หมวด ๓ การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา ๔๗ - ๕๗)

 

หมวด ๓
การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

-------------------------

               มาตรา ๔๗  พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดในจังหวัดนั้น ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกําหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดเพื่อดําเนินการตามมาตรา ๕๐

               มาตรา ๔๘  การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทําบัญชีรายชื่อเพื่อส่งให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด โดยต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดมากกว่าหนึ่งตัวแทนในจังหวัดใด ให้พรรคการเมืองนั้นกําหนดว่าจะให้สาขาพรรคการเมืองสาขาใดหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดใดในจังหวัดนั้น เป็นสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดเพื่อดําเนินการตามมาตรา ๕๑
               คณะกรรมการจะกำหนดอัตราส่วนขั้นต่ำของผู้สมัครซึ่งเป็นชายและหญิงที่พรรคการเมืองจะต้องส่งลงสมัครรับเลือกตั้งก็ได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดไม่อาจส่งผู้สมัครตามอัตราส่วนดังกล่าวได้ ให้แจ้งเหตุผลให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
               การกำหนดอัตราส่วนตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมืองด้วย

               มาตรา ๔๙  ในการเลือกตั้งทั่วไป การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการสรรหาตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ เว้นแต่กรณีที่เป็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งแทนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ หรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งหรือกรณีผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามข้อบังคับ
               เมื่อมีกรณีต้องสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองจัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประกอบด้วยบุคคลและจำนวนตามที่กำหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทั้งนี้ จำนวนหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้เป็นไปตามข้อบังคับ แต่อย่างน้อยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๓ และให้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ ให้ได้ผู้ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม ตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำหนดในข้อบังคับ และตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๐และมาตรา ๕๑
               เพื่อประโยชน์ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง พรรคการเมืองใดจะดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้

               มาตรา ๕๐  การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คณะกรรมการสรรหากําหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป
               (๒) เมื่อพ้นกําหนดเวลารับสมัครตาม (๑) ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง แล้วส่งรายชื่อผู้สมัครให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
               (๓) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้รับรายชื่อผู้สมัครจากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดจัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด
               (๔) ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดส่งรายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) ให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาเสนอความคิดเห็น
               (๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อผู้สมัครของแต่ละเขตเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๓) และ (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเสนอให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง

               มาตรา ๕๑  การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำเนินการตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
               (๑) ให้คณะกรรมการสรรหากําาหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสมัครและการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป
               (๒) ให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด เสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา
               (๓) เมื่อพ้นกําหนดเวลารับสมัครและเสนอรายชื่อตาม (๑) แล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามและจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกินหนึ่งร้อยรายชื่อ โดยต้องคํานึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
               (๔) เมื่อสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดได้รับบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (๓) จากคณะกรรมการสรรหาแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด จัดการประชุมสมาชิกเพื่อรับฟังความคิดเห็นและให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาส่งมา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวทั้งที่ได้รับความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบพร้อมความคิดเห็นให้คณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาจัดทําบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมเสนอความคิดเห็น
               (๕) ให้คณะกรรมการสรรหาส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมความคิดเห็นตาม (๔) ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแล้วจัดลําดับตามที่เห็นว่าเหมาะสมเพื่อให้ได้บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
               เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก ในกรณีที่สมาชิกผู้ใดมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดที่ยังมิได้มีการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ให้สามารถใช้สิทธิการเป็นสมาชิกในจังหวัดใกล้เคียงที่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดตามที่กําหนดในข้อบังคับ

               มาตรา ๕๒  ให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑

               มาตรา ๕๓  (ยกเลิก)

               มาตรา ๕๔  ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับ หรือให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือก หรือเพื่อให้เสนอชื่อสมาชิกผู้ใดเข้ารับการเลือก ในการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑

               มาตรา ๕๕  ห้ามมิให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดยินยอมให้บุคคลใดที่มิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบในการดําเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑

               มาตรา ๕๖  ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาตามมาตรา ๕๐ หรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา ๕๑
               เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่งหรือส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว แม้ภายหลังจะปรากฏว่ามิได้มีการดำเนินการตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ แล้วแต่กรณี หรือดำเนินการไม่ครบถ้วน ไม่ทำให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไป แต่ถ้าคณะกรรมการทราบถึงการไม่ดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะต้องกล่าวโทษหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีเขตอำนาจเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

               มาตรา ๕๗  การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินการประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
               (๑) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ
               (๒) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
               (๓) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
               ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการสั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด


               มาตรา ๔๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๔๘ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๐ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๑ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๓ ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖
               มาตรา ๕๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖