My Template

หมวด ๓ สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ (มาตรา ๑๕ - ๓๔)

 

หมวด ๓
สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

-------------------------

               มาตรา ๑๕  สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จะจัดตั้งได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และมีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่

               มาตรา ๑๖  การขอจดทะเบียนสมาคมให้เจ้าของที่ดินที่จะเป็นสมาชิกของสมาคมเลือกตั้งคณะผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมขึ้นไม่น้อยกว่าสามคนยื่นคำขอจดทะเบียนต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
               (๑) บัญชีรายชื่อของผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสมาคมพร้อมทั้งจำนวนที่ดินของบุคคลดังกล่าวและจำนวนที่ดินที่จะดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
               (๒) ร่างข้อบังคับของสมาคมสองฉบับ
               (๓) เอกสารอื่นตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด

               มาตรา ๑๗  ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียน และให้มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนสมาคมได้

               มาตรา ๑๘  ข้อบังคับของสมาคมอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ชื่อสมาคม
               (๒) วัตถุประสงค์ของสมาคม
               (๓) ที่ตั้งสำนักงาน
               (๔) คุณสมบัติของสมาชิก วิธีรับสมาชิก และการขาดจากสมาชิกภาพ
               (๕) อัตราค่าสมัครและค่าบำรุง
               (๖) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินงาน การบัญชี และการเงินของสมาคม
               (๗) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประชุมใหญ่
               (๘) ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของสมาคม ได้แก่ จำนวนกรรมการ การเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมคณะกรรมการของสมาคม
               (๙) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้จัดการ
               (๑๐) การแก้ไขข้อบังคับ และการเลิกสมาคม

               มาตรา ๑๙  ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดพิจารณาคำขอจดทะเบียนและร่างข้อบังคับ หากเห็นว่าคำขอนั้นถูกต้องตามมาตรา ๑๖ และร่างข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา ๑๘ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดรับจดทะเบียนสมาคม และออกใบสำคัญรับจดทะเบียนให้แก่สมาคมนั้น และให้ประกาศการจดทะเบียนสมาคมในราชกิจจานุเบกษา
               ในกรณีที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดไม่รับจดทะเบียนสมาคม ให้แจ้งคำสั่งพร้อมทั้งเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนเป็นหนังสือไปยังผู้ยื่นคำขอโดยไม่ชักช้า ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อคณะกรรมการ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่รับจดทะเบียน
               ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์พร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้อุทธรณ์และคณะกรรมการส่วนจังหวัดทราบโดยไม่ชักช้า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
               การจัดตั้งสมาคมให้มีผลเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

               มาตรา ๒๐  ให้สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และให้ถือว่าผู้ลงชื่อขอจดทะเบียนสมาคมและผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๑๖ (๑) เป็นสมาชิกของสมาคมนับแต่วันที่จัดตั้งสมาคม
               ในกรณีที่มีเจ้าของที่ดินหรือบุคคลอื่นสมัครเป็นสมาชิกสมาคมเพิ่มขึ้นภายหลังที่สมาคมได้จัดตั้งแล้ว ให้ถือว่าเป็นสมาชิกเมื่อได้ชำระค่าสมัครและค่าบำรุงตามมาตรา ๑๘ (๕) แล้ว และให้สมาคมแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดทราบ

               มาตรา ๒๑  ให้คณะผู้เริ่มก่อตั้งสมาคมจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในสามสิบวันนับแต่วันที่จัดตั้งสมาคม เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการ และมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการของสมาคม
               การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมนั้น

               มาตรา ๒๒  ให้มีคณะกรรมการของสมาคมประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการของสมาคมจะมอบให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้

               มาตรา ๒๓  ให้สมาคมรายงานกิจการ งบดุล บัญชีรายรับรายจ่ายซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้วต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นงวดการบัญชีและประกาศรายงานดังกล่าวโดยเปิดเผยให้สมาชิกทราบ

               มาตรา ๒๔  ให้ผู้ตรวจการสมาคมมีหน้าที่ตรวจสอบกิจการและการเงินของสมาคมตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด โดยให้เสนอรายงานการตรวจสอบต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัด

               มาตรา ๒๕  คณะกรรมการส่วนจังหวัด หรือผู้ตรวจการสมาคมมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการของสมาคม พนักงานสมาคม หรือสมาชิกสมาคม มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสมาคม หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงาน หรือรายงานการประชุมของสมาคมได้

               มาตรา ๒๖  เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดหรือผู้ตรวจการสมาคมมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสมาคมในระหว่างเวลาทำการของสมาคมได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติการตามสมควร

               มาตรา ๒๗  ในกรณีที่กรรมการสมาคม ผู้จัดการ หรือพนักงานสมาคมทำให้สมาคมเสียหาย ถ้าสมาคมไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดี คณะกรรมการส่วนจังหวัดอาจมีคำสั่งให้ผู้ตรวจการสมาคมร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทน โดยให้พนักงานอัยการรับว่าต่างให้ก็ได้
               การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากจะต้องมีค่าใช้จ่ายให้ทดรองจ่ายจากเงินกองทุน
               ให้สมาคมชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ การฟ้องคดี หรือการว่าต่างให้แก่กองทุนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี

               มาตรา ๒๘  ถ้าที่ประชุมใหญ่ของสมาคมลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือข้อบังคับของสมาคม คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจสั่งเพิกถอนมตินั้นได้

               มาตรา ๒๙  ในกรณีที่คณะกรรมการของสมาคมกระทำการไม่ถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสมาคมหรือสมาชิก หรือสมาคมมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินหรือการบัญชีตามรายงานตามมาตรา ๒๓ หรือกิจการ หรือการเงินตามรายงานการตรวจสอบตามมาตรา ๒๔ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดแจ้งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการของสมาคมดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามวิธีการที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด พร้อมทั้งแจ้งให้สมาชิกของสมาคมทราบ
               คณะกรรมการของสมาคมจะต้องดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าไม่แก้ไขให้เสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร คณะกรรมการส่วนจังหวัดอาจมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คณะกรรมการของสมาคมออกจากตำแหน่งทั้งคณะหรือให้กรรมการสมาคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนั้นออกจากตำแหน่งกรรมการ
               (๒) ให้ระงับการปฏิบัติบางส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดข้อบกพร่องหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์ของสมาคมหรือสมาชิก
               (๓) ให้หยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้เสร็จตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนด

               มาตรา ๓๐  ในกรณีที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีคำสั่งให้คณะกรรมการของสมาคมออกจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือกรรมการบางคนออกจากตำแหน่งกรรมการตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง (๑) ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการของสมาคมขึ้นคณะหนึ่งหรือกรรมการใหม่แทนเป็นการชั่วคราว แล้วแต่กรณีทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๑  สมาคมย่อมเลิกด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
               (๑) ข้อบังคับของสมาคมกำหนดให้เลิก
               (๒) ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมได้ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกทั้งหมด
               (๓) สมาคมล้มละลาย
               (๔) คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีคำสั่งให้เลิกตามมาตรา ๓๒
               การเลิกสมาคมตาม (๒) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่วนจังหวัดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

               มาตรา ๓๒  คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจมีคำสั่งให้เลิกสมาคมได้เมื่อปรากฏว่า
               (๑) สมาคมไม่เริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันจัดตั้งสมาคมหรือหยุดดำเนินการติดต่อกันตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป หรือ
               (๒) การดำเนินการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ

               มาตรา ๓๓  การชำระบัญชีสมาคมนั้น ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีเลิกห้างหุ้นส่วนและบริษัทมาใช้บังคับโดยอนุโลมทรัพย์สินของสมาคมส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้ให้แบ่งเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสมาคม ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้ตกเป็นทรัพย์สินของกองทุน

               มาตรา ๓๔  ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดประกาศการเลิกสมาคมในราชกิจจานุเบกษา