My Template

ส่วนที่ ๑ ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี (มาตรา ๒๗๑)

 

ส่วนที่ ๑
ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี

-------------------------

               มาตรา ๒๗๑  ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา ๒๗๖ และมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือทำคำสั่งในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
               ถ้าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้ส่งคดีไปยังศาลชั้นต้นแห่งอื่นที่มิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์หรือฎีกานั้นเพื่อการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามมาตรา ๒๔๓ (๒) และ (๓) ให้ศาลที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นั้นเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี เว้นแต่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
               ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีนอกเขตศาล ให้ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีมีอำนาจตั้งให้ศาลอื่นบังคับคดีแทนได้ หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำแถลงหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนทราบพร้อมด้วยสำเนาหมายบังคับคดีหรือสำเนาคำสั่งกำหนดวิธีการบังคับคดี ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลดังกล่าวแจ้งให้ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีทราบโดยไม่ชักช้า และให้ศาลที่จะมีการบังคับคดีแทนตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไป
               ถ้าเป็นการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้อง ให้ศาลที่บังคับคดีแทนส่งทรัพย์สินที่ได้จากการยึดหรืออายัดหรือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี ไปยังศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเพื่อดำเนินการไปตามกฎหมาย
               ในกรณีที่มีการบังคับคดีนอกเขตศาลโดยบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ศาลที่บังคับคดีแทนมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับคดีใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้น รวมถึงดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องได้ เว้นแต่เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นและแจ้งผลการบังคับคดีไปยังศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีแล้ว ให้เป็นอำนาจของศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีเท่านั้น


               มาตรา ๒๗๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๖๐