ส่วนที่ ๒
การขอให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน
-------------------------
มาตรา ๙๐/๙๒๑ เมื่อลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกัน โดยลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาท และลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนไม่น้อยกว่าสามล้านบาทแต่ไม่ถึงสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนได้
ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้
(๑) ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน
(๒) ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วยังไม่ชำระหนี้ภายในเวลาสามสิบวัน
(๓) ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้ร้องขอบังคับคดีแก่ลูกหนี้แล้วไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้
(๔) ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่ง และมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ผิดนัดหรืออาจจะผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ
(๕) ลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้
มาตรา ๙๐/๙๓๒ บุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนได้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) เจ้าหนี้ในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้แน่นอนตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง
(๒) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง
มาตรา ๙๐/๙๔๓ บุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ จะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
(๒) ศาลหรือนายทะเบียนได้มีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่
(๓) ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามความในหมวดนี้ ภายในระยะเวลาหกเดือนก่อนยื่นคำร้องขอ
มาตรา ๙๐/๙๕๔ คำร้องขอของบุคคลตามมาตรา ๙๐/๙๓ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง
(๑) การที่ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้
(๒) รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ และมีจำนวนหนี้แน่นอนตามมาตรา ๙๐/๙๒ วรรคหนึ่ง รวมทั้งรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย
(๓) เหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ
ผู้ร้องขอจะต้องแนบแผน พร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบในแผนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด
มาตรา ๙๐/๙๖๕ ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้ เป็นอย่างน้อย
(๑) เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ
(๒) รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ยื่นคำร้องขอ
(๓) หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ
(ก) ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ
(ข) การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้โดยสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
(ค) การลดทุนและเพิ่มทุน
(ง) การก่อหนี้และระดมเงินทุน รวมตลอดถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุนดังกล่าว
(จ) การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้
(ฉ) เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด
(๔) การไถ่ถอนหลักประกัน ในกรณีที่มีเจ้าหนี้มีประกัน และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
(๕) แนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน
(๖) วิธีปฏิบัติในกรณีที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องหรือโอนหนี้
(๗) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน
(๘) การแต่งตั้งและการพ้นตำแหน่งของผู้บริหารแผน
(๙) ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินสามปี
(๑๐) การไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญา ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้
มาตรา ๙๐/๙๗๖ ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องชำระค่าขึ้นศาลหนึ่งพันบาท และต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องขอต้องรับผิดชอบในการขอฟื้นฟูกิจการไว้ต่อศาลเป็นจำนวนหนึ่งหมื่นบาทในขณะยื่นคำร้องขอ หรือตามจำนวนที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้
ในกรณีที่ผู้ร้องขอไม่ยอมวางเงินประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ ให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
มาตรา ๙๐/๙๘๗ ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายหนึ่งฉบับ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
๑ มาตรา ๙๐/๙๒ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
๒ มาตรา ๙๐/๙๓ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
๓ มาตรา ๙๐/๙๔ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
๔ มาตรา ๙๐/๙๕ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
๕ มาตรา ๙๐/๙๖ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
๖ มาตรา ๙๐/๙๗ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙
๗ มาตรา ๙๐/๙๘ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๕๙