หมวด ๓
องค์คณะผู้พิพากษา
-------------------------
มาตรา ๒๔ ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น
(๒) ออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี
มาตรา ๒๕ ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(๑) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
(๒) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(๓) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
(๔) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(๕) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (๓) (๔) หรือ (๕)
มาตรา ๒๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕ ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นนอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง
มาตรา ๒๗ ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค และผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้ว มีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้ และเฉพาะในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย
มาตรา ๒๘ ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(๑) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกา หรือรองประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย
(๒) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคซึ่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี มอบหมาย
(๓)๑ ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มอบหมาย
ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๓ มีอำนาจตาม (๑) (๒) และ (๓) ด้วย
มาตรา ๒๙ ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้ หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(๑) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา
(๒) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองประธานศาลอุทธรณ์ หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณี
(๓)๒ ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๓ มีอำนาจตาม (๑) (๒) และ (๓) ด้วย
มาตรา ๓๐ เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ หมายถึงกรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชกาจนไม่สามารถนั่งพิจารณาหรือทำคำพิพากษาในคดีนั้นได้
มาตรา ๓๑ เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐ แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา ๒๕ (๕)
(๒) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา ๒๕ (๕) แล้วเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว
(๓) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้นจะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้
(๔) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา ๒๕ (๔) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว
๑ มาตรา ๒๘ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕
๒ มาตรา ๒๙ (๓) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕