หมวด ๒
การพิจารณา คำพิพากษาและคำสั่งชั้นศาลอุทธรณ์
-------------------------
มาตรา ๒๐๓ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกัน หรือมีการสืบพยาน
มาตรา ๒๐๔ เมื่อจะพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย ให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณาไปยังคู่ความให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าวัน
การฟังคำแถลงการณ์นั้นห้ามมิให้กำหนดช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันรับสำนวน ถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้แต่อย่าให้เกินสองเดือน เหตุที่ต้องช้าให้ศาลรายงานไว้
มาตรา ๒๐๕ คำร้องขอแถลงการณ์ด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์
คำแถลงการณ์เป็นหนังสือให้ยื่นก่อนวันศาลอุทธรณ์พิพากษา
คำแถลงการณ์ด้วยปากหรือหนังสือก็ตาม มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เท่านั้น
คำแถลงการณ์เป็นหนังสือจะยื่นต่อศาลชั้นต้นหรือต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้
มาตรา ๒๐๖ ระเบียบแถลงการณ์ด้วยปากมีดังนี้
(๑) ถ้าคู่ความฝ่ายใดขอแถลงการณ์ ให้ฝ่ายนั้นแถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วฝ่ายแถลงก่อนแถลงแก้ได้อีก
(๒) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์ ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วให้ผู้อุทธรณ์แถลงแก้ได้อีก
(๓) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์และเป็นผู้อุทธรณ์ทั้งคู่ ให้โจทก์แถลงก่อน แล้วให้จำเลยแถลง เสร็จแล้วโจทก์แถลงแก้ได้อีก
มาตรา ๒๐๗ เมื่อมีอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกหรือจับจำเลย ซึ่งศาลนั้นปล่อยตัวไปแล้ว มาขังหรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ก็ได้ หรือถ้าจำเลยถูกขังอยู่ระหว่างอุทธรณ์จะสั่งให้ศาลชั้นต้นปล่อยจำเลยหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้
มาตรา ๒๐๘ ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ตามหมวดนี้
(๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรสืบพยานเพิ่มเติม ให้มีอำนาจเรียกพยานมาสืบเอง หรือสั่งศาลชั้นต้นสืบให้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานแล้ว ให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
(๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี
มาตรา ๒๐๘ ทวิ๑ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นสมควร จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด ในคดีเรื่องใด โดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้
ที่ประชุมใหญ่ให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นประธาน
การวินิจฉัยในที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
ในคดีซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ และต้องระบุไว้ด้วยว่าปัญหาข้อใดได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ผู้พิพากษาที่เข้าประชุม แม้มิใช่เป็นผู้นั่งพิจารณา ก็ให้มีอำนาจพิพากษา ทำคำสั่ง หรือทำความเห็นแย้งในคดีนั้นได้
มาตรา ๒๐๙ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยมิชักช้า และจะอ่านคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ หรือส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้
มาตรา ๒๑๐ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องอุทธรณ์มิได้ยื่นในกำหนด ให้พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์นั้นเสีย
มาตรา ๒๑๑ เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาในประเด็นสำคัญและคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาโดยคำพิพากษาอันเดียวกันก็ได้
มาตรา ๒๑๒ คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น
มาตรา ๒๑๓ ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์
มาตรา ๒๑๔ นอกจากมีข้อความซึ่งต้องมีในคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องปรากฏข้อความดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) นามหรือตำแหน่งของผู้อุทธรณ์
(๒) ข้อความว่า ยืน ยก แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มาตรา ๒๑๕ นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๒๐๘ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๗