My Template

หมวด ๒ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (มาตรา ๔ - ๑๑)

 

หมวด ๒
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

-------------------------

               มาตรา ๔  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ป.ป.ส.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เลขาธิการ อย. และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการโดยตําแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสามคน
               ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่งตั้งข้าราชการในสํานักงาน ป.ป.ส. จํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
               เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ส. คณะกรรมการ ป.ป.ส. อาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งสําหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น

               มาตรา ๕  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) เสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๓ รวมทั้งดําเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว แล้วรายงานผลการดําเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
               (๒) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุน และเร่งรัดการดําเนินการของคณะกรรมการที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อให้มีการดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๓) ให้คําแนะนําหรือข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการ ตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
               (๔) ให้ความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่ายาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใดและการเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตามมาตรา ๒๙ วรรคสอง
               (๕) กําหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองเพาะปลูก ผลิตและทดสอบ หรือเสพหรือครอบครองยาเสพติดตามมาตรา ๕๕
               (๖) กําหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการและกําหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าวตามมาตรา ๕๖
               (๗) วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการดําเนินการของกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามมาตรา ๘๙
               (๘) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการหรืองาน แผนงาน หรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๙) ควบคุม เร่งรัด และประสานงานในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอํานาจในการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม และการบังคับโทษตามประมวลกฎหมายนี้
               (๑๐) กําหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจําเป็นเร่งด่วน และกําหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมกับกําหนดให้มีกลไก โครงสร้าง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหาและให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ
               (๑๑) กํากับและติดตามการใช้งบประมาณของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๑๒) วางโครงการและดําเนินการ ตลอดจนสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดําเนินการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด
               (๑๓) สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
               (๑๔) ประสานงานและกํากับเกี่ยวกับการบําบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
               (๑๕) พิจารณาอนุมัติหรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เพื่อปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายนี้
               (๑๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ส.
               ให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานผลการดําเนินการตาม (๑) พร้อมด้วยข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทั้งนี้ รายงานผลการดําเนินการอย่างน้อยให้มีสาระสําคัญเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด การตรวจสอบทรัพย์สิน การบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการดําเนินการอื่นตามประมวลกฎหมายนี้

               มาตรา ๖  ในการพิจารณาเรื่องใด ๆ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ส. เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ส. มีมติเป็นประการใดแล้ว ให้มติของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ผูกพันหน่วยงานซึ่งมีผู้แทนร่วมเป็นกรรมการโดยตําแหน่งอยู่ด้วย แม้ว่าในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้นผู้แทนของหน่วยงานที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งจะมิได้เข้าร่วมพิจารณาวินิจฉัยก็ตาม ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันให้บันทึกความเห็นของกรรมการทุกฝ่ายไว้ให้ปรากฏในเรื่องนั้นด้วย
               ให้นําความในวรรคหนึ่งไปใช้บังคับแก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะกรรมการบําบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๗  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละสามปี
               เมื่อครบกําหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

               มาตรา ๘  นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
               (๑) ตาย
               (๒) ลาออก
               (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะเหตุบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
               (๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
               (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
               (๖) ได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
               (๗) ถูกสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอื่น

               มาตรา ๙  ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ ให้แต่งตั้งผู้อื่นดํารงตําแหน่งแทน เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน จะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้ และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตําแหน่งที่ว่างนั้นอยู่ในตําแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
               ในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่

               มาตรา ๑๐  การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
               ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               คณะกรรมการ ป.ป.ส. ต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละสี่ครั้ง

               มาตรา ๑๑  คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอํานาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. มอบหมายก็ได้
               การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นําความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม