My Template

หมวด ๒ การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา (มาตรา ๔๐ - ๕๑)

 

หมวด ๒
การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

-------------------------

               มาตรา ๔๐  การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๔๑  ถ้าการพิจารณาคดีแพ่งจักทำให้การพิจารณาคดีอาญาเนิ่นช้าหรือติดขัดศาลมีอำนาจสั่งให้แยกคดีแพ่งออกจากคดีอาญา และพิจารณาต่างหากโดยศาลที่มีอำนาจชำระ

               มาตรา ๔๒  ในการพิจารณาคดีแพ่ง ถ้าพยานหลักฐานที่นำสืบแล้วในคดีอาญายังไม่เพียงพอ ศาลจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมอีกก็ได้
               ในกรณีเช่นนั้นศาลจะพิพากษาคดีอาญาไปทีเดียว ส่วนคดีแพ่งจะพิพากษาในภายหลังก็ได้

               มาตรา ๔๓  คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย

               มาตรา ๔๔  การเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนตามมาตราก่อน พนักงานอัยการจะขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดีอาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้
               คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา

               มาตรา ๔๔/๑  ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้
               การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้
               คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้

               มาตรา ๔๔/๒  เมื่อได้รับคำร้องตามมาตรา ๔๔/๑ ให้ศาลแจ้งให้จำเลยทราบ หากจำเลยให้การประการใดหรือไม่ประสงค์จะให้การให้ศาลบันทึกไว้ ถ้าหากจำเลยประสงค์จะทำคำให้การเป็นหนังสือให้ศาลกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การตามที่เห็นสมควร และเมื่อพนักงานอัยการสืบพยานเสร็จ ศาลจะอนุญาตให้ผู้เสียหายนำพยานเข้าสืบถึงค่าสินไหมทดแทนได้เท่าที่จำเป็น หรือศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังก็ได้
               ถ้าความปรากฏต่อศาลว่าผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๔/๑ เป็นคนยากจนไม่สามารถจัดหาทนายความได้เอง ให้ศาลมีอำนาจตั้งทนายความให้แก่ผู้นั้น โดยทนายความที่ได้รับแต่งตั้งมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด

               มาตรา ๔๕  คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก

               มาตรา ๔๖  ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

               มาตรา ๔๗  คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่
               ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง ส่วนจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ

               มาตรา ๔๘  เมื่อศาลพิพากษาให้คืนทรัพย์สิน แต่ยังไม่ปรากฏตัวเจ้าของ เมื่อใดปรากฏตัวเจ้าของแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาของคืนของนั้นให้แก่เจ้าของไป
               ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของ ให้ศาลพิพากษาสั่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาของคืนของนั้นให้แก่เจ้าของไป
               เมื่อมีการโต้แย้งกัน ให้บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินนั้นฟ้องเรียกร้องยังศาลที่มีอำนาจชำระ

               มาตรา ๔๙  แม้จะไม่มีฟ้องคดีส่วนแพ่งก็ตาม เมื่อพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลจะสั่งให้คืนทรัพย์สินของกลางแก่เจ้าของก็ได้

               มาตรา ๕๐  ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔ หรือมาตรา ๔๔/๑ ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

               มาตรา ๕๑  ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา ๑๙๓/๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญาก็ตาม
               ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๙๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
               ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา ๑๙๓/๓๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


               มาตรา ๔๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๔๔/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๘
               มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๘