พระราชบัญญัติ
การรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
พ.ศ. ๒๕๕๗
-------------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับขนคนโดยสารระหว่างประเทศ
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๗”
มาตรา ๒๑ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“คนโดยสาร” หมายความว่า บุคคลซึ่งผู้ขนส่งได้ทำการขนส่งตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
“ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับที่จะทำการขนส่งคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศเป็นทางค้าปกติของตน ไม่ว่าจะมีสัมภาระหรือไม่ก็ตาม
“การเดินทาง” หมายความว่า การเดินทางของคนโดยสารโดยรถจากจุดต้นทางไปยังจุดปลายทางตามที่กำหนดในสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงการขึ้นหรือลงรถในระหว่างการเดินทางนั้นด้วย
“รถ” หมายความว่า รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
“ล่าช้า” หมายความว่า
(๑) การถึงจุดปลายทางช้ากว่ากำหนดเวลา ในกรณีที่มีการตกลงกำหนดเวลาไว้
(๒) การถึงจุดปลายทางช้ากว่ากำหนดเวลาอันควรตามหน้าที่อันพึงปฏิบัติได้ของผู้ขนส่งในพฤติการณ์เดียวกัน ในกรณีที่ไม่มีการตกลงกำหนดเวลาไว้
“สัมภาระ” หมายความว่า สัมภาระติดตัวและสัมภาระลงทะเบียน
“สัมภาระติดตัว” หมายความว่า สัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารระหว่างการเดินทางและให้หมายความรวมถึงของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวคนโดยสารด้วย
“สัมภาระลงทะเบียน” หมายความว่า สัมภาระที่คนโดยสารส่งมอบให้ผู้ขนส่งดูแล
“ข้อสงวน” หมายความว่า ข้อความเกี่ยวกับสภาพของสัมภาระลงทะเบียนว่าอยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อยซึ่งผู้ขนส่งได้ระบุไว้ในใบรับสัมภาระลงทะเบียนในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนหรือข้อความที่คนโดยสารมีหนังสือแจ้งผู้ขนส่งในเวลาที่คนโดยสารได้รับมอบสัมภาระลงทะเบียนนั้นคืนว่ามีจำนวนไม่ครบหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี
“หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน” หมายความว่า หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินตามกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจและกำหนดการปฏิบัติบางประการเกี่ยวกับสิทธิพิเศษถอนเงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่สัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศ
ในกรณีที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของการเดินทางมีการใช้การขนส่งรูปแบบอื่นในการขนส่งคนโดยสารและสัมภาระ ความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนโดยสารหรือสัมภาระในระหว่างการใช้การขนส่งรูปแบบอื่น ให้ผู้ขนส่งรับผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งรูปแบบอื่นนั้น
ในกรณีที่การเดินทางตามสัญญารับขนคนโดยสารทางถนนระหว่างประเทศต้องหยุดลงด้วยเหตุใดก่อนถึงจุดปลายทาง ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่การขนส่งนั้นด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจุดที่หยุดลงนั้นจะอยู่ภายในประเทศต้นทางหรือประเทศอื่น
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๘๒ ก/หน้า ๑/๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๗