My Template

หมวด ๓ อำนาจศาล (มาตรา ๒๒ - ๒๗)

 

หมวด ๓
อำนาจศาล

-------------------------

               มาตรา ๒๒  เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
               (๑) เมื่อจำเลยมีที่อยู่ หรือถูกจับในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาลดังกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้น ๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้
               (๒) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย

               มาตรา ๒๓  เมื่อศาลแต่สองศาลขึ้นไปต่างมีอำนาจชำระคดี ถ้าได้ยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาลหนึ่งซึ่งตามฟ้องความผิดมิได้เกิดในเขต โจทก์หรือจำเลยจะร้องขอให้โอนคดีไปชำระที่ศาลอื่นซึ่งความผิดได้เกิดในเขตก็ได้
               ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลซึ่งความผิดเกิดในเขต แต่ต่อมาความปรากฏแก่โจทก์ว่าการพิจารณาคดีจะสะดวกยิ่งขึ้นถ้าให้อีกศาลหนึ่งซึ่งมีอำนาจชำระคดีได้พิจารณาคดีนั้น โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาขอโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจำเลยจะคัดค้านก็ตาม เมื่อศาลเห็นสมควรจะโอนคดีไปหรือยกคำร้องเสียก็ได้

               มาตรา ๒๔  เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใด เป็นต้นว่า
               (๑) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทำผิดหลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทำความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้ หรือรับของโจรก็ตาม
               (๒) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกัน หรือโดยผู้กระทำผิดทั้งหลายได้คบคิดกันมาแต่ก่อนแล้ว
               (๓) ปรากฏว่าความผิดฐานหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีเจตนาช่วยผู้กระทำผิดอื่นให้พ้นจากรับโทษในความผิดอย่างอื่นซึ่งเขาได้กระทำไว้
               ดังนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทำความผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้
               ถ้าความผิดอันเกี่ยวพันกันมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลซึ่งมีอำนาจชำระ ก็คือศาลซึ่งรับฟ้องเรื่องหนึ่งเรื่องใดในความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน

               มาตรา ๒๕  ศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้จะพิจารณาพิพากษารวมกันไปก็ได้
               ถ้าศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้ เห็นว่าเป็นการสมควรที่ความผิดฐานหนึ่ง ควรได้ชำระในศาลซึ่งตามปกติมีอำนาจจะชำระถ้าหากว่าคดีนั้นไม่เกี่ยวกับคดีเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลเดิมได้ตกลงกับอีกศาลหนึ่งแล้ว จะสั่งให้ไปฟ้องยังศาลอื่นนั้นก็ได้

               มาตรา ๒๖  หากว่าตามลักษณะของความผิด ฐานะของจำเลย จำนวนจำเลย ความรู้สึกของประชาชนส่วนมากแห่งท้องถิ่นนั้น หรือเหตุผลอย่างอื่น อาจมีการขัดขวางต่อการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา หรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น หรืออาจเกิดผลกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญอื่นของรัฐ เมื่อโจทก์หรือจำเลยร้องขอหรือศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกาขอให้โอนคดีไปศาลอื่น ถ้าประธานศาลฎีกาเห็นควรอนุญาต ก็ให้สั่งโอนคดีไปยังศาลดังที่ประธานศาลฎีการะบุไว้
               คำสั่งของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด

               มาตรา ๒๗  ผู้พิพากษาในศาลใดซึ่งชำระคดีอาญา จะถูกตั้งรังเกียจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติไว้ในเรื่องนั้นก็ได้


               มาตรา ๒๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๕๙