ส่วนที่ ๕
การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า
-------------------------
มาตรา ๖๘ เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตน สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้
สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่คำขอจดทะเบียนนั้นอย่างน้อยต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้
(๑) เงื่อนไขหรือขอกำหนดระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น และผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต ที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง
(๒) สินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น
มาตรา ๖๙ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๖๘ จะไม่เป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวโดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดใดเพื่อประโยชน์ดังกล่าวก็ได้ แต่ถ้านายทะเบียนเห็นว่าสัญญาอนุญาตดังกล่าวจะเป็นการทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าว
เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่นายทะเบียนได้มีคำสั่งรับจดทะเบียนโดยมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดหรือมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนให้แจ้งเหตุผลให้บุคคลดังกล่าวทราบด้วย
เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด๑
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสามให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗๐ การใช้เครื่องหมายการค้าโดยผู้ได้รับอนุญาตสำหรับสินค้าในการประกอบธุรกิจของตนตามที่ได้รับอนุญาตไว้ ให้ถือว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
มาตรา ๗๑ เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตอาจร่วมกันร้องขอต่อนายทะเบียนให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือในส่วนที่เกี่ยวกับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าได้กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตดังกล่าวได้ และให้นำมาตรา ๖๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๒ เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตอาจร่วมกันร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้
เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อาจร้องขอต่อนายทะเบียนให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า หากแสดงได้ว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนอาจร้องขอต่อคณะกรรมการให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าได้ หากแสดงได้ว่า
(๑) การใช้เครื่องหมายการค้าโดยผู้ได้รับอนุญาตนั้นทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบาย หรือ
(๒) เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นไม่อาจควบคุมคุณภาพของสินคาที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้อย่างแท้จริงอีกต่อไป
การขอเพิกถอนการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗๓ เมื่อได้รับคำร้องขอตามมาตรา ๗๒ วรรคสองหรือวรรคสาม ให้นายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นหรือผู้ได้รับอนุญาต แล้วแต่กรณี ทราบเพื่อยื่นคำชี้แจงของตนภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี
ในการพิจารณาคำร้องขอตามมาตรา ๗๑ หรือมาตรา ๗๒ นายทะเบียนหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี จะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือชี้แจงเพิ่มเติมก็ได้
มาตรา ๗๔ เมื่อนายทะเบียนได้มีคำสั่งตามมาตรา ๗๒ วรรคสองแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าและผู้ได้รับอนุญาตทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งดังกล่าวให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน
เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของนายทะเบียนเป็นที่สุด๒
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามวรรคสองให้เป็นที่สุด๓
มาตรา ๗๕ เมื่อคณะกรรมการได้มีคำสั่งตามมาตรา ๗๒ วรรคสามแล้วให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าผู้ได้รับอนุญาต ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเป็นผู้ร้องขอและนายทะเบียนทราบโดยไม่ชักช้า คำสั่งดังกล่าวให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ
ผู้มีส่วนได้เสียหรือนายทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากคณะกรรมการ ถ้าไม่อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคำสั่งของคณะกรรมการเป็นที่สุด
มาตรา ๗๖ ในกรณีที่มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นย่อมสิ้นผลไปด้วย
มาตรา ๗๗ ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นเสียเองหรือจะอนุญาตให้บุคคลอื่นนอกจากผู้ได้รับอนุญาตใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกก็ได้
มาตรา ๗๘ ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้ทั่วประเทศสำหรับสินค้าทั้งหมดที่ได้จดทะเบียนไว้ตลอดอายุการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น รวมทั้งในกรณีที่มีการต่ออายุการจดทะเบียนด้วย
มาตรา ๗๙ ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนการอนุญาตตามสัญญาดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้และจะอนุญาตช่วงให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นอีกทอดหนึ่งก็ไม่ได้
มาตรา ๗๙/๑๔ ในกรณีที่สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุการโอนหรือการรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่มีการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น
๑ มาตรา ๖๙ วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
๒ มาตรา ๗๔ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙
๓ มาตรา ๗๔ วรรคสาม เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓
๔ มาตรา ๗๙/๑ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙