ลักษณะ ๓
คู่ความ
-------------------------
มาตรา ๕๕ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
มาตรา ๕๖ ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ทำการแทนจะเสนอข้อหาต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถและตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ การให้อนุญาตหรือยินยอมตามบทบัญญัติเช่นว่านั้น ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความ
ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษาเมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจทำการสอบสวนในเรื่องความสามารถของผู้ขอหรือของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง และถ้าเป็นที่พอใจว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดให้แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลจะสั่ง
ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อความยุติธรรมไม่ควรให้กระบวนพิจารณาดำเนินเนิ่นช้าไป ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่บกพร่องในเรื่องความสามารถนั้นดำเนินคดีไปก่อนชั่วคราวก็ได้ แต่ห้ามมิให้ศาลพิพากษาในประเด็นแห่งคดีจนกว่าข้อบกพร่องนั้นได้แก้ไขโดยบริบูรณ์แล้ว
ถ้าผู้ไร้ความสามารถไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนโดยชอบธรรมทำหน้าที่ไม่ได้ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้อนุญาตหรือให้ความยินยอมตามที่ต้องการ หรือตั้งผู้แทนเฉพาะคดีนั้นให้แก่ผู้ไร้ความสามารถ ถ้าไม่มีบุคคลอื่นใดให้ศาลมีอำนาจตั้งพนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอื่นให้เป็นผู้แทนได้
มาตรา ๕๗ บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(๑) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น
(๒) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย
(๓) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ (ข) โดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าว แล้วให้เรียกด้วยวิธียื่นคำร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือในเวลาใด ๆ ต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้
การส่งหมายเรียกบุคคลภายนอกตามอนุมาตรานี้ต้องมีสำเนาคำขอ หรือคำสั่งของศาล แล้วแต่กรณี และคำฟ้องตั้งต้นคดีนั้นแนบไปด้วย
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้และที่จะเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๕๘ ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๑) และ (๓) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๒) แห่งมาตราก่อน ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน
เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ถ้ามีข้อเกี่ยวข้องกับคดี เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัยในระหว่างผู้ร้องสอดกับคู่ความฝ่ายที่ตนเข้ามาร่วม หรือที่ตนถูกหมายเรียกให้เข้ามาร่วม ผู้ร้องสอดย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
(๑) เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของคู่ความนั้น ทำให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีช้าเกินสมควรที่จะแสดงข้อเถียงอันเป็นสาระสำคัญได้ หรือ
(๒) เมื่อคู่ความนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ยกขึ้นใช้ซึ่งข้อเถียงในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งผู้ร้องสอดมิได้รู้ว่ามีอยู่เช่นนั้น
มาตรา ๕๙ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่วามในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลแห่งความคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้
(๑) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดย หรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดย หรือทำต่อ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ
(๒) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย
มาตรา ๖๐๑ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือผู้แทนโดยชอบธรรมในกรณีที่คู่ความเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้แทนในกรณีที่คู่ความเป็นนิติบุคคล จะว่าความด้วยตนเองและดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์ของตน หรือจะตั้งแต่งทนายความคนเดียวหรือหลายคนให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนก็ได้
ถ้าคู่ความ หรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้
มาตรา ๖๑ การตั้งทนายความนั้น ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความ แล้วยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน ใบแต่งทนายนี้ให้ใช้ได้เฉพาะคดีเรื่องหนึ่ง ๆ ตามที่ได้ยื่นไว้เท่านั้น เมื่อทนายความผู้ใดได้รับมอบอำนาจทั่วไปที่จะแทนบุคคลอื่นไม่ว่าในคดีใด ๆ ให้ทนายความผู้นั้นแสดงใบมอบอำนาจทั่วไป แล้วคัดสำเนายื่นต่อศาลแทนใบแต่งทนาย เพื่อดำเนินคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป ตามความในมาตรานี้
มาตรา ๖๒ ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความนั้น แต่ถ้ากระบวนพิจารณาใดเป็นไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิ หรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา หรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายความไม่มีอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านี้ได้ โดยมิได้รับอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้ง อำนาจโดยชัดแจ้งเช่นว่านี้จะระบุให้ไว้ในใบแต่งทนายสำหรับคดีเรื่องนั้น หรือทำเป็นใบมอบอำนาจต่างหากในภายหลังใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ และในกรณีหลังนี้ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา ๖๑ บังคับ
กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตัวความหรือผู้แทนจะปฏิเสธหรือแก้ไขข้อเท็จจริงที่ทนายความของตนได้กล่าวด้วยวาจาต่อหน้าตนในศาลในขณะนั้นก็ได้ แม้ถึงว่าตัวความหรือผู้แทนนั้นจะมิได้สงวนสิทธิเช่นนั้นไว้ในใบแต่งทนายก็ดี
มาตรา ๖๓ บทบัญญัติแห่งมาตราก่อนนี้ไม่ตัดสิทธิตัวความในอันที่จะตั้งแต่งผู้แทนหรือทนายความโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเพื่อให้รับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งได้ชำระไว้ในศาลหรือวางไว้ยังศาลเป็นเงินค่าธรรมเนียมหรืออย่างอื่น และศาลได้สั่งให้จ่ายคืน หรือส่งมอบให้แก่ตัวความฝ่ายนั้น แต่ถ้าศาลนั้นมีความสงสัยในความสามารถหรือตัวบุคคลผู้แทน หรือทนายความซึ่งได้รับตั้งแต่งดังกล่าวข้างต้น ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ตัวความหรือทนายความหรือทั้งสองคนให้มาศาลโดยตนเองได้
มาตรา ๖๔ เว้นแต่ศาลจะได้สั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อคดีมีเหตุผลพิเศษอันเกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทนายความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ คู่ความหรือทนายความอาจตั้งแต่งให้บุคคลใดทำการแทนได้ โดยยื่นใบมอบฉันทะต่อศาลทุกครั้ง เพื่อกระทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยาน หรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาลหรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆ รับสำเนาแห่งคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๑ และ ๗๒ และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้น
มาตรา ๖๕๒ ทนายความที่ตัวความได้ตั้งแต่งให้เป็นทนายในคดีจะมีคำขอต่อศาลให้สั่งถอนตนจากการตั้งแต่งนั้นก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าทนายความผู้นั้นได้แจ้งให้ตัวความทราบแล้ว เว้นแต่จะหาตัวความไม่พบ
เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอแล้ว ให้ศาลส่งคำสั่งนั้นให้ตัวความทราบโดยเร็วโดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทนแล้วแต่จะเห็นสมควร
มาตรา ๖๖ ผู้ใดอ้างว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของตัวความหรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอ โดยทำเป็นคำร้องในขณะที่ยื่นคำฟ้องหรือคำให้การ ศาลจะทำการสอบสวนถึงอำนาจของผู้นั้นก็ได้ และถ้าเป็นที่พอใจว่าผู้นั้นไม่มีอำนาจ หรืออำนาจของผู้นั้นบกพร่อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีนั้นเสีย หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
๑ มาตรา ๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๙๙
๒ มาตรา ๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๒๗