หมวด ๒
คำขอในเหตุฉุกเฉิน
-------------------------
มาตรา ๒๖๖๑ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเมื่อโจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา ๒๕๔ โจทก์จะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้าก็ได้
เมื่อได้ยื่นคำร้องเช่นว่ามานี้ วิธีพิจารณาและชี้ขาดคำขอนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๖๗ มาตรา ๒๖๘ และมาตรา ๒๖๙
มาตรา ๒๖๗๒ ให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน ถ้าเป็นที่พอใจจากคำแถลงของโจทก์หรือพยานหลักฐานที่โจทก์ได้นำมาสืบ หรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่าคดีนั้นเป็นคดีมีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริง ให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันที ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอ คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด
จำเลยอาจยื่นคำขอโดยพลัน ให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นเสีย และให้นำบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอคำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด
การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินหรือยกเลิกคำสั่งที่ได้ออกตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา ๒๕๔ นั้นใหม่
มาตรา ๒๖๘๓ ในกรณีที่มีคำขอในเหตุฉุกเฉิน ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าคดีนั้นมีเหตุฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนวิธีการที่ศาลจะกำหนดนั้น หากจำเป็นต้องเสื่อมเสียแก่สิทธิของคู่ความในประเด็นแห่งคดี ก็ให้เสื่อมเสียเท่าที่จำเป็นแก่กรณี
มาตรา ๒๖๙๔ คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ให้มีผลบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ และมาตรา ๒๕๘ ทวิ อนึ่ง ศาลจะสั่งให้โจทก์รอการบังคับไว้จนกว่าศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคำขอให้ยกเลิกคำสั่งหรือจนกว่าโจทก์จะได้วางประกันก็ได้
มาตรา ๒๗๐๕ บทบัญญัติในหมวดนี้ ให้ใช้บังคับแก่คำขออื่น ๆ นอกจากคำขอตามมาตรา ๒๕๔ ได้ต่อเมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง
๑ มาตรา ๒๖๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๒ มาตรา ๒๖๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๓ มาตรา ๒๖๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๔ มาตรา ๒๖๙ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘
๕ มาตรา ๒๗๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๓๘