พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๘)

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. ๒๕๖๐

-------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐
เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

               พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การจัดตั้ง การบริหารงาน และการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งมีมาตรการกำกับให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำ หรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
               (๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
               (๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               “พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกพรรคการเมือง
               “นายทะเบียนสมาชิก” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนในพรรคการเมือง
               “ข้อบังคับ” หมายความว่า ข้อบังคับพรรคการเมือง
               “บริจาค” หมายความว่า การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
               “ประโยชน์อื่นใด” หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
               “กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
               “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง
               “นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองตามมาตรา ๖
               “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
               “จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานครด้วย
               “เขตเลือกตั้ง” หมายความว่า ท้องที่ที่กำหนดเป็นเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือเขตเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๕  ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๖  ให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนและมีหน้าที่ และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับและควบคุมของคณะกรรมการ

               มาตรา ๗  ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

               มาตรา ๘  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่นหรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ประกาศ หรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
               ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คณะกรรมการหรือนายทะเบียนมีอำนาจกำหนดหรือมีคำสั่งเรื่องใด ถ้ามิได้กำหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้คณะกรรมการหรือนายทะเบียนกำหนดโดยทำเป็นประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดำเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งใดมีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ คณะกรรมการหรือนายทะเบียนต้องกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๖๐

หมวด ๑ การจัดตั้งพรรคการเมือง (มาตรา ๙ - ๑๙)

 

หมวด ๑
การจัดตั้งพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๙  บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้
               (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี
               (๓) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ
               (๔) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               (๕) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๑ หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๘
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการของพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทแต่ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท

               มาตรา ๑๐  ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๙ ต้องประชุมร่วมกันโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคนเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) กำหนดชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และข้อบังคับ
               (๒) เลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
               (๓) ดำเนินการอื่นอันจำเป็นต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการกำหนด
               ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองตาม (๑) ต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา ๑๔ และต้องไม่ซ้ำ พ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่จดทะเบียนหรือที่ยื่นขอจดทะเบียนตามมาตรา ๙ อยู่ก่อนแล้ว หรือของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและยังไม่พ้นยี่สิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ หรือของพรรคการเมืองที่มีผู้แจ้งไว้แล้วตามมาตรา ๑๘ และต้องไม่ซ้ำพ้อง หรือคล้ายคลึงกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์หรือพระนามของพระราชวงศ์ หรือที่มุ่งหมายให้หมายถึงพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์
               การประชุมตามวรรคหนึ่งต้องมีบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร และมติของที่ประชุมให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม โดยผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนซึ่งต้องทำโดยเปิดเผย และการมอบหมายให้ลงคะแนนแทนกันจะกระทำมิได้
               ในกรณีที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๗ ให้ถือว่าการประชุมตามวรรคหนึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่หนึ่งของพรรคการเมือง

               มาตรา ๑๑  ในการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๐ (๒) เป็นผู้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่คณะกรรมการกำหนด และให้นายทะเบียนออกใบรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอไว้เป็นหลักฐาน
               คำขอจดทะเบียน การยื่นคำขอจดทะเบียน และการออกใบรับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามแบบหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๒  คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ วรรคสอง อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อและชื่อย่อของพรรคการเมือง
               (๒) ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
               (๓) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง
               (๔) ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชนและลายมือชื่อของหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง

               มาตรา ๑๓  เอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นไปพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
               (๑) ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน และลายมือชื่อของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน
               (๒) หลักฐานการชำระเงินทุนประเดิมของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน
               (๓) ข้อบังคับ
               (๔) บันทึกการประชุมตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งผู้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้อง
               (๕) หนังสือรับแจ้งของนายทะเบียนในกรณีที่มีการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๘

               มาตรา ๑๔  ข้อบังคับต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
               (๒) ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
               (๓) อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ
               (๔) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ

               มาตรา ๑๕  ข้อบังคับอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อและชื่อย่อของพรรคการเมือง
               (๒) ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
               (๓) คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง
               (๔) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองซึ่งต้องตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
               (๕) โครงสร้างการบริหารพรรคการเมือง และตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคการเมือง
               (๖) หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และหน้าที่และอำนาจของหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
               (๗) การบริหารจัดการสาขาพรรคการเมือง และของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
               (๘) การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองและการประชุมใหญ่ของสาขาพรรคการเมือง
               (๙) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก การรับเข้าเป็นสมาชิก และการพ้นจากการเป็นสมาชิก
               (๑๐) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ความรับผิดชอบของสมาชิกต่อพรรคการเมือง และความรับผิดชอบของพรรคการเมืองต่อสมาชิก
               (๑๑) มาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิก โดยมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคการเมืองอย่างน้อยต้องเทียบเคียงได้กับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๑๒) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ และการคัดเลือกบุคคลซึ่งพรรคการเมืองเห็นสมควรจะเสนอให้ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวาง
               (๑๓) หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการคัดเลือกด้วยอย่างกว้างขวาง
               (๑๔) วิธีการบริหารการเงินและทรัพย์สิน และการจัดทำบัญชีของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและให้สมาชิกตรวจสอบได้โดยสะดวก
               (๑๕) รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองซึ่งต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละยี่สิบบาท
               (๑๖) การเลิกพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
               การพิจารณาเพื่อออกข้อบังคับตาม (๖) (๘) (๑๐) (๑๑) (๑๒) (๑๓) (๑๔) (๑๕) และ (๑๖) ต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมพิจารณาอย่างกว้างขวาง
               การกำหนดข้อบังคับในลักษณะที่เป็นการให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจะกระทำมิได้
               พรรคการเมืองอาจกําหนดให้เรียกเก็บค่าบํารุงพรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กําหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าสองร้อยบาท
               เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองตาม (๑๕) ให้สำนักงานประสานกับธนาคาร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๑๖  หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อบังคับแต่ต้องไม่เกินคราวละสี่ปี

               มาตรา ๑๗  ในกรณีที่คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและเอกสารและหลักฐานที่ยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องและครบถ้วนตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองและให้ประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา
               หากนายทะเบียนเห็นว่าคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมกับคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองในเรื่องใดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๖ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่มีการแก้ไขหรือยังแก้ไขไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้นายทะเบียนรายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและมีมติไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง และให้นายทะเบียนแจ้งมติของคณะกรรมการให้ผู้ยื่นคำขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ
               ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้ยื่นไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ ให้นายทะเบียนรายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้น และให้แจ้งมติของคณะกรรมการให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ ในการนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องดำเนินการแก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วหากไม่มีการแก้ไข หรือยังแก้ไขไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
               ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านมติของคณะกรรมการตามวรรคสองหรือวรรคสามต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการ

               มาตรา ๑๘  บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙ จำนวนไม่น้อยกว่าสิบห้าคน จะยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนไว้ก่อน แล้วดำเนินการรวบรวมผู้จัดตั้งพรรคการเมืองให้ได้ครบจำนวนตามมาตรา ๙ ก็ได้ แต่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับแจ้ง ถ้ามิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้คำขอนั้นเป็นอันสิ้นผล
               คำขอแจ้ง การยื่นคำขอแจ้ง และการรับแจ้ง ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ คำขอแจ้งนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วยชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง
               ชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่แจ้งตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะตามมาตรา ๑๔ และต้องไม่ซ้ำ พ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่มีผู้แจ้งตามวรรคหนึ่งไว้แล้วหรือของพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งไว้แล้วหรือที่ยื่นขอจดทะเบียนตามมาตรา ๙ อยู่ก่อนแล้ว

               มาตรา ๑๙  หากนายทะเบียนเห็นว่าการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามมาตรา ๑๘ ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้แจ้งทราบพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่นายทะเบียนกำหนดหรือที่ขยายให้ เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน ให้คำขอนั้นเป็นอันสิ้นผล


               มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (๑๕) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๑๕ วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๒ การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง (มาตรา ๒๐ - ๔๖)

 

หมวด ๒
การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๒๐  ให้พรรคการเมืองที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง
               พรรคการเมืองต้องไม่ดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

               มาตรา ๒๑  พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมืองมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
               คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับ
               กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดามติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมาย และข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนได้คัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองโดยปรากฏหลักฐานการคัดค้านนั้นในรายงานการประชุมหรือได้ทำหนังสือคัดค้านยื่นต่อประธานในที่ประชุมภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่การประชุมนั้นสิ้นสุดลง
               ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ทำการแทนก็ได้

               มาตรา ๒๒  คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับรวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ
               เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
               เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือเมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้รับแจ้งจากนายทะเบียนว่าสมาชิกกระทำการอันอาจมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีมติหรือสั่งการให้สมาชิกยุติการกระทำนั้นโดยพลัน และกำหนดมาตรการหรือวิธีการที่จำเป็นเพื่อมิให้สมาชิกผู้ใดกระทำการอันอาจมีลักษณะดังกล่าวอีก แล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีมติ
               ในกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามวรรคสาม ให้นายทะเบียนเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ คำสั่งดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าวดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลายี่สิบปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
               กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวรรคสี่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของคณะกรรมการต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว
               ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวรรคสี่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และห้ามมิให้มีส่วนร่วมในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่นหรือการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

               มาตรา ๒๓  ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างน้อยในแต่ละปีพรรคการเมืองต้องมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
               (๑) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของปวงชนชาวไทย
               (๒) ร่วมกับประชาชนในการหาแนวทางการพัฒนาประเทศ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน
               (๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระอย่างมีเหตุผล
               (๔) ส่งเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน
               (๕) กิจกรรมอื่นอันจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน ทั้งนี้ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
               ให้หัวหน้าพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองจัดทำแผน หรือโครงการที่จะดำเนินกิจกรรมตามวรรคหนึ่งในแต่ละปีส่งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนเมษายนของทุกปี และให้นายทะเบียนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

               มาตรา ๒๔  สมาชิกต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กําหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
               (๒) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๙๘ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) (๑๔) (๑๖) (๑๗) หรือ (๑๘) ของรัฐธรรมนูญ
               (๓) ไม่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้จําคุกว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษ
               (๔) ไม่เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้จําคุกว่ากระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
               (๕) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๑ หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นตามมาตรา ๑๘

               มาตรา ๒๕  ให้นายทะเบียนสมาชิกมีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก และจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริงและต้องให้สมาชิกตรวจดูได้โดยสะดวก ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง รวมทั้งประกาศชื่อและนามสกุลของสมาชิกให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้อง
               ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสมาชิกให้นายทะเบียนทราบตามรายการหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
               ในกรณีที่พรรคการเมืองใดแอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิกโดยผู้นั้นไม่รู้เห็นหรือไม่สมัครใจผู้ที่ถูกแอบอ้างหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ถูกแอบอ้าง อาจแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาลบชื่อของผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น โดยให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น

               มาตรา ๒๖  ให้นายทะเบียนมีหน้าที่ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสมาชิกของทุกพรรคการเมือง
               ในกรณีที่ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าบุคคลใดเป็นสมาชิกหลายพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทราบและลบชื่อผู้นั้นออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น และให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบโดยเร็ว แล้วแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
               ให้สำนักงานจัดให้มีระบบฐานข้อมูลพรรคการเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๒๗  สมาชิกภาพของสมาชิกเริ่มตั้งแต่ได้ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับแล้ว โดยจะสิ้นสุดลงตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้
               (๑) ลาออก
               (๒) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ เว้นแต่เป็นกรณีมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๑) ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการบวชตามประเพณีนิยม แต่ในระหว่างมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวจะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกมิได้
               (๓) ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน
               การลาออกตาม (๑) ให้ถือว่าสมบูรณ์เมื่อได้ยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนสมาชิก หรือนายทะเบียน ในกรณีที่ยื่นต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งให้นายทะเบียนสมาชิกทราบโดยเร็ว
               ในกรณีที่ข้อบังคับกำหนดให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมติของพรรคการเมือง หากสมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับต้องกำหนดให้มติของพรรคการเมืองดังกล่าวมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น

               มาตรา ๒๘  ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

               มาตรา ๒๙  ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

               มาตรา ๓๐  ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก

               มาตรา ๓๑  ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก

               มาตรา ๓๒  ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่พรรคการเมืองใช้ชื่อ ชื่อย่อ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง หรือถ้อยคำในประการที่น่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองหรือใช้ชื่อที่มีอักษรไทยประกอบว่า “พรรคการเมือง” หรืออักษรต่างประเทศซึ่งแปลหรืออ่านว่า “พรรคการเมือง”

               มาตรา ๓๓  ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน
               (๒) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกำหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป
               เมื่อจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองขึ้นในภาคใดแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขานั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
               หนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง ต้องมีรายการตามที่นายทะเบียนกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีแผนผังแสดงที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง และชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชนของคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมืองตามจำนวนที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดคน
               ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการสาขาพรรคการเมืองให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
               ภายหลังที่ได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองแล้ว สาขาพรรคการเมืองใดไม่เป็นไปตาม (๒) ให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองนั้นดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนดหากพรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่ถูกต้องให้สาขาพรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป

               มาตรา ๓๔  กรรมการสาขาพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรคการเมือง
               การได้มา การดำรงตำแหน่ง วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง วิธีการบริหาร และหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสาขาพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับโดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา ๒๓ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสาขาพรรคการเมืองนั้นด้วย

               มาตรา ๓๕  ในจังหวัดที่มิได้เป็นที่ตั้งสาขาพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดนั้นเกินหนึ่งร้อยคน พรรคการเมืองนั้นอาจแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวให้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้ตามจํานวนที่เห็นสมควรเพื่อดําเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้น และให้นําความในมาตรา ๓๔ มาใช้บังคับแก่ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดด้วยโดยอนุโลม
               ให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

               มาตรา ๓๖  สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจะจัดตั้งขึ้นนอกราชอาณาจักรมิได้

               มาตรา ๓๗  พรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

               มาตรา ๓๘  การดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ ให้กระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง
               (๑) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรคการเมือง
               (๒) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ
               (๓) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
               (๔) การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง
               (๕) ให้ความเห็นชอบรายงานการเงินและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีที่ผ่านมา
               (๖) กิจการที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง
               (๗) กิจการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมาย หรือข้อบังคับ
               กิจการตาม (๑) (๒) และ (๓) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองแล้ว ให้พรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนทราบเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง และให้นายทะเบียนประกาศการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา
               ในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองครบวาระ ตาย ลาออก เปลี่ยนชื่อตัว เปลี่ยนชื่อสกุล หรือเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุใด ๆ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว และให้นายทะเบียนประกาศเหตุดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาด้วย

               มาตรา ๓๙  องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสองสาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๓ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน
               องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสาขาพรรคการเมืองทั้งหมด และสมาชิกสาขาพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน

               มาตรา ๔๐  การลงมติในที่ประชุมใหญ่ให้กระทำโดยเปิดเผย แต่การลงมติเลือกบุคคลตามมาตรา ๓๘ (๓) และ (๔) ให้ลงคะแนนลับ

               มาตรา ๔๑  สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของพรรคการเมืองหรือไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า มีสิทธิเข้าชื่อกันยื่นคำร้องขอให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมืองนั้นได้

               มาตรา ๔๒  ในกรณีสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งคนใด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น ให้มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
               ถ้าคณะกรรมการวินิจฉัยว่ามติใดของพรรคการเมืองขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้

               มาตรา ๔๓  ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายการตามที่คณะกรรมการกำหนด
               พรรคการเมืองใดที่จดทะเบียนยังไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันสิ้นปีปฏิทิน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งสำหรับปีนั้น
               ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วตามวรรคหนึ่ง ต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายทะเบียนกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย

               มาตรา ๔๔  ห้ามมิให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาคจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

               มาตรา ๔๕  ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการหรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

               มาตรา ๔๖  ห้ามมิให้พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับแต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ
               ห้ามมิให้ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองสมาชิก หรือผู้ใด เพื่อจูงใจให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ


               มาตรา ๒๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๓ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา ๔๗ - ๕๗)

 

หมวด ๓
การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๔๗  พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดในจังหวัดนั้น ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกําหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดเพื่อดําเนินการตามมาตรา ๕๐

               มาตรา ๔๘  การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทําบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด โดยต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกําหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดเพื่อดําเนินการตามมาตรา ๕๑
               คณะกรรมการจะกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของผู้สมัครซึ่งเป็นชายและหญิงที่พรรคการเมืองจะต้องส่งลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่อาจส่งผู้สมัครตามอัตราส่วนดังกล่าวได้ ให้แจ้งเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
               การกำหนดอัตราส่วนตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมืองด้วย

               มาตรา ๔๙  ในการเลือกตั้งทั่วไป การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ เว้นแต่กรณีที่เป็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแทนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ หรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งหรือกรณีผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามข้อบังคับ
               เมื่อมีกรณีต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประกอบด้วยบุคคลและจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทั้งนี้ จำนวนหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้เป็นไปตามข้อบังคับ แต่อย่างน้อยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๓ และให้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้ได้ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดในข้อบังคับ และตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๐และมาตรา ๕๑
               เพื่อประโยชน์ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง พรรคการเมืองใดจะดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้

               มาตรา ๕๐  การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คณะกรรมการสรรหากําหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป
               (๒) เมื่อพ้นกําหนดเวลารับสมัครตาม (๑) ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
               (๓) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัครจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดจัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด
               (๔) ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดส่งรายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) ให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็น
               (๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) และ (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเสนอให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

               มาตรา ๕๑  การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คณะกรรมการสรรหากําาหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครและการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป
               (๒) ให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด เสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา
               (๓) เมื่อพ้นกําหนดเวลารับสมัครและเสนอรายชื่อตาม (๑) แล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ โดยต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
               (๔) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๓) จากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมเสนอความคิดเห็น
               (๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแล้วจัดลําดับตามที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
               เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ให้สามารถใช้สิทธิการเป็นสมาชิกในจังหวัดใกล้เคียงที่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดตามที่กําหนดในข้อบังคับ

               มาตรา ๕๒  ให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑

               มาตรา ๕๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับ หรือให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือก หรือเพื่อให้เสนอชื่อสมาชิกผู้ใดเข้ารับการเลือก ในการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑

               มาตรา ๕๕  ห้ามมิให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดยินยอมให้บุคคลใดที่มิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในการดําเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑

               มาตรา ๕๖  ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๕๑
               เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งหรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่ามิได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ แล้วแต่กรณี หรือดำเนินการไม่ครบถ้วน ไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไป แต่ถ้าคณะกรรมการทราบถึงการไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องกล่าวโทษหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีเขตอำนาจเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

               มาตรา ๕๗  การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินการประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ
               (๒) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
               (๓) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
               ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด


               มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมวด ๔ การเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง (มาตรา ๕๘ - ๖๑)

 

หมวด ๔
การเงินและการบัญชีของพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๕๘  ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่บริหารการเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองตลอดจนจัดให้มีการทำบัญชีตามมาตรา ๕๙ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
               หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องจัดให้มีบัญชีรับและจ่ายเงินของสาขาพรรคการเมืองหรือที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้รับหรือจ่าย แล้วแต่กรณี และจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมที่อยู่ของสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาพรรคการเมืองหรือในเขตจังหวัดที่ตนเป็นตัวแทน แล้วแต่กรณี ตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๕๙  บัญชีของพรรคการเมืองประกอบด้วย
               (๑) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับและแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย
               (๒) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค
               (๓) บัญชีแยกประเภท
               (๔) บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน
               การลงรายการบัญชีตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการและเอกสารประกอบการลงบัญชี และต้องจัดทำภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๐  พรรคการเมืองต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายในวันสิ้นปีปฏิทินที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้ง และครั้งต่อไปเป็นประจำทุกปีในวันสิ้นปีปฏิทิน
               การปิดบัญชี ให้จัดทำงบการเงินซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะทางการเงินและงบรายได้และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง
               งบแสดงฐานะทางการเงินต้องแสดงรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนของพรรคการเมืองทั้งต้องแสดงที่มาของรายได้ตามมาตรา ๖๒ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และรายการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
               งบการเงินของพรรคการเมืองต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองการสอบบัญชี

               มาตรา ๖๑  ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบ และรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี
               งบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วให้หัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมือง และส่งให้แก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติพร้อมทั้งบัญชีตามมาตรา ๕๙
               เมื่อได้รับงบการเงินตามวรรคสองแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               พรรคการเมืองใดที่จดทะเบียนยังไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับถึงวันสิ้นปีปฏิทิน ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่งสำหรับปีนั้น

หมวด ๕ รายได้ของพรรคการเมือง (มาตรา ๖๒ - ๗๗)

 

หมวด ๕
รายได้ของพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๖๒  พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
               (๑) เงินทุนประเดิมตามมาตรา ๙ วรรคสอง
               (๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ
               (๓) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
               (๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
               (๕) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
               (๖) เงินอุดหนุนจากกองทุน
               (๗) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
               การได้มาซึ่งรายได้ตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องมีใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้นั้นเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
               การจำหน่ายสินค้าหรือบริการตาม (๓) และการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองตาม (๔) ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
               รายได้ของพรรคการเมืองจะนำไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากการดำเนินงานของพรรคการเมืองมิได้

               มาตรา ๖๓  รายได้และทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

               มาตรา ๖๔  การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผย และแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน
               ให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนและที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากกิจกรรมดังกล่าว และให้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบด้วย ทั้งนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กิจกรรมดังกล่าวสิ้นสุดลง
               ประกาศและหนังสือแจ้งตามวรรคสอง ให้ระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไปด้วย

               มาตรา ๖๕  ทุกเดือน ให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าพันบาท ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของการบริจาค และให้แจ้งนายทะเบียนทราบตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดด้วย
               การประเมินมูลค่าของสิ่งที่ได้รับบริจาคตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๖๖  บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
               พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้

               มาตรา ๖๗  หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องแจ้งให้พรรคการเมืองทราบภายในระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับ และให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเป็นหนังสือให้แก่ผู้บริจาคเป็นหลักฐาน ทั้งนี้ ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด
               กิจกรรมของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด สมาชิก หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย

               มาตรา ๖๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๗ นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้บังคับแล้วจนถึงวันเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่ารวมกันแล้วเกินหนึ่งหมื่นบาทต่อวัน โดยผู้บริจาคประสงค์จะบริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นหรือของพรรคการเมืองหรือเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับบริจาคตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               ถ้าสิ่งของที่ได้รับบริจาคตามวรรคหนึ่งไม่อาจนำส่งพรรคการเมืองได้หรือเป็นของสดเสียได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นแจ้งให้พรรคการเมืองทราบเพื่อบันทึกมูลค่าของสิ่งนั้นไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น
               ในกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดมีเหตุสงสัยว่าเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ตนได้รับเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือเพื่อใช้ในการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง หรือเป็นสิ่งของตามวรรคสองหรือไม่ ให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

               มาตรา ๖๙  ผู้เสียภาษีเงินได้ซึ่งมิใช่นิติบุคคลมีสิทธิแสดงเจตนาในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้รัฐนำเงินที่ตนได้เสียภาษีไว้ไปอุดหนุนพรรคการเมืองที่ตนระบุพรรคใดพรรคหนึ่งปีละห้าร้อยบาทได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
               ให้กรมสรรพากรจัดทำรายชื่อพรรคการเมืองที่ได้รับการระบุตามวรรคหนึ่งพร้อมจำนวนเงินที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับการอุดหนุนจากการแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งทั้งหมดส่งให้นายทะเบียน และโอนเงินดังกล่าวให้กองทุนภายในเดือนกันยายนของทุกปีเพื่อโอนต่อให้พรรคการเมืองที่ได้รับอุดหนุนตามมาตรานี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการและกรมสรรพากรจะได้ตกลงกัน

               มาตรา ๗๐  ผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองมีสิทธินำจำนวนเงินที่บริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายเพื่อการบริจาคตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้ตามจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทสำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกินห้าหมื่นบาท สำหรับนิติบุคคล
               วิธีการขอหักค่าลดหย่อนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
               เพื่อประโยชน์ในการหักค่าลดหย่อน ให้ถือว่าการสนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา ๖๔ เป็นเงินบริจาคตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๗๑  ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและเหรัญญิกพรรคการเมืองเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรคการเมืองนั้น และให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งหมายเลขบัญชีของบัญชีเงินฝากและจำนวนเงินที่เปิดบัญชีของทุกบัญชีให้นายทะเบียนทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่เปิดบัญชีดังกล่าว

               มาตรา ๗๒  ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

               มาตรา ๗๓  ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่รวมถึงการที่ข้าราชการการเมืองผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตรา ๖๔ โดยมิได้กระทำหรือมีส่วนกระทำการอันเป็นการต้องห้ามนั้น

               มาตรา ๗๔  ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจาก
               (๑) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
               (๒) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร
               (๓) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า ในกรณีที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้พิจารณาตามที่ปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าว หุ้นที่ไม่ปรากฏชื่อผู้ถือหรือถือโดยตัวแทนของบุคคลที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้ถือว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยผู้ไม่มีสัญชาติไทย
               (๔) คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
               (๕) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
               (๖) บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) ตามที่คณะกรรมการกำหนด
               ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวที่มิใช่เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

               มาตรา ๗๕  บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลตามมาตรา ๗๔ จะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือสมาชิกเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมิได้

               มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตรา ๖๔
               กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงกิจการที่รัฐเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ หรือมีจำนวนถึงหนึ่งในสามของหุ้นส่วนหรือหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น
               ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับวัด หรือนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศาสนา และองค์กรทางศาสนาไม่ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ด้วย โดยคณะกรรมการจะกำหนดให้ใช้บังคับกับนิติบุคคลอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือนิติบุคคลที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไรมาแบ่งปันกันด้วยก็ได้

               มาตรา ๗๗  เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดมาตรการและวิธีการที่จำเป็นให้พรรคการเมืองปฏิบัติเพื่อให้การรับบริจาคของพรรคการเมืองเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผยและตรวจสอบได้ และให้มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการบริจาคแก่พรรคการเมือง รวมทั้งให้มีอำนาจออกคำสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง
               ให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการ

หมวด ๖ กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง (มาตรา ๗๘ - ๘๖)

 

หมวด ๖
กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๗๘  ให้มีกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองกองทุนหนึ่งในสำนักงานมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายในการสนับสนุนพรรคการเมือง การให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน และสมาชิกมีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างแท้จริงและการดำเนินการอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนด
               กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
               (๑) เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพัน และงบประมาณที่โอนมาตามมาตรา ๑๔๗
               (๒) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่าย
               (๓) เงินที่ได้รับมาจากกรมสรรพากรตามมาตรา ๖๙
               (๔) เงินค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๕) เงินและดอกเบี้ยที่เรียกคืนจากผู้ซึ่งต้องรับผิดในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อันเนื่องจากการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม
               (๖) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่พรรคการเมืองได้มาโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               (๗) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๙๕ และมาตรา ๑๒๕
               (๘) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่มีผู้มอบให้ แต่กองทุนจะรับมอบเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลตามมาตรา ๗๔ มิได้
               (๙) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดของกองทุน
               เงินตาม (๓) ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองที่ผู้เสียภาษีเงินได้แสดงเจตนาไว้ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรแจ้งให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๖๙
               เงินของกองทุนให้ใช้ได้เฉพาะเพื่อการอันเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุนและตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๗๙  ทรัพย์สินของกองทุนเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และผู้ใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้มิได้

               มาตรา ๘๐  ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมดูแลการดำเนินการ และการใช้จ่ายเงินของกองทุนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ในการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง การบริหาร และควบคุมดูแลกองทุนให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่แทน ประกอบด้วย ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานกรรมการ กรรมการการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการมอบหมายหนึ่งคน ผู้แทนกระทรวงการคลังหนึ่งคน ผู้แทนสำนักงบประมาณหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคนเป็นกรรมการ และให้นายทะเบียนเป็นกรรมการและเลขานุการ
               วาระการดำรงตำแหน่ง เบี้ยประชุม การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการกองทุนผู้ทรงคุณวุฒิและการประชุมของคณะกรรมการกองทุน ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
               ในกรณีที่คณะกรรมการกองทุนมีองค์ประกอบไม่ครบตามวรรคสองไม่ว่าด้วยเหตุใดให้คณะกรรมการกองทุนปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการกองทุนประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

               มาตรา ๘๑  ภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้คณะกรรมการกำหนดวงเงินที่จะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนแก่พรรคการเมืองสำหรับปีงบประมาณถัดไป ประกอบด้วย
               (๑) เงินที่ได้รับจากกรมสรรพากรตามมาตรา ๖๙
               (๒) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๗๘ (๒) ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบแต่ไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
               (๓) เงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๗๘ (๔) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ
               (๔) เงินที่ได้รับจากการเรียกคืนตามมาตรา ๗๘ (๕) ที่ได้รับในปีงบประมาณก่อนหน้านั้นไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
               (๕) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ตามมาตรา ๗๘ (๘) ถ้าผู้มอบให้ระบุวัตถุประสงค์ว่าให้แก่พรรคการเมืองหรือเพื่อการอื่น ให้นำมาจัดสรรตามที่ผู้มอบให้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ ถ้าผู้มอบให้มิได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ ให้นำมาจัดสรรไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ
               (๖) ดอกผลของกองทุนตามมาตรา ๗๘ (๙) ไม่เกินร้อยละแปดสิบ

               มาตรา ๘๒  เงินกองทุนดังต่อไปนี้ ให้นำมาจัดสรรเพื่อใช้จ่ายเพื่อการบริหารกองทุนและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและสำนักงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการอันเป็นวัตถุประสงค์ของกองทุน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเรียกเก็บ
               (๑) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายตามมาตรา ๗๘ (๒) ไม่เกินร้อยละสามสิบ
               (๒) เงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๗๘ (๔) ไม่เกินร้อยละห้าสิบ
               (๓) เงินหรือทรัพย์สินตามมาตรา ๗๘ (๖)
               (๔) เงินหรือทรัพย์สินตามมาตรา ๗๘ (๗)
               (๕) ดอกผลของกองทุนตามมาตรา ๗๘ (๙) ไม่เกินร้อยละยี่สิบ
               (๖) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ที่ระบุให้แก่คณะกรรมการหรือสำนักงาน หรือไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินที่มีผู้มอบให้โดยมิได้ระบุวัตถุประสงค์
               การใช้จ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่การนำไปใช้เพื่อการเดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะกระทำมิได้
               เงินที่เหลือจากการใช้จ่ายของทุกปี ให้นำส่งคืนเข้ากองทุน

               มาตรา ๘๓  การจัดสรรเงินตามมาตรา ๘๑ ให้แก่พรรคการเมือง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
               (๑) เงินจัดสรรตามมาตรา ๘๑ (๑) ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองตามที่ผู้เสียภาษีได้ระบุไว้
               (๒) ร้อยละสี่สิบของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ให้จัดสรรให้ตามจำนวนเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองได้รับ โดยแต่ละพรรคการเมืองให้ได้รับตามอัตราส่วนระหว่างจำนวนเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่ทุกพรรคการเมืองได้รับรวมกันในปีที่ผ่านมาต่อจำนวนเงินค่าบำรุงที่พรรคการเมืองนั้น ๆ ได้รับมาในปีที่ผ่านมา แต่เงินที่จัดสรรให้ต้องไม่เกินเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจากสมาชิกในปีที่ผ่านมา
               (๓) ร้อยละสี่สิบของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ให้จัดสรรให้ตามคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งทั่วไปสำหรับปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยแต่ละพรรคการเมืองให้ได้รับตามอัตราส่วนระหว่างคะแนนเสียงที่ทุกพรรคการเมืองได้รับรวมกันต่อคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ สำหรับปีอื่นให้จัดสรรให้พรรคการเมืองตามสัดส่วนที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับการจัดสรรตามอัตราส่วนเงินบริจาคทั้งหมดตามมาตรา ๖๙ ต่อเงินที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
               (๔) ร้อยละยี่สิบของวงเงินจัดสรรนอกจาก (๑) ให้จัดสรรตามจำนวนสาขาพรรคการเมืองโดยแต่ละพรรคการเมืองให้ได้รับตามอัตราส่วนระหว่างจำนวนสาขาพรรคการเมืองของทุกพรรคการเมืองรวมกันในปีที่ผ่านมาต่อจำนวนสาขาพรรคการเมืองของพรรคการเมืองนั้น ๆ ในปีที่ผ่านมา
               (๕) ในกรณีที่ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่อันเป็นผลจากการกระทำของสมาชิกของพรรคการเมืองใด เมื่อได้วงเงินที่จะต้องได้รับจากการจัดสรรให้พรรคการเมืองนั้นตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) แล้ว ให้หักจำนวนเงินที่คณะกรรมการยื่นฟ้องให้สมาชิกผู้นั้นชดใช้คืนออกจากเงินจัดสรรของพรรคการเมืองและส่งคืนเข้ากองทุนก่อน ถ้าภายหลังมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดปรากฏว่าผู้นั้นไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดน้อยกว่าที่คณะกรรมการยื่นฟ้อง ให้คณะกรรมการกองทุนจ่ายเงินคืนให้แก่พรรคการเมืองนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ถ้าเงินที่จัดสรรให้มีไม่พอให้ดำเนินการหักจากเงินจัดสรรในปีต่อ ๆ ไปจนครบ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิพรรคการเมืองที่จะไล่เบี้ยเอาจากสมาชิกที่ต้องรับผิดตามคำพิพากษา
               ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมิได้ดำเนินการตามมาตรา ๒๓ และเมื่อคณะกรรมการได้แจ้งเตือนแล้วยังมิได้ปฏิบัติตาม คณะกรรมการอาจลดจำนวนเงินที่จะจัดสรรให้พรรคการเมืองนั้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้
               เงินที่เหลือจากการจัดสรรให้ส่งคืนเข้ากองทุน

               มาตรา ๘๔  เงินที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรตามมาตรา ๘๓ ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง การจัดทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา ๒๓ การพัฒนาพรรคการเมืองและสมาชิกให้มีคุณภาพและคุณธรรมอันดีงาม และการส่งเสริมความรู้แก่สมาชิกและประชาชนในทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด และเมื่อใช้ไปเพื่อการใดแล้ว ให้จัดทำรายงานให้คณะกรรมการทราบทุกสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับการจัดสรร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด แต่จะนำไปใช้จ่ายตามมาตรา ๘๘ ไม่ได้
               เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน พรรคการเมืองจะส่งรายละเอียดการใช้จ่ายเงินให้นายทะเบียนทราบก่อนก็ได้ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าการใช้จ่ายเงินรายการใดไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งให้พรรคการเมืองทราบ
               คณะกรรมการจะกำหนดให้พรรคการเมืองใช้เงินที่ได้รับจัดสรรตามวรรคหนึ่งแต่ละด้านตามสัดส่วนที่กำหนดก็ได้
               พรรคการเมืองจะใช้จ่ายเงินที่ได้รับตามวรรคหนึ่งไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมืองหรือเพื่อจ้างบุคลากรของพรรคการเมืองหรือค่าใช้จ่ายอื่นทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการกำหนดมิได้ เว้นแต่เป็นเงินที่ได้รับตามมาตรา ๘๓ (๔) แต่การใช้จ่ายเงินนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสาขาพรรคการเมืองเท่านั้น
               ให้สำนักงานจัดให้มีการติดตามประเมินผลการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการจัดสรรให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๘๕  ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าพรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่เป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา ๘๔ หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแจ้งให้พรรคการเมืองแก้ไขการใช้จ่ายในเรื่องนั้นของปีถัดไป และในการนี้ คณะกรรมการอาจเรียกเงินคืน หรือลดการจัดสรรเงินอุดหนุนตามมาตรา ๘๓ ในปีถัดไปด้วยก็ได้
               ถ้านายทะเบียนตรวจสอบรายงานตามมาตรา ๘๔ แล้วปรากฏว่าเป็นการรายงานด้วยข้อความอันเป็นเท็จทั้งหมดหรือบางส่วน หรือไม่รายงานภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเรียกเงินคืนจากหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง และให้งดการจัดสรรเงินอุดหนุนในปีถัด ๆ ไป จนกว่าจะชำระคืนครบถ้วน

               มาตรา ๘๖  ให้คณะกรรมการจัดสรรเวลาออกอากาศให้แก่พรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรค โดยคำนึงถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๓ หรือเพื่อแถลงผลงานของพรรคการเมืองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
               ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐจัดสรรเวลาออกอากาศตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๗ การใช้จ่ายของพรรคการเมือง (มาตรา ๘๗ - ๘๙)

 

หมวด ๗
การใช้จ่ายของพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๘๗  เงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนำไปใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิกและค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง
               พรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าในรูปแบบใด ให้สมาชิกและประชาชนทราบเป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

               มาตรา ๘๘  ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๔๔ หรือมาตรา ๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย
               ห้ามมิให้สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลใดโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เว้นแต่เงินที่ได้มีการแจ้งไว้ตามวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๘๙  ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่จะต้องตรวจสอบและควบคุมมิให้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๔ มาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๘

หมวด ๘ การสิ้นสุดของพรรคการเมือง (มาตรา ๙๐ - ๙๕)

 

หมวด ๘
การสิ้นสุดของพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๙๐  พรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ
               (๑) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๑
               (๒) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๒
               (๓) มีการควบรวมพรรคการเมืองตามหมวด ๙ การควบรวมพรรคการเมือง

               มาตรา ๙๑  พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ
               (๑) ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม หรือไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา ๓๓ (๑) หรือ (๒) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด
               (๒) ภายหลังจากที่ได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงตามที่กำหนดในมาตรา ๓๓ (๑) ติดต่อกันเกินเก้าสิบวัน
               (๓) ภายหลังจากที่ดำเนินการครบตามมาตรา ๓๓ (๒) มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละหนึ่งสาขาเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี
               (๔) ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย
               (๕) ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน
               (๖) มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
               (๗) พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ
               เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนหรือมีผู้แจ้งต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดสิ้นสภาพตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีกรณีที่เป็นเหตุให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพตามวรรคหนึ่ง ให้เสนอคณะกรรมการพิจารณา ถ้าคณะกรรมการเห็นว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการประกาศการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีเช่นนี้ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
               ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองที่ถูกประกาศว่าสิ้นสภาพตามวรรคสองไม่เห็นด้วยกับการประกาศของคณะกรรมการตามวรรคสอง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง

               มาตรา ๙๒  เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
               (๑) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
               (๒) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
               (๓) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๘ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๖ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ มาตรา ๔๖ มาตรา ๗๒ หรือมาตรา ๗๔
               (๔) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด
               เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

               มาตรา ๙๓  เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๒ ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
               ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๒ คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้
               ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี ก็ได้

               มาตรา ๙๔  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น
               ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ทั้งนี้ ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ

               มาตรา ๙๕  ในกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีและงบแสดงฐานะทางการเงิน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยแจ้งให้คณะกรรมการทราบ
               ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่งยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ แต่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบมิได้
               ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือจำหน่ายทรัพย์สินของพรรคการเมืองเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองนั้นไม่มีเงินหรือทรัพย์สินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี ให้คณะกรรมการสั่งจ่ายเงินจากกองทุนตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้ทราบ
               ในการชำระบัญชีเมื่อได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายแล้วยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้โอนให้แก่องค์การสาธารณกุศลตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ ถ้าในข้อบังคับไม่ได้ระบุไว้ให้ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็นของกองทุน
               ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดมาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีของพรรคการเมืองด้วยโดยอนุโลม

หมวด ๙ การควบรวมพรรคการเมือง (มาตรา ๙๖ - ๙๙)

 

หมวด ๙
การควบรวมพรรคการเมือง

-------------------------

               มาตรา ๙๖  ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้

               มาตรา ๙๗  การควบรวมพรรคการเมืองให้กระทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่

               มาตรา ๙๘  ในการควบรวมพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๗ ให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง
               เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบให้รวมกันแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนพรรคการเมืองละสิบคน ประชุมร่วมกันเพื่อดำเนินการร่างข้อบังคับของพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่
               เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคการเมืองที่จะรวมกัน เพื่อประชุมตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๐ และดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๑ การเรียกประชุมตั้งพรรคการเมืองต้องแจ้งให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่จะรวมกันทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง

               มาตรา ๙๙  เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองตามมาตรา ๑๗ แล้ว ให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้พรรคการเมืองเดิมที่รวมเข้ากันเป็นอันสิ้นสุดลง โดยให้สมาชิกพรรคการเมืองเดิมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ที่จัดตั้งขึ้น และให้บรรดาทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของพรรคการเมืองเดิมโอนไปเป็นของพรรคการเมืองใหม่ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง
               ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่ง การสิ้นสุด และการควบรวมพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา

หมวด ๑๐ บทกำหนดโทษ (มาตรา ๑๐๐ - ๑๓๙)

 

หมวด ๑๐
บทกำหนดโทษ

-------------------------

               มาตรา ๑๐๐  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยมีกำหนดระยะเวลาหรือสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้การเพิกถอนสิทธิดังกล่าวมีผลในทันทีและเริ่มนับระยะเวลานับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น

               มาตรา ๑๐๑  ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
               ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นพรรคการเมือง ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง และให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

               มาตรา ๑๐๒  ผู้ใดไม่มาให้คำชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานแก่นายทะเบียนตามมาตรา ๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๐๓  ผู้ใดยื่นเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา ๑๓ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๐๔  หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดรู้ว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๒ วรรคสองหรือวรรคสี่ และไม่รายงานเป็นหนังสือให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองทราบ หรือหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๐๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ วรรคหก หรือมาตรา ๙๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๐๖  หัวหน้าพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือเหรัญญิกพรรคการเมือง ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ วรรคสอง มาตรา ๓๓ วรรคสองหรือวรรคสี่ มาตรา ๓๘ วรรคสองหรือวรรคสาม มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๔ วรรคสองหรือวรรคสาม หรือมาตรา ๗๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๐๗  นายทะเบียนสมาชิกจัดทำทะเบียนสมาชิกอันเป็นเท็จ หรือพรรคการเมืองใดแอบอ้างว่าผู้ใดสมัครเป็นสมาชิกของตนตามมาตรา ๒๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๐๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๐๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
               ถ้าความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อให้ลงหรือขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๑๐  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๑๑  ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมือง หรือผู้ใดดำเนินการไม่ว่าด้วยวิธีใดให้เข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองโดยมิได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๑๒  ผู้ใดรู้ว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแต่ยินยอมรับการแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               พรรคการเมืองใดแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งตามวรรคหนึ่งโดยรู้ว่าผู้นั้นไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๑๓  พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๑๔  ผู้ใดบริจาคให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือสมาชิกเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๔๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๑๕  ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๑๖  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๖ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๑๗  หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๒ หรือมาตรา ๕๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี
               ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสมาชิกของพรรคการเมืองทุกคนเป็นผู้เสียหาย

               มาตรา ๑๑๘  (ยกเลิก)

               มาตรา ๑๑๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย
               ในกรณีที่พรรคการเมืองกระทำ การฝ่าฝืนมาตรา ๕๔ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองของพรรคการเมือง บรรดาที่รู้เห็นกับการกระทำนั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

               มาตรา ๑๒๐  หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดออกหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๕๖ อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๒๑  พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๗ วรรคสอง หรือมาตรา ๗๗ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๒๒  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๘ มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๒ วรรคสองหรือวรรคสาม มาตรา ๖๕ มาตรา ๖๗ หรือมาตรา ๖๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

               มาตรา ๑๒๓  พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๒๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคล ซึ่งสั่งการหรือรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นด้วย

               มาตรา ๑๒๕  พรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๖ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๖๖ ตกเป็นของกองทุน

               มาตรา ๑๒๖  ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๒๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๓ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนดห้าปี

               มาตรา ๑๒๘  สมาชิกผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๔ หรือผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗๕ หรือมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น

               มาตรา ๑๒๙  พรรคการเมืองใดไม่รายงานตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

               มาตรา ๑๓๐  พรรคการเมืองใดจัดทำรายงานตามมาตรา ๘๔ วรรคหนึ่ง อันเป็นเท็จต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

               มาตรา ๑๓๑  พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๔ วรรคสามหรือวรรคสี่ ต้องระวางโทษปรับห้าเท่าของจำนวนเงินที่จ่ายไปโดยไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นการกระทำความผิดซ้ำ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

               มาตรา ๑๓๒  หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และเหรัญญิกพรรคการเมืองผู้ใดนำหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่นใด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๗ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๓  พรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๗ วรรคสอง หรือเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองมีกำหนดห้าปี และในกรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา ๘๗ วรรคสอง และละเลยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นมีกำหนดห้าปีด้วย

               มาตรา ๑๓๔  ผู้ใดจ่ายเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

               มาตรา ๑๓๕  สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘๘ วรรคสอง ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๙ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๑๓๖  กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               มาตรา ๑๓๗  ในกรณีที่พรรคการเมืองเป็นผู้กระทำความผิด ถ้าการกระทำความผิดของพรรคการเมืองนั้น เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของพรรคการเมืองนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการ และละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

               มาตรา ๑๓๘  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีด้วย โดยความผิดนั้นไม่มีกรณีที่ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย ให้คณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบความผิดดังกล่าวได้
               เมื่อผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบและชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป

               มาตรา ๑๓๙  บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วแต่ได้หลบหนีไปและศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาสืบพยาน และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้


               มาตรา ๑๑๘ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๑๔๐ - ๑๕๒)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๑๔๐  ให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และยังดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ เป็นสมาชิก และยังคงเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อไป และให้สมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ และประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น พร้อมทั้งแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ และชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สมาชิกผู้ใดมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิก ให้เป็นอันพ้นจากสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว

               มาตรา ๑๔๑  ในวาระเริ่มแรก ให้พรรคการเมืองตามมาตรา ๑๔๐ ดำเนินการในเรื่องและภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
               (๑) จัดให้มีทุนประเดิมจำนวนหนึ่งล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ
               (๒) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมด้วยหลักฐานแสดงการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นระยะเวลาชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองดังกล่าว
               (๓) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับ และให้นายทะเบียนสมาชิกแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ตามรายการและวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด
               ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๔๑/๑ (๑) และ (๒) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการอาจมีมติให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีกหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง เมื่อครบระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือครบระยะเวลาตามมาตรา ๑๔๑/๑ วรรคสี่ หรือครบระยะเวลาที่คณะกรรมการมีมติให้ขยาย แล้วแต่กรณี ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นสภาพลง ทั้งนี้ ในระหว่างเวลาที่พรรคการเมืองยังปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๔๑/๑ (๑) และ (๒) ไม่ครบถ้วน จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้
               การวินิจฉัยเรื่องใด ๆ ตามมาตรานี้ที่มีผลกระทบต่อพรรคการเมือง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะวินิจฉัย ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ

               มาตรา ๑๔๑/๑  เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมีผลใช้บังคับ พรรคการเมืองใดประสงค์จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวัน และเมื่อได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง
               (๑) แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมือง ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีผลใช้บังคับด้วย พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา ๓๘
               (๒) เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง ตามข้อบังคับตาม (๑) พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา ๓๘
               (๓) จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด พร้อมทั้งแจ้งรายการตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๕
               (๔) รับสมาชิกของพรรคการเมือง
               (๕) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง
               (๖) มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
               (๗) กิจกรรมทางการเมืองอื่นที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนด
               ในกรณีที่ต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองเท่าที่มีอยู่ และมีสมาชิกของพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคนแล้ว ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมดำเนินการดังกล่าวได้
               ในกรณีที่พรรคการเมืองตามมาตรา ๑๔๐ ดำเนินการตามวรรคสอง ให้ดำเนินการตามข้อบังคับพรรคที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับด้วย เว้นแต่องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นไปตามที่วรรคสองกำหนด
               ให้พรรคการเมืองตามมาตรา ๑๔๐ ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ในราชกิจจานุเบกษา สำหรับการดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๑๔๒  ในระหว่างที่พรรคการเมืองใดยังดำเนินการตามมาตรา ๑๔๑ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) และมาตรา ๑๔๑/๑ (๑) (๒) และ (๓) ไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคการเมืองนั้น

               มาตรา ๑๔๓  ในวาระเริ่มแรก การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามมาตรา ๘๓ (๓) ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๔๔  มิให้นำมาตรา ๔๗ มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ มาตรา ๕๕ และมาตรา ๕๖ มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ แต่ในการพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
               (๑) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนสี่คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวนเจ็ดคน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบ
               (๒) ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองเพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบนั้น ให้พิจารณาจากสมาชิกผู้ซึ่งยื่นความจำนงด้วยตนเองและผู้ซึ่งสมาชิกเสนอ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งกำหนด โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย และให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิกที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย
               (๓) ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง โดยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อด้วย
               (๔) ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการสรรหาบุคคลแทนบุคคลนั้น หากคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งยืนยันเสนอชื่อบุคคลเดิมและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประชุมร่วมกัน เมื่อที่ประชุมร่วมกันดังกล่าวมีมติเป็นประการใดให้ดำเนินการไปตามมตินั้น การลงมติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
               (๕) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๓) หรือนับแต่วันที่มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของที่ประชุมร่วมกันตาม (๔) ให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป
               (๖) การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปแทนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่เป็นโมฆะ หรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ดำเนินการตามมาตรานี้

               มาตรา ๑๔๕  ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ หากพรรคการเมืองใดได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น

               มาตรา ๑๔๖  ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พรรคการเมืองจะเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองต่ำกว่าอัตราที่กำหนดตามมาตรา ๑๕ (๑๕) ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าสิบบาท

               มาตรา ๑๔๗  ให้โอนบรรดากิจการ เงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ภาระผูกพัน และงบประมาณของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับไปเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๑๔๘  ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๔๙  ให้อธิบดีกรมสรรพากรออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง และกำหนดวิธีการหักค่าลดหย่อนตามมาตรา ๗๐ วรรคสอง ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ

               มาตรา ๑๕๐  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการเพื่อยุบพรรคการเมืองหรือการดำเนินคดีแพ่งต่อบุคคลใดที่มีความรับผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่
               การกระทำใด ๆ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ถ้าการกระทำนั้นยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาล มีอำนาจดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับอยู่

               มาตรา ๑๕๑  บรรดาผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและยังไม่พ้นระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้ถือว่าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับต่อเนื่องไปจนครบกำหนดตามระยะเวลาที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น
               ผู้ใดถูกต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และยังไม่พ้นระยะเวลาที่ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ถือว่าผู้นั้นถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้โดยให้นับต่อเนื่องไปจนครบกำหนดตามระยะเวลาที่ถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

               มาตรา ๑๕๒  ให้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อให้มีระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ และคำสั่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ระยะเวลาดังกล่าว มิให้นับรวมระยะเวลาที่มีกรรมการการเลือกตั้งไม่ถึงห้าคนเข้าด้วย
               ในระหว่างดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้บรรดาระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ และคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือของนายทะเบียน ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ยังมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

   ผู้รับสนองพระราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี


               มาตรา ๑๔๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๕๓/๒๕๖๐ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐
               มาตรา ๑๔๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
               มาตรา ๑๔๑/๑ เพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
               มาตรา ๑๔๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
               มาตรา ๑๔๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑
               มาตรา ๑๔๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๖๑ เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๑

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง รวมทั้งจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรณีจึงสมควรกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมืองและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ ได้กําหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนห้าร้อยคน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวนสี่ร้อยคนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจํานวนหนึ่งร้อยคน และให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบที่ให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต การกำหนดจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้ง การคํานวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งที่เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและเคารพสิทธิและเสียงของประชาชน จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมือง การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๐๕ ก/หน้า ๑/๗ ตุลาคม ๒๕๖๐
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐/ตอนที่ ๗ ก/หน้า ๑๓/๒๘ มกราคม ๒๕๖๖