ส่วนที่ ๘
การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ
-------------------------
มาตรา ๙๐/๕๖ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนต่อศาลโดยเร็วเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลกำหนดวันพิจารณาแผนเป็นการด่วน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ผู้ทำแผนลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
มาตรา ๙๐/๕๗ ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผนรวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา ๙๐/๓๐ ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน
มาตรา ๙๐/๕๘๑ ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า
(๑) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒
(๒) ข้อเสนอในการชำระหนี้ไม่ขัดต่อมาตรา ๙๐/๔๒ ตรี และในกรณีที่มติยอมรับแผนเป็นมติตามมาตรา ๙๐/๔๖ (๒) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม และ
(๓) เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ในกรณีที่แผนมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒ ให้ศาลสอบถามผู้ทำแผน ถ้าศาลเห็นว่ารายการในแผนที่ขาดไปนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้ถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๔๒
ถ้าศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลนัดพิจารณาว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๙๐/๔๘ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙๐/๕๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๙๐/๔๒ และมาตรา ๙๐/๖๔ เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ให้ศาลแจ้งคำสั่งนั้นแก่ผู้บริหารแผนและผู้ทำแผนโดยไม่ชักช้า ให้บรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนตกเป็นของผู้บริหารแผนตั้งแต่ผู้บริหารแผนได้ทราบคำสั่งศาล
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ และมาตรา ๙๐/๒๑ วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) (๔) (๕) หรือ (๖) ให้ศาลแจ้งคำสั่งแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๙๐/๔ (๖) แล้วแต่กรณีด้วย และห้ามมิให้ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นมีคำสั่งใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ
๑ มาตรา ๙๐/๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒