หมวด ๖
ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรม
หรือข้อกำหนดพินัยกรรม
-------------------------
มาตรา ๑๗๐๐ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใด ๆ โดยนิติกรรมที่มีผลในระหว่างชีวิต หรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้ สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน
ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดังกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่าง ๆ ได้อยู่ในขณะที่การจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ
ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย
มาตรา ๑๗๐๑ ข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตราก่อนนั้นจะให้มีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ก็ได้
ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลธรรมดา ให้ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนมีระยะเวลาอยู่ตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์ แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นนิติบุคคล ให้มีระยะเวลาเพียงสามสิบปี
ถ้าได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้ กำหนดนั้นมิให้เกินสามสิบปี ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
มาตรา ๑๗๐๒ ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นอันไม่มีเลย
ข้อกำหนดห้ามโอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์พาหนะด้วย๑
มาตรา ๑๗๐๓ พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น เป็นโมฆะ
มาตรา ๑๗๐๔ พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่
มาตรา ๑๗๐๕ พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๕๒, ๑๖๕๓, ๑๖๕๖, ๑๖๕๗, ๑๖๕๘, ๑๖๖๐, ๑๖๖๑ หรือ ๑๖๖๓ ย่อมเป็นโมฆะ
มาตรา ๑๗๐๖ ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะ
(๑) ถ้าตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขาเองโดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม หรือแก่บุคคลภายนอก
(๒) ถ้ากำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจที่จะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม แต่ผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรมลักษณะเฉพาะนั้น อาจกำหนดโดยให้บุคคลใดคนหนึ่งเป็นผู้ระบุเลือกเอาจากบุคคลอื่นหลายคน หรือจากบุคคลอื่นหมู่ใดหมู่หนึ่ง ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมระบุไว้ก็ได้
(๓) ถ้าทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้ หรือถ้าให้บุคคลใดคนหนึ่งกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ
มาตรา ๑๗๐๗ ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่น ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย
มาตรา ๑๗๐๘ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่ก็ได้ แต่หากผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ต่อมาเกินหนึ่งปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมพ้นจากการข่มขู่แล้ว จะมีการร้องขอเช่นว่านั้นไม่ได้
มาตรา ๑๗๐๙ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลได้ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้นถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้น พินัยกรรมนั้นก็จะมิได้ทำขึ้น
ความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับ แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้น บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมได้ก่อขึ้น
แต่พินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมมิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น
มาตรา ๑๗๑๐ คดีฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดดังนี้
(๑) สามเดือนภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ในกรณีที่โจทก์รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมมีชีวิตอยู่ หรือ
(๒) สามเดือนภายหลังที่โจทก์ได้รู้เหตุเช่นนั้นในกรณีอื่นใด
แต่ถ้าโจทก์ไม่รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมอันกระทบกระทั่งถึงส่วนได้เสียของตน แม้ว่าโจทก์จะได้รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิกถอนได้ก็ดี อายุความสามเดือนให้เริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น
แต่อย่างไรก็ดี ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นสิบปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมตาย
๑ มาตรา ๑๗๐๒ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๔๘