หมวด ๑
หลักทั่วไป
-------------------------
มาตรา ๘๔๑ การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่
(๑) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป
(๒) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ
(๓) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
มาตรา ๘๔/๑๒ คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๘๕ คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐาน
มาตรา ๘๖ เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ก็ดี หรือเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่รับพยานหลักฐานนั้นไว้
เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานใดฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น หรือพยานหลักฐานอื่นต่อไป
เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ
มาตรา ๘๗ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่
(๑) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบ และ
(๒) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๘ และ ๙๐ แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
มาตรา ๘๘๓ เมื่อคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารฉบับใดหรือคำเบิกความของพยานคนใด หรือมีความจำนงที่จะให้ศาลตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่ หรืออ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้งหรือความเห็นของผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยแสดงเอกสารหรือสภาพของเอกสารที่จะอ้าง และรายชื่อ ที่อยู่ของบุคคล ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ วัตถุ หรือสถานที่ซึ่งคู่ความฝ่ายนั้นระบุอ้างเป็นพยานหลักฐาน หรือขอให้ศาลไปตรวจ หรือขอให้ตั้งผู้เชี่ยวชาญแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นมารับไปจากเจ้าพนักงานศาล๔
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมให้ยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและสำเนาบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน
เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว มีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบเพื่อประโยชน์ของตน หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง
มาตรา ๘๙๕ คู่ความฝ่ายใดประสงค์จะนำสืบพยานหลักฐานของตนเพื่อพิสูจน์ต่อพยานของคู่ความฝ่ายอื่นในกรณีต่อไปนี้
(๑) หักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็น หรือ
(๒) พิสูจน์ข้อความอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวด้วยการกระทำ ถ้อยคำ เอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นใดซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้น
ให้คู่ความฝ่ายนั้นถามค้านพยานดังกล่าวเสียในเวลาที่พยานเบิกความ เพื่อให้พยานมีโอกาสอธิบายถึงข้อความเหล่านั้น แม้ว่าพยานนั้นจะมิได้เบิกความถึงข้อความดังกล่าวก็ตาม
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายนั้นมิได้ถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายอื่นไว้ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ต่อมานำพยานหลักฐานมาสืบถึงข้อความนั้น คู่ความฝ่ายอื่นที่สืบพยานนั้นไว้ชอบที่จะคัดค้านได้ในขณะที่คู่ความฝ่ายนั้นนำพยานหลักฐานมาสืบ และในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่ามานั้น
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ประสงค์จะนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ต่อพยานตามวรรคหนึ่งแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่า เมื่อเวลาพยานเบิกความนั้นตนไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงข้อความดังกล่าวมาแล้ว หรือถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านี้ศาลจะยอมรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านี้ก็ได้ แต่ในกรณีเช่นนี้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้เรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาสืบอีกก็ได้ หรือเมื่อศาลเห็นสมควรจะเรียกมาสืบเองก็ได้
มาตรา ๙๐๖ ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา ๘๘ วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดยื่นคำแถลงหรือคำร้องขออนุญาตอ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา ๘๘ วรรคสองหรือวรรคสาม ให้ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสำเนาเอกสารนั้นพร้อมกับการยื่นคำแถลงหรือคำร้องดังกล่าว เว้นแต่ศาลจะอนุญาตให้ยื่นสำเนาเอกสารภายหลังเมื่อมีเหตุอันสมควร
คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสำเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารเป็นชุดซึ่งคู่ความฝ่ายอื่นทราบดีอยู่แล้วหรือสามารถตรวจตราให้ทราบได้โดยง่ายถึงความมีอยู่และความแท้จริงแห่งเอกสารนั้น เช่น จดหมายโต้ตอบระหว่างคู่ความในคดี หรือสมุดบัญชีการค้า และสมุดบัญชีของธนาคารหรือเอกสารในสำนวนคดีเรื่องอื่น
(๒) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก
(๓) ถ้าการคัดสำเนาเอกสารจะทำให้กระบวนพิจารณาล่าช้าเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความซึ่งอ้างอิงเอกสารนั้น หรือมีเหตุผลแสดงว่าไม่อาจคัดสำเนาเอกสารให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ให้ยื่นสำเนาเอกสารนั้น
กรณีตาม (๑) หรือ (๓) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ขออนุญาตงดการยื่นสำเนาเอกสารนั้นและขอยื่นต้นฉบับเอกสารแทน เพื่อให้ศาลหรือคู่ความฝ่ายอื่นตรวจดูตามเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด
กรณีตาม (๒) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครองตามมาตรา ๑๒๓ โดยต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกำหนด
มาตรา ๙๑ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานร่วมกันได้
มาตรา ๙๒ ถ้าคู่ความหรือบุคคลใดจะต้องเบิกความหรือนำพยานหลักฐานชนิดใด ๆ มาแสดง และคำเบิกความหรือพยานหลักฐานนั้นอาจเปิดเผย
(๑) หนังสือราชการหรือข้อความอันเกี่ยวกับงานของแผ่นดินซึ่งโดยสภาพจะต้องรักษาเป็นความลับไว้ชั่วคราวหรือตลอดไป และคู่ความหรือบุคคลนั้นเป็นผู้รักษาไว้ หรือได้ทราบมาโดยตำแหน่งราชการ หรือในหน้าที่ราชการ หรือกึ่งราชการอื่นใด
(๒) เอกสารหรือข้อความที่เป็นความลับใด ๆ ซึ่งตนได้รับมอบหมายหรือบอกเล่าจากลูกความในฐานะที่ตนเป็นทนายความ
(๓) การประดิษฐ์ แบบ หรือการงานอื่น ๆ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย
คู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมเบิกความหรือนำพยานหลักฐานนั้น ๆ มาแสดงได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้เปิดเผยได้
เมื่อคู่ความหรือบุคคลใดปฏิเสธไม่ยอมเบิกความหรือนำพยานหลักฐานมาแสดงดังกล่าวมาแล้ว ให้ศาลมีอำนาจที่จะหมายเรียกพนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้มาศาลและให้ชี้แจงข้อความตามที่ศาลต้องการเพื่อวินิจฉัยว่า การปฏิเสธนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่า การปฏิเสธนั้นไม่มีเหตุผลฟังได้ ศาลมีอำนาจออกคำสั่งมิให้คู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นยกประโยชน์แห่งมาตรานี้ขึ้นใช้ และบังคับให้เบิกความหรือนำพยานหลักฐานนั้นมาแสดงได้
มาตรา ๙๓๗ การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่
(๑) เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตกลงกันว่าสำเนาเอสารนั้นถูกต้องแล้วให้ศาลยอมรับฟังสำเนาเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐาน
(๒) ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
(๓) ต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการนั้นจะนำมาแสดงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อนึ่ง สำเนาเอกสารซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่ได้รับรองว่าถูกต้องแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันเพียงพอในการที่จะนำมาแสดง เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น
(๔) เมื่อคู่ความฝ่ายที่ถูกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเอกสารมาเป็นพยานหลักฐานยันตนมิได้คัดค้านการนำเอกสารนั้นมาสืบตามมาตรา ๑๒๕ ให้ศาลรับฟังสำเนาเอกสารเช่นว่านั้นเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจศาลตามมาตรา ๑๒๕ วรรคสาม
มาตรา ๙๔ เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (๒) แห่งมาตรา ๙๓ และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
มาตรา ๙๕ ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่บุคคลนั้น
(๑) สามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และ
(๒) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง แต่ความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งของศาลว่าให้เป็นอย่างอื่น
ถ้าศาลไม่ยอมรับไว้ซึ่งคำเบิกความของบุคคลใด เพราะเห็นว่าบุคคลนั้นจะเป็นพยานหรือให้การดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้านก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนามพยาน เหตุผลที่ไม่ยอมรับและข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน
มาตรา ๙๕/๑๘ ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาลก็ดี หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้อ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลก็ดี หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
(๑) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(๒) มีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด ให้นำความในมาตรา ๙๕ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙๖ พยานที่เป็นคนหูหนวก หรือเป็นใบ้หรือทั้งหูหนวกและเป็นใบ้นั้นอาจถูกถามหรือให้คำตอบโดยวิธีเขียนหนังสือ หรือโดยวิธีอื่นใดที่สมควรได้ และคำเบิกความของบุคคลนั้น ๆ ให้ถือว่าเป็นคำพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายนี้
มาตรา ๙๗ คู่ความฝ่ายหนึ่ง จะอ้างคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของตนหรือจะอ้างตนเองเป็นพยานก็ได้
มาตรา ๙๘ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะอ้างบุคคลใดเป็นพยานของตนก็ได้เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในศิลป วิทยาศาสตร์ การฝีมือ การค้า หรือการงานที่ทำหรือในกฎหมายต่างประเทศ และซึ่งความเห็นของพยานอาจเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อความในประเด็น ทั้งนี้ ไม่ว่าพยานจะเป็นผู้มีอาชีพในการนั้นหรือไม่
มาตรา ๙๙ ถ้าศาลเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องตรวจบุคคล วัตถุ สถานที่หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๙ และ ๑๓๐ เมื่อศาลเห็นสมควร ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะอยู่ในชั้นใด หรือเมื่อมีคำขอของคู่ความฝ่ายใดภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๘๗ และ ๘๘ ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งกำหนดการตรวจหรือการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเช่นว่านั้นได้
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิของคู่ความในอันที่จะเรียกบุคคลผู้มีความรู้เชี่ยวชาญมาเป็นพยานฝ่ายตนได้
มาตรา ๑๐๐๙ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งประสงค์จะอ้างอิงข้อเท็จจริงใดและขอให้คู่ความฝ่ายอื่นตอบว่าจะรับรองข้อเท็จจริงนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ อาจส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแจ้งรายการข้อเท็จจริงนั้นไปให้คู่ความฝ่ายอื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน๑๐
ถ้าคู่ความฝ่ายอื่นได้รับคำบอกกล่าวโดยชอบแล้ว เมื่อคู่ความฝ่ายที่ส่งคำบอกกล่าวร้องขอต่อศาลในวันสืบพยาน ให้ศาลสอบถามคู่ความฝ่ายอื่นว่าจะยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ได้รับคำบอกกล่าวนั้นว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำตอบไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ถ้าคู่ความฝ่ายนั้นไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด หรือปฏิเสธข้อเท็จจริงใดโดยไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง ให้ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริงนั้นแล้ว เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคู่ความฝ่ายนั้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบหรือแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งในขณะนั้น ศาลจะมีคำสั่งให้คู่ความฝ่ายนั้นทำคำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นมายื่นต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรก็ได้
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ให้ใช้บังคับแก่เรื่องเอกสารทั้งหมดหรือฉบับใดฉบับหนึ่งที่คู่ความแสดงความจำนงจะอ้างอิงด้วยโดยอนุโลม แต่ต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นไปพร้อมกับคำบอกกล่าวและต้องมีต้นฉบับเอกสารนั้นให้คู่ความฝ่ายอื่นตรวจดูได้เมื่อต้องการ เว้นแต่ต้นฉบับเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก
มาตรา ๑๐๑ ถ้าบุคคลใดเกรงว่า พยานหลักฐานซึ่งตนอาจต้องอ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำมา หรือถ้าคู่ความฝ่ายใดในคดีเกรงว่าพยานหลักฐานซึ่งตนจำนงจะอ้างอิงจะสูญหายเสียก่อนที่จะนำมาสืบ หรือเป็นการยากที่จะนำมาสืบในภายหลัง บุคคลนั้นหรือคู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอหรือคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ทันที
เมื่อศาลได้รับคำขอเช่นว่านั้น ให้ศาลหมายเรียกผู้ขอและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องมายังศาล และเมื่อได้ฟังบุคคลเหล่านั้นแล้ว ให้ศาลสั่งคำขอตามที่เห็นสมควร ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้ว ให้สืบพยานไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ ส่วนรายงานและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนั้นให้ศาลเก็บรักษาไว้
ในกรณีที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและยังมิได้เข้ามาในคดีนั้น เมื่อศาลได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสั่งคำขอนั้นอย่างคำขออันอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ถ้าศาลสั่งอนุญาตตามคำขอแล้วให้สืบพยานไปฝ่ายเดียว๑๑
มาตรา ๑๐๑/๑๑๒ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานใดเป็นการเร่งด่วนและไม่สามารถแจ้งให้คู่ความฝ่ายอื่นทราบก่อนได้ เมื่อมีการยื่นคำขอตามมาตรา ๑๐๑ พร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การหรือภายหลังจากนั้น คู่ความฝ่ายที่ขอจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องรวมไปด้วย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งโดยไม่ชักช้าก็ได้ และถ้าจำเป็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรือให้ส่งต่อศาลซึ่งเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานที่ขอสืบไว้ก่อนด้วยก็ได้
คำร้องตามวรรคหนึ่งต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีเหตุฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานใดโดยเร่งด่วนและไม่สามารถแจ้งให้คู่ความฝ่ายอื่นทราบก่อนได้ รวมทั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการที่มิได้มีการสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ส่วนในกรณีที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดหรือให้ส่งต่อศาลซึ่งเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน คำร้องนั้นต้องบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องยึดหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุนั้นว่ามีอยู่อย่างไร ในการนี้ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำร้องนั้น เว้นแต่จะเป็นที่พอใจของศาลจากการไต่สวนว่ามีเหตุฉุกเฉินและมีความจำเป็นตามคำร้องนั้นจริง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิคู่ความฝ่ายอื่นที่จะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานดังกล่าวมาศาล เพื่อถามค้านและดำเนินการตามมาตรา ๑๑๗ ในภายหลัง หากไม่อาจดำเนินการดังกล่าวได้ ศาลต้องใช้ความระมัดระวังในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
มาตรา ๑๐๑/๒๑๓ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอให้ยึดหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุที่จะใช้เป็นพยานหลักฐาน ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขอย่างใดตามที่เห็นสมควร และจะสั่งด้วยว่าให้ผู้ขอนำเงินหรือหาประกันตามจำนวนที่เห็นสมควรมาวางศาลเพื่อการชำระค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่บุคคลใด เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่ามีเหตุจำเป็นโดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอก็ได้
ให้นำความในมาตรา ๒๖๑ มาตรา ๒๖๒ มาตรา ๒๖๓ มาตรา ๒๖๗ มาตรา ๒๖๘ และมาตรา ๒๖๙ มาใช้บังคับแก่กรณีตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม และในกรณีที่ทรัพย์ซึ่งศาลสั่งยึดนั้นเป็นของบุคคลที่สาม ให้บุคคลที่สามมีสิทธิเสมือนเป็นจำเลยในคดี และเมื่อหมดความจำเป็นที่จะใช้เอกสารหรือวัตถุนั้นเป็นพยานหลักฐานต่อไปแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อผู้มีสิทธิจะได้รับคืนร้องขอ ให้ศาลมีคำสั่งคืนเอกสารหรือวัตถุนั้นแก่ผู้ขอ
มาตรา ๑๐๒ ให้ศาลที่พิจารณาคดีเป็นผู้สืบพยานหลักฐาน โดยจะสืบในศาลหรือนอกศาล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ แล้วแต่ศาลจะสั่งตามที่เห็นสมควรตามความจำเป็นแห่งสภาพของพยานหลักฐานนั้น
แต่ถ้าศาลที่พิจารณาคดีเห็นเป็นการจำเป็น ให้มีอำนาจมอบให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลนั้น หรือตั้งให้ศาลอื่นสืบพยานหลักฐานแทนได้ ให้ผู้พิพากษาที่รับมอบหรือศาลที่ได้รับแต่งตั้งนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับศาลที่พิจารณาคดีรวมทั้งอำนาจที่จะมอบให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลนั้นหรือตั้งศาลอื่นให้ทำการสืบพยานหลักฐานแทนต่อไปด้วย
ถ้าศาลที่พิจารณาคดีได้แต่งตั้งให้ศาลอื่นสืบพยานแทน คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแถลงต่อศาลที่พิจารณาคดีว่า ตนมีความจำนงจะไปฟังการพิจารณาก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลที่ได้รับแต่งตั้งแจ้งวันกำหนดสืบพยานหลักฐานให้ผู้ขอทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเจ็ดวัน คู่ความที่ไปฟังการพิจารณานั้นชอบที่จะใช้สิทธิได้เสมือนหนึ่งว่ากระบวนพิจารณานั้นได้ดำเนินในศาลที่พิจารณาคดี
ให้ส่งสำเนาคำฟ้องและคำให้การพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานอื่น ๆ อันจำเป็นเพื่อสืบพยานหลักฐานไปยังศาลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานนั้นมิได้แถลงความจำนงที่จะไปฟังการพิจารณา ก็ให้แจ้งไปให้ศาลที่ได้รับแต่งตั้งทราบข้อประเด็นที่จะสืบ เมื่อได้สืบพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของศาลที่รับแต่งตั้งจะต้องส่งรายงานที่จำเป็นและเอกสารอื่น ๆ ทั้งหมดอันเกี่ยวข้องในการสืบพยานหลักฐานไปยังศาลที่พิจารณาคดี
มาตรา ๑๐๓ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการขาดนัด การร้องสอด และการขับไล่ออกนอกศาล ห้ามมิให้ศาลที่พิจารณาคดี หรือผู้พิพากษาที่รับมอบหมาย หรือศาลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวข้างต้นทำการสืบพยานหลักฐานใด โดยมิได้ให้โอกาสเต็มที่แก่คู่ความทุกฝ่ายในอันที่จะมาฟังการพิจารณา และใช้สิทธิเกี่ยวด้วยกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ ไม่ว่าพยานหลักฐานนั้นคู่ความฝ่ายใดจะเป็นผู้อ้างอิงหรือศาลเป็นผู้สั่งให้สืบ
มาตรา ๑๐๓/๑๑๔ ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน และศาลเห็นเป็นการจำเป็นและสมควร ศาลอาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานศาลหรือเจ้าพนักงานอื่นซึ่งคู่ความเห็นชอบให้ทำการสืบพยานหลักฐานส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะต้องกระทำนอกศาลแทนได้
ให้เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและให้นำความในมาตรา ๑๐๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๐๓/๒๑๕ คู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจร้องขอต่อศาลให้ดำเนินการสืบพยานหลักฐานไปตามวิธีการที่คู่ความตกลงกัน ถ้าศาลเห็นสมควรเพื่อให้การสืบพยานหลักฐานเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และเที่ยงธรรม ศาลจะอนุญาตตามคำร้องขอนั้นก็ได้ เว้นแต่การสืบพยานหลักฐานนั้นจะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
มาตรา ๑๐๓/๓๑๖ เพื่อให้การสืบพยานหลักฐานเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการนำสืบพยานหลักฐานได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในกฎหมาย
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๑๐๔ ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอ ให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น
ในการวินิจฉัยว่าพยานบอกเล่าตามมาตรา ๙๕/๑ หรือบันทึกถ้อยคำที่ผู้ให้ถ้อยคำมิได้มาศาลตามมาตรา ๑๒๐/๑ วรรคสามและวรรคสี่ หรือบันทึกถ้อยคำตามมาตรา ๑๒๐/๒ จะมีน้ำหนักให้เชื่อได้หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังโดยคำนึงถึงสภาพ ลักษณะและแหล่งที่มาของพยานบอกเล่าหรือบันทึกถ้อยคำนั้นด้วย๑๗
มาตรา ๑๐๕ คู่ความฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยพยานหลักฐาน กระทำให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม หรือค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่ควรเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นนั้น ให้ถือว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอันไม่จำเป็นตามความหมายแห่งมาตรา ๑๖๖ และให้คู่ความฝ่ายที่ก่อให้เกิดขึ้นนั้นเป็นผู้ออกใช้ให้
๑ มาตรา ๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๒ มาตรา ๘๔/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๓ มาตรา ๘๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๘
๔ มาตรา ๘๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๕ มาตรา ๘๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๖ มาตรา ๙๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๘
๗ มาตรา ๙๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๘ มาตรา ๙๕/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๙ มาตรา ๑๐๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๓๕
๑๐ มาตรา ๑๐๐ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๑ มาตรา ๑๐๑ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๓๔
๑๒ มาตรา ๑๐๑/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๓ มาตรา ๑๐๑/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๔ มาตรา ๑๐๓/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๕ มาตรา ๑๐๓/๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๖ มาตรา ๑๐๓/๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐
๑๗ มาตรา ๑๐๔ วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๓) พ.ศ. ๒๕๕๐