคคลไว้เป็นพยานตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๖๖ ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้การเพิกถอนสิทธิดังกล่าวมีผลในทันทีและเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น
มาตรา ๖๗ ผู้ใดสมัครเข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือมากกว่าหนึ่งอำเภออันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๖๘ กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๗๐ ผู้สมัครผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
บุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้สมัครช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวโดยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือเงื่อนไขตามมาตรา ๓๖ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๗๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๗ หรือมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นไปเพื่อก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสถานที่เลือก ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๗๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๙ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
มาตรา ๗๓ ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๔ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกไม่ว่าเพราะเหตุใด ได้สมัครรับเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาด้วย
มาตรา ๗๕ ผู้ใดรับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
มาตรา ๗๖ กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ใดกระทำการโดยวิธีใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือทำให้ผู้สมัครผู้ใดไม่ได้รับเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ผู้สมัครใดยินยอมให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๗๗ ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
(๑) จัด ทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
(๒) ทำการแนะนำตัวด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(๓) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(๔) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด
ความผิดตาม (๑) ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจได้
มาตรา ๗๘ ผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะกลั่นแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๗๙ ผู้ใดเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครรับเลือกหรือไม่ลงสมัครรับเลือกเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๐ ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรลงคะแนนชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๑ ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
มาตรา ๘๒ ผู้ใดกระทำการโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เปิด ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ หรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือนำไปซึ่งหีบบัตรลงคะแนนหรือบัตรลงคะแนน หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกที่ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกได้จัดทำตั้งแต่เวลาที่ได้เปิดและปิดหีบบัตรลงคะแนนที่ตั้งไว้เพื่อการเลือก หรือภายหลังที่ได้ปิดหีบบัตรลงคะแนนนั้นเพื่อรักษาไว้เมื่อการเลือกได้เสร็จสิ้นแล้ว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๓ ผู้ใดไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีหรือครอบครองไว้ซึ่งบัตรลงคะแนนโดยไม่ชอบ ไม่ว่าบัตรลงคะแนนนั้นจะเป็นบัตรลงคะแนนที่สำนักงานเป็นผู้จัดให้มีขึ้นหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดสิบปี
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องระวางโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๘๔ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดจงใจนับบัตรลงคะแนนหรือนับคะแนนให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้บัตรลงคะแนนชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสียหรือกระทำการด้วยประการใดแก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้หรืออ่านบัตรลงคะแนนให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการเลือกไม่ตรงความเป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดยี่สิบปี
มาตรา ๘๕ ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใด ๆ เกี่ยวกับผลของการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนดสิบปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้สมัคร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
มาตรา ๘๖ ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด และเป็นเหตุให้ต้องมีการเลือกใหม่ไม่ว่าจะมีคำร้องขอหรือไม่ ให้ศาลฎีกาสั่งให้ผู้นั้นรับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งเช่นว่านั้น จำนวนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ศาลฎีกาพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่คณะกรรมการเสนอต่อศาล
เงินที่ได้รับมาตามวรรคหนึ่งให้นำส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
มาตรา ๘๗ ผู้ใดเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้สมัครหรือผู้เลือกเกี่ยวกับการออกเสียงเลือกในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกจนถึงเวลาปิดการเลือก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘๘ ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของสถานที่เลือก ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๘๙ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร และการกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
บทเฉพาะกาล
-------------------------
มาตรา ๙๐ ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยในการสรรหาและแต่งตั้งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคล ซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
(ก) ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๑ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๓ มาตรา ๙๔ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ จำนวนสองร้อยคน โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แล้วให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยแยกผู้ได้รับเลือกตามกลุ่มและตามวิธีการสมัคร
(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคนตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากำหนด แล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม (ก)
(ค) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกผู้ได้รับเลือกตาม (ก) จากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการตามมาตรา ๙๘ และให้คัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) ให้ได้จำนวนหนึ่งร้อยเก้าสิบสี่คนรวมกับผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นสองร้อยห้าสิบคน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาตาม (ข) จำนวนห้าสิบคน ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(๒) มิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๒๓) ในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมาใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับสรรหาตาม (๑) (ข) และมิให้นำความในมาตรา ๑๔ (๑๙) มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง
(๓) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรายชื่อบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตาม (๑) (ค) จำนวนสองร้อยห้าสิบคนดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
(๔) อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ถ้ามีตำแหน่งว่างลง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลำดับในบัญชีสำรองตาม (๑) (ค) ขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทน โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สำหรับสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งเมื่อพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในขณะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย และให้ดำเนินการเพื่อแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่งแทน ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง อยู่ในตำแหน่งเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่
(๕) ในระหว่างที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในบัญชีสำรองขึ้นเป็นสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างตาม (๔) หรือเป็นกรณีที่ไม่มีรายชื่อบุคคลเหลืออยู่ในบัญชีสำรอง หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่
(๖) เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงตาม (๔) ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๙๑ ในวาระเริ่มแรก สำหรับการดำเนินการตามมาตรา ๙๐ (๑) (ก) ให้กลุ่มตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง มีสิบกลุ่ม ประกอบด้วย
(๑) กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อันได้แก่ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๒) กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๓) กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข อันได้แก่ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๔) กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๕) กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๖) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๗) กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและผู้ประกอบกิจการอื่น ๆ ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม ผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๘) กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๙) กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(๑๐) กลุ่มอื่น ๆ
การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๓ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๔ ย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่น ๆ ตาม (๑๐) ได้
มาตรา ๙๒ ในวาระเริ่มแรก ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มตามมาตรา ๙๑ อาจสมัครได้โดยวิธีการ ดังต่อไปนี้
(๑) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง
(๒) สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแสดงหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กรตามมาตรา ๙๓ แนบมาพร้อมกับใบสมัครด้วย
ให้ผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกในกลุ่มตามมาตรา ๙๑ ได้เพียงกลุ่มเดียว และสมัครโดยวิธีการตามวรรคหนึ่งได้เพียงวิธีการเดียว รวมทั้งมีสิทธิสมัครได้เพียงอำเภอเดียว และเมื่อได้ยื่นใบสมัครแล้วจะถอนการสมัครมิได้
ผู้ใดสมัครเข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่ม มากกว่าหนึ่งวิธีการ หรือมากกว่าหนึ่งอำเภอ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามวรรคสอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๗
มาตรา ๙๓ องค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีและมิได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง และองค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง มีสิทธิแนะนำชื่อผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกขององค์กร หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เพื่อสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาองค์กรละหนึ่งคนในแต่ละจังหวัดโดยต้องระบุอำเภอไว้ด้วย และเมื่อได้แนะนำชื่อผู้สมัครแล้วจะถอนหรือเปลี่ยนชื่อผู้ซึ่งได้แนะนำแล้วมิได้
องค์กรตามวรรคหนึ่งต้องลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด และให้เลือกกลุ่มตามมาตรา ๙๑ ได้เพียงกลุ่มเดียว
การแนะนำชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องทำโดยมติของคณะกรรมการที่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานขององค์กรดังกล่าว ในกรณีที่องค์กรดังกล่าวไม่มีคณะกรรมการ ให้ผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารงานขององค์กรเป็นผู้แนะนำชื่อแทน และให้ทำเป็นหนังสือโดยอย่างน้อยต้องมีประวัติระบุถึงเพศ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสาขาอาชีพของผู้ได้รับการแนะนำชื่อพร้อมทั้งหนังสือยินยอมจากผู้ได้รับการแนะนำชื่อ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
องค์กรตามวรรคหนึ่งซึ่งแจ้งการแนะนำชื่อหรือรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัครเป็นเท็จ ให้การแจ้งการแนะนำชื่อหรือการรับรองเอกสารหรือหลักฐานดังกล่าวเป็นโมฆะ และให้คณะกรรมการประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
มาตรา ๙๔ การเลือกระดับอำเภอ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สมัครต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้สมัครมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจัดให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด
(๓) ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครที่ได้จัดตาม (๒) แล้ว ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้มีการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร เป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสามคน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๕) ในกรณีที่กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้สมัครไม่เกินสามคน หรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินสามคน ให้ถือว่าผู้สมัครทุกคนซึ่งมารายงานตัวนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเลือก
(๖) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดไม่มีผู้สมัคร ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มและการสมัครโดยวิธีการอื่น ๆ
(๗) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้สมัครและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอดำเนินการให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
(๘) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๔) และ (๕) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๘ (๕) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๕ การเลือกระดับจังหวัด ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันนั้นรวมอยู่ด้วยกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอตาม (๒) ลงคะแนนเลือกบุคคลตาม (๒) ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผย ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสี่ลำดับแรกของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร เป็นผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น เพื่อไปดำเนินการเลือกในระดับประเทศต่อไป ในกรณีที่ลำดับใดมีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกินสี่คน ให้ผู้ซึ่งได้คะแนนเท่ากันดังกล่าวจับสลากกันเองว่าผู้ใดจะได้รับเลือกในกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้น และในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสี่คน ให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือก
(๕) ในกรณีที่กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอรวมกันแล้วไม่เกินสี่คนหรือมีผู้มารายงานตัวตาม (๑) ไม่เกินสี่คน ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอทุกคนซึ่งมารายงานตัวนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเลือก
(๖) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดไม่มีผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ให้งดการดำเนินการเลือกสำหรับกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น และไม่มีผลกระทบต่อการเลือกของกลุ่มและการสมัครโดยวิธีการอื่น ๆ
(๗) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดดำเนินการให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่ โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
(๘) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกตาม (๔) และ (๕) ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศพร้อมด้วยเอกสารหรือข้อมูลตามมาตรา ๒๙ (๓) ภายในวันถัดจากวันเลือกระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๖ การเลือกระดับประเทศ ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดต้องมาถึงสถานที่เลือกและแสดงตนภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ผู้ใดไม่มาหรือมาไม่ทันกำหนดให้หมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก
(๒) เมื่อผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดมาครบหรือเมื่อพ้นเวลาตาม (๑) แล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศจัดให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันนั้นรวมอยู่ด้วยกัน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศกำหนด
(๓) ให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดตาม (๒) ลงคะแนนเลือกบุคคลตาม (๒) ในกลุ่มเดียวกันและวิธีการสมัครเดียวกันได้ไม่เกินสองคน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกินหนึ่งคะแนนมิได้
(๔) กลุ่มใดและการสมัครโดยวิธีการใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดและแสดงตนในกลุ่มนั้นและการสมัครโดยวิธีการนั้น ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือก และถือว่าการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการให้ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดในกลุ่มนั้นและโดยวิธีการสมัครนั้นเลือกกันเองใหม่โดยให้ผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกนั้นหมดสิทธิที่จะเลือกและได้รับเลือก และต้องออกจากสถานที่เลือก
(๕) เมื่อการลงคะแนนของกลุ่มใดและวิธีการสมัครใดแล้วเสร็จ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศดำเนินการนับคะแนนของกลุ่มนั้นและวิธีการสมัครนั้นโดยเปิดเผย แล้วแจ้งผลการนับคะแนนให้คณะกรรมการทราบ
เมื่อคณะกรรมการได้รับรายงานตาม (๕) แล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่าห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้จัดเรียงลำดับรายชื่อตามผลการเลือกตาม (๕) โดยให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๙๘ ต่อไป
ในการจัดเรียงลำดับตามวรรคสองสำหรับผู้ที่อยู่ในลำดับที่มีคะแนนเท่ากันให้จัดให้มีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับต่อไป
การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๙๗ ผู้ใดขัดขืนไม่ยอมออกจากสถานที่เลือกตามมาตรา ๙๔ (๗) มาตรา ๙๕ (๗) หรือมาตรา ๙๖ (๔) ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑
มาตรา ๙๘ เมื่อได้ดำเนินการเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา ๙๐ (๑) (ก) เสร็จแล้วให้คณะกรรมการแจ้งรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครตั้งแต่ลำดับที่หนึ่งถึงลำดับที่สิบของแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาคัดเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อไป
ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลตามวรรคหนึ่งให้ได้จำนวนห้าสิบคนเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและคัดเลือกรายชื่ออีกจำนวนห้าสิบคนเป็นบัญชีสำรอง และให้ประกาศรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาและบุคคลในบัญชีสำรองในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๙๙ ในการคัดเลือกบุคคลจากบัญชีสำรองเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา ๙๐ (๔) และตามมาตรา ๙๘ ให้นำความในมาตรา ๔๕ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ผู้รับสนองพระราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๖๘ ก/หน้า ๑/๑๒ กันยายน ๒๕๖๑