หมวด ๒
ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก
-------------------------
มาตรา ๒๔ ในการดำเนินการเพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้มีคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน แนะนำ อำนวยความสะดวก และรายงานปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้
(๑) คณะกรรมการระดับประเทศ โดยให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการระดับประเทศ
(๒) คณะกรรมการระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่น และปลัดกรุงเทพมหานครสำหรับกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตจังหวัดซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัคร หรือมีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตจังหวัดนั้น จำนวนสองคนเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
(๓) คณะกรรมการระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จำนวนสามคน ผู้ทรงคุณวุฒิในเขตอำเภอซึ่งมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิได้เป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือเป็นผู้สมัคร หรือมีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตอำเภอนั้น จำนวนสองคนเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานหรือข้าราชการประจำอำเภอซึ่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่งตั้ง เป็นกรรมการและเลขานุการ
ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง การแต่งตั้ง และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการตาม (๒) และ (๓) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการจะกำหนดให้แต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานครตำแหน่งใดแทนหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดตาม (๒) และหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอตาม (๓) ก็ได้
ผู้เป็นกรรมการโดยตำแหน่งหรือหัวหน้าส่วนราชการหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐตาม (๒) หรือ (๓) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เป็นผู้มีบุพการี บุตร คู่สมรส หรือญาติ เป็นผู้สมัครรับเลือกในเขตจังหวัดหรืออำเภอนั้น
ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่า กรรมการตาม (๒) หรือ (๓) ผู้ใดมีกรณีตามวรรคสามหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอื่นหรือบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนได้ตามที่เห็นสมควร
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๒๕ ในการจัดให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้เลขาธิการเป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ให้กรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๒๔ (๒) เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด และให้กรรมการและเลขานุการตามมาตรา ๒๔ (๓) เป็นผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
มาตรา ๒๖ เมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ ให้ผู้อำนวยการการเลือกเป็นผู้ดำเนินการให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้และตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๗ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดหรืออำเภอ แล้วแต่กรณี ที่มีการเลือก ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดหรือผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอได้ ในการนี้ คณะกรรมการจะมอบอำนาจให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๔ (๒) และ (๓) เป็นผู้แต่งตั้งแทนคณะกรรมการก็ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
ในการเลือกทุกระดับ คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรดำเนินการหรือช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกได้
ในการเลือกระดับประเทศ ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศได้
การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๘ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่รับสมัครและสถานที่เลือกในเขตอำเภอ
(๒) จัดให้มีการรับสมัคร
(๓) ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร
(๔) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครตามมาตรา ๒๑
(๕) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัครทุกคนเพื่อให้ผู้สมัครตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก
(๖) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๗) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอ และส่งบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับเลือกพร้อมทั้งเอกสารหรือข้อมูลตาม (๕) ไปยังผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๘) บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๙) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
สถานที่เลือกต้องเป็นสถานที่ที่สามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก พร้อมทั้งให้มีป้ายหรือเครื่องหมายอื่นใดเพื่อแสดงขอบเขตบริเวณของสถานที่เลือกไว้ด้วย
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๒๙ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่เลือกในเขตจังหวัด
(๒) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอแยกเป็นรายกลุ่ม โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
(๓) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอเพื่อให้ผู้ได้รับเลือกได้ตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก ทั้งนี้ ให้ใช้เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ
(๔) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๕) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัด และส่งบัญชีรายชื่อของผู้ได้รับเลือกพร้อมทั้งเอกสารหรือข้อมูลตาม (๓) ไปยังผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ
(๖) บันทึกภาพและเสียงของกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๒๘ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๐ ในการดำเนินการให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีสถานที่เลือกในระดับประเทศ
(๒) จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับจังหวัดแยกเป็นรายกลุ่ม โดยอย่างน้อยต้องระบุอาชีพและอายุของผู้สมัคร และประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๓) จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของผู้ได้รับเลือกจากการเลือกระดับจังหวัดเพื่อให้ผู้ได้รับเลือกได้ตรวจสอบและใช้ประโยชน์ในการเลือก ทั้งนี้ ให้ใช้เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับมาจากผู้อำนวยการการเลือกระดับจังหวัด
(๔) ควบคุมการเลือก การนับคะแนน และการรายงานผลการนับคะแนนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
(๕) เสนอรายชื่อและคะแนนของแต่ละบุคคลในแต่ละกลุ่มต่อคณะกรรมการเพื่อประกาศผลการเลือก
(๖) บันทึกภาพและเสียงกระบวนการเลือกไว้เป็นหลักฐาน
(๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นอันเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามที่คณะกรรมการกำหนดหรือมอบหมาย
ให้นำความในมาตรา ๒๘ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๑ ให้ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดและในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก และพนักงานเจ้าหน้าที่ มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัดหรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำการอื่นใดอันเป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
กรรมการ เลขาธิการ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประธานและกรรมการในคณะกรรมการระดับจังหวัด หรือในคณะกรรมการระดับอำเภอ ผู้อำนวยการการเลือก หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการ หรือปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง