ส่วนที่ ๑ บททั่วไป (มาตรา ๒๗ - ๔๐)

 

ส่วนที่ ๑
บททั่วไป

-------------------------

               มาตรา ๒๗  การพิจารณาคดีให้ใช้ระบบไต่สวนโดยให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประเภท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามรับฟังไว้โดยเฉพาะ ไม่ว่าการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นจะมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากขั้นตอน วิธีการ หรือกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าศาลได้ให้โอกาสแก่คู่กรณีในการนำสืบพยานหลักฐานหักล้างแล้ว ก็ให้ศาลรับฟังได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้นในคดีนั้น
               การพิจารณาของศาลต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และข้อกำหนดของศาล
               ในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำตลอดจนขอให้หน่วยงานของรัฐ หรือพนักงานสอบสวน ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้

               มาตรา ๒๘  นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ แต่ข้อกำหนดของศาลดังกล่าวต้องไม่สร้างขั้นตอนหรือก่อให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น

               มาตรา ๒๙  การพิจารณาคดีจะต้องกระทำ ณ ที่ทำการศาลในวันที่ศาลเปิดทำการและตามเวลาทำงานที่ศาลได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดของศาล แต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเป็นการจำเป็น ศาลจะมีคำสั่งกำหนดการพิจารณาคดี ณ สถานที่อื่น หรือในวัน หรือเวลาใด ๆ ก็ได้

               มาตรา ๓๐  การนับระยะเวลาที่มีวันเริ่มต้นและวันสุดท้าย ให้นับวันถัดไปเป็นวันเริ่มต้น และถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาตรงกับวันหยุดราชการหรือวันหยุดทำการของศาล ให้นับวันทำการถัดไปเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา

               มาตรา ๓๑  ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือในข้อกำหนดของศาล หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีร้องขอ ศาลอาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เว้นแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะ

               มาตรา ๓๒  ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ในเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
               (๑) เคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่นหรือเคยเป็นอนุญาโตตุลาการซึ่งเคยพิจารณาวินิจฉัยในคดีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้นมาก่อน
               (๒) เป็นหรือเคยเป็นสามีหรือภริยา หรือญาติของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงสามชั้น หรือเป็นญาติทางการสมรสนับได้เพียงสองชั้น
               (๓) เคยให้ถ้อยคำหรือให้ความเห็นในฐานะพยานโดยที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ในคดีในศาลอื่นซึ่งพิจารณาวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวกับคดีที่ขอให้วินิจฉัยนั้นมาก่อน
               (๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน
               (๕) มีหรือเคยมีคดีที่ตุลาการนั้นเอง สามี ภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของตุลาการนั้นฝ่ายหนึ่ง พิพาทกับคู่กรณี สามี ภริยา หรือญาติสืบสายโลหิตตรงขึ้นไปหรือลงมาของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

               มาตรา ๓๓  ในกรณีที่ตุลาการมีส่วนได้เสียหรือมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ ตุลาการอาจถูกคัดค้านด้วยเหตุอันมีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือวินิจฉัยเสียความยุติธรรมไป

               มาตรา ๓๔  ตุลาการจะขอถอนตัวจากการพิจารณาคดี หรือการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่งคดีไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุที่อาจถูกคัดค้านตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓
               เมื่อมีการขอถอนตัวตามวรรคหนึ่งและศาลอนุญาตแล้ว ให้ตุลาการซึ่งขอถอนตัวงดการปฏิบัติหน้าที่ในคดีนั้น

               มาตรา ๓๕  เมื่อมีเหตุที่ตุลาการอาจถูกคัดค้านได้ตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกข้อคัดค้านขึ้นอ้างโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านยื่นต่อศาลได้ก่อนมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งชี้ขาด แต่อย่างช้าต้องไม่เกินสิบวันนับแต่วันที่ทราบเหตุคัดค้านนั้น
               เมื่อมีการยื่นคำร้องคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชี้ขาดในเรื่องที่คัดค้านนั้นโดยเร็ว

               มาตรา ๓๖  การยื่นคำร้องคัดค้านตุลาการตามมาตรา ๓๕ ต้องระบุเหตุที่จะคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๓๒ หรือมาตรา ๓๓ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง
               การคัดค้านตุลาการที่พิจารณาวินิจฉัยในเรื่องใดมากกว่าหนึ่งคน ให้คู่กรณีจัดทำเป็นคำร้องแยกเป็นตุลาการแต่ละราย

               มาตรา ๓๗  เมื่อมีการขอถอนตัวตามมาตรา ๓๔ หรือยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา ๓๕ ให้ศาลประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านนั้น โดยตุลาการซึ่งขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านจะร่วมพิจารณา หรือออกเสียงลงคะแนนชี้ขาดคำขอถอนตัวหรือคำร้องที่คัดค้านตนเองมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
               ในการพิจารณาเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านตุลาการ ให้ศาลฟังคำชี้แจงของตุลาการที่ขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านประกอบด้วย
               การชี้ขาดเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ถือตามคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ผู้ทำหน้าที่ประธานออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
               ในการลงมติตามวรรคสาม ให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
               เมื่อศาลพิจารณาวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้แจ้งคำวินิจฉัยให้ตุลาการที่ขอถอนตัวหรือถูกคัดค้านและคู่กรณีทราบ
               การพิจารณาที่ได้ดำเนินไปก่อนที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดย่อมสมบูรณ์ไม่เสียไปเพราะเหตุที่ศาลมีคำสั่งชี้ขาดให้ถอนตัวหรืออนุญาตตามคำคัดค้าน เว้นแต่ศาลจะได้กำหนดไว้ในคำสั่งเป็นอย่างอื่น
               เมื่อมีการชี้ขาดเหตุขอถอนตัวหรือเหตุคัดค้านแล้วมีตุลาการเหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถึงเจ็ดคน ให้ศาลร้องขอต่อประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๑ แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ตุลาการเฉพาะคดีนั้นให้ครบเจ็ดคน

               มาตรา ๓๘  ศาลมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล หรือในกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว
               ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดของศาลเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
               การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

               มาตรา ๓๙  ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลหรือคำสั่งศาลตามมาตรา ๓๘ ให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล และให้ศาลมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
               (๑) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
               (๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล
               (๓) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               การสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี
               การสั่งลงโทษตาม (๓) ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
               ในการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลตาม (๓) ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

               มาตรา ๔๐  การจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พัก ของบุคคลใดที่ศาลเรียกมาในการไต่สวน ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีของศาลให้เป็นไปตามประกาศของศาล