My Template

เหตุผลในการประกาศใช้

 

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้จัดตั้งศาลปกครองขึ้น เพื่อให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อพิพาททางกฎหมายปกครองระหว่างเอกชนกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน เกี่ยวกับการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง การกระทำละเมิดในทางปกครอง หรือการทำสัญญาทางปกครอง อันเป็นเรื่องของกฎหมายมหาชน และโดยที่ระบบการพิจารณาและพิพากษาคดีจำเป็นต้องมีกระบวนการเป็นพิเศษต่างจากคดีปกติทั่ว ๆ ไป เพราะผลแห่งคำพิพากษาอาจกระทบถึงการบริหารราชการแผ่นดิน หรือต้องจ่ายเงินภาษีอากรของส่วนรวมเป็นค่าชดเชยหรือค่าเสียหายแก่เอกชน ในขณะเดียวกันเอกชนจะอยู่ในฐานะเสียเปรียบที่ไม่อาจทราบข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐได้ ในการพิจารณาจึงจำเป็นต้องใช้ระบบไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงที่แท้จริง และต้องมีตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และประชาชนทั่วไปซึ่งจะถูกกระทบในทางใดทางหนึ่งจากคำพิพากษาของศาลปกครอง รวมทั้งต้องมีหน่วยงานธุรการของศาลปกครองที่เป็นอิสระ ฉะนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งต่าง ๆ โดยเทียบเคียงกับอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมในระดับเดียวกันและเนื่องด้วยได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมให้รับในอัตราใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ สมควรปรับปรุงอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองให้เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการฟ้องคดีปกครองที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หรือ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คู่กรณีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทำให้เป็นภาระแก่คู่กรณีที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือทำให้ได้รับความเดือนร้อนเกินสมควรถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ดังนั้น สมควรกำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาอนุญาตการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ ประกอบกับคดีดังกล่าว มีลักษณะเดียวกับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สมควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องคดีปกครองให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๘

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตุลาการศาลปกครองเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละสาม ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ และปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละห้า ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ และกำหนดให้ตุลาการศาลปกครองมีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับข้าราชการประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการปรับอัตราเงินเดือนตุลาการศาลปกครองเพิ่มเป็นร้อยละเท่ากันทุกอัตราและไม่เกินร้อยละสิบของอัตราที่ใช้บังคับอยู่ สมควรกำหนดให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เมื่อศาลปกครองได้เปิดทำการแล้วทำให้มีการแยกสัญญาทางปกครองออกจากสัญญาทางแพ่งนับว่ามีผลความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดี กฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติที่จะนำมาใช้ในคดีนั้น สัญญาทางปกครองจึงเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่แม้แต่นักกฎหมายยังถกเถียงเพื่อค้นหาความหมาย แนวทางที่เหมาะสมหรือควรจะเป็นในแต่ละปีหน่วยงานของรัฐได้ทำสัญญากับเอกชนหรือกับหน่วยงานของรัฐด้วยกันในกิจกรรมที่หลากหลายตั้งแต่กิจกรรมขนาดเล็กจนถึงโครงการขนาดใหญ่ เช่น สัญญาจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารถนนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ สัญญาสัมปทาน ฯลฯ หากนับรวมมูลค่าตามสัญญาเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก แต่เนื่องจากการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ยื่นฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีซึ่งเดิมสัญญาดังกล่าวมีอายุความถึงสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อได้มีการตีความสัญญาโดยศาลปกครองหรือคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเป็นสัญญาประเภทใด หากตีความว่าเป็นสัญญาทางปกครองจะทำให้กำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดีลดเหลือเพียงหนึ่งปี เป็นเหตุให้ระยะเวลาฟ้องคดีสั้นลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สมควรแก้ไขระยะเวลาฟ้องคดีดังกล่าวให้ยาวขึ้น นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีปัญหาการตีความความหมายของเรื่องประโยชน์แก่ส่วนรวม จึงเห็นควรบัญญัติเรื่องนี้ไว้ในบทนิยาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้กฎหมายยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันปริมาณคดีปกครองประเภทที่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนให้ทันต่อการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่คู่กรณีหรือเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เช่น คดีเกี่ยวกับการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ และการแต่งตั้งข้าราชการในหน่วยงานทางปกครอง เป็นต้น ซึ่งหากให้คดีปกครองประเภทดังกล่าวดำเนินการตามขั้นตอนและมีผู้รับผิดชอบเช่นเดียวกับคดีปกครองทั่วไป อาจเป็นผลทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนมีความล่าช้า สมควรเพิ่มอำนาจในการจัดตั้งแผนกหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด หรือศาลปกครองชั้นต้น และกำหนดตำแหน่งตุลาการศาลปกครองที่เรียกชื่ออย่างอื่น เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยเฉพาะ อีกทั้งเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเหมาะสมกับการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนตุลาการศาลปกครองให้สอดคล้องกับหลักการและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๗

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่องค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองที่ผ่านมาได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สมควรกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๙

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการดำเนินการบังคับคดีปกครองยังมีข้อขัดข้อง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการดำเนินการบังคับคดีปกครองให้ครอบคลุมคดีปกครองทุกประเภท ซึ่งคดีปกครองมีลักษณะเฉพาะไม่สามารถนำหลักการของการบังคับคดีแพ่งมาใช้ในการดำเนินการบังคับคดีให้มีประสิทธิภาพในทุกกรณีได้ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ตลอดจนมาตรการที่จะบังคับให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาอันสมควร อีกทั้งสมควรกำหนดให้ในกรณีที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น คู่กรณีฝ่ายชนะคดีในคดีที่กำหนดอาจยื่นคำขอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี เพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำบังคับได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องรอการปฏิบัติตามคำพิพากษาในระหว่างการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๕๖๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น การเลื่อนตุลาการศาลปกครองชั้นต้นซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้เพื่อคงความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความชำนาญในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีปกครองวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดโดยให้มีวาระสี่ปี การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการบริหารราชการของศาลปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริหารงานทั่วไป งบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของศาลปกครอง รวมทั้งงานธุรการของสำนักงานศาลปกครองให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และประเพณีปฏิบัติของทางราชการศาลปกครอง เพื่อให้การบริหารราชการศาลปกครองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยยิ่งขึ้น และปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดเรื่องการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและการดำเนินการทางวินัยแก่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๖๑๑๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๙๐ บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ตุลาการพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตายหรือเกษียณอายุ พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ มาตรา ๑๙๘ บัญญัติให้การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการในศาลปกครองไม่เกินสองคน บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา ๒๓๑ บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีกฎ คำสั่ง หรือการกระทำใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๑๘๘ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี สมควรกำหนดความคุ้มครองตุลาการในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งได้กระทำโดยสุจริต นอกจากนั้นสมควรปรับปรุงการพิจารณาพิพากษาคดีและการบริหารจัดการคดีของศาลปกครองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยกำหนดให้สามารถยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ สื่อดิจิทัลอื่นใด หรือโทรสาร เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้โดยง่าย สะดวกรวดเร็ว และทั่วถึง รวมทั้งกำหนดกระบวนพิจารณาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบการประชุมทางจอภาพ ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนพิจารณาในการพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล การนั่งพิจารณาคดีในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และการไม่จัดให้มีการนั่งพิจารณาคดีสำหรับคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๖๑๑๑

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตุลาการศาลปกครองเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกำหนดให้ถือว่าเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตุลาการศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งตุลาการศาลปกครองได้รับไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมาจนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่ได้รับการปรับเพิ่มตามบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตุลาการศาลปกครอง และให้การได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวในกรณีนั้นสิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๖๑๑๒

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้การบริหารจัดการคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้คู่กรณีมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาททางปกครองได้อีกทางหนึ่ง สมควรเพิ่มบทบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ข้อพิพาททางปกครองยุติลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยความสมัครใจของคู่กรณี และรักษาไว้ซึ่งสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมให้การบริหารจัดการคดีของศาลปกครองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๔๑๓

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้การบริหารจัดการคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสและส่งเสริมให้คู่กรณีมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาททางปกครองได้อีกทางหนึ่ง สมควรเพิ่มบทบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ข้อพิพาททางปกครองยุติลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยความสมัครใจของคู่กรณี และรักษาไว้ซึ่งสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมให้การบริหารจัดการคดีของศาลปกครองมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๖๔๑๔

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศาลปกครองในการออกระเบียบเกี่ยวกับเงินค่าตอบแทนพิเศษและสิทธิและประโยชน์อื่นของข้าราชการตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง และพนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง อันจะเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งในการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองแก่บุคลากรของศาลปกครอง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖/ตอนที่ ๙๔ ก/หน้า ๑/๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๒
                ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๑/๓๑ มีนาคม ๒๕๔๕
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒/ตอนที่ ๑๔ ก/หน้า ๒๖/๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๔๖ ก/หน้า ๑๑/๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕/ตอนที่ ๓๙ ก/หน้า ๑/๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๘/ตอนที่ ๒๙ ก/หน้า ๑/๒๗ เมษายน ๒๕๕๔
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๑/ตอนที่ ๗๙ ก/หน้า ๔/๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓/ตอนที่ ๓๖ ก/หน้า ๑/๒๖ เมษายน ๒๕๕๙
               ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๙๘ ก/หน้า ๕/๒๖ กันยายน ๒๕๖๐
               ๑๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๙๗ ก/หน้า ๖/๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
               ๑๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕/ตอนที่ ๑๑๒ ก/หน้า ๘/๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑
               ๑๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๕๖ ก/หน้า ๒๔๗/๓๐ เมษายน ๒๕๖๒
               ๑๓ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๑๑ ก/หน้า ๑๐/๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
               ๑๔ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘/ตอนที่ ๓๕ ก/หน้า ๔/๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔