พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ๒๔๘๓๑
หลักการ :-
๑. แก้ไขเพิ่มเติมตำแหน่งเจ้าพนักงานที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางตำแหน่ง และเทียบยศตำรวจบางอย่างเพื่อให้ตรงกับตำแหน่งราชการของตำรวจที่เป็นอยู่ และเพื่อให้เป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น
๒. ให้อธิบดีกรมตำรวจประกาศแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่มียศไม่ต่ำกว่าชั้นนายสิบตำรวจในราชกิจจานุเบกษา เป็นพนักงานสอบสวนได้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบสวนได้ดำเนินไปด้วยดีและรวดเร็ว
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้คดีลุล่วงไปโดยเหมาะสมและรวดเร็วยิ่งขึ้น กับเพื่อแก้ข้อขัดข้องของศาล เจ้าพนักงาน และคู่ความในการดำเนินกระบวนพิจารณาที่สำคัญบางประการ และแก้บัญชีแนบท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๐๑๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่ โดยให้มีแต่จังหวัดและอำเภอ ส่วนภาคยุบเลิกไป ตำแหน่งผู้ว่าราชการภาค รองผู้ว่าราชการภาค ผู้ช่วยผู้ว่าราชการภาค และมหาดไทยภาค ซึ่งเป็นตำแหน่งประจำภาคจึงยุบเลิกตามไปด้วย ประกอบกับสมควรจะให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองบางตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีอาญาในส่วนภูมิภาค เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับคำว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่” เสียใหม่
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕๔
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ภาระของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก ตลอดทั้งวิธีการชันสูตรพลิกศพก็ไม่สะดวกและเหมาะสม สมควรแก้ไขกรณีดังกล่าว
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๗๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนในเขตอำนาจศาลแขวงและศาลจังหวัดมีสิทธิในการอุทธรณ์โดยเท่าเทียมกัน และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาลุล่วงไปโดยเหมาะสมและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๑๗๖
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยการพระราชทานอภัยโทษซึ่งบัญญัติไว้ในภาค ๗ ว่าด้วยอภัยโทษเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังมิได้กำหนดวิธีการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องโทษทั่วไป สมควรกำหนดให้คณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษทั่วไปดังกล่าวได้ และโดยที่การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษทั่วไปได้เคยกระทำในรูปพระราชกฤษฎีกาเสมอมา แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ มาตรา ๑๙๒ ได้บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น” สมควรกำหนดให้การพระราชทานอภัยโทษได้กระทำในรูปพระราชกฤษฎีกาดังที่ได้เคยปฏิบัติมา จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๒๒๗
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมิได้ให้อำนาจศาลชั้นต้นอย่างชัดแจ้งในการที่จะสั่งคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว ในกรณีที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาแล้ว ทั้งในการที่ศาลจะสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในกรณีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี ศาลจะต้องถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่ทุกกรณีไป ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งได้โดยรวดเร็ว สมควรให้อำนาจศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวในกรณีที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาแล้ว และให้อำนาจศาลที่จะงดการถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ในกรณีที่ไม่อาจถามได้โดยมีเหตุอันควร เพื่อให้ศาลสามารถมีคำสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยรวดเร็วและเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกขังได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนการที่ศาลจะมีคำพิพากษานั้น สมควรกำหนดไว้ว่าถ้าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเพียงรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา หรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก รับของโจร หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานโดยเจตนาและประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๓๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรมซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาลแขวงโดยเพิ่มจำนวนค่าปรับให้สูงขึ้นจากหกพันบาทเป็นหกหมื่นบาท เห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อให้คดีอาญาของศาลจังหวัดและศาลแขวงที่ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริงมีอัตราโทษเท่าเทียมกันอันจะเป็นผลทำให้ประชาชนที่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงและในเขตอำนาจศาลจังหวัดมีสิทธิในการอุทธรณ์โดยเท่าเทียมกัน และได้รับผลปฏิบัติทางคดีเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๒๓๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๓ ข้อ ๒ ได้ยกเลิกความในมาตรา ๑๕๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยให้เหตุผลว่าวิธีการชันสูตรพลิกศพไม่สะดวกและเหมาะสม แต่เมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายบางแห่งได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ เช่น เมื่อยิงราษฎรตายหรือทำร้ายราษฎรถึงแก่ความตายแล้วมักจะทำเป็นวิสามัญฆาตกรรม และสรุปสำนวนส่งให้อธิบดีกรมอัยการวินิจฉัยโดยไม่ต้องให้ศาลทำการไต่สวนก่อน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นแก่ผู้ตาย ซึ่งญาติผู้ตายไม่สามารถนำพยานเข้าสืบเป็นการให้อำนาจพนักงานสอบสวนมากเกินไป จึงสมควรยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๓ ข้อ ๒ และให้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ที่ถูกยกเลิกมีผลใช้บังคับต่อไป
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๒๕๑๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
(๑) อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันได้เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงหนึ่งปี และ
(๒) มิได้กำหนดอย่างชัดแจ้งว่า ในกรณีที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว หากมีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นก่อนส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาและศาลชั้นต้นเห็นไม่สมควรอนุญาต ศาลชั้นต้นจะต้อง “รีบ” ส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี เหมือนกับที่ได้กำหนดอย่างชัดแจ้งในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นเมื่อส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว ทำให้สิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและจำเลยในการได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร และบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องอย่างเดียวกันไม่สอดคล้องเป็นอย่างเดียวกัน
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคดีที่ไม่ร้ายแรงโดยไม่ต้องมีประกันได้มากขึ้น และให้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีความสอดคล้องเป็นอย่างเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๒๕๑๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้การสอบสวนและคดีลุล่วงไปโดยรวดเร็วและเหมาะสมยิ่งขึ้น กับเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสืบสวนและสอบสวนจนได้ความแน่ชัดก่อนจับกุมผู้ต้องหา จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๒๗๑๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
(๑) มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาที่จะพบและปรึกษาทนายสองต่อสอง สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว ทำให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามิได้รับความคุ้มครองตามสมควร
(๒) มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
(๓) มิได้ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี หรือปรับเกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ศาลไม่สามารถเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จไปโดยรวดเร็วได้
(๔) มิได้ให้ศาลตั้งทนายความให้แก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีแต่ไม่ถึงสิบปี ทำให้จำเลยที่ยากจนในคดีดังกล่าวไม่มีทนายในการต่อสู้คดี
(๕) มิได้ให้อำนาจศาลสืบพยานบุคคลซึ่งจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรอันยากแก่การนำพยานมาสืบในภายหน้าไว้ทันทีก่อนฟ้องคดีต่อศาล ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ผู้เสียหาย ผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา และจำเลยได้รับความคุ้มครอง และให้การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดำเนินไปด้วยความรวดเร็วสามารถอำนวยความสะดวกความยุติธรรม ตลอดจนให้จำเลยที่ยากจนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายในการดำเนินคดีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๒๙๑๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเปรียบเทียบคดีอาญา เพื่อให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้มากขึ้นโดยเปรียบเทียบในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยคดีอาญาเลิกกันในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๓๒๑๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้ผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีเพื่อให้ศาลตั้งทนายให้จำเลยในทุก ๆ คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตถ้าจำเลยยังไม่มีทนาย และให้ศาลตั้งทนายให้จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไปแต่ไม่ถึงสิบปี ถ้าจำเลยไม่มีทนายและต่อสู้คดีโดยแถลงต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาว่าจำเลยยากจนและต้องการทนาย เพื่อกำจัดปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการพิพากษาเกินคำขอ และเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาลุล่วงไปโดยเหมาะสมรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๓๕๑๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการกำหนดชื่อตำแหน่งในกรมตำรวจขึ้นใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๒ ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการบริหารงานของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒ (๑๗) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับนิยามคำว่า “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่” เสียใหม่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๙) พ.ศ. ๒๕๓๙๑๖
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังมีบทบัญญัติบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนดำเนินคดี อันเป็นผลให้การสอบสวนดำเนินคดีเป็นไปโดยล่าช้า และทำให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจำเลยได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันและไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยกำหนดให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลจัดหาล่ามให้แก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานที่ไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยและไม่มีล่าม ลดระยะเวลาที่ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจควบคุมตัวผู้ถูกจับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นลงเหลือไม่เกินสามวัน และกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งขังผู้ต้องหาไว้ ณ สถานที่ที่พนักงานสอบสวนกำหนดตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร รวมทั้งกำหนดให้ศาลต้องถามจำเลยก่อนเริ่มการพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ หากไม่มีและจำเลยต้องการก็ให้ศาลตั้งทนายความให้สำหรับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกหรือคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้อง ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบสวนดำเนินคดีลุล่วงไปโดยรวดเร็ว และเพื่อให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลยได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน และจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๔๒๑๗
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการถามปากคำเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยานในชั้นสอบสวน และการสืบพยานบุคคลซึ่งเป็นเด็กในชั้นศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดวิธีปฏิบัติไว้เช่นเดียวกับกรณีของผู้ใหญ่ โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนยังมีความชำนาญในด้านจิตวิทยาเด็กไม่เพียงพอ รวมทั้งมิได้คำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของเด็กที่อ่อนแอเท่าที่ควรและการใช้ภาษากับเด็กยังไม่เหมาะสม อันเป็นเหตุให้การถามปากคำเด็กส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กและส่งผลให้การสอบสวนคลาดเคลื่อน ส่วนการสืบพยานในชั้นศาลนั้น นอกจากเด็กจะต้องเผชิญหน้ากับจำเลยในห้องพิจารณาและตอบคำถามซ้ำกับในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้ว คำถามที่ใช้ถามเด็กยังอาจเป็นคำถามที่ตอกย้ำจิตใจของเด็กซึ่งบอบช้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานคลาดเคลื่อนอีกเช่นกัน นอกจากนั้นในการจดบันทึกคำร้องทุกข์ การชันสูตรพลิกศพ การไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับเด็กก็อาจจะเกิดผลในลักษณะทำนองเดียวกันได้ ฉะนั้น สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าวให้มีกระบวนการถามปากคำและสืบพยานสำหรับเด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานตามข้อ ๑๒ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙ และบทบัญญัติในมาตรา ๔ และมาตรา ๕๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และโดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงเหตุและวิธีการเกี่ยวกับการสืบพยานไว้ก่อนการฟ้องคดีต่อศาล และสมควรให้นำวิธีสืบพยานสำหรับเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีในชั้นศาลไปใช้กับการสืบพยานไว้ก่อนการฟ้องคดีต่อศาลด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ. ๒๕๔๒๑๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในทางปฏิบัติ การชันสูตรพลิกศพมักกระทำโดยพนักงานสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบลแทนแพทย์ ซึ่งอาจทำให้ระบบการตรวจสอบพยานหลักฐานทางนิติเวชไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดการตายนั้น อีกทั้งการชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ยังขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลกันของผู้ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ วิธีการในการชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายของบุคคลยังเป็นไปอย่างล่าช้าและมิได้คุ้มครองสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติของผู้ตายอย่างเพียงพอ ฉะนั้น สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดตัวบุคคลผู้ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพเสียใหม่ กล่าวคือ ให้พนักงานสอบสวนทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ แพทย์ประจำโรงพยาบาล และแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตามลำดับ และให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองเข้าร่วมทำการชันสูตรพลิกศพด้วยในกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ รวมทั้งปรับปรุงวิธีการในกาชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายโดยศาล เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รอบคอบ มีประสิทธิภาพ และคุ้มครองสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติของผู้ตายมากยิ่งขึ้นและโดยที่เป็นการสมควรกำหนดลักษณะความผิดขึ้นใหม่ที่ทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งสมควรแก้ไขอัตราโทษตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีอัตราโทษสอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๔๗๑๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา และจำเลยในคดีอาญาไว้หลายประการ อาทิเช่น การจับกุมหรือคุมขังบุคคลและการค้นในที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และผู้ต้องหาและจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้ สมควรที่จะได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๔๘๒๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ กำหนดให้โอนกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังในคดีอาญาไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น บทบัญญัติว่าด้วยการขอพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว จึงไม่สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ในการขอพระราชทานอภัยโทษ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ. ๒๕๔๘๒๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้พนักงานอัยการมีเพียงอำนาจในการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางประเภทเท่านั้นผู้เสียหายซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยต้องไปดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนอื่นด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็ว รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินคดีดังกล่าวเพื่อลดภาระให้แก่ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๕๐๒๒
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันเรือนจำมีสภาพที่แออัดไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนของผู้ซึ่งต้องขังหรือต้องจำคุก และไม่เหมาะสมกับสภาพของผู้ซึ่งต้องขังหรือต้องจำคุกบางลักษณะโดยเฉพาะสภาพชีวิตหญิงมีครรภ์ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ประกอบกับเทคโนโลยีในการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวมีความก้าวหน้าเป็นอันมาก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ซึ่งต้องขังหรือต้องจำคุกได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม สมควรปรับปรุงวิธีการขังและจำคุก โดยกำหนดวิธีการหรือสถานที่ในการขังหรือจำคุกนอกเรือนจำให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ซึ่งต้องขังหรือต้องจำคุกในแต่ละลักษณะตลอดจนปรับปรุงการทุเลาการบังคับโทษจำคุกหญิงมีครรภ์และเปลี่ยนโทษประหารชีวิตหญิงมีครรภ์เป็นจำคุกตลอดชีวิตเพื่อให้บุตรได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาและสืบสายสัมพันธ์ทางครอบครัวอันจะเป็นแนวทางให้บุตรเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๕๐๒๓
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการถามปากคำ การสืบพยาน และการชี้ตัวผู้ต้องหาของผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี รวมถึงการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการอยู่ร่วมด้วย โดยมุ่งหมายมิให้เด็กได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและสภาวะทางจิตใจจากกระบวนการยุติธรรม แต่เนื่องจากการที่มิได้จำกัดประเภทคดีซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการพิเศษอย่างแท้จริงไว้จึงทำให้การดำเนินคดีบางประเภทเป็นไปด้วยความล่าช้าโดยไม่จำเป็น ประกอบกับการถามปากคำมีความซ้ำซ้อนในแต่ละขั้นตอน ทำให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมเกินสมควร ดังนั้น เพื่อให้การใช้บังคับกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๕๐๒๔
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจเจ้าพนักงานยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้จนกว่าคดีถึงที่สุด บางกรณีอาจต้องยึดสิ่งของดังกล่าวไว้เป็นเวลานาน ทำให้สิ่งของนั้นชำรุดบกพร่อง เสื่อมประโยชน์ หรือเสื่อมราคาก่อความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น สมควรกำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจใช้ดุลพินิจผ่อนผันให้บุคคลดังกล่าวรับสิ่งของดังกล่าวไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์ระหว่างการดำเนินคดีอาญาเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายและเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้สุจริตตลอดจนลดภาระหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการดูแลรักษาสิ่งของนั้น ประกอบกับการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ และการสอบสวนในคดีดังกล่าวรวมทั้งคดีที่ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เป็นคดีที่มีผลกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างสำคัญ สมควรให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและการสอบสวนคดีดังกล่าวด้วย เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๘) พ.ศ. ๒๕๕๑๒๕
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับพยานหลักฐานแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๙) พ.ศ. ๒๕๕๑๒๖
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การสอบสวนความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรตามมาตรา ๒๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมีอำนาจมอบหมายหน้าที่การเป็นพนักงานสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน หรือจะมอบหมายให้พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนก็ได้ และเพื่อให้การสอบสวนความผิดดังกล่าวเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๕๑๒๗
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการบังคับตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สมควรให้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ในการติดตามตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ถ้ามีการทำลายอุปกรณ์ดังกล่าวหรือทำให้ใช้การไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ให้สันนิษฐานว่าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวนั้นหนีหรือจะหลบหนี และมิให้เรียกหลักประกันเกินสมควร เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น อีกทั้งสมควรกำหนดให้มีการสั่งงดการบังคับตามสัญญาประกันหรือลดจำนวนเงินที่ต้องใช้ตามสัญญาประกันโดยคำนึงถึงความพยายามของผู้ประกันในการติดตามผู้ที่หลบหนี รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด และแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี เพื่อให้การบังคับตามสัญญาประกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๑) พ.ศ. ๒๕๕๙๒๘
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีบางเรื่องอาจเกิดผลกระทบต่อประโยชน์อันสำคัญของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งโอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีความเหมาะสมกว่าได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๒) พ.ศ. ๒๕๕๙๒๙
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้กำหนดให้จำเลยต้องมาแสดงตนต่อศาลเมื่อประสงค์จะอุทธรณ์หรือฎีกา ส่งผลให้ศาลไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจำเลยยังมีตัวตนอยู่หรือไม่ และเป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่อยู่ระหว่างการหลบหนียังคงสามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกากรณีที่จำเลยซึ่งไม่ได้ถูกคุมขังเป็นผู้อุทธรณ์หรือฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๓) พ.ศ. ๒๕๖๒๓๐
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการไต่สวนมูลฟ้องในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการคุ้มครองสิทธิของจำเลย เนื่องจากจำเลยอาจไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือและไม่สามารถแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และในชั้นพิจารณาคดีหากจำเลยไม่มาศาล ศาลไม่สามารถสืบพยานต่อไปได้จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาหรือกรณีที่ไม่มีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลมาดำเนินการแทนนิติบุคคลนั้นได้ ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลกระทบต่อหลักการอำนวยความยุติธรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรม ตลอดจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องดังกล่าว และโดยที่เป็นการสมควรให้การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่จำเลยมีจำนวนไม่สูงเกินสมควร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๓๔) พ.ศ. ๒๕๖๒๓๑
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้การปล่อยชั่วคราวในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไปต้องมีประกัน อาจจะเป็นภาระแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติกรรมจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น สมควรขยายอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเป็นสิบปีขึ้นไปเพื่อให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่าในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีโดยคำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ ทั้งยังให้เจ้าพนักงานศาลมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวได้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นด้วย นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามีการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยในหลายกรณี หรือฟ้องคดีโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ตามปกติธรรมดา อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกฟ้องร้องและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องให้ศาลมีอำนาจยกฟ้อง ดังนั้น เพื่อให้ระบบการปล่อยชั่วคราวและการพิจารณาพิพากษาคดีอาญามีความเหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันและสามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๗/หน้า ๕๐๑/๘ ตุลาคม ๒๔๘๓
๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๓/ตอนที่ ๑๖/หน้า ๑๒๖/๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙
๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๗๕/ตอนที่ ๗๘/หน้า ๕๒๑/๗ ตุลาคม ๒๕๐๑
๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๘๙/ตอนที่ ๑๙๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖๗/๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕
๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๒๐๒/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗
๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๑/ตอนที่ ๒๒๕/ฉบับพิเศษ หน้า ๘/๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๗
๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖/ตอนที่ ๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๘ เมษายน ๒๕๒๒
๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๐๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๓
๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๗/ตอนที่ ๑๑๓/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๓
๑๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๘๐/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๕
๑๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๙/ตอนที่ ๑๐๘/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๖ สิงหาคม ๒๕๒๕
๑๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๒๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๒๐ กันยายน ๒๕๒๗
๑๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๓/ตอนที่ ๒๑๕/หน้า ๑๔๗/๔ ธันวาคม ๒๕๒๙
๑๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖/ตอนที่ ๑๔๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๔/๘ กันยายน ๒๕๓๒
๑๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙/ตอนที่ ๓๒/หน้า ๑๐/๑ เมษายน ๒๕๓๕
๑๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๓/ตอนที่ ๖๑ ก/หน้า ๖/๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
๑๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๘๑ ก/หน้า ๓๐/๑๔ กันยายน ๒๕๔๒
๑๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๑๓๗ ก/หน้า ๑๗/๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๒
๑๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๗๙ ก/หน้า ๑/๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗
๒๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๔ ก/หน้า ๓๐/๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
๒๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๒๗ ก/หน้า ๑/๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘
๒๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๕๓ ก/หน้า ๑๗/๑๒ กันยายน ๒๕๕๐
๒๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๑๐๐ ก/หน้า ๑/๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๐
๒๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓ ก/หน้า ๑๕/๗ มกราคม ๒๕๕๑
๒๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓๐ ก/หน้า ๑/๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
๒๖ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓๐ ก/หน้า ๑๖/๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
๒๗ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒/ตอนที่ ๑๒๗ ก/หน้า ๑/๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
๒๘ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๒๓ ก/หน้า ๔/๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙
๒๙ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๑๐๔ ก/หน้า ๓๐/๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙
๓๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๒๐ ก/หน้า ๑/๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
๓๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๓๔ ก/หน้า ๑๘/๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒