หมวด ๑
บททั่วไป
-------------------------
การตีความ
ข้อ ๔ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีแรงงานเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม หากมีกรณีต้องตีความหรือปรับใช้ตัวบทกฎหมาย อำนาจศาล สัญญาหรือข้อตกลงใด ให้ตีความหรือปรับใช้โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองแรงงาน สวัสดิภาพ แรงงาน แรงงานสัมพันธ์ การสร้างความเป็นธรรมในสังคมด้านแรงงาน ตลอดจนการส่งเสริมการผลิต การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศเป็นประการสำคัญด้วย
การติดต่อสื่อสาร
ข้อ ๕ การติดต่อระหว่างศาลแรงงานหรือกับศาลอื่น หรือระหว่างศาลแรงงานกับคู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องในคดี ศาลแรงงานอาจกระทำโดยทางโทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์หรือทางเจ้าพนักงานศาลก็ได้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความเหมาะสมแก่ลักษณะเนื้อหาของเรื่องที่ทำการติดต่อ รวมทั้งจำนวนและลักษณะของเอกสารหรือวัตถุอื่นที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง
ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลแรงงานอาจสั่งให้คู่ความที่ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรกำหนด เว้นแต่ข้อที่ไม่ถูกต้องนั้นจะเกิดจากความจงใจหรือละเลยเพิกเฉยของคู่ความฝ่ายนั้นและทำให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ
การดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่คู่ความตกลงกัน
ข้อ ๗ คู่ความอาจขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่คู่ความตกลงกัน ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลจะอนุญาตตามคำขอนั้นก็ได้ เว้นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่คู่ความร้องขอเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน