หมวด ๑
หลักทั่วไป
-------------------------
มาตรา ๒๕๓๑ ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่เชื่อได้ แล้วแต่กรณี ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
ถ้าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามวรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เว้นแต่จำเลยจะขอให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป หรือมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลตามวรรคสอง
มาตรา ๒๕๓ ทวิ๒ ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษา ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา ๒๕๓ วรรคหนึ่ง จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้
ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คำร้องตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวน แล้วส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง
ให้นำความในมาตรา ๒๕๓ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับแก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลม
มาตรา ๒๕๔๓ ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย
(๒) ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย หรือมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย หรือมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(๓) ให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(๔) ให้จับกุมและกักขังจำเลยไว้ชั่วคราว
ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคำขอเช่นว่านี้
มาตรา ๒๕๕๔ ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา ๒๕๔ ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๑) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
(ก) จำเลยตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้พ้นจากอำนาจศาล หรือจะโอน ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลยหรือเพื่อจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ หรือ
(ข) มีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร
(๒) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๒) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
(ก) จำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิด การผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง
(ข) โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย
(ค) ทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยนั้นมีพฤติการณ์ว่าจะมีการกระทำให้เปลืองไปเปล่าหรือบุบสลายหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือ
(ง) มีเหตุตาม (๑) (ก) หรือ (ข)
(๓) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๓) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
(ก) เป็นที่เกรงว่าจำเลยจะดำเนินการให้มีการจดทะเบียน แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือ
(ข) มีเหตุตาม (๑) (ข)
(๔) ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๔) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า เพื่อที่จะประวิงหรือขัดขวางต่อการพิจารณาคดีหรือการบังคับตามคำบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จำเลย หรือเพื่อจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ
(ก) จำเลยซ่อนตัวเพื่อจะไม่รับหมายเรียกหรือคำสั่งของศาล
(ข) จำเลยได้ยักย้ายไปให้พ้นอำนาจศาลหรือซุกซ่อนเอกสารใด ๆ ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณา หรือทรัพย์สินที่พิพาท หรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นที่เกรงว่าจำเลยจะจำหน่ายหรือทำลายเอกสารหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือ
(ค) ปรากฏตามกิริยาหรือตามวิธีที่จำเลยประกอบการงานหรือการค้าของตนว่าจำเลยจะหลีกหนีหรือพอเห็นได้ว่าจะหลีกหนีไปให้พ้นอำนาจศาล
มาตรา ๒๕๖๕ ในกรณีที่ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๒) หรือ (๓) ถ้าศาลเห็นว่าหากให้โอกาสจำเลยคัดค้านก่อนจะไม่เสียหายแก่โจทก์ ก็ให้ศาลแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาพร้อมทั้งส่งสำเนาคำขอให้แก่จำเลยโดยทางเจ้าพนักงานศาล จำเลยจะเสนอข้อคัดค้านของตนในการที่ศาลนั่งพิจารณาคำขอนั้นก็ได้
มาตรา ๒๕๗๖ ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ ได้ภายในขอบเขตหรือโดยมีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควร
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๒) ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นให้จำเลยทราบ
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย ศาลจะกำหนดวิธีการโฆษณาตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันการฉ้อฉลก็ได้
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จดทะเบียน หรือมีคำสั่งให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือการเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทราบ และให้บุคคลดังกล่าวบันทึกคำสั่งของศาลไว้ในทะเบียน
ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก่อนที่ศาลจะออกหมายยึด หมายอายัด หมายห้ามชั่วคราว หมายจับ หรือคำสั่งใด ๆ ศาลจะสั่งให้ผู้ขอนำเงินหรือหาประกันตามจำนวนที่เห็นสมควรมาวางศาลเพื่อการชำระค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยอาจได้รับตามมาตรา ๒๖๓ ก็ได้
มาตรา ๒๕๘๗ คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๑) นั้น ให้บังคับจำเลยได้ทันทีแล้วแจ้งคำสั่งนั้นให้จำเลยทราบโดยไม่ชักช้าแต่จะใช้บังคับบุคคลภายนอก ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าได้รับโอนสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนการแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบมิได้
คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๒) นั้น ให้บังคับจำเลยได้ทันที ถึงแม้ว่าจำเลยจะยังมิได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นก็ตาม เว้นแต่ศาลจะได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้คำสั่งมีผลบังคับเมื่อจำเลยได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว
คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย นั้น ให้มีผลใช้บังคับได้ทันที ถึงแม้ว่านายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะยังมิได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นก็ตาม เว้นแต่ศาลจะได้พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นสมควรให้คำสั่งมีผลบังคับเมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว
คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) ที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องให้มีผลใช้บังคับแก่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งเช่นว่านั้นแล้ว
หมายจับจำเลยที่ศาลได้ออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๔) ให้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักร การกักขังตามหมายจับเช่นว่านี้ ห้ามมิให้กระทำเกินหกเดือนนับแต่วันจับ
มาตรา ๒๕๘ ทวิ๘ การที่จำเลยได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่พิพาท หรือทรัพย์สินของจำเลยภายหลังที่คำสั่งของศาลที่ห้ามโอน ขาย ยักย้าย หรือจำหน่าย ซึ่งออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๒) มีผลใช้บังคับแล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี และจำเลยได้จำหน่ายทรัพย์สินเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม
การที่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรับจดทะเบียนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยภายหลังที่คำสั่งของศาลซึ่งออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) มีผลใช้บังคับแล้วนั้นหาอาจใช้ยันแก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ เว้นแต่ผู้รับโอนจะพิสูจน์ได้ว่าได้รับโอนโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก่อนที่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะได้รับแจ้งคำสั่ง
การที่นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรับจดทะเบียน หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้องภายหลังที่บุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งคำสั่งของศาลซึ่งออกตามคำขอที่ได้ยื่นตามมาตรา ๒๕๔ (๓) แล้วนั้น ยังไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายในระหว่างใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา
มาตรา ๒๕๙๙ ให้นำบทบัญญัติในลักษณะ ๒ แห่งภาคนี้ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๒๖๐๑๐ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา
(๑) ถ้าคดีนั้นศาลตัดสินให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือบางส่วน คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวในส่วนที่จำเลยชนะคดีนั้น ให้ถือว่าเป็นอันยกเลิกเมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เว้นแต่โจทก์จะได้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงว่าตนประสงค์จะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้วิธีการชั่วคราวเช่นว่านั้นยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอของโจทก์ คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด ถ้าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้วิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป คำสั่งของศาลชั้นต้นให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกา แล้วแต่กรณี เมื่อมีการอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(๒) ถ้าคดีนั้นศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
มาตรา ๒๖๑๑๑ จำเลยหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้รับหมายยึด หมายอายัด หรือคำสั่งตามมาตรา ๒๕๔ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือจะต้องเสียหายเพราะหมายยึด หมายอายัด หรือคำสั่งดังกล่าว อาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมาย เพิกถอนคำสั่ง หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หมายยึด หรือหมายอายัด ซึ่งออกตามคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ถ้าบุคคลภายนอกเช่นว่านั้นขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดหรือคัดค้านคำสั่งอายัดให้นำมาตรา ๓๒๓ หรือมาตรา ๓๒๕ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม๑๒
จำเลยซึ่งถูกศาลออกคำสั่งจับกุมตามมาตรา ๒๕๔ (๔) อาจมีคำขอต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งถอนหมาย หรือให้ปล่อยตัวไปโดยไม่มีเงื่อนไขหรือให้ปล่อยตัวไปชั่วคราวโดยมีหลักประกันตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรหรือไม่ก็ได้
ถ้าปรากฏว่าวิธีการที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๒๕๔ นั้น ไม่มีเหตุเพียงพอหรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอหรือมีคำสั่งอื่นใดตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมก็ได้ ทั้งนี้ ศาลจะกำหนดให้ผู้ขอวางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่เห็นสมควรหรือจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ในกรณีที่เป็นการฟ้องเรียกเงิน ห้ามไม่ให้ศาลเรียกประกันเกินกว่าจำนวนเงินที่ฟ้องรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม
มาตรา ๒๖๒๑๓ ถ้าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอในวิธีการชั่วคราวอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อจำเลยหรือบุคคลภายนอกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๑ มีคำขอศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาจะมีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการเช่นว่านั้นเสียก็ได้
ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นและให้เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งคำขอเช่นว่านั้น
มาตรา ๒๖๓๑๔ ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอในวิธีการชั่วคราวตามลักษณะนี้ จำเลยซึ่งต้องถูกบังคับโดยวิธีการนั้นอาจยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาของศาลที่มีคำสั่งตามวิธีการชั่วคราวนั้น ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) คดีนั้นศาลตัดสินให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้ และปรากฏว่าศาลมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ขอมีมูล โดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอ
(๒) ไม่ว่าคดีนั้นศาลจะชี้ขาดตัดสินให้โจทก์ชนะหรือแพ้คดี ถ้าปรากฏว่าศาลมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่าวิธีการเช่นว่านี้มีเหตุผลเพียงพอ โดยความผิดหรือเลินเล่อของผู้ขอ
เมื่อได้รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ศาลมีอำนาจสั่งให้แยกการพิจารณาเป็นสำนวนต่างหากจากคดีเดิม และเมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วเห็นว่าคำขอนั้นรับฟังได้ก็ให้มีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จำเลยได้ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร ถ้าศาลที่มีคำสั่งตามวิธีการชั่วคราวเป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ว ให้ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เป็นผู้สั่งคำขอนั้น ถ้าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับโจทก์เสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม (๑) ให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์แพ้คดี
คำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ตามวรรคสอง ให้อุทธรณ์หรือฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์หรือฎีกา
มาตรา ๒๖๔๑๕ นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๓ และมาตรา ๒๕๔ คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เช่น ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก
คำขอตามวรรคหนึ่งให้บังคับตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๒๘ มาตรา ๒๖๐ และมาตรา ๒๖๒
มาตรา ๒๖๕๑๖ ในกรณีที่ศาลยอมรับเอาบุคคลเป็นประกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นแสดงกิริยาซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบ หรือจะหลีกเลี่ยง ขัดขวาง หรือกระทำให้เนิ่นช้าซึ่งการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน ให้นำบทบัญญัติแห่งหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
๑ มาตรา ๒๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๒ มาตรา ๒๕๓ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๓ มาตรา ๒๕๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๔ มาตรา ๒๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๕ มาตรา ๒๕๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๖ มาตรา ๒๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๗ มาตรา ๒๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๘ มาตรา ๒๕๘ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๙ มาตรา ๒๕๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๐ มาตรา ๒๖๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๑ มาตรา ๒๖๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๒ มาตรา ๒๖๑ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐
๑๓ มาตรา ๒๖๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๔ มาตรา ๒๖๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๕ มาตรา ๒๖๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๑๖ มาตรา ๒๖๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘