พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑

ข้อความเบื้องต้น (มาตรา ๑ - ๖)

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. ๒๕๖๑

-------------------------

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

               โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

               พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ และมาตรา ๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

               เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

               จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

               มาตรา ๑  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑”

               มาตรา ๒  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

               มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
               (๑) คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
               (๒) คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐

               มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               “ศาล” หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
               “ตุลาการ” หมายความว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี
               “คดี” หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่ที่ได้ยื่นคําร้องหรือหนังสือต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัย
               “คําร้อง” หมายความว่า คําร้องที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
               “คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง และให้รวมถึงผู้มีสิทธิกระทําการแทนด้วย
               “ผู้ร้อง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นไม่ว่าจะเสนอโดยคําร้องหรือโดยหนังสือ
               “ผู้ถูกร้อง” หมายความว่า ผู้ถูกกล่าวหาตามคําร้องหรือผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามหนังสือที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
               “ผู้เกี่ยวข้อง” หมายความว่า หน่วยงาน คณะบุคคล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี
               “กระบวนพิจารณา” หมายความว่า การกระทําใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้เกี่ยวกับคดีซึ่งกระทําโดยคู่กรณี หรือโดยศาล หรือตามคําสั่งศาล ไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกระทําต่อศาล หรือต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือศาลกระทําต่อคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย รวมถึงการส่งคําร้องและเอกสารอื่น ๆ การพิจารณาคดี และการลงมติ ตลอดจนการปฏิบัติตามหน้าที่และอํานาจตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น
               “การพิจารณาคดี” หมายความว่า การดําเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมถึงการไต่สวน การประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย หรือการนั่งพิจารณา
               “การนั่งพิจารณา” หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีโดยคู่กรณีมีสิทธิมาอยู่ต่อหน้าศาล

               มาตรา ๕  ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มิได้กําหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กําหนดให้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลําเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว และในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดให้ประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ถือว่าการประกาศหรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือระบบ หรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เป็นการดําเนินการโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้แล้ว
               ในกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กําหนดให้ศาลหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลมีอํานาจกําหนดหรือมีคําสั่งเรื่องใดอันมิใช่เกี่ยวกับการพิจารณาคดี ถ้ามิได้กําหนดวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ ให้ศาลหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลกําหนดโดยทําเป็นระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่ง แล้วแต่กรณี และถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งนั้นใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไป ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ดําเนินการประกาศตามวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ถ้าระเบียบ ประกาศ หรือคําสั่งใดมีการกําหนดขั้นตอนการดําเนินงานไว้ ศาลหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลต้องกําหนดระยะเวลาการดําเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนด้วย

               มาตรา ๖  ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญรักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้มีอํานาจออกข้อกําหนด ระเบียบ และประกาศของศาล เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               การออกข้อกําหนด ระเบียบ หรือประกาศของศาล ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๑/๒ มีนาคม ๒๕๖๑

หมวด ๑ ศาล (มาตรา ๗)

 

หมวด ๑
ศาล

-------------------------

               มาตรา ๗  ให้ศาลมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ดังต่อไปนี้
               (๑) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
               (๒) คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
               (๓) คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้เลิกการกระทําล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
               (๔) คดีที่ประชาชนหรือชุมชนฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ
               (๕) คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา
               (๖) คดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
               (๗) คดีเกี่ยวกับการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
               (๘) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
               (๙) คดีเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี
               (๑๐) คดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
               (๑๑) คดีที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ร้องขอว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
               (๑๒) คดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
               (๑๓) คดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาล

หมวด ๒ องค์ประกอบของศาล (มาตรา ๘ - ๒๖)

 

หมวด ๒
องค์ประกอบของศาล

-------------------------

               มาตรา ๘  ศาลประกอบด้วยตุลาการจํานวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้
               (๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จํานวนสามคน
               (๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จํานวนสองคน
               (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวนหนึ่งคน
               (๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จํานวนหนึ่งคน
               (๕) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จํานวนสองคน
               ในกรณีไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาตาม (๑) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก็ได้
               การนับระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นับถึงวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา แล้วแต่กรณี ในกรณีจําเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่าสองปีมิได้

               มาตรา ๙  นอกจากคุณสมบัติตามมาตรา ๘ แล้ว ตุลาการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
               (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
               (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีแต่ไม่ถึงหกสิบแปดปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา
               (๓) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
               (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
               (๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

               มาตรา ๑๐  ตุลาการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
               (๑) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการหรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระใด
               (๒) ติดยาเสพติดให้โทษ
               (๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๔) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ
               (๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
               (๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
               (๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
               (๘) อยู่ในระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
               (๙) ต้องคำพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
               (๑๐) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
               (๑๑) เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
               (๑๒) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสํานัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
               (๑๓) เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
               (๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
               (๑๕) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
               (๑๖) เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
               (๑๗) เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๑๘) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
               (๑๙) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดํารงตําแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา
               (๒๐) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา
               (๒๑) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
               (๒๒) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดําเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
               (๒๓) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
               (๒๔) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

               มาตรา ๑๑  เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการตามมาตรา ๘ (๓) (๔) หรือ (๕) ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
               (๑) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
               (๒) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
               (๓) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
               (๔) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๘ และมาตรา ๙ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐ และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ
               ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
               ในการดําเนินการแต่งตั้งบุคคลตาม (๔) ให้องค์กรอิสระดําเนินการเสนอชื่อบุคคลซึ่งองค์กรนั้นแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา โดยให้คัดเลือกจากบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริต และมีความเข้าใจในภารกิจของศาล และผู้จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระ ในกรณีที่ไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในการลงคะแนนครั้งนี้ถ้ามีผู้เข้ารับการคัดเลือกเกินสองคน ให้นําเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกมาลงคะแนนใหม่ ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเท่ากันจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกเกินสองคน ให้ผู้เข้ารับการคัดเลือกซึ่งได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้เหลือผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสองลําดับแรกเพียงสองคน ในการลงคะแนนครั้งหลังนี้ ถ้ายังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระ ให้ดําเนินการเพื่อคัดเลือกใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้ารับการคัดเลือกที่มีชื่ออยู่ในการคัดเลือกครั้งแรกมิได้
               ให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อกรรมการสรรหาตาม (๔) ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
               ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสรรหาตาม (๒) หรือกรรมการสรรหาตาม (๔) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือพ้นกําหนดเวลาการคัดเลือกตามวรรคสามแล้วมิได้มีการเสนอชื่อ ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อํานาจไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
               ให้กรรมการสรรหาตาม (๔) อยู่ในวาระการดํารงตําแหน่งจนถึงวันก่อนวันที่มีกรณีที่ต้องสรรหาตุลาการใหม่ แต่ไม่รวมการสรรหาใหม่หรือการสรรหาเพิ่มเติมตามมาตรา ๑๒ วรรคหก วรรคเก้า และวรรคสิบ และมาตรา ๑๓ และให้กรรมการสรรหาดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
               ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหาตาม (๔) แล้ว จะเป็นกรรมการสรรหาในคณะกรรมการสรรหาสำหรับองค์กรอิสระในขณะเดียวกันมิได้
               ให้ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๑๒  ในการสรรหาตุลาการ ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จ โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดําเนินการสรรหาจากบุคคลซึ่งมีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วยแต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ทั้งนี้ โดยคํานึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย และเพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของศาล หรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสม เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
               ให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดด้วยโดยอนุโลม
               ในการสรรหาหรือคัดเลือก ให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย
               ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา
               ผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจํานวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
               ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงตามวรรคสี่หรือวรรคห้า หรือมีแต่ยังไม่ครบจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้มีการลงคะแนนใหม่สําหรับผู้ได้คะแนนไม่ถึงสองในสามหรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง แล้วแต่กรณี ถ้ายังได้ไม่ครบตามจํานวน ให้มีการลงคะแนนอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่การลงคะแนนครั้งหลังนี้ยังได้บุคคลไม่ครบตามจํานวนที่จะต้องสรรหาหรือคัดเลือก ให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่สําหรับจํานวนที่ยังขาดอยู่
               ภายในสามวันนับแต่วันปิดรับสมัครให้เลขาธิการวุฒิสภาประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ประกาศดังกล่าวให้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติและประวัติการทํางานตามที่คณะกรรมการสรรหากําหนดด้วย
               เมื่อคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดสรรหาหรือคัดเลือกได้บุคคลใดแล้ว ให้เสนอชื่อไปยังวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
               ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น ซึ่งต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในครั้งนี้จะเข้ารับการสรรหาหรือคัดเลือกในครั้งใหม่นี้ไม่ได้
               เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับตุลาการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามี เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ ในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับตุลาการซึ่งยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามี มีจํานวนถึงเจ็ดคน ก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าศาลประกอบด้วยตุลาการเท่าที่มีอยู่ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพิ่มเติมให้ครบตามจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือกต่อไปโดยเร็ว
               ให้ประธานวุฒิสภานําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

               มาตรา ๑๓  ผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นตุลาการโดยที่ยังมิได้พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา ๑๐ (๒๐) (๒๑) หรือ (๒๒) หรือยังประกอบวิชาชีพตามมาตรา ๑๐ (๒๓) อยู่ ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพดังกล่าวแล้วนั้นต่อประธานวุฒิสภาภายในเวลาที่ประธานวุฒิสภากําหนด ซึ่งต้องเป็นเวลาก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งตุลาการ ในกรณีที่ไม่ได้แสดงหลักฐานภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ และให้ดําเนินการสรรหาหรือคัดเลือกใหม่

               มาตรา ๑๔  ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
               การเสนอเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการสรรหากําหนด
               การวินิจฉัยให้ใช้วิธีลงคะแนนโดยเปิดเผย
               ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการสรรหาให้ศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้วินิจฉัยภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการดําเนินการใดที่คณะกรรมการสรรหาได้ดําเนินการไปแล้วก่อนมีคําวินิจฉัย

               มาตรา ๑๕  ให้ประธานกรรมการสรรหาและกรรมการสรรหาได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามที่ประธานวุฒิสภากําหนด แต่สําหรับเบี้ยประชุมให้กําหนดให้ได้รับเป็นรายครั้งที่มาประชุมในอัตราไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของประธานกรรมการหรือกรรมการในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภาได้รับในแต่ละเดือน แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๑๖  ก่อนเข้ารับหน้าที่ ตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้
               “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายทุกประการ”

               มาตรา ๑๗  ตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
               ในกรณีที่ตุลาการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

               มาตรา ๑๘  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ตุลาการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
               (๑) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ หรือมาตรา ๙ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐
               (๒) ตาย
               (๓) ลาออก
               (๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
               (๕) ศาลมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการ
               (๖) ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
               ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการด้วย
               ในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (๑) หรือ (๓) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
               ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ตุลาการเลือกตุลาการคนหนึ่งทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ

               มาตรา ๑๙  เมื่อตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกตุลาการใหม่ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันก่อนวันที่ตุลาการครบวาระ แต่ถ้าตุลาการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกตุลาการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

               มาตรา ๒๐  ในกรณีที่ตุลาการพ้นจากตำแหน่ง และยังไม่มีการแต่งตั้งตุลาการแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ตุลาการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีตุลาการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคนจะนั่งพิจารณาหรือทำคำวินิจฉัยมิได้ ในกรณีเช่นนั้นหากมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของประเทศ ให้ศาลร้องขอต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ เพื่อให้มีตุลาการครบเจ็ดคน

               มาตรา ๒๑  ในกรณีที่ตุลาการต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะถูกกล่าวหาและศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และมีตุลาการเหลืออยู่ไม่ถึงเจ็ดคน ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับตุลาการทำหน้าที่เป็นตุลาการเป็นการชั่วคราวให้ครบตามจำนวนที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ไม่เกินเก้าคน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะตุลาการได้จนกว่าตุลาการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน ในการแต่งตั้งดังกล่าวให้คำนึงถึงองค์ประกอบตามมาตรา ๘ ด้วย

               มาตรา ๒๒  เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ (๑) หรือ (๓) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               หลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

               มาตรา ๒๓  การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง มีความกล้าหาญ และปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามมาตรฐานทางจริยธรรม
               ตุลาการต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา การเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตรหรือโครงการใด ๆ ที่จัดในเวลาราชการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่ศาลเป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตุลาการ

               มาตรา ๒๔  เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของตุลาการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเบี้ยประชุมสำหรับการประชุมในฐานะกรรมการเป็นรายครั้งเท่ากับกรรมการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ
               ให้ตุลาการได้รับเงินค่ารับรองเหมาจ่ายเป็นรายเดือนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเงินประจำตำแหน่งของตุลาการ

               มาตรา ๒๕  ตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) ครบวาระ
               (๒) ตาย
               (๓) ลาออก
               (๔) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
               ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินเดือนตามมาตรา ๒๔ คูณด้วยจำนวนปีที่ดำรงตำแหน่ง เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
               สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้ เว้นแต่กรณีตาย ให้ตกได้แก่คู่สมรสและทายาทที่ได้แจ้งไว้ และถ้าการตายนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ได้รับเป็นสองเท่าของบำเหน็จตอบแทนที่กำหนดไว้ตามวรรคสอง

               มาตรา ๒๖  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ตุลาการเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด ๓ การพิจารณา (มาตรา ๒๗ - ๗๑)

ส่วนที่ ๑ บททั่วไป (มาตรา ๒๗ - ๔๐)

 

ส่วนที่ ๑
บททั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๒๗  การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประเภท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามรับฟังไว้โดยเฉพาะ ไม่ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่กรณีในการนำสืบพยานหลักฐานหักล้างแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น
               การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และข้อกำหนดของศาล
               ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำตลอดจนขอให้หน่วยงานของรัฐ หรือพนักงานสอบสวน ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

               มาตรา ๒๘  นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แต่ข้อกำหนดของศาลดังกล่าวต้องไม่สร้างขั้นตอนหรือก่อให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น

               มาตรา ๒๙  การพิจารณาคดีจะต้องกระทำ ณ ที่ทำการศาลในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดของศาล แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลจะมีคำสั่งกำหนดการพิจารณาคดี ณ สถานที่อื่น หรือในวัน หรือเวลาใด ๆ ก็ได้

               มาตรา ๓๐  การนับระยะเวลาที่มีวันเริ่มต้นและวันสุดท้าย ให้นับวันถัดไปเป็นวันเริ่มต้น และถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการหรือวันหยุดทำการของศาล ให้นับวันทำการถัดไปเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา

               มาตรา ๓๑  ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในข้อกำหนดของศาล หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีร้องขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะ

               มาตรา ๓๒  ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) เคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่นหรือเคยเป็นอนุญาโตตุลาการซึ่งเคยพิจารณาวินิจฉัยในคดีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้นมาก่อน
               (๒) เป็นหรือเคยเป็นสามีหรือภริยา หรือญาติของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้น
               (๓) เคยให้ถ้อยคำหรือให้ความเห็นในฐานะพยานโดยที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในคดีในศาลอื่นซึ่งพิจารณาวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้นมาก่อน
               (๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน
               (๕) มีหรือเคยมีคดีที่ตุลาการนั้นเอง สามี ภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของตุลาการนั้นฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่กรณี สามี ภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

               มาตรา ๓๓  ในกรณีที่ตุลาการมีส่วนได้เสียหรือมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ ตุลาการอาจถูกคัดค้านด้วยเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือวินิจฉัยเสียความยุติธรรมไป

               มาตรา ๓๔  ตุลาการจะขอถอนตัวจากการพิจารณาคดี หรือการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่งคดีไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุที่อาจถูกคัดค้านตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓
               เมื่อมีการขอถอนตัวตามวรรคหนึ่งและศาลอนุญาตแล้ว ให้ตุลาการซึ่งขอถอนตัวงดการปฏิบัติหน้าที่ในคดีนั้น

               มาตรา ๓๕  เมื่อมีเหตุที่ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาลได้ก่อนมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาด แต่อย่างช้าต้องไม่เกินสิบวันนับแต่วันที่ทราบเหตุคัดค้านนั้น
               เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชี้ขาดในเรื่องที่คัดค้านนั้นโดยเร็ว

               มาตรา ๓๖  การยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการตามมาตรา ๓๕ ต้องระบุเหตุที่จะคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
               การคัดค้านตุลาการที่พิจารณาวินิจฉัยในเรื่องใดมากกว่าหนึ่งคน ให้คู่กรณีจัดทำเป็นคำร้องแยกเป็นตุลาการแต่ละราย

               มาตรา ๓๗  เมื่อมีการขอถอนตัวตามมาตรา ๓๔ หรือยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา ๓๕ ให้ศาลประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านนั้น โดยตุลาการซึ่งขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านจะร่วมพิจารณา หรือออกเสียงลงคะแนนชี้ขาดคำขอถอนตัวหรือคำร้องที่คัดค้านตนเองมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
               ในการพิจารณาเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านตุลาการ ให้ศาลฟังคำชี้แจงของตุลาการที่ขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านประกอบด้วย
               การชี้ขาดเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้ทำหน้าที่ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               ในการลงมติตามวรรคสาม ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
               เมื่อศาลพิจารณาวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยให้ตุลาการที่ขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านและคู่กรณีทราบ
               การพิจารณาที่ได้ดำเนินไปก่อนที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดย่อมสมบูรณ์ไม่เสียไปเพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้ถอนตัวหรืออนุญาตตามคำคัดค้าน เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้ในคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               เมื่อมีการชี้ขาดเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านแล้วมีตุลาการเหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงเจ็ดคน ให้ศาลร้องขอต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ตุลาการเฉพาะคดีนั้นให้ครบเจ็ดคน

               มาตรา ๓๘  ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล หรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว
               ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
               การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

               มาตรา ๓๙  ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา ๓๘ ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
               (๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล
               (๓) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี
               การสั่งลงโทษตาม (๓) ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
               ในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลตาม (๓) ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๐  การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พัก ของบุคคลใดที่ศาลเรียกมาในการไต่สวน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีของศาลให้เป็นไปตามประกาศของศาล

ส่วนที่ ๒ การยื่นคำร้องและการยื่นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย (มาตรา ๔๑ - ๕๑)

 

ส่วนที่ ๒
การยื่นคำร้องและการยื่นหนังสือ
ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย

-------------------------

               มาตรา ๔๑  ผู้ที่จะขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ จะต้องเป็นบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น
               การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ ให้กระทำเป็นคำร้องตามแบบที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล เว้นแต่การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีในกรณีดังต่อไปนี้ ให้จัดทำเป็นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย
               (๑) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ หรือนายกรัฐมนตรีขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย
               (๒) ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย
               (๓) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาขอให้ศาลพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพระราชกำหนด
               (๔) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ
               (๕) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานวุฒิสภาขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายกันกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้
               (๖) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา และร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
               (๗) คณะรัฐมนตรีขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
               (๘) ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
               (๙) การขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๗ (๑๓) ที่ข้อกำหนดของศาลกำหนดให้ทำเป็นหนังสือ
               การดำเนินการตาม (๒) ให้ส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง หรือกรมพระธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย

               มาตรา ๔๒  คำร้องต้องทำเป็นหนังสือใช้ถ้อยคำสุภาพ มีรายการครบถ้วนตามแบบที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุ
               (๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้อง
               (๒) เรื่องหรือการกระทำทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ต้องขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยพร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
               (๓) มาตราของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคำร้อง
               (๔) คำขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใดพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุนโดยชัดแจ้ง
               การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณีจัดทำสำเนายื่นต่อศาลตามจำนวนที่กำหนดในข้อกำหนดของศาลด้วย
               คำร้องใดมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ชัดเจน หรือไม่อาจเข้าใจได้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องนั้นให้ถูกต้อง
               ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ผู้ร้องจะดำเนินการทั้งปวงด้วยตนเองหรือจะมอบฉันทะให้ทนายความหรือบุคคลอื่นยื่นคำร้องหรือดำเนินคดีแทนผู้ร้องได้ ผู้รับมอบฉันทะต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีความรู้ความสามารถที่อาจดำเนินการแทนผู้มอบฉันทะได้

               มาตรา ๔๓  หนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๔๑ วรรคสอง ให้ทำเป็นหนังสือราชการโดยอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ความประสงค์ที่จะให้ศาลดำเนินการ และมาตราของรัฐธรรมนญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

               มาตรา ๔๔  การยื่นขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ (๒) ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว โดยในกรณีที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ในกรณีที่เป็นปัญหาโต้แย้งระหว่างหน่วยงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย

               มาตรา ๔๕  บุคคลหรือชุมชนซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการทำหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ และได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ หรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนหรือล่าช้าเกินสมควร ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ (๔) ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
               (๑) บุคคลหรือชุมชนนั้นได้ร้องขอให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้ตนหรือชุมชนได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่ดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง และบุคคลหรือชุมชนได้โต้แย้งการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการดังกล่าวเป็นหนังสือต่อหน่วยงานนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือวันที่ได้รับแจ้งหรือถือว่าได้รับแจ้ง และ
               (๒) บุคคลหรือชุมชนตาม (๑) ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าหน่วยงานของรัฐตาม (๑) มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีหนังสือโต้แย้งตาม (๑) ในกรณีนี้ หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้แจ้งให้ผู้ร้องและหน่วยงานของรัฐทราบ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทราบถึงการดังกล่าว
               (๓) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินและสั่งการตามที่เห็นสมควร ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจมอบหมายให้คณะกรรมการหรือหน่วยงานใดเป็นผู้พิจารณาและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก็ได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีสั่งการเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งให้บุคคลหรือชุมชนทราบ หากบุคคลหรือชุมชนเห็นว่าการสั่งการของคณะรัฐมนตรียังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา ๗ (๔) ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
               ในระหว่างการพิจารณาคดีตามมาตรานี้ ให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
               ให้ศาลวินิจฉัยคดีตามมาตรานี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันได้รับคำร้อง

               มาตรา ๔๖  บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีตามมาตรา ๗ (๑๑) ได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสียก่อนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าว เว้นแต่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นยังคงมีอยู่ก็ให้ยื่นคำร้องได้ตราบที่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นยังคงมีอยู่ และให้นำความในมาตรา ๔๘ วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือวันที่พ้นกำหนดเวลาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา ๔๘ วรรคสอง
               ภายใต้บังคับมาตรา ๔๒ การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของตนโดยตรงให้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำใดและละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตนอย่างไร
               ในกรณีที่ศาลเห็นว่าคำร้องตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลจะไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ และถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา ๔๗ ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

               มาตรา ๔๗  การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๖ ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) การกระทำของรัฐบาล
               (๒) รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
               (๓) กฎหมายบัญญัติขั้นตอนและวิธีการไว้เป็นการเฉพาะ และยังมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการนั้นครบถ้วน
               (๔) เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น หรือเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
               (๕) การกระทำของคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๒
               (๖) การกระทำที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการทหาร รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร

               มาตรา ๔๘  ภายใต้บังคับมาตรา ๔๗ ผู้ใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ถ้าผู้นั้นเห็นว่าการละเมิดนั้นเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลพร้อมด้วยความเห็นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่รับคำร้องจากผู้ร้อง โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
               ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง หรือไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ผู้ถูกละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลได้
               ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่กรณีผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพประสงค์จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม
               ให้นำความในมาตรา ๔๖ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับแก่การยื่นและการพิจารณาคำร้องตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๙  เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ศาลจะแต่งตั้งตุลาการไม่น้อยกว่าสามคนเป็นผู้พิจารณาก็ได้ ทั้งนี้ จะแต่งตั้งให้มีมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้
               ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะตุลาการตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลส่งเรื่องให้คณะตุลาการตามวรรคหนึ่งภายในสองวันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้องตามข้อกำหนดของศาล และให้คณะตุลาการดังกล่าวมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล คำสั่งดังกล่าวให้ถือว่าเป็นคำสั่งของศาล
               ในกรณีที่คณะตุลาการตามวรรคหนึ่งมีความเห็นควรสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้เสนอศาลพิจารณาภายในกำหนดเวลาตามวรรคสอง และให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะตุลาการดังกล่าว หากศาลเห็นพ้องด้วยกับความเห็นนั้น ให้จัดทำเป็นคำสั่งของศาล หากศาลไม่เห็นพ้องด้วย ให้ดำเนินการตามความเห็นของศาล
               คำสั่งของคณะตุลาการตามวรรคสองให้ถือเสียงข้างมาก
               ในกรณีที่ไม่มีการแต่งตั้งคณะตุลาการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ภายในห้าวันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้อง

               มาตรา ๕๐  เมื่อมีผู้ยื่นหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย และศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่ต้องด้วยมาตรา ๔๑ วรรคสอง (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) ให้ศาลรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป

               มาตรา ๕๑  คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก่อนศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคำร้อง หรือไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะพิจารณาสั่งจำหน่ายคดีนั้นก็ได้ เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ส่วนที่ ๓ องค์คณะและการพิจารณาคดี (มาตรา ๕๒ - ๗๑)

 

ส่วนที่ ๓
องค์คณะและการพิจารณาคดี

-------------------------

               มาตรา ๕๒  ในการนั่งพิจารณาและทำคำวินิจฉัย ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องร่วมพิจารณาคดีและร่วมทำคำวินิจฉัย เว้นแต่มีเหตุถูกคัดค้าน หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือเป็นกรณีตามวรรคสาม
               องค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการไม่น้อยกว่าเจ็ดคน
               ตุลาการซึ่งมิได้ร่วมในการพิจารณาในประเด็นสำคัญแห่งคดีใด ย่อมไม่มีอำนาจในการทำคำวินิจฉัยคดีนั้น หากมีปัญหาว่าตุลาการคนใดร่วมในการพิจารณาในประเด็นสำคัญแห่งคดีนั้นหรือไม่ ให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยก่อนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ เว้นแต่การไม่ร่วมทำคำวินิจฉัยจะทำให้มีองค์คณะเหลือไม่ถึงเจ็ดคน

               มาตรา ๕๓  เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลหรือคณะตุลาการตามมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งให้คู่กรณีที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่เห็นสมควรได้
               หากคู่กรณีไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำสั่งตามวรรคหนึ่งโดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีเป็นผู้ร้อง ศาลอาจพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดีนั้นก็ได้ หากเป็นผู้ถูกร้อง ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะแก้ไข และให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

               มาตรา ๕๔  เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องที่มีคู่กรณีไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง หรือมีคำสั่งแจ้งให้ผู้ถูกร้องมารับสำเนาคำร้องภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
               เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง ให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้นำความในมาตรา ๔๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาตามวรรคสองหรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจที่จะยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

               มาตรา ๕๕  ผู้ร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง หรือผู้ถูกร้องจะแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาย่อมทำได้ โดยต้องยื่นคำขอเสียก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ในกรณีที่มีการยื่นคำขอก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยน้อยกว่าเจ็ดวันหรือที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นทำให้ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะไม่รับไว้พิจารณาก็ได้ แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับไว้พิจารณาศาลต้องส่งสำเนาการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไปให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งทราบด้วย

               มาตรา ๕๖  การส่งสำเนาคำร้อง สำเนาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือเอกสารอื่นใดระหว่างศาลกับคู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้ส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณี พยาน หรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้
               วิธีการส่ง และการปิดประกาศแทนการส่งให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๕๗  เมื่อศาลรับคดีใดไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลกำหนดประเด็นและลำดับประเด็นที่จะพิจารณาวินิจฉัย แต่ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมประเด็นหรือลำดับประเด็นที่ได้กำหนดหรือลำดับไว้เดิม
               ตุลาการทุกคน เว้นแต่ตุลาการที่ได้รับอนุญาตให้ถอนตัวหรือต้องถอนตัวเพราะถูกคัดค้าน ต้องทำความเห็นส่วนตนตามประเด็นและตามลำดับประเด็นที่ศาลได้กำหนดหรือลำดับไว้
               เมื่อศาลรับเรื่องใดไว้พิจารณาแล้ว ตุลาการผู้ใดจะปฏิเสธไม่วินิจฉัยโดยอ้างว่าเรื่องนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลมิได้

               มาตรา ๕๘  หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทำการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้
               เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเกิดขึ้น หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่มีความจำเป็นแก่การพิจารณาวินิจฉัย หรือจะทำให้คดีล่าช้าโดยไม่สมควร ศาลอาจสั่งงดการสืบหรือไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นก็ได้
               ตุลาการจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่อาจมีมติไม่ให้นำเอกสารหรือพยานหลักฐานซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศมาใช้ในคดีได้

               มาตรา ๕๙  การนั่งพิจารณาของศาลให้กระทำโดยเปิดเผย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาล หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลมีอำนาจกำหนดบุคคลที่จะอยู่ในห้องพิจารณาได้
               เมื่อศาลประกาศกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งแรก ให้ส่งสำเนาประกาศให้แก่คู่กรณีไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัด ส่วนกำหนดวันนัดไต่สวนครั้งต่อไป ให้เป็นไปตามที่ศาลกำหนด และให้ปิดประกาศกำหนดนัดดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการศาลด้วย

               มาตรา ๖๐  คู่กรณีจะอ้างตนเอง บุคคล และหลักฐานอื่นเป็นพยานหลักฐานได้ และมีสิทธิตรวจพยานหลักฐานและขอสำเนาพยานหลักฐานของตนเองหรือของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งในเวลาทำการตามวิธีการและระยะเวลาที่กำหนดในข้อกำหนดของศาลก็ได้
               การอ้างพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และวิธีการที่จะได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว
               ภายใต้บังคับมาตรา ๕๘ ก่อนศาลมีคำวินิจฉัย คู่กรณีอาจยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่ต้องยื่นเสียก่อนวันที่ศาลกำหนดว่าจะมีคำวินิจฉัยไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

               มาตรา ๖๑  เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม ศาลอาจกำหนดให้มีการตรวจพยานหลักฐานก่อนก็ได้ แต่ต้องแจ้งคู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

               มาตรา ๖๒  ในการไต่สวนพยานบุคคล ไม่ว่าจะเป็นพยานที่ฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลสอบถามพยานบุคคลเอง แล้วให้พยานให้ถ้อยคำในข้อนั้นโดยวิธีแถลงด้วยตนเอง หรือตอบคำถามศาล ศาลอาจถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับคดี แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม
               เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลอาจอนุญาตให้คู่กรณีซักถามพยานเพิ่มเติมตามประเด็นและข้อเท็จจริงที่ศาลกำหนดไว้ก็ได้ โดยให้ฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามก่อน
               หลังจากคู่กรณีถามพยานตามวรรคสองแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีฝ่ายใดถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

               มาตรา ๖๓  ศาลอาจอนุญาตให้มีการไต่สวนพยานที่อยู่นอกที่ทำการศาลตามที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร้องขอ การไต่สวนพยานเช่นนั้นอาจใช้ระบบการประชุมทางจอภาพตามข้อกำหนดของศาลได้
               การไต่สวนพยานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ากระทำในห้องพิจารณาของศาล

               มาตรา ๖๔  ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร หรือในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายที่อ้างพยานนั้นร้องขอและศาลอนุญาต ศาลอาจกำหนดให้พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่ต้องมาให้ถ้อยคำ เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือที่ศาลอนุญาตให้คู่กรณีฝ่ายที่ร้องขอกำหนด โดยให้ส่งต้นฉบับบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาล และสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่นเพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
               คู่กรณีที่ติดใจคัดค้านข้อเท็จจริงในบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าดังกล่าวในประเด็นใด ให้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือยื่นต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่น้อยกว่าสามวัน มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน
               ในวันไต่สวนพยาน ให้พยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้า แล้วตอบข้อซักถามเพิ่มเติมของศาลและคู่กรณีฝ่ายอื่นตามประเด็นที่เสนอต่อศาลตามวรรคสองและศาลอนุญาต หากพยานไม่มาศาล หรือมาศาลแต่ไม่ยอมตอบข้อซักถาม ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าของพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นก็ได้
               พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญใดยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งต่อศาลแล้ว จะขอถอนบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นมิได้ และเมื่อพยานรับรองบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าแล้ว ให้ถือว่าบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการให้ถ้อยคำของพยาน

               มาตรา ๖๕  ความในมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ศาลกำหนดให้พยานบุคคลใดหรือพยานผู้เชี่ยวชาญเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่อศาลตามประเด็นที่ศาลกำหนดแทนการมาให้ถ้อยคำโดยพยานไม่ต้องมาศาลด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่ระยะเวลาตามมาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง ให้นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งศาล

               มาตรา ๖๖  ระหว่างการไต่สวนของศาล ให้ศาลบันทึกรายงานการพิจารณาคดีรวมไว้ในสำนวน และจัดให้คู่กรณีและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน หากคู่กรณีหรือพยานลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้ศาลทำรายงานจดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นนั้นไว้แทนการลงลายมือชื่อ
               ให้ศาลบันทึกการให้ถ้อยคำของพยานในการไต่สวนรวมไว้ในสำนวนด้วย โดยใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงหรืออุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง หรือโดยวิธีการอื่นใดตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๖๗  คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายมีสิทธิร้องขอให้มีการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของตนได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และภายในเวลาที่ศาลกำหนด
               การแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดีของคู่กรณีต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้กระทำด้วยวาจา และให้นำความในมาตรา ๖๖ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแถลงการณ์เปิดคดีหรือปิดคดี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๖๘  คู่กรณี พยานในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ถ้อยคำของตน หรือบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียโดยชอบหรือมีเหตุผลอันสมควร มีสิทธิขอตรวจดู ขอสำเนา หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองความถูกต้องของเอกสารในสำนวนได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของศาล ซึ่งจะกำหนดให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยก็ได้

               มาตรา ๖๙  ให้ศาลเป็นผู้บันทึกรายงานการพิจารณาคดี

               มาตรา ๗๐  ให้ตุลาการคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายจากศาลเป็นผู้ลงลายมือชื่อในประกาศ คำสั่ง รายงานการพิจารณาคดี หรือหนังสืออื่นใดของศาล

               มาตรา ๗๑  เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง หรือเพื่อป้องกันความรุนแรงอันใกล้จะถึงและคำร้องของผู้ร้องมีเหตุอันมีน้ำหนักที่ศาลจะวินิจฉัยให้เป็นไปตามคำร้อง เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่กรณีได้ยื่นคำขอ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย และออกคำสั่งไปยังหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล
               มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง ให้มีผลใช้บังคับได้ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวนั้น

หมวด ๔ การทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง (มาตรา ๗๒ - ๗๘)

 

หมวด ๔
การทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง

-------------------------

               มาตรา ๗๒  คำวินิจฉัยของศาลให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ศาลปรึกษาหารือกันจนกว่าจะได้ข้อยุติ
               ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนจะงดออกเสียงในประเด็นใดประเด็นหนึ่งตามที่ศาลได้กำหนดไว้มิได้ เว้นแต่มีเหตุตามมาตรา ๕๒ วรรคสาม

               มาตรา ๗๓  คำวินิจฉัยของศาลอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้ออ้างและคำขอตามที่ปรากฏในคำร้องหรือหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ข้อโต้แย้งในคำชี้แจงข้อกล่าวหา ประเด็นแห่งคดี สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในแต่ละประเด็น และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง รวมทั้งผลแห่งคำวินิจฉัย
               คำวินิจฉัยของศาลต้องลงลายมือชื่อของตุลาการที่วินิจฉัย ถ้าตุลาการคนใดมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้องค์คณะนั้นมอบหมายให้ตุลาการคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นองค์คณะจดแจ้งเหตุดังกล่าวแล้วติดรวมไว้กับคำวินิจฉัย

               มาตรา ๗๔  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาล หากมีความจำเป็นจะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลไว้ในคำวินิจฉัยนั้น โดยศาลอาจกำหนดให้มีผลไปในอนาคตขณะใดขณะหนึ่งหลังวันอ่านคำวินิจฉัย หรืออาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการในการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ตามความจำเป็นหรือสมควร ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี และให้องค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดที่มีหน้าที่ในการบังคับรายงานผลการปฏิบัติหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำบังคับของศาลต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และประเภทคดีที่กำหนดในข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๗๕  ในการวินิจฉัยคดี ตุลาการซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และให้ที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อน แล้วจึงลงมติ
               ความเห็นส่วนตนตามวรรคหนึ่ง ให้ทำโดยสังเขปและต้องเผยแพร่ต่อสาธารณะตามข้อกำหนดของศาล
               การทำคำวินิจฉัยของศาล องค์คณะอาจมอบหมายให้ตุลาการคนหนึ่งคนใดเป็นผู้จัดทำคำวินิจฉัยตามมติของศาลก็ได้
               คำวินิจฉัยของศาล ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

               มาตรา ๗๖  คำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่าน
               ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีที่มีคู่กรณี ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย แล้วแต่กรณี ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา ให้ศาลบันทึกไว้ และให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นได้อ่านโดยชอบแล้ว
               ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีที่ไม่มีผู้ถูกร้อง ให้ศาลแจ้งคำวินิจฉัยของศาลแก่ผู้ร้องหรือผู้มีหนังสือขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย และให้ถือว่าวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำวินิจฉัยเป็นวันอ่าน
               ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยคดีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๓ มาตรา ๒๑๒ มาตรา ๒๑๓ หรือมาตรา ๒๓๑ (๑) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลจัดทำประกาศผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเร็ว
               การแจ้งให้คู่กรณีมาฟังคำวินิจฉัยและการอ่านคำวินิจฉัยของศาลตามวรรคสอง และการแจ้งคำวินิจฉัยตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อกำหนดของศาล

               มาตรา ๗๗  คำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือจำหน่ายคดี ต้องประกอบด้วย ความเป็นมาโดยย่อของคดี เหตุผลในการมีคำสั่ง ความเห็นประกอบ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
               ให้นำความในมาตรา ๗๕ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การทำคำสั่งด้วยโดยอนุโลม เมื่อจัดทำคำสั่งเสร็จแล้วให้แจ้งคู่กรณีทราบ พร้อมปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการศาลไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
               คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้มีผลในวันที่ศาลลงมติซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคำสั่ง

               มาตรา ๗๘  ในกรณีที่คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลเห็นเอง หรือเมื่อคู่กรณีร้องขอและศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเช่นว่านั้นให้ถูกต้องก็ได้
               การทำคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้ผลในคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเดิม เมื่อได้ทำคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว ให้แจ้งคู่กรณีทราบ และให้นำความในมาตรา ๗๕ วรรคสามและวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
               หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการจัดทำคำสั่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของศาล

บทเฉพาะกาล (มาตรา ๗๙ - ๘๓)

 

บทเฉพาะกาล

-------------------------

               มาตรา ๗๙  ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘ เว้นแต่กรณีตาม (๑) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๘ มิให้นำมาใช้บังคับ และให้ถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปตามวรรคนี้ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคสอง มีจำนวนครบตามองค์ประกอบตามมาตรา ๘ แล้ว
               ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ บรรดาที่ดำรงตำแหน่งครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) และ (๕) จะเข้ารับหน้าที่

               มาตรา ๘๐  การสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีเหตุพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด และแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเมื่อได้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
               ภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรอิสระแต่งตั้งและส่งชื่อผู้แทนให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๑๑
               เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสองแล้ว หากองค์กรอิสระใดยังไม่อาจแต่งตั้งผู้แทนได้ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ แต่ไม่ตัดสิทธิองค์กรอิสระที่จะแต่งตั้งผู้แทนมาในภายหลัง การแต่งตั้งดังกล่าวไม่มีผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้วต้องเสียไป
               ภายในยี่สิบวันนับแต่วันพ้นจากระยะเวลาตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง ถือว่าเป็นผู้ซึ่งจะต้องมีการสรรหาหรือคัดเลือกในประเภทใดตามมาตรา ๘ (๑) (๒) และ (๕)
               คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๘๑  ให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา ๘๐ ดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามจำนวนที่ยังว่างอยู่ และตามประเภทที่คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยตามมาตรา ๘๐ วรรคสี่ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๘๐
               ในกรณีที่ต้องมีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี ด้วยโดยอนุโลม
               ในกรณีที่ไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกแล้ว ให้ผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังอยู่ในตำแหน่งตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และแจ้งให้ประธานวุฒิสภาทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

               มาตรา ๘๒  บรรดาข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของศาลที่ออกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

               มาตรา ๘๓  การดำเนินการไต่สวน หรือการดำเนินการอื่นใดตามหน้าที่และอำนาจของศาลซึ่งดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการนั้นเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
               ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการในเรื่องใดที่ยังค้างพิจารณาอยู่ และมิได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ดำเนินการนั้นต่อไปตามมติของศาล

   ผู้รับสนองพระราชโองการ
 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
          นายกรัฐมนตรี

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้การสรรหาและการวินิจฉัยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องตามหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๒ ก/หน้า ๑/๒ มีนาคม ๒๕๖๑